กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เทศาภิบาล ตอนที่ ๕ กรมขึ้นมหาดไทย


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๕ กรมขึ้นมหาดไทย

ข้าพเจ้ากลับจากหัวเมือง ก็ตั้งต้นเปลี่ยนแปลงการงานในกระทรวงมหาดไทย เริ่มด้วยจัดระเบียบการรับสั่งร่างเขียน และเก็บจดหมายในสำนักงานก่อน

การส่วนนี้เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ซึ่งได้เลื่อนที่จากหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ ขึ้นเป็นพระมนตรีพจนกิจ เป็นประโยชน์มาก เพราะรู้วิธีจดหมายราชการแบบใหม่ของสมเด็จ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้ถ่ายไปใช้ในกระทรวงธรรมการ ชำนาญมาแต่เมื่ออยู่ในกระทรวงนั้นแล้ว ตัวเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ก็มีอัชฌาสัยสัมมาคาระเข้ากับพวกข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้เร็ว สามารถชี้แจงให้คนเก่าทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และผู้น้อยให้แก้ไขการงานเข้าระเบียบใหม่ได้โดยง่าย ตัวข้าพเจ้าไม่สู้ต้องเป็นธุระมากนัก


เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)


และในตอนนี้ได้ผู้ซึ่งมาเป็นคนสำคัญในกระทรวงมหาดไทยเมื่อภายหลังเข้ามาอีกคนหนึ่ง คือพระยามหาอำมาตย์ (เสง วิริยศิริ) เดิมเป็นนักเรียนในโรงเรียนนันทอุทยาน รู้ภาษาอังกฤษถึงชั้นสูงในโรงเรียนนั้น เมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่กับข้าพเจ้า ประจวบเวลาพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ข้าพเจ้าจัดกรมแผนที่ขึ้นในกรมมหาดเล็ก ข้าพเจ้าจึงมอบให้เป็นศิษย์และเป็นล่ามของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมกคาที) ไปอยู่ในกรมทำแผนที่หลายปี ได้เรียนรู้วิชาทำแผนที่ และเคยไปเที่ยวทำแผนที่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางชายพระราชอาณาเขต มีความสามารถจนได้เป็นที่หลวงเทศาจิตพิจารณ์


พระยามหาอำมาตย์ (เสง วิริยศิริ)
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อคุณ NickyNick)



พระวิภาคภูวดล (เจมส์ เอฟ แมกคาที)


เมื่อเวลาข้าเจ้าย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หลวงเทศาจิตฯ ไปทำแผนที่อยู่ทางเมืองหลวงพระบาง พอกลับมาก็ขอสมัครมาอยู่กระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าเห็นว่าในกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีใครรู้ภาษาฝรั่งดี นอกจากตัวข้าพเจ้าคนเดียว และหลวงเทศาจิตฯ เคยเที่ยวทำแผนที่ทางชายแดน รู้ภูมิลำเนาบ้านเมืองชายพระราชอาณาเขตมาก จึงทูลขอมาเป็นที่พระสฤษพจนกร อีกคนหนึ่ง เป็นคู่กับเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เมื่อเป็นพระมนตรีพจนกิจ สองคนนี้เป็นแรกที่ข้าพเจ้าเอาบุคคลภายนอกเข้ามารับราชการในกระทรวงมหาดไทย แต่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ อยู่ไม่นาน สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ ตรัสขอไปเป็นพระครูหนังสือไทยของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประทับอยู่ในยุโรป ดังกล่าวในนิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง(๑) จึงไปได้ดีทางกระทรวงอื่น แต่หลวงเทศาจิตฯ อยู่ต่อมาจนได้เป็นพระยาศรีสหเทพ ปลัดทูลฉลอง แล้วเลื่อนเป็นพระยามหาอำมาตย์ ตำแหน่งรองเสนาบดี อยู่จนข้าพเจ้าออกจากกระทรวงมหาดไทย

ส่วนพวกข้าราชการเก่าที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยมาแต่ก่อนนั้น ข้าพเจ้าก็เลือกสรรเอาเข้าตำแหน่งในระเบียบใหม่ตามเห็นความสามารถ บางคนให้ไปรับราชการในตำแหน่งสูงขึ้นตามหัวเมืองก็มี บางคนก็เลื่อนตำแหน่งขึ้นคงทำงานอยู่ในกระทรวง ปลดออกแต่ที่แก่ชราเกินกับการไม่กี่คน ความที่หวาดหวั่นกันในพวกข้าราชการเก่า ด้วยเห็นข้าพเจ้าเป็นคนสมัยใหม่ เกรงว่าจะเอาคนสมัยใหม่ด้วยกันเข้าไปเปลี่ยนคนเก่าให้ต้องออกจากราชการก็สงบไป

ส่วนระเบียบการในกระทรวงที่จัดแก้เป็นระเบียบใหม่นั้น แบบจดหมายราชการได้อาศัยแบบอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ทรงตั้งขึ้น แต่ลักษณะที่จัดหน้าที่ต่างๆ ต้องเอาราชการในกระทรวงมหาดไทยขึ้นตั้งเป็นหลัก ข้าพเจ้าตรวจดูทำเนียบเก่าซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมาย “ลักษณะศักดินาข้าราชการพลเรือน” เห็นฝ่ายธุรการในกระทรวงมหาดไทยแบ่งเป็นกรมใหญ่ ๓ กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง (แต่ในกระทรวงมหาดไทยเรียกกันว่า “กรมหมู่ใหญ่” ) ปลัดทูลฉลองเป็นหัวหน้ากรม ๑ กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ พระยามหาอำมาตย์เป็นหัวหน้ากรม ๑ กรมพลัมพัง พระยาจ่าแสนยบดีฯ เป็นหัวหน้ากรม ๑ ทางกระทรวงกลาโหมมีกรมกลาโหมกลาง กับกรมกลาโหมฝ่ายเหนือ และกรมพลัมพัง อย่างเดียวกัน พิจารณาดูเห็นว่าเดิมทีเดียวน่าจะมีแต่กรมกลาง ทั้งมหาดไทยและกลาโหม กรมฝ่ายเหนือจะมาสมทบเพิ่มขึ้นต่อภายหลัง ถึงกรมพลัมพังก็เกิดขึ้นต่อภายหลัง


สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ


ตรงนี้ จะแทรกวินิจฉัยของข้าเจ้าลงสักหน่อย ตามที่คิดเห็นว่ากรมมหาดไทยและกลาโหมฝ่ายเหนือจะมีมาแต่เมื่อใด ด้วยตรวจดูในเรื่องพงศาวดาร เห็นมีเค้ามูลว่าน่าจะเกิดขึ้นเมืองครั้งราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) พระองค์ ๑ ครองเมืองเหนืออยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐา พระองค์ ๑ ครั้งนั้นเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์(๒) อยู่ ๓ ปีในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑ จน พ.ศ. ๒๐๓๔ คงตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองพิษณุโลกขึ้นอีกสำรับ

ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเชษฐาได้รับรัชทายาทครองเมืองไทยทั่วทั้งหมด เปลี่ยนพระนามเป็น สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) เสด็จลงมาประทับ ณ พระนครศรีอยุธยา ข้าราชการเมืองพิษณุโลกก็ลงมาสมทบกับข้าราชในพระนครศรีอยุธยาแต่นั้นมา ข้อนี้พึงเห็นหลักฐานได้ในคำที่เรียกข้างท้ายชื่อกรมว่า “ฝ่ายเหนือ” กับที่ตำแหน่งต่างๆ ในกรมฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือมีเหมือนกัน ตั้งแต่ปลัดทูลฉลอง ปลัดบัญชี ตลอดจนหัวพันนายเวร

แต่กรมพลัมพังนั้นเห็นจะตั้งขึ้นเมื่อใด และหน้าที่เดิมเป็นอย่างไร กล่าวกันแต่ว่าเกี่ยวกับปืนใหญ่ อาจจะเป็นพนักงานขนปืนใหญ่ในกองทัพหลวงก็เป็นได้ แต่ข้าราชการในกรมฝ่ายเหนือกับกรมพลัมพังทำราชการคละกันกับกรมกลางมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงไม่มีใครรู้ว่าหน้าที่เดิมเป็นอย่างไร(๓)

ยังมีกรมขึ้นของกระทรวงมหาดไทยอยู่ตามทำเนียบเดิมอีก ๒ กรม เรียกว่า กรมตำรวจภูธร เจ้ากรมเป็นหลวงวาสุเทพ กรม ๑ เรียกว่า กรมตำรวจภูบาล เจ้ากรมเป็นหลวงพิษณุเทพ กรม ๑ แต่โบราณ ๒ กรมนี้จะมีหน้าทำราชการอย่างใดก็ไม่มีใครรู้ เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กระทรวงมหาดไทยเป็นแต่คุมเลกไพร่หลวง เจ้ากรม ปลัดกรมก็รับราชการเหมือนกับขุนนางกระทรวงมหาดไทยพวกรับเบี้ยหวัด เช่นให้เป็นข้าหลวงไปทำการชั่วครั้งชั่วคราว


การฝึกแถวของตำรวจสมัยรัชกาลที่ ๕ การตำรวจที่เป็นแบบอย่างยุโรปเริ่มจัดตั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยว่าจ้าง
ชาว อังกฤษชื่อซัมมวลเอมส์มาเป็นผู้บังคับบัญชา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อคุณ เพ็ญชมพู)


แต่พิจารณาเห็นเค้าหน้าที่เดิมมีอยู่ ด้วยชื่อว่า “ตำรวจ” นั้นหมายความว่าเป็นพนักงานตรวจ อีกประการ ๑ ชื่อปลัดกรมทั้ง ๒ นั้นมีสัมผัสคล้องกันว่า ขุนเพชรอินทรา ขุนมหาวิชัย ขุนพิษณุแสน ขุนแผนสะท้าน ในเรื่องเสภาที่ว่าพลายแก้วได้เป็นที่ ขุนแผนสะท้าน ก็คือเป็นปลัดกรมตำรวจภูบานนั้นเอง ปรากฏว่ามีหน้าที่ตรวจตระเวนด่านทางทางเมืองกาญจนบุรี

ความยุติต้องกัน จึงเห็นว่า ๒ กรมนั้น หน้าที่เดิมน่าจะเป็นพนักงานตรวจด่านทางปลายแดน ซึ่งภายหลังเมื่อมีมอญอพยพเข้ามาสามิภักดิ์อยู่ในเมืองไทยมาก ให้พวกมอญเป็นพนักงานตรวจตระเวนทางต่อแดนเข้าไปได้จนถึงในเมืองพม่า จึงโอนการตรวจตระเวนชายแดนจากกรมตำรวจทั้ง ๒ นั้นไปเป็นหน้าที่ของพวกมอญ ซึ่งตั้งขึ้นเป็นกรมหนึ่งเรียกว่า กรมอาทมาต กรมตำรวจภูธรกับกรมตำรวจภูบาลจึงเป็นแต่คุมไพร่ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ที่เอาหน้าที่เดิมของกรมตำรวจทั้ง ๒ มากล่าวในที่นี้ เพราะในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีกรมตั้งขึ้นใหม่ ๒ กรม โอนมาจากกระทรวงอื่น ๒ กรม รวมเป็น ๔ กรมด้วยกัน จะเล่าถึงที่ตั้งและที่โอนมาขึ้นของกรมเหล่านั้นไว้ด้วย

ตามหัวเมืองแต่ก่อนมา นอกจากกรมอาทมาตที่กล่าวมาแล้ว ไม่มีพนักงานตรวจจับโจรผู้ร้าย กรมอาทมาตก็เป็นแต่สำหรับสืบข่าวทางเมืองพม่า เมื่อจัดการปกครองหัวเมือง พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาแบบ “ยองดามส์” ของฝรั่ง ซึ่งควบคุมและใช้ปืนเหมือนอย่างทหาร มาจัดขึ้นเป็นพนักงานตรวจจับโจรผู้ร้ายตามหัวเมือง เพราะเหมาะแก่การตรวจตระเวนท้องที่กว้างใหญ่ ด้วยไม่ต้องใช้คนมากนัก แต่ชื่อที่จะเรียกยองดามส์ว่ากระไรในภาษาไทย ยังไม่มี ข้าพเจ้าจึงเอาชื่อ ตำรวจภูธร มาให้เรียกยองดามส์ที่จัดขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าหน้าที่เป็นทำนองเดียวกันแต่โบราณ จึงมีกรมตำรวจภูธรอย่างใหม่ตั้งขึ้นแต่นั้นมา

ต่อมาภายหลัง ข้าพเจ้าคิดจะจัดกรมตำรวจภูบาลเป็นกรมนักสืบ C.I.D. (ซี.ไอ.ดี.) ขึ้นอีกกรมหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะหาผู้เชี่ยวชาญเป็นครูไม่ได้(๔) มาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงจัดขึ้น เมื่อกรมตำรวจภูธรกับกรมตำรวจภูบาลรวมเป็นกรมเดียวกันเสียแล้ว จึงเรียกว่า กรมตำรวจกลาง(๕)


Officers of Police Department สมัยเริ่มก่อตั้ง
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อคุณ Navarat.C)


กรมป่าไม้ เป็นกรมซึ่งตั้งขึ้นใหม่อีกกรมหนึ่ง เหตุที่จะตั้งกรมป่าไม้นั้นทีเรื่องมายืดยาว ด้วยป่าไม้สักมีในเมืองพม่ากับเมืองไทยมากกว่าที่ไหนๆ หมด เมื่ออังกฤษได้หัวเมืองมอญไปจากพม่า พวกอังกฤษตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่เมืองเมาะลำเลิง (มระแหม่ง) ตัดต้นสักทางลุ่มน้ำสาละวินในแดนเมืองมอญ เอาลงไปเลื่อยทำเป็นไม้เหลี่ยมและไม้กระดานส่งไปขายต่างประเทศ เป็นสินค้าเกิดขึ้นทางนั้นก่อน

ส่วนป่าไม้ในเมืองไทยมีมากแต่ในมณฑลพายัพลงมาถึงแขวงเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และเมืองอุทัยธานี เดิมชาวเมืองตัดแต่ไม้สักใน ๓ เมืองนั้นลงมาขายในกรุงเทพฯ แต่มักเป็นไม้ขนาดย่อม มักเอามาใช้ปักเป็นหลักสำหรับผูกแพที่คนอยู่ในแม่น้ำ จึงเรียกกันว่า เสาหลักแพ เป็นพื้น ที่เป็นไม้ซุงขนาดใหญ่ยังมีน้อย ถึงกระนั้น ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว ก็มีฝรั่งเข้ามาตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นในกรุงเทพฯ หมายจะเอาไม้สักเมืองไทยเลื่อยส่งไปขายต่างประเทศ จึงเริ่มเกิดสินค้าไม้สักเมืองไทยส่งไปขายต่างประเทศมาแต่รัชกาลที่ ๔ การทำป่าไม้สักก็เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมาทั้งในเมืองไทยและเมืองมอญ

ถึงรัชกาลที่ ๕ พวกทำป่าไม้ในแดนมอญ อยากจะตัดไม้สักต่อเข้ามาในแดนเมืองเชียงใหม่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน จึงเข้ามาคิดอ่านกับพวกพ่อค้าพม่าที่ฝากตัวอยู่กับพระเจ้าเชียงใหม่ ขออนุญาตตัดไม้สัก โดยจะยอมให้เงิน ค่าตอ ทุกต้นสักที่ตัดลง

ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดในบ้านเมืองอย่างประเทศราชแต่โบราณ เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้จากป่าไม้ ก็อนุญาตให้พวกพม่าทำป่าไม้ทางแม่น้ำสาละวินหลายแห่ง ด้วยสำคัญว่าจะบังคับบัญชาได้ เหมือนอย่างเคยบังคับบัญชาพวกพม่าที่มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ แต่พวกทำป่าไม้ต้องกู้เงินเขามาทำเป็นทุน ทำการหมายแต่จะหากำไร บางคนไม่ยอมทำตามบังคับบัญชาของพระเจ้าเชียงใหม่ ในเมื่อเห็นว่าจะเสื่อมเสียประโยชน์ของตน พระเจ้าเชียงใหม่ให้ลงอาญา เช่น ห้ามมิให้ตัดไม้ เป็นต้น

พม่าพวกทำป่านั้น ไปได้คำแนะนำของพวกเนติบัณฑิตในเมืองพม่า เข้ามาร้องทุกข์ต่อกงสุลอังกฤษกรุงเทพฯ กงสุลก็อุดหนุนรับธุระให้ร้องขอต่อรัฐบาล ให้เรียกค่าสินไหมจากพระเจ้าเชียงใหม่ให้แก่ตน ในชั้นแรกมีการฟ้องร้องน้อย โปรดฯ ให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม) เมื่อยังเป็นพระยาเทพอรชุน เป็นข้าหลวงขึ้นๆไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ก็ว่ากล่าวเปรียบเทียบให้เสร็จไปได้ แต่ทางเมืองเชียงใหม่ยังให้อนุญาตป่าไม้อยู่ไม่หยุด ถ้อยความเรื่องป่าไม้ก็กลับมากขึ้น และเจือไปเป็นการเมือง ด้วยกงสุลเข้ามาเกี่ยวข้องอุดหนุนคนในบังคับอังกฤษ พวกนั้นก็เลยได้ใจ จนรัฐบาลไทยกับอังกฤษต้องทำหนังสือสัญญากันให้ตั้งศาลต่างประเทศ และมีข้าหลวงและไวส์กงสุลอังกฤษตั้งประจำอยู่ที่เชียงใหม่



เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม)


ส่วนการทำป่าไม้สักในเมืองไทย ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็มีบริษัทฝรั่งเข้ามาตั้งค้าไม้สักขึ้นหลายห้าง พวกบริษัทขึ้นไปขอทำป่าไม้ในมณฑลพายัพเอาลงมาเลื่อยขายในกรุงเทพฯ ก็มักเกิดถ้อยความที่รัฐบาลต้องโต้เถียงกับกงสุล เกิดความรำคาญขึ้นอีกทางหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษากับเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์)(๖) เห็นว่าถ้าตั้งกรมป่าไม้ให้มีขึ้นในเมืองไทย สำหรับควบคุมการป่าไม้ตามแบบอย่างที่รัฐบาลอังกฤษจัดในเมืองพม่า และชั้นแรกขอยืมผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลอังกฤษที่เมืองพม่า มาเป็นครูฝึกหัดไทยที่จะเป็นพนักงานป่าไม้ต่อไป จะเป็นประโยชน์หลายอย่าง เพราะมีกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว พวกทำป่าไม้ก็จะไปติดต่อขอความสงเคราะห์ของกรมป่าไม้เหมือนแบบอย่างอังกฤษที่เมืองพม่า ไม่ต้องพึ่งกงสุล ก็จะพรากการอันเนื่องด้วยป่าไม้ออกจากการเมืองได้ และจะเป็นคุณต่อไปถึงการสงวนป่าไม้สักในเมืองไทย ทั้งอาจจะได้ผลประโยชน์ของรัฐบาลจากป่าไม้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย พระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย


เจ้าพระยาอภัยราชา (Rolinjacquemyns)


เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ก็ตัดความรำคาญได้สมพระราชประสงค์ เพราะลักษณะการที่คนในบังคับต่างประเทศร้องทุกข์ หรือจะขอร้องอันใดจากรัฐบาลไทย แต่ก่อนมาเคยขอให้กงสุลว่ากล่าวกับรัฐบาล กงสุลมีจดหมายส่งคำร้องขอมายังกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าแลการนั้นเกี่ยวด้วยกระทรวงใด กระทรวงการต่างประเทศก็มีจดหมายถามไปยังกระทรวงนั้น เจ้ากระทรวงว่ากระไรก็เขียนจดหมายตอบไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศก็มีจดหมายตอบไปยังกงสุล จะพูดกันแต่ละครั้งหลายวันจึงจะแล้ว

เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ถ้าพวกทำป่าไม้เป็นคนในบังคับต่างประเทศ ขอร้องมาทางกงสุล ข้าพเจ้าก็ทำตามแบบเดิมซึ่งมีจดหมายถึงกันหลายทอดดังว่ามาแล้ว ถ้าพวกทำป่าไม้มาร้องขอต่อพวกทำป่าไม้เอง จะเป็นคนในบังคับต่างประเทศหรือในบังคับไทย ข้าพเจ้าก็ให้กรมป่าไม้สงเคราะห์เสมอหน้ากัน ในไม้ช้าเท่าใด พวกชาวต่างประเทศก็เลิกร้องขอทางกงสุล สมัครมาว่ากล่าวตรงต่อกรมป่าไม้หมด กงสุลจะว่าก็ไม่ได้ ด้วยพวกทำป่าไม้อ้างว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ทำแต่การค้าขาย อย่างไรสะดวกแก่กิจธุระของเขา เขาก็ทำอย่างนั้น การส่วนสงวนป่าไม้และเพิ่มผลประโยชน์แก่แผ่นดิน ก็ได้ดังพระราชประสงค์ทั้ง ๒ อย่าง จึงมีกรมป่าไม้สืบมา(๗)

กรมแร่นั้น ชื่อหลวงขนานว่า “กรมราชโลหกิจภูมิพิทยา” แต่เรียกกันโดยย่อตามสะดวกปากว่า “กรมแร่” เป็นกรมตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ แต่ก่อนข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

เหตุที่จะตั้งกรมแร่ เกิดด้วยฝรั่งชาวอิตาลีคนหนึ่ง ชื่อลุชาตี ได้รับสัมปทานบัตรทำบ่อแร่ทองคำที่บางสะพาน ฝรั่งคนนั้นไปหาคนเข้าทุนในยุโรป เที่ยวโฆษณาว่าในเมืองไทยมีบ่อแร่ทองคำเนื้อดีมาก ข่าวแพร่หลายก็มีฝรั่งต่างชาติพากันตื่นมาขอสัมปทานจะทำบ่อทองที่แห่งอื่นๆ ในเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายและผู้ชำนาญที่จะเป็นพนักงานในการทำแร่ จึงโปรดฯ ให้หาฝรั่งซึ่งเชี่ยวชาญการแร่มาเป็นครู ตั้งกรมแร่ขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ แต่พวกกรมแร่ไม่รู้ขนบธรรมเนียมในบ้านเมือง ไปทำการตามหัวเมืองมักไม่ปรองดองกับเจ้าเมือง

ถึงสมัยข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงโปรดฯ ให้โอนกรมแร่จากกระทรวงเกษตราธิการมาเป็นกรมขึ้นกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ปรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับหัวเมืองให้เรียบร้อย ครั้นถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์เป็นเสนาบดี(๘) ก็โอนกลับคืนไปกระทรวงเกษตรฯ ตามเดิม กรมแร่จึงมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยอยู่เพียงชั่วคราว


เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์)


ตัวศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นสำนักงานกระทรวงมหาดไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพราะเมื่อจัดห้องที่ทำงานเป็นระเรียบเรียบร้อยแล้ว ที่ก็ไม่พอ เมื่อข้าพเจ้ากลับจากตรวจหัวเมือง พูดกับกระทรวงกลาโหมตกลงกันแล้ว จึงไปบอกระทรวงวัง ว่ากระทรวงกลาโหมยอมให้ห้องกลางในศาลาลูกขุนแก่กระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นขอให้ย้ายคลังวรอาสน์ไปเสียที่อื่น ก็ได้ห้องกลางมาใช้เป็นห้องประชุม และสำหรับการพิธี และโดยปรกติใช้เป็นห้องรับแขกด้วย

ต่อมาอีกปีหนึ่ง เมื่อกระทรวงกลาโหมบัญชาแต่ราชการทหาร ย้ายสำนักงานออกไปอยู่ที่ตึกกระทรวงกลาโหมเดี๋ยวนี้ ศาลาลูกขุนในทางฝ่ายขวาก็ตกเป็นสำนักงานกระทรวงมหาดไทย รวมอยู่ในกระทรวงเดียวหมดทั้งหมู่ ถึงกระนั้นที่ก็ไม่พอกับกรมขึ้น จึงให้มาทำงานร่วมสำนักกับกระทรวงมหาดไทยแต่กรมสรรพากรนอกกรมเดียว(๙) นอกจากนั้นกรมตำรวจภูธรกับกรมป่าไม้ต้องให้หาที่ตั้งสำนักงานใหม่ ส่วนกรมแร่คงทำงานอยู่ที่สำนักงานเดิมในกระทรวงเกษตรฯ




.....................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) นิทานโบราณคดี นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แผ่นดินทอง – โรงเรียนมหาดเล็กหลวง


(๒) แผ่นดินทอง – เมื่อแผ่นดินทรงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์


(๓) พระวินิจฉัยความหมาย มหาดไทย กลาโหม ประทานพระยาอินทรมนตรี
(สำเนาคำตอบปัญหา) จากกระทู้คุณ เพ็ญชมพู

คำถามที่ ๕ ว่า คำ "กลาโหม" กับคำ "พลัมภัง" ที่เรียกเป็นชื่อกรมนั้น มาแต่อะไร

ตอบคำถามที่ ๕ ต้องเพิ่มคำ "มหาดไทย" เข้าอีกคำ ๑ เพราะใช้เป็นชื่อกรมคู่กับ กลาโหม อันคำ กลาโหม มหาดไทย และพลัมภัง ทั้ง ๓ คำนี้ มิใช่ภาษาไทย คงเป็นคำมาแต่ภาษาสันสกฤตหรือภาษามคธ (ฝรั่งเรียกว่าภาษา "บาลี")ได้ลองค้นดูในหนังสือพจนานุกรมภาษาบาลีของอาจารย์ซิลเดอร์พบคำ "กลโห" Kalaho มีอยู่ในนั้นแปลความว่า "วิวาท" Quarrel อย่าง ๑ ว่า "วุ่นวาย" Strife อย่าง ๑ ว่า "รบประจัญบาน" Battle อย่าง ๑ ดูสมกับที่เอามาใช้ชื่อกรมฝ่ายทหาร ในพจนานุกรมนั้นมีอีกคำหนึ่งว่า "มหทย Mahadaya แปลความว่า "เมตตายิ่ง" Very Compassionate อย่าง ๑ "กรุณายิ่ง" Very Merciful อย่าง ๑ ดูก็สมกับที่เอามาใช้เป็นชื่อกรมฝ่ายพลเรือน แต่คำพลัมภังมีเพียงเค้าเงื่อนในพจนานุกรมเป็น ๒ ศัพท์ คือว่า "พลัม" แปลว่า Strength, Power, Force ล้วนหมายความว่ากำลังอย่าง ๑ อีกนัยหนึ่งแปลว่า "ทหารบก" Army หรือ "กองทหาร" Troop และในพจนานุกรมมีอีกคำหนี่งว่า "อัมโภ" Ambho แปลว่า "ก้อนกรวด" Pebble ถ้าเอา ๒ คำนี้เข้าสนธิกันเป็น "พลัมโภ" ดูใกล้กับคำพลัมภัง ประหลาดอยู่ที่ตามกฎหมายทำเนียบศักดินามีกรมพลัมภังอยู่ทั้งในกระทรวงมหาดไทย และในกระทรวงกลาโหม เจ้ากรมพลัมภังมหาดไทยเป็นที่พระยาจ่าแสนยบดี และเจ้ากรมพลัมภังกลาโหมเป็นที่พระยาศรีเสาวราชภักดี ฉันได้เคยสืบถามพวกข้าราชการชั้นเก่าในกระทรวงมหาดไทยว่า กรมพลัมภังนั้นแต่เดิมมีหน้าที่อย่างไร เขาบอกว่ากรมพลัมภังนั้นกล่าวกันมาว่า แต่โบราณเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับคุมปืนใหญ่ ถ้าเช่นนั้นชื่อกรมพลัมภังก็อาจจะมาแต่คำ "พลัมโภ" ที่ในพจนานุกรมแปลคำ "อัมโภ" ว่า "ก้อนกรวด" อาจหมายถึงวัตถุที่ใช้เป็นกระสุนของปืนใหญ่ชั้นเดิมก็เป็นได้ ความที่สันนิษฐานมาเป็นวินิจฉัยของคำ "กลาโหม" "มหาดไทย" และ "พลัมภัง" ว่ามาแต่อะไร

ยังมีวินิจฉัยที่ควรกล่าวต่อไปถึงเหตุที่เอาคำ "กลาโหม" กับ "มหาดไทย" มาใช้เป็นชื่อกรม อธิบายข้อนี้ มีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา กับในกฎหมายทำเนียบศักดินาประกอบกันว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้กำหนดข้าราชการเป็น "ฝ่ายทหาร" และ "ฝ่ายพลเรือน" ทรงตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้น ๒ คน คือ เจ้าพระยามหาเสนาบดี ให้เป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายทหารคน ๑ เจ้าพระยาจักรี ให้เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือน คน ๑ ผู้ช่วย Staff ของอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายทหารรวมเข้าเป็นกรม ให้เรียก "กรมกลาโหม" ผู้ช่วยของอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายพลเรือนก็รวมเป็นกรมเช่นเดียวกัน ให้เรียกว่า กรมมหาดไทย จึงมีกรมกลาโหมและกรมมหาดไทยเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ เพิ่งมาบัญญัติให้เรียกกรมที่มีเสนาบดีเป็นผู้บัญชาการว่า "กระทรวง" (ตรงกับ Ministry) เมื่อรัชกาลที่ ๕ เป็นอันว่า "มหาดไทย" น่าจะมาจาก "มหทย" (Mahadaya) ซึ่งแปลว่า เมตตายิ่ง หรือ กรุณายิ่ง ตรงกับงานและหน้าที่ของมหาดไทยเป็นที่สุด การที่เราเขียน มหทย เป็น มหาดไทย จะเป็นด้วยเขียนตามสำเนียงที่เปล่งออกมา หรืออักขระกลายรูป อย่างไรอย่างหนึ่งก็เป็นได้

นอกจากพระวินิจฉัยในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว ยังมีความเห็นอีกหลายท่านประกอบพิจารณาครับ


(๔) ในรัชกาลที่ ๖ ได้จัดกรมตำรวจภูบาลขึ้นอีกกรมหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ แต่ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเป็นกรมเดียวแล้ว ก็โปรดให้ยกเลิกกรมตำรวจภูบาลเสีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗


(๕) ในระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงจัดตั้งกรมตำรวจขึ้นอีกกรมหนึ่ง สำหรับเป็นกำลังส่งไปช่วยปราบปรามโจรผู้ร้ายในเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เหลือกำลังตำรวจท้องที่จะปราบได้ แต่เมื่อประกาศตั้งกรมนี้ขึ้นเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้ว จึงกลับเรียกว่าตำรวจภูบาลอีกครั้งหนึ่ง


(๖) เป็นชาวเบลเยี่ยม ชื่อ Rolinjacquemyns เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕
เพชรพระมหามงกุฎ – เจ้าพระยาอภัยราชา (Rolinjacquemyns)


(๗) ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้โอนกรมป่าไม้จากกระทรวงมหาดไทย ไปสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔


(๘) เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ ในหนังสือตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ มีอธิบายว่า

เจ้าพระยาวงศานุพัทธ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์)

เจ้าพระยาวงศ์นุประพัทธ นามเดิม หม่อมราชวงศ์ สท้าน สนิทวงศ์ เป็นบุตรพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ออกไปเรียนวิชาได้เป็นนายทหารบกในประเทศเดนมาร์ก กลับเข้ามารับราชการในทหารบก เมื่อในรัชกาลที่ ๕ พระราชทางสัญญาบัตร เป็นหม่อมชาติเดชอุดม หม่อมราชนิกูล รับราชการทหารจนมียศเป็นนายพล พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาวงศานุประพัทธ วิบูลปริวัตรเกษตราธิบดี รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็นเจ้าพระยา

ท่านเจ้าพระยาผู้นี้ได้รับพระราชทานทินนามใหม่ว่า เจ้าพระยานุประพัทธรัตนพลเทพฯ

ในสมัยที่ปกครองแบบจตุสดมภ์ เจ้าพระยาพลเทพ เป็นเสนาบดีกรมนา


(๙) กรมสรรพากรนอก เดิมขึ้นกระทรวงพระคลัง ตั้งที่ทำการอยู่ที่มณฑลปราจีน ปรากฏในรายงานการประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ว่าโปรดเกล้าฯ ให้มาสังกัดกระทรวงมหาดไทย




Create Date : 19 เมษายน 2553
Last Update : 19 เมษายน 2553 17:33:14 น. 0 comments
Counter : 6589 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com