กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
เพชรพระมหามงกุฎ
แผ่นดินทอง
รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ ยินดีต้อนรับ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชสกุล
เที่ยวเมืองพระร่วง
ตำนานวังหน้า
ความ-ทรงจำ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
อธิบายเรื่องธงไทย
ตำนานภาษีอากร
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ
สารคดีที่น่ารู้ - ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
พระจอมเกล้าพระจอมปราชญ์
เทศาภิบาล
สิมอีสาน
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๖ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๔ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๒ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๑ ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์
ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๑ ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์
คำนำประจำประชุมพงศาวดารภาค ๑๓
หนังสือที่รวบรวมพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓ นี้มีตำนานวังหน้าเรื่อง ๑ เทศนาบวรราชประวัติเรื่อง ๑ พระนามเจ้านายในพระราชวังบวรฯเรื่อง ๑ รวม ๓ เรื่องด้วยกัน เป็นเรื่องข้างฝ่ายวังหน้าทั้งนั้น ที่รวบรวมพิมพ์ไว้ในภาคเดียวกันเพื่อจะให้เรื่องอยู่ในหมวดหมู่สะดวกแก่ผู้อ่าน และหนังสือทั้ง ๓ เรื่องนั้น มีอธิบายเฉพาะเรื่องดังจะกล่าวต่อไปนี้
เรื่องตำนานวังหน้าข้าพเจ้าแต่งใหม่ ประสงค์จะอธิบายเรื่องประวัติและแผนที่วังหน้า เวลาเป็นพระราชวังของพระมหาอุปราชว่าเป็นอย่างไร เหตุที่จะแต่หนังสือเรื่องนี้ เพราะได้ยินผู้ศึกษาโบราณคดีปรารถกันถึงวัตถุสถานของโบราณ ซึ่งคนภายหลังรู้ไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร เช่นวังหลังเป็นต้น เพราะไม่มีผู้ใดได้จดเรื่องราวเล่าแถลงไว้ และปรารภต่อไปถึงวังหน้า ว่าแม้ตัวผู้ที่เคยเห็นเมื่อบริบูรณ์ยังมีอยู่มากในบัดนี้ ถ้าไม่มีใครแต่งเรื่องตำนานไว้ ยิ่งนานไปก็ยิ่งรู้ยากเข้าทุกทีว่าของเดิมเป็นอย่างไร ความข้อนี้เตือนใจข้าพเจ้าเวลาผ่านวังหน้ามาหอพระสมุดฯเนืองๆ ครั้นเมื่อหาหนังสือสำหรับพิมพ์แจกในงานศพหม่อมเทวาธิราช(ม.ร.วแดง อิศรเสนา ณ อยุธยา) อยากจะให้เป็นเรื่องเนื่องด้วยสกุลอิศรเสนา ข้าพเจ้าจึงได้แต่งเรื่องตำนานวังหน้าตามที่ปรารภไว้ ให้พิมพ์เป็นครั้งแรก
เรื่องเทศนาบวรราชประวัตินั้น เป็นเทศนาถวายในรัชกาลที่ ๕ ในงานสมโภชพระนคร อมรรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างมาได้ถึง ๑๐๐ ปี เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ ในงานพระราชกุศลส่วนบุพเปตะพลีครั้งนั้น โปรดฯให้ขอแรงข้าราชการผู้ใหญ่ทำกระจาดใหญ่ ตั้งที่ท้องสนามชัยบูชากัณฑ์เทศน์ ถวายที่ในพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เก่า ๔ กระจาด
ในข้างขึ้นเดือน ๘ ปีมะเมียนั้น โปรดฯให้ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลเข้ากันทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์กระจาด ๑ ตั้งที่หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรฯ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบุพเปตะพลี ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง สมเด็จพระวันรัต(ทับ) วัดโสมนัสวิหารถวายเทศนา พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรที่ล่วงมาแล้วทั้ง ๓ พระองค์ เนื่องด้วยกตัญญูกตเวทีกถากัณฑ์ ๑ เทศนากัณฑ์หลังที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ เพราะเทศนาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ รัชกาลที่กล่าวมาได้พิมพ์แล้วทั้ง ๔ กัณฑ์ แต่เทศนากัณฑ์บวรราชประวัติยังหาได้พิมพ์ไม่ แม้แต่ต้นฉบับเขียนหอพระสมุดฯก็พึ่งไปได้มาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดโสมนัสในไม่ช้านัก จึงเห็นสมควรจะพิมพ์รักษาไว้อย่าให้สูญไปเสีย
พระนามเจ้านายในพระราชวังบวรฯนั้น คือบัญชีพระโอรสธิดาพระมหาอุปราชทั้ง ๕ รัชกาล เป็นหนังสือหาฉบับยาก ไม่เคยพิมพ์มาแต่ก่อน ได้รวบรวมฉบับที่มีในหอพระสมุดฯมาสอบกัน แล้วคัดเรียบเรียงตามที่เข้าใจว่าถูกต้อง พิมพ์ให้ปรากฏเป็นครั้งแรก
(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
สภานายกหอสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๓๐เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒
พระราชวังจันทรเกษม
..........................................................................................................................................................
ตำนานวังหน้า
วังหน้า คือพระราชวังบวรอันเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชแต่ก่อนมา เรียกในราชการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" แต่คนทั้งหลายเรียกกันว่าวังหน้ามาแต่ครั้งกรุงเก่า ถ้าจะค้นหาว่าเหตุใดจึงเรียกว่าวังหน้า ดูเหมือนจะอธิบายได้ไม่ยาก เพราะตามศัพท์ความหมายก็หมายว่า วังที่อยู่ข้างหน้า คือหน้าของพระราชวังหลวง ตามแผนที่กรุงเก่า วังจันทร์เกษมซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชก็อยู่ทิศตะวันออก ด้านหน้าของพระราชวังหลวง อยู่ในที่ซึ่งสมควรเรียกได้ว่าวังหน้าด้วยประการทั้งปวง แต่มีข้อประหลาดอยู่ที่ที่ประทับของพระมหาอุปราช ไม่ได้เรียกว่าวังหน้าแต่ในเมืองเรา พม่าเรียกพระมหาอุปราชของเขาว่า "อินแซะมิน" ภาษพม่าอินแปลว่า วัง แซะแปลว่า หน้า มินแปลว่า ผู้เป็นเจ้า รวมความว่าผู้เป็นเจ้าของวังหน้า ก็ตรงกับวังหน้าของเรา ยังเหล่าเมืองประเทศราชข้างฝ่ายเหนือ เช่นเมืองเชียงใหม่เป็นต้น เจ้าอุปราช เขาก็เรียกกันในพื้นเมืองว่า "เจ้าหอหน้า" มาแต่โบราณ เหตุใดจึงเรียกพ้องกันดังนี้ดูประหลาดอยู่ จะว่าเพราะวังอุปราชเผอิญอยูข้างหน้าวังหลวงเหมือนกันนั้นก็ใช่เหตุ เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามหลักฐานในทางโบราณคดี เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นแต่ลักษณะพยุหโยธาแต่ดึกดำบรรพ์ ที่จัดเป็นทัพหน้าและทัพหลวง พระมหากษัตริย์ย่อมเสด็จเป็นทัพหลวง ผู้ที่รองพระมหากษัตริย์ถัดลงมา คือพระมหาอุปราชย่อมเสด็จเป็นทัพหน้า ไปก่อนทัพหลวงเป็นประเพณี จึงเกิดเรียกพระมหาอุปราชว่าฝ่ายหน้า แล้วเลยเรียกที่ประทับของพระมหาอุปราชว่า วังฝ่ายหน้า และย่อลงเป็นวังหน้าโดยสะดวกปาก
แต่คำว่า "วังหน้า" นี้ ประเทศใดคงใช้เรียกเป็นประเพณีเมืองอยู่ก่อน แล้วประเทศอื่นเอาอย่างมาใช้บ้าง จึงได้เรียกพ้องกันเป็นหลายประเทศ ข้าพเจ้าเห็นว่าที่เรียกที่ประทับของพระมหาอุปราชว่าวังหน้า เห็นจะเกิดขึ้นที่เมืองพม่าก่อน พวกเจ้าประเทศมณฑลพายัพเอาอย่างมาแต่เวลาขึ้นอยู่กับพม่าเมื่อครั้งกรุงเก่า ส่วนในเมืองไทยนี้ มีจดหมายเหตุปรากฏครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร(อยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) เรียกสมเด็จพระเอกาทศรถว่า "พระเจ้าฝ่ายหน้า" และต่อมาพบในจดหมายเหตุของพวกฮอลันดาเขียนในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถอีกฉบับ ๑ เรียกเจ้าฟ้าสุทัศน์ที่เป็นพระมหาอุปราชว่า "เจ้าฟ้าฝ่ายหน้า" คำฝ่ายหน้าที่ปรากฏนั้น เห็นว่าเนืองกับคำว่า วังหน้า นั้นเอง เพราะเหตุใดจะอธิบายต่อไป
ตำนานวังหน้าครั้งกรุงเก่า
ครั้งกรุงเก่าในชั้นแรก วังของพระมหาอุปราชจะตั้งอยู่ตรงที่ใดและจะเรียกว่าอย่างไรไม่ปรากฏ เรื่องราวอันเป็นมูลประวัติของวังหน้าพึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ด้วยเมืองในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมาตีเมืองไทยคราวขอช้างเผือก เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖ ยกเข้ามาทางด่านเมืองตากแล้วตีหัวเมืองฝ่ายเหนือก่อน พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพไปล้อมเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นราชธานีข้างฝ่ายเหนือ สมเด็จพระมหาธรรมราชรักษาเมืองต่อสู้ข้าศึกจนหมดกำลัง เพราะสิ้นเสบียงอาหารและเกิดไข้ทรพิษขึ้นที่ในเมือง จึงต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี
ครั้นพระเจ้าหงสาวดียกลงมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมเป็นไมตรี พระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะแล้ว เมื่อจะเลิกทัพกลับไป พระมหาธรรมราชาจึงต้องถวายพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คือสมเด็จพระนเรศวร เวลานั้นพระชันษาได้ ๙ ขวบ ไปเป็นตัวจำนำอยู่ในพระราชสำนักของพระเจ้าหงสาวดี ตามเยี่ยงอย่างประเทศราช สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดี ๖ ปี ครั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ ถวายพระสุพรรณเทวีราชธิดาแก่พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงยอมให้สมเด็จพระนเรศวรกลับคืนมา พระราชบิดาให้เสด็จขึ้นไปสำเร็จราชการฝ่ายเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ดำรงพระยศเป็นพระยุพราช
และในเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราชขึ้นแก่กรุงหงสาวดี มีทางไมตรีสนิทสนม เป็นเวลาที่นิยมถ่ายแบบอย่างและประเพณีหงสาวดีเข้ามาใช้ในกรุงศรีอยุธยาหลายอย่าง ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า น่าจะถ่ายคำ "อินแซะมิน" ของพม่ามาแปลเป็นภาษาไทย เรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า "พระเจ้าฝ่ายหน้า" เป็นเดิมมา เพราะจะเรียกว่า "พระเจ้าวังหน้า" ให้ตรงกับศัพท์อินแซะมินของพม่า ก็ไม่ได้เสด็จอยู่ที่วังในกรุงศรีอยุธยา ขัดอยู่ในทางภาษาจึงใช้คำว่า "ฝ่าย" แทน
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรครองเมืองพิษณุโลกอยู่นั้น เสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระชนกชนนียังกรุงศรีอยุธยาเนืองๆ ความปรากฏในหนังสือพงศาวดาร(ฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม ๑ หน้า ๑๐๒) ว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับที่วังใหม่ ที่เรียกว่าวังใหม่นี้พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์)เป็นผู้สังเกตขึ้นก่อน ว่าไม่ใช่ที่อื่น คือวังจันทร์เกษมนั้นเอง สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับในกรุงศรีอยุธยา จึงเรียกว่าวังใหม่
ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพของเมืองไทย ไม่ยอมขึ้นต่อเมืองหงสาวดีต่อไป ต้องเตรียมการต่อสู้ศึกหงสาวดีที่จะมาตีเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนผู้คนเมืองฝ่ายเหนือลงมารวบรวมกันในกรุงศรีอยุธยา ให้เป็นที่มั่นต่อสู้ข้าศึกแต่แห่งเดียว จึงเสด็จลงมาประทับอยู่ที่วังจันทร์เกษมแต่นั้นมา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะเกิดเรียกวังจันทรเกษมว่า "วังฝ่ายหน้า" หรือ "วังหน้า" มาแต่สมัยนี้ เพราะพระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรนั้นประการ ๑ เพราะวังจันทรเกษมเผอิญอยู่ตรงหน้าพระราชวังหลวงด้วยอีกประการ ๑
แต่ความเข้าใจของคนทั้งหลายมายึดเอาความข้อหลัง นี้เป็นเหตุที่เรียกว่าวังหน้า จึงเรียกวังหลังขึ้นอีกวังหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏว่ามีในประเทศอื่น เพราะวังหลังในกรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นที่สวนหลวงเดิม ตรงบริเวณโรงทหารทุกวันนี้ ด้วยอยู่ด้านหลังพระราชวังหลวง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เห็นจะสร้างเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเหมือนกัน สร้างขึ้นให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถในเวลาทำสงครามต่อสู้พม่า วังหลวงรักษาพระนครด้านเหนือ วันหน้ารักษาพระนครด้านตะวันออก วังหลังรักษาพระนครด้านตะวันตก รักษาลงมาบรรจบกับวังหน้าข้างด้านใต้ เพราะข้างด้านใต้เป็นที่น้ำลึกข้าศึกเข้ามายาก ใช้เรือกำปั่นรบป้องกันได้ถนัด จึงเกิดมีพระราชวังหลวงวังหน้า และวังหลังแต่นั้นมา
ครั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรเสด็จผ่านพิภพแล้ว ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า เสด็จประทับอยู่วังหน้าอีก ๕ ปี จึงไปเฉลิมพระราชมณเฑียรที่พระราชวังหลวง เหตุที่เรียกวังหน้าในกรุงเก่าว่า "วังจันทรเกษม" จะเกิดขึ้นเมื่อใดข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่เห็นมีเค้าเงื่อนอยู่ที่พระราชวังที่เมืองพิษณุโลกนั้น เรียกว่าวังจันทร์ แม้คนทุกวันเดี๋ยวนี้ในเมืองนั้นก็ยังเรียกอยู่ บางที่จะเอานามวังจันทร์เดิมมาเรียกวังหน้าในกรุงเก่า ในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรประทับเมื่อผ่านพิภพแล้วก็เป็นได้ เพราะจะเรียกว่า "พระราชวังหลวง" พระราชวังหลวงของเดิมก็ยังอยู่ จะเรียกว่า "วังหน้า" ก็มิใช่เป็นที่มหาอุปราชประทับ และบางที่จะเนื่องด้วยเหตุอันเดียวกัน จึงเรียกสมเด็จพระเอกาทศรถว่า "พระเจ้าฝ่ายหน้า" เพราะเสด็จอยู่วังหลังในเวลานั้น ความสันนิษฐานตามที่ปรากในพระราชพงศาวดารดังแสดงมานี้ เป็นอัตโนมัติของข้าพเจ้า บางทีอาจจะผิดได้ เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งถือเอาเป็นหลักฐานไปทีเดียว
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปอยู่พระราชวังหลวงแล้ว เข้าใจว่าสมเด็จพระเอกาทศรถเห็นจะเสด็จไปประทับอยู่ที่วังจันทรเกษม เพราะเป็นที่สำคัญในการรักษาพระนคร และสมเด็จพระนเรศวรนั้นหามีพระราชโอรสไม่ ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมีเจ้าฟ้าพระราชโอรส ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าสุทัศน์พระองค์ใหญ่ได้เป็นพระมหาอุปราชคงเสด็จอยู่วังจันทรเกษม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์พระองค์น้อยเห็นจะประทับอยู่วังหลัง
ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ในจดหมายเหตุของฮอลันดาว่า)มีน้องยาเธอพระองค์ ๑ แต่ไม่ได้เป็นพระมหาอุปราช จะประทับอยู่ที่ไหนไม่มีเค้าเงื่อนที่จะรู้ได้ ส่วนพระเจ้าลูกเธอ เวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตล้วนยังทรงพระเยาว์ เข้าใจว่าประทับอยู่ในพระราชวังหลวงทั้งนั้น แผ่นดินสมเด็พระเจ้าทรงธรรมวังหน้าจึงว่างตลอดรัชกาล
ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์ ๑ ทรงตั้งให้เป็นพระศรีสุธรรมราชา ปรากฏว่าพระราชทานบ้านหลวงที่ตำบลข้างวัดสุทธาวาสให้เป็นวัง ส่วนพระเจ้าลูกเธอก็ล้วนยังทรงพระเยาว์เสด็จอยู่ในพระราชวังหลวงทั้งนั้น วังหน้าจึงว่างมาอีกรัชกาลหนึ่ง เพราะไม่ได้ทรงตั้งพระมหาอุปราช จนเมื่อสวรรคตจึงมอบเวราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้าฟ้าไชย(เชษฐา) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่
เจ้าฟ้าไชยครองราชสมบัติอยู่ได้ ๙ เดือน สมเด็จพระนารายณ์ราชอนุชาก็ลอบหนีออกจากพระราชวังหลวง ไปคบคิดกับพระศรีสุธรรมราชาพระเจ้าอา ชิงราชสมบัติได้จากเจ้าฟ้าไชย พระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงตั้งสมเด็จพระนารายณ์ราชภาคิไนยเป็นพระมหาอุปราช เสด็จไปประทับอยู่วังหน้าตามตำแหน่ง ต่อมาไม่ช้าก็เกิดรบพุ่งกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ได้ราชสมบัติแล้ว เสด็จประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี บางทีจะเรียกว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" ขึ้นในตอนนี้ โดยเหตุสมเด็จพระนารายณ์มีชัยได้ราชสมบัติ เพราะอาศัยวังหน้าเป็นที่มั่นก็เป็นได้ ต่อมาเมื่อโปรดให้รื้อพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทในพระราชวังหลวงลงทำใหม่ เปลี่ยนนามเป็นพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทรแล้ว
(๑)
จึงเสด็จไปเฉลิมพระราชมนเฑียรในพระราชวังหลวง พระราชทานวังหลังให้พระไตรภูวนาทิตวงศ์น้องยาเธอประทับอยู่ เมื่อสำเร็จโทษพระไตรภูวนาทิตยวงศ์แล้ว พระราชทานให้เจ้าฟ้าอาภัยทตน้องยาเธออีกพระองค์ ๑ เสด็จอยู่
(๒)
แต่วังหน้านนั้น ตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับในพระราชวังหลวงแล้วก็ว่างมา ด้วยไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดเป็นพระมหาอุปราชจนตลอดรัชกาล
ความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า มีแบบแผนในราชประเพณีตั้งขึ้นใหม่ เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์อย่าง ๑ ซึ่งเรียกต่อมาว่า "ตั้งกรมเจ้านาย" แต่เดิมมาขัตติยยศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายเป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ เช่นเป็นสมเด็จพระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา พระอาทิตยวงศ์ ส่วนพระองค์หญิงก็มีพระนามปรากฏเป็น พระสุริโยทัย พระวิสุทธิกษัตริย์ เป็นต้น ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าน้องยาเธอ จึงไม่ได้ทรงสถาปนาขัตติยยศพระองค์หนึ่งพระองค์ใด พระราชโอรสก็ไม่มี (มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวว่าเมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชกาลในพระมเหสีคงอยู่แก่เจ้าฟ้าราชธิดา) จึงโปรดฯให้รวบรวมข้าราชการจัดตั้งขึ้นเป็นกรมๆหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดีราชธิดา แลให้จัดตั้งอีกกรมหนึ่งเจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ อย่างเดียวกัน เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น จึงปรากฏพระนามตามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เป็นปฐมเหตุที่จะมีเจ้านายต่างกรมสืบมาจนทุกวันนี้
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต ราชสมบัติได้แก่พระเพทราชา ทรงตั้งหลวงสรศักดิ์ราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช ให้เสด็จอยู่วังหน้าตามตำแหน่ง และตั้งนายจบคชประสิทะ ผู้มีความชอบช่วยให้ได้ราชสมบัติขึ้นเป็นเจ้าอีกพระองค์ ๑ พระราชทานวังหลังให้เป็นที่ประทับ แล้วจึงให้บัญญัตินามเรียกสังกัดวังหน้าว่าเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" และให้เรียกสังกัดวังหลังว่า "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข" ขึ้นเป็นทีแรก ตามแบบกรมหลวงโยธาทิพและกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เข้าใจว่าที่วังหลังจะได้ชื่อว่า พระราชวังบวรสถานพิมุข มีมาแต่ครั้งนี้
แต่ที่คนเรียกพระองค์พระมหาอุปราชว่าวังหน้าก็ดี หรือกรมพระราชวังบวรฯก็ดี เป็นแต่เรียกกันตามสะดวกปาก เหมือนอย่างเรียกเจ้านายในกรุงรัตนโกสินทร์ว่า วังบูรพา และกรมอื่นๆเช่น กรมพระพิพิธ เป็นต้นในทุกวันนี้ ที่จริงในทางภาษาไม่เป็นชื่อเอกชน แต่ก่อนเจาจึงเติมคำ "พระเจ้า" หรือ "เจ้า" หรือ "เสด็จ" เข้าข้างหน้า ยังใช้ในราชการมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อไทยทำหนังสือสัญญากับอังกฤษยังเขียนในบันทึกว่า "ทำต่อหน้าพระที่นั่งเจ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์" ดังนี้
ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเพชรพระองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพรพระองค์น้อยทรงตั้งเป็นพระบัณฑูรน้อย จะเป็นด้วยทรงรังเกียจตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง ด้วยเมื่อตั้งนายจบคชประสิทธิ เป็นอยู่ได้ไม่ยืดยาวต้องสำเร็จโทษ หรือจะยกย่องพระยศให้สูงขึ้นเสมอกับพระมหาอุปราชอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ แต่พระบัณฑูรน้อยจะเสด็จประทับวังไหน และข้าราชการในสังกัดกรมพระบัณฑูรน้อยจะมีทำเนียบและนามขนานอย่างไรทราบไม่ได้
สมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคต พระมหาอุปราช คือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระได้ครองราชสมบัติ (มีจดหมายเหตุฝรั่งว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือจะสวรรคตนั้น เป็นเวลาทรงขัดเคืองพระมหาอุปราช จึงทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทานพระบัณฑูรน้อย ครั้นสมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคตแล้ว พระบัณฑูรน้อยถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาพระมหาอุปราช) จึงทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับที่วังหน้าต่อมาตามตำแหน่ง
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีพระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนาม เจ้าฟ้านเรนทร เป็นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ รองลงมาถึง เจ้าฟ้าอภัย แล้วเจ้าฟ้าปรเมศวร์ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจะใคร่ให้ราชสมบัติได้แก่พระราชโอรส แต่เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ไม่เต็มพระทัยที่จะเป็นผู้รับราชสมบัติ ด้วยเห็นว่าพระมหาอุปราชมีอยู่ (ฝรั่งว่า เพราะเห็นว่าราชสมบัติเป็นของพระเจ้าอาถวาย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วควรคืนเป็นของพระเจ้าอา) ครั้นออกทรงผนวชก็เลยไม่สึก เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระจะสวรรคต จึงมอบราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสที่ ๒ พระมหาอุปราชไม่ยอมเกิดรบพุ่งกันขึ้นเป็นศึกกลางเมือง พระมหาอุปราชมีชัยชนะจึงได้ราชสมบัติ
เมื่อพระมหาอุปราช คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จผ่านพิภพนั้น ทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกที่วังหน้า แล้วเสด็จประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีก ๑๔ ปี มิได้เสด็จไปประทับอยู่พระราชวังหลวง ถ้าเวลามีพระราชพิธีก็เสด็จไปเฉพาะงาน สิ้นงานแล้วก็เสด็จกลับไปวังจันทรเกษม (ความที่กล่าวข้อนี้ จะเห็นได้ในจดหมายเหตุงานพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์แล้วนั้น) และตำแหน่งพระมหาอุปราชก็ไม่ได้ทรงตั้ง ปล่อยให้ว่างอยู่ถึง ๑๐ ปี ชะรอยจะขัดข้องในพระราชหฤทัยที่จะเลือกในระหว่างเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ กับพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ซึ่งมีความชอบไม่แย่งชิงราชสมบัติเมื่อเวลามีโอกาสนั้น จึงเป็นแต่โปรดฯให้ตั้งกรมเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์พระราชโอรสพระองค์ให้ เป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์
มาจนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๒๘๔ (เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เห็นจะสิ้นพระชนม์) จึงได้พระราชทานอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เสด็จอยู่ในพระราชวังหลวง เพราะสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จประทับอยู่ที่วังหน้า ครั้นปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ เกิดเพลิงในวังหน้า พระราชมณเฑียรไฟไหม้เสียเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจึงเสด็จมาอยู่พระราชวังหลวง ประทับที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ เอาพระที่นั่งทรงปืนข้างท้ายเป็นที่เสด็จออก ครั้นปลูกสร้างพระราชมณเฑียรใหม่ในวังหน้าแล้ว จึงโปรดฯให้พระมหาอุปราชไปอยู่วังหน้า ตามตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๔ ปี มีความผิดต้องรับพระราชอาญา เลยทิวงคตในระหว่างโทษ วังจันทรเกษมก็ว่างแต่นั้นมาจนตลอดสมัยครั้งกรุงเก่า
สมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีพระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้าอีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นกรมขุนพรพิพิตพระองค์ ๑ ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๐๐ จะทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตพระราชโอรสพระองค์น้อยเป็นพระมหาอุปราช เจ้เฟ้ากรมขุนพรพินิตพระราชโอรสกราบทูลขอพระองค์ว่าพระเชษฐายังมีอยู่ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศรับสั่งว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา จะปกครองรักษาแผ่นดินไม่ได้ อยู่ก็กีดขวางให้ไปทรงผนวชเสีย เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตก็ต้องออกทรงผนวช จึงพระราชทานอุปราชภิเษกแก่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตให้เป็นพระมหาอุปราช แล้วให้เสด็จประทับอยู่ในพระราชวังหลวง มิได้เสด็จไปอยู่วังหน้า เจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราชอยู่ปีเดียว สมเด็จพระเจ้าบรมโกศก็สวรรคต
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขึ้นผ่านพิภพนั้น ผลแห่งความเป็นอริกันในราชวงศ์ อันมีมูลมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ ก็มาปรากฏเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้น ด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีพระเจ้าลูกเธอเกิดด้วยพระสนมที่พระชันษาเป็นผู้ใหญ่อยู่ ๔ พระองค์ เป็นกรมหมื่นเทพพิพิธพระองค์ ๑ กรมหมื่นจิตรสุนทรพระองค์ ๑ กรมหมื่นสุนทรเทพพระองค์ ๑ กรมหมื่นเสพภักดีพระองค์ ๑
กรมหมื่นเทพพิพิธชอบพอกับพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ แต่อีกสามกรมนั้นเป็นอริ จึงหาเหตุร้ายฟ้องร้องกรมพระราชวังบวรฯจนต้องรับพระราชอาญา และเลยทิวงคตเป็นที่สุด เจ้าฟ้าพระราชอนุชาของกรมพระราชวังบวรทั้ง ๒ พระองค์ก็เป็นอริกับเจ้าสามกรมนั้นต่อมา แต่เจ้าฟ้า ๒ พระองค์ทรงพระเยาว์กว่าเจ้าสามกรมมาก ครั้นสิ้นกรมพระราชวังบวรฯ แล้วเจ้าสามกรมก็ทะนงองอาจไม่ยำเกรง ด้วยถือว่าเจ้าฟ้า ๒ พระองค์ยังเป็นเด็ก ในตอนปลายรัชกาลพระเจ้าบรมโกศจึงเกิดแตกกันเป็นสองพวก พวกเจ้าสามกรมพวก ๑ พวกเจ้าฟ้าพวก ๑ น่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราช จึงกราบทูลขอพระองค์ เพราะเกรงจะเกิดอริขึ้นในเจ้าฟ้าด้วยกันเองอีกชั้น ๑ การก็เป็นดังนั้นจริง เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศประชวรหนัก พอรู้กันว่าจะไม่คืนดีได้ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ลอบลาผนวชกลับเขามาอยู่ในพระราชวังหลวง
พอสวรรคต เจ้าสามกรมก็ตั้งท่าจะกำเริบ พระมหาอุปราชได้เปรียบด้วยเป็นผู้ที่รับราชสมบัติ จึงเข้ากันกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ช่วยกันจับเจ้าสามกรมสำเร็จโทษเสีย ครั้นเสร็จปราบเจ้าสามกรม พระมหาอุปราชได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแล้ว ก็เกิดความลำบากขึ้น ด้วยเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีที่ลาผนวชออกมา เสด็จขึ้นอยู่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทรโดยพลการ ทำท่วงทีเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หวังจะให้สมเด็จพระอนุชาฯถวายราชสมบัติ ใหเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถวายราชสมบัติเเก่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ไม่อ่อนน้อมต่อสมเด็จพระอนุชาธิราชฉันพระราชามหากษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจะทำอย่างไรก็ขัดอยู่ ด้วยเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิบดีร่วมพระราชชนนีอันเดียวกัน เกรงสมเด็จพระชนนีด้วยอีกชั้น ๑ (ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า) เผอิญพระชันษาสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรครบอุปสมบทในปีนั้น ครั้นเสวยราชย์มาได้สามเดือนเศษ ก็ทูลถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วเสด็จออกไปทรงผนวชอยู่ ณ วัดประดู่โรงธรรม เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักมนตรี ก็ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ในแผ่นดินนั้นจึงปรากฏมีพระมหากษัตริย์เป็น ๒ พระองค์ คนทั้งหลายเรียกกันว่า ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทรพระองค์ ๑ ขุนหลวงหาวัดพระองค์ ๑ แต่ไม่ได้มีพระมหาอุปราชตลอดมาจนเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐
เรื่องตำนานวังหน้ากรุงเก่า ถ้ากล่าวแต่เนื้อความโดยสังเขป วังหน้าแรกมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๑๑๕ เข้าใจว่าแรกเรียกว่าวังจันทรเกษมนั้น ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วมาเรียกว่าวังบวรสถานมงคล เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วังหน้าได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ๓ ครั้ง คือในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้ง ๑ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้ง ๑ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้ง ๑ พระมหาอุปราชที่ได้เสด็จประทับที่วังจันทรเกษมมี ๘ พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระองค์ ๑ สมเด็จพระเอกาทศรถพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุทัศน์พระองค์ ๑ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระองค์ ๑ พระเจ้าเสือ(เป็นแรกที่ปรากฏพระนามว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล)พระองค์ ๑ พระเจ้าท้ายสระพระองค์ ๑ พระเจ้าบรมโกศพระองค์ ๑ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์(เป็นที่สุด)พระองค์ ๑
พระราชมณเฑียรต่างๆในวังจันทรเกษม ซึ่งเป็นของเก่าสร้างแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตลอดมาจนสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เห็นจะเป็นอัตรายสญไปเสียเมื่อไฟไหม้ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศโดยมาก ที่สร้างใหม่ชั้นหลังสำหรับกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ เข้าใจว่าเห็นจะทำแต่เป็นสถานประมาณพอเสด็จอยู่ได้ หมดของดีของงามมาแต่ครั้งนั้นชั้นหนึ่งแล้ว ครั้นเสียกรุงเก่า วังจันทรเกษมเป็นที่ทิ้งร้างทรุดโทรมมาอีกกว่า ๘๐ ปี ทั้งรื้อเอาอิฐมาสร้างกำแพงพระนครรัตนโกสินทร์ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ และรื้อมาสร้างพระอารามเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เสียเป็นอันมาก พึ่งมาสถาปนาเป็นพระราชวังขึ้นอีกเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นแผนที่เดิมจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ทีเดียว สิ่งซึ่งสร้างในวังจันทรเกษมเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ที่ทราบว่าสร้างตามแนวรากของโบราณ มีแต่หมู่พระที่นั่งพิมานรัถยาอันเป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่าอยู่บัดนี้แห่ง ๑ พระที่นั่งพิไสยศัลลักษณ์(หอสูง)อีกแห่ง ๑ พระยาโบราณราชธานินทร์ขุดพบแนวพระราชมณเฑียรอยู่ตรงโรงเรียนข้างหลังวังจันทร์เกษมอีกแห่ง ๑ กับฐานระหัดน้ำยังอยู่ที่ริมเขื่อนตรงมุมวังหน้าข้างใต้ ก็เป็นของครั้งกรุงเก่าอีกอย่าง ๑ แต่เล่ากันมาว่าเขตวังหน้าเดิมกว้างกว่าแนวกำแพงวัดเดี๋ยวนี้มาก วัดเสนาศนาราม(แต่ก่อนเรียกว่าวัดเสือ) วัดขมิ้น(อยู่ในบริเวณเรือนจำใหม่) ๒ วัดนี้ว่าอยู่ในเขตวัง ครั้งกรุงเก่าเป็นวัดไม่มีพระสงฆ์
เรื่องตำนานวังหน้าครั้งกรุงเก่า มีเนื้อความตามที่ได้ทราบดังกล่าวมานี ต่อมาในครั้งกรุงธนบุรี ไม่มีพระมหาอุปราชในกรุงธนบุรีจึงมิได้มีวังหน้า.
....................................................................................................................................................
(๑) พระที่นั่งเบญจรัตนฯ มีชื่อในหนังสือพระราชพงศาวดาร จนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้วเงียบหายไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริว่าจะเป็นชื่อเก่าของพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทรนั่นเอง พิเคราะห์ดูฝีมือที่ก่อก็เป็นของชั้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าตั้งบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร จึงรู้ได้ว่ารื้อพระที่นั่งเบญจรัตนสร้างใหม่ในแผ่นดินนั้นเอง
(๒) ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าฟ้าอภัยทตเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระนารายณ์นั้นผิดไป สมเด็จพระนารายณ์มีแต่พระราชธิดา พระราชบุตรหามีไม่
Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:11:28 น.
2 comments
Counter : 5592 Pageviews.
Share
Tweet
เข้ามาเก็บความรู้ค่ะ
ขอบคุณนะคะ
โดย:
เช้านี้ยังมีเธอ
วันที่: 27 มีนาคม 2550 เวลา:12:23:02 น.
ขอบพระคุณเช่นกันครับ
ที่ให้เกียรติแวะมาเยือน
โดย:
กัมม์
วันที่: 27 มีนาคม 2550 เวลา:14:16:29 น.
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
กัมม์
Location :
[Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [
?
]
วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
Bigmommy
NickyNick
เพ็ญชมพู
kenzen
สาวใหม
กระจ้อน
คนรักน้ำมัน
Why England
naragorn
biebie999
วรณัย
เซียงยอด
แม่สลิ่ม
รอยคำ
สุธน หิญ
นอกราชการ
BFBMOM
มณีไตรรงค์
karmapolice
เมื่อไรจะหายเหงา
เจ้าชายเล็ก
รักดี
ลุงนายช่าง
nidyada
mr.cozy
กวินทรากร
Mutation
พลังชีวิต
หนุ่มรัตนะ
Webmaster - BlogGang
[Add กัมม์'s blog to your web]
เครือข่ายกาญจนาภิเษก
หอมรดกไทย
เวียงวัง
มอญ
กฎหมายไทย
ประตูสู่อีสาน
พจนานุกรมไทย-อังกฤษ
พจนานุกรมไทย-บาลี
คำไท - คำถิ่น
คนโคราช
หนังสือหายาก E - Book
ลิลิตตะเลงพ่าย
สามก๊ก
บ้านมหา (หมอลำออนไลน์)
หมากรุกไทย และหมากกระดาน
ราชกิจจานุเบกษา
สมุดภาพเมืองไทยในอดีต
พระราชวังพญาไท
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ฐานข้อมูลภาพถ่าย กรมศิลปากร
ปากเซ ดอท คอม
ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้
มวยไชยา
ดำรงราชานุภาพ
พิพิธภัณฑ์ธงสยาม
ห้องสมุดพันทิป
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
จิตรกรรมฝาผนังวัดบุปผาราม
พิพิธภัณฑ์ศาลไทย
จิตรธานี
Wikimapia
ราชบัณฑิตยสถาน
Bloggang.com
MY VIP Friend
ขอบคุณนะคะ