กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๖ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ


กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ



..........................................................................................................................................................


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตได้ ๓ ปี ถึงปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญได้เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

การพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงจัดการพิธี เอาแบบอย่างครั้งอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นตำรา คือปลูกพลับพลาที่ประทับของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญที่หน้าโรงละคร ริมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามเคย แต่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จมาประทับเฉพาะเวลาเมื่อจะแห่ หาได้มาประทับแรมที่พลับพลาไม่ การที่แห่ก็แห่จากพลับพลาไปยังพระราชวังบวรฯ ไม่ได้ไปทรงเครื่องและขึ้นพระราชยานที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ดังแต่ก่อน สองข้างทางแห่ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ ตามเคย

ส่วนในพระราชวังบวรฯที่ทำพิธีจัดแต่ ๒ แห่ง คือ ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยตั้งทั้งพระแท่นมณฑลและเทียนชัย เป็นที่พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวดมนต์และสวดภาณวารแห่ง ๑ ในห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งวสันตพิมานจัดเป็นที่ทรงฟังพระสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป สวดพระปริตอีกแห่ง ๑

มีการต้องแก้ไขเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ตามประเพณีเดิม กรมพระราชวังบวรฯต้องเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรทีในพระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัตร เจ้านายตั้งกรมที่วังทุกๆพระองค์ อุปราชาภิเษกครั้งนี้จึงต้องเอาแบบการเสด็จพระราชดำเนินครั้งบวรราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นตำรา

เริ่มการพิธีวันแรกเดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนราบ ไปประทับที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศ แล้วกระบวนแห่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญตามขึ้นไป ผ่านหน้าพระที่นั่งถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วไปประทับพระราชยานที่เกยพระที่นั่งมังคลาภิเษก เปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์ทรงเขียนทองพื้นขาว ฉลองพระองค์ครุย ไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีลที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งจัดเป็นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ครั้นจุดเทียนชัยแล้วเสด็จเข้าไปทรงฟังสวดที่พระที่นั่งวสันตพิมาน จนสวดมนต์จบเสด็จพระราชดำเนินกลับ แล้วจึงแห่กลับ

รุ่งเช้ากรมหมื่นบวรวิไชยชาญเสด็จจากวังใหม่ไปเลี้ยงพระที่ในพระราชวังบวรฯ ครั้นสวดมนต์ครบ ๓ วัน ถึงวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเข้าที่สรง แล้วเสด็จมารับพระราชทานพระสุพรรณบัตรและเครื่องราชูปโภคที่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว กรมพระราชวังบวรฯเสด็จออกโปรยทานที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศ(๑) และเวลาบ่ายมีการสมโภชเวียนเทียน เป็นการเสร็จพิธีอุปราชาภิเษก

กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระชนมายุได้ ๓๑ พรรษา ในเวลานั้นพระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆในวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซ่อมแซมสร้างไว้ยังบริบูรณ์ดี ไม่มีสิ่งสำคัญซึ่งปรากฏว่าสร้างใหม่ ครั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นที่ประทับ เป็นแต่ทรงสร้างพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นทรงขนานนามว่า "พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส" ส่วนที่วิมานเดิมนั้นโปรดให้เจ้าคุณจอมมารดาเอม พระชนนีขึ้นมาอยู่ที่มุขตะวันออก อันเรียกว่า พระที่นั่งบูรพาภิมุข

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอุปราชาภิเษกนั้น มีตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระบวรราชวังเพิ่มเติมขึ้นครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก และทั้งมีทหารบกทหารเรือก็จัดขึ้นเป็นของวังหน้า ผิดกับครั้งพระมหาอุปราชแต่ก่อนๆ ข้าราชการวังหน้ายังมีตัวอยู่มาก เพราะลงมาสมทบรับราชการวังหลวงเพียง ๓ ปี ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระเยาว์พระชนมายุอยู่ บัญชาสั่งให้บรรดาข้าราชการที่มีสังกัดวังหน้า กลับคืนไปอยู่ในกรมพระราชวังบวรฯ ตามแบบโบราณ รวมทั้งกรมทหารบกทหารเรือ ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดขึ้นใหม่ด้วยทั้งสิ้น ไม่ได้ดำริให้ลดลง ให้คงแต่ตามอย่างกรมพระราชวังบวรฯแต่ก่อนมา เพราะฉะนั้นที่งข้าราชการและกำลังไพร่พลฝ่ายวังหน้า ในเวลากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอุปราชาภิเษกจึงมีมากกว่าครั้งไหนๆที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน

ดูเหมือนความประสงค์ในครั้งนั้น จะให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงรักษาระเบียบแบบแผนการงานทั้งปวงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดไว้ให้คงที่ถาวรสืบไป กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงทรงพยายามที่จะเจริญรอยรักษาแบบอย่างของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา ทั้งขนบธรรมเนียมในพระราชวังบวรฯ มีเสด็จออกที่โรงรถแทนท้องพระโรงเป็นต้น ตลอดจนการฝึกหัดจัดทหารบกทหารเรือก็จัดต่อมาอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่เพราะฐานะผิดกัน ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินและเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นแต่กรมพระราชวังบวรฯ และเป็นแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอในชั้นราชตระกูล การที่สะสมกำลังพลทหารจะให้เหมือนแบบอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะเรียกระดมทหารวังหน้า เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ พ.ศ. ๒๔๗ ต้องจัดวางกำหนดอัตราเป็นยุติที่กรมพระราชวังบวรฯจะมีทหารได้เพียงใด เมื่อเป็นยุติแล้วจึงเรียบร้อยเป็นปกติต่อมา

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดในการช่างต่างๆมาแต่เดิม ทรงจัดตั้งโรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ประดิษฐ์คิดทำขึ้นล้วนเป็นฝีมืออย่างประณีต จะหาเสมอได้โดยยาก แต่โรงงานการช่างในครั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ใช้แก้ไขสถานที่ซึ่งมีมาแต่เดิมแล้วโดยมาก ปลูกสร้างใหม่ก็แต่ของเล็กน้อย มาในตอนหลังทรงหัดงิ้วขึ้นโรงหนึ่ง ก็ใช้สถานที่ของเดิมให้เป็นที่พวกงิ้วอาศัย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๗ ปี ประชวรพระโรควักกะพิการ เสด็จทิวงคตที่พระที่นั่งบวรบริวัติ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๔๗ พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ประดิษฐานพระศพประกอบพระโกศทองน้อย ไว้ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และโปรดฯให้ประกาศสั่งคนโกนหัวไว้ทุกข์เฉพาะที่สังกัดฝ่ายพระราชวังบวรฯ เหมือนอย่างครั้งกรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแต่ก่อนมา

ครั้นถึง เดือน ๗ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระเมรุที่ท้องสนามหลวงสร้างเสร็จแล้ว จึงแห่พระศพจากพระราชวังบวรฯมายังพระเมรุ มีการมหรสพสมโภชและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชประเพณี พระราชทานเพลิงเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ แล้วให้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์กับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตแล้ว ในปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ พ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา สมเด็จพระโอรสาธิราช เป็นมงกุฎราชกุมาร อย่างสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณีเดิม(๑) จึงประกาศพระราชกฤษฎีกาเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะไม่ให้เป็นที่ร้าง จึงโปรดฯให้จัดที่ในเขตวังชั้นนอกมาเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ คือ ราบ ๑๑ ทุกวันนี้ ด้วยทหารบกวังหน้ามาสมทบอยู่ในกรมนั้น วังชั้นกลางโปรดฯให้จัดพิพิธภัณฑ์สถานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนชั้นในยังมีเจ้านาย ทั้งพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชธิดากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จอยู่ด้วยกันมาก จึงโปรดฯให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายการปกครองให้พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหัว ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป และโปรดฯให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอุตสาหเสด็จขึ้นไปเยี่ยมเยียนเนืองๆ ด้วยพระองค์ทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก ทรงอุปการแก่พระราชบุตรพระราชธิดามาทุกพระองค์ ถึงลูกเธอในกรมพระราชวังบบวรวิไชยชาญซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมากนั้น ก็ทรงจัดให้เล่าเรียน และเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงต่อมา ที่เป็นพระองค์ชายเมื่อทรงพระเจริญขึ้นได้มีตำแหน่งรับราชการแทบทุกพระองค์

เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์ โปรดฯให้พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรองลงมา ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าต่อมา เหมือนอย่างพระองค์เจ้าดวงประภา และโปรดฯให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งบวรบริวัตรมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕


เมื่อเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯแล้ว ครั้นล่วงเวลามาหลายปี ป้อมปราการที่ในวังหน้าชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ ด้วยตั้งแต่ก่อสร้างซ่อมแซมครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ต่อมาหาได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกไม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า สถานที่ต่างๆในวังหน้าที่ไม่เป็นสิ่งสำคัญ จะลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้แต่ที่เป็นสิ่งสำคัญ จึงโปรดฯให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆ ส่วนชั้นนอกข้างตะวันออกลงเปิดที่ท้องสนามหลวง

ต่อมาเมื่อเสด็จกลับจากประพาสนานาประเทศในยุโรปครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงจัดการตกแต่งพระนครให้ไพบูลย์ขึ้น โปรดฯให้ข้างตะวันออกทำถนนราชดำเนิน และท้องสนามหลวงขยายต่อขึ้นไปข้างเหนือ จึงรื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆต่อไปอีก คงไว้แต่พระอุโบสถวัดบวรสุทธาวาส แล้วจึงโปรดฯให้สร้างตึกในสนามข้างด้านเหนือ ๓ หลังเป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการ แล้วเปลี่ยนมาใช้ราชการกระทรงยุติธรรมอยู่จนบัดนี้ และสร้างโรงไว้พระมหาพิชัยราชรถต่อลงมาข้างใต้ ที่ริมน้ำข้างตะวันตกก็รื้อสถานที่ของเดิม สร้างโรงทหารราบที่ ๑๑ ขึ้นใหม่

ส่วนข้างในพระราชวังบวรฯนานมามีคนอยู่น้อยลง ตำหนักข้างในร้างว่างเปล่ามาก จึงโปรดฯให้กันตำหนักข้างใต้ออกเป็นข้างหน้าตอน ๑ ให้จัดเป็นคลังเครื่องสรรพยุทธ์ ทำประตูขึ้นใหม่ตรงมุมถนนพระจันทร์ และรื้อเขื่อนเพชรเดิมก่อเป็นกำแพงใบเสมาเหมือกำแพงเดิมต่อไปข้างตะวันออกจนจรดกำแพงรั้วเหล็ก ซึ่งทำใหม่ในตอนเขตพิพิธภัณฑ์สถาน ว่าโดยย่อ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ถึงรัชกาลปัจจุบัน(๓) เมื่อพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์ โปรดฯให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมา จนปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์เจ้าวงจันทร์สิ้นพระชนม์ เจ้านายข้างในยังเหลืออยู่น้อยพระองค์ สมัครจะเสด็จไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯเสด็จลงมาอยูในพระราชวังหลวง และทรงพระราชดำริว่า พระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรฯซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯแต่ก่อนมา ชำรุดทรุดโทรมมากนัก ไม่สมควรจะเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิต่อไป จึงโปรดฯให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯทั้ง ๔ พระองค์ แห่มาจากพระราชวังบวรฯ เมื่อ วันที่ ๒ เมษายน ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ มาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารพระธาตุ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนที่วังหน้านอกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานนั้น โปรดฯให้กลาโหมดูแลปกครองรักษาต่อมาจนทุกวันนี้


....................................................................................................................................................

(๑) ที่ทรงโปรยทาน คงมีทุกคราวอุปราชาภิเษกแต่ก่อนมา แต่หากในจดหมายเหตุกล่าวถึงบ้างไม่กล่าวบ้าง อนึ่ง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก ปรากฏว่าเสด็จลงมาถวายดอกไม้ธูปเทียนที่พระราชวังหลวง แต่ครั้งนี้เข้าใจว่า กรมพระราชวังบวรฯเห็นจะทูลเกล้าฯถวายที่พระราชวังบวรฯ เมื่อรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรเหมือนอย่างตั้งกรมเจ้านายในครั้งรัชกาลที่ ๔

(๒) มีบางเสียงบอกว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ควรจะได้เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่ "ทรงลงให้ด้วยความเรียบร้อย" ที่จริงแล้วตำแหน่งรัชทายาทย่อมได้กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระมหาอุปราชทั้ง ๕ พระองค์ที่ผ่านมาแต่ก่อนนั้นเป็นเพราะมีเหตุจำเป็น หากได้ติดตามตั้งแต่แรกก็จะเข้าใจดี คลิกที่ ตำนานวังหน้า - ปฐมบท

(๓) รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


..........................................................................................................................................................

ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ


Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:15:06 น. 0 comments
Counter : 2795 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com