เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

“ผาตาด-ภูเตย”อลังการน้ำตกงามที่“ทองผาภูมิ”...ดินแดนแห่งเพชรพระอุมา/ปิ่น บุตรี

สายน้ำที่ถั่งโถมของน้ำตกภูเตยชั้น 7
       “ทองผาภูมิ”(จ.กาญจนบุรี) อำเภอนี้นอกจากจะมีชื่อฟังร่ำรวยมหาศาล เพราะในชื่ออำเภอมี “ทอง”(ผาภูมิ) ประทับหราอยู่ในนั้นแล้ว อำเภอนี้ยังเป็นดินแดนแห่งเพชรอีกด้วย

       เพชรที่ว่าไม่ใช่เป็นราชาแห่งอัญมณี หากแต่เป็น “เพชรพระอุมา” นวนิยายชื่อก้องฟ้าเมืองไทยที่ได้ชื่อว่ายาวที่สุดในโลก ประพันธุ์โดยครู “พนมเทียน”(ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2540) ที่ว่ากันว่าฉากสำคัญๆในเพชรพระอุมาหลายๆฉากท่านได้แรงบันดาลใจมาจากขุนเขา ป่าไพร ในทองผาภูมิ จนอำเภอนี้เป็นที่รู้จักกันดีของแฟนานุแฟนเพชรพระอุมาว่าเป็นดินแดนแห่ง(ฉาก)เพชรพระอุมา

       ปี 2 ที่แล้วผมไปเที่ยวทองผาภูมิ เจอกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ชาวทองผาภูมิคนหนึ่งที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมา แกพาผมไปดูขุนเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่หลังวัดท่าขนุน(จากมุมมองหน้าที่ว่าการอำเภอ) นายทหารคนนั้นบอกกับผมว่า ในความคิดของแกเชื่อว่าเขาลูกนี้น่าจะเป็นที่มาของเขา “พระศิวะ” เพราะเท่าที่ได้เปรียบเทียบบรรยากาศฉากต่างๆแล้ว มันใช่เลย

       “ช่วงหลังฝนตกมีหลอกลอยปกคลุมมันดูลี้ลับ คืนวันขึ้น 5 ค่ำผมก็เคยมาดู ผมว่ามันเหมือนกับในนิยายน่ะ” นายทหารคนนั้นบอก

       สำหรับเรื่องนี้มันมีหลายกระแส บ้างก็ว่าเขานั่นเขานี่ บางคนว่าป่านั่นป่านี่ หรือไม่ก็ว่าตรงนั่นตรงนี้ เป็นฉากในเพชรพระอุมา โดยเฉพาะที่มีคนพูดถึงกันมากก็คือ “เขาแหลม” ที่เชื่อว่าเป็นเขาพระศิวะ ส่วนมรกตนครนั้นก็คือ“เหมืองปิล็อก” นั่นเอง ซึ่งผมขอฟังหูไว้หู

       อีกอย่างเวลาที่ผมนึกถึงฉากป่าเขา ถ้ำ หลุมอุกาบาตร ขุนเขาหิมะ เมืองผีดิบ หรือมรกตนครในท้องเรื่อง ผมมักนึกไม่ค่อยมีจินตนาการ ไม่เหมือนกับฉากที่ “รพินทร์”(ไพรวัลย์) กับ “หม่อมน้อย-ดาริน”(วราฤทธิ์) กุ๊กกิ๊กกัน โดยเฉพาะฉากเลิฟซีนนี่ เห็นภาพชัดทีเดียว

       อย่างไรก็ดีสำหรับการมาเที่ยวทองผาภูมิหนล่าสุดของผม ผมไม่ได้มาตามรอยเพชรพระอุมาสู่มรกตนครเพราะติดต่อรพินทร์กับแงซายไม่ได้ แต่ผมมาเที่ยวค้นหาน้ำตกใหญ่ ที่ชื่อ “ภูเตย” ที่เป็นน้ำตกที่เพิ่งเปิดตัวสู่การท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้

       น้ำตกผาตาด

       ก่อนจะไปน้ำตกภูเตย ผมแวะเที่ยว“น้ำตกผาตาด” ที่อยู่ในเส้นทางผ่านกันก่อน

       น้ำตกผาตาด อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ เข้าไปทางเดียวกับน้ำพุร้อนหินดาด

       บริเวณน้ำตกผาตาด มีบรรยากาศน่าเที่ยวมาก ทางเดินจากจุดจอดรถสู่ตัวน้ำตกร่มรื่น เขียวครึ้ม มีการจัดภูมิทัศน์ที่คงสภาพความเป็นธรรมชาติไว้ได้อย่างดี แต่เส้นทางก็ไม่ลำบากสมบุกสมบัน เดินสบาย เพียงแต่ในหน้าฝนอย่างนี้ต้องระวังลื่นหัวทิ่มกันนิดหน่อย เพราะบางจุดพื้นเปียกแฉะ เวลาเดินต้องละเอียดนิดส์นึง

       น้ำตกผาตาดมี 3 ชั้น เป็นน้ำตกหินปูนที่ไม่เน้นแนวดิ่ง เพราะไม่สูง หากแต่เน้นแผ่ขยายไปในทางกว้าง ชั้นแรกมีลักษณะเป็นชั้นเตี้ยลดหลั่นซ้อนชั้นกัน มีต้นไม้ขึ้นสลับเป็นช่วงๆ ขณะที่ชั้น 2 ที่อยู่ใกล้ๆกัน(มาก) ก็ยังคงเป็นลักษณะเดียวกับชั้นแรก

       ส่วนชั้น 3 ที่ต้องเดินไกลออกไปหน่อยถือเป็นไฮไลท์ของน้ำตกแห่งนี้ เพราะตัวน้ำตกมีความสวยงาม กว้างกว่า 10 เมตร มีเชิงชั้นไหลลดหลั่นซ้อนกันมา จากต้นน้ำเบื้องบนเกิดเป็นสายน้ำตกชุ่มฉ่ำไหลถั่งโถมแผ่สยายเป็นสีขาวฟูฟ่อง ส่งเสียงอึงคะนึง ท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างที่ร่มรื่นเขียวครึ้ม เห็นแล้วกระตุ้นอารมณ์ให้อยากลงเล่นน้ำยิ่งนัก แต่งานนี้คงต้องอดใจไว้ เพราะเรามีภารกิจพิชิตน้ำตกภูเตยที่ได้ยินกิตติศัพท์มาก่อนล่วงหน้าว่า เส้นทางลุยเอาเรื่องเหมือนกัน

       น้ำตกภูเตย

       จากน้ำตกผาตาด ผมมานอนพักที่ทองผาภูมิ 1 คืน จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็ได้เวลาออกเดินทางสู่น้ำตกภูเตยกัน

       น้ำตกภูเตย อยู่ห่างจากตัวเมืองทองผาภูมิไปราว 30 กม. ทางเข้าน้ำตกต้องผ่าน “หมู่บ้านภูเตย” หมู่บ้านชาวอีสาน ที่อพยพมาตั้งรกราก ทำมาหากิน ทำไร่ ทำสวน อยู่ที่เมืองกาญจน์ ซึ่งที่หมู่บ้านแห่งนี้เรามีนัดกับผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนรพินทร์พาผมลุยน้ำตกในครั้งนี้คือ “ลุงพล”(ณัฐพล แสงแก้วเขียว) ที่อายุอานามก็น่าจะไล่เลี่ยกับลุงบุญคำในเพชรพระอุมา

       ลุงพลวันนี้มีอายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังแข็งแรง แกได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบน้ำตกภูเตยอย่างเป็นทางการในปี 2528 ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญระว่างที่ลุงพลกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงเข้าป่าไปหาหน่อไม้กัน แล้ว(บังเอิญ)ไปเจอน้ำตกแห่งนี้เข้า

       เดิมน้ำตกแห่งนี้ไม่ได้เป็นที่สนใจของชาวบ้าน เพราะพวกเขาต่างทำมาหากิน บางคนเข้าไปหาหน่อไม้แล้วก็ใช้ลำธารน้ำตกเป็นที่แวะพัก แวะกินน้ำ อาบน้ำอาบท่า แต่เมื่อลุงพลมาเจอเข้าแล้วไปบอกต่อ จนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง ทางรีสอร์ทแห่งหนึ่งได้เห็นศักยภาพ จึงจัดทริปนำคนมาเที่ยว หลังจากนั้นทางททท.เมืองกาญจน์ก็ผลักดัน โปรโมทให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองกาญจน์

       น้ำตกภูเตยมีชื่อเรียก(ชื่อเดิม)ในภาษากระเหรี่ยงว่า“น้ำตกห้วยองเผาะ” ตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนของหมู่บ้านภูเตย ทางเข้าสู่น้ำตกต้องผ่านพื้นที่ไร่กะหล่ำ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ของชาวบ้าน จากนั้นจึงจะเป็นทางเดินเท้าในป่าที่เส้นทางค่อยๆจากพื้นที่ราบลงสู่ผืนป่าใหญ่เบื้องล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์ดุจดังทองธรรมชาติที่ซุกซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นที่การทำไร่ของชาวบ้าน ซึ่งผมอดนึกถึงฉากป่าในหุบเหวที่รพินทร์กับดารินตกลงไปแล้วไปเจอกัน จนเกิดบ่มเพาะเป็นความรักอันแสนคลาสสิกไม่ได้

       สำหรับเส้นทางสู่น้ำตกช่วงแรกเป็นป่าไผ่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นป่าโปร่ง จากนั้นป่าเริ่มรกดิบขึ้น เส้นทางก็เริ่มสมบุกสมบัน ยิ่งเดินป่าในหน้าฝนอย่างนี้ ความลำบากยิ่งเพิ่มเป็นเท่าตัวจากการเดินป่าในช่วงหน้าหนาว เพราะมันมีทั้ง เหนื่อย แฉะ เปียก ลื่น ล้มหัวทิ่มหัวตำ แต่กระนั้นใน 2 ข้างทางก็มีธรรมชาติน่าสนใจหลากหลายให้ชม ไม่ว่าจะเป็น ปูตัวสีเหลือง เห็ดหลากหลายรูปแบบ ดอกไม้ป่าต่างๆ กระเจียวที่ออกดอกผลิบานทั้งสีขาว ส้ม แดง และ ฯลฯ

       เมื่อเข้าสู่เขตป่าทึบอย่างเต็มตัว ผมได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่ไกลๆ หะแรกคิดว่าตัวน้ำตกคงอยู่ไม่ไกล แต่ที่ไหนได้มันเป็นแค่ลำธารกับแอ่งน้ำตกชั้นเตี้ยๆ ที่ลุงพลบอกว่าแบบนี้ไม่เรียกน้ำตก น้ำตกจริงต้องเดินไปอีก ส่วนจะไปไกลแค่ไหนแกไม่ได้บอก เพราะแกเดินจ้ำอ้าวไปโน่นแล้ว

       ผมและคณะเดินตามลุงพลต่อไป บางช่วงต้องลุยน้ำ ลุยแอ่ง ข้ามลำธาร แต่บางช่วงดีหน่อยมีสะพานลำลองไว้ให้เดิน

       หลังเดินตะลุยมาได้ประมาณ 2 ชั่วโมง พวกเราก็มาถึงยังน้ำตกชั้นแรกที่แม้จะเป็นน้ำตกเล็กๆไม่สูงใหญ่ แต่ผมก็ชื่นใจ เพราะเรามาถูกทาง และรู้สึกได้ว่าของดีที่เป็นไฮไลท์อยู่อีกไม่ไกล

       จากน้ำตกชั้น 1 เราไปพักกินข้าวเที่ยงกันที่ริมลำธารบริเวณน้ำตกชั้น 2 แล้วจึงออกเดินหน้าสู่น้ำตกชั้นต่อๆไป

       ลุงพลยังคงนำเดินต่อไปแบบไม่มีเหนื่อยทั้งๆที่อายุ 60 กว่าแล้ว ส่วนผมที่อายุอานามจัดอยู่ในรุ่นลูกแกกลับลูกสึกเหนื่อยจับใจ

       แต่จากนั้นไม่นานเราก็ได้พักกันที่น้ำตกชั้น 3 ให้เอาน้ำลูบหน้าลูบตา แล้วออกลุยต่อสู้น้ำตกชั้น 4,5,6 โดยระหว่างทางก็หยุดถ่ายรูปไปเรื่อย ก่อนจะมาหยุดกันอย่างจริงจังที่ชั้น 7 มองเห็ฯน้ำตกไหลเป็นสายตระหง่านอยู่เบื้องหน้า

       สำหรับชั้น 7 ที่นี่ ไม่ใช่ที่โฟร์ซีซันจึงไม่ใช่สวรรค์ หากแต่เป็นหนึ่งในชั้นไฮไลท์ ที่ตัวน้ำตกมีความสูงกว่า 80 เมตร กระหน่ำไหลถาโถมลงมาจากโตรกผาแผ่สยายเป็นสายลงมาสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างดูน่าตื่นตาตื่นใจ

       จากนั้นเราไปต่อกันที่ชั้น 8 ที่อยู่ใกล้ๆกัน แต่ว่าทางไปนี่ต้องค่อยไป เพราะหน้าฝนถนนลื่นฉันใด ทางเดินป่าก็ลื่นยิ่งกว่า

       น้ำตกชั้น 8 มีความสูงเกือบ 100 เมตร เป็นน้ำตกสายใหญ่ที่สายน้ำไหลโจนทะยานหายลงไปสู่เบื้องล่างท่ามกลางแมกไม้เขียวขจีรอบข้างดูสบายตา ส่วนชั้นที่ 9 ที่เป็นสิ้นสุดของการเที่ยวชมน้ำตกภูเตยนั้น เป็นชั้นที่สูงที่สุด มีความสูงถึง 120 เมตร ถือเป็นอีกหนึ่งชั้นไฮไลท์ของน้ำสายนี้เช่นเดียวกับชั้น 8

       อย่างไรก็ดี ลุงพลบอกกับผมว่า จากนี้ไปยังมี น้ำตกชั้น 10-12 อีก แต่ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ลงไปลำบากเส้นทางอันตราย มาก ซึ่งลุงพลไม่แนะนำ ครับงานนี้ผมและเพื่อนๆไม่มีใครปฏิเสธดึงดัน เพราะเท่าที่ลุยกันมาถึงแค่นี้ก็ถือว่าคุ้มมากแล้ว

       ส่วนคราวหน้าหากจะมากันอีก ผมขอเตรียมตัว เตรียมพร้อม และเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้มากกว่านี้

       ที่สำคัญคือผมต้องขอให้ 2 ผู้เชี่ยวชาญแห่งการลุยป่าร่วมทางมาด้วย

       นั่นก็คือ “รพินทร์”กับ“แงซาย”!!!

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000091603




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 25 กรกฎาคม 2556 21:04:59 น.   
Counter : 1475 Pageviews.  

ดริฟท์รถเขาใหญ่ฉาว!!! ชาวเน็ตประณาม กรมอุทยานฯเตรียมฟ้อง

ถนนบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่อนุญาตให้วิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.
กรมอุทยานฯ เตรียมฟ้องทีมงานรายการ ฅ-คนรักรถ เหตุเข้าไปถ่ายทำการดริฟต์รถลงเขาภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผิด พรบ.อุทยานแห่งชาติ หลังกลุ่มอนุรักษ์ออกมาต่อต้าน และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่ออินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ด้านรายการอ้างได้ควบคุมและป้องกันการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

       จากกรณีที่รายการ ฅ-คนรักรถ ได้ออกอากาศการดริฟท์รถแข่งลงเขา หรือ Downhill Drift Show บนเส้นทางธรรมชาติ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนักขับจาก ทีม PTT PERFORMA DRIFT TEAM ได้แก่ พีท ธนภณ ทองเจือ, เดร ดาวิเด โดริโก, เอ็ม อรรถพล ประกอบทอง, มิกซ์ ณัฐพล เตี่ยวไพบูลย์ และโจ้ วัทนพร พึ่งเพียร เป็นผู้ขับขี่ และจะมีการออกอากาศต่อเนื่องในวันจันทร์หน้า (29 ก.ค.)

ระหว่างทางจะมีป้าย "ขับช้าๆ ระวังสัตว์ข้ามถนน"
       ทั้งนี้มีผู้สังเกตว่า สถานที่ที่ทางรายการไปถ่ายทำนั้นคือที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งนับเป็นการกระทำผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2504 ในมาตรา 16 (9) ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดนำยานพาหนะเข้าออกหรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ มาตรา 16 (17) ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดส่งเสียงอื้อฉาวหรือกระทำการอื่นอันเป็นการรบกวน หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่คนหรือสัตว์ อีกทั้งภายในพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ห้ามขับรถเร็วเกินกำหนด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และห้ามส่งเสียงดังเกินกว่า 80 เดซิเบล อีกด้วย

       ต่อกรณีดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่ออินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย และทางชมรมอนุรักษ์ต่างๆ เช่น ชมรมฅนรักสัตว์-ป่า และกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ได้เรียกร้องให้ทางรายการ ฅ-คนรักรถ ยุติการออกอากาศตามวันเวลาดังกล่าว

ภาพจากเฟสบุค group ชมรมฅนรักสัตว์-ป่า ที่เผยแพร่กันในอินเตอร์เน็ต
       หลังจากมีกระแสต่อต้านการกระทำดังกล่าว รายการ ฅ-คนรักรถ ได้ประกาศผ่านหน้าเพจเฟสบุค ฅ-คนรักรถ ว่า “ในนามของรายการ ฅ-คนรักรถ ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง กับเทปรายการที่นำเสนอเนื้อหารายการในเรื่องของการโชว์ทักษะการควบคุมรถ (Drift) บนเส้นทางธรรมชาติ จนทำให้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกต่อผู้ชม เนื้อหาในการนำเสนอนี้เป็นการโชว์ทักษะการควบคุมรถซึ่งไม่ได้เป็นการแข่งขันแต่อย่างใด และทุกขั้นตอนทางรายการได้มีการควบคุมและป้องกันในเรื่องของการสร้างผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อประชาชนในสถานที่ ความปลอดภัยผู้ขับ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทีมงาน รวมถึงการไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เวลาในการถ่ายทำในระหว่างที่รถวิ่งจริงไม่ถึง 1 ชั่วโมง รายการ ฅ-คนรักรถ ขอรับในความบกพร่องครั้งนี้แต่เพียงฝ่ายเดียวและขออภัยทุกท่านอีกครั้ง และขอแจ้งให้ทราบว่าได้ระงับการออกอากาศเทปรายการที่เหลือแล้ว”

ภาพจากรายการ ฅ-คนรักรถ
       ล่าสุด ในวันนี้ (24 ก.ค.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านมากว่า 2 เดือน โดยบริษัทอมรวิชั่น เจ้าของรายการ ฅ-คนรักรถ ได้ทำหนังสือขอใช้สถานที่ถ่ายทำรายการเพื่อโฆษณารถยนต์ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นการดริฟท์รถลงเขา จึงทำให้ทีมงานเข้าไปใช้สถานที่ได้ โดยทันทีที่เจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นการดริฟท์รถ ซึ่งผิด พรบ.อุทยานแห่งชาติฯ เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปสั่งห้ามถ่ายทำทันที และเชิญทีมงานทั้งหมดออกจากพื้นที่ พร้อมทำการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย

       นอกจากนั้น ในขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ ได้ออกคำสั่งขึ้นบัญชีดำบริษัทอมรวิชั่น ห้ามทำกิจกรรมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุกแห่ง อีกทั้งได้มอบหมายทีมที่ปรึกษากฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวแล้ว ส่วนการออกอากาศตอนที่เหลือจะทำหนังสือขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้ระงับการออกอากาศ

       สำหรับ“อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2505 มีพื้นที่ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี นครนายก นครราชสีมา และสระบุรี นอกจากนั้น ยังได้รับการประกาศจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2548 โดยได้ผนวกผืนป่าอีก 4 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา-ตาพระยา-และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ นับเป็นมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000090980




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 25 กรกฎาคม 2556 5:10:19 น.   
Counter : 1236 Pageviews.  

135 ปี "ครูบาศรีวิชัย" นักบุญแห่งล้านนา ศรัทธาไม่เคยจางหาย

ครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่วัดบ้านปาง
ช่วงนี้มีข่าวไม่ดีในวงการผ้าเหลืองหลายเรื่องชวนให้หลายๆ คนเสื่อมศรัทธากับวัดและพระสงฆ์ไปตามๆ กัน

แม้ศรัทธาในวัดหรือในพระสงฆ์จะเสื่อม แต่ศรัทธาในธรรมและการทำความดีจงอย่าเสื่อม พระพุทธเจ้าเองก่อนปรินิพพานก็ตรัสสั่งให้พระธรรมคำสั่งสอนเป็นศาสดาแทนพระองค์ มิใช่ให้ยึดถือตัวบุคคล

       วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จึงอยากพาไปรู้จักกับพระสงฆ์ดีๆ ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้ ซึ่งแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วแต่เราก็สามารถเรียนรู้ประวัติของท่านเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ นั่นก็คือ “ครูบาศรีวิชัย” พระสงฆ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักบุญแห่งล้านนา” เป็นพระนักพัฒนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของผู้คนในภาคเหนือมาจนถึงทุกวันนี้

พิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง
       “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปตามรอยครูบาศรีวิชัยในสถานที่สำคัญต่างๆ พร้อมกับเล่าประวัติของท่านให้ฟังไปพร้อมๆ กัน

       ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในฐานะที่เป็นผู้นำในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จนหลายๆ คนอาจคิดว่าท่านเป็นชาวเชียงใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ครูบาศรีวิชัยมีถิ่นกำเนิดและเริ่มชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ที่จังหวัดลำพูน โดยท่านถือกำเนิดขึ้นที่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2421 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงภายในพิพิธภัณฑ์
       เมื่อยังเป็นเด็ก บิดามารดาเรียกท่านว่า อ้ายฟ้าฮ้อง หรือ อ้ายอินตาเฟือน เพราะท่านเกิดมาในขณะที่ฟ้าร้องคำรามและพายุสายฝนกระหน่ำ เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านปาง โดยมีครูบาขัติ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “สิริวิชโยภิกฺขุ” แต่ชาวบ้านมักเรียก “พระศรีวิชัย” โดยหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ไปศึกษาวิชาสมถะกรรมฐานวิปัสสนากับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ก่อนจะกลับมาที่วัดบ้านปางอีกครั้ง และได้รับการยกย่องให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสเมื่อครูบาขัติมรณภาพ

“วัดบ้านปาง” จึงเป็นวัดสำคัญที่ต้องไม่พลาดชมหากต้องการทราบเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย โดยในบริเวณวัดมีวิหารหลวงที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนามีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม และเนื่องจากเป็นวัดที่ครูบาอยู่จำพรรษานานที่สุด มีความผูกพันทั้งยามมีชีวิตและยามมรณภาพ ที่นี่จึงจัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของครูบาศรีวิชัย” ซึ่งภายในมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งครูบาศรีวิชัยขนาดเท่าคนจริงในลักษณะท่านั่ง นอกจากนั้นยังมีภาพเก่าของครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านจาริกไปในสถานที่ต่างๆ และยังมีปราสาทห้ายอดที่เคยบรรจุโลงศพและโกศบรรจุอัฐิของท่านนำมาจัดแสดงให้ได้ชมได้เคารพสักการะกันอีกด้วย

ปราสาทห้ายอดที่เคยบรรจุโลงศพและโกศบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย
       ส่วนที่ชั้นล่างของอาคาร จัดแสดงเครื่องใช้ถ้วยชามและของใช้สมัยเก่าที่หาดูหาชมได้ยาก อาทิ รถยนต์คันแรกที่ท่านเคยนั่งขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ รถสามล้อถีบของหลวงอนุสารสุนทรที่ใช้ใส่อาหารเพื่อถวายครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ เตียงนอนของครูบาศรีวิชัย และเสลี่ยงหามพาหนะสำหรับเดินทางจาริกไปในวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ

       นอกจากนั้น ที่วัดแห่งนี้ยังได้สร้างรูปปูนปั้นครูบาศรีวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ข้างอุโบสถให้ผู้ที่ศรัทธาได้กราบไหว้กันอีกด้วย

รูปหล่อครูบาศรีวิชัยด้านหน้าวัดพระสิงห์
       ย้อนกลับมาในช่วงระยะเวลาที่ท่านบวชอยู่นั้น พระศรีวิชัยมีศีลาจารวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ และงดฉันเนื้อสัตว์ แต่จะฉันอาหารเพียงมื้อเดียวซึ่งมักเป็นผักต้มและข้าวเท่านั้น อีกทั้งท่านยังมีเมตตาออกธุดงค์สั่งสอนหลักธรรมแก่ทั้งชาวบ้านและชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่ยังคงนับถือผีให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น พระศรีวิชัยจึงได้รับการยกย่องจากชาวเมืองและชาวเขาให้เป็น “ครูบาศรีวิชัย” ซึ่งคำว่า “ครูบา” นั้นเป็นคำเรียกพระเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูง แต่ครูบาศรีวิชัยขณะนั้นอายุราว 30-40 ปี เท่านั้นเอง

       แม้จะได้รับการยกย่องอย่างสูง มีแต่ผู้คนนับถือเลื่อมใส แต่ชีวิตของครูบาก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง โดยระหว่างครองผ้าเหลืองนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ (เป็นคดีในหมู่สงฆ์) ต้องถูกส่งตัวมารับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้ง โดยมีสาเหตุหลักมาจากระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนาที่ขัดกับระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ หลังจากที่ล้านนาต้องเข้ามาอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองจากส่วนกลางนั่นเอง ซึ่งสาเหตุเริ่มแรกนั้นมาจากการที่ครูบาศรีวิชัยได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิม ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2446) ที่ระบุว่าพระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางเท่านั้น

พระธาตุดอยสุเทพ ศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองเชียงใหม่
       และนั่นก็เป็นสาเหตุแรกๆ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งทำให้ท่านถูกจับกุมและควบคุมตัวมาสอบสวนยังกรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้งตามที่กล่าวไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็ยิ่งเพิ่มแรงศรัทธานับถือเลื่อมใสจากชาวบ้านมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะผลการสอบสวนแต่ละครั้งปรากฏว่าท่านมิได้ทำผิดวินัยสงฆ์แต่อย่างใด

       แม้จะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ครูบาศรีวิชัยท้อแท้หรือล้มเลิกการทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง เพราะหลังจากที่ท่านเป็นอิสระได้กลับมาครองวัดบ้านปางดังเดิมแล้ว ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มงานใหม่ของท่าน คือการธุดงค์ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ในภาคเหนือเพื่องานบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมากกว่า 100 วัด โดยเริ่มจากวัดบ้านปางที่อำเภอลี้ บ้านเกิดของท่านเอง ก่อนจะไปบูรณะวัดเชียงยันในอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งขณะนั้นแทบจะเป็นวัดร้างหญ้าขึ้นรกให้กลับกลายเป็นวัดที่มีเสนาสนะมั่นคงสะอาดสะอ้านได้ในเวลาไม่กี่เดือน เนื่องจากมีชาวบ้านจำนวนมากทั้งชาวเมืองลำพูน และเชียงใหม่ รวมไปถึงชาวป่าชาวเขาที่เคารพศรัทธาในตัวครูบาต่างมาลงแรงลงมือร่วมกันบูรณะวัดเชียงยันแห่งนี้ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นอย่างสวยงามที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ที่ชาวบ้านพากันมาขอร้องให้ท่านไปเป็นประธานในการบูรณะวัดหรือปูชนียสถานสำคัญต่างๆ

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยสุเทพ
       สำหรับในลำพูนอันเป็นบ้านเกิดของท่านนั้น ท่านได้ฝากผลงานไว้มากมาย นอกจากวัดเชียงยันแล้วก็ยังได้บูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัย ปูชนียสถานสำคัญที่สุดของเมืองลำพูนที่ทรุดโทรมมากในขณะนั้นก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ วัดจามเทวีซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้าง ครูบาศรีวิชัยก็บูรณะขึ้นใหม่ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ที่อำเภอป่าซาง ก็ได้รับการบูรณะจากวัดร้างให้กลับมาเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน

       ไม่เพียงวัดในจังหวัดลำพูนเท่านั้น แต่หลายๆ วัดในภาคเหนือ เช่น วัดพระสิงห์และวัดสวนดอกที่จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุม่อนไก่แจ้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ วัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย ฯลฯ ต่างก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ และชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยในด้านการเป็นพระนักพัฒนา นักบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเก่าแก่รกร้างให้กลับเจริญรุ่งเรืองก็เพิ่มมากขึ้น มีผู้ศรัทธาในครูบาศรีวิชัยมาร่วมงานกับท่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สถานที่บรรจุอัฐิของครูบาศรีวิชัยภายในวัดจามเทวี
       ดังนั้น งานชิ้นใหญ่และยากเย็นอย่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2477 จึงไม่มีใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำเท่าครูบาศรีวิชัยอีกแล้ว และนั่นก็เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักโดยทั่วกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยวัดพระธาตุดอยสุเทพถือเป็นปูชนียวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มายาวนาน แต่การจะเดินทางขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุในสมัยนั้นจะต้องเดินเท้าปีนเขาขึ้นไป ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงกว่าจะถึง

       “ตะลอนเที่ยว” ลองนึกภาพเมื่อราว 80 ปีก่อน ที่แม้การเดินทางสัญจรระหว่างจังหวัดยังลำบาก แต่ครูบาศรีวิชัยสามารถนำผู้คนร่วมกันสร้างถนนความยาว 11 กม. ขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพให้สำเร็จได้ภายใน 5 เดือน ทั้งที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรงอันทันสมัย นั่นก็เพราะศรัทธาที่มีต่อครูบาศรีวิชัย ชาวเมืองเหนือจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งในเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พิษณุโลกต่างก็เดินทางมาช่วยกันพร้อมหน้า บ้างถือจอบเสียมมุ่งหน้ามาลงแรงทำถนน บ้างช่วยเหลือเรื่องเงินทอง หรือส่งเสบียงเลี้ยงข้าวปลาอาหาร “ถนนศรีวิชัย” ที่มุ่งหน้าขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพจึงถือเป็นตัวแทนความสามัคคีและพลังแห่งศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อครูบาศรีวิชัย

กู่กุด วัดจามเทวี วัดที่ครูบาเป็นผู้บูรณะ และยังเป็นสถานที่ฌาปนกิจสรีระของท่านด้วย
       และเพื่อระลึกถึงคุณความดีของครูบาศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพและการบูรณะวัดต่างๆ หลายแห่งในเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่จึงได้ร่วมกันสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” ขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพ สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่จนทุกวันนี้

       ในวาระสุดท้ายของชีวิต ครูบาศรีวิชัยอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร ก่อนจะมรณภาพที่วัดบ้านปางซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2481 เมื่อท่านมีอายุ 60 พรรษา สรีระของท่านเก็บไว้ที่วัดบ้างปางเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะนำมาฌาปนกิจที่วัดจามเทวี ในเมืองลำพูน มีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจจำนวนนับไม่ถ้วน

ตลอดชีวิตของครูบาศรีวิชัยท่านไม่เคยสำแดงอภินิหาร ไม่เคยสร้างเครื่องรางของขลังใดๆ ศรัทธาที่มหาชนมอบให้เกิดจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนต่างยกย่องให้ท่านเป็น “นักบุญแห่งล้านนา” ที่ทุกคนยังคงเคารพนับถือมาจนปัจจุบัน จวบจนวันนี้นับได้ 135 ปีมาแล้ว

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000090333




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2556 21:20:56 น.   
Counter : 1495 Pageviews.  

ทำบุญหลากสีสัน เข้าพรรษาชวนมา “ตักบาตรดอกไม้” ในกรุงเทพฯ

บรรยากาศการตักบาตรดอกไม้ที่วัดราชบพิธฯ
สัปดาห์นี้มีวันหยุดยาวด้วยกันถึง 4 วัน คือนอกจากเสาร์อาทิตย์แล้วยังหยุดกันต่อในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา (22-23 ก.ค. 56) เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่หลายคนได้ไปท่องเที่ยวตามที่วางแผนไว้ หรือหยุดอยู่บ้านพักผ่อนสบายๆ รวมทั้งจะได้ไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาด้วย

       สำหรับคนกรุงที่ไม่ได้เดินทางออกต่างจังหวัด ฉันอยากจะขอเชิญชวนให้มาร่วมทำบุญวันเข้าพรรษา กับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ คือการ “ตักบาตรดอกไม้” ในกรุงเทพฯ กัน

มาร่วมตักบาตรดอกไม้ที่วัดราชประดิษฐ์
       ก่อนจะพาไปดูว่าเขาตักบาตรดอกไม้กันที่ไหน ฉันขอเล่าถึงที่มาของประเพณีการตักบาตรดอกไม้ให้ฟังสักนิดหนึ่ง ตำนานเล่าว่า ย้อนไปในพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก ในแต่ละวันจะรับสั่งให้นายสุมนมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายวันละ 8 ทะนาน แต่เช้าตรู่ทุกวัน เพื่อแลกกับทรัพย์วันละ 8 กหาปณะ

       อยู่มาวันหนึ่ง นายสุมนมาลาการกลับนำดอกไม้ที่จะต้องให้พระเจ้าพิมพิสารไปถวายพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ถวายบูชาแก่พระพุทธองค์ สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า หากถูกประหารชีวิตเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยอม

       เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ พระองค์มิทรงกริ้ว แต่กลับตรัสยกย่องสรรเสริญนายสุมนมาลาการว่าเป็นมหาบุรุษ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์สิ่งของให้มากมาย และนับแต่นั้นมานายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์ทั้งปวง ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อเกิดเป็นความเชื่อสืบต่อมาจนเกิด "ประเพณีตักบาตรดอกไม้" ขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

วัดบวรนิเวศ อีกหนึ่งวัดที่มีประเพณีการตักบาตรดอกไม้
       หากพูดถึงวัดที่เป็นต้นแบบการตักบาตรดอกไม้ก็คือ “วัดพระพุทธบาท สระบุรี” ที่พุทธศาสนิกชนจะใช้ “ดอกเข้าพรรษา” มาถวายพระ ดอกเข้าพรรษานี้มีลักษณะคล้ายกับต้นกระชายหรือขมิ้น ดอกสีเหลือง สีขาว และสีน้ำเงินม่วง (นิยมใช้สีเหลืองถวายพระ) ต้นดอกไม้เข้าพรรษานี้จะขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ ๆ กับรอยพระพุทธบาท และจะผลิดอกเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น จนชาวบ้านเรียกกันว่า  "ต้นเข้าพรรษา”

       และสำหรับในกรุงเทพฯ ก็มีการจัดกิจกรรมตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษาเช่นกัน โดยวัดที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีก็คือ “วัดบวรนิเวศ” “วัดราชประดิษฐ์” “วัดราชบพิธ” “วัดเทพศิรินทร์” และ “วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก” โดยส่วนมากในกรุงเทพฯ จะใช้ดอกไม้ที่หลากหลายมาใส่บาตร ไม่ว่าจะเป็นดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกกล้วยไม้ ดอกพุทธรักษา ดอกมะลิ ดอกเบญจมาศ เป็นต้น แล้วแต่ความสะดวกและศรัทธา ซึ่งแต่ละคนก็จะพยายามทำดอกไม้ของตนให้งามที่สุด บ้างก็นำดอกบัวมาบรรจงพับกลีบให้สวยงาม บ้างก็นำดอกมะลิมาร้อยเป็นพวงมาลัย บ้างก็นำดอกกุหลาบมาเด็ดหนาม หรือจัดรวมช่อให้สวยงาม

ดอกไม้สวยๆ ที่นำมาถวายพระ
       ส่วนการตักบาตรดอกไม้ก็คล้ายการตักบาตรตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนจากภัตตาหารต่างๆ มาเป็นดอกไม้ โดยญาติโยมและพุทธศาสนิกชนจะมารอจับจองพื้นที่เตรียมใส่บาตรกันก่อนเวลา บ้างก็เตรียมเสื่อผืนเล็กๆ มาปูนั่งรอ และเมื่อได้เวลาพระสงฆ์จะเดินเรียงแถวออกมารับบาตรบริเวณรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารของแต่ละวัด เมื่อรับบาตรดอกไม้จากญาติโยมเสร็จเรียบร้อยก็จะเข้าไปสวดมนต์ทำวัตรกันต่อไป

       สำหรับผู้ที่มาร่วมงาน นอกจากจะตักบาตรดอกไม้กับพระสงฆ์แล้ว ก็อย่าลืมนำดอกไม้ไปกราบสักการะพระพุทธรูปในพระอุโบสถและพระวิหารอธิษฐานตั้งจิตเป็นกุศล และเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดกันด้วย อาทิ ที่ “วัดบวรนิเวศ” จะได้กราบพระพุทธชินสีห์และหลวงพ่อศาสดา พระประธานคู่ในพระอุโบสถ และจะได้กราบพระบรมสารีริกธาตุที่องค์เจดีย์ พร้อมทั้งได้กราบพระไพรีพินาศบนลานเจดีย์อีกด้วย

แม้ฝนตกก็ยังมีผู้มารอตักบาตรดอกไม้
       ส่วนที่ “วัดราชประดิษฐ์” ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 แม้จะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น จะได้กราบพระพุทธสิหังคปฏิมากร พระพุทธรูปประธานในวิหารหลวง อีกทั้งภายในพระวิหารยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน และภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนที่รัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องชมจันทรุปราคาอีกด้วย

“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 มีไฮไลต์อยู่ตรงที่ภายในพระอุโบสถมีความสวยงามอลังการตามแบบตะวันตกทั้งที่เป็นวัดไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธาน พระอุโบสถนี้ปกติจะเป็นเฉพาะช่วงทำวัตรเช้าเย็น จึงเป็นโอกาสดีที่คราวนี้เราจะได้เข้าไปกราบพระกัน ส่วนที่ “วัดเทพศิรินทร์” ที่ภายในพระอุโบสถงดงามไม่เหมือนวัดอื่นๆ ตรงที่พระประธานนั้นประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีทรงประสาทจตุรมุข และที่ “วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก” ก็จะได้นำดอกไม้นั้นมาสักการะพระพุทธกาญจนธรรมสถิต พระประธานในพระอุโบสถด้วยกัน

       ในปีนี้ผู้ที่สนใจสามารถมาร่วมตักบาตรดอกไม้กันได้ตามวัดที่กล่าวไปแล้ว ใครใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น โดย “วัดบวรนิเวศ” จัดประเพณีตักบาตรดอกไม้เวลาประมาณ 16.00 น. “วัดราชประดิษฐ์” จัดงานเวลาประมาณ 15.00 น. “วัดราชบพิธ” จัดงานเวลาประมาณ 17.00 น. “วัดเทพศิรินทร์” จัดงานเวลาประมาณ 13.00 น. และ “วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก” เวลาประมาณ 16.00 น.

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000088636




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 22 กรกฎาคม 2556 20:36:54 น.   
Counter : 1631 Pageviews.  

นับถอยหลัง อลังการงานพุทธศิลป์ “วิหารเทพวิทยาคม” วิหารธรรมใหญ่สุดในเอเชีย

“วิหารเทพวิทยาคม” แห่งวัดบ้านไร่
พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ มีความตั้งใจพัฒนาวัดบ้านไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่สำคัญ สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ โครงการอุทยานธรรมวัดบ้านไร่จึงได้ถือกำเนิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดบ้านไร่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของ จ.นครราชสีมา

จิตรกรรมฝาผนังของวิหารทำจากแผ่นเซรามิก
       ปัจจุบันโครงการนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างมาถึงส่วนที่ 3 คือ “วิหารเทพวิทยาคม” วิหารพระไตรปิฎก เป็นวิหารเซรามิกกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย นำเสนอเรื่องราวแห่งพระไตรปิฎก ทั้ง 3 ตะกร้า อาทิ พุทธประวัติ พระวินัย และพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด มาถ่ายทอดผ่านศิลปะ

       โดยได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงเทวดา เพื่อความเป็นสิริมงคล และจัดแถลงข่าว “โครงการอุทยานธรรมวัดบ้านไร่ ส่วนที่ 3 วิหารเทพวิทยาคม” ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา โดยมี เกรียงไกร จารุทวี รองประธานกรรมการวัดบ้านไร่ และ สัมพันธ์ สารารักษ์ ที่ปรึกษาด้านศิลปกรรมวัดบ้านไร่ ร่วมแถลงข่าว

รูปหล่อโลหะหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
       วิหารเทพวิทยาคม เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 บนพื้นที่กลางบึงน้ำขนาด 30 ไร่ ภายในวัดบ้านไร่ ส่วนบริเวณวิหารมีขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร องค์วิหารเป็นอาคารลักษณะทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร สูงประมาณ 42 เมตร มีทั้งหมด 4 ชั้น ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2556

       สำหรับเอกลักษณ์ของวิหารเทพวิทยาคมนี้เริ่มต้นด้วย “สะพานพญานาค” ที่ทอดกายเป็นสะพานแห่งศรัทธาเดินข้ามผ่านโลกมนุษย์สู่โลกแห่งธรรม จากนั้นจะเป็น “ซุ้มประตูบารมีทั้ง 4 ทิศ” ได้แก่ ซุ้มพระอินทร์ ซุ้มพระยม ซุ้มพระพิรุณ และซุ้มพระกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ) ส่วน “เสารอบอาคาร” เป็นเสาที่บรรจุภพชาติที่พระพุทธเจ้าถือกำเนิดทั้ง 523 ชาติไว้รอบๆ ด้านผนังรอบนอกนำเสนอจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ทศชาติชาดก” เป็นจิตรกรรมเขียนสีแผ่นเซรามิก

เศียรพญานาค บริเวณ สะพานพญานาค
       นอกจากนี้ภายในวิหารยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาอีกมากมาย อาทิ เรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่สมัยกำเนิดพระพุทธเจ้า เรื่องราวของพระวินัยปิฎกและวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เรื่องราวของพระธรรมปิฎก เป็นต้น

ทั้งนี้วิหารเทพวิทยาคม คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ชาวไทยได้เข้าชมในเดือนตุลาคมนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-1828-7616 หรือ //www.watbaanrai.com

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000086499




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 17 กรกฎาคม 2556 21:17:37 น.   
Counter : 2616 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]