สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน: วินทร์ เลียววาริณ
มีนักวิชาการในวงการวรรณกรรมท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า

"หนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่ขายได้ แต่หนังสือที่ขายได้และเป็นหนังสือที่ดีด้วยได้ยิ่งดี"

หลายครั้งหลายคราว เรามักมีความเชื่อกันว่า งานศิลปะที่ดี อาจจะไม่ใช่ งานที่ ขายได้ทำกำไรได้ดี

ส่วนหนึ่ง หนังสือที่ "ดี" ที่ว่า แม้ว่า ลักษณะการเขียนเชิงวรรณศิลป์ที่งดงาม เนื้อหาซับซ้อแต่ถ้าผู้อ่านต้องปีนกำแพงอ่าน และ/หรือ เนื้อหาเน้นเขียนตามใจ ตามโลกผู้เขียนเป็นหลัก ซึ่งอาจจะ หาจุดร่วม กับ "กระแสหลัก" ของสังคม จนกระทั่งว่า ไม่ว่าจะใช้กลไก กลยุทธ์เพียงใด ก็คงยาก ที่จะ ขาย ออกมา ในระดับท็อปชาร์ต ได้

ว่ากันตรง ๆ ตาม กลไกตลาด ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือเป็น หนังสือ หรืออะไร ก็ตามที่ผลิตออกมา แล้ว "โดน" คนส่วนใหญ่ อ่าน/ฟัง แล้วสื่อสารได้ เลย โดยไม่ต้องตีความ
นั่นแหละ จึงจะเป็นหนังสือที่ขายดี

ซึ่งเราเชื่อกันนักหนา ว่า หนังสือที่ "ดี" ตามคำนิยามของผู้มีอำนาจทางวงการวรรณกรรม จึงอาจขายไม่ดี เพราะว่าไม่ต้องจริต กับความชอบของผู้บริโภค ด้วยสาเหตุ อย่างนี้

----------------

ก่อนหน้าที่จะมาได้อ่าน หนังสือชุดรวมเรื่องสั้นของ วินทร์ เลียววาริณ เรื่อง "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" ผมเคยอ่านนวนิยายระดับคุณภาพ ของวินทร์ สองเล่ม คือ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" และ "ปีกแดง" ซึ่งผมมองว่า งานทั้งสองล้วนแล้วแต่แฝงไปด้วย กลวิธีในการเล่าเรื่องที่แยบยล ยิ่ง "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ได้รับรางวัลซีไรต์ และมียอดขายที่สูงด้วยแล้ว ผมยิ่งไม่น่าแปลกใจเลย หากจะบอกว่า งานของวินทร์ นั้นเป็นได้ทั้งหนังสือ ที่ดี และ ก็ขายได้ดีด้วย

หนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่อง "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" ของวินทร์ เล่มนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำวาทกรรม "หนังสือที่ดีและขายได้" เข้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วินทร์ ได้พยายาม เขียนเสนอแนะทางออกให้กับนักเขียน ที่งานมักจะขายไม่ได้ เพราะยึดติด กับ อัตตาคติในแบบเก่า ๆ จนแทบไม่มีจะกิน ในเรื่องสั้น ที่ มีฉากประธานสมาคมนักเขียนถูกจับเป็นตัวประกัน เพื่อให้เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเหลียวแล ชีวิตนักเขียนบ้าง

ในบทสนทนาเรื่องสั้นเรื่องนั้น เหมือนกระตุ้นให้ นักเขียนทั้งหลายได้รู้สึกว่า เราจะมามั่วโอดครวญกับ รายได้ที่ลดลง เพราะ จำนวน ผู้บริโภคหนังสือน้อยลง อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันสมัย พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไปตามกระแสบริโภคทุกวันนี้ด้วย หากต้องการจะอยู่รอด

การตลาดและการโปรโมทหนังสือ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
แน่นอน การพยายามเขียนงานเพื่อล่ารางวัล แล้วมีการแปะประทับตาการันตี ดีกรีรางวัลนั้นย่อมเป็นการตลาดชนิดหนึ่งซึ่งอาช่วยเพิ่มยอดขาย ขึ้นได้บ้าง

แต่หากเราจะรอ หวังว่าสักวันจะได้รางวัลสักชิ้น เพียงประการเดียว ก่ว่าวันนั้นจะมาถึง นักเขียนหลายคนคงต้องสิ้นชื่อ เพราะไม่มีอะไรกินไปเสียก่อน

วินทร์จึงเสนอทางเลือกอยู่กราย ๆ ว่า คงจะเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย หากนักเขียน จะสามารถ บูรณาการเส้นทางสองสาย คือเขียน เพื่อ ให้เป็นหนังสือที่ดี ในสายตา ผู้มีอำนาจในวงการวรรณกรรม (คือกรรมการตัดสินทั้งหลาย) และ เป็นหนังสือที่ดีในสายตาของผู้บริโภคในกระแส ไปพร้อม ๆ กัน

ถ้าจะเปรียบเทียบหลักการเชิงการตลาด ก็คงจะไม่ต่างจาก
ผู้คิดรถ กระบะมี แค็บ ซึ่ง มีแนวคิดผสมผสาน ระหว่าง "รถเก๋ง" + "รถกระบะ" พอผลิตรถมีแค็บ ออกมาทำให้ เขาอาจขายได้ ทั้งคนที่ชอบรถเก๋ง และรถกระบะ ลูกค้าจึงอาจเพิ่มขึ้น

ซึ่งจุดนี้ยิ่งพัฒนา ขึ้นมา เป็น "ยานยนตร์ลูกผสม" ระหว่างรถเก๋ง กับ รถบรรทุก อย่าง ซีอาร์วี หรือ ฟอร์จูนเนอร์ ที่มีแนวโน้มที่จะดึงลูกค้า เป็นคนสองกลุ่ม มาเพิ่ม ยอดการขายได้

งานเขียนก็ไม่น่าจะแตกต่างกันเท่าใดนัก หาก ว่านักเขียนสามารถ เขียนให้ "ดี" ได้ในสายตาของกรรมการที่คาดหวัง ความงดงามทางด้านวรรณศิลป์ ความยอดเยี่ยมทางด้านความคิดที่สื่อออกมาในงาน และ ผู้เสพย์ ที่คาดหวัง การเข้าถึงเนื้อหาและความเพลิดเพลินที่จะอ่านงานเขียนนั้น

-------------------



เรื่องสั้นเรื่อง "เชงเม้ง" ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่วินทร์ เล่าเรื่องของชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีน คนหนึ่ง กับ ความยากลำบากในวัยเด็ก ที่ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมไทย เมื่อเขามักจะโดนล้อว่า เป็น "เจ๊ก" อยู่บ่อย ๆ

อยู่บ้าน เตี่ย กับ ม้า ก็บังคับให้พุดแต่ภาษาจีน ทั้งที่เขา เกลียดการโดนเพื่อนแกล้งและล้อใจจะขาด

เนื้อหาสาระในเรื่องสั้นเรื่อง "เชงเม้ง" เรื่องนี้ สื่อให้เห็นถึง "สภาวะข้ามชาติ" ที่คนกลุ่มหนึ่งมีความภักดี ต้อง รัฐชาติ สองรัฐ นั้นคือ รัฐไทย และรัฐจีน

แต่แม้จะเรื่องราวที่สื่อให้เห็นถึงประเด็นด้านการเมือง และมานุษยวิทยา แต่วินทร์ ก็ยังสามารถสอดแทรกเนื้อหาทางด้านการตลาด เข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแยบยล ชนิดที่ว่า ผู้อ่าน ที่เป็นนักววรณกรรม และ นักรัฐศาสตร์หลังโครงสร้างนิยมที่พอมีความรู้ด้านบริหารธุรกิจ หากได้มีโอกาสมาอ่าน ก็ต้องทึ่งกับเรื่องสั้นเรื่องนี้

------------
เรื่องที่สร้างความประทับใจ ให้กับผมมากที่สุด ก็คือเรื่องปิดท้าย ของหนังสือเรื่องสั้นชุด "สิ่งมีชิวิตที่เรียกว่าคน" ก็คือเรื่องที่บรรยาย ถึง ไก่ พระ มอด หรืออะไรทำนองนั้น ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ แบบซิมไบโอซิส หากจะกล่าวในภาษาเชิงชีววิทยา มาในรูปแบบของปัญหาการเมือง สังคม วัฒนธรรมในปัจจุบัน

หากแต่จะอ่านระหว่างบรรทัดให้ดี เราจะรู้ว่า สิ่งที่วินทร์สื่อ โดยนัยยะ นั้นเป็นประเด็น ทางพุทธศาสนาอันลึกซึ่ง เรื่อง อิททัปปัจยตา หรือ ปฏิจสมุปบาท ที่ ผมอ่านงานของท่านพุทธทาสภิกขุ กี่เล่มต่อกี่เล่ม ก็ "ไม่เก็ท" และ "ไม่เห็นภาพ" เท่ากับอ่านเรื่องสั้นแนวนี้

ประเด็นมันอาจจะพอ เรื่องราวที่ท่านพุทธทาสเทศนานั้น เป็นประเด้นเชิงคอนเส็ปและนามธรรม แต่ของวินทร์ เลียววาริณ เป็นวัตถุสภาพมากกว่า อ่านแล้วจับต้องได้ และโดนใจผมจริง ๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้ว ผมจึงขอยืนยัน ต่ออีกครั้งว่า หนังสือเรื่องสั้นเรื่อง "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" เป็นหนังสือที่ดี แล้วก็ขายได้ด้วย เพราะดีทั้งในสายตาของผู้มีอำนาจในวงการวรรณกรรมที่ยกให้หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง

และ ก็ "ดี" สำหรับคนในกลุ่มที่กว้างขึ้น ที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระ ของหนังสือได้ไม่ยาก ตามความสะดวก ประสบการณ์ ปูมหลัง และความสบายใจของแต่ละคน

เพราะฉะนั้น "กลุ่มเป้าหมาย" ของนักเขียนที่เขียนหนังสือได้อย่างวินทร์ จึงน่าจะกว้างขึ้นตามไปด้วย






Create Date : 13 กรกฎาคม 2552
Last Update : 14 ธันวาคม 2552 21:34:13 น.
Counter : 542 Pageviews.

2 comment
มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault): ธีรยุทธ บุญมี
ด้วยจุดอ่อนในการหนังสือข้อหนึ่งก็คือว่า ผมเป็นคนที่อ่อนวิชาปรัชญามาก ๆ เลย อ่านหนังสือแนวนี้ไม่ค่อยรู้เรื่อง

ปกติแล้ว
วิธีการวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผมอ่านหนังสือรู้เรื่อง มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทใด ก็คือ ผมจะพยายามฝืนอ่านงานของคน ๆ นั้นก่อนแม้จะไม่รู้เรือ่งก็ตาม จากนั้นผมก็จะศึกษาประวัติชีวิตของนักเขียนคนนั้น แล้วก็อ่านสรุป ย่อ ๆ แนวคิดโดยภาพกว้างของเขา พอจับใจความได้บ้าง แล้วค่อยย้อน กลับไปอ่านไอ้เล่มที่อ่านไม่รู้เรื่องนั่นแหละ

สุดท้ายก้พออ่านจับใจความได้ พอถูไถมาได้ทุกที

--------------

งานของนักเขียนนักคิดหลังโครงสร้างนิยมชาวฝรั่งเศสอย่างมิเชล ฟูโก้ (Michel Foucault) มักจะสร้างปัญหาให้ผมในการทำความเข้าใจ

ผมก้เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ ที่เวลาอ่าน อะไรไม่เข้าใจแล้วก็จะชอบโทษนักเขียนว่า เขียนไม่ดีบ้างอะไรบ้าง (แต่ผมก็ไม่เคยไล่นักเขียนไปเรียน คอร์สการเขียนเพื่อการสื่อสารที่เด็กป.ตรี ปีหนึ่งเขาเรียนกันนะ สาบานเถอะสาบาน เพราะผมเชื่อว่า งานระดับตีพิมพ์แบบนี้ มันก็ต้องมีดีของมันบ้างล่ะ)

แต่ พอคิดไปคิดมาแล้ว
การไปโทษคนอื่น โดยที่ไม่ดูตัวเอง นั้น จริง ๆ แล้วมีแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของตัวเอง คือ อ่านไม่รู้เรื่อง เลยแม้แต่น้อย

ก็เลยพยายาม หาทางทำความเข้าใจ ว่าทำไมถึงอ่านไม่รู้เรื่อง

นอกเหนือไปจาก เนื้อหาหนังสือแนวคิดฟูโก้ที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสเป็นอังกฤษ อาจจะมีความวกวน ขนาดเจ้าของภาษาฝรั่งเศสฟังเอง ก็ยังงงแล้ว ยิ่งมาแปล เป็นอังกฤษ ก็ยิ่งงงใหญ่

ก็จะแนะนำให้คนที่รู้ฝรั่งเศสลองไปอ่านภาษาฝรั่งเศส อาจช่วยได้บ้าง แต่สรุปแล้วก็มึนงงไม่ได้ต่างกันเลย

เหตุผลอื่นนอกเหนือจากประเด็น "lost in translation" ที่ความหมายตกหล่นระหว่างแปล ฝรั่งเศสเป็นอังกฤษ แล้วก็น่าจะเป็นเพราะพื้นฐานความรู้ทางด้านแนวคิดของฟูโก้ของผมมีน้อยมาก

นักคิดคนนี้ตั้งคำถาม และวิพากษ์ การเมือง มานุษย์วิทยา สังคมวิทยา กระแสหลัก ที่เป็นพื้นฐาน ของการมองโลก ของคนที่จัดได้ว่า "มีการศึกษา" ส่วนใหญ่ในโลกเขามองกัน

ฉะนั้นก่อนที่จะอาจหาญไปเข้าใจแนวคิดฟูโก้ ที่ตั้งคำถาม กับความรู้กระแสหลัก

ผู้อ่านก็ควรมีความเข้าใจกับแนวคิดทางการเมืองของยุโรป บรรยากาศของคริสตจักร ตลอดจนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แนวคิดอะไรต่าง ๆ แผ่ขยายไปยังประเทศ อาณานิคม และประเทศที่พยายามจะดิ้นรนเพื่อไม่ตกเป้นอาณานิคมทั่วโลกว่าเป้นความรู้ที่ถูกต้อง

(มีคนบอกว่าให้ผมไปทบทวนวรรณกรรม โดยอ่านงานนิทเช่เดอร์ไคม์ แล้วก็เวเบอร์ แล้วก็จะรู้เรื่องมากขึ้น แต่กว่าจะรู้เรื่อง ผมคงตายก่อน)

ประหนึ่งว่า ก่อนที่จะรอบรู้เรื่องรายละเอียดของ "หลังเขาฟากกระโน้น" เราก็ต้อง "ปีนเขา" เพื่อ ทำความรู้จัก กับ บรรยากาศ บน "ยอดเขา" เสียก่อน

แต่กว่าจะทำอย่างงั้นได้ ก็ลำบาก ต้องใช้เวลา นานเหมือนกัน

กลวิธีหนึ่งที่หนึ่งจากความคิดส่วนตัวของผมที่ผมจะช่วย ให้ การ "ข้ามเขา" สะดวก ขึ้น หรือ เตรียมพร้อมรับมือ กับความสูงชันของภูเขา ได้ดีขึ้น ก็คงจะหนีไม่ผล การอ่าน มุมมอง ของคนที่เขา ปีนข้ามเขาไปแล้ว แล้วเขา สรุป "เส้นทาง" ให้เราฟัง โดยสังเขป

อย่างหนังสือ มิเชล ฟูโก้ (Michel Foucault) ของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เล่มนี้ก็ช่วยให้ผม ทำความเข้าใจกับ แนวคิดของฟูโก้ได้เยอะ หลังจากที่ตะลุย อ่านบทความ งานเขียน บทเล็กเชอรืของฟูโก้มาหลาย ชิ้น แต่ก็ไม่ค่อยจะกระจ่างเสียที

คำศัพท์ภาษาไทย ที่ อาจารย์ธีรยุทธใช้ อาจจะต่างจาก นักวิชาการหลังโครงสร้างนิยมบางท่านในเมืองไทย บ้าง แต่ก็พอจะเข้าใจได้ ว่ามันหมายถึง คำไหนในภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาฝรั่งเศส


อย่างเช่น คำว่า les corps dociles เคยมีคนแปลเป็นภาษาไทย ว่า "ร่างกายใต้บงการ" แต่อาจารย์ ธีรยุทธ ใช้คำว่า "ร่างกายที่เชื่องเชือ" (แล้ววงเล็บ เป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า docile body) อ่านแล้วก็ได้อรรถรส ของการสื่อความ ไปอีกแบบ

โดยรวม แล้ว ผมอ่านงานฟูโก้เข้าใจมากขึ้น ก้เพราะ งานสรุป ผลงาน และแนวคิด รวมถึงประวัติของ มิเชล ฟูโก้ ของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เล่มนี้
ที่นอกจาก จะช่วยให้ ผมอ่าน หนังสือของนักปรัชญาหลังโครงสร้างนิยมชาวฝรั่งเศสผู้นี้ได้เข้าใจยิ่งขึ้นแล้ว

ยังเป็นหนังสือเล่มแรก ของอาจารย์ที่ธีรยุทธ ที่ผมอ่าน แล้วพอจะเห็นภาพอีกด้วย

เพราะเล่มอื่น ที่แกเขียน ผมอ่านไม่เคยรู้เรื่องเลย

แต่กระนั้นผมก็คงไม่ถึงขนาดแบบจะไล่ให้อาจารย์ไปเรียน คอร์สการเขียนภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ของ เด็กป.ตรี ปีหนึ่งหรอกนะ



Create Date : 27 มิถุนายน 2552
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 17:51:15 น.
Counter : 1247 Pageviews.

1 comment
เซ็นสอนว่า
หลังจากที่งมโข่งศึกษาหนังสือหนังหา จากครูบาอาจารย์หลายเล่มทำไปทำมา ผมเริ่มติดใจหนังสือธรรมะ แนวเซ็นขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยคำสอนที่เรียบง่าย แต่ฟังแล้ว "โดน" จนไขปริศนา อะไรหลายอย่างไปได้มาก ทำให้ผมเริ่มหลงเสน่ห์ศึกษาธรรมะแบบเซ็นมากขึ้นเรื่อย ๆ



ชุดคำสอนเซ็นที่เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ อยู่มณเฑียรเซ็ทนี้ ก็ เขียนแล้วอ่านเข้าใจง่ายตามแบบฉบับ ของเซ็น ที่ หลายบทหลายตอน ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยง กับแง่คิดของท่านพุทธทาสภิกขุ หรือ ท่านติช นัท ฮัน ได้

หลายตอน ของหนังสือสะท้อนให้เห็นได้ถึง แก่นของเซ็น คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือ บางตอน ก็สอนถึง สิ่งที่คนอย่างผมนึกไม่ถึง เช่น ตอนที่กล่าวถึงไตรสิกขา เถรวาท มักจะเริ่มต้น ที่ ศีล สมาธิ และปัญญา แต่เซ็น กลับสอนในทางตรงกันข้าม ให้เริ่มต้นที่ ปัญญา ก่อน แล้ว สมาธิ ศีล จะตามมาเอง

คำสอนข้อนี้ ยิ่งชวนให้ผมนึกถึงหนังสือ "นอกเหนือเหตุผล" ของ หลวงปู่ชา ยิ่งนัก

หรือไม่ว่าจะเป็นตอนที่สอนถึง "เมื่อล้างจาน จงล้างจาน" บทนี้ก็เป็น สิ่งที่ คนทำงานอย่างผม ใช้เป็นกำลังใจได้เสมอ เวลาที่ท้อแท้กับงาน

หากการทำงานคือการปฏิบัติธรรม แล้ว เราย่อมสามารถมองเห็นธรรมะ ได้ทุกที่ ทุกขณะจิต โดยที่ไม่ต้องเข้าวัด เพียงแต่ขอให้เรา มีสติรู้ตัว อย่างคำที่ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวไว้ในเรื่อง "ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน" ไม่มีผิดเพี้ยน

หนังสือเรื่อง "เซ็นสอนว่า" เล่มนี้ ปิดท้าย ด้วยคำสอนเรื่อง "ชาล้นถ้วย" ที่เราคุ้นเคยกันดี หลายครั้งหลายหน ที่คนรู้มากเรียนมาก มักจะไม่สามารถมองเห็นโลก เห็นธรรม เพราะ ความยึดมั่นถือมั่น ในทฤษฏี จน กลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัว กูของกู

หากเราปล่อยวางไมได้ เราก็จะไม่สามารถเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัวได้

เมื่อไม่สามารถเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัวได้ เมื่อนั้น ก็แปลว่า เรายังยึดติดอยู่กับอัตตา อยู่

เพราะ "ความรู้" ที่เรายึดมั่นถือมั่น แท้ ๆ

เซ็นสอนว่า คนที่ฉลาดเกินไป ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ เพราะยังยึดติดอยู่ว่าตัวฉลาด
เช่นเดียวกับคนที่โง่เกินไป ก็ไม่สามารถเข้าใจธรรมได้เช่นกัน

การจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจึงต้องตั้งอยู่บนทางสายกลาง คือไม่โง่ ไม่ฉลาด แล้วปล่อยวางซะ



Create Date : 24 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 มิถุนายน 2552 20:11:03 น.
Counter : 742 Pageviews.

0 comment
เดอะท็อปซีเครต II: ทพ. สม สุจิรา
เนื่องจากพักหลัง ๆ มีคนวิพากษ์วิจารณ์งานเขียน ของ ทพ. สม สุจิรา ในแง่ลบเป็นจำนวนมาก ผมเลยอยากจะขอแยก เนื้อหาสาระ ที่นักเขียนท่านนี้ เขียนออกเป็นสองหัวข้อ คือ

1. ธรรมะ

2. วิทยาศาสตร์

ในทางวิทยาศาสตรื ผมก้เห็นคนวิพากษ์วิจารณ์ ท.พ. สม มากมาย โดยเฉพาะเรื่อง ควอนตัม ฟิสิกส์ ซึ่งตรงนี้ ผมยอมรับว่าไม่มีความรู้ แต่ ก็พยายามทำความเข้าใจจากหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ ข้อมูล แต่ขาดความเชี่ยวชาญ จึงยังไม่ปักใจเชื่อฝ่ายใด เลยขอละไว้ ไม่กล่าวถึงนะครับ

ส่วนในด้านธรรมะ
โดยส่วนตัว แล้วผมมอง่ว่าท.พ. สม สุจิรา เขียนหนังสือธรรมะ อ่านเข้าใจง่ายดี ไม่ว่าจะเล่มไหน แต่เนื้อหาสาระบางประเด้น อาจจะมีเสียงแย้งบ้าง แต่ผมก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่อาจมีการตีความต่างกัน แล้วเถียงกัน

โดยรวม แล้วผมชอบภาษาที่ใช้ มันถูกจริต กับความเข้าใจ กับคนที่มองโลกแบบผมได้ดีในหลายๆ เรื่อง

อย่างในหนังสือเรื่อง "เดอะ ท็อปซิเคร็ต 2" ที่ผู้เขียนอธิบายคำว่า "ทาน" ในสังคหวัตถุสี่ ตั้งแต่เรียนมา เราแปลคำว่า "ทาน" ว่า แปลว่า "การให้"

แต่ในหนังสือเรื่อง เดอะ ท็อป ซีเคร็ต เล่มสองนี้ ผู้เขียนแปลคำว่า "ทาน" ว่า "ไม่เห้นแก่ได้"

ซึ่งผมมองว่า ถ้าแปลแบบนี้ มันน่าจะใกล้เคียงกับเจตนารมณ์ของ สังคหวัตถุสี่มากกว่า

หลายครั้งหลายหน เราก้เห็นอยุ่ว่า การตีความคำว่า "ทาน" ว่าแปลว่า "การให้" ของหลาย ๆ คน อาจไม่สอดคล้องกับ หลักการเสียสละ เท่าใดนัก เพราะ ให้แล้วมักคิดหวังผลตอบแทน แทนที่จะได้บุญ กลับกลายเป้นไปเพิ่มตัณหา ซึ่งอาจจะนำพาทุกขืเข้ามาอีก ผมจึงชอบคำแปลคำว่า "ทาน"ว่า "การไม่เห้นแก่ได้" ของ ทพ. สม สุจิราครับ

โดยสรุปแล้วผมมองว่านักเขียนผู้นี้สามารถสรุป ภาษาในพระไตรปิฏกยาก ๆ ให้เป็นภาษา คนอย่างเรา ๆ ให้เข้าใจกันได้ง่าย ใช้ภาษาที่แตกต่างจากนักเขียนธรรมะร่วมสมัยคนอื่น ๆ

แต่เรื่องสาระความผิดถูก เป็นเรื่องที่นักอ่าน จะต้องทำความเข้าใจ และทำการบ้าน ใช้สติพิจารณาเอาเอง ซึ่งตรงนี้ ผมมองว่า เนื้อหาสาระที่ ทพ. สม สุจิรา มีความเป็นสัมพันธบท (intertextuality) กับ นักเขียนท่านอื่น อยุ่ อย่างเรื่องอิทธิบาทสี่ หรือทางแห่งความสำเร้จ ที่ ทพ. สม เขียนไว้ว่า หากเราพยายามมากเกินไป จนเกิดความอยาก จะมี ตัณหาเกิดขึ้น นั่น อาจเป้นอุปสรรค เพราะความอยาก มีส่วนทำให้จิต ร้อนรน ไม่สงบ

ตรงนี้เอง น่าจะมีความคล้ายคลึง กับเนื้อหาสาระ ของ เรื่อง "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" ของท่านพุทธทาสภิกขุ หรือ "คนสำราญงานสำเร็จ" ของ ว.วชิรเมธี หรือ แนวคิดธรรมะของหลวงปู่ชา เมื่อครั้งที่ไปจำวัดที่วัดหลวงปู่กินรี

แม้แต่ นักคิดนักเขียนพุทธศาสนาในต่างประเทสอย่าง Deepak Chopra หรือแนวความคิดทางฝั่งนิกายเซ็น ก็ กล่าวถึง การทำงานที่เต็มไปด้วยความอยาก หรือตัณหานั่นเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

ซึ่งคนอ่าน ก่อนจะปักใจเชื่อ หรือไม่เชื่อสิ่งใด จะต้องทำการศึกษาในประเด้นนั้นพอสมควร ว่าควรจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ อย่างไหนสิ่งใด

อย่างในอดีต งานเขียนทางด้านการเมือง หรือปรัชญา ของท่านพุทธทาสภิกขุ ปูชนียุบคคลระดับที่องค์การยูเนสโก้ยกย่อง ก้ถูกโดนโจมตีเช่นกันว่า ท่านอาจจะตีความไม่ถูกใจ หรือไม่ตรงใจ กับคนที่มาโจมตี เท่าใดนัก

ซึ่งการโจมตีนี้ มันก็มีข้อดี คือทำให้คนอ่าน คนศึกษา ก็ต้องเลือกทำการบ้านเพิ่มขึ้นในทาง literature review และพิจารณาให้ดีว่า จะเก้บเกี่ยวสิ่งใด นำกลับไปคิด และไปใช้ในชีวิตประจำวัน

การที่นักเขียนคนใด มีข้อตำหนิในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริง มันก็ไม่ได้หมายความว่า เขาคนนั้น จะ ต้องมีข้อบกพร่องในทุกเรื่อง เสมอไป เรื่องบางเรื่องอาจจะใช้ไม่ได้ ไม่เหมาะกับจริตของใครสักคน แต่มันก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง ถ้าฉลาดที่จะเลือกมอง

ผลส้มที่ตกลงมาเปื้อนฝุ่น มันก้ไม่ได้หมายความว่าเนื้อส้มภายในเปลือก มันจะเหม็นเน่ากินไมได้ เสียเมื่อไหร่กัน



Create Date : 06 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 19:54:21 น.
Counter : 458 Pageviews.

0 comment
ฝรั่งศักดินา: ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง "ฝรั่งศักดินา" นับได้ว่าเป็นปราชญ์ ทางด้านปรัชญา การเมือง และอักษรศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย

ตลอดทั้งเล่ม คุณชายคึกฤทธิ์ได้อธิบายแจกแจง ความเหมือนและความต่าง ของศักดินาอย่างฝรั่ง กับศักดินา แบบไทย ๆ ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ไทยกับฝรั่งนั้นต่างกันค่อนข้างมากในรายละเอียด
ด้วยผู้ประพันธ์ เป็นบุคคลที่อยู่ในราชสกุล ของราชวงศ์ไทย ทำให้ สิ่งที่ได้เสนอแนะในหนังสือ นั้นฟังดูมีน้ำหนัก ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นการคาดเดา เอาอย่างเลื่อนลอย



ในหลักสูตรอักษรศาสตร์บัณฑิตของไทยนั้น นั้นมีวิชาบังคับ ที่นิสิตอักษรทุกคนต้องเรียน จากภาควิชาประวัติศาสตร์ เท่าที่อ่านเจอะเจอ ในหนังสือวิชา "อารยธรรมตะวันตก" หรือที่นิสิตเรียกกันติดปาก ว่า "เวสต์ ซิฟ" (ย่อมาจาก western civilization) นั้นมีการกล่าวถึง ประเพณีการปกครองของยุโรป คือ Feudalism ที่ท่านอาจารย์แปลให้ฟังว่า "ศักดินาสวามิภักดิ์" ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ระหว่าง "ข้า" กับ "เจ้า" คือผู้น้อย จะยอมรับใช้ผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่จะให้ความปกป้องผู้น้อย ด้วยความสมัครใจโดย ใช้หลักที่ดินเป็นเกณฑ์

ทำให้เรื่องที่ดินนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการแสดงถึงอำนาจ ของขุนนางแต่ละคนในยุโรป

ซึ่งตรงนี้ผิดจากศักดินาแบบไทย ๆ นับตั้งแต่สมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมา ที่ ส่วนใหญ่ แล้วจะให้ความสำคัญ กับ อำนาจลำดับทางสังคม และจำนวน "ไพร่" ที่รับใช้ มากกว่าที่ดิน

นิยามคำว่า "ศักดินา" ในปทานุกรมไทย ที่บอกว่า ศักดิ์อันขึ้นอยู่กับจำนวนที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์" นั้นใช้ กับสังคมไทยไมได้เสียทีเดียว หากแต่ต้องขยาย ความต่อไปอีกว่า มันหมายรวมถึงอำนาจ ด้วยเพราะ "นา" ไม่ได้มีความหมายถึง แต่ "พื้นที่ดินในการปลูกข้าว" หากแต่ในสมัยโบราณ ยังหมายรวมถึง หน่วยวัด บุญญาบารมีอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคำว่า "เนื้อนาบุญ" นี่ก็พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ถึงความหมายของคำว่านาที่กว้างกว่าที่เราเข้าใจกัน

คุณชายคึกฤทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หากใครคิดจะโจมตีศักดินาไทย ก็ควรจะศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า ธรรมชาติ ของศักดินาในยุโรปที่เน้น กรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ที่ถูก คาร์ล มาร์กซ์ โจมตีนั้น จะถือเป็นสากล ใช้กับทั่วโลกไม่ได้ เพราะคาร์ล มาร์กซ์ ก็มุ่งโจมตี แต่ชนชั้นอภิสิทธิ์ในยุโรปเป็นสำคัญโดยไม่ได้รู้ว่า ที่อื่น ๆในโลก ก็มีความแตกต่างทางด้าน สังคมวัฒนธรรม

------------------------

สิ่งที่คล้าย ๆ กันที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ระหว่างศักดินาไทย กับฝรั่ง ก็ดูเหมือนจะเป็นว่าในสมัยก่อน วิธีตัดสินคดี ความ มักจะอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการสบถสาบาน ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

กล่าวคือ ของไทยเรามีการบุกน้ำลุยไฟ ใครไม่เป็นอะไรแสดงว่าผีเข้าข้างคนนั้นและจะชนะคดี (มั้ง)

ส่วนในยุโรปหากมีเรื่องฟ้องร้อง วิธีการสืบหาว่าฝ่ายใด เป็นฝ่ายผิด ก็มักจะใช่ วิธีการต่อสู้กัน ซึ่งแบบนี้ ปัญหาก็คือว่าใครที่เป็นทหารสมีการฝึกต่อสู้อยู่ทุกวัน มันก็สุ้ชนะชาวบ้านทั่วไปตลอดนะสิ

หรือไม่ก็ ถ้าต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ผิด ก้ต้องสาบาน ว่าไม่ผิด แล้วก็ต้องหา ผู้รับรอง มารับรองว่าตัวเองไม่ได้โกหก ให้ได้ สิบสองคน ซึ่งแบบนี้ก็มีปัญหาต่อไปอีกว่า ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มันก็ จะ "หลับหูหลับตา" มารับรองให้ นะสิ เพราะธรรมดา แล้ว คนเราชอบคิดว่า ถ้าใครเป็นเพื่อนเรา มันจะ ไม่ทำผิด หรือต่อให้มันทำผิด เราก็มักจะมองข้ามความผิดนั้นไป

-----------------------

อีกประเด็นหนึ่งที่ ผมมองว่าศักดินาฝรั่ง น่าจะมีส่วนคล้าย กับศักดินาไทย ก็คือ การใช้ ตราสัญลักษณ์ ประจำตระกูล หรือประจำหน่วยงานราชการ

อย่างของอังกฤษ ก็จะมี ตราแร้ง ตราสิงห์ หรือตรานกนางนวล ตามแต่นามสกุลของขุนนางแต่ละท่าน

ส่วนไทย นั้น คุณชายคึกฤทธิ์ ยกตัวอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เอาไก่ มาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเอง เพราะตัวเกิดปีไก่ ก็ตามแต่จะว่ากันไป

ส่วนหน่วยงานราชการ ก็มี ตราคชสีห์ ตราราชสีห์ บัวแก้ว หรือตราครุฑ

ซึ่งตราครุฑ นี่ ถือว่าห้ามสามัญชนเอาไปใช้ซี้ซั้ว เด็ดขาด เพราะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถุกไม่ควร ผิดกาลเทศะ

แต่กระนั้น ผมก็เคยเห็น คน ๆ หนึ่งเอาตราครุฑ ของทางราชการมาทำเป้น แบ๊คกราวน์ด เว็บไซต์ไดอารี่ออนไลน์ ของตัวเอง พอมีคนมาทักท้วง ว่ามันไม่ควร คุณเจ้าของได แก ก็ขนพวก มาด่า ไอ้คนที่ไปทักท้วงว่าเอาตราครุฑมาเล่นน้นไม่เหมาะควร เป็นการใหญ่ ชนิดที่เรียกว่า ถ้าต้องขึ้นศาลตระลาการสมัยอังกฤษ ที่ให้หาคนสิบสองคน มาสาบานรับรองนั้น ก็คงจะพ้นผิด ได้เลยกระมัง

ก็เป้นธรรมดา ล่ะ เพื่อนใคร ใครก็รัก ไอ้ที่ทำผิด ก็มองเป็นไม่ผิดไปซะงั้น

แบบนี้เขาเรียกวา "ศักดินาไซเบอร์" รึเปล่านะ



Create Date : 05 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 19:52:21 น.
Counter : 606 Pageviews.

2 comment
1  2  3  4  5  6  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend