วาทะคานธี
เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ผมได้ยินคำว่า "การต่อสู้แบบอหิงสา" (ahimsa)

ซึ่งถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมักอ้างว่า เขาได้ต่อสู้ทางการเมืองในแบบอหิงสาซึ่งจะำดำเนินไปพร้อม ๆกับยุทธวิธีแบบ อารยะขัดขืน (civil disobedience)

จึงเท่ากับว่า ภายใต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ผมต้องเจอกับ "ศัพท์ใหม่" ที่ไม่ค่อยเข้าใจความหมายอยู่สองคำ

คือ อหิงสา ซึ่งถ้าจะให้เดา น่าจะแปลว่า ที่น่าจะหมายถึงการต่อสู้โดยปราศจากอาวุธ และไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence)

ส่วนคำว่า อารยขัดขืน (civil disobedience) นี่ ตอนแรกที่ได้ยิน ถ้าจำไม่ผิด น่าจะก่อนที่ การฉีกบัตรเลือกตั้งจะเป็นที่ฮ็อตฮิต นั้นผมฟังผิดเป็น "อริยะขัดขืน" ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า "อารยะ" กับ "อริยะ" นี่มันความหมายต่างกันรึเปล่า

ตอนนั้นก็เลยพาลเข้าใจผิดไปว่่า เขาเรียก civil disobedience ในภาษาไทย ว่า "อริยะขัดขืน"

เมื่อพินิจพิเคราะห์รากศัพท์ หากว่าแปลมาจากบาลีสังสกฤต แล้วน่าจะได้ความตามต่อไปนี้

คำว่า "อริ" แปลว่า ศัตรู
คำว่า "ยะ" แปลว่า ไป

"อริยะ+ขัดขืน" จึงรวม ความได้ว่า "การขัดขืนซึ่งไปจากการมีศัตรู"

หากจะอ้างงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุ สองเล่มคือ "คู่มือมนุษย์" กับ "ตัวกูของกู" และเจาะลึกให้ละเอียดลงไปอีก คำว่า "อริ" ที่แปลว่า "ศัตรู" ในทีนี้ มีอยู่สองจำพวก

คือ

1. ศัตรูภายในใจตัวเอง
2. ศัตรูจากกายนอก

และถ้าหากเรา สามารถกำจัด ศัตรูจากภายใน อันประกอบไปด้วย โลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เราจะไม่อาจมีศัตรูภายนอกได้อีกเลย

--------------

หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็เพิ่งมาค้นพบ ว่าตัวเอง เข้าใจผิดไป

แท้จริงแล้ว civil disobedience นั้นเขาเรียกแบบไทย ๆ ว่า "อารยะขัดขืน" ไม่น่าจะแปลว่า "อริยะขัดขืน" อย่าง ที่ผมเข้าใจ

กล่าวคือ น่าจะแปลได้ว่า "การขัดขืนอย่างมีอารยะ" ซึ่งคนที่ไม่ค่อยประสีประสา ภาษาบาลีสันสกฤต อย่างผม ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจว่า "อริยะ" ในความหมายแบบที่แจกแจงตามท่านพุทธทาส นั้นจะ มีความหมายใกล้เคียง กับ "อารยะ" (civil) ในความหมายทางการเมืองได้หรือเปล่า

จนกระทั่งได้มาอ่านหนังสือ
"วาทะคานธี" ที่คำสอนต่างกรรมต่างวาระ ของนักปราชญ์ชาวอินเดียได้รับการรวบรวมและถอดความโดย ท่าน กรุณา เรืองอุไร กุศลาสัย



แม้ว่่า ในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึง "อหิงสธรรม" เป็นหลัก โดยไ่ม่ได้มีจุดไหนเลยเอ่ยถึง จะคำว่า "อารยะขัดขืน" หรือ "อริยะขัดขืน" ก็ตามที

แ่ต่หากว่าเราพิจารณาดูดี ๆ แล้ว ก็มิได้ต่างไปจากคำจำกัดความของคำว่า "อริยะ" ของท่านพุทธทาสเท่าใดนัก

เพราะเหตุนี้เอง
เราจึงอาจแยกแยะได้ว่า

บางที การต่อสู้แบบ "อารยะขัดขืน" ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันกับ "ปุถุชนขัดขืน" ที่มีการใช้อาวุธ รุนแรงเกรี้ยวกราด ด่าทอ แ่ต่อย่างใด แม้ปุถุชนทั้งหลายจะอ้างว่า ตนมีการศึกษาและเป็นอารยะ ก็ตามที



Create Date : 25 กันยายน 2551
Last Update : 25 กันยายน 2551 12:30:11 น.
Counter : 1187 Pageviews.

2 comment
The Great Glass Elevator ลิฟต์แก้วมหัศจรรย์
นวนิยายเรื่อง Great Glass Elevator ของ Roald Dahl เป็นงานเขียนสำหรับเด็กที่เล่าเรื่องการผจญภัยของ ยอดอัจฉริยะ คือ Mr. Wonka และ Charlie รวมไปจนถึง คุณพ่อคุณแม่ ตลอดจนปู่ย่าตายายของเขา ในชุดนอน ที่ไม่เคยได้ลุกออกจากเตียงมามากกว่า ยี่สิบปีแล้ว



เรื่องราวการผจญภัยแบ่งเป็นสองช่วง

เริ่มต้นจาก ลิฟต์แก้วที่พุ่งทยานออกจากโรงงานช็อกโกแลต แห่งหนึ่งขึ้นไปบนวงโคจรรอบโลก จนไปถึงโรงแรมบนดวงจันทร์ ที่สหรัฐอเมริกาได้สร้างขึ้น พวกเขาต้องเผชิญกับเรื่องที่ตื้นเต้น ทั้งหลัวว่า รัฐบาลสหรัฐจะระเบิดลิฟต์แก้วทิ้ง เนื่องจากระแวงว่าเป็นคู่แข่งทางด้านอวกาศ จากประเทศมหาอำนาจคู่แข่งในยุคนั้น หรือต้องเผชิญกับการโจมตีของตัวประหลาดจากดาวเวอร์เมส ที่กำลังจะกินทั้งคนในลิฟต์และก็คนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ส่งมาเพื่อเปิดโรงแรมอวกาศนั้น

แต่สุดท้าย คุณ Wonka และ Charlie ตลอดจน ญาติ ๆ ก็กลับลงมาสู่โรงงานชอกโกแลตบนพื้นโลกได้

การผจญภัยในช่วงที่สอง เป็นการต่อสู้ กับ ปัจจัยภายในใจมนุษญ์ ที่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้จักพอ ของมนุษย์เอง เมื่อญาติผู้ใหญ่ คุณย่า คุณปู่ คุณยาย ที่ไม่เคยลุกจากเตียงมากว่า ยี่สิบปี ไปรับประทานยาอายุวัฒนะ ของ MR. Wonka มากเกินเหตุ จนกลายมาเป็นเด็กทารก สองคน ส่วนอีกคนนึง อายุ ติดลบ หายไปอยุ่ในแดนลึกลับ

---------------------

แม้นวนิยายเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเล่าสำหรับเด็ก ๆ แต่ด้วยความที่แต่งไว้ตั้งแต่ปี 1972 หลายครั้งหลายตอน ผู้แต่งได้สอดแทรกถ้อยคำเสียดสี ที่แสดงให้เห็นถึง เทคโนโลยีการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น รวมไปจนถึงสภาวะการเมืองร่วมในยุคสงครามเย็นด้วย

หลายต่อหลายตอน มีนัยยะทางการเมืองในทำนองประชดประชัน ทั้งชื่อ หรือบุคคลิกตัวละคร แต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น นักกลืนดาบจากอัฟกานิสถาน ซึ่งตรงนี้เป็นการเล่นคำ คือ คำว่า ดาบ ในภาษาอังกฤษแปลว่า Sword

ซึ่งผู้แต่งได้มาเฉลย สิ่งที่เขาจะสื่อไว้ในท้ายเรื่องว่าสุดท้าย นักกลืนดาบ Sword จากอัฟกานิสถาน ก็ย้าย ตัว S กลับไปไว้ข้างหลัง

เมื่อตัว S จากคำว่า Sword ถูกย้ายไปไว้ข้างหลัง เราก็จะได้คำว่า Words

รวมความได้ว่า "นักกลืนดาบ" (Sword) ในที่นี้ก็คือนักกลืนคำพูด "Words" นั่นเอง

ซึ่งหากว่าเราดูในบริบท ในตอนนั้น เราจะเห็นได้ว่า ประเทศ อัฟกานิสถาน ถือเป็น รัฐกันชน (buffer zone) ระหว่าง ประเทศคอมมิวนิสต์ อย่างสหภาพโซเวียต กับ พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่าง ปากีสถาน นั่นเอง

ถ้ามองสถานภาพ ของ อัฟกานิสถานในช่วงนั้น เหมือนกับประเทศนี้ตกอยู่ในภาวะ ลำบาก ทั้งจวนจะถูกโซเวียตครอบงำในด้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ต้องการลบล้างศาสนาออกไปจากสังคมมุสิลิม อยู่รอมร่อ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีกลุ่มนักรบที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์นั้นไว้ จึงร่วมมือ กับสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านโซเวียต

จนบางที จุดยืนของประเทศนี้ดูค่อนข้างคลุมเครือ


นอกจากนี้ ก็ยังมีบทกลอนเย้ยหยันประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่าแม้จะดูเหมือนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกที่สามารถกำหนดนโยบายชี้เป็นชี้ตาย
สร้างสงครามในโลกได้ทุกที่

แต่ครั้งหนึ่ง ผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ก็เคยเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ไม่ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ในโลก ที่กำลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้นี่แหละ

นิยายเรื่อง Great Glass Elevator ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิงกับผู้อ่านโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังสอดแทรก เนื้อหาสาระ ความรู้ ให้ข้อคิด และมีนัยยะทางการเมืองที่สะท้อนปัญหาของยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย



Create Date : 09 กันยายน 2551
Last Update : 9 กันยายน 2551 11:55:37 น.
Counter : 475 Pageviews.

1 comment
คนสำราญงานสำเร็จ
เมื่อสองสามปีก่อนผมเคยอ่านงานของท่านพุทธทาสเรื่อง "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" ก่อนอ่าน ก็งง ว่าการทำงาน มันจะปฏิบัติธรรมได้ยังไง พออ่านจบแล้วก็เหมือนว่าจะได้คำตอบบ้าง แต่ภาพคำตอบ ก็ยังไม่ชัดเจน กระจ่าง อย่างที่อยากจะเข้าใจอยู่ดี

ผมเฝ้าต้งคำถามนะ ก็คนเราหลายต่อหลายคน ต้องหลีกหนีจากการทำงาน เพื่อไป "ปฏิบัติธรรม" แล้วไหงคำที่ท่านพุทธทาสเทศนาไว้มันฟังดูแล้วเหมือนลูกศรย้อนกลับ ว่า การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมไปเสียนี่

ทำไปทำมา แต่พอเวลาผ่านไป เมื่ออ่านมากขึ้น ฟังมากขึ้น ผมก็พบว่า ท่านหลวงพ่อพระยอม ก็คิดสงสัยคล้าย ๆ กันกับผมนี่แหละ

ผมเลยได้แต่หมั่นคิดขบทบทวนทำความบ่อยขึ้น หลังจากนั้นภาพแห่งการ "ปฏิบัติธรรม" ที่มาจาก "การทำงาน" ก็ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง

จนยิ่งมาได้อ่านหนังสือธรรมเรื่อง "คนสำราญงานสำเร็จ" ของหลวงพี่ ว.วชิรเมธี ก็ยิ่งเข้าใจชัดขึ้นมาอีก

ว.วชิรเมธี ท่านบอกว่า การปฏิบัติธรรม มีหลายระดับ
และการทำงานสุจริตในแต่ละประเภทจนประสบความสำเร็จได้ เราก็ต้องพัฒนากาย วาจา ใจ ของเรา ให้มีประสิทธิภาพ ในระดับหนึ่ง

เอาง่าย ๆ อย่างน้อย ๆ เอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด
หากจะทำงานให้ลุล่วงได้ด้วยความสุข เราก็ต้องมีความเพียร และขันติ และ เจ้าความเพียร และขันติ นี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถใช้ขัดเกลา กิเลส คือความเห็นแก่ตัว ไปได้ระดับหนึ่งเช่นกัน

ประเด็นเรื่องความเพียรนี่ ผมสงสัยมาตั้งแต่อ่านงานเรื่อง The Seven Laws of Spiritual Success ของ Depak Chopra แล้ว

คือผู้เขียนบอกว่า หนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ ก็คือ "การพยายามให้น้อยที่สุด" (The Law of the Least Attempt)

ไอ้ผมก็งง ว่าถ้าจะให้พยายามให้น้อย แล้วเราจะประสบความสำเร็จในเรื่องที่เราต้องการ ได้อย่างไร

ก็เข้าอีหรอบเดิม ที่ผมต้องนั่งใคร่ครวญครุ่นคิดอยู่หลายอาทิตย์ คิดอย่างไร ก็ขบไม่แตก

แล้วพอมาอ่านงาน The Top Secret ของ ทพ. สม สุจิรา ที่บอกว่า ถ้าคนเราจะประสบความสำเร็จ เขาจะต้อง "เชื่อ" ว่าสำเร็จและ ห้าม "อยาก" สำเร็จ อันมีพื้นฐานมาจากตัณหาอย่างเด็ดขาด

ผมก็เลยเริ่มจะพอ วาดเค้าร่างได้ ราง ๆ ได้หลังจากอ่านหนังสือเรื่องคนสำราญงานสำเร็จเล่มนี้
ว่า ไอ้กฎแห่งความพยายามให้น้อยที่สุด นี่มันน่าจะหมายถึงว่า ให้ตั้งจิตอธิษฐานได้ด้วยความเพียร แต่อย่า พยายาม ด้วยความ "อยาก" ในกิริยาลักษณะที่ท่านนายกใช้คำว่า "กระเหี้ยนกระหือรือ" นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น ผม จึงเดาว่า ไอ้คำว่า The Law of the Least Attempt น่าจะแปลว่า "กฎแห่งการกระเหี้ยนกระหือรือให้น้อยที่สุด" น่าจะชัดเจน และตรงประเด็นกว่า

คือพยายามได้ แต่ อย่ามีพื้นฐานมาจากตัณหา แต่ต้องเป็น มาจาก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

แล้วความพยายามในความทำงานนั้นก็จะไม่เป็นของ "ร้อน"

หากแต่จะเต็มเปี่ยวมไปด้วยฉันทาคติ และความเป็นสมาธิ ที่สงบเย็น เมื่อได้ทำงานที่ตนมีใจรักนั่นเอง

จากความเข้าใจของผมนั้น การทำงาน สามารถเป็นการปฏิบัติธรรมได้ก็ต่อเมื่อ เราทำงาน จน จิตเป็นสมาธิ ไม่พะวงถึงอดีต หรืออนาคต หากแต่ อยู่แต่กับปัจจุบัน
ที่ท่านว.วชิรเมธี เรียกว่า "ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน"

เมื่อนั้นแหละ คือสภาวะ แห่งความสุขก็จะเกิดขึ้น ความปีติ ก็จะตามมา
อย่างนี้กระมัง ทีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวไว้ว่า มันคือ อาการ "อิ่มทิพย์" ใน หนังสือ เรื่อง "อาวุธกวี"

เพราะฉะนั้นแล้ว สมาธิ จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยขัดเกลาความพะวงหน้าพะวงหลัง ฟุ้งซ่าน

ความทุกข์ก็ลดน้อยลง และก็เท่ากับว่าความสุขนั้นเกิดจากสมาธิ ที่เราได้จากการทำงาน

เมื่อนั้น ก็สามารถโยง การทำงานเข้ากับการปฏิบัติธรรมได้ไม่ยาก




Create Date : 16 มิถุนายน 2551
Last Update : 16 มิถุนายน 2551 0:06:23 น.
Counter : 274 Pageviews.

1 comment
เดอะ ท็อป ซีเคร็ต
ในหนังสือ เดอะ ท็อป ซิเคร็ต ผู้เขียนคือ ทันตแพทย์ สม รุจิรา ได้นำเสนอ เติมมุมมองทางจิตวิทยา และพุทธศาสนา เสริมในสิ่งที่หนังสือ the secret ที่ขายดีมากในสหรัฐอเมริกา
ผู้เขียนได้ย้ำอยู่หลายตอนว่าการมองโลกในแง่บวกนั้นสำคัญมากไม่ว่าจะเป็นการประสบความสำเร็จ การมีชีวิตอย่างมีความสุขที่แท้จริง

คุณเคยรู้สึกไหมว่า อยู่ดี ๆ เพียงแค่เห็นหน้าค่าตายังไม่เคยพูดกัน ทำไมถึงได้มีคนไม่ชอบคุณ ทั้งที่เขาก็เพิ่งจะเคยเจอคุณเป็นครั้งแรก

ตรงนี้ ผู้เขียนอธิบาย ได้ว่า ลักษณะการแสดงออก สีหน้าท่าทาง ที่ไปกระทบ บางคนที่พบเห็น จนเลยเถิดไปซึ่งความรู้สึกไม่ชอบ นั้นเป็น "กรรมเก่า"

"กรรมเก่า" ที่ว่านี้ เกิดจากความรู้สึกชอบไม่ชอบ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และบุคลิกเรา ที่ ไปทำให้ คนบางคนเห็นเพียงครั้งแรก แล้วรู้สึกไม่ถูกชะตานั่นเอง

"กรรมปัจจุบัน" ก็คือ สติ คือ เราต้องอดทน กับภาวะ ที่ถูกคนไม่ชอบโดยไม่มีสาเหตุนี้ ซึ่ง ต่อให้ ไม่สามารถสร้างกรรมดี เปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นบวกไม่ได้ แต่อย่างน้อย สติ เราต้องควบคุม ไม่ให้เราไปก่อกรรมไม่ดี เพิ่มอีก คือ งดเว้นการทำผิด จากวจีกรรม คืออาจจะ ต่อว่าด่าทอ หรือนินทา หรือกายกรรม คืออาจจะชกต่อยทะเลาะวิวาท หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการอยากเอาคืนขึ้นในอนาคต


หนังสือเรื่อง เดอะ ท็อป ซีเครต นี้เป็นอีกเล่มหนึ่ง ของเขาที่ยืนยันความเชื่อที่ว่า "สมอง" กับ "จิต" นั้นแยกออกจากกัน แต่ทำงานส่งผลต่อกันและกัน

ตั้งแต่หนังสือเล่มแรก "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น"

แนวคิดทางพุทธศาสนาได้ถูกนำมาอธิบาย เปรียบเทียบ ด้วยมุมมองและศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์

ว่ากันว่า "เจ้ากรรมนายเวร" นั้น หากจะตีความในลักษณะที่เห็นง่ายที่สุด มันก็คือ "ความรู้สึก" ของแต่ละคน
และ "ความรู้สึก" ของแต่ละคน ก็ จะเป็นตัวกำหนด วิธีการแสดงออก ต่อเหตุการณ์ ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบผ่านประตูรับความรู้สึกทั้งหกบาน ที่ พุทธศาสนา เรียกว่า ทวารทั้ง 6
ซึ่ง "ความรู้สึก" ที่ว่านี้ จะสื่อให้แต่ละคน รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ต่อเหตุการณ์แต่ละอย่าง และมีแนวโน้มที่จะแสดงออก ต่อเหตุการณ์นั้นต่างกันออกไป

ซึ่งทันตแพทย์ สมเรียก ความรุ้สึกและความชอบไม่ชอบนี้ ว่า "กรรมเก่า" หรือ "เจ้ากรรมนายเวร" นั่นเอง

ส่วน "กรรมใหม่" ที่จะคนเราทุกคน สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ ก็คือ "สติ"
คนเราสามารถใช้ "สติ" จัดการ กับ "กรรมเก่า" คือความชอบไม่ชอบ ได้ด้วยการ ไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจ ว่าจะทำสิ่งใด หรือไม่ทำสิ่งใดตอบสนอง เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ

ถ้า "สติ" ได้รับการฝึกฝน เป็นอย่างดี โอกาสที่มนุษย์เราจะกำหนด ชีวิตตัวเอง และสร้างกรรมใหม่ ที่ดีขึ้นก็มีสูง




Create Date : 09 มิถุนายน 2551
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 23:28:28 น.
Counter : 417 Pageviews.

0 comment
Poststructuralism: A very short introduction
ที่ได้หาหนังสือ Poststructuralism: A very short introduction ของ Catherine Belsey เล่มนี้มาอ่าน เพราะเราอ่าน บทสัมภาษณ์เรื่อง pouvoir et savoir ไม่รู้เรื่อง

ผู้เขียนพยายามสรรหาคำอธิบายมากมายสำหรับคนที่ไม่เคยมีพื้นฐานการศึกษาปรัชญาแบบหลังโครงสร้างนิยมมาก่อน

อย่างในเล่มนี้ ผู้เขียนยกตัวอย่างจากนวนิยายเรื่อง Alice in Wonderland (ซึ่งเราก็ไม่เคยอ่านหรอก แต่เคยดู ในทีวีตอนเด็ก) ในตอนที่ Alice กำลังถกเถียงกับ Humpty Dumpty ถึงความหมายของคำว่า ว่า 'glory' ที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างอิง ความหมายในแบบของตัวที่ไม่เหมือนกัน

ก็ในเมื่อ ทั้งสองฝ่าย ยึดโยงความหมายไปคนละแนว แม้จะออกเสียงพูดคำว่า glory เช่นกันแล้วแบบนี้จะสื่อสารกันรู้เรื่องได้ไง

อ่านถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงว่า คำพูดที่เราใช้สื่อสารกันทุกวันนี้ ใช้ว่า ผู้ "สื่อ" จะสามารถส่ง "สาร" ได้อย่างใจ ตามที่ตัวเองต้องการส่ง เสียร้อยเปอร์เซนต์ เพราะสุดท้าย แล้วผู้รับสาร อาจจะโยงสารนั้น ตามความเข้าใจ ตามประสบการณ์ของตัวเองอีกต่อ

อย่างคำว่า "เจ้าชู้" คนไทยและตามโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงสื่อสารมวลชนโทรทัศน์ต่าง ๆ ให้ความหมายไปในทำนองว่า คือ "ผู้ชายที่มากรัก"

แต่เพียงแค่คุณข้ามโขงไปฝั่งลาว ปุ๊บ ความหมายของคำ ว่าเจ้าชู้ ก็เปลี่ยนความหมายกลายเป็น "ผู้ชายหล่อ" ไปเสียฉิบ
คือความหมายจากสองสถานที่นี้ พอโยงหากันได้บ้าง แต่ก้ไมเหมือนกันเสียทีเดียว 100 เปอร์เซนต์

คำถาม ก็เลยเกิดขึ้นมาว่า

"เวลาไหนตอนไหนที่เรา ควรจะใช้ความหมายแบบใด เพื่อที่จะให้ผู้รับสาร เข้าใจกับสิ่งที่เราต้องการสื่อให้มากที่สุด"

คำตอบก็อาจจะเป็น ว่า ก็ต้องดูอีกที ว่าสถานที่นั้น ผู้คนทั้งหลายเขายึดและยอมรับความหมายแบบไหนมากที่สุด

จะใช่หรือไม่ใช่ อย่างไร ผมต้องขอเก็บประเด็นนี้กลับไปขบคิดอีกที

----------------

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจที่ผู้เขียนยกขึ้นมาก็คือชีวิตของหญิงสาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งที่ชื่อ อเดอเลด บาร์แบง เหมือนเธอจะเติบโตมาในคอนแวนต์ และถูกขัดเกลาทางสังคม มาในแบบที่ "หญิงที่ดี" ควรจะเป็น ในช่วงปี 1868

แล้วพอเธอเรียนจบ สอบผ่าน ทุกอย่าง เธอก็เป็นคุณครูอยู่ที่โรงเรียนหญิงล้วน อีกต่อหนึ่ง เรียกว่า ชีวิตนี้ ถูกหล่อหลอมมาจากสถาบันการศึกษาแบบสตรีตลอดทั้งชีวิต

แต่เรื่องมีอยู่ว่า แม่ อเดอเลด ดันไปตกหลุมรักกับครูสตรีด้วยกัน และก็นอนร่วมเตียงกันหลายคืน

อเดอเลด เลยไปปรึกษาพระ

พระก็แนะนำต่อว่าให้ลองไปปรึกษาแพทย์ พอหมอเจ้ากรรมตรวจร่างกายเธอเสร็จสรรพ ปรากฎว่า แม่อเดอเลดนี้ เป็นคนที่มี "สองเพศ" ในร่างเดียว เสียนี่

เธอ ก็เลยไปเปลี่ยนชื่อใหม่ ว่าชื่ออาเบล และทำตัวเป็นชายทุกอย่าง

แต่ด้วยความที่ชีวิตกว่ายี่สิบปีที่เกิดมา เธอถูกขัดเกลาด้วยสถาบันทางสังคมในแบบที่หญิงควรจะเป็นมาตลอด

แล้วจู่ ๆ จะมาให้เธอ "เป็นผู้ชาย" ในแบบที่สังคมคาดหวัง เธอก็ออกอาการปรับตัวไม่ทัน ทั้งหน้าที่การงาน ก็ไม่รุ่งเรือง ทั้งยังอับอาย ไม่กล้ากลับไปพบหน้า คนที่ รู้จักเธอในฐานะผู้หญิงมาทั้งชีวิต

สุดท้ายเธอ ก็ฆ่าตัวตายด้วยวัยเพียง 29

นี่แปลว่า อาเบล (หรืออเดอเลด ) ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยู่ได้ในฝรั่งเศสยุค ศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะในฐานะผู้ชายหรือผู้หญิง

อ่านเรื่องราวนี้แล้วก็รุ้สึกประหลาดเอาการ พอ ๆกับที่ได้ยินได้ฟัง เรื่องราวที่ว่า

"ทอม ไปด่าผู้ชายทั้งแท่งว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ"

คือมันตลกตรงที่ว่า ทอมเองก็เกิดมาเป็นผู้หญิง ไปด่าผู้ชายที่ไม่สามารถปฏิบัติตามค่านิยมที่สังคมตั้งไว้ว่าต้อง ทำหน้าที่อย่างผู้ชายได้

ก็ในเมื่อ เธอเองก็มีร่างกายเป็นหญิง แล้วเธอยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในอย่างที่หญิงควรจะเป็น การที่จะไปด่า ผู้อื่นที่เกิดมามีร่างกายเป็นชายว่าเขาไม่สามารถเป้นสุภาพบุรุษได้ ก็เป็นเรื่องชวนขันเอาการอยู่

มันก็คงไม่ต่างจากหมอ ที่มีหน้าที่รักษากลากเกลื้อน แต่ตัวเอง ดันเป็นกลากเกลื้อนเสียเอง แล้วไปเที่ยวตรวจผู้ป่วย วินิจฉัยยาให้คนไข้ ยังไงยังงั้น



Create Date : 04 มิถุนายน 2551
Last Update : 4 มิถุนายน 2551 14:11:49 น.
Counter : 535 Pageviews.

3 comment
1  2  3  4  5  6  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend