กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
กรกฏาคม 2567
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
4 กรกฏาคม 2567
space
space
space

คุณสมบัติพื้นฐานของกัลยาณมิตร ๗ ประการ

ต่อ

      คนดี  มีปัญญา ที่เรียกว่าบัณฑิต หรือสัตบุรุษ  นี้ เมื่อใครไปเสวนาคบหา หรือเมื่อเขาเองทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ หรือความดีงามแก่ผู้อื่น  ชักจูงให้ผู้อื่นมีความรู้ความเห็นถูกต้อง หรือให้มีศรัทธาที่จะถือตามอย่างตน อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการสั่งสอน การแนะนำ หรือกระจายความรู้ความเข้าใจนั้นออกไปทางหนึ่งทางใดก็ตาม ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความเมตตากรุณา ก่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และการประพฤติดีปฏิบัติชอบขึ้น ก็เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร

     กัลยาณมิตร  ในแง่ที่เป็นผู้ซึ่งคนอื่นควรเข้าไปคบหาเสวนา นอกจากจะกำหนดด้วยคุณสมบัติต่างๆ เท่าที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจพิจารณาจากคุณธรรมหลักเพียง ๔ หรือ ๕ ประการ ที่ท่านกล่าวไว้ในความหมายของกัลยาณมิตตตา

     กัลยาณมิตตตา คือ ความมีกัลยาณมิตรนั้น ท่านแสดงความหมายว่า ได้แก่ การเสวนา สังเสวนา คบหา ภักดี มีจิตฝักใฝ่โน้มไปหาบุคคลที่มีศรัทธา มีศีล มีสุตะ คือเป็นพหูสูต มีจาคะ และมีปัญญา

     ในบรรดาคุณธรรม ๕ อย่างนี้ บางแห่งท่านแสดงไว้เพียง ๔ เว้นสุตะ แสดงว่า สุตะมีความจำเป็นน้อยกว่าข้ออื่นอีก ๔ ข้อ และท่านขยายความเชิงแนะนำว่า เมื่อไปอยู่ในถิ่นใดก็ตาม ก็เข้าสนิทสนม สนทนา ปราศรัย ถกถ้อยปรึกษากับผู้ประกอบด้วยศรัทธา ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้ประกอบด้วยจาคะ ผู้ประกอบด้วยปัญญา ศึกษาเยี่ยงอย่างศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ของคนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นๆ  (ดู องฺ.อฏฺฐก.23/144/290)


     ส่วนกัลยาณมิตร  ในแง่ทำหน้าที่ต่อผู้อื่น  สมควรมีคุณสมบัติพิเศษจำเพาะสำหรับการทำหน้าที่นั้นอีกส่วนหนึ่ง  โดยเฉพาะคุณสมบัติพื้นฐาน  ที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้   (องฺ.สตฺตก.23/34/33 ฯลฯ)

        ๑. ปิโย  น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา

        ๒. ครุ   น่าเคารพ   ด้วยความประพฤติหนักแน่นเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

        ๓. ภาวนีโย   น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

        ๔. วัตตา   รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี

        ๕. วจนักขโม  อดทนต่อถ้อยคำ  พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์

        ๖. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา   แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

        ๗. โน จัฏฺฐาเน นิโยชะเย  ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร


 235 พุทธพจน์ต่อไปนี้ แม้จะมิได้ระบุลงไปว่าเป็นข้อกำหนดคุณสมบัติของกัลยาณมิตรโดยตรง แต่ก็ควรถือว่า เป็นคุณสมบัติประกอบของกัลยาณมิตรได้

      "ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุประกอบด้วยธรรม  ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น ธรรม ๖ ประการนั้นเป็นไฉน กล่าวคือ ภิกษุ

        ๑) เป็นผู้มีความเข้าใจรวดเร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย

        ๒) เป็นผู้ทรงจำธรรมที่สดับแล้วได้

        ๓) เป็นผู้พิจารณาความหมายใจความของธรรมที่ทรงจำไว้ได้

        ๔) เข้าใจความหมาย  (อรรถ)  เข้าใจหลัก  (ธรรม)  ดีแล้ว ปฏิบัติธรรมถูกหลัก*

        ๕) เป็นผู้มีวาจางาม  กล่าวกัลยาณพจน์  ประกอบด้วยถ้อยคำอย่างชาวเมือง  สละสลวยฉะฉาน  ทำให้รู้เนื้อความจะแจ้ง

        ๖) เป็นผู้สามารถแสดงธรรมชนิดที่ชี้ให้ชัด  ชวนให้ปฏิบัติ  เร้าให้กล้า  ปลุกให้ร่าเริงได้ แก่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย   (องฺ.อฏฺฐก. 23/152/305 ฯลฯ)


135 .............


คุณสมบัติข้อ  วจนักขโม นี้ ในบาลีท่านหมายถึง คนที่อดทนต่อคำพูดของผู้อื่น คือรับฟังคำตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ได้ และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตน ในบาลี ยกย่องพระสารีบุตรเป็นตัวอย่างของผู้มีคุณสมบัติข้อนี้ ่ และพระอรรถกถาจารย์ยกเรื่องมาเล่าไว้ ว่าบางคนให้โอวาทแก่คนอื่นได้ แต่พอถูกเขาว่ากล่าวเอาบ้าง ก็โกรธ แต่พระสารีบุตร ท่านทั้งให้โอวาทแก่ผู้อื่น และเมื่อตนเองถูกว่ากล่าว ก็รับด้วยเศียรเกล้า มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง สามเณรอายุ ๗ ขวบ บอกกะพระสารีบุตรว่า ท่านนุ่งสบงปล่อยชายหย่อนยานไป ท่านก็รับฟังด้วยดี และไปนุ่งใหม่ให้เรียบร้อย


* ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน = ปฏิบัติธรรมข้อย่อยคล้อยแก่ธรรมหลักใหญ่ คือปฏิบัติธรรมถูกตามหลักการ และความมุ่งหมายของธรรมนั้นๆ
 


Create Date : 04 กรกฎาคม 2567
Last Update : 4 กรกฎาคม 2567 22:04:27 น. 0 comments
Counter : 541 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space