Group Blog
 
<<
มีนาคม 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 มีนาคม 2560
 
All Blogs
 
ทำไมเด็กสิงคโปร์ถึงเก่งเลขนัก ?

.
.
.

.
.
BRIEF: ทำไมเด็กสิงคโปร์ถึงเก่งเลขนัก บทเรียนเรื่องการศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน
.
สิงคโปร์ นครรัฐที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน มักจะติดอันดับท็อปของโลกเมื่อเปรียบเทียบกันด้วยความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และยังเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่น่าชื่นชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
.
ตัวอย่างเห็นได้จากการจัดอันดับความสามารถทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของเด็กอายุ 15 ปี จาก 76 ประเทศ เผยแพร่โดย OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งแสดงถึงความโดดเด่นของเด็กๆ จากเอเชียเหนือเด็กจากฝั่งตะวันตกด้วย
.
ความสำเร็จของสิงคโปร์เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่นาน หากย้อนไปในสมัยอาณานิคมชาวบ้านในสิงคโปร์ล้วนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จนกระทั่งถึงยุคที่ได้อิสรภาพรัฐบาลของ ลี กวน ยู ได้ขยายการศึกษาจนครอบคลุมประชากรทุกคน ดึงการลงทุนจากต่างชาติและสร้างภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของพัฒนาการหลังยุคอาณานิคม
.
ที่นี่ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คือวิชาหลักที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดในการศึกษาชั้นประถมและมัธยมต้น ตั้งแต่ชั้นประถมปลายขึ้นไปเด็กๆ จะได้เรียนกับครูที่มีความชำนาญด้านคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ และในขณะที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนด้านมนุษยศาสตร์ได้ในระดับ A-level (Advanced Level, เทียบได้กับมัธยมปลายเป็นใบประกาศสำหรับนักเรียนที่สอบได้หลังเรียนจบปีที่ 2 ในระดับ Junior College และนักเรียนที่สอบได้หลังจบปีที่ 3 ในโรงเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษา) แต่พวกเขาก็ยังต้องเรียนด้านคณิตศาสตร์ หรืออย่างน้อยวิชาด้านวิทยาศาสตร์อีกหนึ่งวิชาจนกว่าจะเรียนจบ
.
กระบวนการแบบสิงคโปร์เริ่มพัฒนาขึ้นโดยคณะครูในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยครูเหล่านี้จะต้องเรียนงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ล่าสุด และต้องเดินทางไปยังโรงเรียนในต่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในระบบการสอนที่ต่างกัน และเปลี่ยนจากระบบท่องจำแบบพื้นๆ มาโฟกัสที่การสอนให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหาแทน
.
ตำราที่พวกเขาใช้ได้อิทธิพลมาจากนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน Jerome Bruner ที่ชี้ว่ามนุษย์มีการเรียนรู้ในสามระดับ คือจากวัตถุจริงมาเป็นภาพ และสัญลักษณ์ จากการปรับใช้ทฤษฎีดังกล่าวพวกเขาจึงเน้นรูปแบบการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์โดยใช้ภาพเข้ามาช่วยด้วย
.
สำหรับหลักสูตรของสิงคโปร์ การเรียนในชั้นประถมของพวกเขามีหัวข้อวิชาที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก แต่เรียนลงลึกไปในแต่ละเรื่องมากกว่า และในขณะที่ทางตะวันตกชอบคิดว่าเด็กแต่ละคนจะมีวิชาที่ตัวเองถนัดเฉพาะลงไป แต่ที่สิงคโปร์พวกเขาเชื่อว่าเด็กมีความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการหากพวกเขาพยายาม
.
ในด้านวิทยาศาสตร์นักเรียนจะได้รับการสอนการเชิงปฏิบัติ เช่นการเรียนรู้จากการลงมือประกอบแผงวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่จูงใจให้เด็กสนใจด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าด้านมนุษยศาสตร์ อย่างที่ Toh Thiam Chye ครูใหญ่จากโรงเรียนมัธยมต้น Admiralty กล่าวว่า "เราต้องการเตรียมพวกเขาสำหรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกันเราก็ต้องการป้อนความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย"
.
และความสำเร็จของสิงคโปร์ก็ไม่ได้มาจากเงินเพียงอย่างเดียว เพราะพวกเขาใช้งบด้านการศึกษาคิดเป็นเพียง 3% ของ GDP ขณะที่อังกฤษใช้ราว 6% ส่วนสวีเดนราว 8% แต่ระบบของสิงคโปร์มีประสิทธิภาพสูงด้วยการมอบอิสระให้กับครูในการพัฒนารูปแบบการสอนของตัวเอง
.
ครูที่เก่งและประสบความสำเร็จจะไม่ถูกผลักดันให้ไปทำหน้าที่ด้านบริหารเหมือนที่อื่นๆ แต่พวกเขาจะได้รับโอกาสในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และออกแบบหลักสูตรแทน
.
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ระบบของสิงคโปร์จะได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศ แต่ภายในประเทศ ผู้ปกครองบางส่วนรู้สึกเป็นกังวลกับระบบที่ให้ความสำคัญกับการสอบ จนเกรงว่าจะสร้างความตึงเครียดให้กับเด็กมากจนเกินไป และกลัวว่าการเน้นความสำคัญที่ความสำเร็จด้านวิชาการเป็นหลักจะไปกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นของเด็กๆ หรือไม่
.
ในทางตรงกันข้าม ที่ฟินแลนด์ อีกประเทศที่ได้รับการยกย่องด้านการศึกษา พวกเขาให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางสังคมนำหน้าเรื่องวิชาการ ในชั้นเรียนระดับต้นๆ พวกเขาจะเน้นให้เด็กเล่นมากกว่าเรียน บางทีความสำเร็จของแต่ละประเทศจึงอาจมาจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ซึ่ง Melissa Benn นักเขียนและนักรณรงค์ด้านการศึกษาชาวอังกฤษบอกว่า ที่อังกฤษจุดเด่นของพวกเขาอยู่ที่การมีความผ่อนคลายมากกว่า และให้อิสระทางความคิดมากกว่า
.
นอกจากนี้ระบบที่เป็นอยู่ในสิงคโปร์ก็มีส่วนในการสร้างความเหลื่อมล้ำ แม้รัฐบาลจะชูคำขวัญว่า "ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ดี" แต่บรรดาผู้ปกครองไม่เชื่อ และพยายามแย่งกันให้ลูกได้เข้าโรงเรียนที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด และด้วยค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาที่สูงจึงทำให้คนที่มีฐานะเพิ่มความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
.
"เมื่อไม่กี่ปีก่อน การศึกษาเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คนจนได้ลืมตาอ้าปาก" Michael Barr รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Flinders University ในออสเตรเลียซึ่งสังเกตความเปลี่ยนแปลงในสิงคโปร์กล่าว "แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยมันต้องใช้เงินมากเพื่อที่จะใช้จ่ายในการศึกษาที่เกินหลักสูตร คุณต้องเป็นชนชั้นกลางทุนหนาเพื่อที่จะส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับลูก"
.
นอกจากนี้ บางส่วนก็เริ่มเป็นกังวลว่า ระบบการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่กำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ หรือไม่ ด้วยไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่สร้างกิจการใหม่ๆ ของตัวเองมากนัก และยังมีนักการศึกษาคนหนึ่งในสิงคโปร์อ้างว่า นักเรียนนักศึกษาหลายคนที่นี่ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็น "เครื่องจักรการเรียน" จนทำให้พวกเขาไม่อาจหาคำตอบในสถานการณ์จริงได้ดีเท่าไหร่
.
ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในสิงคโปร์จึงกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ แม้ว่าที่ผ่านมาจะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก่อน แต่พวกเขาจะประสบความสำเร็จต่อไปในระยะยาวด้วยระบบที่เป็นอยู่ได้หรือไม่นั้น เริ่มมีคำถามและข้อสงสัยมากขึ้นเหมือนกัน
.
.
.
ที่มา: https://www.ft.com/con…/2e4c61f2-4ec8-11e6-8172-e39ecd3b86fc




Create Date : 30 มีนาคม 2560
Last Update : 30 มีนาคม 2560 10:27:43 น. 0 comments
Counter : 1177 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.