Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒ อาหาร ๔

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๒ อาหาร ๔

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้น ดังได้กล่าวแล้ว ก็คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบไว้ ว่าเป็นอย่างไรเป็นความเห็นชอบ และยังได้แสดงไว้ต่อไปดังที่จะกล่าว ณ บัดนี้ คือภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้ถามท่านต่อไปว่า ยังมีอธิบายโดยปริยายคือทางอันอื่นอีกหรือไม่ ท่านพระสารีบุตรก็ได้ตอบว่ามี และก็ได้แสดงปริยายคือทางอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือ

ความรู้จักอาหาร
รู้จักอาหารสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร
รู้จักอาหารนิโรธ ความดับอาหาร และ
รู้จักอาหารนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้ถึงความดับอาหาร

รู้จักอาหาร

คำว่า อาหาร นั้นเป็นคำที่ทุก ๆ คนก็เรียกกันถึงอาหารที่บริโภคเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย แต่คำว่าอาหารมิใช่หมายความถึงเพียงอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารอย่างอื่นอีกด้วย ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายอาหารไว้ ๔ ประการ คือ
หนึ่ง กวฬิงการาหาร อาหารคำคำข้าว
สอง ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
สาม มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ความจงใจ และ
สี่ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
คำว่า อาหาร นั้นตามศัพท์แปลว่า นำมา ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องอาศัยที่นำผลมา

หนึ่ง อาหารของกายหรือรูปธรรม

ข้อที่หนึ่ง กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ก็หมายถึงอาหารที่บุคคลตลอดจนถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายบริโภค เป็นอย่างละเอียดก็มี เป็นอย่างหยาบก็มี ยกเอาคำข้าวขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นชื่อ เพราะว่าข้าวนั้นก็ถือว่าเป็นอาหารหลักสำหรับที่จะบำรุงเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้น จึงยกขึ้นเป็นชื่อของอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายอันหมายคลุมถึงอาหารทุกอย่างที่บริโภคสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย
นี้คือกวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ข้อที่หนึ่ง

สอง อาหารของนามธรรม

ข้อที่สอง ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ หมายถึงอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มาประชุมกัน เรียกว่า สัมผัส หรือ ผัสสะ อันแปลว่า กระทบ เป็นอาหารแห่งนามธรรมทั้งหลาย คือ แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร และแห่งวิญญาณเองที่เกิดสืบต่อไป

กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวข้อแรกเป็นอาหารของรูปธรรม คือ ร่างกายส่วนรูป
ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะหรือสัมผัสเป็นอาหารของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดสืบเนื่องกันไป
ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะข้อที่สองนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า คือความประชุมของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ โดยที่เมื่อตากับรูปประจวบกันก็ย่อมเกิดวิญญาณ คือ ความรู้ในรูปที่เรียกว่าเห็นรูป อันการเห็นรูป ดังที่พูดกันก็มักจะพูดกันว่า เห็นรูปด้วยจักษุคือตา แต่เมื่อแสดงตามทางอภิธรรม ท่านแสดงว่าเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณคือความรู้รูปทางจักษุ ตานั้นเป็นเพียงประสาทสำหรับเป็นที่อาศัยรับรูปที่มาประจวบกันเท่านั้น ถ้ายังไม่เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นรูปก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา ก็คือรู้รูปทางตา ที่เรียกกันว่าเห็นรูป เพราะฉะนั้นการเห็นรูปจึงมิใช่เห็นด้วยจักขุหรือจักษุ แต่ว่าเห็นด้วยจักขุวิญญาณ
เมื่อพูดตามธรรมดาก็พูดว่าเห็นรูปด้วยจักษุ แต่เมื่อพูดตาทางอภิธรรมก็จะพูดว่าเห็นรูปด้วย จักขุวิญญาณ
แม้ในอายตนะข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน หูกับเสียงมาประจวบกันก็เกิด โสตวิญญาณ ได้ยินเสียง
จมูกกับกลิ่นมาประจวบกันก็เกิด ฆานวิญญาณ รู้กลิ่นทางจมูก
ลิ้นกับรสมาประจวบกันก็เกิด ชิวหาวิญญาณ รู้รสทราบรสทางลิ้น
กายกับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกันก็เกิด กายวิญญาณ รู้สิ่งถูกต้องทางกาย
มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวมาประจวบกันก็เกิด มโนวิญญาณ รู้เรื่องที่ใจคิดทางมโนทางใจ

นี้เป็นปกติของอายตนะภายในภายนอกและวิญญาณทางอายตนะทั้ง ๖ นี้ บังเกิดขึ้นเป็นปกติแก่ทุก ๆ คน ทุก ๆ เวลา และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกัน จึงเรียกว่าเป็นสัมผัสที่แปลว่าความกระทบ หรือเรียกสั้นว่าผัสสะ และผัสสะหรือสัมผัสดังกล่าวมานี้เองเป็นอาหารของนามธรรมทั้งหลาย คือ ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร และของวิญญาณที่เกิดสืบจากสังขาร

เพราะฉะนั้น ตามอธิบายนี้วิญญาณจึงบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นตามทางอายตนะ และเมื่อทั้ง ๓ มาประชุมเป็นสัมผัส จึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร และก็เกิดวิญญาณสืบต่อกันไปอีก เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงมาตรงที่เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันนั้นหนหนึ่งและเมื่อมาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก วิญญาณก็มาบังเกิดขึ้นสืบจากสังขารอีกครั้งหนึ่ง และก็มาเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็เป็นวิญญาณ ก็วนกันไปอยู่ดั่งนี้ในอารมณ์ทั้งหลายที่จิตนี้รับ เริ่มมาจากทางอายตนะซึ่งเป็นฝ่ายรูปแล้วก็มาเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันประกอบย่อเข้าเป็นรูปเป็นนาม รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนาม รวมเป็นขันธ์ ๕ ย่อก็เป็นรูปเป็นนาม อันเรียกว่านามรูปนี้ จึงเป็นสิ่งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จนเมื่อได้คลอดออกมาจึงมีความสมบูรณ์ แต่แม้เช่นนั้นก็ยังอ่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงเจริญสมบูรณ์ขึ้นจนมีความสมบูรณ์เต็มที่ ดังรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของบุคคลที่เติบโตขึ้น ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว ก็เป็นความสมบูรณ์ของขันธ์ ๕ ขึ้นมาโดยลำดับ

ดังจะพึงเห็นได้ว่า เมื่อส่วนรูปมีความสมบูรณ์ ส่วนนามก็สมบูรณ์ ดังเช่นเมื่อตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจสมบูรณ์จึงรับอายตนะภายนอกต่าง ๆ ได้ฉับพลันคล่องแคล่วว่องไว วิญญาณที่บังเกิดขึ้น สัมผัสที่บังเกิดขึ้น สืบมาถึงเวทนา สัญญา สังขาร แล้วต่อไปวิญญาณอีกก็สมบูรณ์ฉับพลัน และตรงนี้ก็น่าที่จะต้องอธิบาย เพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า ในขันธ์ ๕ นั้นไม่จัดใส่วิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้เข้าไว้ จัดรูปเป็นที่ ๑ แล้วก็มาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณต่อท้าย ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในระหว่างรูปกับเวทนาเสีย ถ้าหากว่าจะใส่ไว้ด้วยก็ไม่ใช่เป็นขันธ์ ๕ จะต้องเป็นขันธ์ ๖ ขันธ์ ๗ แต่นี่ไม่ใส่ไว้ ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้ออกเสียจึงเป็นขันธ์ ๕ แสดงวิญญาณไว้ข้างท้ายเท่านั้น พิจารณาดูก็เพื่อสะดวกเป็น วิปัสสนาภูมิ คือ เป็นภูมิแห่งวิปัสสนา คือเป็นกรรมฐานสำหรับวิปัสสนาในอันที่จะกำหนดพิจารณาให้รู้ให้เห็นได้สะดวก เพราะว่ารูปนั้นก็เป็นของหยาบ พิจารณาได้สะดวก มาเวทนาก็นับว่าเป็นนามธรรมที่หยาบบังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ จึงมาเป็นที่ ๒ จึงมาถึงสัญญาถึงสังขารซึ่งเป็นส่วนนามธรรมล้วน ๆ แล้วจึงมาวิญญาณซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ละเอียด ก็เอาคุมไว้ข้างท้ายสำหรับที่จะพิจารณาเป็นกรรมฐานเป็นวิปัสสนาภูมิได้โดยสะดวก

ฉะนั้น ผัสสะจึงมีความหมายถึงความประชุมของทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวนั้น เป็นอาหารของเวทนา คือเป็นปัจจัยนำผลมา คือนำให้เกิดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ให้เกิดสัญญาคือความรู้จำได้จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ได้ เป็นสังขารคือความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่าง ๆ และเมื่อคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วยก็เป็นวิญญาณ แล้วก็วนเป็นวงกลมมาใหม่อีก

ก็เป็นไปอยู่ดังนี้ เป็นเรื่องของรูปและนามที่บังเกิดอยู่ในปัจจุบันของบุคคลทุก ๆ คนโดยที่รูปนั้นก็ต้องอาศัยอาหารคือคำข้าว หยาบบ้างละเอียดบ้าง ส่วนนามก็อาศัยอาหารคือผัสสะดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่ารูปไม่ได้อาศัยอาหารคือคำข้าวก็ดำรงอยู่ไม่ได้ นามไม่อาศัยอาหารคือผัสสะหรือสัมผัส นามก็บังเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น อาหารคือคำข้าวจึงเป็นที่ ๑ อาหารคือผัสสะจึงเป็นที่ ๒

สาม อาหารของกรรม

มาถึงข้อที่สาม มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ความจงใจ ตรัสว่าเป็นอาหารของกรรม และพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบายตามพระพุทธเจ้า เพราะว่ากรรมคือการงานที่บุคคลกระทำ ทางกายก็เป็นกายกรรม ทางวาจาก็เป็นวจีกรรม ทางใจก็เป็นมโนกรรม ย่อมเกิดจากมโนสัญเจตนาคือความจงใจ จะต้องมีมโนสัญเจตนา หรือเรียกสั้นว่าเจตนา ความจงใจเป็นเหตุ จึงได้กระทำทางกายเป็นกายกรรม กระทำทางวาจาเป็นวจีกรรม กระทำทางใจเป็นมโนกรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า

เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นกรรม คือเป็นเหตุให้กระทำกรรม เพราะว่าบุคคลมีเจตนาคือความจงใจแล้ว จึงกระทำทางกายบ้าง กระทำทางวาจาบ้าง และกระทำทางใจบ้าง

ฉะนั้น กรรมที่บุคคลกระทำทุก ๆ อย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือบุญกรรม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหรือบาปกรรม ย่อมมีเจตนาคือความจงใจหรือมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ คือเป็นอาหาร เป็นปัจจัยที่นำผลมาคือนำให้เป็นเหตุให้บังเกิดกรรม
ฉะนั้น มโนสัญเจตนาหรือเจตนาคือความจงใจจึงเป็นอาหารของกรรม นับเป็นข้อที่ ๓

สี่ อาหารของนามรูป

มาถึงข้อที่ ๔ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ อันวิญญาณนี้ที่ได้กล่าวมาไว้เบื้องต้น ท่านเรียกว่าเป็น วิถีวิญญาณ เป็นวิญญาณในวิถี อันหมายความว่าเป็นวิญญาณที่บังเกิดขึ้นตามวิถีคือตามทาง วิถีคือทาง ก็คือวิถีของกายจิตนี้ที่ประกอบกันอยู่เป็นไปอยู่ อันนับแต่อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันเป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่าเป็นวิถีคือเป็นทางแห่งความเป็นไปของกายและจิต ที่อาศัยกันอยู่ ที่ประกอบกันอยู่ ที่ดำเนินไปอยู่จึงเรียกว่า วิถีวิญญาณ

อีกอย่างหนึ่ง ปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณในปฏิสนธิ วิญญาณในปฏิสนธินี้ก็ได้แก่วิญญาณธาตุคือธาตุรู้หรือจิตที่อาศัยอยู่ในกายนี้ ซึ่งบุคคลทุก ๆ คนนี้มีกายและจิตประกอบกันอยู่ ถ้าหากว่าไม่มีจิต กายนี้ก็ดำรงอยู่มิได้ ต้องแตกสลาย เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงเอาไว้ในบางพระสูตรว่า เมื่อมีชาติคือความเกิด ตั้งแต่ต้นเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา เริ่มก่อเกิดขึ้นก็มีปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งมีคำเรียกว่า คันธัพพะ คนธรรพ์เข้ามาสู่ครรภ์ของมารดาอีกส่วนหนึ่ง มาประกอบเข้ากับส่วนประกอบที่เป็นรูป เมื่อเป็นดังนี้ สัตว์จึงเริ่มมีชาติก็คือความเกิดขึ้นมา และเมื่อคันธัพพะหรือปฏิสนธิวิญญาณเข้าสู่ครรภ์ของมารดาในขณะที่ได้เริ่มก่อรูปขึ้นตั้งต้นแต่เป็นกลละ และก็เริ่มเติบโตขึ้นแตกเป็นปัญจสาขา มีอายตนะที่บริบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ก็จะต้องมีปฏิสนธิวิญญาณประกอบอยู่ด้วยตลอด ถ้าหากว่าปฏิสนธิวิญญาณหรือว่าจิตหรือว่าคนธรรพ์ดังที่เรียกในพระสูตร พรากออกไปเสียเมื่อใดรูปที่ก่อขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั้นก็เป็นอันว่าแตกสลาย ไม่ก่อเกิดขึ้นอีกต่อไป แม้ว่าเมื่อคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว กายและจิตนี้ก็ต้องประกอบกันอยู่ตลอดเวลาเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณที่มาตั้งแต่ในเบื้องต้นนั้นก็จะต้องอยู่ ถ้าหากว่าปฏิสนธิวิญญาณที่มาตั้งแต่เบื้องต้นนั้นหรือว่าจิตออกไปเสียจากร่างกายนี้เมื่อใด ร่างกายอันนี้ก็เป็นอันว่าหยุดที่จะเติบโต แตกสลาย ที่เรียกว่าตาย จะดำรงอยู่ต่อไปมิได้ หรือจะเรียกว่าขันธ์ ๕ หรือรูปนาม เมื่อวิญญาณดังกล่าวไม่มีแล้ว ขันธ์ ๕ หรือรูปนามก็แตกสลาย ได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ ที่ใช้เป็นบทสำหรับพิจารณาว่า

อจิรํ วตยํ กาโย ไม่นานหนอกายนี้
ปฐวึ อธิเสสฺสติ จักนอนทับแผ่นดิน
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ ปราศจากวิญญาณ ถูกทิ้ง
นิรตฺถํว กลิงฺครํ ราวกับท่อนไม้ท่อนฟืนไม่มีประโยชน์

คาถาบทนี้ก็เป็นเครื่องแสดงว่า กายนี้ทั้งรูปกายทั้งนามกายคือขันธ์ ๕ หากปราศจากวิญญาณเสียแล้ว ก็จักต้องนอนหรือถูกทอดทิ้งให้นอนทับแผ่นดิน เหมือนอย่างท่อนฟืนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ กายทั้งรูปกายทั้งนามกายหรือขันธ์ ๕ นี้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะยังมีวิญญาณ ไม่ปราศจากวิญญาณ ฉะนั้น วิญญาณนี้จึงเป็นอาหารสำคัญของนามรูปหรือของขันธ์ ๕ หรือว่าของรูปกาย นามกาย เมื่อวิญญาณนี้ยังอยู่ นามรูปก็ยังดำรงอยู่ แต่เมื่อปราศจากวิญญาณเสียแล้ว นามรูปก็เป็นอันว่าแตกสลาย
ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นอาหารของนามรูป เป็นข้อที่ ๔

รู้จักอาหารสมุทัยคือตัณหา

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารไว้ ๔ อย่างดังนี้ และพระสารีบุตรก็ได้แสดงตามสัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอาหารทั้ง ๔ เหล่านี้ว่า

คำข้าว เป็นอาหารของกาย คือของรูปกาย
ผัสสะ หรือสัมผัส เป็นอาหารของนามมีเวทนาเป็นต้น
มโนสัญเจตนา หรือเจตนาความจงใจ เป็นอาหารของกรรม
วิญญาณ เป็นอาหารของนามรูป

ต่อจากนี้ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบายให้รู้จักอาหารสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร ก็ชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักว่า ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเป็นเหตุแห่งอาหารทั้ง ๔ ดังกล่าว

รู้จักอาหารนิโรธ

และแสดงต่อไปว่า ความรู้จักอาหารนิโรธคือความดับอาหาร ก็คือความรู้จักว่าดับตัณหาเสียได้ ก็เป็นความดับอาหาร และปัญญาที่รู้จักดังนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ

รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร

ต่อไปก็แสดงว่า ปัญญาที่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหารก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ปัญญาที่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหารดังนี้เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ

ดับภพดับชาติเมื่อดับตัณหา

พิจารณาดูแนวอธิบายของท่านดังนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่า เพราะตัณหานี้เองเป็น โปโนพฺภวิกา เป็นเหตุให้ถือภพถือชาติใหม่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้แสวงหาอาหารแห่งรูปธรรมนามธรรมแห่งกรรมและแห่งวิญญาณอยู่ตลอดไป ซึ่งเมื่อมีอาหารเหล่านี้อยู่ก็เป็นอันว่าไม่มีที่จะจบภพจบชาติ เพราะท่านต้องการแสดงในทางดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ก็คือดับภพดับชาติ เป็นแนวอธิบายในทางดับภพดับชาติ จึงได้แสดงว่าตัณหาเป็นตัวสมุทัยแห่งอาหาร และดับตัณหาเสียได้ก็เป็นการดับอาหาร คือเป็นการดับภพดับชาติและก็มีมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละเป็นทางปฏิบัติ แม้จะกล่าวว่าท่านแสดงมุ่งในทางดับภพดับชาติ แต่ก็เป็นสัจจะคือความจริงว่าความสืบต่อภพชาติก็เพราะมีตัณหานี้เองเป็นตัวเหตุ เพราะสัจจะคือความจริงเป็นดั่งนี้ จึงได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า โลกอันตัณหาก่อขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อยังเป็นโลกก็เพราะยังมีตัณหาอยู่เป็นตัวก่อให้เกิดขึ้น ดับตัณหาเสียได้ก็ดับโลก และก็เป็นการดับทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริง แต่แม้เช่นนั้นเมื่อไม่ประสงค์จะดับโลก ไม่ประสงค์จะดับตัณหา ยังต้องการโลกอยู่ ยังอยู่กับโลกก็ปฏิบัติในการแสวงหาอาหารทั้ง ๔ นี้โดยทางที่ชอบ เพื่อจะได้ภพชาติที่ดีที่ชอบ ภพชาติในปัจจุบันก็เป็นภพชาติที่ดี ที่ชอบ มีความสุข ภพชาติต่อไปก็มีความสุข ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงได้แสดงสัจจะคือความจริง และความที่มีปัญญารู้จักความจริงในเรื่องอาหาร ในเรื่องเหตุเกิดอาหาร ในเรื่องความดับอาหาร ในเรื่องทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ดั่งนี้แหละคือเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ แม้จะเป็นข้อที่ต้องพิจารณา เรียกว่ายากขึ้นไปจากประการแรก แต่ก็สามารถจะพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริงได้ และจะทำให้เข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงได้แสดงว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็ย่อมจะมีความเห็นตรง ย่อมจะมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม มาสู่หลักสัทธรรมนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2555 9:02:32 น. 0 comments
Counter : 504 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.