Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๒ ความรู้จักอุปาทาน (๔)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๑๒ ความรู้จักอุปาทาน (ต่อ)

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการบริหารจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ซึ่งได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ มาถึงข้อว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือรู้จักอุปาทาน รู้จักเหตุเกิดอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน และได้มีเถราธิบายในข้อรู้จักอุปาทาน ว่า อุปาทานมี ๔ คือ

กามุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นกาม
ทิฏฐุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นทิฏฐิ
สีลัพพตุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นศีลและวัตร และข้อ ๔
อัตตวาทุปาทาน ถือมั่นหรือยึดถือวาทะว่าตน

ในที่นี้ได้แสดงอธิบายมาแล้ว ๓ ข้อข้างต้น จะอธิบายข้อที่ ๔ อัตตวาทุปาทาน ยึดถือหรือถือมั่นวาทะว่าตน

อัตตาในพุทธศาสนา

อันคำว่า อัตตา ที่แปลกันว่า ตน ทางพุทธศาสนาได้มีแสดงไว้เป็น ๒ ระดับ คือ

ระดับแรก พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รักษาตน คุ้มครองตน ฝึกตน และตรัสสอนว่าตนเป็นนาถะคือที่พึ่งของตน ดั่งนี้
อีกระดับหนึ่ง ตรัสสอนว่า มิใช่ตน ดังเช่นที่ตรัสสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตามิใช่อัตตา ตัวตน หรือได้ตรัสสอนยกเอาอายตนะภายในภายนอก ภายในก็คือตาหูจมูกลิ้นกาย และมนะคือใจ ภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง และธรรมคือเรื่องราวเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน และได้ตรัสสอนไว้ว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกขะคือเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือมิใช่อัตตาตัวตนและในข้อว่าธรรมทั้งปวงนี้ แสดงอธิบายว่า ทั้งสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขาร ทั้งอสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่งอันเรียกว่าวิสังขาร ทั้งหมดเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

รู้สมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ

สำหรับระดับที่ตรัสสอนให้ฝึกตน คุ้มครองตน ให้มีตนเป็นที่พึ่งของตนเรียกว่าตรัสสอนโดย สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ คือโดยที่มีมติร่วมกันเรียกขึ้นบัญญัติขึ้นแต่งตั้งขึ้น และก็รับรองเรียกกัน สำหรับการบัญญัติขึ้นแต่งตั้งขึ้นก็เรียกว่า บัญญัติ และข้อที่มีมติคือความรับรู้ร่วมกันเรียกว่า สมมติ บางทีก็เรียกควบคู่กันว่า สมมติบัญญัติ สมมติก็คือมีมติรับรู้ร่วมกัน บัญญัติก็คือแต่งตั้งขึ้น เหมือนดังเช่นสิ่งที่เกิดบนแผ่นดินเจริญเติบโตขึ้นมีต้นมีกิ่งมีใบมีดอกมีผล คนก็บัญญัติคือแต่งตั้งเรียกกันว่าต้นไม้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็เป็นต้นไม้ขึ้นมา และคำว่าต้นไม้นี้เองก็เป็นสมมติ ก็คือมีมติรับรู้ร่วมกัน เรียกร่วมกันว่าต้นไม้ เพราะฉะนั้น คำว่าต้นไม้นั้นจึงเป็นสมมติบัญญัติ แต่งตั้งขึ้นว่าให้สิ่งนี้เป็นต้นไม้ และสิ่งนี้ก็เป็นต้นไม้ขึ้นมา รับรองร่วมกัน เรียกร่วมกัน สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ที่บังเกิดมีขึ้นโดยธรรมชาติธรรมดา สิ่งเหล่านั้นเองก็เป็นธรรมชาติธรรมดา อย่างต้นไม้ที่บังเกิดขึ้นก็บังเกิดขึ้นโดยธรรมชาติโดยธรรมดา แต่บุคคลนี้เองมาแต่งตั้งขึ้นให้สิ่งนั้นเป็นนั่นให้สิ่งนี้เป็นนี่และก็รับรองร่วมกัน เรียกร่วมกัน และแม้มนุษย์และเดรัจฉานทั้งหลาย ที่เรียกกันว่ามนุษย์ คน หรือเดรัจฉาน และแม้มนุษย์เองก็เรียกแยกออกไปเป็นหญิงเป็นชาย และแต่ละคนก็มีชื่อนั้นมีชื่อนี้ สัตว์เดรัจฉานต่าง ๆ ก็เป็นช้างเป็นม้า เป็นต้น ก็แต่งตั้งกันขึ้นมาเรียกกันแล้วก็รับรองเรียกร่วมกันให้เหมือนกันจึงเป็นสมมติบัญญัติ ก็ต้องมีสมมติบัญญัติดั่งนี้ จึงจะเรียกพูดกันได้ เข้าใจกันได้และก็เรียกร่วมกันเหมือนกัน ด้วยถ้อยคำที่เป็นภาษาเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าต้นไม้ ภูเขา เมื่อพูดว่าต้นไม้ภูเขาก็เข้าใจกัน เพราะก็รับรองกันว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นต้นไม้เป็นภูเขา ถ้าใครจะไปเรียกให้ผิดแผกออกไปเป็นอย่างอื่น เรียกภูเขาว่าต้นไม้ เรียกต้นไม้ว่าภูเขา ดังนี้แล้ว ก็เรียกว่าผิดสมมติบัญญัติ แล้วก็ฟังไม่เข้าใจกัน ไขว้เขวกัน แล้วก็ทำให้คนที่เรียกไขว้เขวไปนั้นเป็นที่เข้าใจว่าเป็นคนที่จะต้องมีสติวิปลาสเป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอนก็ต้องใช้ภาษาที่พูดเรียกสิ่งนั้นเรียกสิ่งนี้ ก็เป็นไปตามสมมติบัญญัติโลก และเมื่อโลกมีสมมติบัญญัติว่าอย่างนี้ เรียกอย่างนี้ ทรงแสดงธรรมะก็เรียกอย่างนั้นเรียกอย่างนี้ และก็นับว่าเป็นสัจจะคือความจริงอย่างหนึ่ง อันเรียกว่า สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ หรือจะเรียกว่า บัญญัติสัจจะ ความจริงโดยบัญญัติก็ได้ และก็ตรัสสั่งสอนให้ทุก ๆ คนปฏิบัติชอบตามควรแก่สมมติบัญญัติโลก ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนข้อที่พึงปฏิบัติให้เหมาะให้ควรแก่สมมติบัญญัติที่เป็นสมมติสัจจะต่าง ๆ นี้ วินัยที่ทรงบัญญัติไว้และธรรมะในขั้นศีลต่าง ๆ ก็เป็นไปตามควรแก่สมมติบัญญัติ แต่แม้เช่นนั้นก็ตรัสสอนให้รู้จักสัจจะอีกระดับหนึ่ง คือ ปรมัตถสัจจะ อันได้แก่ความจริงที่มีเนื้อความอันสุขุมละเอียดเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นสัจจะคือความจริงที่เป็นอย่างยิ่งคือจริงแท้ มิใช่เป็นไปตามสมมติบัญญัติ ก็ดังที่ตรัสสอนให้พิจารณาว่า

สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และทั้งสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ทั้งวิสังขารคือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่งอันได้แก่นิพพาน และแม้ธรรมะอันเป็นส่วนไม่ผสมปรุงแต่งอื่น ๆ คือทั้งสังขารทั้งวิสังขารเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ให้กำหนดรู้ดั่งนี้

ความยึดถือวาทะว่าตนมาจากสมมติบัญญัติ

เพราะฉะนั้น วาทะคือถ้อยคำที่พูดกันเป็นภาษาดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ล้วนเป็นสมมติบัญญัติสำหรับจะเรียกกัน ถ้าหากว่าไปยึดมั่นโดยส่วนเดียว โดยที่ไม่ทำความรู้จักว่านั่นเป็นสมมติเป็นบัญญัติ ก็กลายเป็นอุปาทานคือความยึดมั่นหรือความยึดถือ และบรรดาสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติ เป็นวาทะที่เรียกร้องกัน ที่เป็นข้อสำคัญในส่วนที่เป็นธรรมปฏิบัติที่ตรัสยกขึ้นมาแสดงก็คืออัตตา ตน ก็คือตัวเราของเรา ซึ่งเมื่อมีตัวเราของเรา ก็มีตัวเขาของเขา แม้คำว่าอัตตา ตน หรือตัวเราของเรา ตัวเขาของเขา เป็นต้นเหล่านี้ ที่เรียกกันกล่าวกันนี่แหละคือ อัตตวาทะ วาทะว่าตน อันหมายรวมถึงว่า วาทะว่าตัวเราของเราและเมื่อตัวเราของเรามี ก็ต้องมีตัวเขาของเขา เพราะฉะนั้น คำว่า อัตตวาทะ วาทะว่าตนหรืออัตตา จึงหมายถึงสมมติบัญญัติดังที่กล่าวมานั้น เป็นถ้อยคำที่เรียกกัน และเมื่อเรียกกันก็เข้าใจกันรู้จักกัน และเมื่อเรียกกันรู้จักกันเข้าใจกัน เมื่อไม่พิจารณาด้วยปัญญาให้รู้จักก็ย่อมจะมีความถือมั่นหรือความยึดถือ ความถือมั่นหรือความยึดถือนี้จึงเรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นหรือความยึดถือวาทะว่าตน ก็คือยึดถือหรือถือมั่นสมมติบัญญัติว่าตน เป็นเหตุให้ถือเราถือเขาถือพวกถือพ้องเป็นต้นสืบต่อไป

และความยึดถือวาทะว่าตน ตัวเราของเราดังกล่าวมานี้ ซึ่งสืบมาจากสมมติบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่พิจารณาด้วยปัญญา ก็ทำให้มีความถือมั่นหรือยึดถือในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัตินั้น ๆ ว่าเป็นจริงมีจริง ดังเช่นเมื่อมีความยึดถือหรือถือมั่นในวาทะว่าตนในสมมติบัญญัติว่าตน ก็ทำให้หลงยึดถือในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัตินั้น ว่าเป็นตนจริง ๆ

ก็เช่นเดียวกันสมมติบัญญัติว่าต้นไม้ ก็เรียกว่าเป็น รุกขวาทะ วาทะว่าต้นไม้ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ เมื่อไม่พิจารณาก็ทำให้ถือมั่นหรือยึดถือในที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าต้นไม้นั้นว่าเป็นต้นไม้ขึ้นจริง ๆ อันที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าต้นไม้นั้นก็ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นจากแผ่นดิน มีรากมีต้นมีกิ่งมีใบมีดอกมีผล สิ่งที่บังเกิดขึ้นจากแผ่นดินที่มีรูปร่างลักษณะดังนี้แหละ เป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าต้นไม้ แห่งวาทะที่กล่าวกันว่าต้นไม้ และเมื่อเรียกเพลิน ๆ ไปก็ไปหลงยึดถือเอาที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าต้นไม้นั้น ว่าเป็นตัวต้นไม้ขึ้นจริง ๆ

จะยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติบัญญัติหรือวาทะว่าบ้านเรือน ก็เป็น ฆรวาทะ ฆร ก็แปลว่า เรือน วาทะ ก็ ถ้อยคำ ถ้อยคำที่เรียกว่าเรือน ก็เอาทัพสัมภาระต่าง ๆ เช่น ไม้ เป็นต้น มาประกอบเข้า มีเสา มีพื้น มีฝา มีหลังคา และมีสิ่งประกอบต่าง ๆ เป็นเรือน ก็สมมติบัญญัติขึ้นว่าสิ่งนี้เป็นเรือน และเมื่อเรียกกันเพลิน ๆ ไป ก็ไปหลงยึดถือเอาที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าเรือนนั้น ก็เป็นตัวบ้านตัวเรือนขึ้นจริง ๆ

ฉันใดก็ดี อัตภาพอันนี้อันประกอบด้วยกายและใจ ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสเรียกว่านามรูป และเมื่อแยกออกไปอีก ก็ตรัสแยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ คือ แยกออกไปเป็น ๕ กอง อันเรียกว่าขันธ์ ๕ ย่อลงมาก็เป็นนามรูป รวมกันเข้าก็เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่า อัตตา หรือ อัตภาพ และก็มีสมมติบัญญัติเรียกกันต่าง ๆ ออกไป ว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นชาย เป็นหญิง และก็ยังมีสมมติบัญญัติละเอียดออกไปอีก เป็นชื่อต่าง ๆ สำหรับที่จะได้กำหนดหมายเรียกร้องกัน

ความยึดถือที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติ

นามรูปหรือขันธ์ ๕ ก็เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าอัตภาพหรืออัตตา และเมื่อเรียกกันเพลิน ๆ ไป ก็หลงยึดถือว่าเป็นอัตตาขึ้นจริง ๆ เป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นจริง ๆ ก็เป็นตัวเราขึ้นก่อน และเมื่อมีตัวเราก็ต้องมีของเรา และเมื่อมีตัวเราของเราก็ต้องมีตัวเขาของเขา ก็ต้องแยกออกไปดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ความยึดถืออันเรียกว่าอุปาทาน หรือความถือมั่นอันเรียกว่าอุปาทานนี้ จึงยึดถือในที่ตั้งของสมมติบัญญัตินี้แหละ และโดยเฉพาะก็ที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตา หรืออัตภาพ กายใจ นามรูป หรือขันธ์ ๕ อันนี้ว่าเป็นตัวเราของเราขึ้นจริง ๆ

อุปาทานข้อนี้สำคัญมาก ย่อมเป็นมูลของความยึดถืออื่นต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก และในทางพระพุทธศาสนาก็ได้มีคำเรียกความยึดถือดังกล่าวนี้ในข้อนี้ไว้หลายชื่อ เช่น

เรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าอัตตาตัวตน ความตามเห็นว่าตัวเราของเรา
เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ความตามเห็นว่ากายของตน
เรียกว่า อัสมิมานทิฏฐิ มานะคือความสำคัญหมาย ทิฏฐิคือความเห็นว่าอัสมิเรามีเราเป็น
หรือเรียกว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น หรือเรียกว่ามานะเฉย ๆ

ซึ่งมานะที่เป็นต้นเดิม ก็คืออัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น เมื่อมีอัสมิมานะขึ้นมาเป็นต้นเดิมดั่งนี้ ก็มีมานะอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นอันมาก

ทรงสอนให้พิจารณาที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าเป็นสังขาร

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้พยายามที่จะได้ทรงชี้แจง ให้มากำหนดพิจารณาถึงที่ตั้งของสมมติบัญญัติต่าง ๆ หรือว่าของวาทะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสมมติบัญญัติ ให้มาพิจารณาบรรดาที่ตั้งเหล่านั้น ว่าเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เมื่อผสมปรุงแต่งขึ้นแล้ว จึงมีสมมติบัญญัติขึ้นมา เหมือนดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ แปลความว่า

เหมือนอย่างเพราะอังคสัมภาระ คือส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาประกอบเข้าเสียงเรียกกันว่ารถจึงได้มีขึ้น เมื่อขันธ์ทั้งหลายมาประกอบกันเข้าสมมติว่าสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาจึงได้มีขึ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะที่จะให้รู้ถึงปรมัตถสัจจะคือความจริงโดยปรมัตถ์ คือความจริงที่เป็นความจริงอย่างยิ่ง จึงต้องมาหัดปฏิบัติพิจารณาดูบรรดาที่ตั้งของสมมติบัญญัติทั้งหลาย ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้นี้ ที่ทรงยกเอารถขึ้นมา เมื่อเอาส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นว่าล้อและทุก ๆ ส่วนมาประกอบกันเข้า เสียงเรียกกันว่ารถจึงได้มีขึ้น แต่อันที่จริงรถจริง ๆ นั้นไม่มี คำว่ารถนั้นเป็นสมมติบัญญัติเรียกขึ้นเท่านั้น ในเมื่อถอดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ นั้นออกไป แยกเอาล้อออกไปแยกเอาตัวรถต่าง ๆ ออกไป เสียงเรียกว่ารถก็หายไป รถจริง ๆ จึงไม่มี รถเป็นสมมติบัญญัติเท่านั้น แม้ต้นไม้บ้านเรือนดังที่กล่าวมาข้างต้นก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเอาทัพสัมภาระต่าง ๆ มาปรุงกันเข้าก็เป็นเรือน แต่เมื่อรื้อเรือนนั้นออก รื้อหลังคา รื้อเสา รื้อฝา รื้อพื้น ถอนเสาออก เสียงเรียกว่าเรือนก็หายไป เรือนจริง ๆ จึงไม่มี เมื่อทุกอย่างมาประกอบกันเข้า สมมติบัญญัติเสียงเรียกว่าเรือนจึงได้มีขึ้น ต้นไม้ก็เหมือนกัน เมื่อตัดโค่นตัดกิ่งก้านลำต้นถอนรากออกไปหมดแล้ว เสียงว่าต้นไม้นั้นก็หายไป ต้นไม้จริง ๆ จึงไม่มี

แม้อัตตวาทะหรือสมมติบัญญัติถ้อยคำที่เรียกว่าอัตตาตัวตน คืออัตภาพนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อขันธ์ทั้งหลายมาประกอบกันเข้า เสียงเรียกว่าอัตตาตัวตนก็มีขึ้น เมื่อขันธ์แตกสลาย เสียงเรียกว่าอัตตาตัวตนก็หายไป ตัวตนจริง ๆ จึงไม่มี เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนมาให้พิจารณาดูที่ตั้งของสมมติบัญญัติทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้ ว่าเมื่อมาประกอบกันเข้าเป็นสังขาร ก็เป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติเรียกกันต่าง ๆ และเมื่อสังขารคือส่วนที่มาประกอบกันนั้นแตกสลายแยกย้ายกันออกไป สมมติบัญญัติต่าง ๆ นั้นก็หายไป

ฉะนั้น วาทะที่สมมติบัญญัติที่เรียกกันต่าง ๆ ซึ่งสังขารทุก ๆ อย่างไม่จำเพาะแต่อัตตาเท่านั้น ต้นไม้ภูเขาอะไรเป็นต้นดังกล่าวนั้นก็เหมือนกัน จึงไม่มีความจริงแท้อยู่ในตัวเป็นสมมติบัญญัติเท่านั้น ตรัสสอนให้พิจารณาที่ตั้งของสมมติบัญญัติเหล่านั้นว่าเป็นตัวสังขารเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และได้ทรงชี้มาดูให้รู้จักที่แห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตาตัวตนคืออัตภาพอันนี้ โดยที่ตรัสสอนชี้แยกออกให้รู้จักว่าไม่มีตัวอัตภาพหรืออัตตาที่แท้จริง อยู่ในสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งก้อนนี้กองนี้ โดยได้ตรัสชี้แยกออกไปว่าอันที่จริงนั้นประกอบขึ้นด้วยขันธ์คือกองทั้ง ๕ นั่นเป็นรูปนั่นเป็นเวทนา นั่นเป็นสัญญา นั่นเป็นสังขาร นั่นเป็นวิญญาณ เหมือนดังตรัสชี้ให้ดูเรือนว่า นั่นหลังคา นั่นฝา นั่นพื้น นั่นเสา และชี้ให้ดูรถว่า นั่นล้อ นั่นตัวรถ นั่นเครื่องประกอบต่าง ๆ ของรถ ให้ดูต้นไม้ว่า นั่นเป็นกิ่ง เป็นก้าน เป็นลำต้น เป็นราก เป็นเปลือก เป็นกระพี้ เป็นแก่น เป็นต้น ซึ่งมาประกอบกันเข้าเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ๆ

ตรัสสอนให้พิจารณาแยกสังขาร

และในอัตภาพอันนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ ก็ตรัสชี้ให้รู้จักว่าสิ่งที่มาประกอบนั้นอะไรบ้าง ส่วนที่แข้นแข็งซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ มีอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ นี่เป็นกองรูป ดังกองรูปของทุก ๆ คนที่นั่งกันอยู่นี้ ก็คือว่ากองรูปกองหนึ่งมากองกันอยู่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ประกอบด้วยอาการ ๓๑, ๓๒ เรียกแยกออกไปเป็นศีรษะเป็นแขเป็นขาเป็นลำตัว เป็นต้น ก็มากองกันอยู่ นี่เป็นกองรูป ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็เป็นกองเวทนา ความจำได้หมายรู้ รู้รูปรู้เสียงรู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะรู้เรื่องราวต่าง ๆ ก็เป็นกองสัญญา ความปรุงคิดหรือความคิดปรุงต่าง ๆ ก็เป็นกองสังขาร ซึ่งเป็นความปรุงแต่งภายในจิต และกองความรู้สึกเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็เป็นความรู้รูปคือเห็นรูป หูกับเสียงประจวบกันก็เป็นความรู้หรือได้ยินเสียง เมื่อจมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกัน ก็เกิดความรู้หรือทราบในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ เมื่อมโนหรือใจกับธรรมะเรื่องราวมาประจวบกัน ก็เกิดความรู้ในเรื่องที่ใจคิดรู้เหล่านั้น นั่นก็เป็นกองวิญญาณ

เพราะฉะนั้น ก็ขันธ์ ๕ เหล่านี้เองมาประกอบกันเข้า ซึ่งเมื่อย่อเข้าแล้ว รูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม ก็เป็นนามรูป นี้เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตาตัวเราหรืออัตภาพ และเมื่อขันธ์ ๕ เหล่านี้ยังประกอบกันอยู่ ไม่แตกสลายแยกกันออก สมมติบัญญัติว่าตัวเรา อัตภาพ อัตตาก็ยังอยู่ ในเมื่อกองทั้ง ๕ เหล่านี้แตกสลายในเมื่อมรณะมาถึงนามก็ดับ รูปก็แตกสลายไปโดยลำดับ สมมติบัญญัติว่าอัตตาอัตภาพก็หายไป

กำหนดรู้ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์

ได้ตรัสสอนให้รู้จักพิจารณาแยกดั่งนี้ ให้รู้จักตามความเป็นจริง นี้แหละคือวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งจะต้องมีสมาธิ คือจะต้องมีจิตตั้งมั่นกำหนดอยู่ในที่ตั้งแห่งสมมติบัญญัติว่าอัตตาหรืออัตภาพอันนี้

ให้รู้จักว่านี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ มีชาติความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชราความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งพยาธิในท่ามกลาง มีมรณะเป็นที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเป็น อนิจจะ ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับ เป็น ทุกขะ เป็นทุกข์คือทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะปรารถนานั้นก็ปรารถนาที่จะไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ก็ปรารถนาไม่ได้ ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จึงเป็น อนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน

ตรัสสอนให้รู้จักพิจารณาในที่ตั้งของสมมติบัญญัติดั่งนี้ และโดยเฉพาะข้อสำคัญก็คือสมมติบัญญัติว่าอัตตาตัวเราของเรา ตัวเราก่อน แล้วก็มีของเรา แล้วก็จะมีตัวเขาของเขา และเมื่อพิจารณาให้รู้จักที่ตั้งของสมมติบัญญัติโดยเฉพาะที่ตัวเรานี้ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้หายหลง หายยึดถือ แต่เมื่อยังไม่ได้เห็นแจ้งจริง ก็ย่อมจะต้องมีความยึดถืออยู่ เป็นอัตตาวาทุปาทาน

อนึ่ง เมื่อมีอุปาทานนี้ ยังเป็นเหตุให้ถือเราถือเขาด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวกเป็นเหตุให้เกิดความแก่งแย่งวิวาทและอกุศลธรรมต่าง ๆ อีกมากมาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 20 เมษายน 2555
Last Update : 20 เมษายน 2555 9:37:50 น. 1 comments
Counter : 557 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 20 เมษายน 2555 เวลา:16:31:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.