Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๘ ความรู้จักภพ ๓

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๘ ความรู้จักภพ ๓

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ทบทวนกรรมภพและอุปปัตติภพ

ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้ร้อยกรองไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตรโดยลำดับ มาถึงข้อที่ท่านอธิบายว่าสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ก็ได้แก่ รู้จักภพ รู้จักสมุทัย เหตุให้เกิดภพ รู้จักนิโรธความดับภพ และรู้จักนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ก็ได้แสดงอธิบายไปแล้ว แต่วันนี้จะได้เพิ่มเติมในข้อรู้จักภพ ซึ่งได้อธิบายความหมายของภพในหมวดธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น โยงกันไปเหมือนดั่งลูกโซ่ อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทแปลว่าธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น และได้แสดงภพ ว่าในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพคือกรรม อุปปัตติภพ ภพคืออุปบัติ และได้แสดงถึงกรรม ว่าคือการที่กระทำอันเกิดที่ใจเกิดที่จิต จิตจงใจทำ แม้ทำทางใจ ก็เรียกว่ามโนกรรม กรรมทางใจ

กรรมภพในที่นี้เป็นตัวต้น ก็ได้อธิยายแล้วว่า ได้แก อัสมิคือความเป็นเรา หรือความที่เราเป็นเรามี เป็นการสร้างความเป็นเราขึ้น ซึ่งท่านได้อธิบายในข้อต่อไป ว่าสมุทัยคือเหตุเกิดแห่งภพดังกล่าวก็คืออุปาทาน ความยึดถือ แต่ยังไม่อธิบายอุปาทาน จะอธิบายภพเสียก่อน ซึ่งสร้างตัวอัสมิ ความที่เรามีความที่เราเป็นขึ้น เพราะภพหรือภวแปลว่าความมีความเป็น เช่นเดียวกับภาวะที่แปลว่าความมีความเป็น มีเราเป็นเราขึ้นก่อน จึงเป็นตัวมโนกรรมอันละเอียดซึ่งมีขึ้นเป็นประการแรก ดองสันดานเป็นภวานุสัย อนุสัยคือภพตลอดมาช้านาน และเมื่อมีกรรมภพ ภพคือกรรม ดั่งนี้ จึงมีอุปปัตติภพ ภพคืออุปบัติ ความเข้าถึง ก็คือความที่เข้าถึงชาติความเกิด เพราะเมื่อเป็นภพคือความมีความเป็น เป็นเราขึ้นมา เราก็มิได้อยู่เฉย ๆ มีความไปความมา มีความเข้าถึง เข้าถึงนั่นเข้าถึงนี่ ก็คือเข้าถึงชาติความเกิดต่อไป นี้ได้อธิบายมาแล้ว แต่ได้ซ้ำความเพื่อทบทวน

ภพ ๓

โดยที่วันนี้จะได้อธิบายถึงภพ ๓ ที่ได้กล่าวไว้แล้วตามพระเถราธิบาย คือ พระเถราธิบายท่านว่ารู้จักภพ ก็คือ รู้จักภพ ๓ อันได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

กามภพ

ข้อแรก กามภพ ภพที่เป็นกามหรือที่ประกอบด้วยกาม ก็คือความที่มีเราเป็นเราอันประกอบด้วยกาม จะกล่าวว่าคือจิตใจนี้เองที่เป็นที่ตั้งของตัวเราดังกล่าวท่องเที่ยวไปในกาม ประกอบด้วยกาม หยั่งลงไปในกามเป็นภาวะจิตใจ หรือเป็นภวเป็นภพแห่งจิตใจของสามัญชนทั้งปวง ที่เป็นกามาพจร ประกอบด้วยกาม อัน กาม นั้นแปลว่า ใคร่ แปลว่า ปรารถนา มี ๒ อย่าง คือ

กิเลสกาม กามที่เป็นกิเลส อันได้แก่ตัวความใคร่ตัวความปรารถนา
อีกอย่างหนึ่ง วัตถุกาม กามคือพัสดุ โดยมาแสดงไว้ ๕ คือ รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ และโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ทราบ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ดั่งนี้เรียกว่าวัตถุกาม

อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กามคุณ คำนี้แม้คนไทยก็พูดรู้จักกันมาก กามคุณก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่พอใจทั้งหลาย ทำไมจึงเรียกว่ากามคุณ ก็เพราะวัตถุกามที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งปวงเหล่านี้ก็มีคุณอยู่ คือทำให้เกิดความสุขโสมนัสได้อยู่ เพราะว่าส่วนที่น่ารักใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจมีอยู่ เป็นที่ตั้งของสุขของโสมนัส ทำให้เกิดสุขทำให้เกิดโสมนัสมีอยู่ คือแปลว่ามีคุณอยู่ เพราะมีคุณอยู่ดังนี้ จึงทำให้รักทำให้ใคร่ทำให้ปรารถนาทำให้ต้องการ ถ้าไม่มีคุณก็จะไม่ทำให้รักใคร่ปรารถนาต้องการ เพราะฉะนั้นจึงเรียกส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้ว่ากามคุณ ก็คือวัตถุกามทั้ง ๕ นั้นเอง อันเป็นส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เป็นกามคุณ และเพราะกามมีคุณเป็นที่ตั้งของสุขโสมนัสดังกล่าว สามัญชนทั้งปวงจึงได้หลงติดอยู่ ยากที่จะหลุดพ้น ยากที่จะปล่อยได้ และจึงท่องเที่ยวไปในกามคุณ แสวงหากามคุณเหล่านี้กันอยู่เป็นประจำ

รู้อหังการ มมังการ

และโดยเฉพาะกามคุณนี้ อันเป็นที่ตั้งของกามที่เป็นกิเลส กามที่เป็นกิเลสนั้นเล่าก็ตั้งอยู่ในตัวเราที่เป็นตัวภพดังกล่าวแล้ว และตัวเราที่เป็นตัวภพดังกล่าวนั้นก็ได้กล่าวแล้วว่าก็เป็นกรรมชนิดที่ละเอียดเป็นตัวมโนกรรม คือที่จิตนี้เองสร้างขึ้นมา กระทำขึ้นมาด้วยอำนาจของอุปาทานคือความยึดถือ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอหังการ ก็คือว่ากรรมนี้เองกระทำให้เป็นเราขึ้นมา

การกระทำให้เป็นเราขึ้นมานี้เรียกว่า อหังการ คำนี้บางทีเราพูดถึงกันว่าคนนั้นมีอหังการมาก คนนี้มีอหังการมาก ที่มีความหมายถึงความที่ทะนงตัวยกตัวถือตัวเป็นต้น แต่ตามศัพท์นั้นแปลว่า การทำให้เป็นเรา การสร้างให้เป็นเรา ซึ่งการทำให้เป็นเรา การสร้างให้เป็นเรานี้คือตัวกรรมนั้นเอง และตัวกรรมนี้เองก็เป็นกรรมภพดังกล่าวมาแล้ว มีอยู่ในจิตใจที่เป็นปัจจุบันนี้แหละ สร้างให้เป็นอหังการขึ้นมา ทำให้เป็นเราขึ้นมา และเมื่อสร้างให้เป็นอหังการให้เป็นเราขึ้นมาแล้วดั่งนี้ก็มีมมังการตามมา

คำว่า มมังการ นั้นแปลว่า ทำให้เป็นของเรา สืบเนื่องมาจากอหังการ เมื่อมีการทำให้เป็นเราขึ้นมา ก็มีการทำให้เป็นของเราขึ้นมา เพราะเมื่อมีเราก็ต้องมีของเรา ดั่งนี้ก็เป็นกรรมภพซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน

การทำให้เป็นเรา สร้างเรา สร้างของเราขึ้นมา เรียกควบกันว่า อหังการมมังการ
อะไรเป็นของเรา ของเราที่เป็นของเรา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า

กมฺมสฺสโกมฺหิ เรามีกรรมเป็นของ ๆ เรา
กมฺมทายาโท เรามีกรรมเป็นทายาท คือต้องรับผลของกรรม เป็นต้น

ก็คือกรรมนี้เองเป็นของเรา การสร้างให้เป็นเราขึ้นมา เป็นมโนกรรมอันละเอียดและเมื่อเป็นมโนกรรมคือเป็นกรรมขึ้นมา กรรมอันนี้เองก็เป็นของเรา ซึ่งจะต่ออุปบัติคือเข้าถึงชาติต่อไป และนอกจากนี้เมื่อสร้างให้เป็นเราขึ้นมา เราก็ไปประกอบกรรมต่าง ๆ ทางกายทางวาจาทางใจ ดีบ้างชั่วบ้าง กรรมที่ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นของ ๆ เราอีกนั่นแหละ ซึ่งจะต้องไปเสวยผลต่อไป จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว
ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ เราจักต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้

และเมื่อสร้างเราขึ้นมาและเราที่สร้างขึ้นมานี้ก็ท่องเที่ยวไปในกามดังกล่าวติดอยู่ในกามดังกล่าว ก็ชื่อว่าเป็นกามภพ

รู้โทษของกาม

แต่ว่าพึงเข้าใจว่า ที่กล่าวว่ากามคุณ กามก็มีคุณเป็นที่ตั้งของปีติโสมนัสดังกล่าวนั้น หาใช่มีคุณอย่างเดียวไม่ ยังมีโทษอันเรียกว่า กามาทีนพ โทษของกาม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงชี้แจงอาทีนพคือโทษของกามไว้เป็นอันมาก และตรัสไว้ด้วยว่า

กามนี้ทำให้เกิดสุขโสมนัสอันเป็นส่วนคุณนั้นน้อย แต่ว่ามีอาทีนพคือโทษนั้นมาก

พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ คนนั้นต้องมีทั้งราคะมีทั้งโทสะมีทั้งโมหะ ถ้าว่ากามมีคุณโดยส่วนเดียวแล้ว ก็มีแต่ที่จะยินดีเพลิดเพลินสนุกสนานกันไปโดยส่วนเดียว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ บางทีก็สมปรารถนาได้ตามต้องการ บางทีก็ไม่สมปรารถนาและมีเหตุขัดข้องต่าง ๆ จึงต้องมีโทสะคือความโกรธแค้นขัดเคือง ในเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการตามที่รักใคร่ปรารถนา แต่ไปได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการไม่รักใคร่ไม่ปรารถนา และยังมีความหลงติดอยู่

ทั้งข้อที่ว่ามีสุขโสมนัสน้อยแต่ว่ามีทุกข์โทษมากนั้น พิจารณาดูแล้วก็จะพึงเห็นได้ว่าความสุขโสมนัสที่ได้จากกามนั้น เป็นการได้อย่างผิวเผิน ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย เช่นว่ารสที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เช่นรสอาหารอันทำให้บุคคลติดในรสอาหาร ต้องการอาหารที่มีรสที่ต้องการ แต่ว่าความอร่อยที่ได้จากรสอาหารนั้นก็อร่อยอยู่แค่ลิ้น เมื่อนำเข้าปากลิ้นก็ได้ทราบรส รสที่อร่อย รสที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่ครั้นล่วงลำคอลงไปแล้ว รสที่อร่อยนั้นก็หมดไปทันที เรียกว่าอร่อยอยู่แค่ลิ้น รสที่ว่าอร่อยนักหนาอยู่แค่ลิ้นเท่านั้นหาได้อร่อยลงไปลึกซึ้งไม่

ไม่หลงติดในรสของกาม

พิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า แม้รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจที่เห็นทางตาก็แค่ตา เสียงที่ว่าไพเราะเพราะพริ้งก็แค่หู กลิ่นก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ถูกต้องทางกายก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความสุขโสมนัสทั้งปวงที่ได้จากกามคุณนั้น จึงได้ในขั้นผิวเผิน เช่นได้รสอร่อยแค่ลิ้น แล้วก็หายไปหมดไป ก็ได้เท่านั้น แต่ว่าทุกข์โทษที่ตามมานั้นมีมาก ยิ่งมีความหลงติดอยู่ในส่วนที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจก็ต้องมีทุกข์มีโทษมาก

บุคคลที่ต้องประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย ต้องละเมิดศีลทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่หลงติดอยู่ในรสของกาม หรือในสุขโสมนัสของกามในขั้นผิวเผินดังกล่าวมานี้ทั้งนั้น ทำให้ต้องแสวงหาต่าง ๆ แสวงหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่าง ๆ อันปรากฏเป็นทรัพย์สินเงินทองอะไรต่าง ๆ เป็นสิ่งต่าง ๆ เป็นบุคคลต่าง ๆ เพราะหลงอยู่ในส่วนสุขของโสมนัสเพียงชั่วแล่นแค่ผิวเผิน และเพราะเหตุที่สุขโสมนัสนั้นตั้งอยู่เพียงแค่ผิวเผินชั่วแล่น จึงต้องบริโภคสิ่งที่เรียกกันว่ากามกันบ่อย ๆ เพราะเมื่อบริโภคแล้ว สุขโสมนัสนั้นชั่วแล่นก็หายไปก็ต้องบริโภคกันใหม่ แล้วก็หายไปต้องบริโภคกันใหม่ ดังนี้ไม่สิ้นสุด ทั้งยังหาอาจที่จะได้สมประสงค์ไปทุกสิ่งทุกประการไม่ ทั้งจะต้องมีความพลัดพรากสิ่งที่เป็นผู้บริโภค คือตาหูจมูกลิ้นกายของตนเองก็ต้องเสื่อมต้องชำรุดทรุดโทรม เพราะอันที่จริงนั้นสิ่งที่เป็นผู้บริโภคนั้นก็คือตานี้เอง หูนี้เอง จมูกนี้เอง ลิ้นนี้เอง กายนี้เอง เช่นว่าอร่อยก็แค่ลิ้น ลิ้นนั้นเองอร่อย แต่เพราะใจไปหลง หลงรับเอาความทราบในรสของรูปของเสียงของกลิ่นของรสของโผฏฐัพพะมาเป็นของจิตใจ จิตใจหลงติดรับเอาไปอร่อยอยู่ในใจ ที่จริงอร่อยอยู่แค่ลิ้น ไม่ใช่อร่อยที่จิตใจ แต่ว่าจิตใจไปหลงยึดเอาความอร่อยของลิ้นมาเป็นความอร่อยที่จิตใจ จึงทำให้จิตใจนี้เพิ่มตัวกามที่เป็นกิเลส ความใคร่ความปรารถนาต้องการมากขึ้น ต้องการพัสดุกาม ต้องการกามคุณต่าง ๆ มากขึ้น ท่านจึงว่า

ความอิ่มด้วยตัณหานั้นไม่มี หรือ ความอิ่มด้วยกามนั้นไม่มี

เพราะว่าจิตใจนี้เองไม่มีอิ่มไม่มีพอ ในส่วนของตาหูจมูกลิ้นกายนั้นมีอิ่มมีพอเช่นว่าตาต้องการให้ดูรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ตาก็ดูอยู่ได้เท่าที่สามารถจะดูได้ นานเกินไปตาก็ไม่สามารถจะดูได้ แต่ใจก็ยังไม่อิ่มไม่พอขืนให้ดูอยู่นั่นแหละจนถึงตาเองก็บอบช้ำลำบาก หูก็เหมือนกัน ฟังเสยงที่น่าไพเราะน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หูเองฟังนาน ๆ ไปก็ไม่ไหวเหมือนกัน จมูกต้องการกลิ่นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ใช้อยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกันอร่อยลิ้น แล้วก็ให้อร่อยอยู่เรื่อย ๆ ไป ลิ้นก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน ท้องก็ทนไม่ไหว กายก็เหมือนกัน ถูกต้องสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเกินไปก็ไม่ไหวเหมือนกัน

แปลว่าตัวของตาหูจมูกลิ้นกายนี้เองมีพอ อย่างอาหารที่บริโภคแล้วอิ่ม มีอิ่มเรียกว่า ตาก็มีอิ่ม หูก็มีอิ่ม จมูกก็มีอิ่ม ลิ้นก็มีอิ่ม กายก็มีอิ่มคือมีพอ แต่ใจนี่เองที่เป็นตัวไม่พอไม่มีอิ่มไม่มีเต็ม คนจึงต้องประพฤติทุจริตต่าง ๆ เพราะกามนี่แหละ ผิดศีลกันได้ต่าง ๆ เพราะกามนี่แหละ ต้องสร้างบาปสร้างอกุศลกรรมกันต่าง ๆ ฆ่าฟันกันอะไรเป็นต้นเบียดเบียนกันต่าง ๆ ก็เพราะกามนี่แหละ วุ่นวายกันก็เพราะกามนี่แหละ ก็เพราะใจนี่แหละที่เป็นตัวกามภพสร้างตัวเราขึ้นมา แล้วตัวเราเองก็ท่องเที่ยวไปในกาม แล้วก็ใจนี้เองไม่อิ่มไม่พอในกาม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มีคุณน้อย มีสุขโสมนัสน้อย แต่มีโทษมาก จึงได้ทรงแสดงกามาทีนพ โทษของกาม แต่ก็ยากที่บุคคลจะเข้าใจจะมองเห็นได้เพราะว่ามีความติดอยู่มาก มีโมหะคือความหลงอยู่มาก

สุคติและทุคติ

นี่แหละเป็นกามภพ ซึ่งเมื่อเป็นกามภพแล้วก็เป็นอุปปัตติภพ คือให้เข้าถึงให้เข้าถึงชาติที่เป็นกามาพจรทั้งหลายตามกรรมที่กระทำไว้ เมื่อเป็นบาปกรรมก็เข้าถึงชาติของสัตว์เดรัจฉาน ชาติของสัตว์นรก ของเปรต ของอสุรกาย ถ้าเป็นกรรมดีก็เข้าถึงชาติของมนุษย์ของเทพที่เป็นขั้นกามาพจร ยังท่องเที่ยวอยู่ในกามด้วยกัน แต่ว่าเป็นฝ่ายกุศล ถ้าฝ่ายอกุศลก็ไปในทางทุคติ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็ไปสุคติ เพราะตัวกามภพในปัจจุบันคือใจของเรานี่แหละที่เป็นตัวกาม ใจของเราที่สร้างตัวเราขึ้นมา แล้วตัวเราก็ท่องเที่ยวอยู่ในกาม ซึ่งเป็นตัวมโนกรรม ซึ่งเป็นของเรา แล้วยังไปสร้างกรรมต่าง ๆ ทางกายทางวาจาทางใจ ถ้าดีก็ดีไป ถ้าชั่วก็ชั่วไป จะดีหรือจะชั่ว ไปสุคติไปทุคติ คือ เข้าถึงชาติที่เป็นสุคติ หรือเข้าถึงชาติที่เป็นทุคติ ตามกรรมที่ดีหรือชั่วที่ได้กระทำเอาไว้อันเป็นขั้นกามาพจรด้วยกัน นี้แหละคือกามภพ อุปปัตติภพที่เป็นชั้นกาม

รูปภพ

คราวนี้ผู้ที่ได้เห็นโทษของกามดังกล่าวนี้ จึงได้บำเพ็ญเนกขัมมะ คือออกจากกามตั้งต้นแต่การปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยการที่ตั้งจิตไว้ในรูปกรรมฐาน กรรมฐานที่มีรูปเป็นอารมณ์ ก็เป็นจิตที่ละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง และเป็นภพคือเป็นตัวเราที่ท่องเที่ยวไปในรูปสมาธิ ในรูปกรรมฐาน เป็นรูปาพจรก็เป็นกรรมภพขึ้นในจิตใจ ก็เป็นอุปปัตติภพ ให้เข้าถึงชาติที่เป็นรูปพรหม

อรูปภพ

และเมื่อได้ปฏิบัติในศีลในสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปกรรมฐาน ปฏิบัติในอรูปกรรมฐาน ไม่มีรูปภพของจิตก็เลื่อนขึ้นอีกชั้นหนึ่งเป็นอรูปภพ ก็เป็นกรรมภพเป็นอุปปัตติภพที่เป็นอรูปที่ท่องเที่ยวไปในอรูป ก็ให้เข้าถึงชาติที่เป็นอรูปพรหม แต่ว่าก็ยังเป็นภพอยู่นั่นเอง คือยังมีตัวเรา มีของเรา มีอหังการมมังการ

ที่เป็น กามภพ นั้น ก็มีอหังการมมังการที่ท่องเที่ยวไปในกาม ทั้งที่เป็นฝ่ายสุคติ ทั้งที่เป็นฝ่ายทุคติ
ที่เป็น รูปภพ นั้นก็มีอหังการมมังการที่ท่องเที่ยวไปในรูปสมาธิ รูปสมาบัติ
ที่เป็น อรูปภพ ก็มีอหังการมมังการที่ท่องเที่ยวไปในอรูปกรรมฐาน อรูปสมาบัติ

ก็แปลว่ายังมีตัวเราของเรา เพราะแม้ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นกรรม บาปหรือบุญที่กระทำในขั้นกามาพจรก็เป็นกรรม รูปสมาธิรูปสมาบัติก็เป็นกรรม อรูปสมาธิ อรูปสมาบัติก็ยังเป็นกรรม จึงยังเป็นกรรมภพเป็นอุปปัตติภพ เข้าถึงชาติคือความเกิด ยังไม่พ้นชาติคือความเกิดเพราะยังมีภพดังกล่าว

มีภพมีชาติในปัจจุบันทุกขณะ

ภพและชาติดังกล่าวมานี้อาจพิจาณาเห็นได้ในปัจจุบัน ว่ามีภพมีชาติในปัจจุบันทันทีต่อเนื่องกันไป เมื่อสร้างตัวเราของเราขึ้นอันเป็นมโนกรรม เป็นกรรมภพ ตัวเรานี้ก็เข้าถึงชาติคือความเกิด เกิดเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาทันทีตามที่สร้าง เป็นต้นว่า เป็นมนุษย์ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนดีเป็นคนชั่ว เมื่อตัวเราที่เราสร้างขึ้น เมื่อตัวเราที่สร้างขึ้นเป็นอหังการนี้เป็นกรรมภพ ก็เป็นอุปปัตติภพ เข้าถึง คือเกิดเป็นตัวเราขึ้นทันที คือสร้างตัวเราก็เกิดเป็นตัวเราขึ้นทันที เปรียบเหมือนอย่างว่าเอาทัพสัมภาระต่าง ๆ มาสร้างบ้าน นี่เป็นการที่เรียกว่าสร้างบ้าน เปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นกรรมภพ ก็เป็นอุปปัตติภพ คือเกิดเป็นบ้านขึ้นเมื่อสร้างเสร็จ เกิดนั้นคือชาติ เมื่อสร้างบ้านก็เกิดเป็นบ้านขึ้น เมื่อสร้างโต๊ะเก้าอี้ก็เกิดเป็นโต๊ะเก้าอี้ขึ้น ทีแรกเมื่อสร้างเราก็เกิดเป็นเราขึ้น สร้างนั้นเป็นตัวภพ เกิดก็เป็นชาติ และเมื่อตัวเรานี้สร้างกุศลกรรมก็เกิดเป็นคนดีขึ้นทันที สร้างอกุศลกรรมก็เกิดเป็นคนชั่วขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ภพกับชาติก็คู่กันอยู่ดังนี้ตลอดเวลา ความเป็นคนดีความเป็นคนชั่วนั้นมีทันทีในเมื่อสร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น คือเมื่อตัวเรานี้สร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น

คราวนี้ ถ้าไม่มีการสร้างกรรมดีกรรมชั่วขึ้น ที่จะเกิดเป็นคนดีคนชั่วก็ไม่มี และหากว่าถ้าไม่มีตัวเราก็ไม่มีใครจะเป็นผู้สร้างกรรมดีกรรมชั่ว จึงต้องมีตัวเรา ตัวเราจะมีขึ้นได้ก็ต้องมีการสร้างขึ้นมาด้วยอุปาทาน เป็นอหังการขึ้นมาก็เป็นมมังการดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เกิดเป็นตัวเราขึ้นมา แล้วเมื่อเกิดเป็นตัวเราขึ้นมา ตัวเราทำดีก็มีความดีเป็นของเราก็เกิดเป็นคนดีขึ้นมาทันที ทำชั่วก็มีความชั่วเป็นของเราก็เกิดเป็นคนชั่วขึ้นมาทันที ความจริงเป็นดังนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าชาติภพนั้นหรือภพชาตินั้นมีอยู่ในปัจจุบันนี้ทุกขณะ เป็นสัจจะคือความจริง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 22 มีนาคม 2555    
Last Update : 22 มีนาคม 2555 8:23:36 น.
Counter : 476 Pageviews.  

ครั้งที่ ๗ ความรู้จักภพ

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๗ ความรู้จักภพ

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายแห่งพระสารีบุตรเถระมาโดยลำดับ จนถึงท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอธิบายจับชรามรณะว่ามีเพราะชาติคือความเกิดชาติคือความเกิดมีเพราะภพ และภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านอีกว่าสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบจะมีอธิบายอย่างไรอีก ท่านก็ตอบว่า มี และท่านก็จับอธิบายต่อไปซึ่งมีความว่า ความเห็นชอบคือสัมมาทิฏฐินั้น ก็คือรู้จักความเกิดขึ้นแห่งภพว่ามีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอุปาทานโดยที่ท่านได้ให้คำอธิบายเป็นหัวข้อไว้ก่อนว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ที่จะพึงอธิบายได้ต่อไปนั้น ก็คือความรู้จักภพ ความรู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งภพ รู้จักความดับภพ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพ เมื่อมีความรู้จักดังนี้ก็ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ อุชุกทิฏฐิ เห็นตรง ทำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม และนำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดังนี้

รู้จักภพ ๓

และท่านก็ได้อธิบายขยายความในข้อแรกว่า รู้จักภพ ก็คือรู้จักว่าภพนั้นมี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ อันคำว่า ภพ นั้นมักจะพูดกันคู่กับ ชาติ ว่า ภพชาติ ซึ่งดูเหมือนจะคล้าย ๆ กันหรือเป็นอันเดียวกัน และก็ได้มีอธิบายภพทั้ง ๓ นี้ไว้ด้วย ว่าได้แก่โลกอันเป็นที่บังเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลาย
และโลกที่บังเกิดขึ้นของผู้ที่ยังท่องเที่ยวไปในกาม ก็เรียกว่า กามภพ
ส่วนโลกที่บังเกิดขึ้นของผู้ที่ยังท่องเที่ยวไปในรูป อันหมายถึงได้รูปฌาน ได้รูปสมาบัติอันเป็นชั้นพรหม คือชั้นรูปพรหม ก็เรียกว่า รูปภพ
ส่วนโลกอันเป็นที่บังเกิดขึ้นของผู้ที่ท่องเที่ยวไปในอรูป คือได้อรูปฌาน อรูปสมาบัติ คือเกิดเป็นอรูปพรหม ก็เรียกว่า อรูปภพ
นี้เป็นอธิบายทั่วไป และก็อธิบายทั่วไปนี้เองที่ได้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปดังนี้ และก็พูดควบคู่กันไปกับชาติว่า ชาติภพ ดังกล่าว

ภพ ๒ ในปฏิจจสมุปบาท

แต่ว่าในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่โยงกันไป อันเรียกตามศัพท์ว่า ปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ที่ท่านพระสารีบุตรมาจับอธิบายแสดงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็คือความที่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่นี้ ท่านจับแต่ชรามรณะว่ามีเพราะชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดก็มีเพราะภพ และในตอนนี้ท่านก็แสดงว่าภพก็มีเพราะอุปาทาน แต่ในข้อแรกที่ท่านตั้งขึ้นเป็นหัวข้อ ท่านก็จับเอาภพขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าสัมมาทิฏฐินั้นคือ ความรู้จักภพ รู้จักภพสมุทัย เหตุเกิดภพ รู้จักภพนิโรธ ความดับภพ รู้จักภพนิโรธคามินีปฏิปทา หรือภวนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ดังที่กล่าว เมื่อเป็นดั่งนี้ ภพกับชาติจึงต่างกัน และชาติมีเพราะภพ ความเกิดขึ้นแห่งชาติก็มีเพราะความเกิดขึ้นแห่งภพ
เมื่อเป็นดังนี้ คำว่าภพในที่นี้จึงมีอธิบายต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอธิบายจำเพาะในหมวดธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นโยงกันไปเหมือนดังลูกโซ่ดังกล่าวนั้น และท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า ภพหรือภวะในที่นี้มี ๒ คือ กรรมภพ ภพคือกรรม และอุปปัตติภพ ภพคืออุปบัติคือความเข้าถึง

กรรมหรือการที่กระทำเกิดจากใจ

คำว่า กรรม นั้นก็ได้แก่ การงานที่กระทำ ทำทางกายที่เรียกว่ากายกรรม ทำทางวาจาที่เรียกว่าวจีกรรม กรรมทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม หมายถึงการงานที่กระทำด้วยความจงใจอันเรียกว่าเจตนา เมื่อเจตนาคือจงใจทำ การที่กระทำนั้นจึงเป็นกรรมอันให้บังเกิดผล กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว นี้เป็นอธิบายกรรมทั่วไป ดังได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้แปลความว่า

เราตถาคตกล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นกรรม เพราะบุคคลจงใจแล้วจึงทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ดั่งนี้

แต่แม้เช่นนั้น ในการแสดงกรรมโดยพิสดาร ท่านก็ยังจัดกรรมที่ทำโดยมิได้มีเจตนาคือไม่ได้จงใจไว้ ว่าเป็นกรรมประเภทหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า กตัตตากรรม กรรมที่สักแต่ว่าทำ พิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า การกระทำบางอย่างที่กระทำไปแม้มิได้เจตนา แต่อาศัยความประมาทเลินเล่อเผลอเพลินพลาดพลั้ง ก็มีโทษได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดเอาไว้ว่าเป็นกรรมประเภทหนึ่งด้วย ก็มีเหตุผลอยู่ แต่ว่ากล่าวโดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีเจตนาคือจงใจทำ ท่านจึงเรียกว่าเป็นกรรมดังพระพุทธภาษิตดั่งที่ได้ยกมาแปลไว้ข้างต้นนั้น

กรรมภพ

เพราะฉะนั้น กรรมจึงเกิดจากใจ ใจที่จงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นกรรมขึ้นมาทางใจก่อน อันเรียกว่ามโนกรรม และเมื่อได้พูดออกไปด้วยใจที่มีความจงใจนั้นก็เป็นวจีกรรม เมื่อทำทางกายออกไปก็เป็นกายกรรม เมื่อบังเกิดขึ้นอยู่ในใจ จงใจอยู่ในใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยคิดไป ก็เป็นมโนกรรม เพราะฉะนั้น กรรมจึงเกิดจากใจ และลำพังคิดไปในใจก็เป็นมโนกรรมได้ ฉะนั้น การที่ท่านจัดว่ากรรมก็ชื่อว่าเป็นภพอย่างหนึ่ง คือ กรรมภพ ภพคือกรรม ก็มีเหตุผลอยู่ เพราะคำว่า ภพ นั้นมาจากคำว่า ภว ที่แปลว่า เป็น หรือความเป็นความมี มีอีกคำหนึ่งคือคำว่า ภาวะ ก็แปลว่า ความเป็นความมี เป็นคำเดียวกันกับคำว่าภวหรือภพ ความเป็นความมี เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าภพก็คือความเป็นความมีที่เกิดตั้งขึ้นในจิตใจนี้ก่อน

ความเป็นความมีอะไรที่บังเกิดขึ้นตั้งขึ้นในจิตใจนี้ก่อน ก็คือ ความเป็นเรา ความมีเรา อันเรียกชื่ออีกคำหนึ่งว่า อัสมิ อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น ฉะนั้น ความมีเราความเป็นเราขึ้นอันเป็นตัวอัสมิคืออัสมิมานะนี้ จึงบังเกิดขึ้นในจิตใจนี้ มีอยู่เป็นไปอยู่ และเมื่อมีเราเป็นเราหรือเรามีขึ้นเราเป็นขึ้น จึงมีอย่างอื่นต่อ ๆ ไป เช่นว่า มีของเราคือจะต้องมีเราขึ้นมาก่อนจึงจะมีของเรา ถ้าไม่มีเราของเราก็ไม่มี ฉะนั้น ความมีเราเป็นเราขึ้น ตั้งขึ้นในจิตใจนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นมโนกรรมอันละเอียด ซึ่งมีอยู่ในบุคคลสามัญทุก ๆ คนตรงกับคำว่า ภวาสวะ อาสวะคือภพ นอนจมดองจิตสันดานของทุก ๆ คนอยู่ ก็คือความที่มีเราเป็นเรา เป็นต้นภวาสวะ อันนี้แหละกล่าวได้ว่าเป็นตัวมโนกรรมอันละเอียดที่ทุก ๆ คนมีอยู่

มีกรรมภพจึงมีชาติความเกิด

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะต้องมีเราเป็นเราขึ้นก่อน จึงจะมีของเรา และไม่ใช่ว่าจะมีเพียงของเราเท่านั้น แต่ก็หมายความว่า ย่อมมีสิ่งอื่นทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวกับตัวเรานี้ และข้อที่เกี่ยวเนื่องเป็นประการแรกก็คือว่า ชาติ ความเกิด ต้องมีตัวเราและตัวเรานี้เกิด ถ้าหากว่าไม่มีตัวเราก็ไม่มีอะไรเกิด แต่เพราะมีตัวเราจึงมีชาติคือความเกิด คือตัวเราเกิด เช่นเดียวกับว่าของเราดังที่กล่าวแล้ว ต้องมีตัวเราจึงมีของเรา ถ้าไม่มีตัวเรา ของเราก็ไม่มีฉันใดก็ดี เมื่อมีตัวเรา ตัวเรานี้เองที่มีอยู่จึงเกิด เพราะฉะนั้น ชาติคือความเกิดจึงมีเพราะภพ ก็คือความที่มีเราเป็นเราคือตัวเรา และตัวเราที่มีที่เป็นอยู่อันเป็นมโนกรรมอย่างละเอียดนี้เองเกิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภพในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพคือกรรม ก็ดังที่ได้อธิบายแล้วว่าหมายถึงมโนกรรมอย่างละเอียด ที่เรามีเราเป็น เป็นเรามีเรา เป็นตัวเราขึ้นมานี่แหละคือตัวภพ และตัวภพนี้เองก็เป็นตัวกรรม คือจิตใจนี้เองปรุงแต่งขึ้นทำขึ้นมาสร้างตัวเราขึ้นมา ทำขึ้นมา เป็นมโนกรรมอย่างละเอียด และเมื่อสร้างตัวเราขึ้นมาก็ตัวเรานี้เองจึงเกิด

เพราะฉะนั้น เพราะมีกรรมภพดั่งนี้จึงมีชาติคือความเกิด ถ้าไม่มีกรรภพดังนี้ก็ไม่มีอะไรเกิด เพราะไม่มีตัวเรา เมื่อไม่มีตัวเราก็ไม่มีอะไรเกิด เมื่อมีตัวเราขึ้นจึงมีชาติคือ ความเกิด คือตัวเราเกิด และตัวเรานี้เองก็คือ กรรมภพ

อุปปัตติภพความเข้าถึงชาติความเกิด

และอธิบายของภพประการที่ ๒ ว่าได้แก่ อุปปัตติภพ ภพคือความเข้าถึงก็สืบเนื่องมาจากกรรมภพนั่นเอง คือเมื่อเรามีเราเป็น มีเราเป็นเรา ตัวเรานี้เองจึงเข้าถึงชาติคือความเกิด คือตัวเรานี้เองมีอาการไปมีอาการมา และประการแรกก็คือไปสู่ชาติคือความเกิดเข้าถึงชาติคือความเกิด ตัวเรานี้เองเข้าถึงชาติคือความเกิด ดังที่เรียกในที่อื่นว่า ปฏิสนธิวิญญาณ หรือปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิ และอันนี้เองที่เป็นอุปปัตติภพ ถ้าหากว่ามีตัวเรา แต่ว่าถ้าตัวเราไม่มีอาการไปไม่มีอาการมา ก็ไม่มีอาการเข้าถึงชาติคือความเกิด แต่ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีตัวเรา ตัวเราก็ต้องมีอาการไปอาการมา จึงต้องมีอาการเข้าถึงชาติคือความเกิด อาการของตัวเราที่เข้าถึง คือที่ไปที่มานี่แหละเป็น อุปปัตติภพ

ความรู้จักภพที่เป็นความเห็นชอบ

เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรท่านจึงได้แสดงว่า สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบนั้นก็คือรู้จักภพว่าภพคืออะไร เป็นประการแรก และเมื่อรู้จักภพ ว่าภพคือกรรมภพและอุปปัตติภพ อันได้แก่ภาวะที่เป็นเรา ที่มีเรา เป็นตัวเรา ซึ่งมีอาการเคลื่อนไหวไปมาได้ เข้าถึงโน่นเข้าถึงนี่ได้ นี่แหละคือตัวภพ ซึ่งเมื่อมีภพดังนี้ก็มีชาติคือความเกิด ให้รู้จักภพดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ต่อไปท่านก็แสดงว่า

รู้จักภวสมุทัยหรือภพสมุทัย เหตุเกิดแห่งภพก็ได้แก่อุปาทานคือความยึดถือ
รู้จักภวนิโรธหรือภพนิโรธ ความดับภพ ก็คือความดับอุปาทานความยึดถือ
รู้จักภวนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ก็คือดับอุปาทานเสีย

ความที่รู้จักดังนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง เป็นไปเพื่อละราคานุสัย อนุสัยคือราคะความติดใจยินดี เพื่อบรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง เป็นไปเพื่อถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น เป็นไปเพื่อละอวิชชา เพื่อทำวิชชาคือความรู้แจ้งเห็นจริงให้บังเกิดขึ้น นำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาให้รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โยงกันไปเป็นลูกโซ่ ตามพระเถราธิบายนี้ จึงเป็นข้อที่ควรกระทำ และเมื่อพิจารณาให้มีความเข้าใจแล้วก็ได้รู้จักสัจจะคือความจริงในพุทธศาสนา จนถึงขั้นที่เป็นอริยสัจ และจะรู้จักอริยสัจทั้ง ๔ ที่จำแนกออกไปได้อย่างกว้างขวาง และครอบคลุมสัจจะคือความจริงทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาให้มีความเข้าใจ และเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะได้ประโยชน์ดังกล่าว
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 15 มีนาคม 2555    
Last Update : 15 มีนาคม 2555 9:09:14 น.
Counter : 553 Pageviews.  

ครั้งที่ ๖ ความรู้จักชาติความเกิด

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๖ ความรู้จักชาติความเกิด

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักชาติความเกิด รู้จักชาติสมุทัยเหตุเกิดแห่งชาติ รู้จักชาตินิโรธความดับแห่งชาติ รู้จักชาตินิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ รู้จักดังนี้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ อุชุกทิฏฐิความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้

ก็เป็นอันว่า ท่านพระสารีบุตรได้อธิบายสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบคืบขึ้นไปอีกช่วงหนึ่ง หรืออีกลูกโซ่หนึ่ง หรืออีกเปลาะหนึ่ง และท่านได้แสดงอธิบายถึง

ชาติ คือความเกิด ว่าก็ได้แก่ ชาติ สัญชาติ ความก้าวลง ความบังเกิด ความบังเกิดยิ่ง ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความได้เฉพาะอายตนะทั้งหลาย รู้จักชาติก็คือรู้จักดั่งนี้

รู้จักชาติสมุทัย เหตุเกิดแห่งชาติ ก็คือรู้จักว่าเหตุเกิดแห่งชาติหรือความเกิดแห่งชาติก็มี เพราะความเกิดแห่งภพ คือเพราะภพเกิด ชาติก็เกิด รู้จักดั่งนี้เป็นความรู้จักเหตุเกิดแห่งชาติ

รู้จักชาตินิโรธ ความดับชาติ ก็คือรู้จักว่าความดับแห่งชาติย่อมมีเพราะความดับแห่งภพ ก็คือว่าเพราะภพดับ ชาติก็ดับ รู้ดั่งนี้เป็นความรู้จักชาตินิโรธ ความดับแห่งชาติ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ

ความหมายของชาติความเกิด

ต่อไปนี้จะได้แสดงอธิบายไปตามสมควร อันชาติคือความเกิดนี้ ที่ได้มีพระพุทธาธิบายและมีพระเถราธิบายตาม ว่าได้แก่ชาติ สัญชาติ ความก้าวลง และใช้คำอื่น ๆ ก็มี ความหมายถึงชาติคือความเกิดตามที่ได้เข้าใจกันและได้พูดถึงกัน อันชาติคือความเกิดนี้สำหรับมนุษยชาติหรือว่าสัตว์ที่เกิดอาศัยครรภ์มารดาทั้งปวงย่อมเรียกว่า ชาติคือความเกิดตั้งแต่ก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์ของมารดา

อันความก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์ของมารดานี้ ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงอธิบายไว้ว่า อาศัยองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ

หนึ่ง มารดาบิดาอยู่ด้วยกัน
สอง มารดามีระดู
สาม คันธัพพะหรือที่เรียกว่าคนธรรพ์ หมายถึงสัตว์ที่จะมาถือกำเนิด หรือหมายถึงปฏิสนธิวิญญาณมาปรากฏขึ้น

เมื่อประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้ ครรภ์ก็ตั้งขึ้น หรือเรียกตามคำแปลตามศัพท์ภาษาบาลี ว่าความก้าวลงแห่งครรภ์ก็ย่อมมี อันคำว่าครรภ์นี้ ก็หมายถึงสัตว์ผู้มาบังเกิดในท้องของแม่ ที่เรียกว่าตั้งครรภ์ ก็คือความก้าวลงของครรภ์ ก้าวลงของสัตว์ที่จะมาบังเกิดในครรภ์ก็ย่อมมีขึ้น และก็เรียกว่าเป็น ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ ตั้งแต่นั้น และอาศัยความเติบโตขึ้นมาโดยลำดับ จนถึงครบถ้วน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ก็คลอดออกจากครรภ์ของมารดา ชาติคือความเกิดนั้นก็นับตั้งแต่คันธัพพะ หรือคนธรรพ์หรือปฏิสนธิวิญญาณมาปรากฏก่อขึ้น เป็นปฐมจิตปฐมวิญญาณ แต่ตามที่นับกันคือนับอายุ ก็มักจะนับตั้งแต่เมื่อได้คลอดออกมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว จึงจะเรียกว่าเกิด และก็นับอายกันมาตั้งแต่นั้น

ในพระบาลีอีกแห่งหนึ่งได้มีแสดงไว้ว่า เมื่อธาตุทั้ง ๖ มาประชุมกัน ครรภ์จึงตั้งขึ้นหรือก้าวลง ที่เรียกว่าตั้งครรภ์ ธาตุทั้ง ๖ นั้นก็ได้แก่ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ คือช่องว่าง วิญญาณธาตุ ธาตุรู้หรือธาตุวิญญาณ เมื่อธาตุทั้ง ๖ นี้มาประชุมกัน ครรภ์ก็ตั้งขึ้นหรือความก้าวลงของครรภ์ก็มีขึ้น และเมื่อครรภ์ตั้งขึ้น นามรูปก็มีขึ้น

ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในที่นี้ ว่าเมื่อธาตุทั้ง ๖ ประชุมกัน ครรภ์ก็ตั้งขึ้น ธาตุทั้ง ๖ นั้น ธาตุทั้ง ๕ ข้างต้น คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ เป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ เป็นธาตุที่เป็นฝ่ายวัตถุ เป็นฝ่ายรูป ส่วนธาตุที่ ๖ คือวิญญาณธาตุนั้น เป็นธาตุรู้ และธาตุที่ ๖ นี้คือวิญญาณธาตุ ก็ตรงกับที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ รวมความก็คือเมื่อส่วนที่เป็นรูปคือธาตุ ๕ ข้างต้น กับปฏิสนธิวิญญาณ มาประชุมกันครรภ์ก็ตั้งขึ้นมานับเป็นปฐมจิตปฐมวิญญาณดั่งที่กล่าว

ชาติคือความเกิดนี้ ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น หรือหลังจากที่พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความเชื่อถือกันว่ามีอยู่ ๒ อย่าง

อย่างหนึ่ง ก็คือเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย
อีกอย่างหนึ่ง เกิดมาแล้วดำรงอยู่เป็นนิรันดรไม่ตาย

และคนเป็นอันมากหรือเรียกว่าทั้งโลก เมื่อเกิดมาก็ไม่ปรารถนาที่จะแก่จะเจ็บจะตายต้องการที่จะดำรงอยู่ แม้ว่ารู้ว่าดำรงอยู่ไม่ได้ ก็ต้องการให้อายุยืนนาน จึงพากันแสวงหาวิธีหรือหยูกยาที่จะทำให้อายุยืนนาน ที่เรียกว่าอายุวัฒนะ และแม้ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์รู้อยู่ว่าจะต้องตาย ก็ปรารถนาที่จะไปเกิดในภพชาติที่ไม่ตาย เช่นไปเกิดเป็นเทพที่เชื่อว่าไม่ตาย เพราะฉะนั้น จึงได้เรียกเทพว่าอมร ที่แปลว่าผู้ไม่ตาย แม้ศาสดาทั้งหลายผู้สอนศาสนานั้น ๆ ก็สอนกันว่ามีสรวงสวรรค์ อันเป็นที่สถิตของเทพที่เป็นอมรคือไม่ตายนี้ และก็สอนให้นับถือปฏิบัติเพื่อที่จะไปเกิดในภูมิชั้นของเทพที่ไม่ตาย ไปเป็นอมรคือเป็นผู้ไม่ตายคือไปเกิดแล้วก็ไม่ตาย และแม้เป็นมนุษย์นี้เองก็ยังมีลัทธิที่เชื่อถือว่า เมื่อไปปฏิบัติในวิธีพิเศษตามลัทธิที่สั่งสอนนั้น ก็จะสำเร็จทั้งที่กายเป็นมนุษย์นี้ เป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ตลอดไปไม่ตาย เช่น ไปสำเร็จเป็นเซียนต่าง ๆ

มีชรามรณะเพราะมีชาติ

พระพุทธเจ้าเองเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นสิทธัตถะราชกุมาร เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ก็ได้ทรงพิจารณาเข้ามาเห็นว่า แม้พระองค์เองจะทรงดำรงอยู่ในโลกนี้ในฐานะใด ๆ ก็ตาม แม้ในฐานะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จึงได้ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น พ้นจากความแก่ความเจ็บความตาย ด้วยทรงพิจารณาเทียบเคียงว่า เมื่อมีแก่มีเจ็บมีตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เหมือนอย่างเมื่อมีกลางวันก็มีกลางคืน มีกลางคืนก็มีกลางวันเป็นคู่กัน จึงได้เสด็จออกผนวชเพื่อทรงแสวงหาโมกขธรรม ในพุทธประวัติตอนนี้ก็ยังมิได้กล่าวถึงชาติคือความเกิด ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลางด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพิจารณาด้วยพระปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ จึงได้ทรงพบว่า

ความแก่ความเจ็บความตายนั้นย่อมมีเพราะชาติคือ ความเกิด เมื่อมีชาติคือความเกิด จะเกิดเป็นอะไร ๆ ก็ต้องมีดับคือตายหรือแตกสลายในที่สุด ไม่มีใครหรือะไรที่จะเป็นอมรคือไม่ตาย ใครหรืออะไรเมื่อมีเกิด ก็ต้องมีดับดังกล่าว

จึงได้ทรงพบสัจจะคือความจริง ว่าสมุทัยคือความเกิดหรือเหตุเกิดของชรามรณะนั้นก็เพราะชาติ เมื่อมีชาติก็มีชรามีมรณะ อันนับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ตามที่ท่านพระสารีบุตรได้อธิบาย

มีชาติเพราะมีภพ

และพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงพิจารณาสืบค้นขึ้นไปว่า ความเกิดขึ้นแห่งชาติหรือเหตุเกิดแห่งชาตินั้นคืออะไร ก็ได้ทรงพบว่าก็คือภพ เพราะภพเกิดขึ้น ชาติจึงเกิดขึ้น เพราะภพมีขึ้น ชาติจึงมีขึ้น ดังที่ท่านพระสารีบุตรได้นำมาอธิบายในขั้นนี้ และพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงค้นคว้าสืบ ๆ ขึ้นไป แต่ในขั้นนี้นั้นเอาเพียงแค่ว่า เพราะมีภพหรือเพราะภพเกิดขึ้นจึงมีชาติ ชาติจึงเกิดขึ้น เพราะความเกิดขึ้นแห่งภาพจึงมีความเกิดขึ้นแห่งชาติ ก็เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นในโลกนี้ซึ่งเป็นพระผู้ตรัสรู้ ได้ตรัสรู้พบสัจจะคือความจริงตั้งแต่ในขั้นนี้ ว่าชรามรณะนั้นมีเพราะชาติความเกิด และชาติคือความเกิดมีขึ้นก็เพราะมีภพ

ทรงหาทางปฏิบัติเพื่อดับชาติ

นี้เป็นสัจจะคือเป็นความจริง ที่เป็นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าคือพระผู้ตรัสรู้ที่ได้ชื่อว่าพุทธะนี้เท่านั้นจึงตรัสรู้ดังนี้ ศาสดาก่อนแต่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือแม้ภายหลังที่พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้น ก็มิได้มีผู้ใดแสดงดั่งนี้ได้ตรัสรู้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นสิทธัตถะราชกุมาร เมื่อเสด็จออกทรงผนวชแล้วได้ทรงเข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์อาฬารดาบสและอุททกดาบส ได้ทรงศึกษาจบสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นสมาธิอย่างสูงตามลัทธิของท่านดาบสทั้ง ๒ นั้น ซึ่งยังปฏิบัติสมาธิดังกล่าวเพื่อภพชาติ ซึ่งเข้าใจว่าเพื่อเป็นอมรคือไม่ตาย ดังเช่นที่บัญญัติว่าเป็นพรหมหรือเป็นเทพชั้นสูงสุดชั้นใดชั้นหนึ่ง เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นอันว่าปฏิบัติลัทธิสมาบัติทั้งปวงนั้นเพื่อชาติคือความเกิด ซึ่งความเกิดในภพชาติที่ไม่ตายนั้นไม่มี เมื่อมีชาติคือความเกิดแล้ว จะในภพชาติใดก็ตาม ก็จะต้องมีดับ ต่างแต่เร็วหรือช้าเท่านั้น แต่ก็มิได้ทรงปฏิเสธว่าไม่มีเทพดา ไม่มีพรหม เทพดา พรหม มี ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามลัทธิสมาบัตินั้นก็ไปได้ แต่ว่าแม้ไปเกิดเป็นพรหมเป็นเทพนั้น ๆ ก็ชื่อว่ามีชาติคือความเกิด ก็จะต้องมีแก่มีตายมีดับ จึงเป็นอันว่าไมพ้นทุกข์ เพราะยังต้องมีเกิดมีดับ และยังมีตัณหาคือความอยาก อันเป็นโปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อเกิดในภพชาติใหม่ ก็เป็นอันว่ายังไม่สิ้นกิเลส ยังไม่สิ้นชาติ สิ้นภพ ยังไม่สิ้นทุกข์ จึงได้เสด็จหลีกออกไปทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา แต่ก็ไม่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์เพราะไม่เป็นทางให้เกิดปัญญาที่จะรู้ถึงสัจจะคือความจริงที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ แต่ก็เป็นอันว่าแม้ในขั้นที่ทรงละสละสำนักของท่านดาบสทั้ง ๒ นั้น ก็ได้ทรงเริ่มที่จะเข้าพระทัยที่จะรู้ว่า เมื่อยังมีชาติคือความเกิดอยู่ ก็จะต้องมีชรามีมรณะ ยังมีทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องหาทางปฏิบัติเพื่อดับชาติคือความเกิด ซึ่งทางปฏิบัติเพื่อดับชาติคือความเกิดนี้ยังไม่มีศาสดาใดสั่งสอนได้ มีแต่สั่งสอนที่จะให้ไปเกิดในภพชาติ ที่เข้าใจว่าเป็นอมรคือไม่ตายดังที่กล่าวนั้นซึ่งหามีไม่ตามความเป็นจริงดังที่กล่าว เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าแม้ในขั้นนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้มีพระปัญญาที่ได้ทรงพิจารณาเห็น จับเหตุจับผล จับลูกโซ่ของสังสารวัฏ จับตั้งแต่ความแก่ความตาย ว่ามีเพราะชาติคือความเกิด แต่ว่าเมื่อยังไม่มีศาสดาใดจะสั่งสอนว่าจะดับชาติได้อย่างไร จึงต้องทรงหาเอาเองด้วย ทรงปฏิบัติค้นคว้าต่อไป จนได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาดังกล่าว

เพราะฉะนั้น เงื่อนของธรรมะตอนนี้จึงเป็นเงื่อนสำคัญ ที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมะทางปัญญาหรือทางวิปัสสนาจะต้องทำความเข้าใจ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ที่จะนำให้เข้ามาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ถูกตรง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 07 มีนาคม 2555    
Last Update : 7 มีนาคม 2555 7:41:16 น.
Counter : 666 Pageviews.  

ครั้งที่ ๕ ความรู้จักชรามรณะ

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๕ ความรู้จักชรามรณะ

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีลทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงสัมมาทิฏฐิถามเถราธิบายแห่งท่านพระสารีบุตร และโดยที่ท่านได้อธิบายไว้โดยปริยายคือทางแสดงติดต่อกันหลายข้อหลายประการ แต่อันที่จริงก็เป็นทางธรรมะที่ดำเนินไปทางเดียวกัน เป็นแต่ท่านได้จำแนกแจกแสดง เพื่อเป็นทางพิจาณาทางปัญญาของผู้ที่มุ่งทราบและมุ่งปฏิบัติอบรมทั้งหลาย

พระเถราธิบายเรื่องชรามรณะ

ภิกษุทั้งหลายได้ถามท่านต่อไปอีกว่า จะมีทางอธิบายสัมมาทิฏฐิอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี และก็ได้แสดงอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือรู้จักชรามรณะ รู้จักสมุทัย เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ รู้จักความดับชรามรณะและรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ท่านก็ได้แสดงชี้แจงต่อไปอีกว่า

ชรา ก็ได้แก่ความแก่ ความทรุดโทรม ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความหง่อมแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย มีตาเป็นต้น มรณะ ก็ได้แก่จุติความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยูความตาย การกระทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความตัดขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต รู้จักชราความแก่ มรณะความตาย ดังนี้

เหตุเกิดแห่งชรามรณะ ความแก่ความตายก็คือชาติ ความเกิด รู้จักเหตุเกิดแห่งความแก่ความตาย ก็คือรู้จักว่าชาติความเกิดเป็นสมุทัย เหตุเกิดแห่งความแก่ความตาย

ดับชาติคือความเกิดเสียได้ ก็เป็นความดับชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะก็คือรู้จักว่าดับชาติคือความเกิดเสียได้ เป็นความดับชรามรณะดังกล่าว

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติคือความเกิด ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ความแก่ ความตาย ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าวเป็นทางดับชรามรณะ
เมื่อรู้จักดังนี้ ก็ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นตรง เป็นเหตุละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานคือราคะความติดใจยินดี บรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งขัดเคือง ถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะ ว่าเรามีเราเป็น ละอวิชชาความไม่รู้ทำวิชชาความรู้ให้บังเกิดขึ้น นำให้ได้ความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดังนี้

พิจารณาให้รู้จักชรามรณะ ในสายโซ่ของสังสารวัฏ

ตามเถราธิบายนี้ก็เป็นการแสดงอธิบายอริยสัจทั้ง ๔ นั้นแหละให้พิสดารกว้างขวางออกไป โดยที่อริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นหลักใหญ่ เป็นผลเป็นเหตุในด้านทุกข์หรือด้านวัฏฏะความวนเวียน เป็นเหตุเป็นผลในด้านดับทุกข์ หรือดับวัฏฏะ ความวนเวียน และแม้ในอธิบายอริยสัจทั้ง ๔ ที่อธิบายโดยทั่วไป ดังที่พระสารีบุตรได้แสดงอธิบายไว้ในเบื้องต้นแล้วว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ รู้จักทุกข์นิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และก็ได้แสดงอธิบายแต่ละข้อขยายความออกไป ดังในข้อทุกข์ข้อแรกก็แสดงด้วยเริ่มว่า ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น รวมอยู่ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ แต่ในที่นี้ท่านได้จำแนกแจกแจงออกไปอีก คือในข้อทุกข์สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ที่ได้ยกเอาชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ ขึ้นมาแสดง ก็อธิบายขยายความว่า แม้ใน ๓ ข้อนี้เองก็ยังเป็นอริยสัจทั้ง ๔ ได้ คือ

ชรามรณะ ความแก่ความตาย
ชรามรณสมุทัย เหตุเกิดแห่งความแก่ความตาย ก็คือชาติความเกิด ดังที่แสดงไว้ว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชาติคือความเกิดเป็นทุกข์นั้นนั่นแหละ
ชรามรณนิโรธ ดับความแก่ความตายก็คือดับชาติความเกิดเสีย
ชรามรณนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘

สำหรับในข้อ ๔ นี้อธิบายเป็นข้อยืน เพราะฉะนั้น แม้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ที่อธิบายกันทั่วไปนั้น ๓ ข้อข้างต้นก็มาจำแนกเป็นอริยสัจ ๔ อีกได้ สำหรับเป็นทางพิจารณา อันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลว่า อธิบายจับเหตุจับผลที่สืบเนื่องกันไปเหมือนอย่างลูกโซ่ สืบเนื่องกันไปเป็นลูก ๆ รวมกันก็เป็นสายโซ่ทั้งเส้น แปลตามศัพท์ก็แปลว่า ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น คือเป็นเหตุเป็นปัจจัยอาศัยกันและกันบังเกิดขึ้นเป็นไป เหมือนอย่างลูกโซ่ลูกที่ ๑ ก็เป็นปัจจัยของลูกที่ ๒ ลูกที่ ๒ ก็เป็นปัจจัยของลูกที่ ๓ ลูกที่ ๓ ก็เป็นปัจจัยของลูกที่ ๔ เชื่อมโยงกันไปดั่งนี้เป็นสายโซ่

สายโซ่ปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยลูกโซ่แต่ละลูกที่พัวพันกันกับลูกอื่น และมีมากสายต่อเนื่องพัวพันกันยุ่งเหยิง ฉะนั้น เมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้งสุดประมาณ แต่ก็บังเกิดแก่ท่านเหมือนเป็นของตื้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามว่าอย่าพูดอย่างนั้น และตรัสว่าเพราะหมู่สัตว์นี้ไม่รู้จริงจึงเกิดเป็นยุ่งประดุจด้ายของช่างหูกเกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เกิดมาเหมือนหญ้ามุงกระต่ายหญ้าปล้อง

และในการพิจารณาจับเหตุจับผล หรือจับปัจจัยจับผลที่โยงกันไปเป็นสายโซ่ของสังสารวัฏ คือความท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ก็พิจารณาจับได้ตามนัยปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ดังกล่าว ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และได้ตรัสจำแนกชี้แจงแสดงเปิดเผยเหมือนอย่างทรงแก้ปมกระจุกด้ายที่ยุ่งออกให้เป็นเส้นด้ายที่ต่อกันยาวยืด และในการที่จะจับขึ้นมาพิจารณาให้เห็นได้สะดวก ก็จับพิจารณาโดยทางแห่งเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรนี้ ตั้งต้นแต่จับชรามรณะความแก่ความตาย ว่าความแก่คืออะไร ความตายคืออะไร ให้รู้จักความแก่ ให้รู้จักความตาย และก็พิจารณาให้รู้จักสมุทัยของความแก่ความตาย ให้รู้จักดับความแก่ความตาย นั่นก็คือดับชาติความเกิดเสียได้ ก็เป็นความดับความแก่ความตาย ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับความแก่ความตาย คือดับชาติดังกล่าวก็คือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นข้อธรรมปฏิบัติที่ยืน

เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งอบรมสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังพระเถราธิบายที่ท่านได้แสดงมาโดยลำดับ จับตั้งแต่ให้รู้จักอกุศล อกุศลมูล ให้รู้จักกุศล กุศลมูล ให้รู้จักอาหารทั้ง ๔ ให้รู้จักอริยสัจทั้ง ๔ โดยอธิบายทั่วไปอันเป็นหลักใหญ่ แล้วท่านจึงมาซอยให้เห็นเงื่อนที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนอย่างสายโซ่ดังกล่าวนั้น โดยให้จับพิจารณาให้รู้จักก็ตามหลักผลและเหตุด้านเกิดและด้านดับแห่งอริยสัจทั้ง ๔ ที่เป็นหลักใหญ่นั้นนั่นเองดังกล่าว เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาทางปัญญา จึงควรศึกษาตามแนวเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรนี้ อันเป็นทางอธิบายทางปัญญาที่ดีเยี่ยม อันทำให้ได้ปัญญารู้จักพุทธศาสนา แม้โดยปริยัติก็ตาม โดยปฏิบัติก็ตาม ย่อมใช้ได้ทั้ง ๒ ทาง จับพิจารณาให้รู้จักชราความแก่ มรณะคือความตาย ว่าความแก่เป็นอย่างนี้ ความตายเป็นอย่างนี้

รู้จักความแก่ที่ปกปิดและความแก่ที่ไม่ปกปิด

ท่านพระอาจารย์ได้อธิบายความแก่ความตายให้ละเอียดขึ้นไปอีก โดยที่แสดงว่าชราคือความแก่นั้นมี ๒ อย่าง คือ

ปฏิจฉันนชรา ความแก่ที่ปกปิด
อัปปฏิจฉันนชรา ความแก่ที่ไม่ปกปิด

ความแก่ที่ปกปิดนั้น ก็คือความแก่ที่มีเริ่มตั้งแต่ชาติคือความเกิด ตั้งต้นแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดามาจนเป็นตัวเป็นตน คลอดออกมาก็เจริญขึ้นเป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นความเจริญเต็มที่ ดั่งนี้ เรียกว่า ปฏิจฉันนชรา ความแก่ที่ปกปิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความแก่ขึ้น

อันความแก่ขึ้นนี้ก็เป็นชราเหมือนกัน คือความแก่ เราทั้งหลายก็ยังเรียกความแก่ขึ้นของผลไม้ว่าผลไม้แก่ ผลไม้นั้นก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นจนปรากฏเป็นผลเล็ก ๆ แล้วก็โตขึ้น ๆ จากผลไม้อ่อน ก็แก่ขึ้น ๆ จนแก่เต็มที่ ก็เรียกกันว่าผลไม้แก่ แต่ว่าบุคคลเราร่างกายที่เจริญขึ้น ๆ จนเจริญเต็มที่ ไม่เรียกกันว่าแก่ แต่อันที่จริงก็เป็นอย่างเดียวกันกับผลไม้นั้น แต่เพราะคนเราไม่เห็นว่าเป็นความแก่ แต่ว่าไปเห็นผลไม้ว่าแก่ในเมื่อผลไม้นั้นเจริญเต็มที่ ส่วนคนเราเจริญเต็มที่นั้นเราไม่เห็นว่าแก่ เห็นว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นความเจริญเต็มที่ แต่อันที่จริงก็เป็นอย่างเดียวกันเรียกว่าเป็นความแก่ขึ้น และเมื่อร่างกายเจริญเต็มที่แล้วก็เริ่มเสื่อมลง เรียกว่า เป็นความแก่ลง ก็แก่ลงไปเรื่อย ๆ ความแก่ลงนี้ก็เป็นความแก่ที่ปรากฏ ซึ่งทุก ๆ คนก็รับรองกันว่าแก่ จึงเรียกว่า อัปปฏิจฉันนชรา ความแก่ที่ไม่ปกปิด

เมื่อเทียบกับพระพุทธาธิบายหรือพระเถราธิบายที่แสดงมาข้างต้นนั้นที่อธิบายว่าชราความแก่ก็คือความแก่ ซึ่งคำนี้ซึ่งเป็นคำเริ่มต้นก็อาจเป็นความแก่ที่ปกปิดก็ได้ และต่อมาจึงอธิบายต่อไปว่าความชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเป็นอธิบายของความแก่ลง และอธิบายให้ชัดต่อไปอีกว่าได้แก่อาการที่ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีตาเป็นต้น อันความเสื่อมแห่งอายุนั้นก็กล่าวได้ว่าเริ่มเสื่อมตั้งแต่เวลาแรกของชาติคือความเกิด เมื่อมีชาติคือความเกิดก็เริ่มเสื่อมเรื่อยไป เช่นว่าเกิดขึ้นมาได้ ๑ ปีก็เสื่อมไป ๑ ปี เกิดมาได้ ๒ ปีก็เสื่อมไป ๒ ปี ก็แปลว่าลดเวลาที่มีอยู่ทั้งหมดของชีวิตลงไปทุกขณะ ๆ ที่เวลาของอายุล่วงไป ๆ เพราะฉะนั้น อายุที่ล่วงไป ๆ นับตั้งแต่ชาติคือความเกิดก็เรียกว่าเริ่มเสื่อมไปโดยลำดับคือคืบเข้าไปสู่ที่สุดอันได้แก่ความตายโดยลำดับทุกขณะทุกเวลาที่ล่วงไป ๆ ฉะนั้น ความเสื่อมของอายุจึงมีมาโดยลำดับตั้งแต่ชาติคือความเกิด และเมื่อแก่ลง ความทรุดโทรมของอินทรีย์ทั้งหลายมีตาเป็นต้น ก็ปรากฏ แต่อันที่จริงนั้นตามศัพท์ที่ท่านใช้ว่า อินฺทฺริยานํ ปริปาโก ที่แปลว่า ความสุกรอบของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมหมายความได้ตั้งแต่แก่ขึ้นตลอดจนถึงแก่ลง แต่ก็มักจะแปลกันว่า ความหง่อมเสื่อม แต่อันที่จริงนั้นไม่ตรง หาคำแปลยาก จึงขอยืมคำว่าความหง่อมความเสื่อม หรือแก่หง่อมมาใช้เท่านั้น แต่อันที่จริงตามศัพท์นั้นได้ทั้งแก่ขึ้นแก่ลง อินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เริ่มที่จะสมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ชาติคือความเกิด ดังนี้เรียกว่า ปริปากะ คือ ความที่สุกโดยรอบ คือในทางสมบูรณ์เหมือนอย่างผลไม้ที่แก่เต็มที่ แปลว่า สมบูรณ์ที่สุด แล้วจึงแก่งอม แปลว่าแก่ลง ตาเสื่อม หูเสื่อม เป็นต้น

เพราะฉะนั้น แม้ในพุทธาธิบายและเถราธิบายและเถราธิบายนั้นก็อธิบายได้ทั้งแก่ขึ้นและแก่ลงดังกล่าวนั้น แต่พระอาจารย์ได้มาชี้ให้ชัดขึ้นอีก เป็นปฏิจฉันนชรา แก่ที่ปกปิดกับอัปปฏิจฉันนชรา แก่ที่ไม่ปกปิด ซึ่งอันที่จริงนั้นก็ไม่ได้ปกปิดด้วยกันทั้งสอง ปรากฏทั้งสอง เป็นแต่เพียงว่าบุคคลไม่รู้จักเท่านั้น คือชี้แจงอย่างละเอียด ไม่รู้จักก็ต้องชี้กันไปตรง ๆ ว่าแก่ขึ้น แก่ลง จี้ลงไปให้ชัดขึ้นเท่านั้นเอง แต่พระพุทธาธิบาย และพระเถราธิบายนั้นก็ครอบไปได้ทั้ง ๒ อย่างแล้ว ท่านจึงใช้คำอธิบายถึงเรื่องความแก่นี้ไว้หลายคำดังที่กล่าวมานั้น ก็กำหนดพิจารณาให้รู้จักชราคือความแก่ดังกล่าว ว่าทุกคนก็มีชราคือความแก่ดังกล่าว เด็กก็พิจารณาได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ เพราะก็แก่ด้วยกันทั้งนั้นตั้งแต่ชาติคือความเกิด ดังกล่าวมานั้น ว่านี่คือชราคือความแก่

รู้จักความตายที่ปกปิดและความตายที่ไม่ปกปิด

มาถึงมรณะคือความตาย พระอาจารย์ก็ให้คำอธิบายไว้ ๒ อย่างเช่นเดียวกัน คือ

ปฏิจฉันนมรณะ ความตายที่ปกปิด กับ อัปปฏิจฉันนมรณะ ความตายที่ไม่ปกปิด

โดยอธิบายว่า อันความดับของธาตุทั้งหลายอันประกอบเข้าเป็นรูปขันธ์และของนามขันธ์ทั้งหลาย ย่อมมีความดับอยู่ทุกขณะในปัจจุบัน แต่ว่าอาศัยมีสันตติคือความสืบต่อด้วยอาหารทั้งหลายเข้าไปบำรุงเลี้ยงชดเชยส่วนที่ดับไปนั้น จึงมีความเกิดของรูปนามต่อเนื่องกันไป คือว่าเกิดดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดต่อเนื่องกันไป อันความดับที่มีอยู่ในระหว่าง ๆ นี้คือมรณะ ความตายที่มีอยู่ในระหว่าง ๆ จะพึงเห็นได้แต่โดยมีอาหารเข้าช่วยทำให้เกิดต่อเนื่องกัน ดังที่ได้มีเถราธิบายไว้แล้วในอาหาร ๔ ที่กล่าวมาแล้ว

แม้ผู้ศึกษาทางสรีรวิทยาในปัจจุบันก็ยังได้กล่าวไว้เช่นนั้น ว่าร่างกายของทุก ๆ คนในปัจจุบันนี้แม้จนชั้นกระดูกที่เป็นโครงร่างของแต่ละบุคคล ก็หาใช่ร่างกายหาใช่กระดูกที่เป็นโครงร่างตั้งแต่เมื่อเป็นเด็ก ๆ ไม่ กระดูกและโครงร่างตั้งแต่เมื่อเป็นเด็ก ๆ นั้นดับหมดไปแล้ว แต่อาศัยที่มีร่างกายตลอดจนถึงกระดูกที่เป็นโครงร่างใหม่บังเกิดขึ้นทดแทนโดยอาหาร เพราะฉะนั้น ชีวิตจึงยังดำรงอยู่สืบเนื่อง ความต้องการอาหารสำหรับที่จะชดเชยสืบเนื่องนี้ อย่างละเอียดก็เห็นได้ เช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออก ต้องหายใจเข้าต้องหายใจออกกันอยู่ทุกขณะหยุดไม่ได้ อันแสดงว่าต้องการใช้ลมเข้าไปชดเชยส่วนที่ดับไปหมดไป หยุดหายใจสักครู่หนึ่ง ชีวิตก็จะต้องดับต่อไม่ติด อันนี้แสดงว่าเกิดดับเกิดดับมีอยู่ในปัจจุบันและดับนั้นก็คือมรณะความตาย แต่อาศัยมีสันตติคือความสืบต่อดังกล่าวหายใจเข้าก็มีหายใจออก ออกแล้วก็เข้า เมื่อใดสันตติคือความสืบต่อนี้หยุด เช่นหายใจเข้าแล้วไม่ออก หรือออกแล้วไม่เข้า ดับอัสสาสะปัสสาสะ ความตายที่เรียกว่ามรณะในที่สุดก็ปรากฏ ความตายในระหว่าง ๆ ที่ยังมีสันตติสืบต่อเป็นความตายที่ไม่ปรากฏ แต่ความตายที่ปรากฏก็คือความตายในที่สุดที่สิ้นความสืบต่อดังที่กล่าวนั้น

แต่ตามพระเถราธิบายก็เริ่มตั้งแต่ว่า จุติ ความเคลื่อน ความแตกสลาย ความอันตรธานหายไป ก็เป็นถ้อยคำที่คลุมได้ทั้ง ๒ อย่าง ตั้งต้นด้วยคำว่าจุติคือความเคลื่อนชีวิตนี้ก็เคลื่อนไปสู่ความดับเรื่อย ๆ ไปทุกขณะแล้ว ตั้งแต่ดับที่ยังมีสันตติความสืบต่อจนไปถึงความดับที่สิ้นสันตติอันเป็นความตายที่สุด แต่ว่าสำหรับผู้ที่อ่อนสติปัญญาก็ยังมองไม่เห็นชัด จึงต้องจี้ลงไปว่าตายที่ปกปิดและตายที่ไม่ปกปิดคือสะกิดใจให้พิจารณาให้เห็นชัด

เป็นอันว่า ชราและมรณะนี้มีอยู่ตั้งแต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ชาติคือความเกิด หัดพิจารณาให้รู้จักชรา ให้รู้จักมรณะที่มีอยู่ในตนเอง ทุก ๆ คนมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อหัดให้รู้จักสมุทัยของชรามรณะก็คือชาติความเกิด เพราะมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้น จึงมีชรามรณะ ถ้าไม่มีชาติคือความเกิด ชรามรณะก็ไม่มี เพราะฉะนั้นดับชาติเสียได้จึงเป็นอันว่าดับชรามรณะ แต่ทางปฏิบัตินั้นก็คือมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้ถึงความดับชรามรณะคือดับชาติความเกิด

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 7:41:05 น.
Counter : 580 Pageviews.  

ครั้งที่ ๔ ความรู้จักอริยสัจ ๔ (๒)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๔ ความรู้จักอริยสัจ ๔ (ต่อ)

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ในขั้นที่อธิบายนี้ก็คือรู้ในอริยสัจทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และได้แสดง กิจในอริยสัจทั้ง ๔ คือ

ทำปริญญา ความรู้รอบคอบกำหนดรู้ในทุกข์
ทำปหานะ การละสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
ทำสัจฉิกรณะ กระทำให้แจ้งความดับทุกข์
ทำภาวนา อบรมปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมาและเป็นข้อปฏิบัติที่พึงปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น

ละความยึดถือในขันธ์ ๕

การปฏิบัติพุทธศาสนาก็ปฏิบัติในกิจ ๔ อย่างนี้ในอริยสัจนั้นเองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติธรรมะก็พึงศึกษาสดับตรับฟังว่าทุกข์คืออะไรตามที่ตรัสไว้ว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์เป็นต้น และเมื่อสรุปเข้าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นทุกข์ดั่งนี้ กำหนดพิจารณาให้มีความรู้ความเข้าใจ และสำหรับข้อข้างต้น ๆ ก็พิจารณาเห็นได้โดยไม่ยากนัก
ส่วนข้อที่ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นทุกข์โดยย่อ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ขันธ์คือกองทั้ง ๕

รูปขันธ์ ก็คือรูปกาย อันประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลมนี้
เวทนาขันธ์ กองเวทนา ก็ได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขทั้งทางกายทั้งทางใจ
สัญญาขันธ์ ก็คือกองแห่งสัญญา ความจำได้หมายรู้ เป็นต้นว่า จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง จำธรรมะ คือเรื่องราวที่คิดหรือที่รู้ทางมโนคือใจ
สังขารขันธ์ กองสังขาร ก็คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดต่าง ๆ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในธรรมะ คือเรื่องราวที่จำได้
วิญญาขันธ์ กองวิญญาณ คือความรู้เห็นรูปทางตา ความรู้ได้ยินเสียงทางหู ความรู้ทราบกลิ่นรส โผฏฐัพพะทางจมูกทางลิ้นทางกาย และความรู้เรื่องที่คิดหรือที่นึกที่รู้ทางมโนคือใจ

รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่านาม รูปนาม แต่เรียกลับกันเสียว่านามรูป ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเหล่านี้เป็นทุกข์ ก็เพราะยึดถือจึงเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือ ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นสภาพธรรมดา ซึ่งมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชราความเก่าตลอดจนถึงชำรุดทรุดโทรมโดยลำดับ และมีมรณะความตายเป็นที่สุด ก็เป็นสภาวะเป็นธรรมดา เมื่อบุคคลไม่ยึดถือ ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นไปตามสภาพธรรมดา เกิดแก่ตายหรือเกิดแก่เจ็บตาย แต่เมื่อบุคคลไปยึดถือเพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเป็นเหตุปัจจัยให้ยึดว่าเป็นของเรา เป็นอัตตาตัวตนของเรา บุคคลโดยตรงคือจิตใจจึงต้องเป็นทุกข์ ต้องมีโศกะ มีปริเทวะเป็นต้น ซึ่งรวมเข้าก็เป็น ๒ คือ

ประจวบกับสิ่งหรือสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก
พลัดพรากจากสิ่งหรือสัตว์สังขารซึ่งเป็นที่รัก
ย่อเข้าอีกก็เป็นหนึ่งคือ ปรารถนา ไม่ได้สมหวัง


และทั้งหมดนี้ก็สรุปเข้าย่อเข้าในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเหล่านี้นั่นแหละ

รู้วัฏฏะของกิเลส กรรม วิบาก

เพราะฉะนั้น จึงมีความสำคัญอยู่ที่ความยึดถือ ยึดถือว่า

เอตํ มม นี่เป็นของเรา
เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่
เอโส เม อตฺตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา

ที่ยึดถือก็เพราะมีตัณหา ความอยากความดิ้นรน ความทะยานอยากของจิตใจ เพราะฉะนั้น จึงศึกษาให้รู้จักว่าตัณหานี้เป็นตัวสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นอกจากให้เกิดทุกข์ทางจิตใจ มีโศกะปริเทวะเป็นต้นดังกล่าว ยังเป็นเหตุก่อภพชาติต่อไป ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ความเวียนว่ายตายเกิดต่อไปนั้นเรียกว่า สังสาระ หรือ สงสาร อันแปลว่า ความท่องเที่ยวไป และความท่องเที่ยวไปนั้นก็ท่องเที่ยวไปโดยอาการที่เป็น วัฏฏะ อันแปลว่า วน วัฏฏะคือวนนั้น ก็พูดกันง่าย ๆ ว่าเวียนเกิดเวียนตาย หรือเวียนเกิดแก่เจ็บตาย คือเมื่อเกิด ก็แก่ก็เจ็บก็ตาย ตายแล้วก็เกิดก็แก่ก็เจ็บแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็เวียนอยู่ดั่งนี้ ความเวียนอยู่ดังนี้เรียกว่า วัฏฏะ คือความวนหรือความเวียนซึ่งพูดกันเข้าใจง่าย ๆ

แต่เมื่อจะแสดงถึงวัฏฏะคือความวนตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ก็มี ๓ อย่าง คือ

กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
กรรมวัฏฏะ วนคือกรรม
วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก ผลของกรรม

อันหมายความว่า กิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเองก็เป็นตัวเหตุให้เกิดวิบากคือผล กรรมจึงเป็นเหตุวิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเองก็เป็นตัวเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก เมื่อเป็นดังนี้ วิบากนั้นก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก และกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม กิเลสก็เป็นเหตุ กรรมก็เป็นผลของกิเลสและกรรมนั้นเองก็เป็นเหตุส่งวิบาก เมื่อเป็นดังนี้ กิเลสก็กลับเป็นเหตุ วิบากก็เป็นผล และวิบากคือผลนั้นก็กลับเป็นเหตุก่อให้เกิดกิเลสขึ้นอีก

เพราะฉะนั้น กิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดั่งนี้ ก็โดยที่บุคคลนี้เอง หรือจิตนี้เองที่วนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กิเลสก็ก่อกรรม กรรมก็ก่อวิบาก วิบากก็ก่อกิเลส เพราะฉะนั้น สัตว์บุคคลจึงวนอยู่ในกิเลส กรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ นี้เป็นวัฏฏะ วัฏฏะคือความวนนี้ ก็วนอยู่ในปัจจุบันนี้นี่เอง และวนอยู่เรื่อยไป ในอดีตก็วนมาดั่งนี้ ในปัจจุบันก็วนมาดั่งนี้ ในอนาคตก็จะวนต่อไปดั่งนี้

เพราะฉะนั้นวัฏฏะคือความวนนี้ จึงวนอยู่ในกิเลศ กรรม วิบาก หรือในกงของกิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบากนี้เป็นกำ เมื่อเทียบกับล้อ จะเป็นล้อเกวียนหรือล้อรถก็ตามซึ่งประกอบด้วยกง ประกอบด้วยกำ ก็มีอยู่ ๓ กำ ก็คือกิเลส กรรม วิบาก ปิดประกอบอยู่ในกงอันเป็นวงกลม วัฏฏะคือความวนก็วนเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้

พิจารณาดูความเป็นไปของจิตในปัจจุบัน ก็จะพึงเห็นได้ว่าก็วนอยู่ใน ๓ อย่างนี้ เป็นต้นว่าเกิดตัณหาขึ้นในรูป ตัณหานั้นก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมคือจงใจที่จะดูรูป และเมื่อเป็นกรรมคือประกอบการดูรูป เช่น ขวนขวายไปดู มองดู ดั่งนี้ก็เป็นกรรม ก็ได้วิบากคือผล คือเป็นรูปที่จงใจจะดูด้วยรูปตัณหา การเห็นรูปนี่เป็นวิบากคือผล ผลของกรรมคือการที่จงใจดู และเมื่อเห็นรูป รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ก่อให้เกิดรูปตัณหายิ่งขึ้นไปอีก รูปตัณหานั้นก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมคือการดูยิ่งขึ้นไปอีก ดูก็เห็นซึ่งเป็นผล รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจก็ก่อให้เกิดรูปตัณหายิ่งขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น ทุก ๆ อย่างในปัจจุบันนี้ จิตของสรรพสัตว์คือจิตที่ยังมีความข้องความเกี่ยว มีสังโยชน์คือความผูกพัน ก็วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ตลอดเวลาไม่ออกไปนอกจากวงแห่งกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ ก็เป็นไปอยู่ดังนี้

ตัดวัฏฏะด้วยการดับตัณหา

และเมื่อว่าถึงวงกว้างคือเกิดแก่ตายในชาติหนึ่ง ๆ เกิดคือชาติ ก็เป็นตัววิบากคือ ผลของกิเลสที่เป็นมาแต่อดีต ก็คือตัณหานั่นเอง ยกตัณหาขึ้นเป็นประธาน แต่ที่ท่านอธิบายนั้นท่านมักอธิบายว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ในที่นี้ก็ยกเอาเพียงข้อกิเลสคือตัณหาอย่างเดียว เพราะตัณหานั้นเป็นตัวก่อภพชาติ และเมื่อมีชาติคือความเกิดขึ้นมา ก็แก่ก็เจ็บก็ตายในที่สุด และเมื่อยังมีตัณหาอยู่ ก็ดับตัณหาไม่ได้ ตัณหาก็เป็นชนกกิเลสชนกกรรม นำก่อภพก่อชาติใหม่ขึ้นมาอีก และเป็นชาติขึ้นก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ตายแล้วก็มีปฏิสนธิคือเกิด เกิดก็แก่ก็เจ็บก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็เป็นอันว่าแม้ในวงกว้างก็วนเวียนอยู่ดั่งนี้ สัตว์ บุคคล หรือจิต อันนี้จึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะคือวนดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า วัฏสงสารท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก ท่องเที่ยววนเวียนเกิดแก่เจ็บตายก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันศึกษาให้รู้จักตัวสมุทัยคือตัณหาซึ่งเป็นตัวต้นเหตุ เมื่อดับตัณหาเสียได้ก็เป็นอันว่าหักวัฏฏะคือวนดังกล่าว ดับกิเลส ดับทุกข์ ทางจิตใจในปัจจุบัน วิบากขันธ์ยังอยู่ก็อยู่ไปเหมือนดังวิบากขันธ์ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย และเมื่อดับขันธ์ในที่สุด ไม่เกิดอีก ก็เป็นอันว่าเป็น ปรินิพพาน คือ ดับรอบ สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ก็เป็นอันศึกษาให้รู้จักทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ จึงมาถึงศึกษาให้รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ซึ่งก็รวมเข้าในมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าก็เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา

หัดดูให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นทุกข์

เมื่อศึกษาให้รู้จักดังนี้ ก็ปฏิบัติหัดที่จะกำหนดรู้จักทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และกำหนดเข้ามาดูทุกข์อันมีอยู่ที่ตัวเราเอง คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นตัวสภาวทุกข์ หัดดูให้รู้จักทุกข์ทางจิตใจที่บังเกิดขึ้น มีโศกะปริเทวะ เป็นต้น และกำหนดให้รู้จักว่า

ที่ต้องมีทุกข์โศกกันอยู่ดั่งนี้ ก็เพราะว่ายังมีที่รัก ยังมีไม่เป็นที่รัก เมื่อประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ขึ้นมา พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ขึ้นมา รวมเข้าก็คือว่าเพราะยังมีความปรารถนา และความปรารถนานั้นไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ขึ้นมา

อันความปรารถนาไม่สมหวังนั้นย่อมมีอยู่ เพราะความปรารถนาที่สมหวังที่เรียกว่าสมหวังนั้น ก็คือความที่ได้มาตามที่ต้องการตามที่หวัง แต่ความที่ได้มาตามที่ต้องการตามที่หวังนั้นเรียกว่าเป็นความประจวบ เมื่อประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รักก็ย่อมจะมีความสุข แต่ว่าอันความสุขที่ได้จากความประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รักนั้นก็เป็นการเริ่มต้นของความพลัดพรากเหมือนอย่างเมื่อได้ชาติคือความเกิดมา ตนเองเกิดมาก็ดี ลูกหลานเกิดมาก็ดี ก็เรียกว่าเป็นความตั้งต้นการได้ แต่ว่าความตั้งต้นการได้นี้ ก็เป็นความตั้งต้นของความเสื่อมความดับเพราะเมื่อเกิดมาก็ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในทางขึ้นและในทางเสื่อมจนถึงดับในที่สุด แต่ว่าเมื่อยังมีตัณหา มีความยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ก็ย่อมจะไม่ต้องการให้สิ่งที่ยึดถือนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไปต้องดับไป ซึ่งเป็นการฝืนสภาพธรรมชาติอันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ การได้นั้นเองและยึดถือจึงเป็นตัวต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ต่าง ๆ ความได้ที่ทุกคนพอใจดีใจร่าเริงนั้น ทุกอย่างเป็นความตั้งต้นแห่งความทุกข์ เพราะจะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงต้องพลัดพรากไป การได้ลาภได้ยศที่ทุกคนพอใจดีใจร่าเริงนั้น คือความเริ่มต้นของความพลัดพรากซึ่งเป็นตัวทุกข์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะในที่สุดก็จะต้องพลัดพราก ถ้าลาภยศนั้นไม่พลัดพรากไปก่อน ชีวิตนี้ก็ต้องพลัดพราก เพราะชีวิตนี้ก็ต้องเกิดต้องดับ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ หัดกำหนดพิจารณาให้รู้จักสัจจะคือความจริงดั่งนี้ คือให้รู้จักว่าทุกข์เป็นทุกข์ อันนี้เป็นข้อฝึกทางปัญญาที่จะให้รู้จัก

รู้จักว่าทุกข์เป็นทุกข์นั้น นอกจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ตามที่ได้แสดงแล้ว ก็กำหนดให้รู้จักว่า

ทุก ๆ สิ่งที่ได้จะเป็นลาภเป็นยศเป็นอะไรก็ตาม ที่ได้นั้นชื่อว่าเป็นการได้ที่เป็นความตั้งต้นของความพลัดพราก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ก็ดีใจ รู้สึกเป็นสุข แต่ความดีใจความสุขนั้นตั้งอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว และเมื่อสิ่งที่ได้นั้นต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดับไป เมื่อมีความยึดถืออยู่ว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดถือไว้เท่าไรก็ต้องเป็นทุกข์มากเท่านั้น ยึดถือมากก็ทุกข์มาก ยึดถือน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดถือเลยจึงจะไม่เป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาให้รู้จักว่าทุกข์ก็เป็นทุกข์ รู้จักว่าสิ่งที่ได้จะเป็นลาภเป็นยศก็ตาม เป็นความสุขเป็นความรื่นเริงเป็นความหัวเราะความบันเทิงต่าง ๆ นั่น เป็นตัวทุกข์เป็นตัวทุกข์ทุก ๆ อย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่จะดำรงอยู่ หัดรู้จักทุกข์ รู้จักตัวทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ดังนี้ และความที่กำหนดให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ดั่งนี้ ก็พึงหัดกำหนดให้รู้จักทุก ๆ อย่างที่ประสบทางอายตนะทั้งสิ้น แม้ตัวความสุขความร่าเริงความเพลิดเพลินต่าง ๆ เอง ก็กำหนดให้รู้จักว่านั่นแหละก็เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ สิ่งทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของความสุขความเพลิดเพลินเหล่านั้นก็เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ทำความรู้เท่าไว้ตั้งแต่ในเบื้องต้น เมื่อจะมีความสุขก็มีความสุขไป มีความเพลิดเพลินมีความร่าเริงมีความหัวเราะก็หัวเราะไปร่าเริงไปเพลิดเพลินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ทำความรู้เท่าทันไว้ด้วยว่านั่นคือตัวทุกข์ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

รู้ว่าทุกข์คือสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง

ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสังขาร คือ สิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นสิ่งผสม ปรุงแต่งทุก ๆ อย่าง ตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อตากับรูปประจวบกัน เห็นรูปที่เรียกว่าวิญญาณก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เวทนา สัญญา สังขารต่าง ๆ ที่บังเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ทุก ๆ อย่างเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ซึ่งมีความรวมกันเข้ามาประจวบกันเข้ามา ที่เรียกว่าชาติ คือความเกิดก็ได้เป็นเบื้องต้น แล้วก็ต้องมีความแตกมีความดับในที่สุด เรียกว่าเกิดดับ เกิดเป็นเบื้องต้น ดับเป็นที่สุด ทุกอย่างต้องเป็นไปดังนี้ และสิ่งที่มาผสมปรุงแต่งอันมีลักษณะดั่งนี้นี่แหละเรียกว่า สังขาร สิ่งผสมปรุงแต่ง ทำความรู้จักว่านี่คือสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งอันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ

รู้จักลักษณะของสังขาร

และเมื่อเป็นสังขารอันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับดั่งนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้รู้จักลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่งอันเรียกว่า สังขตลักษณะ ลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่งหรือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสังขารว่า

อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ
วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมไปปรากฏ
ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อตั้งอยู่ ความที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ

รู้จักทุกข์คือวิปริณามะ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงไปนี้ของชีวิตของทุก ๆ สิ่งมีอยู่ตลอด เหมือนอย่างกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะไม่มีหยุด กาลเวลาไม่มีหยุดที่จะล่วงไป ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปสังขารชีวิตร่างกายทุก ๆ สิ่งในโลกนี้ก็ไม่มีหยุด ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดให้รู้จักสังขาร จึงต้องกำหนดให้รู้จัก วิปริณามะ อันเป็นลักษณะของสังขาร อันได้แก่ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง นี่เป็นวิธีพิจารณา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนวิธีกำหนดให้รู้จักทุกข์ไว้ ๓ อย่าง

ข้อหนึ่ง ก็คือ ทุกขทุกขะ ให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์
ข้อสอง สังขารทุกขะ ให้รู้จักว่าทุกข์ก็คือสังขาร สิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหมด
ข้อสาม วิปริณามทุกขะ ให้รู้จักวิปริณามทุกข ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เกิดจนถึงดับ มีเกิดเบื้องต้น มีดับเป็นที่สุดดั่งนี้

ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อฟังเทศนาของพระพุทธเจ้า ดังท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงอริยสัจ ท่านฟังแล้วท่านเข้าใจจับประเด็นอันสำคัญได้ คือท่านเห็นทุกข์ เห็นทุกขทุกขะตัวทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ เห็นสังขารทุกขะ ทุกข์คือสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่ง เห็นวิปริณามทุกขะ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดต้องดับ ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ของท่านจึงมีแสดงไว้ว่า ท่านเห็นว่า

ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สพฺพนฺตํ นิโรธธฺมํ สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้

คือ ท่านเห็นทุกขทุกขะ เห็นสังขารทุกขะ เห็นวิปริณามทุกขะ ทุก ๆ สิ่งที่เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวสังขาร และเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับทั้งสิ้น อันนี้แหละเป็นธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ฟังเทศน์อริยสัจ ท่านเกิดธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมดั่งนี้ และท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรมดั่งนี้ ท่านแสดงว่าท่านได้โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคล อันเป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบไป

๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2555 9:13:44 น.
Counter : 670 Pageviews.  

1  2  3  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.