" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
12 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 
04.02.2556 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทุจริตเชิงนโยบาย




นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทุจริตเชิงนโยบาย

วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กระแสทรรศน์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชน 4 ก.พ. 56





กระแสทรรศน์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชน 4 ก.พ. 56

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทยแถลงว่า หลักฐานการไหลออกของเงินอย่างผิดกฎหมายของประเทศไทย ตามการศึกษาขององค์กรต่างประเทศแห่งหนึ่งมีสูงมาก คือสูงถึงกว่า 370,000 ล้านบาท ไม่น่าสงสัยอะไรว่า ส่วนใหญ่ของเงินจำนวนนี้ได้มาจากการทุจริต หรืออย่างน้อยก็ไม่ซื่อตรงต่อกฎหมาย (จะแบ่งสัดส่วนอย่างไรระหว่างข้าราชการ, นักการเมือง, นักวาณิชธนกิจ, ผู้ส่งออก, ผู้ลงทุน ไม่ได้บอกไว้)

ประธานขององค์กร ให้ความเห็นว่า ทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการทุจริตที่เลวร้ายที่สุด สอดคล้องกับความเห็นของหัวหน้าสำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ซึ่งกล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบายทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเลวร้ายลงŽ

อาจจะจริงก็ได้ แต่อะไรคือการทุจริตเชิงนโยบาย นิยามได้ยากมาก เพราะคลุมเครือเสียจนกลายเป็นอคติหรือความเห็นของบุคคล โดยไม่มีมาตรฐานอะไรจะวัด แม้กระนั้นผมก็ไม่ปฏิเสธว่า การทุจริตเชิงนโยบายนั้นมีจริง และไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย หากมีทั่วโลก และกับทุกรัฐบาลและทุกนักการเมือง

แต่ทั้งนี้ก็ด้วยนิยามหยาบๆ ว่า การสร้างและดำเนินนโยบายใดๆ ที่มุ่งประโยชน์แก่ตนเองและพรรคพวก แทนที่จะเป็นสาธารณประโยชน์ อาจถือว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนตนกับสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะอาจสอดคล้องกันก็ได้ การจะชี้ว่านโยบายหนึ่งๆ มุ่งประโยชน์ส่วนตนจึงไม่ง่าย

เมื่อรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเคยเป็น ผบ.ทบ.และผบ.สส. มีเส้นสายโยงใยอยู่กับกองทัพเป็นอันมาก ออก พ.ร.บ.กลาโหมฉบับใหม่ เพื่อทำให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพได้อีกต่อไป จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทหารด้วยกันเอง เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่?

ผมคิดว่าเป็น ด้วยเหตุผลสองประการ

1.พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการสถาปนาให้กองทัพกลายเป็นรัฐอิสระขึ้นในประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะอิสระแท้นะครับ ใครก็ตามที่สามารถควบคุมความเห็นของผู้บัญชาการเหล่าทัพส่วนใหญ่ไว้ได้ ด้วยความภักดีของทหารต่อตนเองก็ตาม หรือเพราะสถานะอันสูงส่งที่ตนดำรงอยู่ก็ตาม ย่อมสามารถควบคุมรัฐอิสระที่เรียกว่ากองทัพได้ คุณสุรยุทธ์และพรรคพวกอยู่ในฐานะอย่างนี้ จึงไม่มีทางทราบว่า คุณสุรยุทธ์เปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้ ด้วยความมุ่งหวังประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ตนเองและพรรคพวกกันแน่ คนที่ชอบคุณสุรยุทธ์ ก็อาจอ้างได้ว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือกีดกันมิให้นักการเมืองโยกย้ายทหารอย่างไม่รับผิดชอบ คนที่ไม่ชอบก็อาจอ้างได้ว่า เป็นการหาประโยชน์ใส่ตนเองและพรรคพวก

2.อาการที่รีบออก พ.ร.บ.กลาโหมอย่างลุกลี้ลุกลน ก็ส่อความไม่สุจริตใจด้วย ความจริงแล้วปัญหาเรื่องนักการเมืองแทรกแซงทหารอย่างฉ้อฉลนั้นมีจริง (เท่าๆ กับการแทรกแซงทหารโดยฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักการเมืองอย่างฉ้อฉลเหมือนกันก็มีจริง) แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับเป็นหลักการก่อนว่า ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารได้ เพราะเขาได้อำนาจจากประชาชนโดยตรง จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับหลักการ Civilian Supremacy คือความเป็นใหญ่สูงสุดของฝ่ายพลเรือน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ฉ้อฉลหลักการนี้มาหลายครั้งหลายหน


กล่าวคือแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง จึงต้องมาร่วมกันคิดอย่างสุขุมว่า จะรักษาหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของฝ่ายพลเรือนไว้ โดยป้องกันมิให้เกิดความฉ้อฉลได้อย่างไร วิธีการนั้นมีหลายอย่าง แต่ละอย่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมีเวลา สังคมไทยก็อาจถกเถียงอภิปรายกันจนได้มาตรการที่ลงตัวที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐไทย อาการลุกลี้ลุกลนในการออก พ.ร.บ.จึงส่อว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย

ยังมีตัวอย่างจากต่างประเทศที่ทำให้การชี้ว่านโยบายใดเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ซับซ้อนขึ้นไปอีก



วุฒิสมาชิก William Fulbright เป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ก้าวหน้าและสัตย์ซื่อ (integrity) ที่สุดคนหนึ่งซึ่งเคยมีในวุฒิสภาของสหรัฐ แต่ในประวัติการออกเสียงของท่านในสภา ปรากฏว่าท่านไม่เคยยกมือให้แก่ร่างรัฐบัญญัติใดที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่คนผิวดำเลย แม้ว่าดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกต่อเนื่องกันมากว่าสิบปี ทั้งนี้เพราะท่านเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐอาร์คันซอส์ ซึ่งเต็มไปด้วยคนดำและการเหยียดผิว

เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกอีกหลายคนที่มาจากรัฐวอชิงตัน ไม่เคยยกมือให้แก่รัฐบัญญัติใดที่จะลดงบประมาณทหารลง เพราะรัฐวอชิงตันเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมต่อเครื่องบินยักษ์ใหญ่ ซึ่งจ้างงานคนในวอชิงตันมากมาย และต่อทั้งเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินรบให้แก่กองทัพสหรัฐ

นี่เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่? ผมคิดว่าใช่ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อตอบว่าใช่ก็ต้องถามต่อว่า ผู้แทนŽ ประชาชนมีหน้าที่อะไร ตอบสนองต่อมโนสำนึกที่ดีที่สุดของตนเอง หรือตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนที่เลือกตัวเองมา ผมคิดว่า ในฐานะนักการเมืองที่รับอาสาเป็น ผู้แทนŽ ให้คนอื่นนั้น ย่อมตอบปัญหานี้ไม่ได้ง่ายๆ เหมือนนักอุตสาหกรรมผู้หวังดีต่อประเทศ หรือกรรมการในสมัชชาปฏิรูป เพราะคนประเภทหลังนี้ไม่ได้เป็น ผู้แทนŽ ของใคร นอกจากตัวเอง และบุคคลในฐานะอย่างนั้นก็ควรตัดสินใจตามมโนสำนึกที่ดีที่สุดของตนเองเท่านั้น

ทุจริตเชิงนโยบายจึงไม่เหมือนกับการทุจริตธรรมดา ซึ่งเมื่อมีหลักฐานหรือความไม่ชอบมาพากล ก็อาจสอบสวนทางกฎหมายหรือทางการเมืองได้ แต่ทุจริตเชิงนโยบายขึ้นอยู่กับทัศนคติทางการเมืองอยู่มากทีเดียว เช่นกู้เงินมาสองล้านล้านบาทเพื่อทำโครงสร้างพื้นฐาน กับกู้มาเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ อย่างไหนจึงจะเป็นการดำเนินนโยบายที่สุจริตกว่ากัน ตัดสินไม่ได้ด้วยบุคคลหรือกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลอันมีชื่อเสียงเกียรติคุณ นี่เป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งต้องวางบนพื้นฐานของกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่คุณธรรมหรือเกียรติคุณ

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทุจริตเชิงนโยบายมีอยู่จริง สังคมจะไม่มีทางจับได้ไล่ทันกระนั้นหรือ ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ สังคมที่มีพลังอย่างน้อยสองอย่าง ก็พอจะจับได้ไล่ทันอยู่บ้าง ถึงแม้ไม่มี ใบเสร็จŽ แต่สามารถแสดงความไม่ชอบมาพากลให้ผู้เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามให้ได้ มิฉะนั้นก็น่าจะมีโทษทางการเมืองเป็นอย่างน้อย คือสูญเสียความไว้วางใจของคนจำนวนมากไป

พลังสองอย่างที่สังคมเข้มแข็งต้องมีคือสื่อที่ดีและนักวิชาการที่ดี เป็นสองพลังที่กำลังทำลายตัวเองให้เสื่อมโทรมลงไปในสังคมไทย เมื่อทั้งสื่อและนักวิชาการ (จำนวนหนึ่ง) เลือกข้างในงานของตนเอง ข้อมูลของทั้งสื่อและนักวิชาการถูกประชาชนฝ่ายหนึ่งตั้งข้อสงสัยเสียแล้ว ก็ยากที่จะระดมสังคมให้ช่วยกันลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับคนทุจริตได้

ผมอยากยกตัวอย่างของการตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ หากในตอนนั้นสื่อและนักวิชาการทำลายความน่าเชื่อถือของตนไปเหมือนปัจจุบัน การตรวจสอบนั้นก็คงไม่มีผลอะไรเลย



ในช่วงที่คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการออกกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจโทรคมนาคมหลายฉบับ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการเอื้อต่อธุรกิจของคุณทักษิณเอง นักวิชาการจำนวนหนึ่งพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนด้วยการชี้ว่า หุ้นของบริษัทคุณทักษิณใน ตลท.ขึ้นสูงเป็นหลายเท่าตัวในช่วงนั้น

นักวิชาการที่ทำงานเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ซึ่งเสนอข้อมูลละเอียดพอที่จะเห็นความสอดคล้องของราคาหุ้นบริษัทคุณทักษิณ กับการดำเนินนโยบายแต่ละขั้นตอน อีกทั้งยังชี้ให้เห็นอย่างกระจ่างชัดว่า นโยบายของรัฐบาลคุณทักษิณต่อเรื่องธุรกิจโทรคมนาคมนั้น จะเกิดการเสียประโยชน์แก่ผู้บริโภคในเมืองไทยอย่างไร เช่นทำให้ไม่เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่

คำถามของอาจารย์สมเกียรติทำให้สื่อหลายฉบับต้องติดตาม และเสนออย่างละเอียด แม้แต่สื่อที่ได้ค่าโฆษณาเป็นกอบเป็นกำจากบริษัทของคุณทักษิณก็ไม่กล้าตกข่าวŽ บีบบังคับให้คุณทักษิณต้องอธิบายว่า ราคาหุ้นไทยนั้นขึ้นทั้งกระดาน ไม่ใช่เฉพาะหุ้นบริษัทของคุณทักษิณเองคนเดียว แต่คำอธิบายนี้ไม่ทำให้สาธารณชนไทยจำนวนหนึ่งพอใจได้ เพราะการขึ้นของหุ้นบริษัทคุณทักษิณเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างเทียบไม่ได้กับราคาขึ้นเฉลี่ยของทั้งกระดาน

ความคลางแคลงที่ยังไม่มีคำอธิบายนี้ เป็นผลให้คนจำนวนไม่น้อยโกรธเคืองอย่างมากที่คุณทักษิณเอาหุ้นของบริษัทตนเองไปขายแก่เทมาเส็ก ผมคิดว่าหากหุ้นของบริษัทคุณทักษิณขึ้นอย่างปรกติเหมือนคนอื่น ความขุ่นเคืองกับการขายหุ้นคงไม่แรงเท่านั้น

นี่คือวิถีทางเดียวที่จะต่อสู้กับการทุจริตเชิงนโยบาย นั่นคือทำให้สังคมเข้มแข็งพอจะตรวจสอบนโยบายที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเอื้อต่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก อย่างที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ประกาศว่าจะจับตาการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนั้นผมก็เห็นด้วย แต่ควรระวังไม่เอาเงิน (ในกระเป๋าของนักอุตสาหกรรมหรือภาษีประชาชน) ไปส่งเสริมการประกวดกลอน, ดนตรี, หรือพิมพ์คำขวัญต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพราะไม่ได้ผลอะไร นอกจากทำให้หน้าของท่านได้โผล่ขึ้นมาในสังคมเท่านั้น

ท่านควรพยายามฟื้นฟูสื่อซึ่งเจตนาจะทำตามอาชีวปฏิญาณของสื่อ คือเสนอความจริงโดยไม่เลือกข้าง สนับสนุนให้เขาใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เขาตั้งทีมเจาะลึกประเด็นที่อาจเกี่ยวกับการทุจริต (ทั้งโดยตรงและเชิงนโยบาย) อย่างเต็มที่ สนับสนุนงานวิชาการประเภทนโยบาย ทั้งการตรวจสอบผลของนโยบายที่ผ่านมา (เช่นรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลนี้ หรือประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อน ใครมีส่วนงาบอะไรไปบ้างแค่ไหน) สนับสนุนหน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนการทุจริต ทั้งในวงราชการและนอกวงราชการ (เหลียวมองข้างๆ ตัวบ้าง-คือทั้งสื่อและนักธุรกิจ) ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการศึกษาวิจัยนโยบายทางเลือกต่างๆ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับนโยบายสาธารณะที่ถูกเลือกไปแล้วว่า อย่างไหนจะมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่ากัน

ตัวท่านเองก็ควรระมัดระวังอย่าให้มโนภาพของตัวเองต่อสังคมว่าเลือกข้างมาแต่ต้น เพราะงานดีๆ ที่ท่านอยากทำจะไม่ประสบความสำเร็จท่ามกลางความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในสังคมเวลานี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการต่อต้านการทุจริตเชิงนโยบายซึ่งขึ้นอยู่กับทัศนคติทางการเมืองอย่างมาก


Source://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359966852&grpid=&catid=12&subcatid=1200

--------------------------------------------------------------




Create Date : 12 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2557 19:58:39 น. 0 comments
Counter : 536 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.