กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


พระราชวังบวรสถานมงคล



..........................................................................................................................................................


กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว ๓ ปี ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ กรมพระราชวังหลังทิวงคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงพระราชทานอุปราชาภิเษกแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ความปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ครั้นนั้นคุณเสือ(๑) กราบทูลว่าพระราชวังบวรฯร้างไม่มีเจ้าของ ทรุดโทรมยับเยินไป เหย้าเรือนข้างในก็ว่างเปล่ามาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่ขึ้นไปทรงครอบครองจึงจะสมควรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกดำรัสว่า "ไปอยู่บ้างช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักเป็นหนา" และมีรับสั่งว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว กรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่อย่าต้องเสด็จไปอยู่พระราชวังบวรฯเลย คอยเสด็จอยู่พระบรมมหาราชวังทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย เมื่อทำพระราชพิธีอุปราชาภิเษกแล้ จึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จคงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม(๒) ในที่ใต้วัดอรุณราชวราราม ต่อมาจนสิ้นรัชกาลที ๑

ตรงนี้จะต้องกล่าวถึงเรื่องพระราชพิธีอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้พิสดารออกไปสักหน่อย ด้วยเกี่ยวเนื่องถึงตำนานวังหน้าในรัชกาลหลังๆต่อไป คือเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้น แบบตำราราชประเพณีสำหรับราชกาลครั้งกรุงเก่า เป็นอันตรายหายสูญไปเสียเมื่อกรุงเสีย แม้การพระราชพิธีปราบดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ต้องทำแต่พอเป็นสังเขป ส่วนพระราชพิธอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ต้องทำแต่อย่างสังเขปเหมือนกัน

ลักษณะการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งนั้น ถึงไม่มีจดหมายเหตุปรากฏ ก็มีหลังสันนิษฐานพอคาดได้ไม่ห่างไกลว่าทำอย่างไร เพราะเนื่องด้วยพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯที่สร้างใหม่ ในเวลานั้นกรมพระราชวังบวรประดับอยู่ที่พระนิเวศน์เดิม ตรงป้อมพระสุเมรุเดี๋ยวนี้ คงเสด็จโดยกระบวนแห่ทางชลมารค มาทรงสดับพระปริตที่พระราชมณเฑียรใหม่ในพระราชวังบวร ๓ วัน ถึงวันพระฤกษเสด็จมาสรงอภิเษกในพระราชวังบวรฯ แล้วเสด็จลงมารับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระราชวังหลวง แล้วจึงเสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมณเฑียร รูปการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งแรกคงจะเป็นเช่นว่ามานี้ ไม่ผิดไปนัก

แบบอย่างพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งกรุงเก่า ที่พระมหาอุปราชเฉลิมพระราชมณเฑียรที่วังจันทรเกษมด้วย ก็เป็นทำนองเดียวกับที่กล่าวมานี้ คือทำการพิธีที่วังหน้า เสด็จไปทรงฟังสวด ๓ วัน เช้าวันที่ ๔ สรงอภิเษกแล้วเสด็จลงมารับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระราชวังหลวง แล้วจึงกลับไปเฉลิมพระราชมณเฑียร

สันนิษฐานว่าจะพึ่งมามีแบบแปลกขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ครั้งพระราชทานอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวรฯ ด้วยเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศประทับอยู่วังจันทรเกษม เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จอยู่ในพระราชวังหลวง (เข้าใจว่าที่พระตำหนังสวนกระต่าย) จึงโปรดฯให้ทำการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกในพระราชวังหลวง แล้วให้เสด็ประทับอยู่ตำหนักเดิมต่อไป ไม่มีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรด้วย

ต่อมาในแผ่นดินนั้นเอง เมื่อจะพระราชทานอุปราชาภิเษกแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ครั้งหลังนี้เป็นเวลาวังจันทรเกษมว่าง ด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จไปประทับอยู่พระราชวังหลวงแล้ว แต่มีเหตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่พอพระราชหฤทัยจะให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับที่วังหน้า และเวลานั้นเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตก็ประทับอยู่ที่ตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวง จึงโปรดฯให้ทำการพิธีอุปราชาภิเษกในพระราชวังหลวงเป็นครั้งที่ ๒ จัดพระที่หน้าสรรเพ็ชญ์ปราสาทเป็นที่ทำการพิธี ตั้งพระแท่นสรงในบริเวณพระมหาปราสาทนั้น แล้วจัดทางเดินแห่ ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายแต่ตำหนักสวนกระต่ายมาจนถึงบริเวณที่ทำการพิธีอย่างพิธีโสกันต์ใหญ่ ครั้นถึงวันงาน เวลาบ่ายแห่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตมาทรงฟังสวด ๓ วัน เช้าเสด็จมาทรงเลี้ยงพระแต่ลำพังพระองค์ ถึงวันที่ ๔ เวลาเช้าแห่เสด็จมาสรงอภิเษกแล้ว เข้าใจว่าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาศน์ อันเป็นที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศประทับเป็นพระราชมณเฑียร แล้วก็แห่เสด็จกลับไปยังตำหนังสวนกระต่าย

การอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เหตุการณ์เหมือนกับอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ทั้งที่เป็นสมเด็จพระราชโอรส และที่จะไม่โปรดฯให้เสด็จไปอยู่วังหน้าอย่างเดียวกัน จึงโปรดฯให้ถ่ายแบบอย่างครั้งการอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตมาเป็นตำราในครั้งนี้ ให้ทำพิธีในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งพระแท่นมณฑลเหมือนอย่างบรมราชาภิเษก และตั้งพระแท่นสรงที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างด้านตะวันออก แต่ต้องแก้ไขที่ผิดกัน มีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเมื่อครั้งกรุงเก่าเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตประทับที่ตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวง แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมฟากข้างโน้น จึงปลูกพลับพลาเป็นที่ประทับชั่วคราวขึ้นที่สวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก แทนตำหนักสวนกระต่าย ให้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในเวลามีงานอุปราชาภิเษก แต่งทางเสด็จจากพลับพลาสวนกุหลาบมาทางถนนริมกำแพงพระราชวังเข้าประตูสุวรรณบริบาล ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายตลอดทาง เวลาบ่ายแห่เสด็จมาทรงฟังสวดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ครั้นเวลาเช้าเสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อยมาเลี้ยงพระ

ครั้นถึงฤกษ์วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘ พ.ศ. ๒๓๔๙ เวลาเช้าแห่เสด็จมาสรงอภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จออกพระราชทานน้ำมุรธาภิเษก ครั้นเลี้ยงพระแล้วโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อเสด็จกลับออกมาจึงแห่เสด็จเป็นกระบวนสถลมาครไปถึงท่าตำหนักแพ แล้วมีกระบวนเรือพระที่นั่งดั้งกันตามพระเกียรติยศอย่างพระมหาอุปราช รับเสด็จส่งไปที่พระราชวังเดิม รายการโดยละเอียดของพระราชพิธีอุปราชาภิเษกที่กล่าวมานี้ มีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ และจดหมายเหตุเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พิมพ์แล้วทั้ง ๒ เรื่อง เอาเนื้อความมากล่าวไว้ในที่นี้ ด้วยลักษณะการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกที่ทำต่อมา ถ่ายแบบอย่างจากครั้งนี้ แต่ต้องแก้ไขตามเหตุการณ์มากบ้างน้อยบ้าง จะปรากฏต่อไปในตำนานวังหน้าในตอนอื่น เมื่ออ่านถึงตรงนั้นจะได้เข้าใจมูลเหตุเดิมของการที่ต้องแก้ไขนั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานอุปราชาภิเษกแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สถาปนาพระเกียรติยศแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็นพระบัณฑูรน้อย แต่การทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อยไม่ปรากฏว่ามีพิธีอย่างใด พระนามที่ขานในราชการก็ยังคงขานว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็นแต่เติมคำ "พระบัณฑูรน้อย" ต่อเข้าข้างท้ายพระนาม และไม่ปรากฏว่ามีข้าราชการในทำเนียบพระบัณฑูรน้อยอย่างไร ที่ทราบได้เป็นแน่แต่ว่า เวลามีบัตรหมายอ้างรับสั่งของพระบัณฑูรน้อยใช้ว่า "มีพระบัณฑูร" เหมือนอย่าง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๓ ปี ถึงปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จผ่านพิภพ จึงโปรดฯให้สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย เป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เวลานั้นที่วังหน้าว่างมา ๗ ปี ทรงพระราชดำริว่า เป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราชสร้างไว้ใหญ่โต เป็นของสำคัญสำหรับแผ่นดิน หาควรจะทิ้งให้ร้างอยู่ไม่ ควรจะให้พระมหาอุปราชพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นไปครอบครองรักษาพระราชวังบวรฯ

มีคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชดำริจะให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จขึ้นไปอยู่วังหน้าครั้งนั้น มีเสียงผู้โต้แย้งอ้างถึงความเก่าที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงแช่งสาปไว้ และมีเสียงผู้ที่คิดแก้กล่าวว่า ถ้ากรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่คิดอ่านให้เกี่ยวดองในพระวงศ์ของกรมพระราชวังบวรฯพระองค์แรกไว้แล้ว ก็เห็นจะพ้นพระวาจาที่ทรงสาปนั้น ความอันนี้สมด้วยพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ เสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่พระราชวังบวรฯ มีผู้คิดอ่านจะให้อภิเษกกับเจ้าฟ้าพิกุลทอง พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่เผอิญเจ้าฟ้าพิกุลทองประชวรสิ้นพระชนม์เสีย จึงได้แต่พระราชธิดาพระองค์อื่น

การอุปราชาภิเษกพระบัณฑูรน้อยเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์ไม่เหมือนครั้งอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชและจะเสด็จไปอยู่พระราชวังบวรฯ เหตุการณ์ที่แท้เป็นอย่างเดียวกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และเวลานั้นพระบัณฑูรน้อยเสด็จประทับอยู่พระราชนิเวศน์เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ริมอู่กำปั่นตรงหน้าตำหนักแพข้าม ที่เป็นโรงทหารเรือทุกวันนี้(๑) ถ้าแห่เสด็จโดยกระบวนเรือพระที่นั่งไปยังกรมพระราชวังบวรฯในการพิธีก็ดูจะเป็นการสะดวกดี แต่คงเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสิริมงคลและเป็นพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย จึงโปรดฯให้จัดการพระราชพิธีตามแบบอย่างครั้งพระองค์ทรงรับอุปราชาภิเษก ให้แก้ไขลักษณะการแต่ที่จำเป็น

จึงให้ปลูกพลับพลาที่ริมโรงละครข้างด้านตะวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นที่สนามอยู่บัดนี้ เชิญเสด็จพระบัณฑูรน้อยเข้ามาประทับแรมอยู่ที่พลับพลาในพระบรมมหาราชวังเวลามีงานอุปราชาภิเษก ถึงเวลาบ่ายโปรดฯให้เสด็จเข้าไปทรงเครื่องที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ แล้วทรงพระยานุมาศแห่ออกประตูวิเศษชัยศรี ขึ้นไปพระราชวังบวรฯ สองข้างทางตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายตลอด ส่วนพระที่นั่งบวรฯนั้น ปรากฏว่าจัดที่ทำพิธี ๓ แห่ง ตั้งพระแท่นมณฑลเหมือนอย่างครั้งอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่พระที่นั่งสุธาสวรรย์(๒) เป็นที่พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวดมนต์แห่ง ๑ ที่ในห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์(๕) จัดเป็นที่พระสงฆ์ฝ่ายสมถะสวดภาณวารอีกแห่ง ๑

การพระราชพิธี ตั้งต้น ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ เวลาบ่ายแห่เสด็จพระบัณฑูรน้อยจากพระบรมมหาราชวังขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ ทรงจดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และทรงศีลแล้ว เสด็จเข้าไปประทับทรงสดับภาณวารในห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ ครั้นพระสงฆ์สวดมนต์จบ แห่เสด็จกลับมายังพระบรมมหาราชวัง รุ่งเช้าทรงพระเสลี่ยงเสด็จโดยกระบวนน้อยขึ้นไปเลี้ยงพระที่พระราชวังบวรฯ ครั้นสวดมนต์ครบ ๓ วัน ถึงวันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า พระบัณฑูรน้อยเสด็จโดยกระบวนแห่ขึ้นไปพระราชวังบวรฯ สรงอภิเษกแล้วเลี้ยงพระ แล้วแห่เสด็จลงมายังพระบรมมหาราชวัง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับพระราชทานพระสุวรรณบัตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว แห่เสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯ เวลาบ่ายมีสมโภชเวียนเทียนแล้วเป็นเสร็จการ ลักษณะการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๒ ตามที่กล่าวมานี้ เลยเป็นตำราอุปราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทำต่อมาในรัชกาลที่ ๓ และที่ ๕ เป็นแต่แก้ไขบ้างเล็กน้อยดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า


กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เมื่ออุปราชาภิเษกพระชนมายุได้ ๓๖ พรรษา เมื่อเสด็จไปประทับอยู่พระราชวังบวรฯไม่ปรากฏว่าได้ทรงสถาปนาการอย่างใดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในวังหน้า ถ้าจะมีก็เห็นจะเพียงซ่อมแซมพระราชมณเฑียรบ้างเล็กน้อย ด้วยพระราชวังบวรฯว่างมาเพียง ๗ ปี สิ่งของที่สร้างไว้ในครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นจะยังบริบูรณ์อยู่โดยมาก ปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การที่กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไขรื้อถอนของเก่าเสียบางอย่างคือ

พระพิมานดุสิดาที่สร้างไว้เป็นหอพระแทนปราสาทที่กลางสระเห็จจะชำรุด โปรดให้รื้อทั้งพระวิมานและพระระเบียง เอาตัวไม้ที่ยังใช้ได้ไปทำวัดชนะสงคราม ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสถาปนาไว้ สะพานข้ามสระ ๔สะพานก็รื้อเหมือนกัน ที่นั้นทำสวนเลี้ยงนกเลี้ยงปลาเป็นที่ประพาส

ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งตรงที่ตั้งพระสัมพุทธพรรณีทุกวันนี้ ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ยังเหลือแต่ปราสาทปรางค์ ๕ ยอด ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ย้ายปราสาทนั้นไปเสีย ตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรแทน เป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา

ปราสาททองสรงพระพักตร์ของกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑ ซึ้งสร้างไว้ที่มุขพระวิมานก็ย้ายไปเสียเมื่อในรัชกาลที่ ๒

เขาไกรลาสยอดมีบุษบกสร้างไว้เป็นที่สรงลูกเธอโสกันต์ รื้อเสียอีกอย่าง ๑

เขาศาลพระภูมิ ข้างพระราชมณเฑียรทางด้านเหนือ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ รื้อกำแพงแก้วรอบบริเวณ ปลูกโรงละครขึ้นแทนตรงนั้น

ที่วัดหลวงชี ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทำนองจะไม่มีหลวงชีอยู่ดังแต่ก่อน กุฏิหลวงชีร้างชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดให้รื้อกุฏิหลวงชีเสียหมด ทำที่นั้นเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เข้าใจว่าตรงนี้แต่เดิมก็เห็นจะเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เอาอย่างพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า จึงปรากฏว่ามีตำหนักอยู่ในนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเห็นจะทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้เป็นวัดหลวงชีต่อภายหลัง

กรมพระราชวังบวรฯมหาเสนานุรักษ์เสด็จดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชมาได้ ๘ ปี ถึงปีฉลู จุลศักราช ๑๑๗๙ พงศ. ๒๓๖๐ ประชวรเป็นพระยอดตรงที่ประทับ ให้ผ่าพระยอดนั้นเลยเกิดบาดพิษ อาการพระโรคกำเริบขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรทุกๆวัน ด้วยกรมพระราชวังบวรฯพระองค์นี้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มา พระอัธยาศัยทรงชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชยิ่งนัก ถึงเมื่อเป็นพระมหาอุปราชแล้ว ก็เสด็จลงมารับราชการในพระบรมมหาราชวังหลวง ไม่เปลี่ยนแปลงพระอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้ทรงกำกับตรวจตราราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป เล่ากันว่าครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯเสด็จลงมาพระราชวังหลวงเพลาเช้า ประทับที่โรงละครเก่า ที่อยู่ข้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงตรวจตราข้อราชการต่างๆแล้ว จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทุกวันมิได้ขาด แม้จนในการเล่นหัวเครื่องสำราญพระราชอิริยาบทก็โปรดที่จะทรงด้วยกัน เป็นต้นว่า ในฤดูลมสำเภา ถ้าปีใดทรงว่าว วังหลวงทรงว่าวกุลาชักที่สนามหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วังหน้าทรงว่าวปักเป้าชักที่สนามหลวง เล่ากันมาแต่ก่อนดังนี้

ครั้นพระอาการกรมพระราชวังบวรฯประชวรหนักลง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นไปประทับแรมที่ในพระราชวังบวรฯ ทรงรักษาพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่หลายราตรี ถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ อุตราสาฒ ขึ้น ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๕ โมงเศษ(๑๑ ก.ท.) กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ประชวรมาเดือนเศษ เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา พระราชทานน้ำสรง ทรงเครื่องพระศพเสร็จแล้วเชิญลงพระลองประกอบพระโกศทองใหญ่ แห่มาประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

แต่หมายประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์คราวนี้ ให้เอาแบบอย่างครั้งกรุงเก่า โกนแต่ผู้ที่มีสังกัดฝ่ายพระราชวังบวรฯเท่านั้น มิได้ให้โกนทั้งแผ่นดินเหมือนอย่างครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาถึงเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ พระเมรุที่ท้องสนามหลวงสร้างสำเร็จ และเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสมโภชตามประเพร๊งานพระเมรุใหญ่เสร็จแล้ว ถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ จึงโปรดฯให้เชิญพระศพกรมพระราชวังบวรฯแห่โดยกระบวนน้อยจากพระราชวังบวรฯลงมายังหน้าวัดพระเชตุพนแล้วเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ แห่โดยกระบวนใหญ่ไปยังพระเมรุ มีงานมหรสพสมโภชและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบ ๗ วัน ถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ จึงพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวร

ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพเสร็จแล้ว โปรดฯให้เชิญพระอัฐิมาไว้ในหอพระธาตุมณเฑียรที่ในพระราชวังหลวง ด้วยทรงพระเสน่หาอาลัยในสมเด็จพระอนุชาธิราช พระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่ในพระบรมมหาราชวังมาจนในรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิมาน อันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในพระราชวังบวรฯ.



....................................................................................................................................................

(๑) คุณเสือนี้ ชื่อเจ้าจอมแว่น เป็นบาทบริจาริกามาตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จเถลิงราชสมบัติ ครั้นเสด็จผ่านพิภพเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ได้รับราชการในหน้าที่ราชูปฐากจึงได้เป็นพระสนมเอก เป็นผู้อุปการแก่พระบาทสมเด็จพระพุทเลิศหล้านภาลัยมาแต่ก่อน ที่เรียกว่าคุณเสือ เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยๆ เวลาเสด็จขึ้นไปเฝ้าอยู่ในความดูแลของเจ้าจอมแว่น ถูกว่ากล่าวรบกวน เห็นว่าดุจึงเรียกว่า "คุณเสือ" จึงเลยเป็นนามที่เรียกกันอย่างนั้นทั่วไป แม้ในโคลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จารึกไว้ที่ผนังวิหารพระโลกนาถวันพระเชตุพน ก็เรียกคุณเสือ

...รจนาสุดารัตนแก้ว................กุมารี หนึ่งฤา
เสนออธิบายบุตรี.....................ลาภไซร้
บูชิตเชษฐชินศรี......................ฉลักเฉลา หินเฮย
บุญส่งจงลุได้.........................เสร็จด้วยดั่งถวิล ฯ
...กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง.............ติดผนัง
สถิตย์อยู่เบื้องหลัง..................พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง....................แสวงบุตร ชายเฮย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้..................สฤษดิแสร้งแต่งผล ฯ

ในสาส์นสมเด็จมีพระดำริว่าเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มีพระดำริว่า "เห็นจะไม่ใช่ฝีพระโอษฐกรมพสมเด็จพระปรมานุชิตฯ คงจะทำขึ้นที่หลัง"

(๒) ที่เรียกว่าพระราชวังเดิม มีบางคนเข้าใจว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จประทับอยู่ที่นั่นก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า ที่จริงเขาหมายความว่า เป็นพระราชวังครั้งกรุงธนบุรี

(๓) เมื่อสร้างกำแพงโรงทหารเรือในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้ทำเป็นกำแพงใบเสมาไว้เป็นที่ระลึกว่า เป็นพระราชนิเวศน์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

(๔) พระที่นั่งองค์นี้ภายหลังเรียกว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

(๕) ในหมายรับสั่งเรียกพระที่นั่งพรหมพักตร์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์นั้นเป็นมุขหน้าหาใช่ที่พระบรรทมไม่ พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ คือพระวิมานองค์เหนือ เห็นจะจัดที่บรรทมที่นั่น


..........................................................................................................................................................

ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:12:49 น. 0 comments
Counter : 4636 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com