Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

เจ้าฟ้าพินทวดี....เชษฐภคินีของเจ้าฟ้าเอกทัศน์ และเจ้าฟ้าอุทุมพร




--------------------------------------
ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
โดย จุลลดา ภักดีภูมิน
--------------------------------------


สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือ ขุนหลวงบรมโกศ หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๓๑ ครองราชย์อยู่นาน ๒๖ ปี


บ้านเมืองคงจะรุ่งเรืองมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือขุนหลวงทรงปลา พระบรมเชษฐาธิราช (เจ้าฟ้าเพชร) ซึ่งทรงครองราชย์มานานถึง ๒๗ ปี

ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชพงศาวดาร และจดหมายเหตุต่าง ๆ จึงจดไว้ตรงกันว่า เป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองไพบูลย์ที่สุด ศิลปวัฒนธรรม พระศาสนา ตลอดจนการกวีวรรณกรรม การละครการบันเทิงละเล่นต่าง ๆ เฟื่องฟู ราษฎรไพร่ฟ้ามีความสุขสนุกสนานกันทั่วหน้า

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้สืบราชสมบัตินั้น พระชนมายุเห็นจะประมาณ ๕๐ พรรษา คงไม่มากไม่น้อยกว่านั้นเท่าใด และพระราชโอรสธิดา ก็คงมีที่เป็นหนุ่มสาวแล้วหลายพระองค์

ปรากฏว่าทรงมีพระอัครชายา ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ๒ องค์ ทั้ง ๒ องค์นี้ เป็นพี่น้องร่วมชนกชนนีเดียวกัน คือเป็นธิดาของ นายจบ คชประสิทธิ์ ทรงบาศก์ขวากรมช้าง เรียกสั้นๆว่านายทรงบาศก์ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นผู้ร่วมคิด และเป็นกำลังสำคัญให้พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ ดังนั้น เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ จึงสถาปนานายทรงบาศก์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังหลัง (หลวงสรศักดิ์ บุตรเลี้ยงเป็นวังหน้า)

แต่ ต่อมาพระเพทราชาเกิดทรงระแวงกรมพระราชวังหลัง จึงสำเร็จโทษเสีย โดยทรงเรียกมาถามว่า อันการก่อสร้างปราสาทราชฐานนั้น ต้องมีนั่งร้านจึงจะสร้างสำเร็จ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำอย่างไรดีกับนั่งร้าน กรมพระราชวังหลังทูลตอบว่า ก็ต้องรื้อนั่งร้านทิ้ง โดยคงจะมิได้เฉลียวใจว่า เป็นการถามเปรียบเทียบ เพื่อหาเหตุสำเร็จโทษตนผู้เปรียบเสมือนเป็น ‘นั่งร้าน’

พระอัครชายาทั้งสองคงจะได้เป็นพระอัครชายา ขณะที่บิดาอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง เพราะในพระราชพงศาวดารเรียกว่า พระองค์เจ้าขาวองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าพลับองค์หนึ่ง

พระองค์เจ้าขาวได้รับสถาปนาเป็นกรมหลวงอภัยนุชิต เรียกกันว่า ‘พระพันวสาใหญ่’

พระองค์เจ้าพลับได้รับสถาปนาเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี เรียกกันว่า ‘พระพันวสาน้อย’

พระอัครมเหสีอีกองค์หนึ่ง คงจะทรงรับเป็นพระมเหสี เมื่อเสด็จครองราชย์แล้ว คือ เจ้าฟ้าสังวาล มิได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศอย่างใดแต่ชาววังเรียกกันว่า ‘สมเด็จตำหนักกลาง’

องค์นี้ เห็นจะเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ยิ่งกว่าพระอัครมเหสีใหญ่ทั้งสองพระองค์

ด้วยมีเรื่องเกี่ยวพันชู้สาวกันกับ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเรียกพระฉายานามว่า ‘เจ้าฟ้ากุ้ง’ กรมพระราชวังสถานมงคล ‘วังหน้า’ ในรัชกาลพระราชบิดา

พระประวัติของเจ้าฟ้าสังวาลคงมีผู้ทราบกันไม่มากนัก ท่าจะเล่าถึงท่านสักหน่อย

เจ้าฟ้าสังวาลท่านเป็นเจ้าฟ้าโดยศักดิ์กำเนิดของท่าน คือ พระชนกเป็นพระองค์เจ้า พระชนนีเป็นเจ้าฟ้า ท่านจึงเป็นเจ้าฟ้าตามพระชนนีตามธรรมเนียมราชประเพณีแต่โบราณ

พระองค์เจ้าแก้วพระชนกเป็นพระราชโอรสในพระเพทราชา

เจ้าฟ้าเทพ พระชนนีเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าท้ายสระ






เขาไกรลาส ในพระราชพีธีโสกันต์ สมเด็นพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ พ.ศ.๒๔๓๓ สร้างขึ้นตามแบบอย่างที่เจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงจดหมายชี้แจงไว้


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทางพระชนกไม่มีสายโลหิตเกี่ยวกันกับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชอนุชาในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) แต่ทางพระชนนีนั้น เจ้าฟ้าหญิงเทพเป็นลูกผู้พี่ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศก์ เพราะพ่อกับพ่อเป็นลูกพี่ลูกน้องกันดังกล่าว

นักสันนิษฐานโดยเฉพาะผู้ที่เลื่อมใสนิยมในกาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้ากุ้ง จึงสันนิษฐานกันว่า เจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าสังวาลคงจะมีพระชันษาไล่เลี่ยกัน และอาจผูกสมัครรักใคร่กันตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ก่อนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงรับเจ้าฟ้าสังวาลเป็นพระมเหสี

เรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ วังหน้าและเจ้าฟ้าสังวาลนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วโดยทั่วไป

จึงขอเว้นไว้เพียงนี้

ว่าถึงพระพันวสาทั้งสองพระองค์ องค์ใหญ่มีลูกเธอเจ้าฟ้าถึง ๗ องค์ องค์น้อย มีลูกเธอ ๘ พระองค์

แต่ทรง ‘จนลูกชาย’ เหมือนกัน พระพันวสาใหญ่มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าฟ้าชายใหญ่ ธรรมาธิเบศร์ (ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า เจ้าฟ้านราธิเบศร์) อีก ๖ องค์เป็นหญิงหมด

ส่วนพระพันวสาน้อย มีเจ้าฟ้าหญิง ๖ องค์ เช่นกัน มีพระราชโอรส ๒ องค์ คือ ลูกเธอลำดับที่ ๕ เจ้าฟ้าชายเอกทัศน์ ลำดับที่ ๖ ๗ เป็นหญิง แล้วจึงถึงเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือดอกมะเดื่อเป็นองค์สุดท้อง ในพระราชพงศาวดารว่า อ่อนกว่าเจ้าฟ้าเอกทัศน์เกือบ ๒๐ ปี จึงได้ค่อนข้างกลัวและเกรงพระเชษฐา

ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลนั้นว่ามีเจ้าฟ้า ๔ องค์ องค์สำคัญ คือเจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ ผู้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) และอิเหนาเล็ก

บรรดาเจ้าฟ้าหญิงเหล่านี้ รวมทั้งลูกเธอพระองค์เจ้าอื่น ๆ ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งในพระราชพงศาวดาร จากคำบอกเล่าของขุนหลวงหาวัด (ขุนหลวงอุทุมพร) ว่าพี่น้องของท่าน มีด้วยกันทั้งหมดถึง ๑๐๘ องค์นั้น เมื่อกรุงแตก ต่างก็กระจัดพลัดพรายกันไป ที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปพร้อมกับขุนหลวงหาวัดก็มากมาย กลายไปเป็นสามัญชนพลเมืองพม่า ที่หนีซ่อนไปเป็นชาวบ้านก็มี

แต่มีเจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาของพระพันวสาน้อยพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี เป็นเชษฐภคินีของเจ้าฟ้าเอกทัศน์ และเจ้าฟ้าอุทุมพร เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าครอกทองอยู่ (พระอัครชายาในกรมพระราชวังหลังกรุงรัตนโกสินทร์) เคยเป็นข้าหลวงของเจ้าฟ้าหญิงพินทวดีมาก่อน ครั้นกรุงแตกคงจะเชิญเสด็จลงมากรุงธนบุรีด้วยกัน ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้ประทับในพระราชวังกรุงธนบุรีและทรงอุปการะยกย่องเป็นอันดี เจ้าฟ้าพินทวดีจึงทรงเป็นผู้แนะนำเรื่องราชประเพณี และการรั้ววังต่าง ๆ จนกระทั่งหมดสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเชิญให้เสด็จข้ามมาประทับในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ

ปรากฏเรื่องราวของท่านในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชพิธีโสกันต์ตอนหนึ่งว่า

“...เจ้าฟ้าพินวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เอง แลเห็นการงานต่าง ๆ เมื่อเวลาลงสรงโสกันต์ เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านๆทราบการทุกอย่าง เป็นผู้แนะนำอย่างธรรมเนียมโบราณอื่น ๆ ต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการในกรุงเทพฯ นี้ เมื่อท่านเห็นว่าเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ที่โสกันต์ ไม่ได้ทำเต็มตามตำราพระราชพิธีแต่สักพระองค์หนึ่ง จนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่าการอย่างธรรมเนียมพระราชพิธีลงสรงโสกันต์เจ้าจะสาบศูนย์ไปเสียแล้ว ท่านก็ทรงชราแล้ว เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้น ใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้องตามแบบแผนได้เล่า ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงานลงสรงโสกันต์ต่าง ๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างในเรียนดูรู้ไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบศูนย์ไป ความที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงพระวิตกนั้น กรมพระราชวังฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงสร้างเขาไกรลาสมีพระมณฑปเป็นยอด และมีสระอโนดาต และท่อไขนำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ตามอย่างเจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ ครั้นการเขาไกรลาสเสร็จแล้ว ก็กราบทูลขอแต่พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำการโสกันต์ พระราชบุตร แลพระราชบุตรีของท่าน ที่เป็นแต่พระองค์เจ้าสมมติให้เป็นดังเจ้าฟ้า ทำการทั้งนี้แม้นผิดอย่างธรรมเนียม ก็เพื่อว่าจะให้เห็นเป็น (ตัว) อย่างทันเวลาเมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ จะให้มีผู้ได้รู้ได้เห็นไว้เป็นอันมากมิให้การสาบศูนย์ไป”

เจ้าฟ้าพินทวดี (บางแห่งว่าพินทุมวดี) สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๓๔๔ ในรัชกาลที่ ๑ นั้นเอง



สรงน้ำริมสระอโนดาต เชิงเขาไกรลาส ทำท่อน้ำสรงไหลจากปากสัตว์ป่าหิมพานต์ทั้ง ๔ เช่น ราชสีห์ ที่ประดับอยู่เชิงเขานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงยืน



ทรงเครื่องสรงน้ำเรียกว่า ‘เครื่องถอด’ (เป็นฉลองพระองค์ ชุดขาวขลิบทอง) หลังจาก โสกันต์ (โกนจุก) แล้ว




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2554
0 comments
Last Update : 29 สิงหาคม 2554 21:28:19 น.
Counter : 8672 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.