Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๑ ความรู้จักอุปาทาน (๓)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๑๑ ความรู้จักอุปาทาน (ต่อ)

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ความยึดถือศีลและวัตร

จะแสดงพระเถราธิบายแห่งพระสารีบุตรเรื่องสัมมาทิฏฐิ ซึ่งถึงข้อที่ท่านพระสารีบุตรเถระได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ว่าคือรู้จักอุปาทานรู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน และข้อแรกรู้จักอุปาทานนั้น ท่านได้แสดงยกเอาอุปาทาน ๔ ขึ้นมา ได้แสดงไปแล้ว ๒ ข้อ จะแสดงข้อที่ ๓ คือ สีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตรหรือศีลและพรต

อธิบายศีลและวัตร

คำว่า ศีลวัตร ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ ศีล คำหนึ่ง และ วัตร อีกคำหนึ่ง ศีลนั้นก็ได้แก่ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ วัตรนั้นก็ได้แก่ข้อที่ปฏิบัติ บางทีเรียกว่าพรต ดังคำว่า บำเพ็ญพรต พรตก็มาจากวัตร ข้อที่ปฏิบัตินี้เอง ทั้ง ๒ คำนี้เป็นคำที่ใช้คู่กัน

ศีล ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าเป็นศีลในทางพุทธศาสนา ก็แสดงเป็นข้อที่พึงเว้น ดังศีล ๕ ก็ได้แก่เว้นจากภัยเวร ๕ ข้อ ดังนี้ เป็นต้น และเมื่อมาถึงปาติโมกขสังวรศีล ศีลในพระปาติโมกข์สำหรับภิกษุ ก็มีทั้งข้อห้ามและข้อที่อนุญาต ข้อห้ามก็คือข้อที่บัญญัติห้ามมิให้กระทำ ห้ามการกระทำ เมื่อไปล่วงละเมิดกระทำเข้าก็ต้องอาบัติหนัก ปานกลาง หรือเบาตามพระบัญญัตินั้น ๆ และก็มีข้อที่ทรงอนุญาตให้ทำเรียกว่าข้ออนุญาตคือที่ทรงสั่งให้กระทำ หากไม่ทำตามที่ทรงสั่งให้ทำก็ต้องอาบัติอีกเหมือนกัน แต่ว่าศีลทั่วไป ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็แสดงในทางเป็นข้อห้ามคือให้งดเว้น

วัตร นั้นได้แก่การปฏิบัติ ความปฏิบัติ หรือข้อที่ปฏิบัติ ดังเช่นข้อที่เกี่ยวแก่ข้อที่พึงปฏิบัติต่าง ๆ ยกตัวอย่างสำหรับภิกษุบริษัท ก็เช่น อุปัชฌายวัตร อาจาริยวัตร ข้อที่สัทธิวิหาริกอันเตวาสิกพึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และข้อที่พึงปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่าวัตร

ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา

ศีลและวัตรนี้ได้มีมาแก่บุคคลผู้ยึดถืออยู่ในศีลและวัตรทั้งหลายตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล ดังเช่นศีลและวัตรของผู้บวชเป็นฤษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟก็ทำการบูชาไฟ คือก่อกองไฟขึ้น ฤษีดาบสทั้งปวงก็มีศีล คือข้อที่ประพฤติหรือความประพฤติที่งดเว้นจากการกระทำบางอย่างและมีวัตรคือข้อที่พึงปฏิบัติ ดังเช่นบูชาไฟดังกล่าวนั้น ดังนี้ก็เป็นศีลและวัตรของฤาดาบสทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีศีลและวัตรของศาสดาทั้งหลายภายนอกพุทธศาสนา ดั่งเช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาถึงศาสดาภายนอกพุทธศาสนา ที่เรียกว่าศาสดา ๖ จำพวกซึ่งต่างก็ได้สั่งสอนศีลและวัตรแก่สาวกทั้งหลายของตนในทางต่าง ๆ กัน แม้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทางสุดโต่ง ๒ ทาง ที่บรรพชิตผู้มุ่งจะตรัสรู้ไม่ควรที่จะส้องเสพปฏิบัติ คือ

กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นในทางกาม และ
อัตตกิลมถานุโยค ความปฏิบัติทรมานตนให้ลำบาก คือ ทำทุกกรกิริยาต่าง ๆ

เหล่านี้ก็ชื่อว่าเป็นศีลและวัตร ซึ่งศาสดาในภายนอกพุทธศาสนาสั่งสอนกัน และนอกจากนี้ก็ยังมีผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในศีลวัตรที่แปลก ๆ ไปจากนี้ ดังที่มีแสดงเล่าไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาอันเรียกว่า โควัตร สุนัขวัตร โควัตรก็คือว่าถือปฏิบัติอย่างโค สุนัขวัตรก็คือว่าถือปฏิบัติอย่างสุนัข เป็นต้นว่า ผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในโควัตร สุนัขวัตร ก็ใช้เดิน ๔ ขาแบบสุนัขแบบโค ทำกิริยาอาการทำเสียงและบริโภคแบบสุนัขแบบโคเหล่านี้เรียกว่าโควัตร สุนัขวัตร ในครั้งพุทธกาลถือศีลและวัตรกันแบบนี้ก็ยังมี และก็มีแสดงเล่าว่า บางคนที่ถือโควัตรสุนัขวัตรได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเมื่อปฏิบัติในศีลและวัตรแบบสุนัขแบบโค สิ้นชีวิตไปจะไปเกิดเป็นอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ก็ไปเกิดเป็นสุนัขไปเกิดเป็นโคนั่นแหละ ดั่งนี้ เหล่านี้เป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่มากมาย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงเว้นมาโดยลำดับ

ทรงละความยึดถือในศีลและวัตร

สำหรับศีลและวัตรที่เป็นชั้นหยาบ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเว้นเสียทีเดียว ไม่ทรงทดลอง แต่ในบางอย่างได้ทรงทดลองปฏิบัติ ดังเช่นที่ทรงเข้าศึกษาในสำนักของพระดาบสทั้ง ๒ คือ อาฬารดาบสและอุททกดาบส ซึ่งสั่งสอนศีลและวัตรเพื่อสมาบัติ ๗ เพื่อสมาบัติ ๘ ซึ่งก็นับว่าเป็นศีลและวัตรทางสมาธิอันละเอียดประณีต แต่ว่าก็ยังประกอบด้วยอุปาทานคือความยึดถือในศีลและวัตรที่ปฏิบัติ คือในสมาบัติ ๗ ในสมาบัติ ๘ เพื่อไปเกิดเป็นพรหม ก็คือว่าเพื่อภพเพื่อชาติ ยังไม่พ้นจากภพจากชาติ จึงยังไม่พ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงลาออกจากสำนักของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก็ไปทรงทดลองประพฤติปฏิบัติศีลและวัตรที่เป็นทุกกรกิริยา ทรมานพระกายให้ลำบากด้วยวิธีต่าง ๆ จนถึงอย่างยิ่งยวด และในที่สุดทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่ให้เกิดปัญญาที่จะตรัสรู้ธรรมะได้ จึงได้ทรงเลิก

สมาธิจิตที่บริสุทธิ์

และได้ทรงหวนระลึกถึงสมาธิจิตที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมารเล็ก ๆ ตามเสด็จพระพุทธบิดาไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระกุมารน้อยได้ประทับพักอยู่ที่ใต้ร่มไม้ในขณะที่พระราชบิดาทรงประกอบพระราชพิธี จิตของพระองค์ก็รวมเข้า ที่ท่านแสดงว่ากำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงได้ปฐมฌาน แต่ว่าฌานที่ทรงได้ครั้งนั้นก็เสื่อมไป ทรงระลึกได้จึงทรงเห็นว่า สมาธิที่ทรงได้อย่างบริสุทธิ์เมื่อครั้งเป็นพระกุมารนั้น จะพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ ซึ่งทรงจับทำสมาธิที่ท่านแสดงว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอานาปานสติ ซึ่งเป็นสมาธิอย่างบริสุทธิ์ไม่ยึดถือเพื่ออะไร ครั้นทรงได้สมาธิจนถึงขั้นฌานแล้วก็ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ จึงทรงได้ พระญาณทั้ง ๓ อันได้แก่

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกชาติในปางก่อนได้
จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน และอุปบัติ ความเข้าถึงชาตินั้น ๆ ว่าเป็นไปตามกรรม และ
อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ตามพุทธประวัติที่แสดงนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่าในที่สุดพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ไปทรงได้พระองค์เองเป็นอาจารย์ คือพระองค์เองเมื่อเป็นพระกุมารเล็ก ๆ ซึ่งได้สมาธิจนถึงปฐมฌานในพระราชพิธีแรกนาขวัญที่เล่ามานั้น ก็พระกุมารเล็ก ๆ คือพระองค์นั่นแหละเป็นพระอาจารย์ ของพระองค์เอง เมื่อทรงแสวงหาทางแห่งความตรัสรู้ ก็โดยที่จิตของพระกุมารเล็ก ๆ นี้เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ยังไม่มีตัณหาคือความอยากในอะไรทั้งที่เป็นส่วนกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา และเมื่อประทับนั่งอยู่เฉย ๆ ในขณะที่พระราชบิดาทรงแรกนาขวัญนั้น อาศัยพระบารมที่ทรงบำเพ็ญมา จึงทำให้จิตของพระองค์รวมเข้ากำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะว่าลมหายใจเข้าออกนี้ทุกคนก็ต้องหายใจกันอยู่ตลอดเวลา ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เป็นแต่ว่าไม่ได้กำหนดเท่านั้น ครั้นองค์พระกามารเล็ก ๆ นั่งประทับรออยู่เฉย ๆ และก็ไม่ได้มีตัณหาคือความอยากในอะไร ลมหายใจเข้าออกของพระองค์จึงปรากฏแก่จิต จิตก็จับกำหนด ก็ได้ปฐมฌานอย่างบริสุทธิ์ ปราศจากตัณหาคือความอยากว่าจะไปเป็นพรหมเป็นเทพหรือไปเป็นอะไร ตามวิสัยของจิตของเด็ก ๆ เล็ก ๆ ซึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว จิตที่จะบริสุทธิ์เหมือนอย่างเด็กเล็ก ๆ ดั่งนี้หายากเข้า เพราะเมื่อรู้เดียงสามากขึ้น ตัณหาคือความอยากต่าง ๆ ก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะมาปฏิบัติธรรมะเช่นว่าออกบวชเป็นฤษีชีไพร หรือออกบวชในลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ก็ล้วนแต่ออกบวชด้วยตัณหา คือต้องการเกิดเป็นนั่นเกิดเป็นนี่ ต้องการได้นั่นได้นี่ แต่ว่ายังมิได้หวนรู้จักว่าเพื่อดับกิเลสเพื่อดับตัณหา ไม่รู้จักที่จะทำจิตให้เป็นอุเบกขาคือวางเฉย ล้วนแต่เป็นไปเพื่อผลที่ต้องการตามคำสอนของอาจารย์นั้น ๆ หรือตามลัทธิของอาจารย์นั้น ๆ ฉะนั้น จิตจึงไม่บริสุทธิ์เหมือนอย่างเด็กที่ยังไม่เดียงสาอะไรนัก

เพราะฉะนั้น ภาวะของจิตที่บริสุทธิ์อย่างจิตเด็กที่ไม่เดียงสาอะไรนักนี้เป็นข้อที่แม้ผู้ใหญ่เองที่ต้องการปฏิบัติธรรมะก็พึงนึกถึงและพึงใช้ปฏิบัติว่าจะต้องทำจิตให้เหมือนอย่างนั้น

อาศัยตัณหาละตัณหา

พระพุทธเจ้าเองก็ทรงได้องค์เองเมื่อทรงเป็นพระกุมารน้อย ๆ นี้เป็นอาจารย์จริง ๆ และก็ทรงนำเอาวิธีของอาจารย์น้อย ๆ คือพระองค์เองเมื่อยังเป็นเด็กนั้นมาทรงปฏิบัติต่อโดยทรงทำจิตให้บริสุทธิ์ คือปฏิบัติทำสมาธิไปให้จิตรวมเข้าโดยไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการเพื่ออยากเกิดเป็นโน่นเป็นนี่อะไร แม้ว่าจะมีความต้องการอยู่ก็ต้องการเพื่อที่จะได้ตรัสรู้ ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ซึ่งก็เป็นตัณหาอย่างละเอียดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่แม้เช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเพื่อละเสีย ดังที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงอธิบาย คือตามหลักที่ว่า อาศัยตัณหาละตัณหาเสีย ซึ่งท่านพระอานนท์ได้แสดงอธิบายไว้ว่า ก็คือคิดว่าไหนจึงจะได้ทำทุกข์นี้ให้สิ้นไปและปฏิบัติทำทุกข์ให้สิ้นไป ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา พูดตรง ๆ ก็คือว่าอยากที่จะสิ้นทุกข์ จึงปฏิบัติเพื่อสิ้นทุกข์ แต่ว่าในที่สุดเวลาที่จะสิ้นทุกข์ก็ต้องละตัณหาอย่างละเอียดนี้เสียเหมือนกัน ถ้าไม่เช่นนั้นก็ถึงความสิ้นทุกข์ไม่ได้

ดั่งเช่นที่ได้เคยแสดงแล้ว ก็คือองค์ของท่านพระอานนท์เองที่ท่านยังเป็นเสขบุคคลคือยังเป็นพระโสดาบัน ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จนถึงวันที่จะทำปฐมสังคายนา บรรดาพระเถระที่จะเข้าประชุมทำปฐมสังคายนานั้น ท่านพระมหากัสสปเถระผู้เป็นประธานได้เลือกพระเถระที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เว้นแต่ท่านพระอานนท์องค์เดียวที่ยังเป็นเสขบุคคลแต่ว่าท่านพระมหากัสสปเถระก็เลือกพระอานนท์เข้า เพราะเป็นผู้ที่ได้ทรงธรรม ทรงวินัยคือจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดีเลิศ อันจะขาดท่านเสียมิได้ เมื่อถึงวันที่จะทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปะก็เตือนท่านพระอานนท์ว่าให้บำเพ็ญสมณธรรมด้วยความไม่ประมาท ท่านพระอานนท์ก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่งยวด เมื่อท่านทำไปในราตรีที่รุ่งขึ้นจะเป็นวันเริ่มทำปฐมสังคายนานั้น ท่านก็ยังไม่บรรลุถึงธรรมะสูงสุด ท่านจึงคิดว่าจะพัก จึงได้เอนองค์ลงเพื่อจะพัก ในขณะที่เอนองค์ลงยังไม่ถึงอิริยาบถที่เรียกว่านอนอย่างเต็มที่ และก็มิใช่อิริยาบถที่นั่งอย่างเต็มที่ คือในขณะที่เอนองค์ลงนั้น จิตของท่านก็พ้นจากอาสวะทั้งสิ้น คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้แสดงอธิบายกันมาว่า ท่านพระอานนท์นั้นท่านได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรียกว่าสมณธรรมนั้นมาอย่างสมบูรณ์ แต่เพราะยังมีตัณหาคือความอยากที่จะสำเร็จ อันตัณหานี้เองเป็นเครื่องกั้นมิให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้ จนท่านคิดว่าจะพัก จึงเอนองค์ลงเพื่อพัก ซึ่งความคิดที่จะพักนั้นเป็นความวางตัณหา พอท่านวางตัณหาเสียได้ คือตัณหาที่ต้องการสำเร็จจิตของท่านก็พ้นจากอาสวะทันที ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาแต่ก็ต้องวางตัณหาจึงจะละตัณหาได้ ถ้ายังไม่วางตัณหาก็ยังละตัณหาไม่ได้ จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ได้ สำเร็จไม่ได้ ต้องวางตัณหาจึงจะละตัณหา จิตจึงจะพ้นจากอาสวกิเลสได้

ศีลและวัตรในพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น ตามที่กล่าวมานี้ก็ได้แสดงถึงศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา และแม้ในพุทธศาสนาก็มีศีลและวัตร คือศีลที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ประพฤติ และวัตรคือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ ซึ่งแม้ศีลและวัตรในพุทธศาสนานี้เอง ถ้าหากว่ายังประพฤติปฏิบัติด้วยตัณหา ก็ชื่อว่ายังเป็น สีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือศีลและวัตร และได้มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า สีลัพพตปรามาส ความยึดถือลูบคลำศีลและวัตรในสังโยชน์ ๑๐

แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนี้ซึ่งมีอาการเป็นความยึดถือเช่นเดียวกับสีลัพพตุปาทานแต่ว่าหยาบกว่า และในการอธิบายสีลัพพตปรามาส ก็อธิบายคล้ายคลึงกันกับสีลัพพตุปาทานคือศีลและวัตรในคำว่าสีลัพพตปรามาสในสังโยชน์ ๑๐ นั้น ก็หมายถึงศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา ตลอดถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง คือเมื่อละศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนาแล้วมาปฏิบัติศีลและวัตรในพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติด้วยตัณหา ก็ชื่อว่ายังเป็นสีลัพพตปรามาส แต่ว่าใช้คำว่าปรามาสนี้แรงกว่าคำว่าอุปาทาน คือหมายความว่าต้องลูบคลำ คือต้องจับเอาไว้ ถ้าไม่จับเอาไว้ ศีลและวัตรก็จะขาดเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อย ดังเช่นศีล ๕ สมาทานศีล ๕ รักษาศีล ๕ ก็จะต้องจับยึดรักษาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นศีล ๕ ก็จะขาดเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อย คือจะต้องรักษากันอย่างกวดขัน ต้องจับต้องยึดกันไว้เหมือนอย่างการรักษาศีล ๕ ของสามัญชนทั้งหลาย เพราะยังมีสักกายทิฏฐิ ความเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราเป็นอย่างแรง เพราะฉะนั้น ความประพฤติจึงเป็นไปตามอำนาจของตัวเราของเรา ก็คือตามอำนาจกิเลสตัณหาทั้งหลาย ฉะนั้นจึงปรากฏว่าคนสามัญทั่วไปนั้นไม่อาจที่จะรักษาศีล ๕ ไว้โดยไม่ให้ขาดเป็นท่อน ไม่ให้ทะลุเป็นช่องไม่ให้ด่างไม่ให้พร้อยกันตลอดไปได้ ต้องมีขาดต้องมีต่อกันอยู่เรื่อย ๆ ดังจะพึงเห็นได้ว่า ต้องมีการสมาทานกันอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตสามัญยังเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอยู่เป็นอันมาก จนกว่าจะละสักกายทิฏฐิด้วยการเห็นธรรมะอันเป็นธรรมจักษุได้ จึงจะไม่ต้องคอยยึดศีลและวัตรไว้

เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นมีศีล ๕ บังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเอง และพระโสดาบันนั้นไม่มีที่จะละเมิดที่จะล่วงศีล ๕ โดยที่พระโสดาบันไม่ต้องรักษา ไม่ต้องคอยจับคอยยึด แปลว่าปล่อยจับปล่อยยึดได้ ก็มีศีล ๕ ขึ้นมาเอง โดยที่จะไม่ละเมิดเลยเป็นธรรมชาติธรรมดาของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงละ สังโยชน์ได้ ๓ คือ

สักกายทิฏฐิ ความเห็นยึดถือว่ากายของเรา คือเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราซึ่งเป็นอย่างแรง
สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำคือจับยึดศีลและวัตรเอาไว้ และ
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัยเพราะเห็นธรรมะที่เป็นตัวสัมมาทิฏฐิแล้ว

เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงละสังโยชน์ทั้ง ๓ ได้ดังกล่าว ก็เป็นอันว่าสำหรับสีลัพพตปรามาสนั้นละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค แต่แม้เช่นนั้นก็ยังมีสีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือในศีลและวัตรอยู่เป็นอย่างละเอียด เหมือนอย่างท่านพระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านละสีลัพพตปรามาสได้ แต่ว่ายังมีตัณหาที่จะตรัสรู้ ก็ชื่อว่ายังมีสีลัพพตุปาทานอยู่ จนท่านวาง และเมื่อท่านวาง จิตของท่านก็วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งสิ้นทันทีดั่งนี้

ยึดและปล่อยศีลและวัตรเป็นขั้น ๆ

สีลัพพตุปาทานนี้จึงมีใจความที่คลุมอุปาทานคือความยึดถือทั้งหมด แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งท่านละมาได้โดยลำดับ แต่ว่าก็ยังละอุปาทานที่เป็นอย่างละเอียดไม่ได้ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงละได้หมด เพราะฉะนั้นสีลัพพตุปาทานนี้จึงมีความที่คลุมไปได้ทั้งหมด คลุมสีลัพพตปรามาสด้วย แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนั้นเป็นอย่างหยาบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนสีลัพพตุปาทานนี้คลุมได้หมด อันสีลัพพตุปาทานดังกล่าวมานี้ ก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะพากันละพากันทิ้งได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นของไม่ดี จำเป็นที่จะต้องแบ่งตามภูมิตามชั้น
กล่าวคือถ้าเป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา อันเป็นศีลและวัตรที่ผิดต่าง ๆ นั่นก็เป็นอันว่าผู้นับถือพุทธศาสนาก็ต้องละเว้นไปโดยลำดับ และมาถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเองก็จะต้องละต้องเว้นเหมือนกัน แต่ว่าก่อนที่จะละจะเว้นก็ต้องสมาทาน คือต้องรับถือปฏิบัติก่อน และจะต้องอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาดังกล่าวมานั้น คือยังจะต้องมีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทานอยู่ในการปฏิบัติมาโดยลำดับ แต่ว่าก็ยึดและปล่อยไปเป็นขั้น ๆ เหมือนอย่างคนเดินขึ้นบันไดซึ่งมีหลายขั้น ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น และขั้นที่กำลังขึ้นอยู่นั้นก็จะต้องเหยียบอยู่บนบันไดทั้ง ๒ เท้าในขั้นนั้น ดั่งนี้เรียกว่ายังมีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทานอยู่ในขั้นนั้น แต่ว่าที่จะก้าวขึ้นขั้นต่อไปนั้น ก็จะต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่นั้นก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือว่าปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ถ้าหากว่าไม่ปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ยังคงยืนอยู่ในขั้นเดิมนั่นแหละ ก็แปลว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องปล่อยขั้นที่ ๑ ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๒ ก็จะต้องยึดขึ้นที่ ๒ ทรงตัวอยู่ในขั้นที่ ๒ แล้วจึงต้องละขั้นที่ ๒ ก้าวขึ้นสู่ขั้นที่ ๓ ก็แปลว่าต้องรับปฏิบัติคือต้องยึด แล้วก็ปล่อย เดินขึ้นไปเป็นขั้น ๆ ดั่งนี้ จึงจะขึ้นสูงขึ้นไปได้โดยลำดับ จนถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นอันว่าปล่อยได้หมด ดังนี้

เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาที่แสดงธรรมะอันละเอียดนี้ จึงไม่ใช่หมายความว่าข้อที่แสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีโทษต้องละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ก็เป็นอันว่าปฏิบัติอะไรไม่ได้ เหมือนอย่างว่ามีบันได ก็เป็นอันว่าขึ้นบันไดกันไม่ได้ เพราะขึ้นบันไดแล้วก็จะต้องเหยียบขึ้นไปทีละขั้น ถ้าสอนว่าอย่าให้เหยียบ เหยียบแล้วไปยึดดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องขึ้นบันไดกัน และเป็นอันว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยึด จะต้องปล่อยไปโดยลำดับดั่งนี้เป็นขั้น ๆ ไป นี้กล่าวในข้อที่เป็นข้อพึงปฏิบัติคือเป็นทางปฏิบัติอันถูกชอบ แต่ว่าถ้าเป็นทางปฏิบัติอันไม่ถูกไม่ชอบแล้ว ก็ต้องปล่อยเสียทีเดียว ไม่ต้องไปทดลองก่อน เช่นว่าเว้นจากการฆ่า มีเมตตากรุณา ก็ไม่ต้องไปทดลองฆ่าเสียก่อนแล้วจึงเว้น ละเสียทีเดียว แต่ในข้อที่พึงปฏิบัตินั้น ก็ให้ปฏิบัติไป แล้วก็ต้องก้าวไปเป็นขั้น ๆ ดังกล่าวมานี้ ดั่งนี้เป็นอธิบายในสีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตร

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑ ธันวาคม ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 14 เมษายน 2555
Last Update : 14 เมษายน 2555 9:16:05 น. 0 comments
Counter : 765 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.