bloggang.com mainmenu search
เดินเที่ยววัดเบญจมบพิตร กับชมรมพิพิธสยาม

ได้ฤกษ์ซะทีค่ะ กับกิจกรรมเดินย้อนรอยพิพิธศิลปวัฒนธรรม อภิเนาว์สถานวังเจ้า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๕ รายละเอียดของกิจกรรมคลิกเลยค่ะ

...อัพบล็อกโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาไปแล้ว ช่วงบ่ายของวันนั้นเป็นกิจกรรมที่วัดเบญค่ะ จะว่าไป เรามาวัดเบญหลายครั้ง อัพบล็อกไปก็หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เราเคยมาเพราะทางชมรมพิพิธสยามได้รับความกรุณาจาก พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท หัวหน้าพระวิทยากร ประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตร ในการบรรยายและนำชมสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดค่ะ

เอนทรี่นี้ เน้นภาพภายในพระที่นั่งทรงผนวชนะคะ ปกติไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม วันนี้มากับชมรมพิพิธสยาม และโชคดีถ่ายภาพได้ ที่พระวิหารสมเด็จ ส.ผ. ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญก็ำได้เข้าชมค่ะ แต่ถ่ายภาพไม่ได้





เดินมาจากสวนจิตรฯ ค่ะ ไม่ได้เข้าประตูด้านนี้





จากหน้าประตูภาพบน เราเดินไปทางซ้ายมือ เข้าประตูนี้ค่ะ





ผ่านศาลาบัณณรศภาค





เดินไปเรื่อยๆ





เค้านัดบ่ายโมง แวะมากินส้มตำหลังวัดก่อนค่ะ / ส้มตำปู ปลาร้า





รวบรัด...ได้เวลารวมพลแล้วค่ะ ด้านข้างพระอุโบสถ





คุณปู ประธานชมรมพิพิธสยาม





วิทยากรอีกท่าน อ.จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา





พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท หัวหน้าพระวิทยากร ประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตร





หน้าบันลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายจําหลัก ตราประจํากระทรวง สมัยรัชกาลที่ ๕ รวม ๑๐ กระทรวง










พระอุโบสถ

ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนทั้งหลัง เป็นอาคารทรงจตุรมุข มีมุขเด็จยื่นออกมา ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน ๕ ชั้นมุงด้วยกระเบื้องกาบูสีเหลือง ลักษณะเป็นกาบโค้งกระเบื้องเชิงชายเทพพนม มีระเบียงคดล้อมรอบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ลงรักปิดทอง หน้าบันแกะสลักด้วยไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก หน้าบันมุขเด็จ ด้านหน้าเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ส่วนมุขเด็จด้านหลังเป็นรูปอุณาโลมประดับกระจก หน้าบันด้านอื่นๆ เป็นรูปต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ฝาผนังภายในเขียนภาพลายไทยเทพพนม ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองตลอดถึงเพดาน บนขื่อทั้งหมด มีภาพเขียนลายทองรดน้ำ เพดานประดับดาวกระจาย ซุ้มหน้าต่างเป็นเรือนแก้วฐานเท้าสิงห์ บานประตู ๓ ด้าน จําหลักโลหะภาพนูน ด้านหน้าเป็นภาพมารผจญ ด้านเหนือเป็นภาพเจดีย์จุฬามณีด้านใต้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ที่ซุ้มมุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ปิดทอง เป็นพระพุทธรูปที่หล่อจากเศษทองที่เหลือจาก การหล่อพระพุทธชินราชจําลองเรียกกันทั่วไปว่า หลวงพ่อธรรมจักร










อาจารย์ กับพระอาจารย์ ช่วยกันบรรยายค่ะ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งใจฟังมาก เราได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง มัวแต่ถ่ายรูป





พระประธานในพระอุโบสถคือ พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัยมีซุ้มเรือนแก้ว

ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน (เรือนแก้วนี้มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๕ น้ําหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง























ศาลาหน้าพระอุโบสถ

ศาลาหน้าพระอุโบสถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๗ จํานวน ๒ หลัง บริเวณสนามหญ้าหน้าพระอุโบสถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นศาลาทรงจตุรมุขโปร่ง ก่ออิฐถือปูน พื้นปูหินอ่อน หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันป็นภาพ และจารึกคาถาบาลีอักษรขอม ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ (พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ต้นราชสกุลสวัสดิกุล) ทรงเลือกจากพระสูตรในพระไตรปิฎก






บริเวณพระระเบียงคดค่ะ





สะพานพระรูป สะพานถ้วย สะพานงา ด้านหลังตึกใบหยก ๒





พระวิหารสมเด็จ (ส.ผ.) เดี๋ยวเราเข้าไปชมที่นี่ด้วยค่ะ ห้ามถ่ายรูป ปกติไม่ค่อยได้เปิดให้เข้าชม





หน้าบันพระวิหารสมเด็จ ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ ส.ผ. (เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจก




พระฝาง ประดิษฐานในบุษบกมุขหน้าชั้นบน สามารถมองเห็นได้จากภายนอก แปลกกว่าพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์สมัยอยุธยา ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แบบมารวิชัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวิหารหลวง (วัดสวางค์) เมืองฝาง หรือสวางคบุรี อยู่ริมแม่น้ำน่าน







ราชสีห์ ๒ ตัวหน้าพระิวิหารสมเด็จ ส.ผ. เห็นว่าเป็นต้นแบบของโลโก้ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จำกัด





ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำปิดทองทั้งชั้นบนและชั้นล่าง หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง

ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ ส.ผ. (เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจก





หอระฆังบวรวงศ์





ศาลาตรีมุขสะพานน้ำ





พระที่นั่งทรงผนวช และศาลาสี่สมเด็จ




ปัจจุบัน ศาลาสี่สมเด็จใช้เป็นหอกลอง มีกลองที่น่าสนใจ คือ กลองยาว ที่มีความยาวถึง ๕.๓๒ เมตร ทําด้วยไม้ประดู่ทั้งท่อน ใช้สําหรับตีในงานบุญตามประเพณีบ้าง ตีแข่งขันประกวดเสียงกันบ้าง ตีประกอบการฟ้อนรําพื้นเมืองบ้าง ภาคเหนือเรียกว่า "กองอืด" หรือ "กลองหลวง" ซึ่งจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้นํามาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ ในคราวแม่ทัพปราบกบฏเงี้ยว และได้พบกลองนี้ในค่ายบัญชาการรบพวกกบฏ จึงได้ยึดส่งลงมากรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้นํามาไว้ที่วัดนี้







ขึ้นมาด้านบนพระที่นั่งทรงผนวชแล้วค่ะ โชคดีแท้ สามารถถ่ายภาพได้





พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระเสลี่ยงน้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร





พระแท่นบรรทม





พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ





เครื่องลายครามต่างๆ








เครื่องเขียนประดับมุก





เหมือนกาต้มน้ำค่ะ










ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระที่นั่งทรงผนวช เขียนภาพเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม ๒๐ ตอน คือตอนโสกันต์, บรรพชา, เทศนา, หว้ากอ, ธรณีร่ำไห้, ราไชสวรรย์, มิ่งขวัญประชา, ชีบาชื่นชม, ภิรมย์ปรางค์ปรา, พุทธานุสรณ์, พระบารมีไพบูลย์, ทูตทูลสาส์นตรา, ราชานิวัติ, ไพรัชประพาส, ประเทศราชนามา (๑), ประเทศราชนามา (๒),รักษาพุทธศาสน์, ตรวจราชการ และสังหารกุมภา









สนใจภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งทรงผนวชคลิกที่นี่ค่ะ

ค่อนข้างละเอียด เป็นสารนิพนธ์ของภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.๒๕๒๔

















ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกค่ะ ฝนไล่มาแล้ว...





คุณปู ถวายของที่ระลึกให้พระอาจารย์ พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท หัวหน้าพระวิทยากร





มอบของที่ระลึกให้อาจารย์จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยาค่ะ





ที่มาข้อมูล : //www.culture.ssru.ac.th/information/fileupload/info_114.pdf
Create Date :24 มิถุนายน 2556 Last Update :25 มิถุนายน 2556 15:59:12 น. Counter : 16935 Pageviews. Comments :37