กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เทศาภิบาล ตอนที่ ๖ ตั้งมณฑลเทศาภิบาล


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๖ ตั้งมณฑลเทศาภิบาล

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริตั้งแต่เริ่มทรงปรารภจะจัดการปกครองพระราช อาณาเขตให้มั่นคง เห็นว่าที่หัวเมืองแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง ในกระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่า (เมื่อก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงการต่างประเทศ) บ้าง บังคับบัญชาหัวเมืองถึง ๓ กระทรวง ยากที่จะจัดการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผนเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วทั้ง พระราชอาณาจักร

ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ให้ขึ้นอยู่แต่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีผู้ปกครองมณฑลขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง จึงจะจัดการปกครองได้สะดวก แต่ยังทรงหาตัวคนที่จะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้จัดการตามพระราชประสงค์ ไม่ได้ จึงรอมาดังเล่าแล้วข้างต้นนิทานเรื่องนี้ ถึงกระนั้นก็ได้โปรดฯ ให้เริ่มรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำหลายมณฑล

เมื่อทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หัวเมืองขึ้นกระทรวงมหาดไทยมี “มณฑลลาวเฉียง” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น มณฑลพายัพ เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม ศรีไชยันต์) เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพลเทพ ว่าที่สมุหกลาโหม เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ มณฑลหนึ่ง


เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม ศรีไชยันต์)
เจ้า พระยาพลเทพ ว่าที่ สมุหพระกลาโหม



“มณฑลลาวพวน” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดรกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อยังเป็นกรมหมื่นและเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองหนองคาย มณฑลหนึ่ง


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
เสนาบดีกรมวัง และข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน



“มณฑลลาวกาว” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอีสาน กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ มณฑลหนึ่ง


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าคัดณางยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกาว



“มณฑลลาวกลาง” คือเหล่าหัวเมืองซึ่งยังถือกันมาจนสมัยนั้นว่าเป็นเมืองลาว อันอยู่ในระหว่างเมืองนครราชสีมากับแดนมณฑลลาวพวนและลาวกาว กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อยังเป็นกรมหมื่น เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองนครราชสีมา มณฑลหนึ่ง ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยทั้ง ๕ มณฑล(๑)


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกลาง



หัวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ก็ได้รวมหัวเมืองทางฝ่ายทะเลตะวันตกเข้าเป็นอย่างมณฑล เพื่อการเก็บผลประโยชน์แผ่นดินอีกมณฑลหนึ่ง เวลาเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ที่เมืองภูเก็ต และขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม

แต่ข้าหลวงใหญ่ที่ประจำมณฑลชั้นนั้น มีหน้าที่รักษาพระราชอาณาเขตเป็นสำคัญ ไม่ได้โปรดฯ ให้จัดระเบียบแบบแผนการปกครองภายในบ้านเมืองด้วย เพราะฉะนั้นมีพระราชประสงค์จะเริ่มจัดหัวเมืองชั้นในก่อน แล้วจึงจะขยายแบบแผนให้เป็นอย่างเดียวกันให้แพร่หลายออกไปจนถึงตลอดชายพระ ราชอาณาเขต แม้เมื่อทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็ยังไม่โปรดฯ ให้โอนหัวเมืองที่ขึ้นกลาโหม กรมท่า มารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว อยู่ถึง ๓ ปี คงเป็นเพราะจะรอให้แน่พระราชหฤทัยเสียก่อน ว่าข้าพเจ้าจะจัดการสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ จึงจะให้บังคับบัญชาหัวเมืองทั่วทั้งพระราชอาณาเขต

ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อไปตรวจหัวเมืองครั้งแรกดังเล่ามาแล้วในภาคต้น ไปเห็นความขัดข้องขึ้นก่อนอย่างอื่น ด้วยหัวเมืองมาก แม้แต่หัวเมืองชั้นในก็หลายสิบเมือง ทางคมนาคมกับกรุงเทพฯ จะไปมาถึงกันก็ยังช้า ยกตัวอย่างดังจะไปเมืองพิษณุโลกต้องเดินทางกว่า ๑๐ วันจึงจะถึง หัวเมืองก็อยู่หลายทิศหลายทาง จะจัดการอันใดพ้นวิสัยที่เสนาบดีจะออกไปจัดหรือตรวจการงานได้เอง ได้แต่มีท้องตราสั่งข้อบังคับและแบบแผนส่งออกไปในแผ่นกระดาษ ให้เจ้าเมืองจัดการ

ก็เจ้าเมืองมีหลายสิบคนด้วยกัน จะเข้าใจคำสั่งต่างกันอย่างไร และใครจะทำการซึ่งสั่งไปนั้นอย่างไร เสนาบดีอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยากที่จะรู้ เห็นว่าวิธีสั่งเป็นรายเมืองอย่างนั้น การงานคงไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ จึงคิดที่จะแก้ความขัดข้องก่อน


ขบวนช้างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เดินทางไปตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ. ๒๔๔๙



คิดไปก็เห็นทางแก้ตรงกับโครงการซึ่งพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริ คือที่รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลนั้น เห็นว่าเป็นหัวเมืองชั้นในก็ควรรวมเข้าเป็นมณฑลละ ๕ เมืองหรือ ๖ เมือง เอาขนาดท้องที่ที่ผู้บังคับบัญชามณฑลอาจจะจัดการและตรวจตราได้เองตลอด อาณาเขตเป็นประมาณ และให้มีเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่อันชั้นยศอยู่ในระหว่างเสนาบดีกับเจ้า เมือง ไปอยู่ประจำบัญชาการมณฑลละคน เป็นพนักงานจัดการต่างๆ ในอาณาเขตของตนตามคำสั่งของเสนาบดี ทั้งเป็นหูเป็นตาและเป็นที่ปรึกษาหารือของเสนาบดีด้วย

ถ้าว่าโดยย่อ ก็คือแยกหน้าที่จัดการต่างๆ ตามหัวเมือง ไปให้ผู้บัญชาการมณฑลเป็นผู้ทำ เสนาบดีเป็นผู้คิดแบบแผนและตรวจการที่ทำนั้นประกอบกัน จึงจะจักการปกครองหัวเมืองให้ดีได้ดังพระราชประสงค์ ข้าพเจ้าคิดเห็นเรื่องนี้เป็นข้อแรกเมื่อไปตรวจราชการหัวเมือง

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นแตกแรกว่าจะเป็นความลำบากใหญ่หลวง คือที่จะไม่มีเงินพอใช้ในการจัดหัวเมือง ข้อนี้ใครๆ ก็เห็นว่าจะต้องเลิกวิธีปกครองอย่าง “กินเมือง” ดังเช่นพรรณนาไว้ในภาคต้น จะต้องห้ามมิให้เจ้าเมืองกรมการหากินในหน้าที่ราชการ และต่อไปจะต้องใช้แต่ผู้ซึ่งทรงคุณวุฒิสมกับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองกรมการ ซึ่งโดยมากภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างถิ่น เช่น เป็นชาวกรุงเทพฯ เป็นต้น เพราะเหตุทั้ง ๒ อย่างนี้ รัฐบาลจำจะต้องให้เงินเดือนข้าราชการหัวเมืองให้พอเลี้ยงชีพ มิฉะนั้นก็ไม่มีใครเป็นเจ้าเมืองกรมการ

ใช่แต่เท่านั้น ยังสถานที่ว่าราชการเมืองก็ดี บ้านเรือนที่อยู่ของเจ้าเมืองกรมการก็ดี ล้วนเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าเมืองกรมการทั้งนั้น ดังกล่าวมาแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินหลวงเพิ่มขึ้น มีต่อออกไปจนถึงค่าสร้างศาลารัฐบาล และสถานที่ทำราชการอย่างอื่นขึ้นใหม่ ทั้งสร้างเรือนให้ข้าราชการผู้ไปจากต่างถิ่นอยู่อาศัยให้พอกัน ถ้าจะว่าต้องสร้างเมืองใหม่หมดทุกเมืองก็ไม่ผิดกับความจริง ซึ่งพึงเห็นในปัจจุบันนี้ แต่ในสมัยนั้นปรารภเพียงแต่จำเป็นในชั้นนั้นก็จะเป็นจำนวนเงินมากมิใช่น้อย น่ากลัวการที่จัดจะติดขัด เพราะไม่ได้เงินพอใช้ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ข้าพเจ้ากลับลงมาถึงกรุงเทพฯ ถวายรายงานและกราบทูลความคิดเห็นดังกล่าวมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวมหัวเมืองเป็นมณฑลดังข้าพเจ้าคิด และให้ข้าพเจ้าพิจารณาดู เห็นใครควรจะเป็นผู้บัญชาการมณฑลไหนก็ให้กราบบังคมทูล ส่วนเรื่องเงินที่จะต้องใช้นั้น จะทรงสั่งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เวลานั้นยังไม่ได้รับกรม แต่เป็นตำแหน่งรองอธิบดีบัญชาการกระทรวงพระคลังฯ ให้ปรึกษาหาทางที่จะแก้ไขความลำบากด้วยกันกับข้าพเจ้า


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
รองอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ



ข้าพเจ้าได้รับสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็มาคิดการที่จะจัดตั้งมณฑลก่อน เห็นควรเอาลำน้ำอันเป็นทางคมนาคม เป็นหลักอาณาเขตมณฑล จึงกำหนดหัวเมืองข้าตอนใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ๑ เมืองลพบุรี ๑ เมืองสระบุรี ๑ เมืองอ่างทอง ๑ เมืองสิงห์บุรี ๑ เมืองพรหมบุรี ๑ เมืองอินทบุรี ๑ รวม ๗ หัวเมือง เป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ พระนครศรีอยุธยา เรียกว่า “มณฑลกรุงเก่า” (ตามชื่อซึ่งเรียกกันในเวลานั้น จนรัชกาลที่ ๖ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา)

รวมหัวเมืองทางลำแม่น้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี ๑ เมืองนครนายก ๑ เมืองพนมสารคาม ๑ เมืองฉะเชิงเทรา ๑ รวม ๔ เมือง เป็นมณฑล ๑ เรียกว่า “มณฑลปราจีน” ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีนบุรี (ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ว่าการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก ๓ เมือง รวมเป็น ๗ เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่า มณฑลปราจีน อยู่ตามเดิม)
รวมหัวเมืองทางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำพิง คือ เมืองชัยนาท ๑ เมืองสรรค์บุรี ๑ เมืองมโนรมย์ ๑ เมืองอุทัยธานี ๑ เมืองพยุหคีรี ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ เมืองกำแพงเพชร ๑ เมืองตาก ๑ รวม ๘ เมือง เป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองนครสวรรค์ เรียกว่า “มณฑลนครสวรรค์”

รวมหัวเมืองเหนือทางแม่น้ำน่าน และ แม่น้ำยม คือ เมืองพิจิตร๑ เมืองพิษณุโลก ๑ เมืองพิชัย ๑ เมืองสวรรคโลก ๑ เมืองสุโขทัย ๑ รวม ๕ เมืองเข้าเป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองพิษณุโลก เรียกว่า “มณฑลพิษณุโลก” รวมเป็น ๔ มณฑลด้วยกัน

แม้เพียง ๔ มณฑลเท่านั้น ก็ตั้งได้ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่ ๒ มณฑล เพราะหาตัวคนซึ่งจะเป็นผู้บัญชาการมณฑลให้เหมาะแก่ตำแหน่งได้ยาก ด้วยจะต้องเลือกหาในข้าราชการบรรดาศักดิ์สูง ที่มีปัญญาสามารถอาจจะทำการได้ดังประสงค์ และเป็นผู้ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรังเกียจ ประกอบกันทุกสถาน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิจประชานาถ



ในชั้นแรกข้าพเจ้าเห็นแต่ ๒ คน คือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เวลานั้นยังเป็นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิชัย ซึ่งข้าพเจ้าได้วิสาสะเมื่อขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ เห็นลาดเลาเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถมาตั้งครั้งนั้นคน ๑


เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)
พระยา ศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล พิษณุโลก



กับนายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยวิสาสะเห็นคุณวุฒิมาแต่เป็นนายทหารมหาดเล็กด้วยกัน อีกคน ๑ ทูลเสนอพระเจ้าอยู่หัวก็โปรด จึงทรงตั้งพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรเป็นผู้บัญชาการมณฑลพิษณุโลก ให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉทเป็นผู้บัญชาการมณฑลปราจีน และขนานนามตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลให้เรียกว่า “ข้าหลวงเทศาภิบาล” ให้ผิดกับคำ “ข้าหลวง” ซึ่งไปทำการชั่วคราว และให้เรียกได้ทั้งเจ้านายและขุนนางผู้เป็นตำแหน่งนั้น (ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงเปลี่ยนเป็น “สมุหเทศาภิบาล”)


นายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต)
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีน



พอตั้งมณฑลได้ไม่ช้า ถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ไทยก็เกิดวิวาทกับฝรั่งเศส เทศาภิบาลมณฑลปราจีนจัดส่งกำลังและเครื่องยุทธภัณฑ์ ไปยังมณฑลชายแดนทางตะวันออกแข็งแรงรวดเร็วกว่าคนทั้งหลายคาด ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ของการตั้งมณฑล ถึงออกปากชมกันเป็นครั้งแรก แต่ปีนั้นยุ่งอยู่ด้วยเรื่องฝรั่งเศส ไม่สามารถจัดการอื่นตามหัวเมือง

จนถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (๒) เมื่อยังไม่ได้รับกรม เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงษศิริพัฒน์
ทหารมหาดเล็กราชวัลลภ ราชองครักษ ผู้บัญชาการกรมทหารรักษาพระองค์
อัครราชทูตวิเศษ ณ กรุงปารีส ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
และผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ ตำบลเกาะลอย พระนครศรีอยุธยา



และให้ พระยาดัสกรปลาศ (อยู่) ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง เป็นข้าหลวงมณฑลนครสวรรค์ แต่พระยาดัสกรฯ อยู่ในตำแหน่งไม่ช้า รู้สึกตัวว่าเคยรับราชการทหารมาแต่ก่อน จะไม่สามารถรับราชการในตำแหน่งสำคัญฝ่ายพลเรือนให้ดีได้ จึงกราบทูลขอเวนคืนตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลโดยความซื่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์


พระยาดัสกรปลาศ (อยู่ โรหิตเสถียร)
ข้าหลวงใหญ่ ณ หลวงพระบาง
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์
ราชองครักษ์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อจากคุณ NickyNick)



และทรงตั้ง พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (แฉ่ บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาราชพงศานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์


พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (แฉ่ บุนนาค)
พระยาราช พงศานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์



และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เลื่อนเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานแล้ว โปรดฯ ให้รวมเมืองนครราชสีมา เมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง(๓) เมืองชัยภูมิ รวม ๔ เมือง เข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมือง นครราชสีมา เรียกชื่อว่า “มณฑลนครราชสีมา” และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) เมื่อยังเป็นพระยาประสิทธิศัลยการ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลบัญชาการมณฑลนั้น ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงมีมณฑลหัวเมืองชั้นในขึ้นเป็น ๕ มณฑลด้วยกัน


พระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี)
พระยาประสิทธิ ศัลยการ
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา (ลาวกลาง)



เรื่องเงินซึ่งโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าปรึกษากับกรมพระนราฯ นั้น ข้าพเจ้าเคยทูลท่านตั้งแต่แรกเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่าจัดหัวเมืองต้องใช้เงินมาก ถ้ากระทรวงพระคลังฯ ไม่ให้เงินพอแก่การก็จัดไม่สำเร็จ ท่านตรัสว่าได้ทรงคิดคาดอยู่แล้ว แต่เงินรายได้แผ่นดินยังน้อยนัก ถ้ารายได้ไม่มีเพิ่มขึ้นก็ยากที่จะจ่ายเงินให้พอแก่การกระทรวงมหาดไทยได้ เพราะฉะนั้นเมื่อข้าพเจ้าจัดการปกครองหัวเมือง ขอให้คิดบำรุงผลประโยชน์แผ่นดินไปด้วยกัน ถ้าสามารถทำให้เงินรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด จะจ่ายให้กระทรวงมหาดไทยใช้มากกว่ากระทรวงอื่นๆ ข้าพเจ้าก็รับจะช่วยคิดหาผลประโยชน์แผ่นดินด้วยตามพระประสงค์

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าจะขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ กรมพระนราฯ ตรัสแก่ข้าพเจ้า ว่าตามหัวเมืองเหล่านั้นเงินส่วยค้างอยู่มาก ถ้าข้าพเจ้าช่วยเร่งเงินส่วยลงมาได้บ้างก็จะดี

ข้าพเจ้าได้ฟังตรัสออกลำบากใจ ด้วยขึ้นไปครั้งนั้นข้าพเจ้าประสงค์แต่จะไปศึกษาหาความรู้ ไม่ได้คิดว่าจะไปจัดการอันใด อีกประการหนึ่ง ตัวข้าพเจ้าจะไปตรวจหัวเมืองในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นครั้งแรกเหมือนอย่างว่า ประเดิมโรง ชาวหัวเมืองยังไม่รู้จักอยู่โดยมาก ตั้งแต่เจ้าเมืองกรมการตลอดจนราษฎรพลเรือน คงพากันคอยดูว่านิสัยใจคอของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไร

ก็ธรรมดาของการเร่งเงินสมัยนั้น ย่อมต้องเอาตัวพวกลูกหนี้มาบังคับเรียกเอาเงิน บางทีก็ถึงต้องกักขังควบคุม คงต้องทำให้คนเดือดร้อนมากบ้างน้อยบ้างทุกเมืองที่ข้าพเจ้าไป คนทั้งหลายก็จะเลยเข้าใจว่าข้าพเจ้าดุร้ายไม่มีความเมตตากรุณา ถึงจะได้เงินก็เสียความเลื่อมใส พาให้ลำบากแก่กาลภายหน้า แต่จะไม่รับช่วยกระทรวงพระคลังฯ ตามพระประสงค์ของกรมพระนราฯ ก็ไม่สมกับที่ได้ทูลท่านไว้แต่แรก กระทรวงพระคลังฯ จะเลยไม่เชื่อถือ

ข้าพเจ้าทูลให้ทรงทราบความลำบากใจ แต่จะตริตรองหาทางแก้ไขดูก่อน แล้วจึงมาปรึกษาพระวรพุฒิโภคัย เจ้ากรมเงินส่วย ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาเมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กระทรวงมหาดไทยแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นคนเก่าได้รับสัญญาบัตรเป็นพันพุฒอนุราชแต่ในรัชกาลที่ ๔ รู้การงานมาก

พระวรพุฒิฯ ว่าข้าราชการที่เป็นหนี้เงินส่วยอยู่ตามหัวเมืองนั้น เป็นคนมั่งมีก็มี เป็นคนจนก็มี ประเพณีที่เร่งเรียกเงินส่วยบังคับเรียกเหมือนกันหมด ถ้าผ่อนผันให้คนจนอย่างไรก็ต้องผ่อนผันให้คนมั่งมีเหมือนกันหมด ที่จริงลูกหนี้ที่มีเงินพอจะส่งได้มีอยู่ไม่น้อย ถ้าข้าพเจ้าอยากได้เงินโดยไม่ต้องเร่งรัดให้เดือดร้อน เห็นทางที่จะได้อย่างนั้นแต่เอาส่วนลดล่อ คือเปิดโอกาสให้แก่พวกเจ้าหมู่นายกอง ว่าถ้าใครส่งเงินชำระหนี้หลวงได้สิ้นเชิง จะลดจำนวนเงินให้เท่านั้นส่วน กะส่วนให้เขาพอเห็นเป็นประโยชน์ ก็เห็นจะมีคนขอชำระหนี้หลวงด้วยใจสมัครมากด้วยกัน พวกที่ไม่มีเงินจะส่งก็ไม่ต้องถูกเร่งรัดให้ได้ความเดือดร้อน


กระบวนแห่ชาวพม่าที่มาต้อนรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ



ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย และไปทูลถามกรมพระนราฯ ว่ากระทรวงพระคลังฯ จะให้ส่วนลดแก่ลูกหนี้สักเท่าใด ท่านตรัสว่าเงินส่วยที่ค้างตามหัวเมืองทับถมกันอยู่เสมอ เร่งได้เงินปีเก่าปีใหม่ก็ค้างต่อไป จำนวนเงินค้างมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าเจ้าหมู่นายกองล้มตาย เงินที่ติดค้างก็เลยสูญ เงินส่วยมีมากแต่ในบัญชี ทิ้งไว้อย่างนั้นยิ่งนานตัวเงินก็ยิ่งสูญมากขึ้น จึงอยากได้เป็นเงินสด ถ้าข้าพเจ้าคิดอ่านให้มีผู้ส่งเงินชำระล้างหนี้ได้เช่นว่า ลดให้ครึ่งหนึ่งก็ยอม

จึงให้พระยาวรพุฒิฯ ขึ้นไปกับข้าพเจ้า และเอาบัญชีเงินส่วยค้างขึ้นไปด้วย ไปถึงเมืองไหนก็ให้พระยาวรพุฒิฯ บอกแก่ลูกหนี้เมืองนั้น ว่าเมื่อข้าพเจ้าจะไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น กระทรวงพระคลังฯ ขอให้ช่วยเร่งเรียกเงินส่วยที่ค้างอยู่ตามหัวเมือง ข้าพเจ้าขอให้กระทรวงพระคลังฯ ผ่อนผันบ้าง อย่าให้ได้ความเดือดร้อนกันนัก กระทรวงพระคลังฯ ได้อนุญาต ว่าถ้าลูกหนี้คนใดชำระเงินหมดจำนวนที่ค้างในเวลาข้าพเจ้าขึ้นไปนั้น ข้าพเจ้าจะลดเงินให้ครึ่งหนึ่งก็ได้ เป็นโอกาสพิเศษซึ่งยากจะมีอีก ถ้าใครอยากจะพ้นหนี้หลวงก็ให้เอาเงินมาชำระเสียให้สิ้นเชิง ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าให้ยอมลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่งตามอนุญาตของกระทรวงพระคลังฯ

ก็มีผลอย่างพระยาวรพุฒิฯคาด ด้วยลูกหนี้ที่มีเงินพากันสมัครจะชำระหนี้หลวงให้สิ้นเชิง ด้วยเห็นแก่ส่วนลด บางคนตัวเงินมีไม่พอถึงไปเที่ยวกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพิ่มเติมจนพอชำระหนี้ ก็มี ได้เงินสดกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท เวลานั้นยังไม่ใช้ธรบัตร ได้เป็นเงินบาททั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องให้หาเรือลำหนึ่งบรรทุกเงินลงมาถวายกรมพระนราฯ ก็ทรงยินดี


สมเด็จฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร



เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ท่านมาปรึกษากับข้าพเจ้าในเรื่องเงินที่จะ จ่ายให้พอจัดการหัวเมืองจึงไม่ลำบาก ท่านตรัสขอแต่ให้ข้าพเจ้าประหยัดเงินช่วยกระทรวงพระคลังฯ บ้าง เป็นต้นว่า ตำแหน่งข้าราชการที่รับเงินเดือนขอให้ตั้งขึ้นแต่น้อยก่อน อัตราเงินเดือนขอให้กำหนดเป็นอย่างต่ำแต่พอหาคนสมัครทำการได้ อีกประการหนึ่งอย่าเพ่อคิดก่อสร้างอะไรให้สิ้นเปลืองมากนัก สถานที่ทำการหรือที่พักอันจำเป็นจะต้องมี ถ้าไม่มีของเดิมขอให้ทำอย่างถูกๆ หรือเช่าเขาแต่พอใช้ชั่วคราวก่อน เมื่อจำนวนเงินแผ่นดินรายได้มีมากขึ้นจึงค่อยขยายรายการเหล่านั้นให้กว้าง ขวางออกไป ถ้าวงการเป็นเช่นที่ท่านตรัสแล้ว จะหาเงินให้ๆพอการ

ข้าพเจ้าก็รับจะทำตามพระประสงค์ และทูลว่าข้าพเจ้าคะเนดูว่าการที่จะจัดในชั้นแรกก็เห็นจะไม่ต้องใช้เงินมาก มายนัก ด้วยตั้งมณฑลขึ้นใหม่เพียง ๔ มณฑล (เวลานั้นยังไม่ได้ตั้งมณฑลนครราชสีมา) ในชั้นแรกก็จะมีคนรับเงินเดือนแต่ในกองข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับบังคับการ มณฑล ซึ่งจะต้องตั้งขึ้นก่อน ตั้งแล้วยังต้องให้เวลาพอที่ข้าหลวงเทศาภิบาลไปเที่ยวตรวจให้รู้การงานตาม หัวเมืองในมณฑลของตนเสียก่อนด้วย ในปีแรกก็เห็นจะต้องจ่ายเงินเดือนเพียงกองข้าหลวงเทศาภิบาล ๔ มณฑล

ต่อชั้นนั้นไปจึงจะถึงจัดการปกครองเมือง เพิ่มคนรับเงินเดือนต่อลงไปถึงเจ้าเมืองกรมการ ซึ่งเป็นพนักงานปกครองเมืองและอำเภอ แต่จัดการปกครองก็คงต้องจัดในเมืองหลวงของมณฑล ที่ข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่แต่เมืองเดียวก่อน จะมีคนรับเงินเดือนเพิ่มจำนวนขึ้นแต่ ๔ เมืองก่อน แล้วจึงขยายให้แพร่หลายต่อออกไป เพราะฉะนั้นโดยการที่กำหนดว่าจะจัดก็จะต้องการเงินเพิ่มขึ้นเป็นระยะไป พอจะเข้ากับความสามารถของกระทรวงพระคลังฯ ได้

เมื่อปรึกษาเข้าใจกันกับกระทรวงพระคลังฯ แล้ว ข้าเจ้าก็สิ้นวิตก ตั้งหน้าคิดจัดการหัวเมืองต่อไป




......................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) ยังมีมณฑลเขมรอีกมณฑลหนึ่ง ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา มณฑลนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่ ตั้งที่ว่าการอยู่ ณ เมืองพระตะบอง

(๒) พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์

(๓) เมืองบุรีรัมย์ กับ เมืองนางรอง นี้ แต่ก่อนมารวมเป็นบริเวณเดียว ตั้งศาลากลางที่เมืองบุรีรัมย์ และเรียกบริเวณนางรอง มีฐานะเท่าจังหวัดหนึ่งในสมัยนั้น ต่อมาไดเปลี่ยนชื่อบริเวณนั้นเป็นเมืองบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนเมืองนางรองนั้นยุบเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดบุรีรัมย์




Create Date : 27 เมษายน 2553
Last Update : 27 เมษายน 2553 2:45:49 น. 3 comments
Counter : 14325 Pageviews.  
 
 
 
 
สวัสดียามเช้าค่ะคุณกัมม์ เห็นอัพบล็อกเรื่องราวดีๆเลยแวะมาทักทายค่ะ คุณกัมม์สบายดีนะคะ ขอบคุณสำหรับคำอวยพรในวันสงกรานต์ด้วยค่ะ
 
 

โดย: sawkitty วันที่: 27 เมษายน 2553 เวลา:7:10:32 น.  

 
 
 
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี
ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังพิมพ์ต่อไปเรื่อยๆนะครับ
ส่วนผมหมดแรงแล้วครับ
 
 

โดย: CVTบ้านโป่ง วันที่: 27 เมษายน 2553 เวลา:13:41:02 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ สาว
สวัสดีครับ พี่หมอ

เก็บตกจากปีที่แล้วหนะครับ เรื่องนี้เคยตั้งเป็นกระทู้และเพื่อนสมาชิกหลายคนเข้าไปร่วมแจม
มาช่วงนี้การเมืองทำเอาผมพอจะมีเวลา ก็เลยเป็นจังหวะพอดีที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 29 เมษายน 2553 เวลา:1:08:25 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com