กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๔ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ


วัดบวรสถานสุทธาวาส



..........................................................................................................................................................


เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สวรรคตแล้ว วังหน้าว่างมาอีก ๗ ปี ด้วยไม่ได้ทรงตั้งพระมหาอุปราชมาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ในระหว่างนั้นเจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯ ทั้งที่เป็นพระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เสด็จลงมาอยู่ตำหนักในพระราชวังหลวงหลายพระองค์ แต่พระองค์เจ้าดาราวดีพระราชธิดากรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ นั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพทูลขอไปเป็นพระชายา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๑๘๖ พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่ากรมหมื่นศักดิพลเสพมีบำเหน็จความชอบมาก จะโปรดฯให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และมีรับสั่งว่าวังหน้าเป็นพระราชวังใหญ่โต หาควรจะทิ้งไว้ให้เป็นวังร้างไม่ กรมหมื่นศักดิพลเสพก็เป็นพระราชบุตรเขยของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พ้นข้อรังเกียจที่กล่าวกันว่า ทรงแช่งสาปไว้แต่ก่อน จึงโปรดฯให้เสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯ

ได้ทำการอุปราชาภิเษกเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ ลักษณะการพิธีที่ทำครั้งรัชกาลที่ ๓ คราวนี้ โดยยุติว่าครั้งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นตำราอุปราชาภิเษก จึงปลูกพลับพลาข้างโรงละคร ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ในพระบรมมหาราชวังตลอดเวลาพิธี และเสด็จไปทรงเครื่องที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ แล้วแห่ขึ้นไปทรงฟังสวดที่พระราชวังบวรฯเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ แปลกกับอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๒ แต่ที่พระสงฆ์สวดในพระราชวังบวรฯเป็น ๔ แห่ง คือ พระที่นั่งวสันตพิมานแห่ง ๑ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศแห่ง ๑ พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์แห่ง ๑ และพระที่นั่งสุทธาสวรรค์อีกแห่ง ๑ กับดูเหมือนจะลดถาดทองและตั่งไม้มะเดื่อที่ที่สรง และลดกระบวนที่แห่เสด็จลงบ้าง ด้วยปรากฏในหมายกรมวังตรง ๒ ข้อนั้นว่า "ให้ไปทูลถามกรมหมื่นรักษ์รณเรศ" แต่จะยุติเป็นอย่างไรหาทราบไม่ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อพระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา

กรมพระราชวังมหาศักดิพลเสพได้ทรงสถาปนาการในพระราชวังบวรฯหลายอย่าง ทราบได้โดยจดหมายเหตุบ้าง โดยสังเกตฝีมือช่างบ้าง เวลานั้นพระราชมณเฑียรสถานเห็นจะชำรุดทรุดโทรมมาก เข้าใจว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง ๓ หลัง และในคราวที่ซ่อมแซมนี้ ทรงสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ด้วย คือ

ในหมู่พระวิมาน ต่อมุขหลังตรงพระวิมานองค์กลางออกไปเป็นท้องพระโรงหลังมุข ๑ ขนานนามว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข ส่วนมุขหน้าของเดิมแปลงเป็นมุขกระสัน นานนามว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร

ให้รื้อทิมมหาวงศ์ด้านตะวันออกเสียทั้งด้าน แล้วสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ต่อจากมุขของเดิม ให้พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็ดเดิมอยู่เป็นประธานในท้องพระโรงนั้น หน้าท้องพระโรงพอต่อถึงบริเวณพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ท้องพระโรงที่ทำใหม่นี้ เอาอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง ขนานนามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

สร้างหอพระขึ้นสองข้างมุขกระสันที่ต่อกับท้องพระโรง รูปหลังคาเป็นทรงเก๋งจีน หอหลังเหนือเป็นที่ไว้พระอัฐิเหมือนอย่างหอพระธาตุมณเฑียรในพระราชวังหลวง หอหลังใต้เป็นที่ไว้พระพุทธรูปเหมือนอย่างหอพระสุลาลัยพิมานที่เป็นคู่กัน

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เครื่องบนซ่อมใหม่ ต่อเฉลียงเสาลอยรอบ และทำซุ้มพระแกลใหม่ อย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ที่เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้ เข้าใจว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้รื้อของเดิมทำให้ใหม่ทั้งหลัง ด้วยของที่ยังปรากฏอยู่เป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ทั้งนั้น ของเดิมเห็นจะเล็กขนาดเท่าพระที่นั่งทรงปืนที่กรุงเก่า และบางทีจะสร้างเป็นเครื่องไม้ด้วยซ้ำไป

ที่กลางสระซึ่งรื้อพระที่นั่งพิมานดุสิดาเสียเมื่อในรัชกาลที่๒ นั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ขนานนามว่า "พระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก" แต่เห็นจะสร้างเป็นเครื่องไม้ ต่อมาจึงหักพังเสียหมด ทราบไม่ได้ในเวลานี้ว่ารูปสัณฐานเป็นอย่างไร ที่ทราบว่าสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ตรงนั้น เพราะนามพระที่นั่งยังปรากฏอยู่เท่านั้น

สิ่งสำคัญที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังบวรฯมีอีกสิ่งหนึ่ง คือ วัดบวรสถานสุทธาวาส(๑) เรียกกันเป็นสามัญแต่ก่อนว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" เพราะอยู่ในวังเหมือนกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระราชวังหลวง ทรงอุทิศที่สวนกระต่ายเดิมสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา เหตุที่จะสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสเล่ากันมาเป็นหลายอย่าง แต่ไม่ยุติว่าจะเป็นความจริงได้แน่ กล่าวกันว่าทรงสร้างแก้บนครั้งเสด็จยกทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ เล่ากันอีกอย่างหนึ่งว่า แต่เดิมจะทรงสร้างเป็นยอดปราสาท จนปรุงตัวไม้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ มีรับสั่งให้ไปห้ามว่า ในพระราชวังบวรไม่มีธรรมเนียมที่จะมีปราสาท กล่าวกันว่าเป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพน้อยพระทัยมาก จึงโปรดให้แก้เป็นหลังคาจตุรมุขอย่างเช่นปรากฏอยู่ทุกวันนี้

มีสิ่งต่างๆที่ทรงสร้างในวัดบวรสุทธาวาสโดยปราณีตบรรจงหลายอย่าง แล้วเสาะหาพระพุทธรูปที่เป็นของงามของแปลก และเครื่องศิลาโบราณต่างๆมาตกแต่ง พระเจดีย์ก็ถ่ายแบบอย่างพระเจดีย์สำคัญ เช่นพระธาตุพนมเป็นต้น มาสร้างขึ้นหลายองค์ แต่การสร้างวัดบวรสุทธาวาสไม่ทันแล้วเสร็จ ที่เล่ากันมาเป็นแน่นอนนั้น ว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง สำหรับที่จะประดิษฐานที่ในพระอุโบสถ ยังไม่ทันแล้วพอประชวรหนักใกล้จะสวรรคต จึงทรงจบพระหัตถ์ผ้าห่มประทานพระองค์เจ้าดาราวดีไว้ ดำรัสสั่งว่าต่อไปถ้าท่านผู้ใดเป็นใหญ่ได้ทรงบูรณะวัดนั้น ให้ถวายผ้านี้ ทูลขอให้ช่วยทรงพระให้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับผ้าผืนนั้น ทรงพระพุทธรูปถวายสมดังพระราชอุทิศของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จึงได้ปรากฏความที่กล่าวมานี้

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี ประชวนโรคมานน้ำ สวรรคตเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๙๔ พ.ศ. ๒๓๗๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระศพประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ถึงเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เชิญพระศพแห่ออกพระเมรุที่ท้องสนามหลวง(๒) มีงานมหรสพ วัน (ลดลงกว่าครั้งรัชกาลที่ ๒) พระราชทานเพลิงเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ แล้วเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ในพระราชวังบวรฯ แต่นั้นวังหน้าก็ว่างมา ว่างคราวนี้ถึง ๑๘ ปี .


..........................................................................................................................................................

(๑) นานว่า "บวรสถานสุทธาวาศ" นี้ สงสัยว่าจะพระราชทานต่อในรัชกาลที่ ๔

(๒) การแห่พระศพกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่า แห่จากวังหน้าลงมาพระเมรุ เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๕ แต่ยังไม่พบจดหมายเหตุที่จะสอบ


..........................................................................................................................................................


ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ


Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:13:34 น. 0 comments
Counter : 3451 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com