กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เทศาภิบาล ตอนที่ ๔ ราชการหัวเมือง


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๔ ราชการหัวเมือง

ข้าพเจ้าไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ได้เห็นประเพณีการปกครองหัวเมืองอย่างโบราณที่ยังใช้อยู่หลายอย่าง ควรจะเล่าเข้าในโบราณคดีได้ แต่ต้องเล่าประกอบวินิจฉัยอันเป็นความรู้ซึ่งข้าพเจ้าได้ต่อเมื่อภายหลัง ด้วย จึงจะเข้าใจชัดเจน

การปกครองตามหัวเมืองในสมัยนั้น ยังใช้วิธีเรียกในกฎหมายเก่าว่า “กินเมือง” อันเป็นแบบเดิม ดูเหมือนจะใช้เช่นเดียวกันทุกประเทศทางตะวันออกนี้ ในเมืองจีนก็ยังเรียกว่ากินเมืองตามภาษาจีน แต่ในเมืองไทยมาถึงชั้นหลังเรียกเปลี่ยนเป็น “ว่าราชการเมือง” ถึงกระนั้นคำว่า “กินเมือง” ก็ยังใช้กันในคำพูด และยังมีอยู่ในหนังสือเก่าเช่นกฎมนเทียรบาล เป็นต้น

วิธีปกครองที่เรียกว่ากินเมืองนั้น หลักเดิมคงมาแต่ถือว่าผู้เป็นเจ้าเมือง ต้องทิ้งธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยการออกแรงช่วยทำการงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่นข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้ให้เป็นของกำนัล ช่วยอุปการะมิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ ราษฎรมากด้วยกันช่วยคนละเล็กละน้อย เจ้าเมืองก็เป็นสุขสบาย รัฐบาลในราชธานีไม่ต้องเลี้ยงดู จึงให้ค่าธรรมเนียมในการต่างๆ ที่ทำในหน้าที่เป็นตัวเงินสำหรับใช้สอย กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง ก็ได้รับผลประโยชน์ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ลดลงตามศักดิ์


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน มณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๑
แถวยืน
๑. เจ้าราชวงศ์
๒. เจ้าอุปราช
แถวนั่ง
๑. เจ้าอุปราช (คนเก่า)
๒. กรมพระยาดำรงราชานภาพ
๓. ม.จ. ทรงวุฒิภาพ ดิศกุล
๔. เจ้านครเมืองน่าน
๕. กรมหลวงปราจิณกิติบดี
๖. พระยาพุทธนุรักษ์


ครั้นจำเนียรกาลนานมาความเปลี่ยนแปลงในโลกียวิสัย ทำให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้นโดยลำดับ ผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องคิดหาผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นในทางอื่น เช่น ทำไร่นาค้าขาย เป็นต้น ให้มีเงินพอใช้สอยกินอยู่เป็นสุขสบาย เจ้าเมืองกรมการมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาการต่างๆ ตามตำแหน่ง และเคยได้รับอุปการะของราษฎรเป็นประเพณีมาแล้ว ครั้นทำมาหากิน ก็อาศัยตำแหน่งในราชการเป็นปัจจัยให้ได้ผลประโยชน์สะดวกดีกว่าบุคคลภายนอก เปรียบดังเช่นทำนาก็ได้อาศัยบอกแขกของแรงราษฎรมาช่วย หรือจะค้าขายเข้าหุ้นกับผู้ใด ก็อาจสงเคราะห์ผู้เป็นหุ้นให้ซื้อง่ายขายคล่องได้กำไรมากขึ้น แม้จนเจ้าภาษีนายอากรได้รับผูกขายไปจากกรุงเทพฯ ถ้าให้เจ้าเมืองกรมการมีส่วน ก็ได้รับความสงเคราะห์ให้เก็บภาษีอากรสะดวกขึ้น

จึงเกิดประเพณีหากินด้วยอาศัยตำแหน่งในราชการแทบทั่วไป เจ้าเมืองกรมการที่เกรงความผิด ก็ระวังไม่หากินด้วยเบียดเบียนผู้อื่น ต่อเป็นคนโลภจึงเอาทุกอย่างสุดแต่จะได้ ก็มักมีภัยแก่ตัว ดังเช่นผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งได้เล่าไว้ในนิทานที่ ๔ เรื่องห้ามเจ้ามิให้ไปเมืองสุพรรณ(๑)

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองเหนือครั้งนั้น เจ้าเมืองที่ข้าพเจ้าไปพบโดยมากเป็นผู้ดีมีตระกูล แต่มักเป็นชาวเมืองนั้นเอง ด้วยเป็นเทือกเถาเหล่ากอเจ้าเมืองคนก่อนๆ ซึ่งได้ทำราชการประกอบกับทำมาหากิน จนตั้งถิ่นฐานได้ในเมืองนั้น มีลูกถวายตัวเป็นมหาดเล็กก่อนแล้วขอออกไปรับราชการบ้าง หรือฝึกหัดให้ทำราชการในเมืองนั้นเองบ้าง จนได้รับสัญญาบัตรเป็นผู้ช่วยราชการ เป็นยกกระบัตร เป็นปลัด ใครดีก็ได้เป็นเจ้าเมือง ในที่สุดเป็นแล้วก็อยู่ในเมืองนั้นตลอดชีวิต ลูกหลานจึงมีกำลังพาหนะรับราชการสืบกันมา
ข้าราชการที่ถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ หาใคร่มีใครสมัครออกไปรับราชการหัวเมืองไม่ เพราะเกรงความลำบากในการหาเลี้ยงตัวดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นผู้ไปจากที่อื่นก็ต้องมีทุนรอนของตัวไป หรือมิฉะนั้นก็ต้องได้เป็นเขยสู่ขอผู้มีกำลังพาหนะในเมืองนั้นจึงจะไปอยู่ ได้ ยิ่งถึงชั้นกรมการชั้นรองลงไปต้องเลือกหาแต่ในพวกคฤหบดีในเมืองนั้นเองทั้ง นั้น เพราะหาคนต่างถิ่นยาก

ตามหัวเมืองสมัยนั้น ประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ศาลารัฐบาลตั้งประจำ สำหรับว่าราชการบ้านเมืองอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตน เหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงในราชธานีว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านคนอื่นเพียงที่เรียกกันว่า “จวน” เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่ง เรียกว่า “ศาลากลาง” เป็นที่ประชุมกรมการเวลามีการงาน เช่นรับท้องตราหรือปรึกษาราชการ เป็นต้น

เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลชำระความ เห็นได้ว่าศาลากลางเป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั้นเอง เรือนจำสำหรับขังนักโทษก็อยู่ในบริเวณจวนอีกอย่างหนึ่ง แต่คงเป็นเพราะคุมขังได้มั่นคงกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับจวนเหมือนกับศาลากลาง


ที่อยู่ของเจ้าเมืองสกลนคร
ใช้ในการต้อนรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร


มีเรื่องปรากฏมาแต่ก่อน ว่าครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ทอดพระเนตรเห็นศาลากลางตามหัวเมืองซอมซ่อ จนสังเวชพระราชหฤทัย ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ซ่อมแซม เมืองละ ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท) เมืองไหนทำสำเร็จแล้ว พระราชทานป้ายจำหลักปิดทองประดับกระจก ทำเป็นรูปเหรียญเงินรัชกาลที่ ๔ ลายเป็นรูปพระมหามงกุฎแผ่น ๑ รูปช้างในวงจักรแผ่น ๑ พระราชทานให้ไปติดไว้ ณ ศาลากลางซึ่งได้ทรงปฏิสังขรณ์ เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปยังมีอยู่หลายแห่ง ข้าพเจ้าได้ยืมมาจำลองรักษาแบบไว้ เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่มาภายหลังศาลากลางก็กลับทรุดโทรมน่าทุเรศอย่างเก่า หามีที่ใดสง่าผ่าเผยไม่

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเจ้าเมืองต้องสร้างจวนและศาลกกลางด้วยทุนของตน เอง แม้แต่แผ่นดินซึ่งจะสร้างจวน ถ้ามิได้อยู่ภายในเมืองมีปราการ เช่น เมืองพิษณุโลก เป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาซื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็เป็นมรดกตกแก่ลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจวนเดิมต่างฟากแม่น้ำ หรือแม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของ เจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมืองจึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นนิจ เหมือนอย่างทุกวันนี้ อันเพิ่งมีขึ้นเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลแล้ว


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ส่วนพวกกรมการนั้น เพราะมักเป็นคฤหบดีอยู่ในเมืองนั้นแล้วจึงได้เป็นกรมการ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็คงอยู่ที่นั้น เป็นแต่เวลามีการงานจะต้องทำตามหน้าที่ จวนเจ้าเมืองอยู่ที่ไหนก็ตามไปฟังคำสั่งที่นั่น บางคนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างถึงต่างอำเภอก็มี ด้วยเคยเป็นคฤหบดีอยู่ที่แห่งนั้นมาก่อน เจ้าเมืองประสงค์จะให้เป็นผู้รักษาสันติสุขในท้องถิ่นนั้นเหมือนอย่างนาย อำเภอ ซึ่งมีขึ้นในสมัยเทศาภิบาล จึงขอให้คฤหบดีคนนั้นเป็นกรมการ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งคือ ตั้งนักเลงโตซึ่งมีพรรคพวกมากให้เป็นกรมการ เพื่อจะให้โจรผู้ร้ายยำเกรงไม่กล้าปล้นสะดมในถิ่นนั้น

แต่บางทีก็กลับให้ผลร้าย ดังเคยมีเรื่องปรากฏเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ผู้รักษากรุงศรีอยุธยาตั้งคฤหบดีคนหนึ่งชื่อ ช้าง เป็นที่หลวงบรรเทาทุกข์อยู่ที่เกาะใหญ่ ด้วยแม่น้ำตอนเกาะใหญ่ลานเท เป็นย่านเปลี่ยวมักมีโจรตีปล้นเรือที่ขึ้นล่อง หลวงบรรเทาฯ คนนั้นขึ้นชื่อคนชมในการรับรองผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งผ่านไปมา แม้จนชาวเรือขึ้นล่อง ถ้าใครไปพึ่งพำนักหลวงบรรเทาฯ โจรผู้ร้ายก็ไม่กล้าย่ำยี ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นมาแต่ปลายรัชกาลที่ ๔

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ความปรากฏขึ้นจากคำให้การของโจรผู้ร้ายที่จับได้หลายราย ว่าเป็นพรรคพวกของหลวงบรรเทาฯ โปรดฯ ให้ข้าหลวงชำระก็ได้ความ ว่าหลวงบรรเทาฯ เป็นนายซ่องโจรผู้ร้าย เป็นแต่ให้ไปทำการโจรกรรมเสียให้เขตแขวงอื่น ภายนอกถิ่นที่ตนปกครอง หลวงบรรเทาฯ จึงถูกประหารชีวิต เป็นเรื่องเลื่องลือกันอื้อฉาวอยู่คราวหนึ่ง ในเวลาข้าพเจ้าแรกรับราชการ


ภาพการประหารชีวิตในอดีต


เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองเหนือ ยังมีกรมการที่เคยเป็นนักเลงโตอยู่หลายเมือง เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีโปลิศหรือตำรวจภูธรที่เป็นพนักงานสำหรับตรวจจับ ผู้ร้าย เจ้าเมืองต้องปราบปรามตามปัญญาของตน จึงเกิดความคิดที่จะหานักเลงโตมีพรรคพวก ตั้งเป็นกรมการไว้สำหรับปราบปรามโจรผู้ร้าย ที่จริงกรมการชนิดนั้นก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายไปทุกคน โดยมากมักไปตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ตามบ้านนอก เมื่อได้เป็นกรมการก็มักหาประโยชน์ด้วยทดรองทุนตกข้าวจากราษฎร และขอแรงราษฎรช่วยทำนาของตน แลกกับคุ้มโจรผู้ร้ายให้ราษฎร ต่อบางคนจึงเลยหากินไปในทางทุจริต ถึงเป็นใจให้พรรคพวกไปเที่ยวลักควายหรือปล้นทรัพย์ เพื่อจะได้ส่วนแบ่งเป็นผลประโยชน์

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจหัวเมืองครั้งแรก ได้พบกรมการซึ่งสงสัยกันว่าหากินอย่างนั้น ๒ คน เรียกกันว่า “ขุนโลกจับ” อยู่ที่เมืองพยุหคีรีคน ๑ แต่เมื่อข้าพเจ้าพบนั้นแก่ชรามากแล้ว ต่อมาได้ยินว่าออกบวชแล้วก็ตาย อีกคนหนึ่งเป็นที่หลวงศรีมงคล อยู่ที่เมืองอ่างทอง เจ้าเมืองใช้สอยอย่างว่าเป็น มือขวา กล่าวกันว่าเพราะจับโจรผู้ร้ายเข้มแข็งนัก เมื่อข้าพเจ้าจะเดินบกจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรี เจ้าเมืองให้หลวงศรีมงคลคนนั้นเป็นผู้จัดพาหนะ ในวันเดียวหาม้าและผู้คนสำหรับหาบหามสิ่งของได้พอต้องการหมด แล้วตัวเองอาสาขี่ม้านำข้าพเจ้าแต่เมืองอ่างทองไปจนเมืองสุพรรณฯ ข้าพเจ้าจึงได้ชอบมาสมัยนั้น

ครั้นถึงสมัยเมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ความปรากฏว่าหลวงศรีมงคลปล่อยให้พรรคพวกไปเที่ยวปล้นในเมืองอื่น แล้วรับของที่โจรได้มาเป็นประโยชน์ แต่แรกกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล ก็ไม่ทรงเชื่อ เพราะทรงใช้สอยหลวงศรีมงคลจนโปรดเหมือนกัน แต่ไต่สวนได้หลักฐาน จึงต้องฟ้องศาลข้าหลวงพิเศษ ศาลพิพากษาให้จำคุกหลวงศรีมงคลหลายปี กรมขุนมรุพงศ์ฯ จึงออกพระโอษฐ์ว่า “วิธี เลี้ยงขโมยไว้จับขโมยนั้นใช้ไม่ได้” แต่เมื่อถึงสมัยเทศาภิบาล มีกรมการอำเภอตั้งประจำอยู่ตามบ้านนอกและมีตำรวจภูธรแล้ว ก็ไม่อาศัยกรมการบ้านนอกเหมือนอย่างแต่ก่อน


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์


มีกรมการอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “กรมการจีน” เพราะเป็นจีนหรือลูกจีน ซึ่งยังไว้ผมเปียทั้งนั้น พวกนี้ขึ้นจากจีนนอกที่ไปตั้งทำมาหากินตามหัวเมือง บางคนไปตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน แล้วเข้ารับผูกภาษีอากร

ก็ตามกฎหมายแต่ก่อนนั้น ต่อบุคคลถือศักดินาแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป เป็นความในโรงศาลจึงแต่ทนายว่าความแทนตัวได้ การเก็บภาษี การเก็บภาษีอากรมักต้องเป็นถ้อยความกับราษฎรเนืองๆ ถ้าเจ้าภาษีนายอากรต้องไปติดว่าความเสียในโรงศาล ก็ไม่สามารถจะเก็บภาษีอากรได้ เพื่อจะแก้ไขความขัดข้องข้อนี้ เมื่อรัฐบาลตั้งใครเป็นเจ้าภาษีนายอากรจึงนับว่าเป็นข้าราชการ ให้มียศเป็นขุนนางชั้นขุนถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ เมื่อทำราชการต่อมาได้เลื่อนเป็นหลวงเป็นพระก็มี พวกที่อยู่ในกรุงเทพฯ เรียกกันว่า “ขุนนางเจ้าภาษีนายอากร” พวกที่อยู่ตามหัวเมืองเรียกกันว่า “กรมการจีน” เป็นถึงตำแหน่งปลัดเมืองก็มี ดังกล่าวมาในนิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่(๒)นั้น พวกกรมการจีนโดยปรกติตั้งหน้าทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์สมบัติ ไม่แสวงหาอำนาจ และมักบริจาคทรัพย์ ช่วยอุดหนุนกิจการต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จึงเข้ากับชาวเมืองได้ทุกชั้น ตั้งแต่เจ้าเมือง กรมการ ตลอดจนราษฎร

ที่ข้าพเจ้าไปทางเรือครั้งนั้น นอกจากได้เห็นหัวเมืองรายทางทั่วหมด ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเวลาเดินทางต้องนั่งกับนอนไปในเรือวันละหลายๆ ชั่วโมง ได้มีเวลาอ่านหนังสือต่างๆ เช่น กฎหมาย เป็นต้น ศึกษาหาความรู้วิธีปกครองอย่างโบราณ อันมีอยู่ในหนังสือเก่าไปด้วยตลอดทาง อาศัยความรู้ที่ได้ในในครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าความมุ่งหมายของการปกครองทั้งอย่างใหม่และอย่าง เก่า ก็อยู่ในที่จะให้ “บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข” ด้วยกัน แต่เข้าใจอธิบายคำ “อยู่เย็นเป็นสุข” นั้นผิดกัน

อย่างเก่าถือว่าถ้าบ้านเมืองปราศจากภัยต่างๆ เช่น โจรผู้ร้าย เป็นต้น ก็เป็นสุข ข้อนี้สังเกตได้ในบานแผนกที่แก้กฎหมายในการปกครองแต่โบราณ มักอ้างเหตุที่เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตามหัวเมือง เจ้าเมืองกรมการก็มุ่งหมายจะรักษาความเรียบร้อยในพื้นเมืองไม่ให้มีโจร ผู้ร้ายเป็นที่ตั้ง ตลอดจนถึงเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ เมื่อเห็นว่าเมืองใดสงบเงียบไม่มีเหตุร้าย ก็ยกย่องว่าปกครองดี ต่อเมืองใดไม่เรียบร้อย โจรผู้ร้ายชุกชุมหรือราษฎรเดือดร้อนด้วยเหตุอื่น จึงให้ข้าหลวงออกไประงับ หรือเหตุการณ์ใหญ่โต เช่น เกิดทัพศึก เสนาบดีก็ออกไปเอง จึงไม่มีการตรวจหัวเมืองในเวลาเมื่อเป็นปรกติ

ความคิดที่ว่าจะให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ต้องจัดการทำนุบำรุงในเวลาบ้านเมืองเป็นปรกติ เป็นคติเกิดขึ้นใหม่ ดูเหมือนจะเริ่มเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ และมาถือเป็นข้อสำคัญในรัฏฐาภิปาลโนบายต่อรัชกาลที่ ๕ ต่อมา


บำบัดทุกข์ บำรุงสุข
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



......................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) ในเรื่องนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(๒) ในเรื่องนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แผ่นดินทอง - อั้งยี่



Create Date : 17 เมษายน 2553
Last Update : 17 เมษายน 2553 11:35:58 น. 5 comments
Counter : 6581 Pageviews.  
 
 
 
 
สวัสดีค่ะคุณกัมม์ หายไปนาน สาวกำลังเตรียมตั้งกระทู้ที่ห้องสมุด เห็นคุณอัพบล็อกเลยรีบมาทักทายก่อน หวังว่าคงสบายดีนะคะ
 
 

โดย: sawkitty วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:16:21:06 น.  

 
 
 
สวัสดีปีเสือครับ คุณ สาว
สุขสำราญ สำเร็จสมหวัง นะครับ
 
 

โดย: กัมม์ IP: 58.11.40.101 วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:17:10:55 น.  

 
 
 
 
 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:18:35:00 น.  

 
 
 
สวัสดีปีเสือครับ คุณ หาแฟนตัวเป็นเกลียว
ไม่ต้องหาที่ไหนแล้วครับ เป็นแฟนบล็อกนี้ซะเลย
 
 

โดย: กัมม์ IP: 58.11.40.101 วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:19:27:25 น.  

 
 
 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
 
 

โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:17:50:37 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com