เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

กระเจียวงามสะพรั่ง ชุ่มฉ่ำรับหน้าฝน ณ “สวนสวรรค์สุพรรณบุรี”



       ทุ่งดอกกระเจียว สื่อรักวันแม่



       ช่วงหน้าฝนแบบนี้ เป็นฤดูกาลที่อากาศชุ่มฉ่ำเย็นสบาย และเป็นใจให้กับต้นไม้ดอกไม้ได้ผลิดอกออกใบให้ได้ชื่นชมกัน ตัวอย่างเช่น “ดอกกระเจียว” อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ ที่จะผลิดอกสีชมพูอมม่วง ชูช่ออย่างสวยงามอยู่กลางทุ่ง ให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายได้เข้าไปสัมผัสความงดงาม

       ใครที่อยากชมดอกกระเจียวสวยๆ แต่ไม่อยากขับรถออกจากกรุงเทพฯ ไปไกลๆ หรือมีเวลาว่างไม่มากนัก ก็ยังสามารถชมความงามของดอกไม้พันธุ์นี้ได้ที่ “สวนสวรรค์สุพรรณบุรี” หรือ “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง)” ที่ตั้งอยู่ใน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี



       กิโมโนโรส



       โดยตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2556 จะมีการจัดสวนสวยให้กลายเป็น “ทุ่งดอกกระเจียว สื่อรักวันแม่” มีการรวบรวมพันธุ์กระเจียว และปทุมมา นำมาปลูกเพาะพันธุ์ และตกแต่งอยู่ในสวน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชื่นชมและถ่ายภาพกันได้

       กระเจียวและปทุมมานั้นเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับขิงและข่า ซึ่งแยกออกเป็นสายพันธุ์กระเจียว และสายพันธุ์ปทุมมา โดยในแต่ละสายพันธุ์นั้นก็ยังแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด และที่ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงแห่งนี้ก็นำมาปลูกให้ชมกันหลายชนิด อาทิ กิโมโนโรส (Kimono Rose) เขียวช็อคโกแลต (Green Chocolate) ไวท์พีซ (White Peace) เป็นต้น



       กระเจียวและปทุมมาที่จัดอยู่ในสวน



       ที่บริเวณทุ่งดอกกระเจียว จะจัดมุมไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพสวยๆ คู่กับดอกไม้ มีมุมให้นั่งเล่นสบายๆ รับลมเย็นๆ ริมสวนสวย และยังมีมุมที่จัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนำไปทดลองปลูกเองที่บ้านได้ด้วย

       สำหรับที่ “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง)” เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมการเพาะปลูกของเกษตรกร มีการขยายพันธุ์ต้นกล้าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงเรือน ด้วยการใช้เนื้อเยื่อ และแจกจ่ายหรือจำหน่ายให้เกษตรกร และเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้ กับผู้ที่สนใจและศึกษาค้นคว้าพันธุ์พืชใหม่ๆ และปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในศูนย์ด้วย



       เดินชมสวนสวยๆ ในบรรยากาศสบายๆ



       สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและต้นไม้ดอกไม้ นอกจากจะมีการจัดทุ่งดอกกระเจียวให้ได้ชมกันแล้ว ภายในศูนย์ยังมีจุดต่างๆ ให้เข้าไปชมอีก เช่น โรงเรือนเพาะพันธุ์ต้นไม้ดอกไม้ สวนกุหลาบแวร์ซายน์ ทุ่งปอเทือง เป็นต้น ซึ่งหากชอบต้นไม้ดอกไม้ชนิดไหน ทางศูนย์ก็ยังมีพันธุ์จำหน่ายสำหรับนำกลับไปปลูกที่บ้าน สามารถเลือกซื้อได้ที่บริเวณ “เรือนพรรณไม้งาม” มีทั้งดอกไม้สวยๆ ไม้ประดับ พืชผักสวนครัว ให้เลือกซื้อกันหลากหลายสายพันธุ์

       นอกจากในช่วงเดือนสิงหาคม ที่มีการจัดเทศกาลทุ่งดอกกระเจียวแล้ว ในแต่ละเทศกาลของแต่ละปี ทางศูนย์ก็จะจัดให้มีปฏิทินท่องเที่ยวชมดอกไม้ภายในศูนย์หมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล เริ่มต้นด้วย “มหัศจรรย์ทิวลิปบานที่สุพรรณบุรี” จัดขึ้นในช่วงปีใหม่ สามารถมาชมดอกทิวลิปที่ทางศูนย์เพาะพันธุ์และจัดแสดงไว้ภายในโรงเรือน จากนั้นชม “กุมภาพันธ์สัญญารัก” ณ สวนกุหลายแวร์ซายน์ ที่มีกุหลาบสีสวยหลายสายพันธุ์ผลิดอกงามๆ มาเป็นพยานในเดือนแห่งความรัก ต่อด้วย “ทุ่งดอกกระเจียว สื่อรักวันแม่” ในช่วงเดือนสิงหาคม “ทุ่งทานตะวันบานที่สุพรรณบุรี” ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และ “เทศกาลไม้ดอกเมืองหนาว” ช่วงเดือนธันวาคม



       เรือนพรรณไม้งาม เลือกซื้อพันธุ์ไม้กลับบ้านได้



       ใครที่มีใจรักต้นไม้ดอกไม้ หรือชอบชมดอกไม้สวยๆ ก็สามารถมาเที่ยวที่ “สวนสวรรค์สุพรรณบุรี” หรือ “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง)” กันได้ตลอดทั้งปี

       *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *  

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ตั้งอยู่ที่ ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-3543-7704-5, 08-9837-3277


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093247




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 31 กรกฎาคม 2556 20:43:41 น.   
Counter : 1046 Pageviews.  

เที่ยวหอยหิน กินลำไย ไหว้หลวงปู่ขาว ที่หนองบัวลำภู

จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย ขอเชิญผู้ที่สนใจเที่ยวชมงาน “เทศกาลเที่ยวหอยหิน กินลำไย ไหว้หลวงปู่ขาว ประจำปี 2556” ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2553 ณ ลานหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

       นางสาวยุพา ปานรอด ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเลย กล่าวว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดหนองบัวลำภูที่น่าเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะ นอกจากนี้ยังเป็นดินแดนที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมแหล่งอารยธรรมทางธรรมชาติ ซากหอยดึกดำบรรพ์ยุคจูราสสิก อายุราว 140-150 ล้านปี ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เป็นจำนวนมาก กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ พิธีไหว้หลวงปู่ขาวและกิจกรรมปฏิบัติธรรม ขบวนแห่เทศกาลเที่ยวหอยหิน กินลำไย ไหว้หลวงปู่ขาว ขบวนแห่ของดี 10 หมู่บ้านและขบวนแห่สินค้าทางการเกษตร 10 หมู่บ้าน ประกวดลำไยพันธุ์ดี แข่งขันกินลำไย การประกวดมิสฟอสซิล การประกวดแข่งขันร้องเพลงและทีมหางเครื่อง การแสดงพื้นบ้านของผู้สูงอายุ และเยาวชน

       สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน โทร. 0-4200-0048 และที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย โทร. 0-4281-2812,0-4281-1405


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093772




 

Create Date : 30 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 30 กรกฎาคม 2556 21:55:50 น.   
Counter : 1120 Pageviews.  

ขาดได้ก็ซ่อมได้..."เราจะกลับมา" ศรัทธายังแรงกล้าที่ “สะพานมอญ” สังขละบุรี

น้ำป่าเชี่ยวกรากพัดจนสะพานมอญขาดพัง
       หลังจากฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” สะพานไม้ที่ได้ชื่อว่ามีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสังขละบุรี ถูกน้ำป่าที่ไหลเชี่ยวรวมถึงตอไม้และแพที่หลุดจากหลักปะทะกับเสาสะพาน ทำให้สะพานมอญขาดยาวกว่า 30 เมตร ผู้คนไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ตามปกติ

สะพานมอญในอดีต (ปี 2550)
       สำหรับสะพานมอญซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของสังขละบุรี มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" โดยตั้งตามชื่อของพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะแห่งวัดวังก์วิเวการาม พระเกจิซึ่งเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองสังขละ ซึ่งท่านเป็นผู้ดำเนินการสร้างสะพานขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่ออุตตมะ โดยชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นในปี 2528 ใช้เวลาสร้าง 2 ปี จนมาเสร็จสิ้นในปี 2530 กล่าวกันว่าท่อนไม้ใหญ่ที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลม ตัวสะพานยาว 455 เมตร ทอดข้ามลำน้ำซองกาเลีย และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตัวอำเภอสังขละบุรีกับหมู่บ้านชุมชนชาวมอญอีกฝั่งหนึ่งเข้าด้วยกัน

บรรยากาศเก่าๆ ของสะพานไม้ในอดีต
       สะพานไม้แห่งนี้ แม้สร้างด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่กลับดูสวยงามคลาสสิก อีกทั้งยังเป็นสะพานที่มีชีวิต จากภาพวิถีชาวแพในลำน้ำเบื้องล่าง และภาพวิถีของผู้คนที่เดินข้ามฝั่งไปมา โดยเฉพาะภาพวิถีชาวมอญ ที่ยามเช้าจะเห็นสาวๆ ชาวมอญทาแป้งทานาคาเดินเทินของบนศีรษะข้ามจากฝั่งมอญไปทำงานฝั่งเมืองกันอย่างคึกคัก

สะพานไม้มอญที่เพิ่งซ่อมแซมเสร็จใหม่ (ปี2556)
       ในปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ระดับน้ำในเขื่อนเขาแหลมเองก็ได้เพิ่มสูงมากจนกระทั่งท่วมสะพานไม้ และเอ่อล้นเข้าท่วมฝั่งบ้านเรือนริมฝั่งน้ำด้วยเช่นกัน แต่หลังจากนั้นสะพานไม้ก็ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่เกิดความเสียหายหนักหนาแต่อย่างใด

โครงสร้างสะพานที่ทำด้วยไม้
       หลังจากการใช้งานมากว่า 20 ปี จากเดิมที่ทุกปีชาวบ้านจะช่วยกันซ่อมแซมตามสภาพ สะพานมอญที่ใช้งานมายาวนานเริ่มชำรุดจนอาจเป็นอันตรายกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมสะพานครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 โดยเทศบาลสังขละบุรี โดยเมื่อซ่อมเสร็จ หน้าตาของสะพานได้เปลี่ยนไปบ้าง จากเดิมที่มีแผ่นไม้สั้นบ้างยาวบ้างปูเป็นพื้นดูไม่เป็นระเบียบแต่สวยงามคลาสสิค ก็กลายเป็นแผ่นไม้ขนาดเท่ากันวางเรียงเป็นระเบียบดูมั่นคงแข็งแรง นอกจากนั้นยังติดตั้งเสาไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยหัวเสาเป็นหงส์สีทองคาบโคมไฟตลอดแนวสะพาน ซึ่งบางคนกล่าวว่าแม้สะพานจะดูสวยงามแข็งแรงขึ้น แต่ก็ขาดเสน่ห์ความคลาสสิคแบบดั้งเดิมไป

อีกไม่นานสะพานไม้คงได้รับการซ่อมแซมกลับมาดังเดิม
       จนเมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) ได้มีฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทะลักลงมาสมทบ ทำให้แพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำซองกาเลียพร้อมทั้งท่อนไม้ที่ลอยมากับน้ำกระแทกตอม่อจนต้านไม่ไหว ทำให้ช่วงกลางสะพานพังลงเป็นระยะทางรวมกว่า 70 เมตร ทั้งนี้การซ่อมแซมต้องรออีกประมาณ 1 อาทิตย์ให้น้ำลดเสียก่อน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้หารือกับทางวัดวังก์วิเวการามในการดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาสะพานขาดต่อไป

       ทั้งนี้หลังข่าวสะพานมอญขาดเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ในโลกไซเบอร์ ได้มีการส่งข้อความให้กำลังใจต่อชาวสังขละเป็นจำนวนมาก พร้อมเชื่อมั่นว่าสะพานมอญจะได้รับการซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้ดังเดิมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีเสน่ห์ของสังขละบุรีโดยเร็ววัน ดังที่ปรากฏในหน้าเพจของ ททท.กาญจนบุรี ว่า

" เ ร า จ ะ ก ลั บ ม า "

ขอบคุณทุก ๆ แรงใจ ที่รักและเป็นห่วงเรา เรายังสบายดี และเสียหายเพียงแค่บางส่วน ... เราเกิดมาจากแรงศรัทธาของคนที่นี่ เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เราผ่านการซ่อมแซมมาแล้วถึง 5 ครั้ง และในครั้งนี้ก็เช่นกัน ศรัทธาของพวกคุณทุก ๆ คนจะยังทำให้เรายืนหยัดอยู่ต่อไป

ขอเวลาเราซักนิด ... ไม่ช้าเราจะกลับมา

       ***********************************************************

สำหรับผู้ที่อยากช่วยบูรณะฟื้นฟูสะพานไม้มอญ สามารถบริจาคเงินสมทบทุน ได้ ณ วัดวังก์วิเวการาม หรือ ที่ตู้รับบริจาคบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่ง หรือ โอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสังขละบุรี ชื่อบัญชี “วัดวังก์วิเวการาม (สะพานไม้)” บัญชีเลขที่ 679 216755 4 ได้ตามจิตศรัทธา

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093048




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 29 กรกฎาคม 2556 22:28:16 น.   
Counter : 1468 Pageviews.  

สืบสาน “หนังใหญ่วัดขนอน” ด้วย “หลักสูตรท้องถิ่น” อนุรักษ์ “ศาสตร์-ศิลป์” แห่งแผ่นดินสยาม

การแสดงหนังใหญ่
“หนังใหญ่” เป็นมหรสพเก่าแก่ของไทยที่เกิดขึ้นมาในสมัยกรุงสุโขทัย โดยนิยมเล่นกันในวังหรืองานพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาศิลปะการแสดงแขนงนี้ได้ถูกทำลายไปเกือบหมดเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ก่อนที่จะถูกรื้อฟื้นกลับคืนมาอีกครั้งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

       ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้ “หนังใหญ่” ได้รับความนิยมลดน้อยลงไป ถูกหลงลืมจนเกือบจะสูญหาย ทั้งๆ ที่การแสดงหนังใหญ่เป็นต้นกำเนิดของ “โขน” และเป็นศาสตร์ของการแสดงชั้นสูงที่ผสานศิลปะอันทรงคุณค่าหลายแขนง

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ มิวเซียมสยาม จึงร่วมกับ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี จัดกิจกรรม “คน เชิด หนัง” ภายใต้โครงการ Museum Family พร้อมชวนคนไทยร่วมเรียนรู้วิถีและความเป็นมาของ “หนังใหญ่” ผ่านการเสวนาในหัวข้อ “เล่าเรื่องราวเส้นทางหนังใหญ่ที่หายไป” ว่าเพราะเหตุใดมหรสพโบราณอันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของไทย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูงจึงเกือบที่จะสูญหายไปจากสังคมไทย

ลีลาท่าทางการเชิดหนัง
       สำหรับ “หนังใหญ่วัดขนอน” ได้มีการสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) โดยหนังใหญ่ชุดแรกที่สร้างขึ้นคือชุด “หนุมานถวายแหวน” และต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง 313 ตัว เป็นวัดเพียงแห่งเดียวที่มีมหรสพเป็นของวัด มีตัวหนังและคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์ และมีการสืบสานศิลปะการแสดงหนังใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน กล่าวในเวทีเสวนาว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงที่หนังใหญ่ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง จากเดิมที่เคยแสดงอยู่แต่ในรั้ววังก็ถูกนำออกมาสู่บ้านของเจ้านายและขยายมาสู่วัด จาก “หนังหลวง” กลายมาเป็น “หนังราษฎร์” ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ต่อมาเมื่อมีวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 6 หนังใหญ่ก็เริ่มไม่มีผู้ชม จึงเริ่มมีการนำการแสดง “โขน” เข้ามารวมกับหนังใหญ่ที่เรียกว่า “หนังติดตัวโขน”

       “พอแสดงร่วมกันไปผู้ชมก็รู้สึกว่าโขนนั้นสนุกกว่าหนัง ก็เลยเหลือแต่การแสดงโขนเพียงอย่างเดียว ตรงนี้จะเห็นได้จากฉากทางด้านหลังของการแสดงโขนนั้นคือฉากของหนังใหญ่นั่นเอง ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดงหรือมหรสพความบันเทิงแขนงต่างๆ ก็ถูกวางลง ประกอบกับหลวงปู่กล่อมผู้สร้างหนังใหญ่ของวัดขนอนได้มรณภาพลงในปี 2485 หนังใหญ่ก็ถูกวางเก็บทิ้งไว้ในยุ้งฉางจนขาดชำรุดไปตามกาลเวลา ทำให้การแสดงแขนงนี้เกือบจะสูญหายไป” พระครูพิทักษ์ศิลปาคมกล่าว

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม
       เมื่อตัวหนังถูกวางทิ้งไม่มีคนสนใจ แต่ชาวต่างชาติกลับเห็นคุณค่าและความสวยงาม ตัวหนังใหญ่จึงถูกขายออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีมีตัวหนังใหญ่เก็บไว้มากถึง 352 ตัว หนังใหญ่จึงแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย คงเหลือไว้เพียง 2 แห่งคือที่ หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี และ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีการอนุรักษ์และสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

       “แต่หนังใหญ่ยังไม่ตาย เพราะผู้เฒ่าผู้แก่หลายๆ คนยังพอที่จะเล่นได้ ก็ได้มีความพยายามที่จะอนุรักษ์การแสดงแขนงนี้ให้อยู่คู่กับวัด ให้อยู่คู่กับชุมชนกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี 2532 ให้อนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำตัวหนังขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการแสดง ส่วนของเดิมทั้งหมดให้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนเพื่อสืบสานศิลปะที่ทรงคุณค่านี้เอาไว้” เจ้าอาวาสวัดขนอนกล่าว

นายจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงษ์ ผู้จัดการการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน กล่าวว่าปัจจุบันหนังใหญ่วัดขนอนได้มีอนุรักษ์และการถ่ายทอดศิลปะการเชิดหนังโดยจัดทำเป็น “หลักสูตรการเรียนรู้เสริมทักษะ” หรือที่เรียกว่า “หลักสูตรท้องถิ่น” เป็นวิชาเลือกเสรีของโรงเรียนวัดขนอน ที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรมาแล้วประมาณ 6 ปี โดยมีเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเข้ามาร่วมสืบสานอย่างต่อเนื่อง

นายจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงษ์
       “การเชิดหนังจะเรียนได้เฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้น ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะให้เรียนรู้ในเรื่องของดนตรีไทย และการตอกฉลุลายหนัง โดยเด็กชายจะได้รับการฝึกการแสดงหนังใหญ่ตั้งแต่ชั้น ป.4 ไปจนถึงมัธยม ส่วนเด็กผู้หญิงก็ได้รับการฝึกฝนในเรื่องของดนตรีไทยตั้งแต่ชั้น ป.3 ส่วนการตอกฉลุลายหนังเหมาะกับเด็กชั้น ป.5 ขึ้นไป เพราะต้องใช้สมาธิ โดยทั้งหมดจะใช้ความสมัครใจเป็นหลักในการคัดเลือก แต่ทุกวันนี้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องนักแสดง เพราะเด็กบางคนเมื่อจบชั้นประถมก็ต้องย้ายไปเรียนในเมือง และหลายๆ ครอบครัวก็มองว่าการแสดงหนังใหญ่ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงและสามารถเลี้ยงครอบครัวได้” นายจฬรรณ์ระบุ

       ปัจจุบันทางวัดขนอนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน” จ.ราชบุรีขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ชุดเก่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และจัดให้มีการแสดงหนังใหญ่เป็นประจำทุกวันเสาร์เวลา 10.00-11.00 น. เพื่อสืบสานการแสดงอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป

       “หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่ประกอบไปด้วย หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์ และวรรณศิลป์ รวมเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นการอนุรักษ์หนังใหญ่จึงเท่ากับว่าเป็นการอนุรักษ์ศาสตร์และศิลป์ที่ทรงคุณค่าทั้ง 5 แขนงของไทยเอาไว้ด้วย เพราะวัฒนธรรมไทยบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของความเป็นคนไทย บ่งบอกถึงความเป็นชาติ คนไทยทุกคนจึงต้องร่วมกันสืบสานศิลปะของไทยทุกแขนงให้ดำรงคงอยู่ไว้ เพราะถ้าเราหลงลืมวัฒนธรรมไทยก็เท่ากับว่าเรากำลังหลงลืมชาติ” พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอนกล่าวสรุป.

       สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังใหญ่วัดขนอน โทร. 0-3223-3386, 08-1753-1230

       *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *  


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000087149




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 28 กรกฎาคม 2556 20:08:06 น.   
Counter : 1144 Pageviews.  

หลบมลพิษ พักผ่อนเติมพลังใกล้ๆ กรุงที่ “บางปู”

“ศาลาสุขใจ” สถานตากอากาศบางปู
การดำเนินชีวิตในเมืองกรุงนั้น สิ่งที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ”มลพิษ” ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียงหรือมลพิษทางอากาศล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หากใครที่กำลังมองหาสถานที่ที่ใช้เป็นที่หลีกหนีจากมลพิษเหล่านี้ในช่วงเวลาสั้นๆแล้ว “สถานตากอากาศบางปู” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวหลบมลพิษใกล้กรุงที่เหมาะสำหรับชีวิตคนทำงานที่ไม่ค่อยจะมีเวลาในการพักผ่อน

       “สถานตากอากาศบางปู” ตั้งอยู่ที่ กิโลเมตรที่ 37 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก สถานตากอากาศบางปูแห่งนี้มีชื่อว่า "บางปู" มาแต่เดิม ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนริมชายทะเลอ่าวไทยที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีต โดยสถานตากอากาศบางปูแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 จากดำริของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และปัจจุบัน สถานตากอากาศบางปูอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมพลาธิการทหารบก

“สะพานสุขตา” มีวิวสวยๆตลอดเส้นทาง
       สิ่งที่โดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์คงหนีไม่พ้น “สะพานสุขตา” สะพานคอนกรีตที่ทอดยาวลงไปสู่ทะเลอ่าวไทย บริเวณสะพานสุขตาแห่งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทอดน่องกินลมชมวิวได้ตลอดเส้นทาง โดยปลายสุดของสะพานนั้นเป็นที่ตั้งของ "ศาลาสุขใจ" ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารร้านอาหารและห้องจัดเลี้ยง โดยจะมีจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งบริเวณหลังอาคารสุขใจแห่งนี้

       ทัศนียภาพโดยรอบของสถานตากอากาศบางปูนั้น เป็นภาพบรรยากาศของป่าชายเลนริมทะเลอ่าวไทย อีกทั้งเมื่อเวลาน้ำลดก็สามารถที่จะเห็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากมายที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน โดยเฉพาะ "ปลาตีน" ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นครั้งแรกในความแปลกของรูปร่างหน้าตาและการดำรงชีวิต ในส่วนของจุดชมวิวด้านหลังศาลาสุขใจก็สามารถที่จะมองเห็นทะเลอ่าวไทยได้ไกลสุดลูกหูลูกตา และยังได้สูดอากาศบริสุทธิ์ที่พัดมาจากทะเลและจากป่าชายเลนขณะที่กำลังชมวิวอีกด้วย

สามารถพบ “นก” กำลังออกหากินได้ตลอดเส้นทาง
       นอกจากจะเป็นสถานตากอากาศที่ได้รับความนิยมใกล้กรุงแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในการดูนกอีกด้วย เพราะในป่าชายเลนย่านบางปูแห่งนี้เป็นสถานที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ ที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าหนาวที่จะสามารถพบเห็นนกนางนวล ที่อพยพหนีหนาวจากไซบีเรียมาในช่วงนี้ของทุกๆ ปี

       ใกล้กันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี ” โดยมีเส้นทางเดินลัดเลาะเพื่อเที่ยวชมทัศนียภาพภายในป่าชายเลน ภายในเป็นที่ตั้งของหอดูนกขนาดเล็กที่ใช้ในการสังเกตพฤติกรรมของนกในธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

จุดชมวิวด้านหลัง ”อาคารสุขใจ” ชมวิวอ่าวไทยสุดสายตา
       และหากเที่ยวเสร็จแล้วและกำลังมองหาของร้านของฝากติดไม้ติดมือหรือร้านแวะพักกินอาหารเติมพลัง เพียงย้อนกลับไปยังเขตอำเภอเมืองไม่ไกลมากนัก บริเวณ”ย่านปากน้ำ” ท่าเรือข้ามฟาก จะเป็นที่ตั้งของร้านขายของและร้านอาหารมากมาย ให้เลือกซื้อกลับบ้านหรือแวะพักกินกันได้ตามใจ (คลิกอ่านร้านอาหารแนะนำ ”ย่านตลาดปากน้ำ” ได้ตามลิงค์นี้)

       สถานตากอากาศบางปูแห่งนี้ คงจะทำให้ใครหลายคนที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวได้เต็มอิ่มกับการพักผ่อนหย่อนใจและชาร์จแบตเพื่อเติมพลังให้กับตัวเอง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในความทรงจำของใครหลายๆคนที่สามารถกลับมาแวะเวียนเพื่อได้เสมอ

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกฯ (บางปู)”
**********************************************************************************

สถานตากอากาศบางปู เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-20.00 น. ไม่มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม

การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว : ใช้เส้นทางถนนสุขุมวิทสายเก่า โดยมีจุดสังเกต คือ นิคมอุตสาหกรรมบางปูจะอยู่
ทางซ้ายมือ ส่วนสถานตากอากาศบางปูนั้นจะอยู่ทางขวามือ
รถสาธารณะ : รถโดยสารประจำทางปอ. สาย 8 ,11,25, 55,102, 142, 155 507, 508 และ 511 รถโดยสารประจำทางธรรดาสาย 25, 102 และ 145 ลงตลาดปากน้ำ แล้วต่อรถเมล์เล็กสาย 36, จากนั้นต่อรถสองแถวปากน้ำ-วัดตำหรุ, ปากน้ำ-นิคมบางปู และปากน้ำ-คลองด่าน และไปลงปากทางเข้าสถานตากอากาศบางปู


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000091462




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2556   
Last Update : 27 กรกฎาคม 2556 22:53:16 น.   
Counter : 1187 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]