กันยายน 2563

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
20
21
23
24
25
26
27
28
30
 
 
All Blog
ไปตายด้วยกันไหม โท อุบุคาตะ เขียน 


 

ไปตายด้วยกันไหม

โท อุบุคาตะ เขียน 

ธนพล ศักดิ์สมุทรานันท์ แปล 

สำนักพิมพ์แพรว  ในเครืออมรินทร์ 

295 บาท  348 หน้า 

#แปลญี่ปุ่น #ไปตายด้วยกันไหม #โทอุบุคาตะ #แพรว #รีวิวนิยาย #ออโอ


หลังปก 

  

เหล่าเด็กหนุ่มเด็กสาวสิบสองคนมารวมตัวกันในโรงพยาบาลร้าง เป้าหมายคือ “การตายอย่างสงบ” ทว่าบนเตียงในโรงพยาบาลกลับมีศพของเด็กหนุ่ม “คนที่สิบสาม” นอนอยู่  

เขาคือใคร เหตุใดจึงมาอยู่ที่นี่ ทั้งสิบสองคนเริ่มถกเถียง... 

สุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้ “ตาย” สมใจหรือไม่ 


 

คุยกันหลังอ่าน 

 

ตอนโอเห็นชื่อเรื่องครั้งแรก บอกตัวเองว่า ฉันไม่อ่านเรื่องนี้แน่ ๆ ไม่เอา กลัวไปตามคำชวน ยิ่งใจง่ายอยู่ ฮ่า ๆ ... แต่แล้วก็เปลี่ยนใจเพราะรีวิวแหละ รู้อีกทีก็เอามาอ่านแล้ว 

 

หนังสือเรื่องนี้เป็นแนวสืบสวนสอบสวนค่ะ  

 

เล่าถึงกลุ่มเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวสิบสองคนที่รวมตัวกันเพื่อ “ฆ่าตัวตายหมู่” ทั้งสิบสองคนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันมาก่อน ที่มารวมตัวกันได้เพราะเว็บไซต์หนึ่ง ทางผู้ดูแลเป็นผู้คัดเลือกเด็กว่าผ่านการทดสอบ และจัดเตรียมสถานที่เพื่อดำเนินการ 

สถานที่ที่ว่าคือโรงพยาบาลร้าง แต่ถึงแม้จะบอกว่าร้าง ก็เป็นเพียงแค่ไม่ได้ใช้สอย ทั้งตัวอาคารและอุปกรณ์ยังคงใช้งานได้ดี 

เด็กหนุ่มสาวทยอยเดินทางมาถึงตามเวลาที่นัดหมาย เพื่อยืนยันตัวตน เด็กหนุ่มสาวจะได้รับรหัสเปิดประตูหลังเพื่อเข้ามายังอาคาร และรหัสตู้เซฟที่ตั้งไว้เพื่อหยิบหมายเลขลำดับที่ หมายเลขเริ่มตั้งแต่หนึ่งถึงสิบสอง 

ทุกคนที่มาพบสิ่งผิดปกติ แต่ตอนนั้นแต่ละคนไม่รู้ว่ามันผิดปกติ ไม่ใส่ใจ หรือพยายามทำเป็นไม่สนใจ จนกระทั่งรู้ว่า มี “คนที่สิบสาม” อยู่ด้วย 

ร่างของเด็กหนุ่ม “คนที่สิบสาม” นอนอยู่บนเตียงที่พวกเขาตั้งใจจะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนครั้งสุดท้าย เขาเป็นใคร ทำไมจึงมาอยู่ที่นี่ และถ้าเขาไม่ได้ตายเพราะความต้องการของเขาเอง วัตถุประสงค์และความต้องการของพวกเขาเด็กหนุ่มสาวจะถูกบิดเบือนหรือไม่ 

เด็กหนุ่มสาวสิบสองคนจึงเริ่มถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่ตรงกัน และเพราะเหตุนั้น จึงจำเป็นต้องหาตัวฆาตกร 

 

+++ 

 

สนุกดีค่ะ ถึงโอจะเมาภาษาก็เถอะ ฮ่า ๆ คืองี้ นอกจากเรื่องจะใช้การถกกันเพื่อหาข้อสรุป (ประชุมนั่งโต๊ะคุยกัน) เป็นหลักแล้ว ภาษาที่ใช้ก็จะไม่ใช่ภาษาปกติที่เราพูดกัน แต่เป็นภาษาที่เป็นทางการ ในแบบที่ค่อนข้างสูงเลย คงมาตั้งแต่ต้นทางเลย เจตนาน่าจะเพื่อเลี่ยงคำที่อาจดูรุนแรง เพื่อแสดงความตั้งใจของเด็ก ๆ ว่าเป็นสิ่งที่พวกเขายึดมั่นเชื่อถือ และทำให้เรื่องเป็นกึ่ง ๆ รูปแบบของการอภิปราย แสดงแนวคิด และวิพากษ์วิจารณ์สังคมของผู้ใหญ่ 

‘เจตจำนงอิสระ’ คือสิ่งที่เด็ก ๆ ใช้เรียก หมายถึง อิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ ในหนังสือใช้คำนี้บ่อยครั้งมาก อยากเลือกอะไร คิดอะไร ต้องการอย่างไร ซึ่งทางเลือกในการฆ่าตัวตายของพวกเขานั้น ก็มาจากเจ้าเจตนำนงอิสระนี้ 

แต่เขาไม่ได้คำว่าการเลือกฆ่าตัวตายนะคะ เขาใช้คำว่า ‘ทางเลือกใหญ่’ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ต่างจากทางเลือกยิบย่อยในชีวิตประจำวัน เพราะทางเลือกใหญ่นั้น เมื่อเลือกทำแล้วจะหันกลับไม่ได้ (ก็แหงละสิ!) 

แล้วแทนที่จะใช้คำว่าลงมือฆ่าตัวตาย ก็เลี่ยงไปใช้คำว่า ‘ดำเนินการ’ แทน 

แต่ไม่ได้ดำเนินการที่ว่านั่นเร็วนักหรอกค่ะ เพราะพวกเขาตัดสินใจจะอภิปราย (คุยกัน) และลงมติ (ลงคะแนนเสียง) เพื่อหาข้อสรุป 

ซึ่งเจ้าข้อสรุปนี้ ก็ไม่ได้จบง่าย ๆ ค่ะ เพราะถ้ามีเพียงคนเดียวที่คัดค้าน (ผลลงคะแนนไม่เป็นไปในทางเดียวกัน) ก็จะตั้งวงถกกันใหม่ ตามรูปแบบที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น 

ถามว่าภาษามันยากขนาดต้องปีนบันไดอ่านไหม ไม่หรอกค่ะ ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่หลายครั้งที่โอรู้สึกว่า มันทำให้เรื่องดูยากและอ้อมค้อมขึ้น และทำให้โอไขว้เขวหลงลืมพวกสัญญาณหรือคำใบ้ที่ผู้เขียนใส่เข้ามาเพราะมัวแต่มึนเมาคำศัพท์ ...หรือนี่จะเป็นเจตนาที่แท้จริงของผู้เขียนกันนะ ?! 

ตัวละครค่อนข้างเป็นในรูปแบบสุดโต่งแบบญี่ปุ่นค่ะ คือถ้าออกแบบมาให้น่ารำคาญ ก็จะเป็นประเภทที่ทำตัวได้น่ารำคาญได้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ถ้าตั้งใจให้ดูโง่งี่เง่า ก็จะแสดงออกมาได้แบบ ...เธอ มันมีคนแบบนี้อยู่ด้วยเหรอถามจริง อะไรประมาณนี้เลย บทพูดตัวละครจะออกมาแบบการ์ตูนเวอร์ ๆ ไม่ธรรมชาติ ออกท่าทางตลก ๆ หน่อยค่ะ 

แต่ตรงกันข้ามกับการแสดงออก บทคิดตัวละครค่อนข้างลึก ซับซ้อน และเป็นไปในรูปแบบที่ไม่ค่อยพบเห็นเท่าไรนักค่ะ คืออ่านแล้วจะรู้สึกว่า มันไม่น่ามีความคิดลักษณะนี้ในเด็กอายุประมาณนี้ อาจเพราะผู้เขียนต้องการตีแผ่ชีวิตของผู้ใหญ่ผ่านเด็กพวกนี้ก็ได้   

ผู้เขียนจะสลับให้เด็กแต่ละคนเป็นผู้นำในแต่ละบทตอน เพื่อแสดงความคิดที่อยู่ในใจเด็กเหล่านั้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ แต่ละคนก็จะเริ่มแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา เมื่อแต่ละคนพยายามขับเคลื่อนให้ทิศทางของการประชุมไปสู่เป้าหมายของตน แต่เงื่อนไขต่างกัน ทำให้เริ่มขัดแย้งกันเอง 

 

แม้จะมีความตายเป็นจุดมุ่งหมาย แต่เหตุผลแต่ของเด็กแต่ละคนก็ต่างกันไป นี่น่าจะเป็นอีกเรื่องที่คนอ่านอยากรู้ (ส่วนเมื่อรู้แล้ว จะรู้สึกอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ) ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นอีกแง่มุมที่ผู้เขียนน่าจะอยากเสนอในเชิงของปัญหาสังคมและความเข้าใจของสังคม 

 

เรื่องเดาทิศทางยากพอควรค่ะ เหมือนเราถูกหลอกให้หลงวนในวงเวียนอะไรบางอย่าง อีกอย่าง โอรู้สึกว่าทิศทางความคิดของโอกับผู้เขียนไม่ตรงกัน อย่างการหัวข้ออภิปรายที่ถกกัน หลายครั้ง โองงว่าบทสนทนามันมาอยู่จุดนี้ได้ยังไง เขาเถียงกันเรื่องอะไร ทำไมจึงเป็นประเด็นนี้ อะไรอย่างนี้บ่อย ๆ โอเป็นกับความคิดของตัวละครเช่นกัน อย่างในสถานการณ์แบบนี้ ตัวละครน่าจะคิดเห็นในแนวทางนี้ แต่ไม่ มันไปในอีกทิศทางหนึ่งเลย ซึ่งก็ให้ความรู้สึกแปลกในแบบที่ดีนะคะ 

 

โอว่าเป็นเรื่องที่คล้ายจำลองวิธีคิดหรือการทำงานของผู้ใหญ่มานำเสนอผ่านตัวเด็ก ๆ หยิบเอาปัญหาสังคมมาพูดถึง นำเสนอประเด็นและมุมมองความคิดโดยไม่ทิ้งรูปแบบนิยายสืบสวนสอบสวน ให้รายละเอียด ใส่คำใบ้ มีการหลอกล่อให้หลงทาง แม้ในความรู้สึกโอ โดยรวมยังไม่สมบูรณ์แบบขนาดนั้น คือจะบอกว่าเป็นแนวผู้ใหญ่แบบลึกสุดหยั่ง ก็ไม่ใช่ เป็นแนววัยรุ่น ก็ไม่เชิง จะสืบสวน บางอย่างโอก็ยังไม่ค่อยเคลียร์นัก แต่โดยรวมโอก็ชอบค่ะ สนุกและมีจุดประสงค์ในการนำเสนอชัดเจน โอลังเลระหว่างสามจุดห้ากับสี่ ขอไปที่ 4 ดาวค่ะ 

 

 

&&&&&&&& 

แถม 

 

ที่โอจดในบันทึกโอ 

เรื่องนี้ทำให้โอนึกถึงการ์ตูน anime  โอนึกถึงเรื่อง Danganronpa ขึ้นมาอันดับแรก ทั้งที่โอจำเรื่องย่อไม่ได้เลย เรื่องเกี่ยวกับอะไรให้โอเล่าโอเล่าไม่ได้นะ โอว่าน่าจะมีหลายคนที่แบบโอ คือเราจำความรู้สึกที่ได้รับจากหนังสือ หนัง การ์ตูน เพลง หรืออะไรสักอย่างได้ แม้จะจำอย่างอื่นไม่ได้ เนี่ย เจ้าความรู้สึกนี้แหละที่โอพูดถึง (ชื่อเรื่องสะกดยังไง เรื่องย่ออะไรเพิ่งไป search เมื่อกี้เอง) ที่จำได้คือเป็นแนวเอาตัวรอดผสมจิตวิทยา ตัวละครออกแอกชันได้ตลกมาก แต่ภายใต้ท่าทางโฉ่งฉ่าง ตัวละครก็มีความลึกเช่นเดียวกัน  อีกเรื่องที่นึกถึงคือ Liar Game อันนี้โอเคยดูแค่แบบซีรีส์ ก็เป็นแนวจิตวิทยาหักมุมไปมา แต่โอว่าไม่คล้ายเท่าไร Liar Game จะเร็ว ฉึบฉับ แต่เรื่องนี้จะค่อนข้างช้า ที่โอรู้สึกว่าทำให้นึกถึง น่าจะเป็นเรื่องของการหักมุมไปมา หรือไม่ก็การใช้การพูดคุยเพื่อล่อหลอกหรือเปลี่ยนทิศทางของเรื่อง แต่ตรงกันข้ามกับ Liar Game นะ โอว่าเรื่องนี้ยึดความตรงไปตรงมาเป็นหลัก อย่างกฎที่ตั้งขึ้นมาแต่ละอย่าง พวกเขาจะรักษาอย่างเคร่งครัดมาก ไม่พยายามใช้เล่ห์อะไร และเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองด้วย 

มีชุดข้อมูลมหาศาลจากสิ่งที่ตัวละครพูดกัน 

ตัวละครสุดโต่งในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง (เพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้คนจำง่าย) 

ศัพท์สูง 

 

หน้า 48 ให้ข้อมูลผิด ไม หมายเลข 11 ไม่ใช่ 12 




 


 




ชอบปกเรื่องนี้นะ เรียบแต่เท่และตรงกับเนื้อหาของเรื่อง ชอบที่คั่นด้วย โอว่าที่คั่นที่ไม่ใช่ลายปกทำให้ดูมีอะไร ๆ ดี ตอนแรกโองงว่าใครเป็นใครในที่คั่น แต่ดูดี ๆ อ๋อ เขาเรียงตามลำดับหมายเลข โดยเรียงจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา (แบบกระดาษฝนข้อสอบน่ะ) 










อันนี้คือผังโรงพยาบาลในเรื่อง อยู่ถัดจากคำนำ ตอนแรกโอไม่เห็น อ่านไปเกือบครึ่งเรื่องแล้วถึงเห็น 









 

มีคนบอกว่าเรื่องนี้มีเป็นหนัง (และสนุกด้วย) ค่ะ  เลยไปหา Trailer มาประกอบ เท่าที่ดูจากในตัวอย่าง โอว่าก็เหมือนหนังสือเลยนะ 
 

เฮ้ย โอเพิ่งเห็นตะกี้เลย ในคอมเมนต์ใต้คลิปมีคนบอกว่านึกว่าเรื่อง Danganronpa แสดงว่ามันน่าจะมีหลายอย่างให้นึกถึงจริงด้วย อยากรู้ว่าเหมือนตรงไหนเพราะโอจำไม่ได้ นั่งโต๊ะประชุม? สาวโลลิต้า? โอ๊ย ตื่นเต้น มีคนคิดเหมือนเรา  




Create Date : 11 กันยายน 2563
Last Update : 11 กันยายน 2563 11:21:29 น.
Counter : 2703 Pageviews.

3 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณkatoy, คุณhaiku, คุณnewyorknurse

  
คุณkatoy, คุณhaiku, คุณnewyorknurse ขอบคุณสำหรับโหวตค่ะ
โดย: ออโอ วันที่: 12 กันยายน 2563 เวลา:20:55:26 น.
  
อ่านเรื่องนี้แล้ว ก้ำกึ่งระหว่างชอบไม่ชอบค่ะ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่คงแนะนำให้คนอื่นๆอ่านค่ะ แต่ว่าเนี่ย ชื่อเรื่องน่ากลัวเหลือเกิน
โดย: thewhiteocean วันที่: 13 กันยายน 2563 เวลา:23:38:21 น.
  
คุณ thewhiteocean รู้สึกคล้าย ๆ กันเหมือนกันค่ะ แต่อารมณ์ชอบมากกว่า ชื่อเรื่องนี้เป็นที่พูดถึงกันมากเลย
โดย: ออโอ วันที่: 14 กันยายน 2563 เวลา:19:38:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ออโอ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]



โอเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้ทุกแนว เสาะแสวงหาเรื่องสนุกๆ แนวใหม่ๆ ตลอด หลายเรื่องไม่มั่นใจก็ค้นหารีวิว ถ้าชอบถ้าใช่ก็ลอง ลองแล้วชอบแล้วประทับใจก็อยากบอกต่อ บางครั้ง อ่านครั้งแรกรู้สึกอย่างนี้ อยากเก็บไว้เพื่อเป็นเรื่องราว บันทึกไว้กันลืม กลับมาย้อนอ่านก็จะได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งที่เราเคยอ่าน เรารู้สึกอย่างนี้ เวลาผ่านไป เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง ก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น "ขอให้ทุกคนสนุกกับการอ่าน" รู้สึกดีที่โลกนี้มีหนังสือ-โอ
New Comments