เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี

       โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
วันนี้เกาะพยามยังคงไว้ซึ่งความสงบงาม ไม่พลุกพล่าน
       ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

       และด้วยความพยายาม จึงมีเรื่องเล่าถึงที่มาของชื่อเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดระนองว่า สมัยก่อนการเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้ แต่ละวันมีเรือออกจากฝั่งเพียงเที่ยวเดียว ถ้าพลาดก็ต้องรอวันถัดไป ในขณะที่ขากลับนั้นก็ต้องอาศัยการโบกเรือที่แล่นผ่านไปแวะกลับฝั่งเป็นหลัก

       นับเป็นเกาะที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการไปมาสู่ ชาวบ้านจึงเรียกเกาะๆนี้ ว่า “เกาะพยายาม” แต่ในภาษาใต้นิยมพูดห้วนๆสั้นๆ เกาะพยายาม จึงกร่อนเสียงเป็น “เกาะพยาม” มาจนทุกวันนี้

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
มุมสงบ เป็นส่วนตัว บนเกาะพยาม
       1...

       “เกาะพยาม” ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง เป็นเกาะใหญ่หนึ่งในสองเกาะของทะเลระนอง(อีกเกาะหนึ่งคือเกาะช้างที่มีขนาดใหญ่สุดของระนอง) ที่วันนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานชุมพร ที่ดูแลพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง ได้ส่งเสริมผลักดันให้เกาะแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของผู้นิยมเที่ยวเกาะ เที่ยวทะเล

       เกาะพยามมีพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร(อยู่ห่างจากเกาะช้างมาทางใต้ประมาณ 4 กม.) ลักษณะของเกาะตอนกลางเป็นพื้นที่ภูเขา ป่าไม้ ที่วันนี้ยังคงมีสัตว์ป่าอย่าง ลิง หมูป่า และนกชุกชุม โดยเฉพาะนกหายากอย่าง“นกแก๊ก”(นกเงือกขนาดเล็ก) ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ไม่น้อย(สำหรับผู้โชคดี) รวมไปถึงเหยี่ยวแดงที่มักบินโฉบฉวัดเฉวียนปรากฏอยู่ทั่วไป

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
ธรรมชาติยังพิสุทธิ์บนเกาะพยาม
       ในขณะที่บริเวณรอบเกาะเป็นพื้นที่ชายหาดสลับกับโขดหิน มีหาดทรายสวยๆงามๆอยู่หลายหาดด้วยกัน ซึ่งวันนี้ตามบริเวณหาดต่างๆมีที่พักผุดขึ้นมาไม่น้อย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังนิยมต่อเกาะแห่งนี้ เนื่องจากเป็นเกาะที่ยังความสงบงาม ไม่พลุกพล่าน มีธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ความเจริญทางวัตถุยังกล้ำกรายเข้ามาไม่มากนัก

       ใครหลายๆคนที่เคยมีประสบการณ์ผ่านเกาะท่องเที่ยวดังๆรุ่นพี่ๆมา ต่างคนบอกว่าเกาะพยามวันนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเกาะสมุยเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว และเหมือนเกาะเสม็ดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
ชาวมอแกน ยังคงจับสัตว์น้ำทะเลด้วยวิถีดั้้งเดิม
       บนเกาะพยาม มีชุมชนดั้งเดิมคือชุมชนชาวมอแกน(ชาวเล) ที่วันนี้ยังคงอาชีพประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำในละแวกใกล้เคียงเกาะ เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำยังมีความสมบูรณ์อยู่ ผู้ชายชาวมอแกนหลายๆคน วันนี้ยังใช้วิธีดำน้ำจับกุ้งมังกร(ลอบเตอร์)ด้วยมือแบบดั้งเดิม

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
สวนยางพาราบนเกาะ
       นอกจากนี้ยังมีชุมชนดั้งเดิมของชาวบ้านที่เป็นชาวเกาะพยามรุ่นแรกๆ ที่บางข้อมูลระบุว่าเป็นชุมชนที่เริ่มจากหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานของอังกฤษ ซึ่งครอบครองพม่าอยู่ในอดีต โดยการให้ชาวบ้านไปตั้งชุมชนอยู่บนเกาะพยามนั้นเป็นแนวคิดของ พระยาดำรงสุจริตมหิศวรภักดี(คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก ขณะที่บางข้อมูลก็ว่าชาวบ้านรุ่นแรกๆบนเกาะพยามนั้นอพยพมาจากเกาะสมุยแล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่

       วันนี้บนเกาะพยามยังคงปรากฏอาชีพดั้งเดิมให้เห็นกับการทำสวนมะม่วงหิมพานต์(กาหยู)แหล่งใหญ่(เช่นเดียวกับเกาะช้าง)และคุณภาพดี มีทั้งที่ขายบนเกาะและส่งไปขายบนฝั่งระนอง ซึ่งชาวบ้านที่นี่ปลูกกันมาช้านานจนต้นมะม่วงสูงใหญ่ อีกทั้งยังมีการทำสวนยางที่ตอนหลังมาแรงแซงการทำกาหยู ชาวสวนหลายคนโค่นต้นกาหยูหันมาปลูกต้นยางแทน

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
ท่าเรือ บริเวณอ่าวแม่หม้าย
       ส่วนอาชีพที่มาแรงที่สุดบนเกาะพยามวันนี้ก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

       โตวันโตคืน โตจนใครและใครหลายๆคนอดห่วงไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการวางแผนรองรับ ขาดมาตรการวางแผนบริหารจัดการที่ดี ในอนาคตเกาะพยามอาจเสียศูนย์ เกิดปัญหาต่างๆตามมาอย่างกับเกาะท่องเที่ยวรุ่นพี่ๆหลายๆเกาะก็เป็นได้

       จากท่าเรือปากน้ำบนฝั่งระนอง หากนั่งเรือธรรมดา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรือใครอยากย่นเวลา(แต่ว่าจ่ายแพงหน่อย)ก็ให้นั่งสปีดโบ้ทที่จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็เดินทางมาถึงยังเกาะพยาม ที่สะพานท่าเทียบเรือ ณ อ่าวแม่หม้าย ปากประตูใหญ่สู่เกาะพยาม

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
วัดเกาะพยาม กับโบสถ์กลางทะเลอันเป็นเอกลักษณ์
       อ่าวแม่หม้าย เป็นชุมชนใหญ่ที่สุดบนเกาะที่มีความคึกคักมาก ที่นี่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเชื่อมไปยังอ่าวต่างๆบนเกาะ เป็นจุดขึ้น-ลง เรือ ไป-กลับ เกาะและฝั่ง เป็นจุดเช่าเรือโดยสาร เรือไปดำน้ำเที่ยว จุดเช่ามอเตอร์ไซค์ จุดจ้างวินมอเตอร์ไซค์ จุดเช่าจักรยาน หรือจุดจ้างรถอีแต๊กบรรทุกของ นอกจากนี้ที่อ่าวแม่หม้ายยังเป็นแหล่งการค้า แหล่งรวมร้านอาหาร และแหล่งแสงสีในยามค่ำคืน

       ใกล้ๆกับสะพานท่าเรือขึ้นไปทางเหนือเป็นที่ตั้งของ “วัดเกาะพยาม” ที่มีโบสถ์กลางทะเล บนหลังคาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางลีลาหันหน้าออกสู่ทะเล มีสะพานปูนทอดยาวสู่ตัวโบสถ์ นับเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น และเป็นจุดสังเกตเห็นแต่ไกลยามนั่งเรือมาสู่เกาะ

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
อ่าวกวางปีบ
       เหนือจากวัดขึ้นไปไม่ไกลจะเป็น “อ่าวหินขาว” ที่มีก้อนหินสีขาวก้อนใหญ่ตั้งเด่นอยู่ริมทะเล และเป็นที่ตั้งของ “ศาลพ่อตาหินขาว” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านที่นี่ให้ความเคารพนับถือกันอย่างมาก โดยมีตำนานเรื่องเล่าว่าพ่อตาหินขาวได้มาเข้าฝันบรรพบุรุษของพวกเขา พร้อมชี้บอกทิศทางให้มาตั้งรกรากที่นี่

       เมื่อขึ้นเหนือไปจนสุดเกาะจะเป็น “อ่าวไม้ไผ่” จากนั้นหากข้ามฝั่งไปโซนตะวันตกจะเป็น “อ่าวกวางปีบ” อ่าวที่มีความร่มรื่น สงบเป็นส่วนตัว มีหาดทรายสวยงาม

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
อ่าวใหญ่
       ส่วนถ้าลงไปทางใต้ของท่าเรือจะเป็น “แหลมหิน” แล้วต่อด้วย “อ่าวมุก” ที่มีบรรยากาศสงบเป็นส่วนตัว และมีรีสอร์ทหรูชื่อดังไปเปิดอยู่บริเวณนั้น โดยห่างจากฝั่งอ่าวมุกไปไม่ไกลจะเป็นที่ตั้งของ“เกาะขาม” ที่เมื่อยามน้ำลดจะเกิดสันทรายเชื่อม 2 เกาะเข้าด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกเกาะขามว่า “เกาะปลาวาฬ” ตามรูปร่างลักษณะของมัน

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
วิถีสีสันบนอ่าวใหญ่
       บนเกาะพยามมี“อ่าวใหญ่” ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลท์

       อ่าวใหญ่ เป็นอ่าวที่มีขนาดและพื้นที่ใหญ่สมชื่อ มีลักษณะเป็นเวิ้งโค้งอ่าวยาวราว 4 กม. อ่าวใหญ่ยามน้ำลดจะมองเห็นหาดทรายอันกว้าง ใหญ่ ยาว ค่อยๆลาดเทลงสู่ทะเล มีทรายที่ละเอียดแน่น เดินสบายเท้า

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
กิจกรรมบนอ่าวใหญ่
       หาดทรายที่อ่าวใหญ่เป็นทราย 2 สี ผสมกัน คือ สีเหลืองกับสีเทา ยามน้ำลงจะมองเห็นเป็นริ้วๆ ตามคลื่นซัดสาด ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานาการสร้างสรรค์จากธรรมชาติอันน่ายล

       ชายหาดของอ่าวใหญ่ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนมีลำคลองเล็กไหลผ่าน และไหลลงสู่ทะเลซึ่งเราสามารถเดินลุยฝ่าข้ามธารน้ำจืดตื้นๆยามช่วงที่ไหลผ่านหาดทรายได้

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
ต้นรองเท้า
       อ่าวใหญ่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งความครึกครื้นบนเกาะพยาม ที่มีทั้งที่พักราคาประหยัดให้เลือกมากหลาย จึงเป็นที่นิยมของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ มีบาร์เบียร์ ร้านเหล้า ร้านอาหาร เก้าอี้ชายหาด นวด รวมไปถึงเป็นแหล่งทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่นน้ำ อาบแดด เดินเล่น วอลเล่ย์บอลชายหาด หรือแม้กระทั่งการขี่มอเตอร์ไซค์กันบนหาดของนักท่องเที่ยวบางคน ที่แม้จะมีป้ายห้ามขี่มอเตอร์ไซค์บนชายหาด แต่นักท่องเที่ยวบางคนก็ยังคงแว๊นบนชายหาดกันแบบไม่สนป้ายห้าม

       ความที่อ่าวใหญ่มีคนเยอะ นักท่องเที่ยวมีการลืมรองเท้ากันมาก ทำให้ร้านอาหารร้านหนึ่งที่บริเวณอ่าวใหญ่ นำรองเท้าที่ถูกลืม และรองเท้าที่ลอยมาติดอ่าวนำมาติดปะดับต้นไม้ เป็นต้นรองเท้าที่ดูกิ๊บเก๋และมีไอเดียดึงให้คนไปถ่ายรูปกับต้นรองเท้ากันไม่น้อยเลย

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
อ่าวเขาควาย
       ปัจจุบันการสัญจรบนเกาะพยาม มีถนนคอนกรีตเล็กๆประมาณ 2-3 เมตร ตัดเชื่อมชุมชน หมู่บ้าน สวน และอ่าวต่างๆ โดยเปิดให้พาหนะวิ่งเฉพาะรถ 2 ล้อ คือมอเตอร์ไซค์ จักรยาน แต่ก็ยกเว้นรถ 4 ล้อ คือรถอีแต๊กที่ใช้บรรทุกข้าวของต่างๆ หรือรถกอล์ฟ รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ซึ่งวันนี้ยังไม่เปิดให้รถยนต์ 4 ล้อวิ่งบนเกาะ

       สำหรับการมาเกาะพยามครั้งนี้ ผมมีจุดพักอยู่ที่ “อ่าวเขาควาย” ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
อ่าวเขาควายช่วงหนึ่งมีสีอมชมพูจากหอยทับทิม
       อ่าวเขาควาย มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งยาวประมาณ 2 กม. มุมทั้ง 2 โค้งโง้งเข้ามาคล้ายเขาควาย อ่าวเขาควายในวันนี้ยังเป็นอ่าวที่มีความสงบ แม้จะมีที่พักขึ้นอยู่มากพอตัว แต่ก็ไม่ถึงกับพลุกพล่าน ยามน้ำลงจะเห็นหาดทรายเป็นแนวทอดยาวกว้างไกล

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
โยคะ เป็นส่วนตัวบนอ่าวเขาควาย
       พื้นที่อ่าวเขาควายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วย คืออ่าวเขาควายเหนือ-ใต้ มีหาดทรายเป็น 2 สี คือช่วงหนึ่งเป็นสีขาวเนียน อีกช่วงหนึ่งเป็นสีอมชมพู เพราะมีหอยทับทิมตัวเป็นๆและเศษซากอยู่ที่บริเวณชายหาดเป็นจำนวนมาก

       บริเวณอ่าวเขาควายในช่วงปลายๆยังมี “เขาทะลุ” เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของอ่าว(ใกล้ๆกับเกาะพยามยังมีเพาะทะลุ ที่ปลายเกาะด้านหนึ่งเป็นโพรงช่องหินมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านบน)

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
เขาทะลุ
       เขาทะลุหรือที่ผมเรียกว่าหินทะลุ มีลักษณะเป็นภูเขาหินลูกเล็กๆ ตรงปลายถูกน้ำกัดเซาะเป็นช่องโพรง ขาดให้เราสามารถเดินมุดลอดผ่านไป-มาได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายคนนิยมใช้ช่องเขาทะลุเป็นกรอบ เฟรม สำหรับถ่ายรูป ดูเก๋ไก๋ไปอีกแบบ

       ด้วยความที่อ่าวเขาควายตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีของเกาะ ที่แม้จะไม่เห็นพระอาทิตย์ตกแบบเต็มๆกลางท้องทะเล หากแต่เห็นเยื้องๆ มีภูเขาตั้งขวางเป็นเหลี่ยมบัง แต่ก็ถือเป็นฉากเป็นองค์ประกอบที่น่ายลไปอีกแบบ

“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี
ตะวันลับฟ้าที่อ่าวเขาควาย
       นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของเกาะพยามที่ถือเป็นดังเพชรน้ำงามแห่งท้องทะเลระนอง ซึ่งวันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะพยามกำลังโตวันโตคืน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนใครและใครหลายๆคนที่เคยไปสัมผัสกับความพิสุทธิ์และความสงบงามของเกาะแห่งนี้อดห่วงไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการวางแผนรองรับ ขาดมาตรการวางแผนบริหารจัดการที่ดี ในอนาคตเกาะพยามอาจเสียศูนย์ เกิดปัญหาต่างๆตามมาอย่างกับเกาะท่องเที่ยวรุ่นพี่ๆหลายๆเกาะก็เป็นได้


//manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000000671




 

Create Date : 02 มกราคม 2557   
Last Update : 2 มกราคม 2557 20:49:03 น.   
Counter : 2224 Pageviews.  

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
มหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ วัดไตรมิตรฯ
       ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กิจกรรมหนึ่งที่ผู้คนนิยมทำกันมากก็คือการทำบุญไหว้พระ โดยเฉพาะการเดินทางไหว้พระ 9 วัด ใน 1 วันนั้นก็เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอ และสำหรับในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ปี 2557 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรม “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ” ซึ่งเป็นเส้นทางไหว้พระ 9 วัด ที่จัดทำขึ้นใหม่ มีบางวัดที่น่าสนใจเข้ามาเพิ่มเติม เป็นเส้นทางทางเลือกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนา โดยวัดทั้ง 9 แห่งต่างก็มีคติอันเป็นมงคลแก่ผู้ที่ไปกราบไหว้ อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าสนใจและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนี้

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร : สุขภาพแข็งแรง

“วัดบวรนิเวศวิหาร” เป็นวัดที่มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปถึง 2 องค์ คือ “พระพุทธชินสีห์” และ “พระสุวรรณเขต (พระโต)” เป็นพระประธานประดิษฐานคู่กัน อีกทั้งภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามฝีมือของขรัวอินโข่ง

       ด้นหลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่หุ้มกระเบื้องสีทอง รอบฐานเจดีย์มีศาลาจีนและซุ้มจีน บริเวณระเบียงองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน “พระไพรีพินาศ” พระพุทธรูปโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้คนมากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่าท่านจะช่วยให้ผู้ที่คิดร้ายต้องแพ้ภัยต่อตัวเองในที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถมากราบขอพระจากท่าน ขอให้ท่านอวยพระให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืนตลอดไป อีกทั้งขณะนี้วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งพระศพของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไปอีกด้วย

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่วยี่)
วัดทิพยวารีวิหาร : ความรักยืนยาว

“วัดทิพยวารีวิหาร” (กัมโล่วยี่) เป็นวัดจีน ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนแต่แทรกศิลปะไทยบางแห่ง เช่น ลวดลายแกะสลักต่างๆ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนศาลเจ้าจีน ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบจีน

       ผู้คนนิยมมาสักการะเทพอุ้มสม ขอพรให้สมหวังในความรักและครอบครัวมีความสุข นอกจากนี้ศาลเจ้าที่วัดแห่งนี้เป็นศาลเจ้าเทพมังกรเขียวที่คนจีนแต้จิ๋วนับถือกันมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะความศักดิ์สิทธิ์ ของท่านมักอวยพรให้ผู้ศรัทธา ได้ผลสมความปรารถนา ด้านการคุ้มครองดวงชะตา เสริมพลังบารมี และโชคลาภ

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
พระพุทธเทวราชปฏิมากร แห่งวัดเทวราชกุญชร
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร : การงานก้าวหน้า

“วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” หรือชื่อเดิมว่า “วัดสมอแครง” เป็นวัดเก่าแก่ที่กรมพระพิทักษ์เทเวศรได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และพระองค์จึงทรงรับวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนานว่า “วัดเทวราชกุญชร”

       สถานที่สำคัญภายในวัดนี้คือพระอุโบสถขนาดใหญ่ ภายในมีภาพจิตรกรรมที่งดงามเป็นหมู่เทวดาชุมนุมขณะที่พระพุทธองค์ทรงโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังมีภาพภิกษุปลงอสุกรรมฐานซึ่งหาชมได้ยาก

       เข้ามากราบนมัสการองค์พระพุทธเทวราชปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดี พุทธศาสนิกชนที่มากราบไหว้นิยมถวาย “ผ้าไตร” แทนดอกไม้ธูปเทียน ใครขอพรเรื่องการงาน อาชีพ ได้รับความสำเร็จเป็นทวีคูณ

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
หลวงพ่อโต หรือซำปอกง วัดกัลยาณมิตรฯ
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร : ค้าขายรุ่งเรือง

“วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ภายในวัดกัลยาฯ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระวิหารหลวง อันเป็นที่ประดิษฐานของ "พระพุทธไตรรัตนนายก" หรือที่ชาวบ้านจะนิยมเรียกท่านว่า "หลวงพ่อโต" ส่วนคนจีนก็จะเรียกว่า "ซำปอกง" โดยพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ

       พุทธศาสนิกชนทั้งคนไทยและคนจีนนิยมมากราบสักการะหลวงพ่อโต หรือซำปอกง และมักขอพรเรื่องธุรกิจการค้า การเดินเรือ และขอให้การเดินทางปลอดภัย

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
หลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตรฯ
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร : การเงินมั่งคั่ง

“วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร” เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ "หลวงพ่อทองคำ" พระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกบันทึกไว้ในกินเนสบุค เชื่อกันว่าหลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เดิมถูกปูนพอกไว้แต่ต่อมาปูนกะเทาะออกด้วยอุบัติเหตุคนจึงได้เห็นว่าองค์พระสร้างด้วยทองคำ

       ปัจจุบันหลวงพ่อทองคำประดิษฐานอยู่ในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ และภายในมณฑปยังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทองคำบอกเล่าเรื่องราวขององค์พระพุทธรูป และมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเยาวราช จัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับชุมชนเยาวราชย่านไชน่าทาวน์ของไทย อีกทั้งผู้คนยังนิยมมากราบนมัสการพระพุทธทศทลญาณหรือ “หลวงพ่อโต” พระประธานในอุโบสถอันศักดิ์สิทธิ์ และนิยมมาบนบานกันด้วยพวงมาลัยดอกมะลิที่อธิษฐานขอพรให้สำเร็จสมหวัง การเงินมีทรัพย์มาก

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
ภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธตกแต่งในสไตล์ตะวันตก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร : ธุรกิจมั่นคง

“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” เป็นวัดที่มีความโดดเด่นตรงที่พระอุโบสถที่ภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย แต่ภายในตกแต่งแบบตะวันตกในสไตล์ยุโรปแบบโกธิค คล้ายพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซาย ภายในประดิษฐาน “พระพุทธอังคีรส” พระประธานอันงดงามที่ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี และที่ใต้ฐานพระได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ถึง 5 พระองค์คือ พระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรให้ธุรกิจมั่นคง

       ภายในวัดราชบพิธยังเป็นที่ตั้งของ “สุสานหลวง” ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรังคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์ ซึ่งอนุสาวรีย์เหล่านั้นก็มีรูปทรงที่หลากหลาย มีทั้งแบบไทย แบบฝรั่ง หรือแม้แต่แบบขอมก็มี

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
กราบเจดีย์ 4 รัชกาลที่วัดโพธิ์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) : สำเร็จสมหวัง

“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” เป็นวัดที่มีของดีน่าชมอยู่หลายสิ่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธเทวปฎิมากร พระพุทธรูปปางสมาธิอันงดงาม ผู้คนนิยมมากราบสักการะขอพรพระพุทธเทวปฏิมากร ให้พรสำเร็จดุจดังเทวดาสร้างสรรค์ทุกประการ

       ส่วนวิหารพระพุทธไสยาสก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดชม โดยองค์พระพุทธไสยาสที่วัดโพธิ์นี้เป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเมืองไทย ทอดพระองค์ยาว 46 เมตร พระบาทตกแต่งลายประดับมุกภาพมงคล 108 ที่รับคติมาจากชมพูทวีป ถือเป็นลายศิลปะไทยผสมจีน ผสมผสานกันอย่างประณีตศิลป์

       นอกจากนั้นในวัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ 4 รัชกาล ได้แก่ พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ (เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1) , พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน (เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2) ,พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร (เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3) และพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย (เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4) ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และงดงามมากอีกด้วย

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
ไปวัดอรุณอย่าลืมชมยักษ์วัดแจ้งด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถ
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) : ราบรื่น ร่มเย็น

“วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” มีพระปรางค์วัดอรุณตั้งโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา องค์ปรางค์มีความสูงประมาณ 67 เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศ และมณฑปทิศ ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามยิ่งนัก

       เข้าไปกราบสักการะพระประธานในพระอุโบสถพระนามว่า “พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในพระพุทธอาสน์บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขอพรให้ชีวิตราบรื่น ร่มเย็น และอย่าลืมออกมาชม “ยักษ์วัดแจ้ง” ที่ด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถ ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปคู่กับยักษ์ทั้งสองตนนี้

อิ่มบุญปีใหม่ “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ”
โลหะปราสาทแห่งวัดราชนัดดา
วัดราชนัดดารามวรวิหาร : ความสุข

“วัดราชนัดดารามวรวิหาร” เป็นวัดที่มี "โลหะปราสาท" หนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวของโลก ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างโลหะปราสาทขึ้นแทนการสร้างธรรมเจดีย์ โดยช่างได้เดินทางไปดูแบบถึงยังประเทศลังกาและนำเค้าเดิมนั้นมาเป็นแบบสร้าง แล้วปรับปรุงให้เป็นศิลปกรรมแบบไทย ด้านบนโลหะปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สามารถขึ้นไปกราบไหว้ขอพรให้ชีวิตมีความสุข ลูกหลานเจริญรุ่งเรือง

       ผู้ที่สนใจเส้นทาง “ไหว้พระ 9 วัด สัมผัสวิถีแห่งบุญ” สามารถขอรับแผนที่ท่องเที่ยวได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ วัดทั้ง 9 แห่งที่กล่าวมานี้

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000158884




 

Create Date : 01 มกราคม 2557   
Last Update : 1 มกราคม 2557 19:52:21 น.   
Counter : 1433 Pageviews.  

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”
“หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อซำปอกง”
“ย่านกุฎีจีน” เป็นอีกหนึ่งย่านเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามปากคลองตลาด มีบริเวณอยู่ระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้ากับวัดอรุณราชวราราม แต่ถึงจะเป็นย่านเล็กๆ แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยในบริเวณชุมชนนี้เป็นที่รวมของชาวชุมชนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยหากมองมาจากฝั่งปากคลองตลาดจะเห็นศาสนสถานที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างชัดเจน

       ตามประวัติแล้วย่าน “กุฎีจีน” หรือ ”กะดีจีน” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นที่ดินที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานที่ดินเพื่อให้แก่ชาวจีนและชาวโปรตุเกสได้สร้างที่อยู่อาศัย

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”
ศาลเจ้าเกียนอันเกง
       เราไปชมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกกันดีกว่า เริ่มต้นด้วย “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีการก่อสร้างให้อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ คือ "หลวงพ่อโต" หรือเรียกชื่อแบบจีนว่า "ซำปอฮุดกง" หรือ “ซำปอกง” หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีนในย่านชุมชนแห่งนี้ และวัดกัลยาณมิตรฯ แห่งนี้ ยังเป็นหนึ่งในเก้าวัดของเส้นทางไหว้พระเก้าวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สื่อถึงวัฒนธรรมไทยและพระพุทธศาสนาในย่านกุฎีจีน

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”
“โบสถ์ซางตาครูส” ในบรรยากาศวันคริสต์มาส
       เดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาถัดมาไม่ไกลนักคือ “ศาลเจ้าเกียนอันเกง” ศาลเจ้าของชุมชนชาวจีนในย่านนี้ ที่มีองค์พระประธานเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม มีการสันนิษฐานกันว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่มาของคำว่า “กุฎีจีน” ศาลเจ้าเกียนอันเกงเป็นศาลเจ้าเล็กๆ มีความสวยงามอย่างมาก มีการก่อสร้างแบบทั้งกระเบื้องโค้ง และวิธีมุงหลังคาแบบจีนแท้ๆ ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม ในปี 2551 ศาลเจ้าแห่งนี้สื่อได้ถึงวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนของย่านกุฎีจีน

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”
“ขนมฝรั่งกุฎีจีน”
       อีกหนึ่งศาสนสถานอันโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ถัดจากศาลเจ้าเกียนอันเกงก็คือ “โบสถ์ซางตาครูส” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาในย่านกุฎีจีนแห่งนี้ โบสถ์ซางตาครูสเป็นโบสถ์คริสต์ของนิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในฝั่งธนบุรี โดยบาทหลวงยาโกเบ กอรร์ ผู้นำกลุ่มชาวโปรตุเกสในขณะนั้น ได้สร้างโบสถ์หลังแรกขึ้นในที่ดินพระราชทานแห่งนี้ ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคผสมกับเรเนอซองส์ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมใจของคริสตศาสนิกชนชาวกุฎีจีนแล้ว ปัจจุบันก็ยังเป็นศูนย์รวมใจของคริสตศาสนิกชนในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย

       หากมาชมความงามของโบสถ์ซางตาครูสแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือการมาชิม "ขนมฝรั่งกุฎีจีน" สูตรต้นตำรับ อันเป็นขนมโบราณ ซึ่งเจ้าของสูตรดั้งเดิมก็คือชาวโปรตุเกสที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนกุฎีจีนนั่นเอง หากใครได้มาเยือนย่านแห่งนี้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะพลาดลองลิ้มชิมรสขนมฝรั่งกุฎีจีน หรือจะซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านได้อีกด้วย (คลิกติดตามเรื่องกินย่านกุฎีจีน ได้ตามลิงค์นี้)

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”
มัสยิดบางหลวง
       และศาสนสถานแห่งสุดท้ายที่จะพาไปชมในย่านนี้ก็คือ “มัสยิดบางหลวง” หรือ ”กุฎีขาว” ศูนย์รวมจิตใจของชาวอิสลามในย่านกุฎีจีน สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มัสยิดบางหลวงแห่งนี้มีเอกลักษณ์แปลกแตกต่างจากมัสยิดอื่นๆ คือ มีการออกแบบเป็นอาคารทรงไทย ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีการออกแบบเช่นนี้ และมัสยิดบางหลวงนี้ ยังนับเป็นศาสนสถานที่กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร จัดให้เป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen Bangkok อีกด้วย

เที่ยวหลากวัฒนธรรม ขอพรหลวงพ่อซำปอกง ริมสายน้ำ ที่ “ย่านกุฎีจีน”
ทางเดินเท้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา
       การมาเดินเท้าเที่ยวชมย่านกุฎีจีนนั้นก็สามารถเดินได้อย่างสบาย เพราะมีทางเดินเท้าเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถใช้สัญจรไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในย่านได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถที่จะปั่นจักรยานชมทิวทัศน์รับลมเย็นไปเรื่อยๆ ได้อีกด้วย โดยวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำนั้นก็สวยงามเป็นอย่างมาก และสามารถมองเห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระปรางค์วัดอรุณฯได้อย่างสวยงาม ทางเดินริมน้ำนี้สามารถเดินชมวัดกัลยาฯ ศาลเจ้าเกียนอันเกง และโบสถ์ซางตาครูสได้ ส่วนมัสยิดบางหลวงจะต้องเดินเข้าไปในชุมชนด้านหลังโบสถ์คริสต์

เชื่อแน่ว่า “ย่านกุฎีจีน” แห่งนี้จะทำให้ผู้ที่ชอบเดินเท้าท่องเที่ยวและสนใจการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้วัฒนธรรมอันหลากหลายได้สัมผัสกับความน่าสนใจของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีแน่นอน

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

       การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สาย 56,9,43,3,6,40,42 ผ่านหน้าโรงเรียนศึกษานารี จากนั้นเดินเข้าซอยกุฎีจีน จะพบโรงเรียนซางตาครูสศึกษา และโบสถ์ซางตาครูส
       ทางเรือ : สามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าราชินีมายังท่าวัดกัลยาฯ ได้

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000158485




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2556   
Last Update : 27 ธันวาคม 2556 21:14:28 น.   
Counter : 1479 Pageviews.  

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
วัดภูมินทร์
น่านแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็เป็นประเภทเล็กดีรสโต ที่เต็มไปด้วยสิ่งน่าสนใจให้ชวนค้นหา โดยเฉพาะมนต์เสน่ห์ของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งล้านนาตะวันออก อันเป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ใครหลายๆคนที่เคยไปแอ่วเมืองน่านแล้วต่างตกหลุมรักเมืองนี้เข้าเต็มเปา

       สำหรับตัวเมืองน่านมีพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอยู่บริเวณ“ข่วงเมือง” ซึ่งเป็นลานกว้างใจกลางเมืองที่ใช้ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้าน ว่าง่ายๆ ก็คล้ายท้องสนามหลวงในกรุงเทพฯ นั่นเอง ปัจจุบันช่วงยามเย็นแดดอ่อนๆ ชาวน่านก็จะมาเดินออกกำลังกายหรือมานั่งพูดคุยพบปะกันที่ลานข่วงเมือง

       ข่วงเมือง ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองน่าน(ต.ในเมือง(ในเวียง) อ.เมือง) ถือเป็นลานสาธารณะ ลานแห่งวัฒนธรรม ซึ่งผมเรียกบริเวณนี้ว่า “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน” เพราะเป็นที่ตั้งของสามสิ่งสำคัญอันโดดเด่นคู่บ้านคู่เมืองน่าน ที่ตั้งอยู่ในสามมุม นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างสบายๆ เพราะสิ่งน่าสนใจทั้งสามนั้นอยู่ใกล้ๆกัน

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
ลานข่วงเมือง
วัดภูมินทร์

       สิ่งสำคัญอันดับแรกในมุมแรกของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านคือ “วัดภูมินทร์” ที่ตั้งอยู่บนถนนผากลอง วัดภูมินทร์ถือเป็นวัดไฮไลท์สำคัญประจำเมืองน่าน ที่งดงามไปด้วยงานพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งหากใครที่ไปแอ่วน่านแล้วยังไม่เคยไปเยือนวัดภูมินทร์ก็เหมือนกับยังไปไม่ถึง

       วัดภูมินทร์ เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์” เพราะสร้างโดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ในปี พ.ศ. 2139 ก่อนที่ภายหลังจะเรียกเพี้ยนเป็น“วัดภูมินทร์”

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
พระประธานจตุรทิศ
       วัดภูมินทร์มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันในรูปทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว เลื้อยเทินพระอุโบสถไว้บนหลังกลางลำตัว

       ประติมากรรมพญานาคคู่ 2 ตนนี้ ช่างโบราณใช้ฝีมือสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เป็นนาคสะดุ้งลำตัวอวบอ้วนเพศผู้ -เพศเมียชูหัวสง่า ส่วนลำตัวดูคล้ายกำลังเลื้อยทะลุผ่านโบสถ์ หรือที่บางคนว่านาคคู่นี้กำลังใช้ลำตัวเทินโบสถ์ไว้ เพื่อคอยเป็นผู้ปกปักค้ำจุนพระพุทธศาสนา ซึ่ง อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาตินามอุโฆษยกให้นี่เป็นพญานาคที่ดูมีชีวิตและทรงพลังที่สุดในเมืองไทย

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
ฮูปแต้มวัดภูมินทร์
       ส่วนเมื่อเดินเข้าไปข้างในโบสถ์ก็จะพบกับองค์“พระประธานจตุรทิศ” ที่เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ประทับฐานชุกชีหนึ่งเดียวกัน ณ แกนกลางโบสถ์ แต่หันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 นับเป็นพระประธานที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังมีความงดงาม ลงตัวสมส่วน ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา

       ภายในโบสถ์วัดภูมินทร์ยังมีงานพุทธศิลป์ในระดับมาสเตอร์พีช นั่นก็คือ “ฮูปแต้ม” หรือภาพจิตกรรมฝาผนัง ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
ภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน
       ฮูปแต้มวัดภูมินทร์มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยการวาดภาพที่เรียบง่ายแต่ดูมีชีวิตชีวา มีความเป็นธรรมชาติ กับสัดส่วนภาพหลายๆภาพที่มีขนาดเทียบเคียงเท่ากับคนจริง ซึ่งผู้รู้ต่างเชื่อกันว่าจิตกรผู้วาดภาพน่าจะเป็น “หนานบัวผัน”ชาวไทลื้อ

       เนื้อหาในภาพจิตรกรรมนั้นมุ่งนำเสนอเรื่องราวทางพุทธศาสนา ชาดก และภาพวิถีชีวิตชาวน่านในยุคนั้น โดยภาพวาดสำคัญก็คือ ภาพ “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ที่ถือเป็นไฮไลท์ของวัดแห่งนี้

       ภาพปู่ม่าน-ย่าม่านเป็นภาพขนาดใหญ่ของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ยืนเคียงคู่กันโดยฝ่ายชายได้ใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างข้างๆต่อหญิงสาว ซึ่งก็ทำให้ภาพนี้ในภายหลังได้รับการเรียกขานว่าเป็น ภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกล

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
ฮูปแต้มที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพชายรักชาย
       ปัจจุบันภาพปู่ม่าน-ย่าม่านถือเป็นภาพสัญลักษณ์ประจำเมืองน่าน ที่มีการนำภาพนี้ไปสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ประดับให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในเมืองน่าน

       นอกจากนี้ภาพปู่ม่าน-ย่าม่านยังถูกนำไปต่อยอด เสริมจินตนาการ โดย “อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม” ปราญช์เมืองน่าน ได้ตีความภาพนี้แต่งเป็นคำบรรยายโรแมนติก ว่า

“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาขะลุ้ม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา...”

       คำบรรยายนี้แปลความได้ว่า “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
วัดพระธาตุช้างค้ำ
       นอกจากภาพกระซิบรักบันลือโลกแล้ว วัดภูมินทร์ยังมีงานจิตกรรมฝาผนังน่าสนใจ อาทิ ภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน” ที่เป็นภาพของสาวงามกำลังเกล้าผมขึ้นเหนือศีรษะดูสวยงามคลาสสิกเป็นอย่างยิ่ง ภาพวิถีชีวิตชาวน่าน ภาพชีวิตของชาวบ้าน ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทลื้อ ภาพการค้าขายแลกเปลี่ยนของชาวบ้าน ภาพชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามในสมัย ร. 5 ภาพนรก ภาพเปรต และภาพสวยๆงามๆอีกหลากหลาย

รวมไปถึงภาพที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพ“ชายรักชาย” อันทำให้สาวเจ้าผู้ไม่รู้ว่าเป็นแฟนใครต้องเดินร้องไห้จากไป เพราะคนรักดันไปชอบไม้ป่าเดียวกัน ซึ่งภาพนี้ใครสนใจคงต้องไปใช้สายตาสอดส่องกันเอาเอง

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ
วัดช้างค้ำ

       สิ่งสำคัญอันดับที่สองในมุมที่สองของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน คือ“วัดช้างค้ำ” ที่ตั้งอยู่เยื้องๆกับข่วงเมืองบริเวณแยกไปแดง บนถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

       วัดพระธาตุช้างค้ำ เดิมชื่อ “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่งหรือเจ้าพญาปู่แข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
       วัดพระธาตุช้างค้ำโดดเด่นไปด้วยเจดีย์ทรงลังกาสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัวด้านละ 5 เชือก และมีที่มุมอีก 4 เชือก ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างเอาตัวหนุนองค์พระเจดีย์ไว้สมดังชื่อพระธาตุช้างค้ำ

       ขณะที่วิหารของวัดนั้นมีขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาดใหญ่ 2 คนโอบ มีพระประธานคือ “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี” ซึ่งเป็นพุทธรูปทองคำปางลีลาอันงดงามขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

       สำหรับสิ่งสำคัญอันดับสุดท้ายในมุมที่สามของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน” ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมท้องถิ่น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2446 เดิมเป็น “หอคำ” ที่ใช้เป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของ “เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ” เจ้าผู้ครองนครน่าน

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
ซุ้มลีลาวดี
       ที่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์นั้นดูโดดเด่นไปด้วยกลุ่มต้นลีลาวดีหรือต้นลั่นทม ที่เป็นแถวปลูกเรียงรายไปบนเส้นทางเดินเล็กๆซึ่งยามเมื่อเดินอยู่ใต้ต้นลั่นทมที่แผ่สยายกิ่งก้านโค้งตัวเข้าหากัน มันให้บรรยากาศของการเดินอยู่ใต้ซุ้มลั่นทมที่ได้ชื่อว่าสวยงามติดอันดับต้นๆของเมืองไทยเลยทีเดียว

       ส่วนถัดเข้ามาจากซุ้มลีลาวดีจะเป็นที่ตั้งของ “วัดน้อย” ณ ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
วัดน้อย
       วัดน้อยเป็นวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเมืองไทย มีขนาดกว้างเพียง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร และสูงแค่ 3.25 เมตรเท่านั้น ตัววัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน ส่วนเหตุที่วัดน้อยถูกสร้างขึ้นมาด้วยขนาดเล็กจิ๋วนั้น มีคำเล่าขานสืบต่อกันมา เชื่อว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 กราบบังคมทูล ถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนวัดเกินไป 1 วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป พระองค์เข้าเฝ้ารัชการที่ 5 เพียงครั้งเดียว ใน พ.ศ.2416 วัดน้อยคงสร้างหลังจากนั้น

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
พระพุทธรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
       เรามาดูสิ่งน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์กันบ้าง พิพิธภัณฑ์เมืองน่าน แบ่งเป็น 2 ชั้น ที่ชั้น 1 เมื่อเดินเข้าไปก็จะพบกับโถงจัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์ วิถีชาวน่าน ชนเผ่าต่างๆ บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เครื่องมือเกษตร การแต่งกาย อาวุธ ผ้าทอ รวมถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อาทิ พิธีสืบชะตา ทาน(ตาน)ก๋วยสลาก ทานสลากภัต และการแข่งเรือ ซึ่งประเพณีแข่งเรือเมืองน่านนี่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ตรง เรือหัวนาค หางนาค ที่ในพิพิธภัณฑ์ได้นำหัวเรือ(หัวนาค)มาจัดแสดงให้ชม

       ขณะที่ในส่วนของชั้น 2 หรือชั้นบนนั้นจัดแสดงศิลปวัตถุน่าสนใจหลากหลาย อาทิ พระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ พระพุทธรูปไม้เก่าแก่ ที่มีทั้งพระพุทธรูปไม้ทรงเครื่องและแบบงานศิลปะพื้นบ้าน รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยที่ค้นพบในเมืองน่าน

แอ่วเมืองน่าน ม่วนใจ๋ใน “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรม”/ปิ่น บุตรี
งาช้างดำ ของล้ำค่าคู่เมืองน่าน
       นอกจากนี้ที่ชั้น 2 ยังมีสิ่งสำคัญในระดับไฮไลท์ประจำเมืองน่าน นั่นก็คือ “งาช้างดำ” ปูชนียวัตถุคู่เมืองน่านอายุหลายร้อยปี ซึ่งได้รับการถวายมาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ทายาทจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยจากข้อมูลของนักวิชาการที่ศึกษาพบว่าเป็นงาช้างตันที่ถูกดึงมาทั้งยวงจากตัวช้างที่คาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ 60 ปี และน่าจะเป็นงาข้างซ้าย

       งาช้างดำกิ่งนี้เป็นงาปลี ยาว 94 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม วัดโดยรอบตรงโคนได้ 47 เซนติเมตร ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยสลักไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" ซึ่งไม่ระบุหน่วยการชั่ง แต่จากการชั่งตามระบบปัจจุบันงากิ่งนี้หนัก 18 กิโลกรัม

       งาช้างดำถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมืองน่าน ที่หากใครมาเยือนพิพิธภัณฑ์เมืองน่านแล้วไม่ได้ชมก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

       ....

       และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของเมืองๆนี้ ซึ่งวันนี้บ้านเมืองน่านยังคงความสงบงามคลาสสิกเหมือนดังหยุดเวลาไว้ ดุจดัง “เมืองเก่าที่มีชีวิต”

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

//manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000158686




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2556   
Last Update : 26 ธันวาคม 2556 20:42:17 น.   
Counter : 2102 Pageviews.  

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
สัมผัสเส้นขอบฟ้าบนยอดเขาโมโกจู
“โมโกจู” อาจไม่ใช่ชื่อแหล่งท่องเที่ยวคุ้นหูนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่สำหรับนักเดินป่าหรือผู้ที่รักการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ “โมโกจู” คือความใฝ่ฝัน คือจุดมุ่งหมาย คือสถานที่ที่นักนิยมไพรต้องปักหมุดไว้ว่าสักวันหนึ่งต้องเดินทางไปให้ถึง

       “ตะลอนเที่ยว” กำลังพูดถึง “ยอดเขาโมโกจู” ยอดเขาที่สูงที่สุดของผืนป่าตะวันตก และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ฝั่งจังหวัดกำแพงเพชร (พื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดคือนครสวรรค์และกำแพงเพชร) แม้ความสูง 1,964 เมตร ของยอดโมโกจูจะไม่ได้สูงกว่ายอดเขาอื่นๆ ในเมืองไทย แต่การเดินป่าเพื่อพิชิตยอดเขาแห่งนี้เป็นการเดินป่าระยะไกล ด้วยระยะทางรวมไปกลับกว่า 62 กิโลเมตร ทำให้ต้องแบ่งการเดินทางออกเป็น 5 วัน 4 คืน และต้องตั้งแคมป์นอนกลางป่า อีกทั้งยังมีสภาพเส้นทางที่โหดหินติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย สิ่งเหล่านี้ที่ท้าทายให้นักเดินป่าต้องมาลองฝีเท้าดูสักครั้ง

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
เส้นทางเดินผ่านป่าไผ่ 16 ก.ม. แรก
       ดังนั้นเมื่อทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย ชักชวนให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้พิชิตยอดเขาโมโกจู มีหรือ “ตะลอนเที่ยว” จะปฏิเสธ

16 ก.ม. แรกแห่งการเริ่มต้นสู่ “แคมป์แม่กระสา”

       เช้าตรู่ของวันเดินทาง “ตะลอนเที่ยว” และคณะ มาอยู่ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บริเวณ ก.ม. 65 ของถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่และจัดการชั่งน้ำหนักข้าวของและเสบียงอาหารต่างๆ ที่จะให้ลูกหาบช่วยกันแบกไปยังแคมป์แต่ละแห่ง

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
รอยเท้าเสือที่พบระหว่างทาง
       ในทริปนี้เราได้พี่ “อาทิตย์ แสงจันทร์” และพี่ตอน “ไหนจ้อย แซ่เติ๋น” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานฯ มารับหน้าที่เป็นทั้งผู้นำ ผู้ตาม ผู้ให้ความรู้ ผู้ดูแลทั้งเรื่องอยู่เรื่องกิน ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” ขอยกให้พี่ทั้งสองคนรวมถึงทีมลูกหาบเป็น “ฮีโร่” ของทริป เพราะหากไม่มีพี่ๆ เหล่านี้รับรองว่าไปไม่ถึงยอดโมโกจูแน่นอน

       เสร็จเรื่องสัมภาระต่างๆ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้พวกเราเข้าไปฟังบรรยายสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเป็นการสรุปย่อเส้นทางที่เราจะต้องเจอตลอด 5 วัน 4 คืนนี้ ซึ่งแม้จะเตรียมใจมาแล้ว แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ที่รู้ว่าวันนี้เส้นทางที่เราจะต้องผ่านไปนั้นมีระยะทางไกลถึง 16 ก.ม. เลยทีเดียว

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
ถึงแคมป์แม่กระสาที่พักค้างคืนในคืนแรก
       และแล้วก็ได้เวลาออกเดินทาง ไม่ว่าทางจะใกล้หรือไกล สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ก้าวแรกนี่เอง “ตะลอนเที่ยว” เริ่มออกเดินก้าวแรกด้วยจิตใจที่ฮึกเหิม เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่ชาร์จมาเต็มแล้วตั้งแต่เมื่อคืน เส้นทางในช่วงแรกก็ชวนให้ฮึกเหิมได้อยู่ เนื่องจากเป็นทางราบสลับเนินเล็กๆ ขึ้นบ้างลงบ้างสลับกันไป ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงเพราะเป็นเส้นทางถนนลูกรังที่รถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าถึงได้ สองข้างทางเป็นป่าหญ้าสลับกับป่าไผ่มีดอกไม้แปลกตาให้ชื่นชมและถ่ายรูปกันเป็นระยะๆ

       ด้วยความที่เป็นถนนลูกรังนี่เอง ทางอุทยานฯ จึงมีโครงการว่าในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป อาจจะลดระยะการเดินทางลง จาก 5 วัน 4 คืน เหลือ 3 วัน 2 คืน โดยให้รถโฟร์วีลเข้าไปส่งถึงแคมป์แรก ซึ่งทางหนึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว อีกทางหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสบียงและกำลังพลให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์หรือหาไม้หอม ได้ประโยชน์ทั้งการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
คลองแม่กระสาด้านหลังแคมป์ น้ำใสเย็นเฉียบ
       แต่ในวันนี้ที่ยังไม่เปิดให้รถเข้า “ตะลอนเที่ยว” ก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินกันต่อไป ซึ่งก็เดินชิลล์ๆ มาได้ไม่เท่าไร ป่าแม่วงก์ก็ส่งด่านทดสอบความอึดของเราเป็นด่านแรกด้วย “มอขี้แตก” ซึ่งเป็นเนินขึ้นเขาชัน ยาวหลายกิโลเมตรที่ต้องใช้พลังไม่น้อยในการขึ้นแต่ละเนินสมชื่อมอขี้แตก เราใช้เวลาในการเดินบ้าง พักบ้าง บ่นบ้าง กว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง จึงพ้นมอขี้แตกมาได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ถึงครึ่งของระยะทางที่เราต้องเดินในวันนี้

       พ้นจากมอขี้แตกมาสภาพป่าเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าโปร่ง ก็เริ่มเป็นป่าไผ่หนาแน่นขึ้น พร้อมกับมีลำห้วยเล็กๆ ให้เดินข้ามเล่นๆ เย็นๆ เท้า ริมลำห้วยแรกที่เราข้ามผ่านมาเป็นจุดแวะพักกินข้าวกลางวันของเรา กินอิ่มแล้วก็ไปตักน้ำใส่ขวดพลาสติกตุนไว้สำหรับเส้นทางที่เหลือ พร้อมกับวักน้ำเย็นเจี๊ยบนั้นล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นเตรียมลุยต่อกับเส้นทางที่เหลือ

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
เต็นท์พักแรมที่แคมป์แม่กระสา
       ได้ข้าวกลางวันเข้าไปถ่วงท้องแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็ก้มหน้าก้มตาเดิน จะเจอเนินสูงหรือทางชันก็ไม่บ่นให้เสียพลังงาน เพราะถึงจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ายังไงก็ต้องเดินต่ออยู่ดีถ้ายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง และขณะก้มหน้าก้มตาเดินนั่นเองก็ได้พบว่ากำลังเดินตามรอยเท้าเสือตัวหนึ่ง ซึ่งพี่อาทิตย์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกว่าเป็นรอยเท้าของลูกเสือที่เดินผ่านมาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์แล้ว “ตะลอนเที่ยว” ทึ่งไม่น้อย เพราะระยะทางที่เดินมานั้นจะว่าไปก็ยังไม่ถึงครึ่งทางดี กลับพบเจอรอยเท้าเสือเสียแล้ว

       เดินข้ามห้วยมาไม่รู้กี่ห้วย เดินขึ้นลงเนินมาไม่รู้กี่เนิน ตอนนี้ “ตะลอนเที่ยว” เดาไม่ถูกว่าเดินมาไกลเท่าไร และยังเหลือระยะทางอีกไกลแค่ไหน รู้แต่ว่าร่างกายเริ่มรู้สึกถึงความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าขาทั้งสองข้างจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ เพราะมันยังคงก้าวเดินไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ การหยุดพักกลับจะทำให้ระบบอัตโนมัตินั้นรวนเสียเปล่าๆ “ตะลอนเที่ยว” จึงใช้วิธีเดินช้าๆ และหายใจลึกๆ ให้ร่างกายสดชื่นขึ้นเพื่อพักเหนื่อยแทนการหยุดเดินหรือนั่งพัก

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
เดินทางข้ามคลองแม่กระสาในการเดินทางวันที่สอง
       ดังนั้น ในไม่ช้าเมื่อก้มหน้าก้มตาเดินมาได้อีกพักใหญ่ แคมป์แม่กระสาก็ปรากฏขึ้นสู่สายตาจนได้ เป็นอันว่าภารกิจแรกในการเดิน 16 ก.ม. ของเราสิ้นสุดลงแล้วโดยใช้เวลาไป 6 ช.ม. ด้วยกัน แต่ภาระประจำวันของเรายังไม่จบ เพราะคลองแม่กระสาที่ไหลรินอยู่ด้านหลังแคมป์นั้นชวนให้เราลงไปแช่ผ่อนคลายเสียเหลือเกิน แต่กว่าจะลงแช่ได้ก็ต้องทำใจอยู่นานเพราะน้ำเย็นเจี๊ยบไปถึงขั้วหัวใจ ยืนทำใจในน้ำอยู่นานจนขาเริ่มชา “ตะลอนเที่ยว” จึงค่อยๆ หย่อนตัวลงในน้ำทีละส่วนๆ กว่าจะแช่ได้ทั้งตัวก็กินเวลานานโข แต่เมื่อร่างกายปรับอุณหภูมิได้ก็เริ่มสบายตัว สายน้ำเย็นจากธรรมชาติที่ต้นไม้และผืนดินร่วมกันสร้างขึ้นนี้ช่วยผ่อนคลายร่างกายที่เมื่อยล้าจากการเดินทาง และช่วยเรียกความสดชื่นเหมือนใหม่ให้พวกเราได้เป็นอย่างดี

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
แวะระหว่างทางริมคลองแม่กี
       เมื่ออาบน้ำกันเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าเต็นท์ถูกกางอย่างเป็นระเบียบโดยลูกหาบ อาหารก็ทำเสร็จเรียบร้อยด้วยฝีมือพี่ตอนและพี่อาทิตย์ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกพวกเขาว่าเป็นเหล่าฮีโร่แล้วจะให้เรียกว่าอะไรกันเล่า

10 ก.ม. ชิลล์ๆ เย็นฉ่ำที่ “น้ำตกแม่รีวา”

       ในวันที่ 2 ของการเดินทาง เราเก็บข้าวเก็บของจากแคมป์แม่กระสาแบบสบายๆ เตรียมตัวเดินทางต่อไปยัง “แคมป์แม่เรวา” ที่ห่างออกไปเพียง 4 ก.ม. เส้นทางในวันนี้เป็นทางราบแบบชิลล์ๆ ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนจากการเดินทางไกล(มาก)เมื่อวานนี้ และเป็นการอุ่นเครื่องเบาๆ สำหรับเส้นทางโหดๆ ที่รอเราอยู่ในการเดินทางวันพรุ่งนี้

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
พี่อาทิตย์และพี่ตอน เจ้าหน้าที่อุทยานที่เป็นฮีโร่ของทริปนี้
       ในเส้นทาง 4 ก.ม. นี้ เราเดินข้ามคลองแม่กระสา ข้ามคลองแม่กี ผ่านป่าไผ่และบริเวณที่เป็นหมู่บ้านเก่าของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพย้ายออกไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ยังคงเห็นร่องรอยของเสาเรือนอยู่ท่ามกลางป่าไผ่ ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ยังไม่ทันถึงเที่ยงวันเราก็เดินเท้ามาถึงแคมป์แม่เรวากันแล้ว บริเวณแคมป์แห่งนี้เป็นลานกว้างใต้ร่มเงาของป่าไผ่ ใต้ซุ้มกอไผ่มีองค์พระพุทธรูปซึ่งพระธุดงค์รูปหนึ่งนำมาประดิษฐานไว้ ส่วนด้านหลังแคมป์เป็นคลองแม่เรวาอันร่มรื่นที่เราจะใช้ดื่ม กิน และอาบกัน

       ในช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวกลางวันกันเรียบร้อย เราออกเดินทางระยะสั้นๆ ไปเที่ยว “น้ำตกแม่รีวา” หรือน้ำตกแม่เรวา ระยะทางไปกลับรวมประมาณ 6 ก.ม. ใช้เวลาเดินไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง น้ำตกแม่รีวาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 5 ชั้น ความสูงประมาณ 100 เมตร ไหลเป็นสายขาวยาวไขว้สลับเป็นรูปตัว S ตกลงมายังแอ่งกว้างขวางที่เบื้องล่าง น้ำตกนี้เป็นต้นน้ำของคลองแม่เรวา ซึ่งไหลผ่านไปยังบริเวณแคมป์ที่พักของเรา และคลองแม่เรวานี้ก็ไหลต่อไปเป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่วงก์ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวนครสวรรค์อีกด้วย

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
สายน้ำไหลจากน้ำตกแม่รีวา หรือแม่เรวา
       ถ่ายรูปและสัมผัสความฉ่ำเย็นของน้ำตกแม่เรวากันไปแล้ว เราเดินเท้ากลับไปยังแคมป์แม่เรวา กลับไปอาบน้ำเย็นสดชื่นของคลองแม่เรวา เตรียมหุงหาอาหาร กินข้าวและนอนเอาแรง เพราะหนทางของวันพรุ่งนี้ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของการเดินป่าในคราวนี้ไม่ได้ชิลล์เหมือนที่ผ่านๆ มาสักนิดเดียว

8 ก.ม. นรก + 1 ก.ม. สวรรค์ สู่ยอด “โมโกจู”

       เช้านี้เรารีบกินข้าวเช้าและเก็บข้าวของออกเดินทางกันแต่เช้า เพราะในวันนี้เป็นวันที่เราจะเดินเท้าขึ้นสู่ยอดโมโกจูซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ระดับความสูง 1,964 เมตร แม้ระยะทางจากแคมป์แม่เรวาไปยังแคมป์ตีนดอยจะห่างกันเพียง 8 ก.ม. แต่ถือเป็น “8 กิโลนรก” ที่ทำเอาหลายคนท้อได้ง่ายๆ นั่นก็เพราะกว่า 80% เป็นทางชันขึ้นเขา ชันมากชันน้อยสลับกันเป็นช่วงๆ

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
ทางชันในเส้นทาง 8 กิโลนรก
       เพียงแค่ก้าวแรกที่มุ่งหน้าออกจากแคมป์ก็ดูเหมือนว่า “ตะลอนเที่ยว” ก็เจอทางขึ้นเนินทันทีทันใด หากได้เดินวอร์มทางราบก่อนสักหน่อยแล้วค่อยมาเจอทางชันก็คงพอมีเวลาทำใจ แต่เมื่อมาเจอเนินตั้งแต่ก้าวแรกแถมเป็นเนินยาวหลายร้อยเมตรเช่นนี้เลยทำให้รู้สึกเหนื่อยเหมือนจะขาดใจ หัวใจเต้นแรงราวกับใครมาตีกลองอยู่ในหู แต่ถึงอย่างไรก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินต่อไปเพราะรู้ว่านี่เป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น แต่เมื่อเดินไปสักพักก็ดูเหมือนกล้ามเนื้อขาและน่องจะเริ่มปรับตัวยอมรับแรงเสียดทานที่เพิ่มมากขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหยุดแวะพักบ่อยขึ้นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

       สองข้างทางยังคงเป็นป่าไผ่ แน่นอนว่าระหว่างทางยังคงมีสิ่งน่าสนใจที่พี่อาทิตย์ชี้ชวนให้ดู อย่างเช่น กลิ่นสเปรย์ของเสือที่ฉีดทิ้งไว้ที่ต้นไม้เพื่อแสดงอาณาเขต ร่องรอยของมูลสัตว์ หรือรอยเท้าสัตว์ที่ทิ้งรอยไว้ให้เราดู และถือโอกาสดูนานๆ เพื่อพักเหนื่อยไปด้วย

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
"หักงวงไอยรา" ทางชันช่วงสุดท้ายก่อนถึงแคมป์ตีนดอย
       ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าผ่านไป เรายังคงไต่ระดับความสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อขาที่เกร็งในทุกๆ ก้าวทำให้ต้องหยุดพักเป็นระยะ เมื่อเจอทางราบแม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เราก็จะร้องบอกกันอย่างดีใจ ยิ่งถ้าเจอทางลาดลงก็ยิ่งดีใจเพราะจะได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปด้วยในตัว

       เราเดินบ้างพักบ้างจนมาถึงบริเวณที่เรียกว่า “มอยาว” เป็นเนินยาวที่ “ตะลอนเที่ยว” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ายาวแค่ไหน รู้แต่ว่าเนินที่ทั้งยาวทั้งชันนี้ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด และหลังจากผ่านมอยาวมาได้ก็มาเจอกับเนิน 45 องศาที่ชันจนต้องเกาะปีนป่ายพาตัวเองขึ้นมาได้ทีละขั้น ตอนนี้เราเริ่มรู้ซึ้งถึงความโหดหินของโมโกจู เริ่มถามตัวเองว่าทำไมถึงต้องมาทนเหนื่อยขนาดนี้ แต่เป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าอย่างไรก็ต้องไปให้ถึงจุดหมายเพื่อพิชิตยอดเขาและเพื่อพิชิตใจของตัวเอง ดังนั้นแม้ร่างกายจะเหนื่อยล้า แต่ใจยังคงสั่งให้ค่อยๆ ก้าวต่อไปทีละก้าว ไม่มีทางยอมแพ้กลางทางแน่นอน

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
แสงสีทองส่องเป็นลำลงมายังแคมป์พักแรม
       จนได้เวลาราวๆ เที่ยง ก่อนที่จะหมดแรงไปมากกว่านี้ เราก็เดินเหนื่อยหอบลิ้นห้อยมาถึงบริเวณที่เรียกว่าคลองหนึ่งซึ่งเป็นหุบเขามีลำห้วยเล็กๆ ไหลผ่าน มาถึงตรงนี้ก็ถือว่ามาได้ครึ่งทางแล้ว เราพักกินข้าวกลางวันที่เตรียมมากันบริเวณนี้เพื่อเติมพลังสู้กับทางชันที่เหลือต่อไป

       ในขณะนั้นอากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ พร้อมกับที่หมอกเริ่มไหลปะทะมาร่างเป็นระยะๆ ตามแรงลม “ตะลอนเที่ยว” นึกถึงคำว่า “โมโกจู” ซึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่า “คล้ายว่าฝนจะตก” คนตั้งชื่อคงได้เห็นบรรยากาศบริเวณยอดเขาที่มีไอหมอกปกคลุมครึ้มอยู่ตลอดเวลาเหมือนว่าฝนจะตกนั่นเอง

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
ทิวทัศน์อันงดงามในระดับความสูง 1,964 ม.
       สภาพเส้นทางยังคงสูงชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคลองหนึ่ง เราเดินมาถึงคลองสองซึ่งเป็นลำห้วยแห่งสุดท้ายที่เราจะได้เจอก่อนเดินทางสู่แคมป์ตีนดอยและยอดเขาโมโกจู ทุกคนต่างเอาขวดน้ำออกมาเติมให้เต็มเพื่อเก็บไว้ดื่มกินแก้กระหาย และจากคลองสองอีกไม่ไกลนักเราก็จะเดินทางไปถึงยังแคมป์ตีนดอยกันแล้ว แต่เส้นทางจากคลองสองไปนี่สิที่โหดหินที่สุดก็ว่าได้ พี่อาทิตย์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เรียกเนินจากคลองสองที่จะขึ้นไปยังแคมป์ตีนดอยว่า “หักงวงไอยรา” เรียกว่าช้างยังยอมแพ้เพราะเนินชันบางช่วงอาจชันได้ถึง 70 องศา ดีว่ามีต้นไม้ให้เกาะเกี่ยวเหนี่ยวตัวเองขึ้นไปได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปนัก จนในที่สุดต่างคนต่างก็ลากสังขารเพลียๆ มาจนถึงแคมป์ตีนดอย สถานที่กางเต็นท์ของเราในคืนที่ 3 นี้กันจนได้ ใช้เวลารวมตั้งแต่ออกเดินทางจนมาถึงแคมป์ราว 8 ชั่วโมงด้วยกัน

       แม้จะอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ขาลาก” แต่ภารกิจของเราในวันนี้ก็ยังไม่จบ เพราะจุดมุ่งหมายในการเดินทางของเราอยู่ที่การขึ้นไปยังยอดโมโกจู ที่ต้องเดินจากแคมป์ตีนดอยขึ้นไปอีกราว 1 ก.ม. แต่สภาพอากาศขณะนั้นเต็มไปด้วยหมอกหนาจนหลายคนเริ่มถอดใจในความหวังที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกในเย็นวันนั้น

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
ทะเลหมอกอลังการในยามเย็น
       แต่ธรรมชาติก็ทำให้เราได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่และสัจธรรมของโลกที่ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เพราะเมื่อเราเริ่มเดินออกจากแคมป์ตีนดอยก็ปรากฏว่าสายลมแรงได้พัดเอาเมฆหมอกที่ปกคลุมยอดเขาให้จางหายไป แสงแดดสีทองส่องผ่านไอหมอกลอดทะลุร่มไม้เห็นเป็นลำแสงอันงดงาม เราต่างหันไปยิ้มให้กันอย่างดีใจที่ท้องฟ้าเป็นใจ

       และเมื่อเดินพ้นร่มไม้ออกสู่ที่โล่งบนยอดเขา ภาพที่ปรากฏสู่สายตาก็ยิ่งตอกย้ำความยิ่งใหญ่และงดงามของธรรมชาติ ทิวทัศน์เบื้องล่างใต้เท้าของเราถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกหนาเป็นปุย มองเห็นทะเลหมอกสีขาวสุดลูกหูลูกตาไปจนจรดขอบฟ้ากว้างไกล ส่วนเบื้องบนดวงอาทิตย์ยังคงสาดแสงส่องผ่านท้องฟ้าสีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกเหมือนเราเดินทะลุจากโลกเบื้องล่างขึ้นมาสู่สวรรค์เบื้องบน ยิ่งนึกถึงเส้นทางทรหด “8 กิโลนรก” ที่เราต่างอดทนเดินทางขึ้นมาด้วยแล้ว บนยอดเขาโมโกจูนั้นก็ยิ่งสวยงามราวกับสวรรค์ที่เทวดาปัดเป่าเมฆหมอกให้เราได้ขึ้นมายลความงามกันแบบเต็มๆ ตา

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
บรรยากาศของหินเรือใบในยามเช้าตรู่
       ณ ยอดเขานี้เองที่มี “หินเรือใบ” สัญลักษณ์ของโมโกจูรอเราอยู่ หินเรือใบที่ว่านี้แท้จริงก็เป็นหินธรรมดาๆ ที่ตั้งเด่นอยู่บนยอดโมโกจู ตัวฐานของหินเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมียอดด้านบนเป็นทรงแหลมพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ดูไปก็คล้ายใบเรือ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของยอดเขาโมโกจูที่ใครๆ ก็ต้องมาถ่ายรูปคู่กับหินธรรมดาที่ไม่ธรรมดาก้อนนี้ หรือหากใครใจกล้าจะปีนขึ้นไปทำเท่แอ็คท่าถ่ายรูปบนหินเรือใบก็ได้เช่นกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถ้าลื่นตกลงไปก็ไม่เหลือ

ลาแล้วโมโกจู

       เช้ามืดวันนี้เราขึ้นไปเยือนยอดเขาโมโกจูอีกครั้งเพื่อรอชมแสงแรกของวัน และสภาพอากาศเช้านี้ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง จากที่เมื่อเย็นวานได้ชมทะเลหมอกอลังการกันไปแล้ว วันนี้โมโกจูต้อนรับเราด้วยอากาศแจ่มใส แสงแรกของวันปรากฏขึ้นตรงเส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและแต่งแต้มให้ทั่วทั้งทิวเขากลายเป็นสีทอง และทำให้ “ตะลอนเที่ยว” มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างที่เมื่อวานถูกหมอกปกคลุมจนหมด แต่ในวันนี้ได้เห็นวิวแบบ 360 องศา มองเห็นภูเขาน้อยใหญ่ทอดตัวไล่เรียงกันไปตลอดแนว เห็นพื้นที่ป่าทั้งฝั่งของ อช.แม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ผืนป่าเขียวขจีเบื้องล่างไม่มีริ้วรอยเว้าแหว่งของการตัดไม้ทำลายป่าจึงมองดูคล้ายทะเลบร็อคโคลี่ไล่เฉดสีเขียวกันไปจนทั่วบริเวณ

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
แสงสีทองส่องไปทั่วทั้งยอดโมโกจู
       เช้าวันนี้แม้หินเรือใบก็ดูสดชื่นไปตามสภาพอากาศ “ตะลอนเที่ยว” จึงอดใจหายไม่ได้เมื่อจะต้องลาจากยอดโมโกจูลงสู่ผืนดินเบื้องล่าง เลยต้องขอเก็บภาพความประทับใจนี้ผ่านสายตาและผ่านเลนส์จนพอใจ ก่อนเดินลงก็ไม่ลืมที่จะกราบพระพุทธชินราชจำลององค์เล็กๆ ที่มีผู้ศรัทธานำขึ้นมาประดิษฐานไว้บนยอดเขา ในใจไม่ได้อธิษฐานขอสิ่งใดนอกเสียจากขอให้ป่าอันอุดมสมบูรณ์นี้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และหากมีโอกาสก็ขอให้ได้มาเยือนยอดเขาโมโกจูอีกครั้งหนึ่งก็พอ

       ในที่สุดจุดมุ่งหมายหลักของทริปนี้ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเกินคาด “ตะลอนเที่ยว” ได้ชมความงามบนยอดโมโกจูในบรรยากาศที่งดงามหลากหลาย และจุดมุ่งหมายต่อจากนี้ก็คือการเดินกลับตามเส้นทางเดิม แต่จะเดินรวดเดียวเพื่อมาพักแรมในคืนที่ 4 ที่แคมป์แม่กระสาซึ่งเป็นแคมป์พักค้างคืนในวันแรก รวมระยะทาง 12 ก.ม.

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
ชื่นชมบรรยากาศแบบ 360 องศาบนหินเรือใบ
       8 กิโลนรกในขาขึ้นเป็นอย่างไร ขาลงกลับทรมานยิ่งกว่า แม้จะทำเวลาได้เร็วขึ้นเพราะเป็นทางลงเขา แต่หัวเข่าและต้นขาที่ต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกตลอดเวลานั้นก็เจ็บปวดจนไม่สามารถไปเร็วได้อย่างใจ ไหนจะความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดสี่วันก็มาออกอาการซ้ำในวันนี้ ต่างคนก็พยายามหาท่าเดินลงที่เจ็บปวดน้อยที่สุด บ้างก็เดินเอียงข้างค่อยๆ สไลด์ขาลงเพื่อให้เข่าได้พัก บ้างใช้ไม้เท้ารับน้ำหนักแทนขา แต่บางคนอาการหนักหน่อยถึงกับเข่าล็อค ต้องประคับประคองกันเดินไปเป็นพักๆ อย่างน่าสงสาร แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราก็มาถึงแคมป์แม่เรวาอย่างปลอดภัยในเวลาราวสี่โมงเย็น ได้เล่นน้ำในคลองแม่กระสาเป็นการส่งท้ายอีกครั้งก่อนจะลาโมโกจูและแม่วงก์กันในวันพรุ่งนี้

       และแล้ว 16 ก.ม.สุดท้ายของการเดินทางก็ค่อยๆ ผ่านใต้เท้าของเราไปทีละก้าวๆ ตลอด 5 วัน 4 คืน ที่ผ่านมาธรรมชาติได้สร้างความประทับใจอย่างมากมายให้กับ “ตะลอนเที่ยว” ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าใน อช.แม่วงก์ กับร่องรอยที่พบเจอตลอดเส้นทาง ความยิ่งใหญ่และงดงามของธรรมชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นในทุกๆ วัน รวมไปถึงน้ำใจและมิตรภาพของเพื่อนร่วมทางและเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือกันเหมือนเพื่อนสนิท สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ออกเดินทางก็คงไม่ได้พบเจอ และหากไม่ได้เดินทางมาที่ “โมโกจู” ก็จะไม่รู้สึกถึงความประทับใจมากเท่านี้อย่างแน่นอน

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
พระพุทธชินราชองค์จำลองประดิษฐานบนยอดเขาโมโกจู
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ 558,750 ไร่ ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ภายในอุทยานฯ นอกจากยอดเขาโมโกจูแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ น้ำตกแม่กระสา น้ำตกแม่กี จุดชมวิวมออีหืด แก่งลานนกยูง กิจกรรมล่องแก่ง ปั่นจักรยาน และช่องเย็น สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

       การเดินป่าในเส้นทางพิชิตยอดเขาโมโกจูจะเปิดให้เดินทางได้เฉพาะเดือน พ.ย.-ก.พ. โดยทางอุทยานจะเป็นผู้กำหนดช่วงวันในการเดินป่า และกิจกรรมเดินป่าระยะไกล 5 วัน 4 คืน นี้จะโดยกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มละไม่เกิน 15 คน และไม่ต่ำกว่า 5 คน ค่าเดินทางต่อทริป 8,000 บาท มีเจ้าหน้าที่อุทยานนำทาง 2 คน (ราคานี้สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว 12 คน ส่วนคนที่ 13-15 คิดเพิ่มคนละ 800 บาท) และมีอัตราค่าลูกหาบราคา 400 บาท/คน/วัน (ลูกหาบแบกสัมภาระไม่เกิน 20 กิโลกรัม/คน) และต้องเตรียมเสบียงอาหารเผื่อลูกหาบและเจ้าหน้าที่นำทางด้วย ซึ่งผู้ที่ขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจูจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางอุทยานฯ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0-5576-6024 หรือดูที่ www.dnp.go.th

พิชิตเขา พิชิตใจ บนเส้นทางสู่ “โมโกจู” เส้นขอบฟ้าอยู่แค่เอื้อม
ผืนป่าเบื้องล่างไล่เฉดสีเขียวราวกับบร็อคโคลี่
       ส่วนเรื่องที่นักท่องเที่ยวต้องระวังเป็นพิเศษก็คือเรื่องของตัวคุ่นและเห็บลมที่จะพบมากในวันที่ 3-4 ดังนั้นจึงควรเตรียมยาทา สเปรย์กันแมลงไปป้องกัน(สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง) และควรสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาวปกคลุมให้มิดชิด

       นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เชื่อมโยงกับอุทยานฯแม่วงก์ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย,กำแพงเพชร) โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


//manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000157749




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2556   
Last Update : 24 ธันวาคม 2556 22:06:44 น.   
Counter : 2155 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]