กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๒ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท


กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
พญาเสือ



..........................................................................................................................................................


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ โปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราชแล้ว ทรงสร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออก จึงสร้างพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรฯขึ้นใหม่ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ พร้อมกันทั้งสองวัง แต่ที่ซึ่งจะสร้างพระราชวังใหม่เป็นที่มีเขตจำกัด เพราะแผนที่กรุงธนบุรีเอาแม่น้ำไว้กลาง ตั้งกำแพงเมืองที้งสองฟาก คลองตลาดทุกวันนี้เป็นคูเมืองข้างฟากตะวันออก พื้นที่ในบริเวณกำแพงเมืองเดิมข้างฝั่งตะวันออกมีที่พื้นใหญ่พอจะสร้างพระราชวังได้แต่ ๒ แปลง คือที่แต่วัดโพธารามยืนมาข้างเหนือวัดสลักแปลง ๑ แต่วัดสลักขึ้นไปจนถึงปากคลองคูเมืองข้างเหนืออีกแปลง ๑ ไม่มีที่อื่นที่จะสร้างพระราชวังนอกจากที่ ๒ แปลงนี้ จึงได้ตั้งพระราชวังหลวงในที่แปลงใต้ และตั้งพระราชวังบวรฯสถานมงคลในที่แปลงข้างเหนือ เพราะเหตุนี้พระราชวังหลวงกับวังหน้าในกรุงรัตนโกสินทร์จึงอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่เหมือนที่กรุงเก่า

ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังหลัง พระราชวังหลังต้องไปตั้งปากคลองบางกอกน้อยฟากข้างโน้น ผิดแผนที่ครั้งกรุงเก่า เป็นแต่เอาชื่อมาเรียกว่าวังหลังให้เหมือนประเพณีครั้งกรุงเก่า

พระราชวังที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถ่ายแบบอย่างพระราชวังกรุงเก่ามาสร้างทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้า มีคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ามาว่า พระราชวังหลวงสร้างหันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ เอาพระฉนวนน้ำไว้ข้างซ้ายวัง ตามแผนที่พระราชวังหลวงที่กรุงเก่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทดำรัสว่าไม่ถูก พระราชวังที่กรุงเก่าหันหน้าวังไปทางทิศตะวันออก ให้สร้างพระราชวังบวรฯหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระฉนวนน้ำวังหน้าจึงกลับไปอยู่ข้างหลังวัง เพราะแม่น้ำที่กรุงเก่าอยู่ทางทิศเหนือพระราชวังหลวง และอยู่ทางทิศตะวันออกวังจันทรเกษม แต่แม่น้ำที่กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ข้างทิศตะวันตกของที่สร้างพระราชวัง จึงเป็นเหตุให้แตกต่างกันไปได้ดังกล่าวมา

แต่ส่วนแผนที่ข้างภายในพระราชวัง ถ้าใครเคยได้ไปเดินดูในพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า ตั้งแต่เมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้ขุดที่ตกแต่งมาแล้ว สังเกตดูก็จะเห็นได้ว่า พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯนี้ ถ่ายแผนที่ข้างตอนหน้ามาสร้างเหมือนกันไม่เพี้ยนผิด คือวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ตรงที่วัดพระศรีสรรญเพ็ชญ์ หมู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยอยู่ตรงพระวิหารสมเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ตรงพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เว้นเสียองค์ ๑ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอยู่ตรงพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ถึงศาลาลูกขุนและที่ปันเขตกำแพงพระราชวังชั้นกลาง ชั้นใน ก็ตรงกัน

ส่วนพระราชวังบวรฯนั้น จะถ่ายแบบวังหน้าที่กรุงเก่าบ้างหรือไม่อย่างไรหาทราบไม่ ด้วยของเดิมไม่มีอะไรเหลืออยู่พอจะตรวจเทียบ แต่ทราบได้แน่ว่า ที่ตรงสิ่งสำคัญนั้นถ่ายแบบพระราชวังหลวงกรุงเก่าตอนข้างด้านหลังมาสร้าง ถ้าสังเกตดูในแผนที่วังหน้าที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ที่ตรงสระเหลี่ยมมีเกาะกลาง จะเห็นได้ว่าถ่ายแบบสระพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์มาสร้าง และพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน(อันเป็นพิพิธภัณฑสถานทุกวันนี้)อยู่ตรงกับแผนที่พระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า และยังมีคนเรียกพระที่นั่งศิวโมกข์ ว่า พระที่นั่งทรงปืน อยู่จนทุกวันนี้

ความที่กล่าวมาว่าตามทีแลเห็นหลักฐานเป็นที่สังเกตได้แน่นอนในปัจจุบันนี้ แต่เมื่อแรกสร้างเห็นจะมีอะไรที่ถ่ายแบบอย่างมาอีกหลายวิ่ง แต่รื้อและแปลงไปเสียแล้วก็รู้ไม่ได้

การสร้างพระราชวังในกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้าไม่ได้สร้างสำเร็จในคราวเดียว แรกลงมือสร้างเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นการเร่งรัด ด้วยจะทำพระราชพิธีปราดาภิเษก กำแพงพระราชวังใช้แต่ปักเสาไม้ระเนียด พระราชมณเฑียรก็ทำแต่ด้วยเครื่องไม้มุงจากพอเสด็จประทับชั่วคราวทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า พระราชวังหลวงเวลาปลูกสร้างไม่ถึงสองเดือนก็ถึงฤกษ์พระราชพิธีปราบดาภิเษก เสด็จมาเฉลิมพระราชมฯเฑียร เมื่อ ณวันพฤหัสบดี เดือน ๘ บุพพาสาฒ ขึ้น ๔ ค่ำ พระมหาอุปราชจะได้เสด็จจากพระราชนิเวศน์เดิม(อันอยู่ตรงป้อมพระสุเมรุทุกวันนี้) มาเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลที่สร้างใหม่เมื่อวันใด ยังไม่พบจดหมายเหตุ แต่มีหลักฐานยุติเป็นแน่ ว่าเสด็จมาภายในเดือน ๘ บุพพาสาฒ ปีขาลจัตวาศกนั้นเอง ด้วยมีจดหมายเหตุปรากฏว่า ปรึกษาความชอบตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และตั้งข้าราชการทั้งหลายเมื่อเดือน ๘ อุตราสาฒ การอันนี้ต้องอยู่ภายหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษก

ครั้นเสด็จมาประทับอยู่ในพระราชวังใหม่แล้ว จึงลงมือปลูกสร้างสิ่งซึ่งเป็นของถาวรต่อมา ทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้าด้วยกัน ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า การสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์และพระราชวังหลวง สร้างอยู่ ๓ ปี สำเร็จในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วสมโภชพระนครต่อกันไป เชื่อได้ว่าพระราชวังบวรฯก็คงสร้างสำเร็จ และได้มีการฉลองเนื่องในงานสมโภชพระนครคราวนั้นด้วย แต่หากไม่ปรากฏจดหมายเหตุรายการแก่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจึงมิได้พรรณนาไว้ด้วย

แต่การก่อสร้างในชั้นนั้น ทั้งพระนครฯและพระราชวัง สิ่งซึ่งก่อสร้างเป็นของก่ออิฐถือปูน เฉพาะแต่ป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึกศัตรู ส่วนพระราชมณเฑียรและสถานที่ นอกจากนั้นทำด้วยเครื่องไม้แทบทั้งนั้น แม้ซุ้มพประตูเมืองและประตูพระราชวังก็เป็นเครื่องยอดทำด้วยไม้ ที่สุดจนพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทในพระราชวังหลวง ซึ่งสร้างขึ้นแต่แรกก็เป็นปราสาทไม้ เพราะในเวลานั้นอิฐปูนยังหายาก ป้อมปราการที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์ต้องไปรื้อเอาอิฐกำแพงกรุงเก่ามาสร้างแทบทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งซึ่งสร้างเป็นของก่ออิฐถือปูน นอกจากป้อมปราการวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นแล้ว เป็นของก่อสร้างต่อทีหลังเป็นลำดับมาทั้งนั้น

จะกล่าวเฉพาะตำนานการสร้างพระราชวังบวรฯต่อไป ที่เกาะกลางสระซึ่งได้กล่าวมาแล้ว เดิมกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทรงสร้างปราสาทเหมือนอย่างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ที่กรุงเก่า สร้างยังไม่ทันสำเร็จก็มีเหตุเกิดขึ้น เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๖ อ้ายบัณฑิต ๑ คนคิดกบฏลอบเข้าในวังหน้า ไปแอบพระทวารด้านหลังพระราชมณเฑียร คอยจะทำร้ายกรมพระราชวังบวรฯ เวลาเสด็จลงทรงบาตร แต่เผอิญเช้าวันนั้นจะเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่พระราชวังหลวง เสด็จออกทางพระทวารด้านหน้า อ้ายกบฏทำร้ายไม่ได้ ครั้นเสด็จลงมาพระราชวังหลวงแล้ว ทางโน้นนางพนักงานในวังหน้าไปพบอ้ายกบฏร้องอื้ออึงขึ้น เจ้าพนักงานผู้รักษาหน้าที่พากันเข้าไปจับได้คน ๑ ไล่ไปฟันตายลงตรงที่สร้างปราสาทคน ๑ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีรับสั่งว่า ที่วังจันทรเกษมซึ่งเป็นวังหน้าครั้งกรุงเก่าไม่มีปราสาท พระองค์มาสร้างปราสาทขึ้นในวังหน้าเห็นจะเกินวาสนาไปจึงมีเหตุ จึงโปรดฯให้งดการสร้างปราสาทนั้นเสีย ให้เอาตัวไม้ที่ปรุงไว้ไปสร้างพระมณฑป(เก่า)ที่วัดนิพพานาราม คือวัดมหาธาตุทุกวันนี้

ส่วนที่ซึ่งกะไว้ว่าจะสร้างปราสาทนั้น โปรดฯให้สร้างพระวิมานถวายเป็นพุทธบูชา ขนานนามว่า "พระพิมานดุสิคา"(๑) เป็นที่ไว้พระพุทธรูป พระวิมานนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทันทอดพระเนตรเห็น ทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องสถานที่ ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯทรงสร้าง(หอพระสมุดพิมพ์ในประชุมพระบรมราชาธิบาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗) ว่าตัววิมานกลางที่เป็นหอพระ หลังคาดีบุก ฝากระดาน ข้างนอกประกอบเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ปิดทองประดับกระจก ข้างในเขียนลายรดน้ำมีราชวัตรฉัตรรูปอย่างฉัตรเบญจรงค์(ปักรายรอบ) เป็นเครื่องปิดทองประดับกระจกทั้งสิ้น นอกพระวิมานออกมามีพระระเบียง ฝาข้างในเรื่องพระปฐมสมโพธิและเรื่องรามเกียรติ์ "งามนักหนา" ข้างนอกมีลายประกอบปิดทองประดับกระจก เสาและหูช้างพนักข้างในก็ล้วนลายสลักปิดทองประดับกระจก มีตะพานพนกสลักปิดทองเป็นทางข้ามสระเข้าไปทั้งสี่ทิศ

ตรงสระมาทางตะวันออกสร้างท้องพระโรงหลัง ๑ เป็นพระที่นั่งโถง วางแผนที่ตามอย่างพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลายเรียกว่า พระที่นั่งทรงปืน มาจนทุกวันนี้ แต่ที่จริงขนานนามว่า "พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน" ในจดหมายเหตุเก่าเห็นเรียกพระที่นั่งทรงธรรมก็มี

พระราชมณเฑียรที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับในชั้นแรก รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ แม้ที่จะสร้างอยู่ตรงไหนก็สงสัยอยู่ พระราชมณเฑียรที่สร้างเป็นตึก เป็นที่เสด็จประทับต่อมาเป็นของสร้างในชั้นหลัง ประมาณว่าราวปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในคราวๆเดียวกับสร้างหอพระราชมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยแบบอย่างลวดลายคล้ายคลึงกัน ส่อให้เห็นว่าสร้างในคราวเดียวกัน พระราชมณเฑียรที่สร้างใหม่นี้ สร้างเป็นพระวิมาน ๓ หลังเรียงกัน เข้าใจว่าจะมีแบบในกรุงเก่ามา แต่คติที่ว่าปราสาทเป็นที่ประทับ ๓ ฤดูกาล

แม้ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชครั้งกรุงเก่าก็ทำเป็น ๓ หลัง จึงเรียกว่า "ไตรโลกมณเฑียร" ในศุภอักษรที่มีไปเมืองลังกาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แต่ข้าพเจ้าได้ไปเดินตรวจดูในพระราชวังกรุงเก่ากับพระยาโบราณราชธานินทร์ด้วยกันหลายครั้ง ยังไม่พบที่สร้างพระวิมาน ๓ หลังที่ตรงไหน มีปรากฏแต่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า(ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์แล้ว เมื่อปีขาล พ.ซศง ๒๔๕๗)ว่า พระวิมาน ๓ หลังมีที่วังจันทรเกษม ตรงพระที่นั่งพิมานรัถยา ที่สร้างเป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่าทุกวันนี้

ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระราชมณเฑียรที่ประทับสร้างเป็นพระวิมาน ๓ หลัง ทั้งในพระราชวังหลวงและที่วังหน้า ในพระราชวังหลวง คือ หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น แต่สร้างผิดกัน พระวิมานวังหลวงสร้างติดกันทั้ง ๓ หลัง พระวิมานวังหน้าสร้างห่างกันมีชาลาคั่นกลาง

จะกล่าวเฉพาะพระวิมานวังหน้า ตัววิมาน ๓ หลังทำเป็นสองชั้น หลังใต้ขนานานามว่า " พระที่นั่งวสันตพิมาน" ทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูฝน หลังกลางขนานนามว่า "พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ" ทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูหนาว แต่หลังเหนือขนานนามว่า "พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์" ทำนองความแปลกไป จะเป็นด้วยเหตุใดไม่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบ ได้แต่สันนิษฐาน สันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะมีนามอื่นซึ่งทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูร้อน แต่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงเปลี่ยนนามนั้นเสีย

ถ้าจะสันนิษฐานต่อไปถึงเหตุ เห็นมีเหตุทำนองเดียวกับครั้งกรุงเก่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างพระที่นั่งองค์ ๑ ขนานนามว่า "พระที่นั่งศรียโสธร" แล้วทรงพระสุบินไปว่า พระอินทร์มาทูลจักรพยุหะถวาย จึงเอานิมิตนั้นเปลี่ยนนามพระที่นั่งศรียโสธรนั้นเป็น พระที่นั่งจักรวัติไพชยนต์ น่าจะมีนิมิตอันใดเป็นเหตุให้เปลี่ยนนามพระวิมานหลังเหนือเป็นพระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ ก็เป็นได้

ที่ชาลาระหว่างพระวิมานข้างหนึ่งมีตึกห้องสรง อีกข้างหนึ่งมีตึกลงพระบังคน สร้างต่างหากข้างละหลัง ต่อพระวิมานออกมาทั้งข้างหน้าข้างหลัง สร้างพระราชมณเฑียรชั้นเดียว เป็นหลังขวางตลอดแนวพระวิมานทั้งสองด้าน ตรงพระวิมานหลังกลางทำเป็นมุขผ่านหลังขวางตรงออกไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ที่สุดมุขด้านหน้ามีพระที่นั่งบุษบกมาลาเป็นที่เสด็จออกแขกเมือง มุขนี้เรียกว่าท้องพระโรงหน้า และมีปราสาททองสร้างไว้ที่มุขหลังหนึ่งเป็นที่สรงพระพักร์ เล่ากันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น มีที่พระบรรทมทั้งที่บนพระวิมาน และที่ห้องพระราชมณเฑียรหลังขวางหลายแห่ง ไม่บรรทมที่ใดแห่งเดียวเป็นนิตย์ แต่ถึงจะบรรทมที่ใด คงจะเสด็จมาสรงพระพักตร์ที่ปราสาททองนั้น กล่าวกันมาดังนี้

พระราชมณเฑียรหลังขวาง ข้างหน้าข้างหลังพระวิมานที่กล่าวมานี้ มีขนานนามเรียกเป็นมุข ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเรียก พระที่นั่งบุรพาภิมุช ตะวันออกเฉียงใต้เรียก ทักษิณาภิมุข ตะวันตกเฉียงใต้เรียก ปัจฉิมาภิมุข ตะวันตกเฉียงเหนือเรียก อุตราภิมุข นามเหล่านี้สงสัยว่าจะมาขนานต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับขนานนามมุขหน้าว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร และมุขหลังว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข ก็เป็นได้

มุขหน้าเมื่อเป็นท้องพระโรงเเรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เข้าใจว่าเรียก พระที่นั่งพรหมพักตร์ ตรงหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลาออกมาข้างนอก เดิมเป็นชาลาที่แขกเมืองเฝ้า พ้นชาลาออกมามีทิมคด บังหน้ามุขท้องพระโรงทั้งสามด้าน ทิมคตนี้ต่อมามีชื่อว่า "ทิมมหาวงศ์" เพราะประชุมนักปราชญ์แปลหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา ที่ตรงนั้นเล่ากันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดเสด็จออกที่รโหฐานทีทิมมหาวงศ์นี้

เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จกลับ เชิญพระพุทธรูปพระพุทธสิหิงค์อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญในพระราชพงศาวดารลงมาด้วย

เรื่องตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ ว่าเดิมพระเจ้ากรุงลังกาองค์ ๑ ทรงสร้างขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาถวายพระร่วง(รามราช)พระเจ้ากรุงสุโขทัย พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงปฏิบัติบูชามาหลายรัชกาล จนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ กรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา อยู่ได้หน่อย ๑ พระมเหสีคิดอุบายขอให้พระยาญาณดิศผู้เป็นบุตรไปไว้ ณ กำแพงเพชร อยู่นั่นไม่ช้า พระยามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเป็นไมตรี พระยามหาพรหมจึงขอพระพุทธสิหิงไปไว้เมืองเชียงราย ต่อมาพระมหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากับพระแก้วมรกฏด้วยกัน พระพุทธสิหิงค์มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ จนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๐๒๔ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธสิหิงค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อมาตลอดเวลา ๑๐๕ ปี จนเสียพระนครแก่พม่าข้าศึก สมัยนั้นชาวเชียงใหม่ยังเป็นพวกพม่า จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชดำริว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธบยา โดยมีตำนานดังแสดงมา จึงได้โปรดฯให้เชิญลงมายังกรุงเทพฯ

ประจวบเวลากำลังทรงสร้างพระราชมณเฑียรดังกล่าว จึงโปรดฯให้สร้างพระวิมานถวายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์ ๑ ต่ออกมาข้างด้านหน้าพระราชมณเฑียรทางตะวันออก ขนานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ฝาผนังข้างในเขียนรูปเทพชุมนุม และเรื่องพระปฐมสมโพธิ เป็นพุทธบูชายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์นี้เป็นที่สำหรับทำการพระราชพิธีตรุษสารท และโสกันต์ลูกเธอด้วย

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างเขาไกรลาศ บนยอดเขามีบุษบก สำหรับเป็นที่ลูกเธอสรงเวลาโสกันต์อีกสิ่ง ๑ เรียกในหนังสือนิพพานวังหน้าว่าเขาแก้ว แต่จะอยู่ที่ตรงไหนไม่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ และว่ามีเขาก่อเป็นฐานรองหอแก้วศาลพระภูมิอีกเขา ๑ ยังอยู่ข้างหลังพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จนทุกวันนี้ กระบวนพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯที่สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ได้ความดังกล่าวมานี้

สถานที่ต่างๆในพระราชวังบวรฯนอกพระราชมณเฑียรจะมีสิ่งใดสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๑ บ้างทราบไม่ได้แน่ ด้วยของที่สร้างในครั้งนั้นสร้างด้วยเครื่องไม้ หักพ้งรื้อถอนและสร้างใหม่เปลี่ยนแปลงในชั้นหลังเสียแล้วแทบทั้งหมด ได้แต่ประมาณว่าบรรดาสถานที่สำหรับราชการ อย่างใดมีในพระราชวังหลวงก็คงมีในวังหน้าทำนองเดียวกัน คือ โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง เป็นต้น ที่ทราบว่าผิดกับพระราชวังหลวงมีอยู่บางอย่าง คือ ตำหนักข้างใน ในพระพระราชวังหลวงสร้างเป็นตำหนักเครื่องไม้ทั้งนั้น เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นตึกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่ตำหนักในวังหน้าสร้างเป็นตึกมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ และมีตำหนักหมู่หนึ่ง ยกหลังคาเป็นสองชั้นคล้ายพระวิมาน เป็นที่ประทับของเจ้ารจจาผู้เป็นพระอัครชายา และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าพิกุลทอง

อีกอย่างหนึ่งนั้น มีปรากฏในจดหมายเหตุเก่าว่าที่ ลานพระราชวังบวรฯชั้นนอกข้างด้านเหนือ ตรงที่สร้างวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อในรัชกาลที่ ๓(และยังปรากฏ เรียกว่าพระเมรุพิมานอยู่บัดนี้) เมื่อแต่แรกเป็สวนที่ประพาสของกรมพระราชวังบวรฯ มีตำหนักสร้างไวในสวนนั้นหลัง ๑ ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชอุทิศให้เป็นบริเวณที่หลวงชีจำศีลภาวนา เหตุเพราะมารดาของนักองค์อี ธิดาสมเด็จพระอุไทราชาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นพระสนมเอกชื่อนักนางแม้น บวชเป็นรูปชี เรียกกันว่านักชี มาอยู่ในกรุงฯ จึงโปรดฯให้มาอยู่ในพระราชวังบวรฯกับพวกหลวงชีที่เป็นบริษัท ที่ตรงนั้นจึงเลยเรียกกันว่า "วัดหลวงชี"

ว่าด้วยเขตพระราชวังบวรฯ เขตวังปันเป็นชั้นในชั้นกลางชั้นนอก เหมือนอย่างพระราชวังครั้งกรุงเก่าแต่เดิม แต่เขตพระราชวังบวรฯชั้นในกับชั้นกลาง เมื่อในรัชกาลที่ ๑ จะอยู่เพียงไหนจะทราบโดยแผนที่ที่มีอยู่ไม่ได้แน่ ด้วยในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงขยายเขตวังชั้นกลางออกไปข้างด้านตะวันออก เขตวังชั้นในก็ขยายออกไปข้างด้านเหนือ แต่มีของควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าที่ในพระราชวังบวรฯ ไว้ที่เป็นสนามใหญ่กว่าในพระราชวังหลวงทั้งชั้นกลางและชั้นนอก คงจะเป็นเช่นนี้มาแต่เดิม เพราะมีการฝึกหัดช้างม้าผู้คนพลทหารฝ่ายพระราชวังบวรฯมักต้องฝึกหัดอยู่ได้แต่ในบริเวณวังวหน้า จะออกมาฝีกหัดตามท้องถนนเละสนามหลวงเหมือนอย่างข้างวังหลวงไม่ได้ แต่เขตพระราชวังบวรฯชั้นนอกตามแนวป้อมปราการที่ปรากฏในแผนที่ เป็นของคงตามเมื่อแรกสร้างครั้งรัชกาลที่ ๑ มิได้เปลี่ยนแปลงในชั้นหลัง

ป้อมรอบพระราชวังบวรฯมี ๑๐ ป้อม เป็นของสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทั้งนั้น รูปป้อม ๔ มุมวัง ทำเป็นแปดเหลี่ยม หลังคำกระโจม นอกนั้นทำเป็นรูปหอรบ มีป้อมซึ่งมีเรื่องตำนานอยู่ป้อม ๑ ชื่อ ป้อมไพฑูรย์ อยู่ข้างทิศใต้ ทำรูปหอรบยาวตามแนวกำแพงวัง ทางปืนตรงเฉพาะพระราชวังหลวง ประหนึ่งว่าสร้างไว้สำหรับยิงพระราชวังหลวง เหตุใดจึงได้สร้างป้อมนี้ก็หาปรากฏไม่ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า เคยเป็นเหตุถึงใหญ่โตครั้งหนึ่งเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙ คราวนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดขัดพระทัยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงไม่เสด็จลงมาเฝ้า ความปรากฏในหน้าหนังสือนิพพานวังหน้า ว่ามีข้าราชการวังหน้ากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯว่า พวกวังหลวงให้เอาปืนขึ้นป้อมจะยิงวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯรับสั่งให้นักองค์อี แต่งข้าหลวงลอบลงมาสืบพวกเขมรที่ลากปืนที่วังหลวง ก็ได้ความว่าเอาปืนขึ้นป้อมเมื่อยิงอาฏนาพิธีตรุษ กรมพระราชวังบวรฯจะมีรับสั่งอย่างไรหาปรากฏไม่ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า พวกข้าราชการวังหน้ามีพระเกษตร(บุญรอด)เป็นต้น ให้เอาปืนขึ้นป้อมไพฑูรย์นี้ และตระเตรียมจะต่อสู้วังหลวง พร้อมข้าราชการวังหลวงเห็นข้างวังหน้าตระเตรียมกำลังก็ตระเตรียมบ้าง เกือบจะเกิดรบกันขึ้น ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางเธอทั้งสองพระองค์ จึงเสด็จขึ้นไปวังหน้ามีรับสั่งเล้าโลมสมเด็จพระอนุชาธิราชจนสิ้นทิฐืมานะ แล้วพาพระองค์ลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช การที่ทรงขัดเคืองกันจึงระงับไปได้

ภายนอกบริเวณกำแพงพระราชวังบวรฯด้านใต้และด้านตะวันออก แต่เดิมมีคูทั้งสองด้าน คูไม่ลึกและกว้างเท่าใดนัก พอน้ำไหลขึ้นขังอยู่ได้ พ้นคูออกมาถนนรอบวัง ถนนด้านใต้ คือถนนพระจันทร์ทุกวันนี้ ยืนขึ้นไปทางตะวันออกจนจดถนนหน้าวังใกล้ถนนราชดำเนินในทุกวันนี้ ส่วนด้านเหนือเพราะคลองคูเมืองเดิมเป็นคู ถนนอยู่ข้างใน ใกล้แนวถนนราชินีทุกวันนี้ ปลายไปลงท่าช้างวังหน้า ด้านตะวันตกเป็นลำแม่น้ำ เอากำแพงพระนครเป็นกำแพงวังชั้นนอก

ยังมีถนนผ่านพระราชวังบวรฯตามยาวเหนือลงมาใต้อีกสามสาย คือ ริมกำแพงข้างในพระนครสาย ๑ ข้างเหนือวังมีสะพานช้างข้ามคลองคูเมืองเดิม ตรงสะพานเจริญสวัสดิ์ทุกวันนี้ ถนนสายกลางคือถนนหน้าพระธาตุทุกวันนี้นั้นเอง ตรงประตูพรหมทวารวังหน้า เป็นทางเสด็จลงมาพระราชวังหลวง ถนนสายตะวันออกคือถนนราชดำเนินในทุกวันนี้ แต่อยู่ค่อนมาทางตะวันตก ต่อจากถนนสนามไชยตรงไปหาสะพานเสี้ยว ซึ่งเป็นสะพานช้างวังหน้าอีกสะพานหนึ่ง

พ้นถนนรอบพระราชวังบวรฯออกมา ข้างด้านใต้ต่อเขตวัดมหาธาตุ เดิมชื่อวัดสลัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาในคราวเดียวกับสร้างวังหน้า แต่แรกทรงขนานนามว่า วัดนิพพานนาราม ครั้นจะทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ เปลี่ยนนามว่า วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และได้เสด็จออกทรงผนวชอยู่คราวหนึ่ง ๑๕ ราตรี เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘ ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตแล้วจึงเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า วัดมหาธาตุ หน้าวัดมหาธาตุเป็นท้องสนามหลวง อยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับพระราชวังบวรฯ เวลาทำพระเมรุในท้องสนามหลวง พระเมรุอยู่กลาง พลับพลาวังหน้าตั้งข้างเหนือ เครื่องมหรสพของวังหลวงกับวังหน้าเล่นกันคนละฝ่ายสนามหลวง

ทางด้านตะวันออกตรงหน้าวังข้ามถนนไป สร้างวังลูกเธอ (ตั้งแต่ถนนพระจันทร์ไปจนน้ำพุนางพระธรณี) ๔ วัง เรียงแต่ข้างใต้ไปข้างเหนือ คือ วังพระองค์เจ้าลำดวนวัง ๑ วังพระองค์เจ้าอินทปัตวัง ๑ วังพระองค์เจ้าอสนีภายหลังได้เป็นกรมหมื่นเสนีเทพวัง ๑ วังพระองค์เจ้าช้างวัง ๑

ด้านเหนือข้างฟากถนนไปริมคลองคูเมืองเดิมเป็นโรงไหมและโรงช้าง ตลอดท่าช้างฟากคลองข้างเหนือสร้างวังกรมขุนสุนทรภูเบศร์ (ทีหลังเป็นวังเจ้าฟ้าอิศราพงษ์ อยู่ตรงระหว่างโรงกระสาปน์กับโรงพยาบาลทหารทุกวันนี้)

ด้านตะวันตกพระราชวังบวรฯ ประตูวังลงท่าทำเป็นประตูยอดปรางค์เรียกประตูฉนวน(วังหน้า)ประตู ๑ ที่ท่าพระฉนวนมีแพจอดเป็นที่ประทับประจำท่า และเรียกว่า ตำหนักแพ เหมือนวังหลวง ข้างใต้ท่าพระฉนวนเป็นโรงเรือและสรีรสำราญของชาววัง มีอุโมงค์เป็นทางเดินออกไปได้แต่ในวัง ใต้อุโมงค์ลงไปเป็นโรงวิเศษจนสุดเขตวัง ข้างเหนือตำหนักแพเป็นโรงฝีพาย และเข้าใจว่าท่าตำรวจต่อขึ้นไป แล้วมีโรงช้างอยู่ริมน้ำโรง ๑ ต่อโรงช้างถึงประตูท่าช้างวังหน้า

เหนือประตูว่าเป็นบ้านข้าราชการจนปากคลองคูเมืองเดิม เหนือคลองคูเมืองเดิมขึ้นไปทางริมน้ำนอกกำแพงเมืองเป็นบ้านรับแขกเมือง และบ้านขุนนาง ตอนในกำแพงเมืองเป็นบ้านเสนาบดีวังหน้า และมีคุกวังหน้าอยู่ตรงหน้าวัดชนะสงครามแห่ง ๑ ด้วยท้องที่กำหนดเป็นแขวงอำเภอพระราชวังบวรฯกึ่งพระนครตามแบบครั้งกรุงเก่า มาจนถึงราววัดเทพธิดาภูมิแผนที่วังหน้าเป็นดังพรรณนามาฉะนี้

มีคำกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆในพระราชวังบวรฯ ทรงทำโดยปราณีตบรรจงทุกๆอย่าง ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสิ้นพระชนมายุขัยสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯตามแบบอย่างสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง เป็นคำเล่ากันมาดังนี้ แต่พระราชประวัติมิได้เป็นไปตามธรรมดาอายุขัย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จดำรงพระยศมาได้ ๒๑ พรรษา ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ มีพระอาการประชวรเป็นนิ่วในเวลาเมื่อเสด็จเป็นจอมพลไปรบพม่าที่มาตีเมืองเชียงใหม่ เสด็จขึ้นไปถึงกลางทางประชวรลงในเดือน ๓ ต้องประทับอยู่ที่เมืองเถิน ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปบัญชาการรบแทนพระองค์

เมื่อมีชัยชนะข้าศึกสงครามเสด็จกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ พระอาการค่อยทุเลาขึ้นคราวหนึ่ง ครั้นถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระโรคกลับกำเริบอีก คราวนี้พระอาการมีแต่ทรงอยู่กับทรุดลงโดยลำดับมา จนถึงเดือน ๑๒ ประชวรหนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปช่วยรักษาพยาบาล(๒) มาจนถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ เพลาเที่ยงคืน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งบุรพาภิมุข คำนวนพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ครั้นรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ ทรงเครื่องพระศพตามพระเกียรติยศเสร็จแล้ว เชิญลงพระลองประกอบด้วยพระโกศไม้สิบสองหุ้มทองคำ(๓) ซึ่งโปรดฯให้สร้างขึ้นใหม่ แห่ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พร้อมด้วยเครื่องประดับตามสมควรแก่พระเกียรติยศพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯให้มีหมายประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาจักร(๔)

ตรงนี้จะต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯทรงพระประชวรจะสวรรคต ด้วยเกี่ยวข้องเนื่องกับตำนานวังหน้าในชั้นหลังต่อมา เรื่องราวเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นมีปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร และพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งในเรื่องนิพพานวังหน้า พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรพระราชธิดากรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งนักองค์อีเป็นเจ้าจอมมารดาได้ทรงนิพนธ์ไว้ พิมพ์แล้วทั้ง ๓ เรื่อง พิเคราะห์เนื้อเรื่องที่ยุติต้องกัน ได้ความดังนี้

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสังเกตเห็นอาการที่ทรงพระประชวร มีแต่ทรงอยูกับทรุดลงเป็นอันดับมา จนพระสิริรูปซูบผอมทุพพลภาพ ทรงรำคาญด้วยทุกขเวทนาที่มีในอาการพระโรค วันหนึ่งจึงทรงอธิษฐานเสี่ยงทายพระสุธารสว่า ถ้าหากพระโรคที่ประชวรจะหายไซร้ ขอให้เสวยพระสุธารสนั้นให้ได้โดยสะดวก พอเสวยพระสุธารสเข้าไปก็มีอาการทรงพระอาเจียน พระสุธารสไหลกลับออกมาหมด แต่นั้นกรมพระราชวังบวรฯก็ปลงพระราชหฤทัยว่าคงจะสวรรคต มิได้เอาพระทัยใส่ที่จะเสวยพระโอสถรักษาพระองค์ และทรงสั่งเสียพระราชโอรสธิดา ข้าราชการในวังหน้า ตามพระอัธยาศัยให้ทราบทั่วกันว่า พระองค์คงจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้าแล้ว

อยู่มาในกาลวันหนึ่ง ทรงระลึกถึงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งไฟไหม้เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๔๔ ทรงสถาปนาใหม่การยังค้างอยู่ จึงดำรัสสั่งให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลื่ยง เสด็จออกมายังวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ว่าจะทรงนมัสการพระพุทธรูป ครั้นเสด็จถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาครู่หนึ่ง ขณะนั้นพออาการพระโรคเกิดทุกขเวทนาเสียดแทงขึ้นเป็นสาหัส ก็ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายเป็นพุทธบูชา พระองค์เจ้าลำดวนลูกเธอองค์ใหญ่ที่ตามเสด็จไปด้วยเข้าแย่งพระแสงเสียไปจากพระหัตถ์ กรมพระราชวังบวรฯทรงโทมนัสทอดพระองค์ลง ทรงกันแสงแช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวนต่างๆ ในที่สุดเจ้านายและข้าราชการที่ไปตามเสด็จ ต้องช่วยกันปล้ำปลุกเชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงกลับคืนเข้าพระราชวังบวรฯ

ต่อนั่นมาในไม่ช้าอีกวันหนึ่ง กรมพระราชวังบวรฯมีรับสั่งว่า พระราชมณเฑียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของปราณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงโปรดฯให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จไปรอบพระราชมณเฑียร กระแสรับสั่งของกรมพระราชวังบวรฯเมื่อเสด็จประพาสพระราชมณเฑียรครั้งนี้เล่ากันมาเป็นหลายอย่าง บางคนเล่าว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงบ่นว่า "ของนี้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อนี้ไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น" เล่ากันแต่สังเขปเท่านี้ก็มี เล่ากันอีกอย่างหนึ่งยิ่งไปกว่านี้ว่า กรมพระราชวังบวรฯรับสั่งบ่นว่า "ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง ก็สร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอให้ผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข" ตามพระหฤทัยที่โทมนัส เล่ากันอย่างหลังนี้โดยมาก(๕)

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กรมพระราชวังบวรฯประชวรครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวร เมื่อแรกเสด็จกลับลงมาจากเมืองเถินครั้ง ๑ ต่อมาเมื่อทรงทราบว่าพระอาการมาก จะเสด็จขึ้นไปรักษาพยาบาล ครั้งหลังนี้พวกข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปตั้งกองรักษาพระองค์ พวกวังหน้ามากีดกันห้ามปราม ไม่ยอมให้พวกวังหลวงเข้าไปตั้งกองล้อมวงลงได้ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกต้องเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จขึ้นไปเป็นประธานจัดตั้งกองล้อมวง เจ้าพระยารัตนาพิพิธกับเจ้าพระยายมราช เดินตามเสด็จไปสองข้างพระเสลี่ยง พวกวังหน้ายำเกรงพระบารมีจึงยอมให้ตั้งกองล้อมวง

เรื่องตั้งกองล้อมวงที่ปรากฏตรงนี้ บางทีท่านผู้อ่านจะมีความสงสัยว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรกรมพระราชวังบวรฯถึง ๒ ครั้ง ครั้งก่อนก็เป็นการเรียบร้อย เหตุใดจึงมาเกิดการเกี่ยงแย่งเรื่องล้อมวงขึ้นต่อครั้งหลัง ข้อนี้อธิบายว่าที่จริงการที่วังหลวงเสด็จขึ้นไปวังหน้านั้น โดยปกติย่อมมีเนืองๆ เหมือนดังเช่นเสด็จในงานพระราชพิธีโสกันต์ลูกเธอวังหน้าเป็นต้น แต่การเสด็จโดยปกติจัดเหมือนอย่างเสด็จวังเจ้านายต่างกรม ไม่มีจุกช่องล้อมวงเป็นการพิเศษอย่างใด แต่ครั้งหลังนั้น เพราะจะเสด็จขึ้นไปรักษาพยาบาลกรมพระราชวังบวรฯซึ่งประชวรหนักจวนสวรรคต จะประทับอยู่เร็วหรือช้าหรือจนถึงแรมค้างคืนวันก็เป็นได้ เป็นการผิดปกติ จึงต้องจัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระองค์ให้มั่นคงกวดขัน ฝ่ายข้างพวกวังหน้าถือว่าพวกวังหลวงเข้าไปทำละลาบละล้วงในรั้ววังลบหลู่เจ้านายของตน จึงพากันขัดแข็งเกะกะ เพราะพวกข้าราชการวังหลวงกับวังหน้ามีทิฐิถือเป็นต่างพวกต่างฝ่ายกันอยู่แล้ว

และในครั้งนั้นยังมีเหตุอื่นอีก ซึ่งทำให้พวกวังหน้ากระด้างกระเดื่อง เนื่องมาแต่ครั้งรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๔๐ คราวนั้นโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จเป็นจอมพล เจ้านายไปตามเสด็จมีกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และกรมขุนสุนทรภูเบนทร์(๖) กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ๒ พระองค์นี้เป็นลูกเธอชั้นผู้ใหญ่ของกรมพระราชวังบวรฯ พึ่งจะออกทำสงครามในครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน ทรงจัดกองทัพที่จะยกไปรบพม่าที่มาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่เป็น ๔ ทัพ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงหริรักษ์ กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกไปทัพ ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบนทร์กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตคุมกองทัพวังหน้ายกไปทัพ ๑ ให้เจ้าอนุอุปราชซึ่งยกกองทัพเมืองเวียงจันทน์มาช่วยยกไปทัพ ๑ แล้วให้กรมพระราชวังหลังยกไปเป็นทัพหนุนอีกทัพ ๑ การสงครามครั้งนั้นต่างทัพต่างทำการรบพุ่งประชันกัน มีชัยชนะตีกองทัพพม่ายับเยิน จนจับได้อุบากองนายทัพพม่าคน ๑

ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีก จึงโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จเป็นจอมพล และจัดกองทัพให้เหมือนครั้งก่อน เว้นแต่กรมพระราชวังหลังไม่ได้เสด็จขึ้นไปในชั้นแรก กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน ไปประชวรในคราวที่จะสวรรคตนี้ กองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ก็ยกมาไม่ทันกำหนด กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงจัดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทางเมืองลี้ทัพ ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบนทร์กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตและพระเสน่หาภูธร ชื่อทองอิน ภายหลังได้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา เป็นคนซึ่งกรมพระราชวังบวรฯทรงพระเมตตาเหมือนอย่างพระราชบุตรบุญธรรม คุมกองทัพวังหน้าขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทางเมืองนครลำปางอีกทัพ ๑

ข้างฝ่ายกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบข่าวกรมพระราชวังบวรฯประชวร โปรดฯให้กรมพระราชวังหลังเสด็จตามขึ้นไป กรมพระราชวังบวรฯจึงให้กรมพระราชวังหลังคุมกองทัพหนุนขึ้นไปอีกทัพหนึ่ง กองทัพที่ยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ทัพหลวงที่ไปทางเมืองลี้ไปเข้าใจผิดถอยลงมาเสียคราวหนึ่ง จนทัพวังหน้าตีได้เมืองลำพูนจึงยกตามขึ้นไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ ครั้นกรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้กองทัพยกเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกัน กองทัพวังหน้าก็ตีได้ค่ายพม่าก่อน ต่อพวกวังหน้าชนะแล้วทัพวังหลวงจึงตีค่ายได้

กรมพระราชวังบวรฯทรงขัดเคืองกองทัพวังหลวง ดำรัสบริภาษติเตียนต่างๆแล้วปรับโทษให้ขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนแก้ตัว ด้วยกันกับกองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ซึ่งยกมาไม่ทันรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ การสงครามคราวนี้จึงเป็นเหตุให้พวกวังหน้าที่เป็นตัวสำคัญ คือพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต และพระยากลาโหมทองอิน ซึ่งเป็นพวกรุ่นหนุ่มไปมีชื่อเสียงมาในคราวนี้ เกิดดูหมิ่นพวกวังหลวงว่าในการรบพุ่งทำศึกสงครามสู้พวกวังหน้าไม่ได้ ข้างพวกวังหลวงเมื่อเห็นพวกวังหน้าดูหมิ่นก็ต้องขัดเคือง จึงเลยเป็นเหตุให้ไม่ปรองดองกันในเวลาเมื่อจะตั้งกองล้อมวงเตรียมรับเสด็จ

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปถึงพระราชวังบวรฯ ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมาก ก็ทรงพระอาลัยและทรงพระกันแสงรำพรรณต่างๆ พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรเฝ้าอยู่ในที่นั้น ได้ทรงพรรณนาไว้ในกลอนเรื่องนิพพานวังหน้าเป็นน่าจับใจ จึงคัดมาลงไว้ต่อไปนี้

"พระปิตุลาปรีชาเฉลียวแหลม
ขยายแย้มสั่งให้ห้อยมณฑาหอม
พระโองการร่ำว่านิจาจอม
ถนอมขวัญตรัสโอ้พระอนุชา

ว่าพ่อผู้กู้ภพทั้งเมืองพึ่ง
จงข้ามถึงพ้นโอฆสงสาร์
ดำรงจิตคิดทางพระอนัตตา
อนาคตนำสัตว์เสวยรมย์

ครั้งทรงสดับโอวาทประสาทสอน
ค่อยเผยผ่อนเคลื่อนคล้อยอารมณ์สม
แต่หนักหน่วงห่วงหลังยังเกรงกรม
ประนมหัตถ์ร่ำว่าฝ่าละออง

บุญน้อยมิได้รองยุคลคืน
ยิ่งทรงสะอื้นโศกสั่งกันทั้งสอง
จึงทูลฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง
ประสิทธิ์ปองมอบไว้ใต้ธุลี

ฝากหน่อขัตติยานุชาด้วย
จงเชิญช่วยโอบอ้อมถนอมศรี
แต่พื้นพงษ์จะพึ่งพระบารมี
จงปรานีนัดดาอย่าราคิน

เหมือนเห็นแก่นุชหมายถวายมอบ
จะนึกตอบแต่บุญการุญถวิล
ก็จะงามฝ่ายุคลไม่มลทิน
ก็เชิญผินนึกน้องเมื่อยามยัง

อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง
โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
อย่าบำราศให้นิราแรมวัง
ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ

จึงตรัสปลอบพระบัณฑูรอาดูรด้วย
ว่าจะช่วยเอาธุระแสนสงสาร
เป็นห่วงไปไยพ่อให้ทรมาน
จะอุ้มหลานจูงลูกไม่ลืมคำ

อันเยาวยอดสืบสายโลหิตพ่อ
พี่ตั้งต่อสุจริตอุปถัมภ์
ครั้นทรงสดับแน่นึกสำเนาคำ
ก็คลายร่ำทุกข์ถ้อยบรรเทาทน"


เนื้อความตามที่ปรากฏในกลอนของพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร ก็ตรงกับคำที่เล่ากันมา ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวร กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลฝากพระโอรสธิดา แล้วกราบทูลขอให้ได้อยู่อาศัยในวังหน้าต่อไป บางทีความข้อหลังนี้เองจะเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัตเข้าพระทัยไปว่า พระราชบิดาได้ทูลขอให้ลูกเธอได้ครองวังหน้า อย่างรับมรดกกันในสกุลคนสามัญ ไม่รู้สึกว่าเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯเสด็จสวรรคตแล้ว ไม่ได้เข้าไปครองวังหน้าดังปรารถนา จึงโกรธแค้นคบคิดกันช่องสุมหากำลังจะก่อการกำเริบ

ในชั้นแรกมีความปรากฏทราบถึงพระกรรณแต่ว่า พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต เกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาอยู่คง ไปลองวิชากันที่ในวังในเวลากลางคืนเนืองๆ บางทีลองวิชาพลาดพลั้งถึงผู้คนล้มตายก็เอาศพซ่อนฝังไว้ในวังนั้น เพื่อจะปิดความมิให้ผู้อื่นได้รู้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงแคลงพระทัยอยู่ ให้แต่งข้าหลวงปลอมไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์เจ้าทั้งสองนั้น ก้ได้ความสมจริงดังำที่กล่าว จึงโปรดฯให้จับมาชำระ ได้ความว่าคบคิดกับพระยากลาโหมทองอินด้วย ครั้นจับพระยากลาโหมกับพรรคพวกที่เข้ากันมาชำระ จึงให้การรับเป็นสัตย์ว่าคบคิดกันจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันเสด็จพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ

และทำนองถ้อยคำซึ่งกรมพระราชวังบวรฯได้ตรัสว่าประการใดเมื่อเวลาทรงพระประชวร ก็เห็นจะปรากฏขึ้นในเวลาชำระกันนี้ จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงน้อยพระทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราช ว่าเพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ แต่แรกดำรัสว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ

แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดฯให้ทำพระเมรุใหญ่ตามเยี่ยงอย่างพระเมรุพระมหาอุปราชครั้งกรุงเก่า แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุเป็นพุทธบูชาเสียก่อน ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวรฯ ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯแล้ว จึงโปรดฯให้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ อันเป็นพระวิมานกลางในหมู่มหามณเฑียรในพระราชวังบวรฯ จึงเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิแต่นั้นมา ส่วนการพระเมรุแต่นั้นก็เลยเป็นประเพณี เวลามีงานพระเมรุท้องสนามหลวงจึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชก่อนงานพระศพ สืบมาจนรัชกาลหลังๆ



....................................................................................................................................................



(๑) พบนามพระพิมานที่กล่าวนี้ในหนังสือ "นิพพานวังหน้า"

(๒) ในหนังสือพระราชพงศาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นประทับแรมอยู่ ๖ ราตรี ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะเอาคราวรัชกาลที่ ๒ มาลงผิด ด้วยในหนังสือยนิพพานวังหน้าไม่ปรากฏว่าเสด็จขึ้นไปประทับแรม

(๓) ไขว้กันไปควรจะเป็น "เชิญลงพระโกศประกอบด้วยพระลองไม้สิบสองหุ้มทองคำ"
ดูที่ ตำนานพระโกศ

(๔) เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้มีประกาศห้ามมิให้ผู้สังกัดวังหน้าโกนหัวไว้ทุกข์ เนืองในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าคติการไว้ทุกข์ด้วยโกนหัวนั้นมีคติเดิมว่าข้าบริวารของผู้ตายเท่านั้นที่โกนหัว หากโกนหัวทั้งแผ่นดินหมายถึงว่าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต

(๕) ความตรงนี้มีในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๖) พระองค์นี้มีประวัติแปลกพิสดารออกไป กล่าวว่าเดิมเป็นสามัญชนชื่อ หม่อมเรือง ได้สาบานเป็นพี่น้องกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเมื่อครั้งยังทำสงครามกูชาติกับพม่าข้าศึก ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรีแล้ว จึงโปรดฯให้สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าราชนิกูล ชื่อเจ้าบำเรอภูธร ภายหลังโปรดฯให้มีอิสริยยศเป็นต่างกรม นาม กรมขุนสุนทรภูเบนทร์


..........................................................................................................................................................


ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท


Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:12:12 น. 3 comments
Counter : 9392 Pageviews.  
 
 
 
 
..แวะมาอ่านค่ะ....
อ่านจบ ก็สลักนามฝากไว้หน่อย
 
 

โดย: naragorn วันที่: 22 สิงหาคม 2550 เวลา:15:10:39 น.  

 
 
 
ชอบมากค่ะ สาระที่หามาให้อ่าน ฃอบคุณนะค่ะ
 
 

โดย: มน (mon_m&m ) วันที่: 28 สิงหาคม 2551 เวลา:10:40:40 น.  

 
 
 
มีความสุขที่คุณมนชอบครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 31 ตุลาคม 2551 เวลา:20:30:09 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com