VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในแอฟริกา (1)



การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในแอฟริกา (1)

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในนิตยสาร TOPGUN ฉบับเดือนตุลาคม 2554

สงวนลิขสิทธิ์ ให้ใช้เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น ห้ามพิมพ์ซ้ำในเชิงพาณิชย์ก่อนได้รับอนุญาต



ทวีปแอฟริกาเป็นแผ่นดินที่มีเรื่องราวของการต่อสู้ การเข่นฆ่าประหัตประหารกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ดินแดนกาฬทวีปแห่งนี้เปรียบได้ดังดินแดนที่ต้องคำสาป ประวัติศาสตร์ของหลายๆ ประเทศล้วนต่างถูกบันทึกด้วยหยดเลือดและหยาดน้ำตาของผู้คน สงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน เกิดขึ้นซ้ำซากและไม่รู้จักจบสิ้น ส่งผลให้ประชากรนับล้านคนต้องประสบกับชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ความตายและการสูญเสีย ..

คราบน้ำตาและความเศร้าโศก ..

หยดเลือดและความเจ็บปวด ..

หากแต่แตกต่างเพียงเส้นทางที่ไปสู่จุดจบเท่านั้นว่า จะมีสาเหตุจากความอดหยาก โรคภัยไข้เจ็บหรือคมอาวุธนานาชนิด การเข่นฆ่าในแอฟริกาไม่เพียงแต่เป็นสงครามกลางเมือง สงครามระหว่างรัฐ หรือสงครามระหว่างกลุ่มชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสงครามที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นการสังหารหมู่บนพื้นฐานของความเกลียดชังทางเชื้อชาติ เป็นความเกลียดชังที่ฝังรากลึกในจิตใจของผู้คนแต่ละฝ่ายมานานนับทศวรรษ

ยามใดที่เราได้ทอดสายตามองลงบนแผนที่ทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเพ่งมองไปที่ดินแดนแห่งใดหรือประเทศใด เราจะพบว่าพื้นที่เหล่านั้น ประชาชนล้วนแต่ก้าวย่างผ่านความเจ็บปวดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมาแทบทั้งสิ้น ทั้งรวันดา บุรุนดี อูกานดา แทนซาเนีย โซมาเลีย ซูดาน ไนจีเรีย เซียร่าลีโอน ไลบีเรีย เคนยา ฯลฯ

จนอาจกล่าวว่าเกือบทั้งทวีปแอฟริกา ต่างมีบาดแผลจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้น การเริ่มต้นของบทความนี้จะมุ่งไปที่ประเทศ "รวันดา" จุดกำเนิดของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง “Hotel Rwanda” อันโด่งดังเป็นประเทศแรกและภูมิภาค "ดาร์ฟูร์" ประเทศซูดานเป็นลำดับต่อไป








ประเทศ "รวันดา"


ประเทศ "รวันดา" (Rwanda) เป็นอดีตอาณานิคมของเบลเยี่ยมและเยอรมันที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรและมีฐานะยากจน เป็นดินแดนที่มีรอยร้าวทางเชื้อชาติอย่างรุนแรงระหว่างชนเผ่า "ฮูตู" (Hutu) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและชนเผ่า "ทุตซี่" (Tutsi) ที่เป็นประชากรส่วนน้อยแต่ทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน ความเกลียดชังระหว่างชนสองเชื้อชาติลุกลามไปจนถึงมีการออกระเบียบหรือที่เรียกว่า "บทบัญญัติของชาวฮูตู" (Hutu manifesto) ในปี ค.ศ.1957 ที่ประณามชาวทุตซี่ว่า “.. เป็นชนกลุ่มน้อยที่น่ารังเกียจ เป็นผู้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศ ..”

ความรุนแรงลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี ค.ศ.1972 กองทัพประเทศบุรุนดี เพื่อนบ้านของประเทศรวันดา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการบังคับบัญชาโดยชนเผ่าทุตซี่ ได้เริ่มการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูที่อาศัยอยู่ในประเทศบุรุนดี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้จุดประกายของการแก้แค้นขึ้นในจิตใจของชาวฮูตูทั้งในประเทศบุรุนดีและประเทศรวันดา

ในดินแดนรวันดาก็เช่นกัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเคียดแค้นทางเชื้อชาติปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน การประกาศเอกราชของประเทศรวันดา ไม่สามารถหลอมรวมจิตใจของชาวฮูตูและทุตซี่ให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ตรงกันข้ามความไม่พอใจกลับขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ มีการระบุสัญลักษณ์เพื่อแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ฮูตูและทุตซี่ในบัตรประจำตัวประชาชนอย่างชัดเจน ในขณะที่สภาพทางกายภาพภายนอกก็สามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน โดยชาวฮูตูจะมีผิวดำกว่าชนเผ่าทุตซี่

สำหรับสถานะทางสังคม ชาวทุตซี่ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและมีความขยันขันแข็งได้เข้าครอบงำระบบเศรษฐกิจของรวันดา ทำให้พวกเขามีความอยู่ดีกินดีกว่าชาวฮูตู จนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างชนชั้นและช่องว่างระหว่างชาติพันธุ์ ในขณะเดียวกันชาวฮูตูก็ตอบโต้ชนชั้นปกครองและชนชั้นสูงชาวทุตซี่ด้วยการต่อต้านในทุกรูปแบบทั้งในระดับความคิดและระดับการแสดงออกที่มีความรุนแรง

กระทั่งห้วงปี ค.ศ. 1980 เมื่อชาวทุตซี่ อดรนทนต่อการกดขี่ทางเชื้อชาติไม่ไหว จึงลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลฮูตู ใช้ชื่อว่า "แนวหน้ารักชาติรวันดา" (Rwanda Patriotic Front) มีนักรบทุตซี่กว่า 6,000 คนที่อาศัยประเทศอูกานดาเป็นฐานรุกกลับเข้าไปในประเทศรวันดา ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมือง มีการสู้รบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1993 จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎ ภายใต้สนธิสัญญา "อารูชา" (Arucha Accords) ท่ามกลางความแตกแยกทางเชื้อชาติที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเผยแพร่ข้อความปลุกระดมชาวฮูตูให้เพิ่มความเกลียดชังชาวทุตซี่ว่า ชาวทุตซี่ต้องการพัฒนาความร่ำรวยเพื่อตนเองและการพัฒนานี้จะนำไปสู่การเป็น "ทาส" ตลอดกาลของชาวฮูตู

ข้อความปลุกระดมเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกันอย่างมาก ต่อมาในปีเดียวกัน นาย ฮัสซาน เงเซ่ (Hussan Ngeze) บรรณาธิการวารสารยอดนิยมของชาวฮูตูได้เขียน "บัญญัติสิบประการของชาวฮูตู" (Hutu Ten Commandments) ขึ้น มุ่งหวังให้กระจายไปในสถานศึกษาและภายในกองทัพรวันดา โดยใจความสำคัญของหนังสือบัญญัติสิบประการของชาวฮูตูก็คือ “.. ทุตซี่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่สมควรได้รับความปรานีในทุกรูปแบบจากชาวฮูตู ..”

ในขณะเดียวกันวารสารสื่อสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายคือ "คันกูร่า" (Kangura) ของชาวฮูตูและ "คันกูค่า" (Kanguka) ของทุตซี่ต่างทำหน้าที่ในการปลุกระดมให้ชนทั้งสองชาติพันธุ์เกิดความคลั่งชาติและมุ่งทำลายชาติพันธุ์ฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้สติและความยั้งคิด บทความที่ขุดคุ้ยรอยเจ็บแค้นแห่งอดีตของแต่ละเชื้อชาติ ถูกนำมาตีพิมพ์กันอย่างแพร่หลาย เพื่อตอกย้ำความโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชังให้กับผู้อ่านฝ่ายตน

จนกระทั่งการปริแตกแห่งเชื้อชาติฮูตูและทุตซี่ได้ลุกลามขยายออกไปจนไม่สามารถประสานให้กลับมาสู่ความสมานฉันท์ได้อีกต่อไป สื่ออีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการปลุกระดมความเกลียดชังทางเชื้อชาติในครั้งนี้ก็คือ "สื่อวิทยุ" เนื่องจากประชากรรวันดามีอัตราการอ่านหนังสือได้น้อยมาก สื่อวิทยุจึงสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้เป็นอย่างดี สื่อวิทยุ "รวันดา" (Rwanda Radio) มีบทบาทสำคัญในการเรียกให้ผู้ฟังชาวฮูตูออกจากเคหสถานเพื่อเข่นฆ่าชาวทุตซี่ที่ตนเองพบเห็น พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวแห่งความเคียดแค้นที่ชาวทุตซี่เคยกระทำต่อชาวฮูตูมาในอดีต การปลุกระดมด้วยเรื่องราวและบทเพลงจนผู้ฟังรายการจำนวนมากเกิดความคลั่งเชื้อชาติและโกรธแค้นจนถึงขีดสุดจนสามารถจับอาวุธขึ้นมาเข่นฆ่าผู้คนได้

แม้การสู้รบระหว่างกลุ่มกบฎทุตซี่และรัฐบาลฮูตูจะเดินทางมาถึงจุดแห่งการเจรจาบนพื้นฐานของข้อตกลงหยุดยิงอารูชาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ในที่สุดข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลฮูตูและกลุ่มกบฏทุตซี่ดังกล่าวก็ถูกฉีกโดยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ต้องการแบ่งอำนาจการปกครองร่วมกัน สงครามกลางเมืองเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลของชาวฮูตูนำโดย ประธานาธิบดีจูเวนัล ฮับยาริมานา (Juvénal Habyarimana) ได้รับการสนับสนุนจากประเทศฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศอดีตเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกาเริ่มมีความได้เปรียบในการรบ สงครามกลางเมืองส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

องค์การสหประชาชาติจึงมีมติให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ UNAMIR(United Nations Assistance Missions For Rwanda) เข้าไปดูแลข้อตกลงหยุดยิงให้มีผลในทางปฏิบัติในปี 1994 โดยมีพลโท "โรมีโอ ดาแลร์" (Romeo Dallaire) จากประเทศแคนาดาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

สถานการณ์ในช่วงนี้กลับสับสนเป็นอย่างมากเนื่องจากในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1994 เกิดการลอบสังหารประธานาธิบดีฮับยาริมานา โดยกลุ่มกบฎได้ยิงจรวดนำวิถีแบบพื้นสู่อากาศจำนวน 2 ลูกใส่เครื่องบินไอพ่นประจำตำแหน่งประธานาธิบดีแบบ แดสซอล์ ฟอลคอน 50 (Dassault Falcon 50) ของเขาขณะกำลังจะร่อนลงสนามบินกรุงคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดา จรวดลูกแรกกระทบที่ปีกของเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็กและลูกที่สองกระทบที่หาง ทำให้เครื่องบินระเบิดกลางอากาศ นักบินและเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส 3 คนพร้อมผู้โดยสาร 9 คนรวมทั้งประธานาธิบดีฮับยาริมานาเสียชีวิตทั้งหมด

เมื่อข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดีฮับยาริมานาแพร่ออกสู่สาธารณชน ความโกรธแค้นของชาวฮูตูก็มาถึงจุดสูงสุด ความโกรธแค้นครั้งนี้รุนแรงเปรียบเสมือนกับการพังทลายของเขื่อนขนาดมหึมาที่ส่งผลให้กระแสน้ำแห่งความโหดเหี้ยมอำมหิตอันเชี่ยวกราก ได้ถาโถมเข้าสู่ทั่วทุกชุมชนของชาวทุตซี่ในรวันดา

รัฐบาลฮูตูและกลุ่มติดอาวุธชาวฮูตู เช่น กลุ่ม "อินเตอร์ฮามเว่" (Interahamwe) และกลุ่ม "อิมพูซามูแกมบี" (Impuzamugambi) ทำการแจกจ่ายอาวุธปืน เอเค 47 (AK 47) และมีดดาบ (Machete) กว่า 500,000 เล่มให้แก่ชาวฮูตู ซึ่งมีดดาบดังกล่าวถูกจัดซื้อมาตั้งแต่เมื่อครั้งประธานาธิบดีฮับยาริมานายังมีชีวิตอยู่ เหตุผลที่สั่งซื้อมาเป็นจำนวนมากนั้นก็เพราะ มีดดาบเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ในการสังหารที่มีราคาถูกกว่าอาวุธปืนมาก






เมื่อได้รับการแจกจ่ายอาวุธครบถ้วน กองทัพและกลุ่มติดอาวุธของชาวฮูตูก็เริ่มออกล่าสังหารชาวทุตซี่ทั่วทุกมุมเมือง การเข่นฆ่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพียงปีเดียวมีชาวทุตซี่ถูกสังหารเป็นจำนวนถึงเกือบหนึ่งล้านคน ทั่วทุกหนแห่งไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน โรงเรียน โบสถ์ แม่น้ำ ลำธาร ร้านค้า โรงพยาบาล ต่างเต็มไปด้วยซากศพของชาวทุตซี่ทั้งเด็ก สตรี คนชรา ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงต่างพบจุดจบเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรวันดาครั้งนี้นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic cleansing) อย่างสมบูรณ์แบบ

ในขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีของรวันดาก็จัดให้มีการประชุมเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าว รัฐมนตรีชาวฮูตูซึ่งเป็นสุภาพสตรีคนหนึ่งได้ประกาศก้องกลางที่ประชุมว่า ".. การเข่นฆ่าชาวทุตซี่นับเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องกระทำต่อไป จนชาวทุตซี่หมดไปจากแผ่นดินรวันดา เพราะเมื่อปราศจากชาวทุตซี่ ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไปด้วย ..” คำกล่าวดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีของรวันดาก็มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวทุตซี่

นอกจากการสังหารชาวทุตซี่แล้ว กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติจากประเทศเบลเยี่ยมจำนวน 10 นายก็ถูกสังหารโดยกองกำลังอารักขาประธานาธิบดีของรวันดาที่บ้าคลั่งด้วยเช่นกัน การเข่นฆ่าชาวทุตซี่ถูกกระทำอย่างเป็นระบบ เช่น ที่เมืองกีเซนยี (Gisenyi) นายกเทศมนตรีของเมืองได้เรียกระดมชาวฮูตูในเมืองและแจกจ่ายอาวุธให้ จากนั้นได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวออกทำการล่าชาวทุตซี่โดยไม่คำนึงถึงอายุและเพศ เพียงแต่เมื่อพบชาวทุตซี่ก็ให้สังหารได้ทันที

กลุ่มติดอาวุธหรือ มิลิเทีย (Militia) ที่มีบทบาทอย่างมากในการปฏิบัติการเหี้ยมโหดครั้งนี้ก็คือ กลุ่ม "อินเตอร์ฮามเว่" ซึ่งแปลว่า "ผู้ต่อสู้เคียงข้างกัน" จะทำหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อคัดแยกชาวทุตซี่ออกจากชาวฮูตู ผู้ชายทุตซี่จะถูกแยกไปกักขังก่อนการสังหารหรือถูกฟันด้วยมีดดาบกลางถนน ณ จุดตรวจจนเสียชีวิต ส่วนสตรีชาวทุตซี่มักจะถูกข่มขืนก่อนแล้วจึงถูกสังหารด้วยการฟันด้วยมีดดาบนับสิบครั้งจนเสียชีวิต นอกจากกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานส่วนราชการประจำท้องถิ่นก็ยังได้จัดตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อออกล่าชาวทุตซี่อีกด้วย

ต่อมาสหประชาชาติได้ตัดสินใจส่งกองกำลังรักษาสันติภาพจากแอฟริกาจำนวนกว่า 5,500 นายเข้าควบคุมสถานการณ์ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง แม้ว่าการส่งทหารดังกล่าวจะมีความล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์อย่างมากเนื่องจากประเทศที่สนับสนุนเงินทุนอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรเงินทุนที่จะใช้ในภารกิจนี้ ก่อนที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนเงินกว่า 6.5 ล้านเหรียญและยานยนต์หุ้มเกราะลำเลียงพลอีก 50 คัน

ภายหลังจากเหตุการณ์อันเหี้ยมโหดได้สิ้นสุดลง ทางการรวันดาปฏิเสธที่จะให้ตัวเลขที่แน่นอนของผู้เสียชีวิต แต่แหล่งข่าวตะวันตกได้รวบรวมตัวเลขชาวทุตซี่ที่ถูกสังหารในระยะเวลา 100 วันว่ามีจำนวนถึง 1,174,000 คน หรือเฉลี่ยมีผู้ถูกสังหารวันละ 10,000 คน หรือชั่วโมงละ 400 คน คิดเป็นนาทีละ7 คน มีเด็กที่ต้องกำพร้าพ่อแม่เป็นจำนวนกว่า 400,000 คน มีชาวทุตซี่หนีรอดการสังหารโหดได้เพียงไม่ถึง 300,000 คน รวมทั้งมีสตรีชาวทุตซี่ 250,000 – 500,000 คนถูกข่มขืนทั้งจากกองกำลังติดอาวุธและจากทหาร ตำรวจชาวฮูตู

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในรวันดาเป็นบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติหน้าหนึ่ง ที่ชุ่มโชกไปด้วยเลือดและน้ำตา นับเป็นบันทึกที่โหดร้ายทารุณและบ่งบอกถึงจิตใจและธาตุแท้ที่โหดเหี้ยมอำมหิตของผู้คนในศตวรรษที่ 20 อีกทั้งยังเป็นบันทึกที่เตือนใจให้กับผู้คนในนานาอารยประเทศได้ตระหนักถึงพิษภัยของความโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง ที่ฝังแน่นอยู่ในความคิดของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงคนสามัญธรรมดาให้กลายเป็นสัตว์ป่าได้ในเวลาเพียงไม่กี่อึดใจ ดังนั้นพวกเราจึงควรศึกษาเรื่องราวของประเทศรวันดาให้ละเอียด ลึกซึ้ง เพื่อร่วมกันป้องกันการไหลย้อนกลับมาของบันทึกที่ชุ่มโชกด้วยเลือดในดินแดนแห่งอื่นๆ บนพื้นพิภพแห่งนี้


ภูมิภาค "ดาร์ฟูร์" ประเทศซูดาน





ภูมิภาคดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน ดินแดนอันร้อนระอุในทวีปแอฟริกาที่กองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย/ดาร์ฟูร์ จากประเทศไทยได้เดินทางไปแสดงแสนยานุภาพความเป็นนักรบจากแดนสยามภายใต้กรอบการปฏิบัติการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติให้นานาชาติได้ประจักษ์ ดาร์ฟูร์เป็นดินแดนที่ผ่านห้วงเวลาแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาอย่างโหดเหี้ยมในห้วงปี ค.ศ.2003-2007 ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนหลายแสนคนต้องจบชีวิตลง

ดาร์ฟูร์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศซูดาน มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศฝรั่งเศส มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน ประกอบด้วยชนเผ่าน้อยใหญ่เกือบ 100 เผ่า บางส่วนเป็นชนเผ่าเร่ร่อนเชื้อสายอาหรับ ในขณะที่บางส่วนซึ่งเป็นชนเชื้อสายแอฟริกันมักมีอาชีพเป็นเกษตรกรที่มีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ทำให้มีพื้นฐานทางความคิด ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การรวมชนเผ่าจำนวนมากเข้ามาอยู่ภายใต้ผู้ปกครองคนเดียว จึงก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ส่งผลให้แต่ละเผ่ามีความสัมพันธ์แบบ "หลวมๆ" และพร้อมที่จะเกิดความขัดแย้งได้ทุกเมื่อ

ในปี ค.ศ. 1989 เกิดการรัฐประหารโดยนายพลโอมาร์ บาร์เชียร์ (General Omar Bashir) ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลของนายพลบาร์เชียร์ที่เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ความขัดแย้งดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ในภูมิภาคดาร์ฟูร์ (Darfur) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ มีอาณาเขตติดกับประเทศชาด (Chad) ลิเบีย (Libya) และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (the Central African Republic)

กลุ่มต่อต้านรัฐบาลประกอบด้วยกลุ่มกองทัพปลดปล่อยซูดาน (Sudan Liberation Army – SLA) และกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียม (Justice and Equality Movement – JEM) ซึ่งกล่าวหารัฐบาลซูดานว่ามีความเอนเอียงสนับสนุนกลุ่มอาหรับเร่ร่อน ทอดทิ้งชาวซูดานเชื้อสายแอฟริกันที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีถิ่นฐานถาวร

ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้ด้วยการว่าจ้างชนเผ่าเร่ร่อนเชื้อสายอาหรับที่มีชื่อกลุ่มว่า "จันจาวีด" (Janjaweed) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับพื้นเมืองแปลว่า "ปีศาจบนหลังม้า" (Devils on horseback) นำโดยนายมูซา ไฮทอล (Musa Hital)

พวกจันจาวีดนี้มีความเชี่ยวชาญมากในการต่อสู้บนหลังม้าและอูฐด้วยอาวุธประจำกายคือปืนไรเฟิลอัตโนมัติแบบ เอ เค 47 และแบบ จี 3 (G 3) รวมทั้งมีความรอบรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและความเป็นไปของทะเลทรายอย่างลึกซึ้ง จนสามารถเดินทางฝ่าทะเลทรายได้เป็นระยะทางไกลๆ อย่างที่ผู้คนธรรมดาไม่สามารถทนต่อความร้อนของทะเลทรายในเวลากลางวันและความหนาวเย็นในเวลากลางคืนได้

ความรุนแรงของสงครามเปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ.2003 เมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มจันจาวีด สนธิกำลังเข้ากวาดล้างหมู่บ้านของชนเผ่าแอฟริกันซูดานที่ไม่ใช่เชื้อสายอาหรับ (non-arab) เช่น เชื้อสาย เฟอร์ (Fur) ทันเจอร์ (Tanjur) มาซาลิท (Masalit)และซางาว่า (Zaghawa) หมู่บ้านของชนเผ่าดังกล่าวนับร้อยๆ แห่งซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายกบฎหรือให้การสนับสนุนฝ่ายกบฎถูกโจมตีอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้หมู่บ้านเกษตรกรกว่า 400 แห่งถูกทำลายลงอย่างย่อยยับชนิดที่เรียกว่า "ลบออกไปจากแผนที่" ผู้คนกว่าสองล้านห้าแสนคนไร้ที่อยู่อาศัยและกลายเป็นผู้ลี้ภัยสงคราม ต้องหลบหนีไปยังค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนติดกับประเทศชาดและลิเบีย

“การลบเมืองออกจากแผนที่" ของรัฐบาลซูดานและกลุ่มจันจาวีดดำเนินไปอย่างเหี้ยมโหดตลอดปี ค.ศ.2003 และยืดเยื้อไปจนถึงปี ค.ศ.2007 โดยรัฐบาลซูดานปฏิเสธการรู้เห็นและรับผิดชอบกับเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยอ้างว่าเป็นการกระทำของกลุ่มจันจาวีดที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลาที่ผ่านมานั้นมีตัวเลขที่น่าตกใจของผู้ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สูงถึงกว่า 500,000 คน เฉลี่ยมีผู้ถูกสังหารกว่า 100 คนในทุกๆ 1 วัน หรือประมาณ 5,000 คนในเวลาทุกๆ 1 เดือน

เหตุการณ์การโจมตีแบบล้างหมู่บ้านครั้งหนึ่งของฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มจันจาวีดที่สหประชาชาติได้บันทึกไว้อย่างน่าสนใจ คือเหตุการณ์ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 เมื่อกลุ่มจันจาวีดจำนวนมากได้ควบม้าเข้าโจมตีเมือง "ตาวิลล่า" (Tawilla) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของภูมิภาคดาร์ฟูร์ การโจมตีเป็นไปแบบรุนแรง รวดเร็วและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เช่น มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ส่วนแรกจะโจมตีกลุ่มติดอาวุธในเมืองเพื่อทำลายการต่อต้าน ส่วนที่สองจะเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ และมีการกวาดต้อนผู้คนออกมากลางลานกว้างและทำการสังหารหมู่จำนวน 67 ศพ ส่วนที่เหลือได้ทำการจับตัวนักเรียนหญิงไป 16 คนก่อนที่จะไปรวมกับสุภาพสตรีอื่นๆ ที่ถูกจับมาอีก 93 คนเพื่อทำการข่มขืนกระทำชำเรา ในจำนวนนี้มีสตรี 6 คนที่ถูกข่มขืนต่อหน้าครอบครัวของพวกเธอ

หลังจากนั้นพวกจันจาวีดก็ได้เผาทำลายเมืองจนสิ้นซาก นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ที่น่าสพรึงกลัวในความโหดร้ายของพวกจันจาวีดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่พวกเขากระทำทุกๆ ครั้งที่บุกเข้าโจมตีหมู่บ้านเป้าหมายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในการทำลายล้างนั่นคือ การข่มขืนสตรีจำนวนนับร้อยๆ คนในแต่ละครั้งต่อหน้าสาธารณชนที่มีทั้งพ่อแม่และสามีของเหยื่อ

นายมูซา ไฮทอล ผู้นำกลุ่มจันจาวีดได้เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตะวันตกว่า การปฏิบัติของกลุ่มนักรบบนหลังม้าชาวอาหรับเหล่านี้เป็นการปฏิบัติบนความเชื่อในความเป็นเลิศของชาวอาหรับ (Arab supremacism) ซึ่งจะต้องกวาดล้างกลุ่มชนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับออกไปจากแผ่นดินของพวกเขา การออกทำงานในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้จะถูกบังคับบัญชาโดยนายทหารจากรัฐบาลซูดาน ซึ่งมีชั้นยศตั้งแต่พันตรี ร้อยเอก เรื่อยลงมาจนถึงระดับนายสิบ และทหารเหล่านี้จะรับคำสั่งมาจากกองบัญชาการในนครคาทูม เมืองหลวงของซูดาน

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 องค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ทำการสำรวจการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดเหี้ยมในภูมิภาคดาร์ฟูร์พบว่า รัฐบาลซูดานมีส่วนอย่างมากในการชักใยกลุ่มจันจาวีดให้ลงมือปฏิบัติการเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าวยังพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ยืนยันว่าหน่วยงานด้านความปลอดภัยของรัฐบาลในดาร์ฟูร์ได้รับคำสั่งให้ "สนับสนุนกิจกรรมทุกอย่าง" ของกลุ่มจันจาวีดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญของรัฐบาลซูดาน นั่นคือการกวาดล้างกลุ่มกบฎและผู้สนับสนุนให้หมดสิ้นไป

การสนับสนุนนี้ส่งผลให้กลุ่มจันจาวีดไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มกองโจรบนหลังม้าอีกต่อไป หากแต่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีความทันสมัย มีระเบียบวินัยและการฝึกฝนที่ดีเยี่ยม แต่งกายด้วยเครื่องแบบชุดพรางเช่นเดียวกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งมียุทธวิธีที่น่าเกรงขามและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดก็คือ "จันจาวีด" ได้กลายเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลซูดานในการทำลายล้างกลุ่มกบฎที่มิใช่ชนเชื้อสายอาหรับในภูมิภาคดาร์ฟูร์อย่างเหี้ยมโหด

แม้ในปัจจุบันองค์การสหประชาชาติจะได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปปฏิบัติการเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในภูมิภาคดาร์ฟูร์ ประเทศซูดานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนชาวดาร์ฟูร์กว่า 2.7 ล้านคนก็ยังคงไร้ที่อยู่อาศัยและกลายเป็นผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน มีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ขาดแคลนอาหาร เต็มไปด้วยโรคระบาดนานาชนิดและยังมีชาวดาร์ฟูร์อีกเกือบ 5 ล้านคนที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ต้องตกอยู่ในสภาวะอดอยาก เนื่องจากภัยสงครามส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเพาะปลูกได้ พวกเขาต้องพึ่งพาอาหารจากองค์กรต่างๆ เพื่อประทังชีวิต อนาคตของชาวดาร์ฟูร์จึงยังคงเป็นสิ่งที่รอการช่วยเหลือจากสังคมโลก เพื่อให้สันติภาพและความสงบสุขกลับคืนสู่ผืนแผ่นดินนี้อีกครั้งหนึ่ง

-----------------------------------




Create Date : 14 กันยายน 2554
Last Update : 20 ตุลาคม 2554 21:14:49 น. 3 comments
Counter : 13545 Pageviews.

 
สงสารประชาชนจริง ๆ หวังว่าประเทศไทยจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้
รออ่านต่อครับ


โดย: นักเดินทาง IP: 115.87.155.85 วันที่: 15 กันยายน 2554 เวลา:17:30:16 น.  

 
ขอบคุณผู้การที่ให้ความรู้ เคยคิดมานานว่าทำไมทวีปนี้จึงเป็นเช่นนี้ไม่มีท่าจะสิ้นสุด เคยมองไปที่ว่ามนุษย์พันธุ์นี้ได้ต้องคำสาปของพระเจ้ากระมัง สงสารสุดสงสาร แต่เมื่อคิดเรื่องจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ถอนใจ ไปๆมาๆในแนวทางมนุษย์พาลนึกถึงฮิตเลอร์กับเจ็งกิสข่าน ส่วนในแนวทางพระเจ้าก็มอบให้อยู่ในเงื้อมหัตถ์ของพระองค์ก็แล้วกัน เพราะในความเลวร้ายย่อมมีความดีงามแทรกอยู่ หรือจะเป็นภาคนรกของคนที่ทำชั่วหนักหรือเบาต้องไปเกิดใช้กรรมที่นั่น ที่เบาสุดก็คือไปอยู่ดูความทุกข์แบบกระจะตา เพราะมนุษย์พันธุ์นี้(แม้จะนึกถึงแมนเดลล่าแล้วก็ตาม) พวกเขาไปอยู่ที่ไหนไม่ว่าถิ่นแถวที่เจริญ ก็มีแนวโน้มพฤติกรรมด้อยมากกว่าดี ส่วนพวกเราๆก็นึกเหมือนกัน อยู่ในที่ดีดี๊ดี แต่ทำดีไม่ขึ้นอย่างที่ควร


โดย: Skipe IP: 125.27.72.245 วันที่: 3 ตุลาคม 2554 เวลา:0:17:53 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ


โดย: คนตามอ่าน IP: 180.183.120.37 วันที่: 19 ตุลาคม 2554 เวลา:21:22:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.