กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว



..........................................................................................................................................................


ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้พระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน(๑) เหมือนเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชามหาอุปราชครั้งกรุงเก่า จึงโปรดฯให้แก้ไขประเพณีการฝ่ายพระราชวังบวรฯให้สมกับพระเกียรติยศที่ทรงยกย่องสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้นหลายประการ

เป็นต้นว่า นามวังหน้าซึ่งเคยเรียกในราชการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" ให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "พระบวรราชวัง" พระราชพิธีอุปราชาภิเษกให้เรียกว่า "พระราชพิธีบวรราชาภิเษก" พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตร แบบเดิมว่า "พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" พระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า "สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" และขานคำรับสั่งกรมพระราชวังบวรฯเคยใช้ว่า "พระบัณฑูร" โปรดฯให้เปลี่ยนเป็น "พระบวรราชโองการ" ว่าโดยย่อ เติมคำ "บรม" เป็นฝ่ายวังหลวง และคำ "บวร" เป็นฝ่ายวังหน้าเป็นคู่กัน เกิดขึ้นในคราวนี้เป็นปฐม

เพราะเหตุที่เปลี่ยนพระราชพิธีอุปราชาภิเษก (เป็นบวรราชาภิเษก) ดังกล่าวมาแล้วนี้ ลักษณะการพิธีจึงเอาแบบอย่างพิธีบรมราชาภิเษกทางวังหลวงไปแก้ไขลดลงเป็นตำราพิธีบวรราชาภิเษก ตั้งต้นแต่เชิญพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯ แต่ก่อนงานพระราชพิธีบวรราชาภิเษก เสด็จประทับแรมอยู่ในพระฉากที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เหมือนอย่างทางวังหลวงเสด็จประทับแรมอยู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฉะนั้น ครั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้รื้อมณฑปพระกระยาสนานที่พระองค์ทรงมุรธาภิเษก ไปปลูกพระราชทานให้เป็นที่สรงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนที่ทำการพระราชพิธีนั้น ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์(๒) จัดตั้งเทียนชัยและเตียงพระสงฆ์สวดภาณวาร (อย่างที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง) ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จัดตั้งพระแท่นมณฑล และเป็นที่พระราชาคณะผู้ใหญ่สวดมนต์ (อย่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระราชวังหลวง) แต่งดพระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐหาตั้งไม่ ที่พระที่นั่งวสันตพิมานในห้องบรรทม จัดเป็นที่ประทับทรงสดับพระสงฆ์ธรรมยุติกาเจริญพระปริต (อย่างพระทีนั่งจักรพรรดิพิมานในพระราชวังหลวง) โรงพิธีพราหมณ์ปลูกในสนามหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตามอย่างอุปราชาภิเษก แต่ไม่มีกระบวนแห่เสด็จอย่างพระมหาอุปราชาภิเษกแต่ก่อน เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯแล้ว

พระราชพิธีบวรราชาภิเษกตั้งสวดเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ เป็นวันแรก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราแห่สี่สาย ขึ้นไปยังพระบวรราชวังในเวลาบ่ายทั้ง ๓ วัน ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ เป็นพระฤกษ์บวรราชาภิเษก เสด็จขึ้นไปในเวลาเช้า พระราชทานน้ำอภิเษกและพระสุพรรณบัตร กับทั้งเครื่องราชูปโภคแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเสด็จกลับแล้ว (ในจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาถวายดอกไม้ธูปเทียนที่ในพระบรมมหาราชวัง และวันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปพระราชทานดอกไม้เงินทองของขวัญ ในการเฉลิมพระราชพิธีที่พระบวรราชวังอีกครั้งหนึ่ง

และในการเฉลิมพระราชมณเฑียรครั้งนั้น โปรดฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสนาอำมาตย์ราชเสวกทั้งฝ่ายวังหลวงวังหน้า ถวายดอกไม้ธูปเทียนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงประพฤติตามแบบอย่างเจ้านายรับกรม คือ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแก่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเจริญพระชนมายุยิ่งกว่าทุกๆพระองค์ ครั้นเสร็จการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว โปรดฯให้แห่เสด็จพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเลียบพระนครทางสถลมารคอีกวันหนึ่ง จึงเสร็จการพระราชพิธีบวรราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก พระชนมายุได้ ๔๓ พรรษา เสด็จขึ้นไปประทับที่พระบวรราชวังเวลากำลังปรักหักพังทรุดโทรมทั่วไปทั้งวัง ข้าราชการวังหน้าที่ได้ตามเสด็จไปแต่แรกเล่ากันว่า ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพระโอษฐว่า " เออ อยู่ดีดีก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง " ความข้อนี้สมกับคำพระครูธรรมวิธานาจารย์(สอน)(๓)เล่าว่า เมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับวังหน้านั้น วังหน้ารกร้างหักพังมาก ซุ้มประตูและหลังคาป้อมปราการรอบวังหักพังเกือบหมด กำแพงวังชั้นกลางก็ไม่เห็นมี ท้องสนามในวังหน้าชาวบ้านเรียกว่า "สวนพันชาติ" เพราะพันชาติตำรวจ ปลูกเหย้าเรือนอาศัย ขุดร่องทำสวนเต็มตลอดไปจนหน้าพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ต่างๆเช่นศาลาลูกขุนและโรงช้างเป็นต้น ของเดิมหักพังหมด มีแต่รอยเหลืออยู่ตรงที่ที่สร้างขึ้นใหม่

พระครูธรรมวิธานาจารย์ว่าสถานที่ต่างๆที่เห็นกันในชั้นหลัง เป็นของสร้างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทั้งนั้น ความที่พระครูธรรมวิธานาจารย์กล่าวนี้ ยุติต้องด้วยเหตุการณ์ คิดดูแต่สร้างวังหน้ามาจนเวลานั้นได้ถึง ๖๙ ปี ปรากฏว่าได้ซ่อมแซมปฎิสังขรณ์แต่พระราชมณเฑียรเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระราชมณเฑียรเห็นจะชำรุดทรุดโทรมทั่วไปทั้งวัง และคงเป็นด้วยเหตุที่วังหน้ารกร้างทรุดโทรมนี้เอง จึงมีหมายรับสั่งปรากฏอยู่ว่า เมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้นไปประทับที่วังหน้านั้น ให้ทำพิธีฝังอาถรรภ์ใหม่ เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ค่ำ ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้แห่พระพุทธสิหิงค์กลับไปสถิตประดิษฐานในพระบวรราชวังฯ และในวันนั้นเวลาบ่ายพระสงฆ์ ๒๐ รูปสวดมนต์ที่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รุ่งขึ้นวันขึ้น ๒ ค่ำ เวลาเช้า พราหมณ์ฝังอาถรรภ์ทุกป้อมและประตูพระราชวังบวรฯรวม ๘๐ หลัก เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบวรฯในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ นั้น

ตามที่ได้ความในจดหมายเหตุและที่พระครูธรรมวิธานาจารย์เล่าให้ฟังดังกล่าวมา เป็นอันยุติได้ว่า พระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆที่ปรากฏอยู่ในแผนที่วังหน้า เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ โดยมาก แต่การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนานั้น ถ้าจะกำหนดโดยเหตุต่างกัน เป็น ๓ ประการคือ ก่อสร้างเฉลิมพระเกียติยศที่เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินนั้นประการ ๑ ก่อสร้างแทนของเดิมซึ่งปรักหักพังไปให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อนประการ ๑ ก่อสร้างตามลำพังพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกประการ ๑ จะอธิบายต่อไปนี้ทีละอย่าง

สิ่งซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเกือบจะทั้งนั้น ทั้งพระราชมณเฑียรสถานและเครื่องราชูปโภคทั้งปวง ตลอดจนตำแหน่งขุนนาง ยกตัวอย่างเช่นว่าจ่าตำรวจ ทรงตั้งขึ้นใหม่ในทำเนียบข้าราชการวังหลวง ก็โปรดฯให้ตั้งขึ้นใหม่ในทำเนียบข้าราชการวังหน้าด้วย ฉะนี้เป็นต้น ว่าโดยย่อ เครื่องเฉลิมพระเกียรติยศสำหรับวังหลวงมีอย่างไร ก็ทรงพระราชดำริให้มีขึ้นทางวังหน้าในครั้งนั้นโดยมาก จะกล่าวแต่เฉพาะพระราชมณเฑียรก่อน คือ

ข้อสำคัญ ปราสาทไม่เคยมีในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดฯให้สร้างปราสาทขึ้นหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์องค์ ๑ ขนาดและรูปสัณฐานอย่างพระที่นั่งอาภรณพิโมกข์ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่า "พระที่นั่งคชกรรมประเวศ" มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างอยู่ข้างหน้า

สร้างพระที่นั่งโถง ทำนองพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระราชวังหลวง ตรงมุมกำแพงบริเวณหน้าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย มุมข้างใต้องค์ ๑ มุมข้างเหนือองค์ ๑ มีเกยสำหรับทรงพระราชยาน ขนานนามว่า "พระที่นั่งมังคลาภิเษก" องค์ ๑ "พระที่นั่งเอกอลงกฏ" องค์ ๑ ยังอยู่จนทุกวันนี้ทั้ง ๒ องค์

ในชาลาข้างท้องพระโรง สร้างพระที่นั่งโถงองค์ ๑ เหมือนอย่างพระที่นั่งสนามจันทร์ และเรียกว่า "พระที่นั่งสนามจันทร์" อย่างเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์นี้ยังอยู่ แต่ชำรุดจวนพังอยู่แล้ว

สร้างพลับพลาสูงที่ทอดพระเนตรฝึกซ้อมทหารบนกำแพงพระบวรราชวังด้านตะวันออกองค์ ๑ อย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในพระราชวังหลวง แต่เป็นพลับพลาโถงเสาไม้หลังคาไม่มียอด เข้าใจว่าจะเหมือนอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เมื่อแรกสร้าง ก่อนแก้เป็นปราสาทเมื่อในรัชกาลที่ ๓

สร้างพระตำหนักน้ำที่ท่าตำหนักแพองค์ ๑ เป็นเครื่องไม้ทำนองพระที่นั่งสร้างที่ท่าราชวรดิฐเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ขนานนามว่า "พระที่นั่งนทีทัศนาภิรมย์" ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ่งซึ่งสร้างขึ้นแทนของเก่า แต่ถ่ายแบบอย่างของในพระราชวังหลวงไปสร้างเฉลิมพระเกียรติก็มีหลายอย่าง เช่น โรงช้างต้น ม้าต้น และประตูมหาโภคราช สร้างใหม่เป็นประตูชั้นกลาง ทำเป็นประตูสองชั้นอย่างประตูพิมานชัยศรีในพระราชวังหลวงนั้นเป็นต้น

การชักธงตราแผ่นดินที่ในพระราชวังมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในพระราชวังหลวงตั้งเสาชักธงพระมหามงกุฎ ที่พระบวรราชวังก็โปรดฯให้ตั้งเสาธงพระจุฑามณีอย่างเดียวกัน

สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นให้บริบูรณ์ตามของเดิมนั้น เช่น สร้างทิมดาบ เขื่อนเพชร โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุนเป็นต้น ตลอดจนก่อสร้างป้อมประตูที่ปรักหักพังให้กลับดีขึ้นดังเก่า ของเหล่านี้ที่ของเดิมเป็นเครื่องไม้ สร้างใหม่เป็นเครื่องก่ออิฐถือปูนโดยมาก ตำหนักข้างในก็ซ่อมใหม่ทั้งหมดในครั้งนั้น

สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตามพระราชหฤทัยของพระองค์เองนั้น คือ พระราชมณเฑียรที่เสด็จประทับในพระบวรราชวัง ไม่พอพระราชหฤทัยที่จะประทัพระวิมานของเดิม จะสร้างพระราชมณเฑียรใหม่เป็นที่ประทับ แต่ที่พระบวรราชวังชั้นในคับแคบจึงโปรดฯให้ขยายเขตชั้นในขึ้นไปข้างด้านเหนือ (เขตเดิมอยู่ตรงแนวถนน แต่ประตูสุดายุรยาตรมาทางตะวันออก) และให้รื้อโรงละครซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงสร้างไว้แต่เดิมนั้นเสีย แล้วสร้างพระราชมณเฑียรใหม่ในที่บริเวณนั้นองค์ ๑ สร้างเป็นเก๋งจีนโดยฝีมืออย่างปราณีตบรรจง ครั้นสร้างเสร็จเสด็จขึ้นประทับ เผอิญประชวรเสาะแสะติดต่อมาไม่เป็นปรกติ จีนแสมาดูกราบทูลว่าเพราะพระที่นั่งเก๋งที่ประทับนั้น สร้างในที่กวงจุ๊ยไม่ดีเป็นอัปมงคล(๔) จึงโปรดฯให้รื้อพระที่นั่งเก๋งนั้นไปปลูกเสียนอกวัง (ตรงที่สร้างโรงกระสาปน์เดี๋ยวนี้)

ถึงรัชกาลที่ ๕ เก๋งนี้ก็ว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทอดพระเนตรเห็นแต่ยังทรงพระเยาว์ โปรดว่าฝีมือทำปราณีตน่าเสียดาย จึงให้ย้ายเอาไปปลูกไว้ในพระราชวังดุสิต เป็นที่สำหรับเจ้านายวังหน้าไปประทับเวลาเสด็จขึ้นไปเฝ้าฯ ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ครั้นเมื่อรื้อพระที่นั่งเก๋งออกไปจากพระบวรราชวังแล้ว จึงทรงสร้างพระที่นั่งอีกองค์ ๑ ในบริเวณอันเดียวกัน เป็นแต่เลื่อนไปข้างตะวันออกหน่อยหนึ่ง พระที่นั่งองค์ใหม่นี้ทำเป็นตึกอย่างฝรั่ง สร้างโดยประณีตบรรจงเหมือนกัน ขนานนามว่า "พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์" พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระที่นั่งองค์นี้ตลอดมาจนเสด็จสวรรคต พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ยังอยู่จนทุกวันนี้

อีกอย่างหนึ่ง โปรดฯให้รื้อพระตำหนักแดงที่พระราชวังเดิม มาปลูกไว้ในพระบวรราชวังข้างด้านตะวันตกตรงมุมวังที่ขนานใหม่ พระตำหนักแดงนี้เข้าใจว่าเป็นพระตำหนักเดิมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องตำนานจะกล่าวที่อื่นต่อไปข้างหน้า

อนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่(๕) จึงทรงศึกษาวิชาทหารอย่างยุโรป แล้วเอาเป็นพระธุระฝึกหัดจัดทหารตลอดมา และอีกประการหนึ่งโปรดวิชาต่อเรือกำปั่นรบ ได้ทรงศึกษาตำราเครื่องจักรกลกับมิชชันนารี จนทรงสร้างเครื่องเรือกลไฟขึ้นได้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก จึงเป็นเหตุให้โปรดทั้งวิชาการทหารบกทหารเรือมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ครั้นเสด็จเฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงจัดตั้งทหารวังหน้าขึ้นทั้งทหารบกทหารเรือ จ้างนายร้อยเอกนอกส์นายทหารอังกฤษ ซึ่งภายหลังได้เป็นกงสุลเยเนอราลอังกฤษในกรุงเทพฯ และเป็นเซอร์ ธอมมัส นอกส์ นั้น มาเป็นครูฝึกหัดตามแบบอังกฤษ

ส่วนทหารเรือก็ให้พระเจ้าลูกเธอเป็นนายทหารเรือหลายพระองค์ และทรงต่อเรือรบกลไฟ มีเรืออาสาวดีรศ และเรือยงยศอโยชฌิยา เป็นต้น ส่ำสมปืนใหญ่น้อยและเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์สำหรับการทหารนั้นมากมาย จึงต้องสร้างสถานที่เพิ่มเติมขึ้นในวังหน้า เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพยุทธ์ และตึกดินที่ปรากฏในแผนที่วังหน้า ล้วนเป็นของสร้างขึ้นในครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งนั้น ส่วนโรงทหารเรือนั้นจัดตั้งที่ริมน้ำข้างใต้ตำหนักแพ ตรงที่เป็นโรงทหารเดี๋ยวนี้

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวังใหม่วัง ๑ ที่ริมคลองคูเมืองเดิมข้างฝั่งเหนือ ตรงที่เป็นโรงพยาบาลทหารทุกวันนี้ ทำทางฉนวนออกจากพระบวรราชวังข้ามคลองไปจนถึงวังใหม่ วังใหม่นี้สร้างเป็นอย่างตึกฝรั่งทั้งวัง ว่าจะไว้เป็นที่เสด็จแปรสถานไปประทับสำราญพระราชอิริยาบถ แต่ทำยังไม่ทันแล้วเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานให้เป็นวังกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เล่ากันมาว่าพระอัธยาศัยไมโปรดที่จะแสดงยศศักดิ์ โดยปรกติเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าก็เสด็จออกที่โรงรถ ต่อเวลามีพิธีจึงเสด็จออกท้องพระโรง จะเสด็จที่ใด ถ้ามิได้เป็นราชการงานเมือง ก็มักจะเสด็จแต่โดยลำพังพระองค์ บางทีทรงม้าไปกับคนตามเสด็จคนหนึ่งสองคน โดยพอพระราชหฤทัยที่จะเที่ยวประพาสมิให้ใครรู้ว่าพระองค์เสด็จ

แม้จะเสด็จไปตามวังเจ้านายก็ไม่ใคร่ให้รู้พระองค์ก่อน พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเคยตรัสเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เมื่อแรกได้บังคับช่างสิบหมู่แต่ยังเป็นหม่อมเจ้าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเวลาค่ำแล้วได้ยินเสียงคนมาร้องเรียกที่ประตูวัง ให้คนเปิดประตูออกมา พบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่วัง พระองค์เจ้าประดิษฐฯตกพระทัย ออกไปเชิญเสด็จมาประทับบนหอนั่ง เวลานั้นมีแต่ไต้จุดอยู่ใบหนึ่ง จะเรียกพรมเจียมมาปูรับเสด็จก็รับสั่งห้ามเสีย ประทับยองๆดำรัสเรื่องที่โปรดให้ทำสิ่งของถวายไปพลางและทรงเขี่ยไต้ไปพลาง จนเสร็จพระราชธุระ จึงเสด็จกลับไปพระบวรราชวัง

อันเรื่องทรงม้า เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดนัก ประทับอยู่พระบวรราชวังเสด็จทรงม้าเล่นในสนามไม่ขาด บางทีก็ทรงคลี บางทีเวลากลางคืนให้เล่นขี่ม้าซ่อนหา วิธีเล่นนั้น ให้มีคนขี่ม้าตะพายย่ามติ้ว แต่งตัวเหมือนกับคนอยู่โยงอีกคนหนึ่ง คนขี่ม้าหนีต้องได้ติ้วก่อนจึงจะเข้าโยงได้ ความสนุกอยู่ที่รู้ไม่ได้ว่าม้าตัวไหนเป็นม้าติ้ว และม้าไหนเป็นม้าอยู่โยงเพราะแต่งตัวเหมือนกัน บางทีคนขี่ม้าติ้วแกล้งไล่ ผู้ที่ไม่รู้หลงหนี เลยเข้าโยงไม่ได้ก็มี เล่ากันว่าสนุกนัก

บางทีก็ถึงทรงม้าเข้าล่อช้างน้ำมัน ครั้งหนึ่งว่าทรงม้าผ่านตัวโปรด ขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด เข้าล่อช้างพลายแก้วซึ่งขึ้นระวางเป็น พลายไฟภัทกัลป์ เวลาตกน้ำมัน พอช้างไล่ ทรงกระทบแผงข้างจะให้ม้าวิ่ง ม้าตัวนั้นเป็นม้าเต้นน้อยดี ไปเต้นน้อยเสีย เล่ากันว่า วันนั้นหากหมออาจซึ่งเป็นหมอตัวดีขี่พลายแก้ว เอาขอฟันที่สำคัญเหนี่ยวพลายแก้วไว้อยู่โดยฝีมือ อีกนัยหนึ่งว่าปิดตาช้างแล้วเบนไปเสียทางอื่นทัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่เป็นอันตราย

เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่โปรดการทะแกล้วทหารและสนุกคะนองต่างๆดังกล่าวมานี้ จึงเกิดเสียงกระซิบลือกันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิชาอาคม บางคนว่าหายพระองค์ได้ บ้างว่าเสด็จลงเหยียบเรือกำปั่นฝรั่งเอียงก็มี กระบวนทรงช้างก็ว่าแข็งแรงนัก ของที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงเล่น ที่เล่าลือกันอีกอย่างหนึ่งก็ "แอ่วลาว" ว่าทรงได้สันทัดทั้งแคนทั้งแอ่ว คำแอ่วเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีปรากฏอยู่จนบัดนี้หลายเล่มสมุด เซอร์จอนห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษเข้ามากรุงเทพฯ แต่งหนังสือกล่าวไว้ว่า เมื่อวันพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงนั้น เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้ว ทรงแคนให้ฟัง เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ชมไว้ในหนังสือว่าทรงเพราะนัก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี ในตอนปลายเกิดวัณโรคขึ้นภายในพระองค์ มีพระอาการประชวรเสาะแสะมาหลายปี จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมืองเนืองๆ กล่าวกันว่ามักจะเสด็จไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาว เพราะโปรดฯแอ่วลาว เสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะทวน แขวงจังหวัดนครชัยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่ไปประทับที่ตำหนักบ้านสีทา แขวงจังหวัดสระบุรีโดยมาก

จนปีฉลู จุลศักราช ๑๒๒๗ พ.ศ. ๒๓๑๘ พระอาการที่ประชวรหนักลง ต้องเสด็จกลับกรุงเทพและในเดือนยี่ ปีฉลูสัปตศกนั้น เป็นกำหนดพระฤกษ์จะได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมากอยู่ จะโปรดฯให้เลื่อนงานโสกันต์ไป ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลขออย่าให้เลื่อนงาน ว่าพระองค์ประชวรมากอยู่แล้วจะไม่ได้มีโอกาสสมโภช จึงต้องโปรดฯให้คงงานไว้ตามพระฤกษ์เดิม

ครั้นถึงงาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเตรียมกระบวนจะเสด็จลงมาจรดพระกรรไกรพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ต้องรับสั่งให้ทอดที่ราชอาสน์เตรียมไว้รับเสด็จตามเคย ทั้งทรงทราบอยู่ว่าพระอาการมากจะไม่เสด็จลงมาได้ โดยจะมิให้สมเด็จพระอนุชาธิราชโทมนัสน้อยพระทัย ด้วยพระบาทสมเด็พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก รับสั่งเล่าว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อใด มักดำรัสเรียกเข้าไปใกล้แล้วยกพระหัตถ์ลูบ รับสั่งว่า "เจ้าใหญ่นี่แหละ ต่อไปจะเป็นที่พึ่งของญาติได้"

ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทรงรักษาพยาบาลทั้งกลางวันกลางคืน ประชวรมาจนวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ พอเป็นวันสุดงานพระราชพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระชนมายุได้๕๘ พรรษา การพระศพโปรดฯให้เรียกว่าพระบรมศพ จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง เว้นแต่มิได้ทรงพระลองเงินกับประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์แต่ทีมีสังกัดในพระบวรราชวัง เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรฯ มิได้ให้โกนหัวทั้งแผ่นดิน

ครั้นถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๑๙ โปรดฯให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ตามแบบอย่างพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และจัดการแห่พระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนองกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นเป็นหลายประการ

ปรากฏรายการงานพระเมรุครั้งนั้นว่า ณ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่แต่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง ออกประตูมหาโภคราช และประตูบวรยาตราด้านตะวันออก มาสมโภชที่พระเมรุวันกับคืนหนึ่ง แห่พระบรมธาตุกลับแล้ว ถึงเดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาบ่าย ๒ โมง เชิญพระบรมศพแห่ออกประตูโอภาษพิมานชั้นกลางด้านเหนือ และประตูพิจิตรเจษฎาด้านตะวันตกพระบวรราชวัง ไปถึงตำหนักแพ เชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุข แห่ล่องมาประทับที่พระราชวังเดิม ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่ตลอดในรัชกาลที่ ๓ มีมหรสพสมโภชคืนหนึ่ง ครั้นเวลาดึกเคลื่อนเรือพระบรมศพมาประทับที่ท่าฉนวนวัดพระเชตุพนฯ รุ่งขึ้น ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาเช้าแห่กระบวนน้อยไปยังที่ตั้งกระบวนใหญ่ที่สนามชัย เชิญพระบรมโกศขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุมาศ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วพระราชทางเพลิงเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ เมื่อเสร็จการสมโภชพระบรมอัฐิแล้ว โปรดฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่ในพระบวรราชวัง

เมื่อพระบาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น วังหน้าผิดกับเวลาเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ สวรรคตหลายอย่าง เป็นต้นว่า พระราชวังบวรฯที่เคยชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์ให้กลับบริบูรณ์ดีแล้วทั้งข้างหน้าข้างในทั่วไป และเจ้านายฝ่ายในพระบวรราชวังก็มีมากขึ้น มีพระองค์เสด็จอยู่ทั้ง ๔ รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ไม่ควรจะทิ้งพระบวรราชวังให้เป็นวังร้างว่างเปล่าเหมือนอย่างแต่ก่อน และตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปประทับอยู่วังหน้าก็เคยมี ดังกล่าวมาแต่ก่อนแล้ว จึงเสด็จขึ้นไปประทับเป็นประธานในพระบวรราชวังเนืองๆ บางทีก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนเฉพาะเวลา บางทีประทับแรมอยู่ก็มีบ้าง

และเวลานั้นมีเก๋ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระวิสูตรวารี(มะลิ) สร้างถวายตรงหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ยังค้างอยู่ จึงโปรดฯให้สร้างต่อมาจนสำเร็จ ขนานนามว่า "พระที่นั่งบวรบริวัติ" เป็นที่ประทับเวลาเสด็จไปอยู่พระบวรราชวัง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต่อมา ดำรัสว่าพระที่นั่งบวรบริวัติถูกแดดบ่ายร้อนจัดนัก โปรดฯให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งต่อไปข้างเหนือ การยังไม่สำเร็จจนตลอดรัชกาลที่ ๔

ตรงนี้ควรจะกล่าวถึงเรื่องข้าราชกาลวังหน้าแทรกลงสักหน่อย ด้วยเนืองในเรื่องตำนานของวังหน้าแต่ครั้งกรุงเก่า ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯไม่ปรากฏทำเนียบในกฏหมายเดิม (ที่พิมพ์เป็นเล่มนั้น) แต่มีข้าราชการบางตำแหน่งในทำเนียบเดิม เช่น หลวงมหาอำมาตย์ ว่าเป็นสมุหมหาดไทยฝ่ายเหนือ หลวงธรรมไตรโลก ว่าเป็นสมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ คำว่า "ฝ่ายเหนือ" ที่กล่าวในทำเนียบหมายความว่าราชธานีฝ่ายเหนือคือ เมืองพิษณุโลกเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย คือเป็นอัครมหาเสนาบดีของเจ้าที่ครองเมืองพิษณุโลก ถึงเจ้ากรมพระตำรวจ ตำแหน่งขุนราชนรินทร์ ขุนอินทรเดช ที่เรียกว่า "กรมพระตำรวจนอก" นั้น ก็เป็นตำแหน่งตำรวจฝ่ายเหนืออย่างเดียวกัน ด้วยมีปรากฏในเรื่องพระพงศาวดารว่า เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมกรุงเก่าไว้ พระมหาธรรมราชาที่ครองเมืองพิษณุโลกมาในกองทัพพระเจ้าหงสาวดี เสด็จเข้ามาว่ากล่าวชาวเมืองให้ยอมแพ้ ชาวเมืองไม่เชื่อกลับเอาปืนยิงพระมหาธรรมราชา ขุนอินทรเดชเข้าอุ้มพระองค์พาหนีปืนไป ความอันนี้เป็นหลักฐานว่า ตำแหน่งขุนอินทรเดชเป็นตำรวจพิษณุโลก

เลยส่อให้เห็นต่อไปว่าที่เรียกในทำเนียบว่า "ตำรวจสนม" ซึ่งขุนพรหมบริรักษ์ ขุนสุริยภักดีเป็นเจ้ากรมนั้น เดิมเห็นจะเป็นตำรวจสำหรับพระอัครมเหสี ตำรวจสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เดิมมีแต่ ๔ ตำรวจเท่านั้น ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายเหนือที่กล่าวมานี้ เห็นจะรวมสมทบเข้าในทำเนียบข้าราชการวังหลวง เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินสมเด็จพระนเศวรมหาราช ที่จริงตำแหน่งข้าราชการตามทำเนียบฝ่ายพระราชวังบวรฯ ที่ปรากฏในชั้นหลัง เช่นพระยาจ่าแสนยากร และพระยากลาโหมราชเสนาเป็นต้น น่าจะเกิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช ด้วยมีพระเกียรติยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร มามีชื่อขุนนางวังหน้าตามทำเนียบใหม่ บางตำแหน่งปรากฏต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้านารายณ์มหาราชเป็นพระมหาอุปราชในแผ่นดินสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา จึงสันนิษฐานว่าจะพึ่งตั้งทำเนียบข้าราชการวังหน้าสังกัดเป็นหมวดหมู่ เมื่อตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาเป็นเดิมมา ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯที่ตั้งในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น เอาทำเนียบอย่างครั้งกรุงเก่ามาตั้ง แล้วมาให้เพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ตรงกับทำเนียบวังหลวง เหตุด้วยมีพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งข้าราชการวังหน้าจึงมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

อนึ่ง ตามประเพณีมีแต่โบราณมา เวลาว่างพระมหาอุปราช จะเป็นด้วยเหตุพระมหาอุปราชเสด็จผ่านพิภพเก็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ดี หรือพระมหาอุปราชสวรรคตก็ดี ข้าราชการวังหน้าต้องมาสมทบเป็นข้าราชการวังหลวง ผู้ที่รับราชการในกรมไหนในวังหน้า ก็มารับราชการในกรมนั้นในพระราชวังหลวง แต่นั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งทั้งตำแหน่งข้าราชกาลฝ่ายวังหลวงและวังหน้า จนทรงตั้งพระมหาอุปราชเมื่อใด ข้าราชการที่ตำแหน่งเป็นฝ่ายพระราชวังบวรฯ ก็กลับไปรับราชการในพระมหาอุปราช เป็นประเพณีมีมาดังนี้

พิเคราะห์ในทางพงศาวดารของข้าราชการวังหน้าในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเลือกสรรผู้ซึ่งทรงคุ้นเคยใช้สอยในพระองค์มาก่อน มาตั้งเป็นข้าราชการวังหน้าตามพระอัธยาศัย ข้าราชการวังหลวงกับวังหน้าครั้งนั้นเสมอเป็นต่างพวก มาในตอนปลายจึงมีเหตุเกิดอริกันดังอธิบายมาแล้ว เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว ข้าราชการวังหน้ามาสมทบอยู่ในพระราชวังหลวง ๓ ปี ขุนนางครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่ร้ายก็ถูกกำจัดไป ที่ดีก็ย้ายไปรับราชการตำแหน่งในพระราชวังหลวง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ข้าราชการวังหน้าเดิมเห็นจะเหลืออยู่น้อย จึงปรากฏว่าทรงตั้งข้าหลวงเดิมเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯโดยมาก ครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระราชประสงค์ตัวคนที่ได้ทรงตั้งเป็นตำแหน่งขุนนางวังหน้าไว้รับราชการในพระราชวังหลวง จึงต้องจัดหาข้าราชการวังหน้าขึ้นใหม่สำหรับสมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย ที่ได้อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในครั้งนั้นเห็นจะทรงพระราชดำริปรึกษากัน จะป้องกันมิให้ข้าราชวังหน้ากับวังหลวงเกิดเป็นต่างพวกต่างเหล่าดังแต่ก่อน จึงโปรดฯให้จัดบุตรหลานข้าราชการผ้ใหญ่ในพระราชวังหลวง แบ่งไปรับราชการมีตำแหน่งในฝ่ายพระราชวังบวรฯทุกๆตระกูล ยกตัวอย่างเช่นในตระกูลเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้พี่ ได้เป็นจมื่นไวยวรนาถในพระราชวังหลวง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้น้อง ได้เป็นจมื่นเด็กชายในพระราชวังบวรฯเป็นต้น ในสกุลอื่นๆก็แบ่งไปโดยทำนองเดียวกัน

ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สวรรคต ข้าราชการวังหน้ามาสมทบในพระราชวังหลวง ก็เข้ากันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ได้ย้ายมาเป็นตำแหน่งข้าราชการฝ่ายวังหลวงในระหว่างเวลาว่างพระมหาอุปราชอยู่ ๗ ปีนั้นโดยมาก ยกตัวอย่างเช่นสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ องค์ที่กล่าวมาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้เป็นพระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็ได้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็ก

ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯกลับไปรับราชการในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เห็นจะเหลือข้าราชการวังหน้าครั้งกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ กลับไปไม่เท่าไร แต่ต่อมาไม่ช้าเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ กรมพระราชวังบวรฯก็จำเป็นต้องเสด็จเป็นจอมพลไปปราบเมืองเวียงจันทน์ เห็นจะโปรดฯให้เลือกผู้ทีมีความสามารถไปเป็นขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯคราวไปทัพนั้นหลายคน ปรากฏข้าราชการผู้ใหญ่ในตารางเกณฑ์ทัพหลายตำแหน่ง แต่ชั้นผู้น้อยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงจัดคนพระราชทานอย่างเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรมพระราชวังบวรฯต้องทรงเลือกหาเอง ได้ยินเล่ากันว่า ครั้งนั้นพวกข้าราชการวังหลวงไม่ใคร่มีใครสมัครขึ้นไปอยู่วังหน้า ได้แต่ผู้ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯทรงคุ้นเคยชอบพอในส่วนพระองค์มาแต่ก่อน หรือที่ไม่ใคร่มีช่องทางที่จะได้ดีทางวังหลวง ไปเป็นข้าราชการวังหน้า

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างอยู่ถึง ๑๘ ปี ข้าราชการวังหน้าที่มาสมทบในพระราชวังหลวงก็หมดตัว แต่ในรัชกาลที่ ๓ ครั้งมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราชบวรราชาภิเษก เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องหาข้าราชการวังหน้าใหม่ทั้งชุด จึงโปรดฯให้จัดบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ในพระราชวังหลวง แบ่งไปรับราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ ข้าราชการวังหน้าครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงอยู่ในสกุลเดียวกับข้าราชการวังหลวงโดยมาก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ข้าราชการฝ่ายพระบวรราชวังก็ลงมาสมทบรับราชการในพระราชวังหลวง ตำแหน่งสังกัดกรมไหนก็ไปรับราชการในกรมที่ตรงกัน ตามประเพณีโบราณทุกๆกรม มีที่ต้องจัดเป็นพิเศษอยู่ ๒ กรม คือกรมทหารบกกับทหารเรือ ด้วยพึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และในครั้งนั้นการบังคับบัญชาทหารอย่างยุโรปยังไม่ได้รวมขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมทุกกรมทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการทหารบกวังหน้า และโปรดฯให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญชาการทหารเรือวังหน้าต่อมา.


....................................................................................................................................................

(๑) สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงอ้างถึงพระชะตาของสมเด็จพระอนุชาธิราชว่า "ถ้าฉันไม่ให้เธอเป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่กับฉัน เธอนั้นก็น่าจะต้องได้เป็นเพียงพระองค์เดียวโดยแน่แท้"

(๒) เดิมเรียกพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เข้าใจว่าเปลี่ยนเป็นพุทไธสวรรย์ เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

(๓) พระครูธรรมวินาจารย์ได้อยู่วัดมหาธาตุมาแต่เป็นเด็กศิษย์วัด เดี๋ยวนี้อายุได้ ๘๐ ได้เคยผ่านไปมาทางวังหน้าเสมอตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓

(๔) มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่ากันมาว่า
มีผู้มาลองดีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยส่งสิงโตศิลาคู่ ๑ มาถวาย โปรดฯให้ตั้งไว้หน้าพระทวาร ตกกลางคืนก็สำแดงฤทธิ์ ส่งเสียคำรามอาละวาด พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงปราบด้วยอาคม สิงโตตัวผู้เผ่นหนีลงน้ำไปได้ (รู้สึกว่าจะปรากฏตัวอีกครั้งในประวัติตี๋ใหญ่) ส่วนตัวเมียหนีไม่รอดจึงต้องอยู่ในวังหน้าต่อมา ต่อมาจึงได้เป็น "เจ้าพ่อสิงโต" ที่ศาลริมน้ำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิจารณาดูที่ตั้งวังหน้านั้นอยู่ในที่ที่เรียกกันว่า "สามแพร่ง" พอดี คือ คลองบางกอกน้อยพุ่งตรงเข้าหาวังหน้า มีลำเจ้าพระยาขวาง เป็นสามแพร่ง ที่เอาสิงโตมาไว้ที่ริมน้ำบริเวณนั้น คิดว่าน่าจะเป็นการแก้กวงจุ๊ย (ฮวงจุ้ย) ที่เนืองมากับจีนแสแก้กวงจุ้ยพระที่นั่งเก๋งครั้งนี้

(๕) นี่เป็นหลักฐานอีกข้อ ที่พิสูจน์น้ำพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ามิได้ทรงระแวงในสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชอนุชาทั้ง ๒ พระองค์เลย


..........................................................................................................................................................

ตำนานวังหน้า - พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:14:17 น. 2 comments
Counter : 8095 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณมากค่ะ ได้ความรู้จริงๆ
 
 

โดย: "ใบตอง" วันที่: 27 มีนาคม 2550 เวลา:21:28:42 น.  

 
 
 
ด้วยความยินดีครับ คุณ ใบตอง
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 28 มีนาคม 2550 เวลา:10:49:13 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com