VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
อัฟกานิสถาน : สมรภูมิแห่งปี 2010


ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun ฉบับเดือนมกราคม 2553

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ






ทันทีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศในสุนทรพจน์ที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์ พอยท์ว่า เขาจะเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ อีกจำนวน 30,000 คนเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานตามคำขอของผู้บัญชาการกองกำลังไอซาฟ (ISAF) พลเอกสแตนลี่ย์ แมคคริสตัล (General Stanley McChrystal) เพื่อสนับสนุนหน่วยทหารและตำรวจอัฟกานิสถานในการต่อสู้กับกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ ประชาคมโลกก็มีความเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันขึ้นมา

ดังเช่น ความสับสนของรัฐบาลแคนาดาที่รัฐสภาได้ลงมติอนุมัติไปแล้วว่า แคนาดาจะเริ่มถอนทหารของตนออกจากอัฟกานิสถานในปี 2011 ในขณะที่กลุ่มประเทศนาโต้ซึ่งร่วมอยู่ในกองกำลัง ISAF ก็พยายามพิจารณาหาแนวทางการปฏิบัติของตนเอง เพราะต่างก็อ่อนล้าเต็มทีกับการรบในสงครามอันยืดเยื้อและไม่มีที่สิ้นสุดในประเทศที่ห่างไกล สังคมเต็มไปด้วยความล้าหลัง และภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขาสูงชันดังเช่นอัฟกานิสถาน

แต่ในที่สุดนาโต้ก็มีมติให้ส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มในอัฟกานิสถานอีก 7,000 นาย ทำให้ในปี 2010 จะมีกำลังทหารต่างชาติปฏิบัติภารกิจอยู่ในอัฟกานิสถานเป็นจำนวนถึง 150,000 นาย มากกว่าจำนวนทหารโซเวียตที่เคยส่งเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานในห้วงปี 1980 เสียอีก

และทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นสมรภูมิที่โดดเด่นขึ้นมาแทนที่อิรักทันที อีกทั้งยังทำให้สงครามในอัฟกานิสถานกลายเป็น “สงครามของโอบาม่า” ไปโดยปริยาย






หากจะวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ซึ่งเพิ่งได้รับการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตัดสินใจส่งทหารเข้าไปเพิ่มในสมรภูมิอัฟกานิสถาน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาตัดสินใจที่จะยุติการปฏิบัติการทางทหารในอิรัก ด้วยการประกาศถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักภายในปี 2010 คงเหลือไว้แต่เพียงที่ปรึกษาทางทหารที่จะคงอยู่จนถึงปี 2011 ก่อนที่จะถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักทั้งหมด

โดยนักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า โอบาม่าได้ให้ความสำคัญในปัญหาอัฟกานิสถานมาตั้งแต่แรกแล้ว เนื่องจากเขามองว่าอัฟกานิสถานนั้นมีความสำคัญมากกว่าอิรัก เพราะเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ และประชาคมโลกโดยตรง เนื่องจากเป็นถิ่นพำนักของโอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัล กออิดะฮ์ ซึ่งเป็นผู้ลงมือโจมตีสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนปัญหาในอิรักนั้น โอบาม่ามองในทางตรงข้ามกับอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช ว่าเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขด้วยกลไกทางการเมืองที่กำหนดขึ้นโดยประชาชนชาวอิรักเอง

ดังนั้นภายหลังจากที่สหรัฐฯ สถาปนาระบอบประชาธิปไตย อันเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เข้าไปทดแทนระบอบซัดดัม ฮุสเซนเรียบร้อยแล้ว ก็ควรจะปล่อยให้ชาวอิรักตัดสินอนาคตของตนเองบนแนวทางประชาธิปไตยต่อไป

นั่นคือเหตุผลที่โอบาม่าต้องการจัดการกับปัญหาในอัฟกานิสถานให้เด็ดขาด อันนำมาสู่การเพิ่มกำลังทหารอีก 30,000 คนนั่นเอง







อย่างไรก็ตามการส่งกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานคราวนี้ โอบาม่ามองว่าจะเป็นไปแบบ “ระยะสั้น” และ “มีกำหนดเวลาที่แน่นอน” เพราะเขาได้กำหนดเวลาในการจบภารกิจของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานภายในเดือนมิถุนายน 2011

ดังเช่นที่โรเบิร์ต กิบส์ (Robert Gibbs) โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า โอบาม่าจะส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อฝึกฝนกองกำลังทหารและตำรวจของอัฟกานิสถานให้มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต่อกรกับกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ ภายหลังจากนั้นก็จะถอนทหารออกมาทันที

โดยประธานาธิบดีโอบาม่าวางแผนว่าจะถอนกำลังทหารสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2013 ซึ่งเป็นห้วงเวลาช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของโอบาม่า และจะมอบภาระความรับผิดชอบต่างๆ ให้กับกองกำลังของอัฟกานิสถานเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มตัว

แม้จะมีข้อกังขาอยู่อย่างมากมายว่า กำลังทหารและตำรวจของอัฟกานิสถานที่มีจำนวนกว่า 95,000 คนทั่วประเทศนั้นจะมีศักยภาพเพียงพอในการต่อสู้กับกลุ่มตอลีบันได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้สหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังทหารอัฟกันเหล่านั้นให้มีจำนวนถึง 134,000 คนภายในเดือนตุลาคม 2010 และเพิ่มเป็น 240,000 คนภายในปี 2013 ก็ตาม

กำลังทหารจำนวน 30,000 นายที่ประธานาธิบดีโอบาม่าจะจัดส่งเข้าไปในอัฟกานิสถานภายในต้นปี 2010 นี้ เป็นหน่วยในระดับกองพลน้อย (Brigade) จำนวน 2 กองพล จัดจากหน่วยนาวิกโยธินจำนวน 1 กองพลน้อยและจากกองทัพบกอีก 1 กองพลน้อย รวมกับหน่วยกำลังสำรองอื่นๆ

โดยจะเข้าประจำการในพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารสหรัฐฯ และนาโต้มีอัตราการสูญเสียสูง เนื่องจากมีการรบที่รุนแรง







โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของประเทศที่ทหารสหรัฐฯ จำนวน 20,000 คนจากทั้งหมด 30,000 คนที่ส่งเข้าไปใหม่จะเข้าประจำการในบริเวณนี้ เช่น บริเวณตำบล “อาร์กานดาป” (Arghandab), “ซารี” (Zari) และ “ปัญจวาล” (Panjwal) ที่ตั้งอยู่ชานเมือง “กันดาฮาร์” (Kandahar) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอัฟกานิสถาน มีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน

หน่วยทหารสหรัฐฯ จะทำหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้กับหน่วยทหารแคนาดาจำนวนประมาณ 2,800 นายที่ประจำการอยู่เดิม โดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของทหารแคนาดาร่วมกับกองพันทหารราบของสหรัฐฯ อีก 2 กองพัน

คาดว่าด้วยกำลังทหารที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การสู้รบกับกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนอัฟกานิสถาน – ปากีสถานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พลเอกสแตนลี่ย์ แมคคริสตัล ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF ในอัฟกานิสถานได้เคยแสดงความเห็นที่ดุเดือดผ่านทางสื่อมวลชนเมื่อกลางปีที่ผ่านมาว่า หากสหรัฐฯ ต้องการเอาชนะกลุ่มตอลีบัน ก็มีความจำเป็นต้องส่งกำลังทหารอย่างน้อย 40,000 คนเข้าไปเสริม

แต่ในที่สุดประธานาธิบดีโอบาม่าก็ได้กำหนดจำนวนทหารที่จะส่งไปเข้าเพิ่มเพียง 30,000 คนน้อยกว่าที่เขาต้องการ แต่เมื่อรวมกับทหารนาโต้อีก 7,000 คนที่จะส่งเข้าไปเพิ่มอีก ก็ทำให้ตัวเลขทหารที่เพิ่มขึ้นในอัฟกานิสถานใกล้เคียงกับที่แมคคริสตัลต้องการ และเขาก็พร้อมที่จะเปิดฉากการรุกครั้งใหญ่ทันทีที่กำลังส่วนใหญ่เดินทางเข้าพื้นที่ดังคำกล่าวให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

“.... ถึงเวลาแล้วที่จะรุกไปข้างหน้า ... ภารกิจของเราคือ การประกาศให้พวกตอลีบันและอัล กออิดะฮ์รับรู้ว่า โอกาสที่พวกเขาจะมีชัยชนะเหนือสหรัฐฯ และนาโต้นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ...”

จากคำกล่าวของแมคคริสตัลทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า ในปี 2010 อัฟกานิสถานจะเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดและนองเลือดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังทางบกและทางอากาศของสหรัฐฯ และนาโต้จะโหมเข้าโจมตีที่มั่นของกลุ่มตอลีบันในพื้นที่ห่างไกลอย่างชนิดที่เรียกว่า “ลืมหูลืมตาไม่ขึ้น”







อาวุธที่มีเทคโนโลยีในการทำลายล้างขั้นสูงสุดจะปรากฏโฉมออกมาให้โลกได้เห็น เหมือนเมื่อครั้งที่จรวด “โทมาฮอค” (Tomahawk) ได้เผยโฉมให้โลกได้เห็นในการโจมตีอัฟกานิสถานและอิรักเมื่อปี 2001 – 2003

แต่ในครั้งนี้โลกจะได้เห็นอากาศยานโจมตีล่องหน (Stealth) แบบไร้นักบินมากมายหลายรุ่น เช่น รุ่น อาร์คิว 170 เซนทิเนล (RQ 170 Sentinel) หรือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งฉายาไว้ว่า “อสูรแห่งกันดาฮาร์” (The Beast of Kandahar) ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ล่าสุด เช่น รถถังเอ็ม 1 เอ 1 และ เอ 2 ของสหรัฐอเมริกาที่บริษัทเจเนอรัล ไดนามิคส์ได้ปรับปรุงใหม่ล่าสุดในปี 2008 ด้วยการติดตั้งชุดระบบพัฒนาขีดความสามารถ (SEP – System Enhancement Package) ที่ทำให้พลประจำรถสามารถตรวจจับเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งมีระบบป้องกันตัวเองจากการโจมตีที่ดีเยี่ยม, รถถังชาลเลนเจอร์ 2 อีของอังกฤษซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนามาจากรถถังชาลเลนเจอร์ 2 ที่มีอานุภาพสูงโดยเฉพาะเกราะที่สามารถทนทานต่อระเบิดแสวงเครื่อง (IED – Improvise Explosive Device) ที่เป็นภัยคุกคามสำคัญของรถถังที่ปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถานอยู่ในขณะนี้, รถถังเลโอปาร์ต 2 เอ 6 ของเยอรมันและแคนาดาที่เพิ่งพัฒนาออกจากสายพานการผลิตเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นต้น

“... สงครามในครั้งนี้ไม่ใช่สงครามเพื่อชัยชนะ (conquest) ไม่ใช่สงครามเพื่อผลประโยชน์ (profit) หากแต่เป็นสงครามที่ให้ทางเลือก (chance) แก่ประชาชนอัฟกานิสถาน ...”

ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF ในอัฟกานิสถานกล่าวแก่สื่อมวลชนตอนหนึ่ง โดยเขาได้ระบุถึงยุทธศาสตร์สามประการของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานว่า

ยุทธศาสตร์แรกคือการใช้กำลังทหารและอานุภาพทางสงครามกดดันและทำลายกลุ่มตอลีบัน เพื่อลดศักยภาพในการเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอัฟกานิสถานว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานภายใต้การนำของนายฮาร์มิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) จะเป็นผู้กำชัยชนะในสงครามครั้งนี้ รวมทั้งเป็นผู้มีสิทธิขาดในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ

ดังนั้นหากกลุ่มตอลีบันต้องการอยู่รอด พวกเขาก็จำต้องยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลและออกมาร่วมกับรัฐบาลในการบริหารประเทศต่อไป







ยุทธศาสตร์ที่สอง คือการสร้าง “วงแหวนแห่งความมั่นคง” (ring of stability) นั่นคือการดึงกำลังทหารสหรัฐฯ และนาโต้ส่วนหนึ่งออกจากพื้นที่ป่าเขาห่างไกล แล้วเข้ายึดครองพื้นที่เขตเมือง ทั้งเมืองที่อยู่ในกำมือของรัฐบาลและเมืองที่อยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มตอลีบัน

จากนั้นจะวางกำลังป้องกันเมืองเสมือนป้อมค่ายที่คอยปกป้องเมืองต่างๆ จากการเข้ามาแผ่อิทธิพลของกลุ่มตอลีบัน

ในขณะเดียวกันก็จะใช้การปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนในเขตเมือง หรือที่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่คำหนึ่งว่า ซิล-มิล (Cil – Mil มาจากคำว่า Civil - Military) ซึ่งเป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างองค์กรพลเรือนและกองทัพในการพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพื่อสร้างแรงสนับสนุนจากชาวอัฟกานิสถาน กล่าวง่ายๆ ก็คือ “ต้องการเอาชนะใจประชาชน” นั่นเอง

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าการปฏิบัติการ “วงแหวนแห่งความมั่นคง” และการปฏิบัติการ “ซิล-มิล” นี้จะทำให้สหรัฐฯ และนาโต้ตกเป็นเป้าหมายต่อฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายขึ้น เพราะได้เปลี่ยนยุทธวิธีจากการรุกมาเป็นการตั้งรับ

ดังนั้นประธานาธิบดีโอบาม่าจึงพยายามลดจุดอ่อนด้วยการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปตรึงพื้นที่ชนบทห่างไกล เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มตอลีบันเคลื่อนไหวเข้าสู่เขตเมืองได้โดยง่าย

ยุทธศาสตร์ที่สามคือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทหารและตำรวจอัฟกานิสถาน เพื่อให้กองกำลังเหล่านี้เข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์ในเมืองต่างๆ ที่มี “วงแหวนแห่งความมั่นคง” แทนกำลังทหารของสหรัฐฯ และนาโต้

โดยการปฏิบัติการนี้เรียกว่า “การแก้ปัญหาโดยคนอัฟกัน” หรือ Afgan solution ซึ่งเป็นการปฏิบัติการด้วยการใช้ตำรวจอัฟกานิสถานจำนวนกว่า 92,000 นายเป็นกำลังหลัก และได้รับการสนับสนุนโดยกำลังทหารอัฟกานิสถาน

หากแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอัฟกานิสถานได้เป็นอย่างมาก ซึ่งยุทธศาสตร์นี้หลายฝ่ายยังคงสงสัยถึงขีดความสามารถของทหารและตำรวจอัฟกานิสถานว่า จะมีศักยภาพเพียงพอดังที่สหรัฐฯ คาดหวังเอาไว้หรือไม่







ที่กล่าวมาข้างต้นคือยุทธศาสตร์สามประการของสหรัฐฯ ในปี 2010 ซึ่งก็ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้คนต่างๆ ไปเสียทุกคน แม้กระทั่งพลจัตวาเฟรดเดอริก ฮอดจ์ (Brigadier General Frederick Hodges) ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF ภาคใต้ของอัฟกานิสถานซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มองว่า การเพิ่มกำลังทหารไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการสู้รบในพื้นที่ทางตอนใต้ที่เขารับผิดชอบเท่าไรนัก ดังที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

“...แม้จะส่งทหารมาทั้งยุโรป ก็ไม่มีวันที่เราจะมีทหารเพียงพอ เพราะพื้นที่ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานนั้นกว้างใหญ่ไพศาล และเต็มไปด้วยหุบเขามากมาย ในช่วงที่ผ่านมาพวกตอลีบันสามารถครอบครองพื้นที่ในตำบลอาร์กานดาปของเมืองกันดาฮาร์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ มุลลาฮ์ นาคิป (Mullah Naqib) ผู้นำในพื้นที่ที่ทรงอิทธิพลและสนับสนุนกองกำลังสหรัฐฯ เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจตั้งแต่ปี 2007 ดังนั้นหากเราต้องการครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ให้ได้ในปี 2010 ก็ต้องโหมโจมตีที่มั่นต่างๆ ที่พวกตอลีบันครอบครองอยู่ ... ซึ่งแน่นอนว่า ... มันจะเป็นการรบที่หนักหนาสาหัสสำหรับพวกเราเลยทีเดียว ...”

มุมมองของฮอดจ์อาจจะถูกต้องก็เป็นได้ เพราะนับแต่อดีตเป็นต้นมา ดินแดนอัฟกานิสถานนั้นไม่เคยมีใครสามารถครอบครองพื้นที่ได้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่มีความกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยขุนเขาสลับซับซ้อน

แม้แต่พวกตอลีบันในอดีตเองก็ไม่เคยครอบครองพื้นที่อัฟกานิสถานได้ทั้งประเทศ ดังที่จอห์น กริฟฟิธส์ (John Griffiths) ได้เขียนในหนังสือเรื่อง “อัฟกานิสถาน : ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง” (Afganistan : A History of Conflict) ตอนหนึ่งว่า

“... เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศทุรกันดาร ในห้วงที่อัฟกานิสถานถูกปกครองโดยพวกตอลีบัน พวกเขาสามารถครอบครองอัฟกานิสถานได้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เท่านั้น ส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่ครอบครองก็เป็นเมืองใหญ่และเส้นทางถนนสายหลักๆ พื้นที่ต่างๆ นอกเหนือไปจากนั้น จะเป็นของชนเผ่าที่อยู่กันกระจัดกระจายและมีผู้นำเผ่าของตนเอง คนเหล่านี้ไม่สนใจว่าใครจะมาเป็น “รัฐบาล” ... “รัฐบาล” ที่พวกเขาที่ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ามันมีผลอะไรต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาบ้าง ขอเพียงแต่ให้พวกเขามีชีวิตที่สงบสุข มีครอบครัว และมีอาหารทานในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว ... พื้นที่ห่างไกลเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการครอบครองดินแดนอัฟกานิสถานจากผู้รุกรานทุกชนชาติ เพราะไม่มีวันที่ใครจะสามารถครอบครองดินแดนแห่งนี้ได้ทุกตารางนิ้ว ...”

เมื่อเปรียบเทียบข้อเขียนของกริฟฟิธส์ กับนโยบายในการเพิ่มกำลังทหารของประธานาธิบดีโอบาม่าในปี 2010 แล้วจะเห็นว่า โอบาม่าต้องการใช้กำลังทหารเข้าครอบครองพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มตอลีบันให้มากที่สุด โดยร่วมกับกำลังทหารของนาโต้ซึ่งปัจจุบันประกอบไปด้วย ทหารจากอิตาลี 2,400 นาย อังกฤษ 9,000 นาย เยอรมัน 4,365 นาย ฝรั่งเศส 3,095 นาย และแคนาดา 2,800 นาย

ซึ่งจำนวนเหล่านี้กำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 7,000 นาย โดยจะร่วมกับกองกำลังทหารและตำรวจอัฟกานิสถานในการปฏิบัติการ ก่อนที่จะบีบให้กลุ่มตอลีบันต้องใช้วิธีการเจรจาและหันมาร่วมกับรัฐบาลของนายฮาร์มิด คาร์ไซ อันเป็นหนทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้งในอัฟกานิสถานลงได้อย่างถาวร







อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติการของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในการสร้างอัฟกานิสถานขึ้นให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ในปี 2010 ก็คือ ความเป็นรัฐบาลที่ฉ้อฉลของนายฮาร์มิด คาร์ไซ ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง และคอร์รัปชั่นงบประมาณทางทหารที่มีมากมายมหาศาล ซึ่งประธานาธิบดีโอบาม่าเองก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จนถึงกับประกาศในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งของเขาว่า

“... หมดเวลาแล้วสำหรับการจ่ายเช็คเปล่าให้กับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ...”

นอกจากจะกล่าวเตือนนายฮาร์มิด คาร์ไซแล้ว โอบาม่ายังส่งสัญญาณให้นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเตรียมหยุดการช่วยเหลือในทุกๆ ด้านแก่รัฐบาลอัฟกานิสถาน หากพบว่านายคาร์ไซยังคงตักตวงผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง







นอกจากการคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬารแล้ว รัฐบาลของนายคาร์ไซยังได้ชื่อว่า มีการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด แต่สหรัฐฯ เองก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะบุคคลสำคัญในรัฐบาลของนายคาร์ไซ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ชนิดที่เรียกว่า “เคยร่วมหัวจมท้าย” ในการโค่นล้มอดีตรัฐบาลตอลีบันมาด้วยกัน

เช่น นายมูฮัมหมัด คาซิม ฟาฮิม (Muhammad Qasim Fahim) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ หรือ นอร์ธเทิร์น อัลลายแอนซ์ (Northern Alliance) ที่ร่วมกับสหรัฐฯ โจมตีรัฐบาลตอลีบันมาตั้งแต่ปี 2001 จนสามารถล้มล้างกลุ่มตอลีบันได้ในที่สุด ฟาฮิมได้รับการขนานนามจากองค์การสิทธิมนุษยชนว่าเป็น “หนึ่งในผู้นำอัฟกานิสถานที่มือเปื้อนเลือดมากที่สุด”

นอกจากนี้ก็ยังมีนายโมฮัมหมัด อิสมาอิล ข่าน (Muhammad Ismail Khan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและน้ำ ที่มีส่วนสำคัญในการสังหารหมู่ผู้นำกลุ่ม “มูจาฮิดีน” จำนวนมากที่เป็นอริกับเขา ก่อนก้าวขึ้นสู่อำนาจ นอกจากความโหดเหี้ยมแล้วเขายังกอบโกยทุกอย่างที่ขวางหน้าพอๆ กับนายเซดิค ชาร์การี (Sediq Chakari) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฮัจจ์และอิสลาม ที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นเงินสนับสนุนผู้แสวงบุญในการเดินทางไปนครเมกกะ และนายมูฮัมหมัด อิบราฮิม เอเดล (Muhammad Ibrahim Adel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแร่ธาตุ ที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบนมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทเหมืองแร่ของจีนในการเข้ารับสัมปทานเหมืองทองแดง

ซึ่งข้อกล่าวหานี้ได้รับการชี้แจงจากเขาว่า การพิจารณาให้สัมปทานเป็นไปอย่างโปร่งใสผ่านคณะรัฐมนตรีที่มีนายฮาร์มิด คาร์ไซเป็นประธาน ข้อชี้แจงนี้นอกจากจะฟังไม่ขึ้นแล้ว ยังเป็นการนำเอานายคาร์ไซเข้าไปพัวพันอีกด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า เส้นทางสงครามในอัฟกานิสถานปี 2010 ของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า คงไม่ราบรื่นอย่างที่คาดเอาไว้ เพราะอุปสรรคจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ทุรกันดาร และจากองค์กรรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ล้มเหลว จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทหารสหรัฐฯ และนาโต้ต้องทุ่มเททรัพยากรสงครามมากกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างอัฟกานิสถานให้เป็นรัฐที่มั่นคง เข้มแข็ง

และที่สำคัญคือไม่หวนกลับไปเป็น “สรวงสวรรค์” ของกลุ่มตอลีบันและอัล กออิดะฮ์ในการโจมตีสหรัฐฯ และสังคมโลกอีก สมดังที่ประธานาธิบดีโอบาม่าได้ตั้งความหวังเอาไว้





Create Date : 08 มีนาคม 2553
Last Update : 8 มีนาคม 2553 14:48:14 น. 3 comments
Counter : 7309 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 8 มีนาคม 2553 เวลา:16:08:21 น.  

 
สวัดดีครับชาว bloggang วันนี้ผมมาเนาะนำเว็บไซค์ของผมหน่อยน่ะครับขอไม่ว่าไรกันน่ะครับไทยตาโตฟังเพลงเล่นเกมสอ่านข่าวท่องเที่ยวขอบคุณมากครับ


โดย: preampcc วันที่: 4 เมษายน 2553 เวลา:1:57:27 น.  

 
" เมื่อความจริงปรากฏความเท็จก้อมลาย "


โดย: Jihad 2012 IP: 180.180.78.193 วันที่: 5 มกราคม 2555 เวลา:14:43:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.