นิวรณ์ ๕

๏๏๏ นิวรณ์ ๕ ๏๏๏

๑.
๏ นิวรณ์ห้าหนึ่งนี้.................คือกาม
หลงติดยึดรูปนาม.....................จับจ้อง
อีกเสียงกลิ่นรับตาม.................สัมผัส
รวมรสครบห้าต้อง.....................ขจัดให้สิ้นสูญ

๒.
๏ นิวรณ์ห้าหนึ่งนี้.................ต่อมา
พยาบาทให้โศกา.......................ขัดข้อง
ก่อเหตุแห่งโกรธา....................ใจจด แค้นเฮย
ดับเถิดอย่าร่ำร้อง..................ท่านให้เมตตา

๓.
๏ นิวรณ์ห้าหนึ่งนี้.................เพลียใจ
ถีนมิทธะหลั่งไหล....................สุดกลั้น
เกิดขี้เกียจเดียดไฉน................งุงง่วง ตลอดนา
เริงรื่นขยับขยันนั้น................หมั่นสู้ขมีขมัน

๔.
๏ นิวรณ์ห้าหนึ่งนี้.................ย้ำนาน
อุทธัจจ(ะ)นำการณ์...................ซ่านฟุ้ง
กุกกุจจะเสริมขนาน...................ร้อนเดือด ยุ่งเอย
เกิดก่อรำคาญคุ้ง....................สกัดกั้นก่อกุศล

๕.
๏ นิวรณ์ห้าหนึ่งนี้.................พึงจำ
วิจิกิจฉานำ.........................แนบอ้าง
ช่างถามช่างตรองคำ...................ยากหลุด พ้นนา
ปฏิบัติเถิดอย่าค้าง.................ติดขึ้งสงสัย


ธีร์
๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๖



คำอธิบาย

นิวรณ์ ๕

อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดีที่เป็นกุศล คือ ฌาน ท่านเรียกว่า นิวรณ์ มี ๕ อย่างคือ

๑. กามฉันทะ
ความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอันเป็นวิสัยของกามารมณ์

๒. พยาบาท
ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ

๓. ถีนมิทธะ
ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิดใจ

๕. วิจิกิจฉา
ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิดไว้หรือไม่เพียงใด


อารมณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเพื่อนสนิทกับจิตใจมานับจำนวนปีไม่ถ้วน ควรจะพูดว่า จิตใจของเราคบกับนิวรณ์มานานหลายร้อยหลายพันชาติ เมื่อจิตใจเราสนิทสนมกับอารมณ์ของนิวรณ์มานานอย่างนี้ เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จิตใจจะต้องอดคบหาสมาคมกับนิวรณ์ไม่ได้ เมื่อเรามาแนะนำให้คบหาสมาคมกับฌาน ซึ่งเป็นเพื่อนหน้าใหม่ มีนิสัยตรงข้ามกับเพื่อนเก่า ก็เป็นการฝืนอารมณ์อยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ในฐานะที่นิวรณ์กับจิตเป็นเพื่อนสนิทกันมานาน ก็อดที่จะแอบไปคบหาสมาคมกันไม่ได้ อารมณ์ที่จะคอยหักล้างนิวรณ์ คืออกุศลห้าประการนี้ได้ ก็อารมณ์ ๕ ประการของปฐมฌานนั่นเอง


ที่มา

หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ





 

Create Date : 25 สิงหาคม 2548   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:20:05 น.   
Counter : 1362 Pageviews.  

ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕

๏ ขันธ์ห้าหมายกลุ่มก้อน..............ห้ากอง
คือหนึ่งรูปประคอง.................ร่างนี้
เวทนาร่วมเป็นสอง.................รู้สึก ทุกข์เฮย
ไม่ขาดสัญญาชี้.....................เพิ่มด้วยเป็นสาม

๏ ขันธ์ห้าต้องกอรปด้วย..............ห้าขันธ์
ถามตอบไปสามอัน...................ก่อนหน้า
สังขารสี่เร็วพลัน...................ไม่ขาด ร่วมเอย
อีกหนึ่งวิญญาณข้าฯ...................เร่งรู้เรียนเสริม

๏ รูปเกิดจากธาตุล้วน...............สี่ทาง
สามารถเห็นจับวาง.................แตะต้อง
กอรปด้วยธาตุดินลาง................เป็นหนึ่ง
น้ำอีกลมไฟข้อง....................เกี่ยวซ้องรวมผสม

๏ เวทนาความรู้สึก.................ทั้งมวล
จะทุกข์หรือสุขควร..................ค่ารู้
เจ็บป่วยปวดแสนกวน.................ใจจิต
หรือสุขจากยอดชู้....................ไม่พ้นแปรผัน

๏ สัญญาเหตุติดข้อง..................จดจำ
ยากหลุดแยกกระทำ..................ซึ่งแจ้ง
รู้ตัวส่งผลนำ......................ความคิด
กำหนดรู้ใช่แสร้ง....................สตินี้กรรมสลาย

๏ สังขารตัวเร่งชี้...................เวียนวน
ความคิดแต่ละคน.....................สุดห้าม
ชอบหรือไม่เหตุผล...................ล้านแปด
ความคิดไม่ควรข้าม..................คิดสู้แต่กุศล

๏ วิญญาณคือรับรู้....................เรื่องราว
หกทิศจ่อทุกคราว.....................เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างเช่นร้อนหนาว.................สัมผัส บอกเอย
เกิดดับอารมณ์จ้อง...................ใช่ไซร้คือผี

๏ ขันธ์ห้าแยกออกเพี้ยง..............เป็นสอง
คือหนึ่งตัวรูปรอง...................จับได้
อีกสองซึ่งนามมอง..................นั่งนึก
ทุกสิ่งทุกอย่างไซร้.................ไม่พ้นแฝดสอง

๏ ขันเดียวแม้นชะล้าง................ร่างกาย
กำจัดสิ่งรอบราย....................ออกได้
แต่ตัวกิเลสแยบคาย.................ยากออก หมดฤๅ
ต้องดับที่ขันธ์ไซร้..................จึ่งล้างตัณหา

๏ จิตเจตสิกทั้งรูป.................สามสาน
อีกหนึ่งคือนิพพาน.................สี่ถ้วน
รวมเป็นสิ่งตามกาล................มีอยู่ จริงเอย
ปรมัตถธรรมล้วน..................เร่งรู้ศึกษา.


ธีร์
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕



สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ สมาชิกเพื่อนไทยทุกท่าน หลังจากที่ฉบับที่แล้ว เราได้พูดถึงเรื่องของวันสำคัญทางศาสนาไปแล้ว นับเป็นเรื่องที่เน้นไปทางด้านพิธีกรรม แต่ก็มีที่มาที่ไปซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เราเคยรู้เคยเรียนมาแล้ว เพียงแต่เรามาทบทวนสิ่งที่เคยรู้มาแล้วนั้น ซึ่งวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนานั้นก็ไม่ใช่ว่าจะมีอยู่ทุกวัน ดังนั้น ในฉบับนี้ เราจะมาทบทวนเรื่องที่เราเคยเรียนเคยรู้มาบ้างเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุก ๆ วัน


เริ่มต้นบทความมาด้วยโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับเรื่องของขันธ์ห้า ความจริงแล้ว เรื่องของขันธ์ห้านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราอยู่มาก และเกี่ยวโยงถึงชีวิตประจำวันเลยทีเดียว แต่เมื่อได้ลองอ่านและแปล ความหมายจากโคลงสี่สุภาพ ๑๐ บทของคุณธีร์นี้แล้ว เพื่อน ๆ หลายคนแลดู อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ยาก และดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวออกไป หรืออาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องทางธรรม เพศบรรพชิตเท่านั้นที่ควรจะเรียนรู้ พาลทำให้เลิกอ่านหรือเลิกความตั้งใจในการที่จะเรียนรู้ไป ทำให้เราอาจเสียโอกาสในการได้รับรู้สิ่งดี ๆ สิ่งหนึ่งไปได้ เราลองค่อย ๆ เริ่มมาทำความเข้าใจศัพท์ทีละตัวกันก่อน และลองดูว่าคำเหล่านั้นมาเกี่ยวข้องกับตัวเราได้อย่างไร


เริ่มจากคำแรก หัวข้อเรื่องคำว่า ขันธ์
ขันธ์ แปลว่า กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว ในที่นี้ เราจะเรียกขันธ์ว่ากอง


ทีนี้มาดูว่า ขันธ์ ๕ คืออะไร เรารู้แล้วว่า ขันธ์ แปลว่า กอง ดังนั้นขันธ์ ๕ จึงน่าจะแปลได้ว่า ของ ๕ กองนั่นเอง แล้วมีอะไรบ้างล่ะ ตามพจนานุกรมได้บอกว่า ขันธ์ ๕ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจขันธ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ กอง คือ รูปขันธ์ หรือ กองรูป, เวทนาขันธ์ หรือ กองเวทนา, สัญญาขันธ์ หรือ กองสัญญา, สังขารขันธ์ (อ่านว่า สัง-ขา-ระ-ขัน) หรือ กองสังขาร และ วิญญาณขันธ์ หรือ กองวิญญาณ


ต่อมา ก็มาดูความหมายของแต่ละกองว่า คืออะไร



๑. รูปขันธ์ - กองรูป
หมายถึง สิ่งที่จะต้องสลายไป เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ รูปประกอบจากธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และ/หรือ ธาตุลม อันได้แก่ ร่างกาย โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ลองมาจำแนกดูแต่ละตัวอย่าง


ร่างกายเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ

๑.๑ ธาตุดิน ได้แก่ กระดูก เนื้อ หนัง เส้นผม เป็นต้น

๑.๒ ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำย่อย น้ำดี หรือ ของเสียที่เป็นของเหลวในร่างกาย เป็นต้น

๑.๓ ธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้าและออก เป็นต้น

๑.๔ ธาตุไฟ ก็คือ อุณหภูมิความร้อนในร่างกาย เป็นต้น


แต่ความจริงแล้วการรับรู้ธาตุทั้ง ๔ นั้น ต้องอาศัยจิต หรือตัวรู้ หรือสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ รู้สภาพของธาตุนั้น ๆ ซึ่งธาตุนั้นถือว่าเป็นสภาพธรรมเหมือนกัน แต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ อ่าน ๆ ไป ก็อาจมีคนสงสัยได้ว่า จิตคืออะไร และสภาพธรรมคืออะไรล่ะ ก็จะขออธิบายย่อ ๆ เพียงว่า จิตคือตัวรู้ หรืออย่างที่กล่าวไปว่า สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ หรือคือการที่เรารู้ตัว นั่นเอง ส่วนสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ก็คือสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกนี้ ยิ่งอธิบายอาจจะยิ่งงงกันไปใหญ่ ลองมาดูตัวอย่างให้เข้าใจยิ่งขึ้น ที่ว่าตัวรู้


ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น รู้ตัวว่าเห็นตัวหนังสือ รู้ตัวว่ากำลังอ่าน รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้า รู้ตัวว่ากำลังหายใจออก รู้ตัวว่าเบื่อ รู้ตัวว่าอ่านแล้วไม่ชอบ หรือ รู้ตัวว่าอยากจะเลิกอ่าน เป็นต้น


ทีนี้มาดูถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ตัวอย่างของสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ เช่น สภาวะที่แข็ง สภาวะที่อ่อน (นิ่ม) สภาวะที่ร้อน สภาวะที่เย็น สภาวะตึง (เช่น การตึงกล้ามเนื้อ เป็นต้น) หรือ สภาวะที่ไหวหรือหย่อน เป็นต้น

ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ เรากลับมายังเรื่องของรูป รูป คือสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ เพราะรูปไม่สามารถรับรู้สภาพนั้น ๆ ได้ เช่น ธาตุดิน จะมีลักษณะแข็ง แต่ธาตุดินจะไม่สามารถรับรู้ตัวเอง ได้ว่ามีลักษณะแข็ง เป็นต้น หรือ ธาตุน้ำ ก็จะมีลักษณะอ่อนหรือนิ่ม ธาตุลมจะมีลักษณะตึงหรือหย่อน ส่วนธาตุไฟก็จะมีลักษณะร้อนหรือเย็น นี่จะเห็นได้ว่า รูปนั้น เป็นไปตามสภาพต่าง ๆ แต่ไม่สามารถรู้ลักษณะต่าง ๆ ได้


ในตอนท้ายของบทความนี้ เราจะมาสรุปในเรื่องรูปกันอีกที สำหรับรูปนั้นจะเห็นได้ว่า รูปก็คือตัวเรานั่นเอง



๒. เวทนาขันธ์ - กองเวทนา
หมายถึง ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ได้แก่ ความเจ็บป่วย ความดีใจ ความเสียใจ เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกสุขทุกข์นี้สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น ๓ อย่างคือ

๒.๑ สุขเวทนา หรือ ความรู้สึกสุขสบาย เช่น ความสบายกาย ความสบายใจ

๒.๒ ทุกขเวทนา หรือ ความรู้สึกไม่สบาย เช่น ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ

๒.๓ อทุกขมสุขเวทนา (อ่านว่า อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) หรือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือรู้สึกเฉย ๆ นั่นเอง สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าอุเบกขาเวทนา


บางหมวดสามารถจัดแบ่งเวทนาขันธ์นี้ออกได้เป็น ๕ อย่างคือ

๒.๑ สุข หรือ ความสบายกาย

๒.๒ ทุกข์ หรือ ความไม่สบายกาย

๒.๓ โสมนัส หรือ ความสบายใจ

๒.๔ โทมนัส หรือ ความไม่สบายใจ และ

๒.๕ อุเบกขา หรือ ความรู้สึกเฉย ๆ เวทนาเกี่ยวข้องกับตัวเราตรงที่เราสามารถรู้มันได้ด้วยใจ


ดังนั้นเวทนาจึงเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ นั่นเอง



๓. สัญญาขันธ์ - กองสัญญา
หมายถึง การกำหนดหมาย ความจำได้หมายรู้ ได้แก่ เรื่องราวในอดีต หรือหมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส หรือ สิ่งที่ต้องกาย) และอารมณ์ที่เกิดกับใจ เช่นว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก


สัญญาสามารถจำแนกออกได้เป็น ๖ อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้น ได้แก่

๓.๑ รูปสัญญา หมายรู้รูป

๓.๒ สัททสัญญา หมายรู้เสียง

๓.๓ คันธสัญญา หมายรู้กลิ่น

๓.๔ รสสัญญา หมายรู้รส

๓.๕ โผฏฐัพพสัญญา หมายรู้สิ่งต้องกาย

๓.๖ ธัมมสัญญา หมายรู้อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือ สิ่งที่ใจรู้


ตัวอย่างของสัญญาเช่น รู้ว่าผงสีขาว รสเค็ม นั้นเรียกว่า เกลือในภาษาไทย เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเรา



๔. สังขารขันธ์ - กองสังขาร
หมายถึง สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันได้แก่ ความคิด ที่ส่งผลให้พูดดีหรือพูดชั่ว เป็นต้น


สังขาร อาจแปลได้ว่า สภาพที่ปรุงแต่งใจ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น ๓ อย่างคือ

๔.๑ สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดี หรือเป็นตัวสร้างกุศล เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า กุศลเจตสิก

๔.๒ สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ชั่ว หรือเป็นตัวสร้างอกุศล เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อกุศลเจตสิก

๔.๓ สภาพที่เป็นกลาง เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อัพยากฤต


สังขาร อาจใช้ได้ในความหมายของเจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำนั้น ๆ จำแนกออกได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๔.๑ กายสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย หรือ กายสัญเจตนา

๔.๒ วจีสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา หรือ วจีสัญเจตนา

๔.๓ จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ หรือ มโนสัญเจตนา


ไม่ว่าจะจำแนกสังขารตามแบบใด สังขารก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเรา


นอกจากนี้แล้ว สังขารยังอาจหมายความถึง สังขตธรรม หรือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มักใช้กับความหมายที่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ซึ่งสังขารในกรณีหลังนี้หมายรวมถึงทั้งขันธ์ ๕ นั่นเอง


ดังนั้น สังขารขันธ์ จึงเป็นสมาชิกย่อย ของคำว่าสังขารในกรณีนี้



๕. วิญญาณขันธ์ - กองวิญญาณ
หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์ จิต ความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน (อินทรีย์ทั้ง ๖ อันได้แก่ จักขุ-ตา, โสต-หู, ฆาน-จมูก, ชิวหา-ลิ้น, กาย และ มโน-ใจ) และอายตนะภายนอก (อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป, สัททะ-เสียง, คันธะ-กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ-สิ่งต้องกาย และ ธัมมะ-ธรรมารมณ์ หรือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ) กระทบกัน บางตำรากล่าวว่า คือ ธาตุรู้ หรือ ธาตุสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ การรับรู้การเห็น การได้ยิน เป็นต้นในปัจจุบันนี้ คำว่าวิญญาณ น่าจะหมายถึงประสาทรับสัมผัส นั่นเอง


วิญญาณสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น ๖ อย่าง คือ

๕.๑ จักขุวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)

๕.๒ โสตวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)

๕.๓ ฆานวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)

๕.๔ ชิวหาวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)

๕.๕ กายวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)

๕.๖ มโนวิญญาณ หรือ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)


นั่นคือ จะเห็นได้ว่า วิญญาณจัดเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ และมีอยู่ในตัวเราด้วยเช่นเดียวกับ รูป เวทนา สัญญา และ สังขาร



นอกจากนี้แล้วขันธ์ ๕ ยังจำแนกออกได้เป็น ๒ อย่างคือ

๑. รูปธรรม ได้แก่ รูปขันธ์

๒. นามธรรม ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์


เพราะว่า รูป คือ สิ่งที่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ได้แก่ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย) เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น

ส่วน นาม คือ สิ่งที่สามารถรับรู้สภาพธรรมได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ ได้แก่ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ จิตใจ ปัญญา ความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจ ความหดหู่ เป็นต้น


ตัวอย่างเช่น การเห็น เป็น นามธรรม เป็นวิญญาณขันธ์ ตาเป็นรูปธรรม เป็นธาตุดิน ภาพหรือรูปหรือสีที่เห็นเป็นรูปธรรม เป็นต้น



เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะเข้าใจคำว่าขันธ์ ๕ ไม่มากก็น้อย และคงพอจะมองเห็นได้ว่า ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ของเรานี้เอง ที่ทำให้เราต้องรับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะโทษจากกรรม อาการป่วย หิว กระหาย หรือชราก็ตาม ถ้าเพียงแต่เรารับรู้อาการนั้น ๆ และยอมรับตามสภาพความเป็นจริงได้ จิตใจของเราก็จะไม่เศร้าหมองไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุให้เราเศร้าหมอง ก็เนื่องมาจากโทษของการไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา ในร่างกายของเขา นั่นเอง


กล่าวโดยสรุปก็คือ ขันธ์ ๕ ที่ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จัดว่าเป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ทั้งหลาย ถูกปัจจัยต่าง ๆ บีบคั้นเบียดเบียน จึงเป็นเหตุขัดขวาง หรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง สาเหตุที่สำคัญก็ได้กล่าวไปแล้ว แต่จะข้อเน้นอีกที สาเหตุนั้นก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่ามีตัวตนนั่นเอง


ถ้าเราปล่อยวางเสียได้ ก็จะทุกข์น้อยลง เพราะขันธ์ ๕ ย่อมเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์คือ อนิจจังหรือไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การเจ็บป่วย การหลงลืม เป็นต้น ทุกขังหรือเป็นทุกข์ เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว และเราไม่สามารถรับได้กับสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็ก่อให้เกิดทุกข์ และเป็นอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน ได้แก่ ไม่มีความเป็นเจ้าของ ไม่มีสภาพบุคคล สัตว์ สิ่งของ เรา เขา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครที่จะสามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อรู้โทษของการยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้แล้ว เราก็ควรที่จะคลายความยึดมัี่นถือมั่นนั้น และยอมรับมันให้ได้


ถ้าเราเริ่มต้นเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ โดยการรู้ให้เท่าทันสภาพธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือถือว่าเป็นการมีสติอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ ก็จะทำให้เราสามารถสร้างกุศลกรรม ลดทอนอกุศลกรรมลงได้ ทำให้ตัดชาติภพในสังสารวัฏนี้ให้ลดน้อยลง มุ่งตรงสู่นิพพานนั่นเอง

การที่เรามีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ จะทำให้อกุศลเกิดยาก เพราะเรารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออกว่า ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น

รู้ว่าขณะนี้หายใจเข้า
รู้ว่าขณะนี้หายใจออก
รู้ว่าขณะนี้เห็นตัวหนังสือ
รู้ว่าขณะนี้มีอารมณ์ไม่พอใจ
รู้ว่าขณะนี้มีอารมณ์โกรธ
รู้ว่าขณะนี้มีอารมณ์พอใจ
รู้ว่าขณะนี้มีอารมณ์ดีใจ
รู้ว่าขณะนี้มีอารมณ์สุขใจ เป็นต้น

การรู้อารมณ์ต่าง ๆ ถ้าเราทำได้เพียงแค่เป็นในความคิด พยายามไม่ให้ออกมาทางกายหรือวาจา เพียงเท่านี้ก็นับว่า ลดทอนอกุศลที่จะสร้างต่อไปในอนาคตได้


บทความนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านคงพอได้อะไรไปบ้าง อย่างน้อยก็คงพอมีสติอยู่กับตัวบ้าง ถ้าเผลอหรือลืมไป ก็ไม่ต้องเศร้าเสียใจไป ก็เริ่มนับกันใหม่ตั้งแต่ปัจจุบันขณะนี้ การระลึกได้บ่อย ๆ ตามความเคยชิน จะทำให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายนี้ ขออำนาจบุญกุศลที่ผู้อ่านทุกท่านพยายามมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ จงเป็นพลวปัจจัยให้ผู้อ่านทุกท่านประสบความสำเร็จในชีวิต ในการเรียน ในอาชีพการงาน และที่สำคัญที่สุดคือ เจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเทอญ.


รสธรรม
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕



หมายเหตุ
ข้อมูลอ้างอิง : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก





 

Create Date : 24 สิงหาคม 2548   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:20:30 น.   
Counter : 693 Pageviews.  

เมตตา

สวัสดีค่ะ ท่านกัลยาณมิตรทั้งหลาย สำหรับบทความทางธรรมฉบับนี้จะออกแนวง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่เครียดเหมือนฉบับก่อน ๆ นะคะ ชื่อบทความก็บอกอยู่แล้วค่ะ ว่าจะกล่าวถึงเรื่องของเมตตา ดังนั้น ก็จะกล่าวถึงความหมายของคำว่าเมตตา รวมไปถึงหน้าที่การกระทำต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดเมตตาขึ้น


เมตตา ตามความหมายจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก หมายความว่า ความรัก ความปรารถนาให้เขามีความสุข แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า


ส่วนเมตตากรุณา หมายถึง เมตตา และกรุณา ความรักความปรารถนาดีและความสงสาร ความอยากช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์


เมตตาจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยเมตตา ใจมีเมตตา


เมื่อเพื่อน ๆ พอจะเข้าใจความหมายของคำว่าเมตตาแล้ว ต่อมาเราก็มาพิจารณากันว่า ทำอย่างไรจะให้เกิดเมตตา จะเห็นว่า เราสามารถทำให้เมตตานั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก นั่นคือ โดยการแสดงความปรารถนาดีของเราออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือว่าทางใจ เท่านั้นเอง



ทำไมต้องมีเมตตา

ก่อนอื่นลองมาพิจารณาข้อปฏิบัตินี้

เบญจธรรม หรือ เบญจกัลยาณธรรม คือ ธรรม ๕ ประการ หรือ ความดี ๕ อย่าง ที่ควรประพฤติคู่กันไปกับการรักษาเบญจศีลตามลำดับข้อ ดังนี้

๑. เมตตากรุณา
๒. สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีพชอบ)
๓. กามสังวร (สำรวมในกาม)
๔. สัจจะ
๕. สติสัมปชัญญะ


บางตำราว่าแปลกไปบางข้อคือ

๒. ทาน
๓. สทารสันโดษ (พอใจเฉพาะภรรยาของตน)
๕. อัปปมาทะ (ไม่ประมาท)


จะเห็นว่า แม้แต่ในหลักทางพระพุทธศาสนา เมตตาก็ยังจัดอยู่ในข้อที่ควรปฏิบัติเป็นข้อแรก


การทำให้เมตตาเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่บางครั้ง การที่สติเผลอไผลไปก็อาจทำให้ลืมนึกถึงเมตตาได้ ตัวอย่างเช่น เราอุตส่าห์ท่องว่าจะมีเมตตาทั้งวัน แต่พอออกจากบ้านไปเจอกับเหตุการณ์รถติด ก็เกิดอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ ไม่ยอมให้รถที่จะแซงเรานำไปก่อน นั้นถือว่า เป็นการขาดเมตตาชั่วคราว แต่พอเราได้ระลึกถึงเมตตา เราก็จะยอมให้เขาไปก่อน เป็นต้น บางครั้งเพื่อน ๆ อาจจะสับสน หรือสงสัยว่า จะทำอย่างไร ให้เมตตาเกิดโดยไม่ขัดกับหน้าที่ของเรา ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้รวบรวมเสนอหน้าที่ที่เราควรปฏิบัติตามบทบาทของเราดังต่อไปนี้


ทิศหก


จากเรื่องทิศหกนี้ ผู้เขียนหวังว่า คงจะเป็นแนวทางที่ดีที่ทำให้เพื่อน ๆ มีเมตตามากขึ้น ในการใช้ชีวิตในต่างแดน ส่วนมากเราจะต้องมีเพื่อนมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาต (คำนี้ไม่มีสระอิค่ะ) เสริมอธิบายความหมายของคำว่าเพื่อนเป็นพิเศษ ซึ่งจะหนีไม่พ้นเมตตาค่ะ



เพื่อน หมายถึง ผู้ร่วมธุระ ร่วมกิจ ร่วมการ หรือ ร่วมอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน ผู้ชอบพอรักใคร่คบหากันในทางธรรม เนื้อแท้ของความเป็นเพื่อน อยู่ที่ความมีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือ เมตตาหรือไมตรี เพื่อนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านเรียกว่า มิตร


การคบเพื่อน เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อม ความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียม และเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้


มิตรแท้ หมายถึง บุคคลที่ช่วยชี้แนะแนวทาง ชักจูงตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตที่ดีงามให้ประสบผลดีและความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในธรรม แม้จะเป็นบุคคลเสมอกัน หรือเป็นมารดาบิดา ครูอาจารย์ ตลอดทั้ง พระสงฆ์ จนถึงพระพุทธเจ้า ก็นับว่า เป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใจดี หรือเพื่อนมีธรรมเรียกว่า กัลยาณมิตร แปลว่า มิตรที่ดีงาม


กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม หรือ ธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการ คือ

๑. ปิโย น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา

๒. ครุ น่าเคารพ ด้วยความประพฤติหนักแน่นเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยความซาบซึ้งภูมิใจ

๔. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำเป็นที่ปรึกษาที่ดี

๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากย์วิจารณ์

๖. คัมภีรัญจะ กถังกัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและ สอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

๗. โนจัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร



สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ก็ขอคงไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าทั้งหมดที่กล่าวมาคงจะพอเป็นแนวทางให้เพื่อน ๆ ลองทำตาม จะได้มีเมตตากันมากขึ้น ลดละความโกรธลง จิตใจสบาย สงบ มีความสุข

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนใคร่กราบขออภัยหากการเขียนผิดพลาด หากข้อเขียนนี้มีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านแม้แต่น้อยนิดแล้ว ผู้เขียนขอมอบความดีนั้นให้แด่ท่านอาจารย์ที่สอนหนังสือให้อ่าน ที่ถ่ายทอดธรรมะให้ ครูพักลักจำทุก ๆ ท่าน ทั้งทางโลกและทางธรรม และกัลยาณมิตรทั้งหลาย ขอให้เจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปแด่ทุก ๆ ท่าน เทอญ


รสธรรม
๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕





 

Create Date : 18 สิงหาคม 2548   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:20:57 น.   
Counter : 681 Pageviews.  

ทิศหก

ทิศหก หมายถึง บุคคลประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัว
จัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้



๑) ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา

บุตรธิดา พึงบำรุงต่อมารดาบิดา ดังนี้

๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เราควรเลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน


มารดาบิดา อนุเคราะห์ต่อบุตรธิดา ดังนี้

๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร



๒) ทักขิณทิส ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์

ศิษย์ พึงบำรุงต่อครูอาจารย์ ดังนี้

๑. ลุกต้อนรับแสดงความเคารพ
๒. เข้าไปหา
๓. ใฝ่ใจเรียน
๔. ปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ


ครูอาจารย์ อนุเคราะห์ต่อศิษย์ ดังนี้

๑. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อนฝูง
๕. สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศ คือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้



๓) ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา

สามีพึงบำรุงต่อภรรยา ดังนี้

๑. ยกย่องให้สมฐานะภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่นอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
๕. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส


ภรรยา อนุเคราะห์ต่อสามี ดังนี้

๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓. ไม่นอกใจ
๔. รักษาสมบัติที่หามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง



๔) อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย

พึงบำรุงต่อมิตรสหาย ดังนี้

๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
๒. พูดจามีน้ำใจ
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๔. มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๕. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน


มิตรสหาย อนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

๑. เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาป้องกัน
๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร



๕) เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน

นาย พึงบำรุงต่อคนรับใช้และคนงาน ดังนี้

๑. จัดการงานให้ทำตามกำลังความสามารถ
๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
๓. จัดสวัสดิการดีมีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
๔. ได้ของแปลก ๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
๕. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร


คนรับใช้และคนงาน อนุเคราะห์ต่อนาย ดังนี้

๑. เริ่มทำงานก่อน
๒. เลิกงานทีหลัง
๓. เอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
๕. นำความดีของนายไปเผยแพร่



๖) อุปริมทิส ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์

คฤหัสถ์ พึงบำรุงต่อพระสงฆ์ ดังนี้

๑. จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใดก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใดก็คิดด้วยเมตตา
๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔


พระสงฆ์ อนุเคราะห์ต่อคฤหัสถ์ ดังนี้

๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ


รสธรรม
๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕


ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก


(กลับ เมตตา)





 

Create Date : 16 สิงหาคม 2548   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:21:49 น.   
Counter : 825 Pageviews.  

ใครหนอ

ใครหนอบุคคลที่เราควรทดแทนพระคุณ

เนื่องในวันที่ ๕ ธันวาคมซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และถือว่าเป็นวันพ่อแห่งชาติด้วย ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจอยากให้เพื่อน ๆ ได้มาร่วมกันระลึกถึงพระคุณของคุณพ่อและคุณแม่ของพวกเรา เพราะคุณแม่บางท่านก็ทำหน้าที่ของคุณพ่อด้วย และคุณพ่อของผู้เขียนเองก็ยังทำหน้าที่ของคุณแม่ด้วย เผอิญช่วงตอนนั้นผู้เขียนกำลังอ่านวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีเนื้อหาอยู่ในหนังสือแด่ผู้บังเกิดเกล้าที่เรารัก ซึ่งแต่งโดยอุบาสกผู้หนึ่ง เป็นหนังสือซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ธนบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งในส่วนหนึ่งของหนังสือได้มีเนื้อเพลงนี้ จึงอยากนำมาฝากให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน หรือใครจะร้องตามก็ได้ค่ะ



เพลงใครหนอ

ใครหนอรักเราเท่าชีวี
ใครหนอปรานีไม่มีเสื่อมคลาย
ใครหนอรักเราจวบจนชีพวาย
รักเขาไม่หน่าย มิคิดทำลาย ใครหนอ

ใครหนอรักเราเท่าทรวงใน
ใครหนอเอาใจปลอบเราเรื่อยมา
ใครหนอรักเราดุจดวงแก้วตา
รักเขามากกว่าพื้นพสุธา นภากาศ

(*) จะเอาโลกมาทำปากกา
แล้วเอานภามาแทนกระดาษ
เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด
ประกาศพระคุณไม่พอ

ใครหนอรักเราเท่าชีวัน
ใครหนอใครกันให้เราขี่คอ (คุณพ่อ คุณแม่)
ใครหนอชักชวนดูหนังสี่จอ
รู้แล้วล่ะก็ อย่ามัวรั้งรอทดแทนบุญคุณ



จะเห็นว่า พระคุณของคุณพ่อคุณแม่นั้นใหญ่หลวงนัก สมควรที่เราจะต้องตอบแทนท่าน ความที่ท่านมีคุณกับเรา ดูแลเรา และก็รักเราเสมอ ไม่ว่าเราจะสร้างความเดือดร้อนให้ท่านอย่างไร เมื่อมีโอกาสที่ท่านจะให้เราเป็นสุขได้ ท่านก็พยายามทำอย่างเต็มหัวใจของท่าน คุณค่าแห่งใจของท่านนี้จะหาที่ไหน ยากที่จะหาผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อเราด้วยความจริงใจอย่างนี้ได้ ควรที่เราจะได้กระทำสิ่งใดตอบแทนเพื่อให้ความสุขแก่ท่านบ้าง จะเป็นการแบ่งปันน้ำใจหรือ เวลาหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เราทราบว่าเป็นความสุขของท่านบ้าง



ในมงคลสูตร ๓๘ ประการก็มีบอกหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อบิดามารดา อยู่ในหัวข้อแรก ๆ ด้วยค่ะ ยกตัวอย่าง เช่น


มงคลที่ ๓ "บูชาบุคคลที่ควรบูชา" หรือตามคำตรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า "ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ"


เราควรบูชาท่านตรงที่ท่านทรงพรหมวิหาร ๔ ในฐานะที่ท่านเป็นพ่อเป็นแม่ ท่านมีเมตตา ความรัก กรุณา สงสาร เลี้ยงดูเรามา มุทิตา ไม่เคยอิจฉาริษยา อุเบกขา ถ้าลูกทุกข์หนักไม่เคยซ้ำเติม ท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ท่านเป็นผู้มีพระคุณอย่างเลิศ เลือดและเนื้อ ชีวิตของเราทุกหยดนี่เป็นของท่านทั้งหมด ถ้าหากว่า ไม่มีท่าน และท่านไม่มีความเมตตาปรานี ไม่มีพรหมวิหาร ๔ เราจะมีร่างกายชีวิตขึ้นมาไม่ได้ ดังนั้น เราควรตอบแทนท่านด้วยการ เลี้ยงท่านตอบ รักท่านตอบ กรุณาสงสารท่านตอบ เวลาสิ่งที่เกินวิสัยเกิดขึ้น เราก็ไม่ซ้ำเติมท่านตอบ เป็นอันว่าเราบูชาตรงที่ท่านมีพรหมวิหาร ๔ เราก็ปฏิบัติบูชาด้วยปฏิบัติตามพรหมวิหาร ๔ ตามที่ท่านเป็นบัณฑิตในทางธรรม



มงคลต่อมาที่กล่าวถึงหน้าที่ของเราต่อท่านคือ มงคลที่ ๑๑ "การบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข" พระบาลีว่า มาตาปิตุ อุปฏฺฐานํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข ชื่อว่าเป็นอุดมมงคล


พ่อแม่ประกอบไปด้วยความดี พยายามระงับความสุขของตนเพื่อบำรุงความสุขของลูก ยอมทุก ๆ อย่างเพื่อลูกในท้อง ยอมมีความทุกข์ทุกอย่างเพื่อการศึกษาดีของลูก ยอมมีความทุกข์ทุกอย่างเพื่อลูกจะได้มีฐานะมั่นคง


ดังนั้น หน้าที่ของเราคือ ถ้าหากว่าท่านต้องการอะไร เป็นสิ่งที่ไม่เกินวิสัยที่เราจะสามารถจัดหาให้ท่านได้ ตามสมควรแก่ฐานะ และตามความสามารถของเราแล้ว ก็จงอย่าสร้างความสะเทือนใจให้เกิดแก่ท่าน เห็นท่านมีความเห็นผิดคิดมิชอบอย่าค้านตรง ๆ ค่อย ๆ หาทางเลี่ยง เป็นการหารือ


นอกจากในมงคลสูตรแล้ว ในทิศ ๖ ก็มีหน้าที่ของบุตรธิดา ที่พึงบำรุงต่อมารดาบิดา ดังนี้

๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เราควรเลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน


ทีนี้มาดูถึงโทษทัณฑ์ในการประทุษร้ายมารดาบิดากันบ้าง เริ่มกล่าวถึงกรรมหนักก่อน จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ของพระธรรมปิฎก อธิบายคำว่า ครุกรรม หรือ กรรมหนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลดังนี้ ในฝ่ายกุศล ได้แก่ ฌานสมาบัติ ในฝ่ายอกุศล ได้แก่ อนันตริยกรรม กรรมชนิดนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่น อนันตริยกรรมหรือกรรมหนักฝ่ายอกุศล เป็นกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน กรรมที่ให้ผล คือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย ซึ่งประกอบด้วย ๕ อย่าง คือ

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน


สำหรับโทษทัณฑ์ที่ว่า คงจะไม่มีใครคิดทำร้ายมารดาบิดาตนเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถ้าเผลอทำไปแล้ว ก็รีบขอโทษ คิดว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่ให้อภัยลูกหรอก


พระคุณของมารดาบิดา ไม่อาจร่ายจบในวันเดียวหรือเพียงในหน้ากระดาษเดียวได้ นอกจากนี้แล้วเคยถามตัวเองไหมว่า ครูคนแรกของลูกคือใคร ก็คุณพ่อคุณแม่นั่นแหล่ะ มารดาบิดาถือว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นครูอาจารย์คนแรก และยังเป็นเทวดาองค์แรกอีกด้วย การทดแทนคุณแก่มารดาบิดา จึงเป็นสิ่งที่บุตรธิดาทุกคนพึงกระทำตามสติกำลัง ตามความสามารถ โดยในทางพุทธศาสนา เริ่มปลูกฝังให้ท่านมีศรัทธาใน ศีล จาคะ (การสละ) และปัญญาก่อน อาจเริ่มต้นโดยการชักชวน น้อมนำให้ฟังธรรมที่มีเหตุผล และสามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน นับว่าเป็นการสะสมอุปนิสัยในการเป็นพหูสูตร (ผู้รู้) เมื่อมีความเข้าใจในพระธรรมอย่างถ่องแท้ จึงจะเริ่มประพฤติปฏิบัติ จนสามารถบรรลุโลกุตตรธรรมได้ในอนาคต


การที่จะชักชวนให้ผู้ใดมีคุณธรรมอย่างไร บุคคลผู้ชักชวนต้องมีคุณธรรมเหล่านั้นเสียก่อน ดังนั้น พวกเราจึงควรศึกษาพระธรรมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย จึงจะสามารถน้อมนำมารดาบิดา ผู้บังเกิดเกล้าของเรา ผู้เกิดความเลื่อมใสในตัวบุตรและในพระธรรม ให้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามได้



ในการเริ่มต้นของปีใหม่นี้ เราอาจเริ่มต้นให้เข้าถึงธรรมะ ด้วยการกล่าวบทน้อมนมัสการบูชาพระรัตนตรัย และทำการขอขมาต่อคุณพระรัตนตรัย ดังนี้


บทบูชาพระรัตนตรัย

อิมินาสักกาเรนะ พุทธัง อภิปูชะยามิ
อิมินาสักกาเรนะ ธัมมัง อภิปูชะยามิ
อิมินาสักกาเรนะ สังฆัง อภิปูชะยามิ


บทขอขมาพระรัตนตรัย

วันทามิ พุทธัง สัพพะ เมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต
วันทามิ ธัมมัง สัพพะ เมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต
วันทามิ สังฆัง สัพพะ เมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต


ขอให้เพื่อน ๆ และท่านผู้อ่าน ทุก ๆ ท่าน จงประกอบแต่กรรมดี การกระทำใดๆ ให้อยู่กับสติทุกขณะ มีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มารดาบิดา เป็นที่ตั้ง ขอให้ผลกรรมที่ดีนั้น ทำให้เพื่อน ๆ และท่านผู้อ่าน ทุก ๆ ท่าน ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลายมาได้ด้วยดีค่ะ


รสธรรม
๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕





 

Create Date : 16 สิงหาคม 2548   
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:22:19 น.   
Counter : 433 Pageviews.  

1  2  3  

รสา รสา
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add รสา รสา's blog to your web]