" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
13 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 
01.07.2556 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งกระทู้ ขาดทุนจำนำข้าวด้วยเหตุใดแน่ ?



นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งกระทู้ ขาดทุนจำนำข้าวด้วยเหตุใดแน่ ?

วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2556






รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญมรสุมที่หนักหน่วงที่สุดตั้งแต่เป็นรัฐบาลมา นั่นคือการประท้วงของชาวนาทั่วประเทศ เพราะไปลดราคารับจำนำข้าวเหลือเพียง 12,000 บาท ไม่เฉพาะแต่ชาวนาเท่านั้น แม้ประชาชนทั่วไปก็คงไม่เห็นด้วยเช่นกัน การสำรวจโพลของสำนักนิด้ารายงานว่า เกือบ 60% ของผู้ถูกสำรวจไม่เห็นด้วยกับการลดราคารับจำนำลงเหลือ 12,000 บาท เพราะเห็นใจชาวนา

จะมองเรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงเทคนิคก็ได้ เพราะ ครม.ลงมติรับมาตรการใหม่ คือรับจำนำข้าวเปลือก 100% ความชื้นไม่เกิน 15% ที่ 12,000 บาท (ต่อตัน) และด้วยวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย โดยมีผลตั้งแต่ 30 มิ.ย. เป็นต้นไป แทนที่จะเป็น 16 ก.ย. หลังปิดโครงการรับจำนำที่มีมาแต่เดิมเสียก่อน แต่ชาวนาจำนวนมากได้ลงทุนปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว ด้วยความคาดหวังว่าจะได้รายได้จากการรับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน

หนึ่งในประโยชน์ของโครงการประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าว (หรือประกันรายได้ก็ตาม) ก็คือ ผู้ผลิตรู้ผลตอบแทนล่วงหน้า จึงวางแผนการผลิตได้ดีขึ้น (ดีขึ้นแปลว่าเหมาะสมกับสถานภาพและกำไรที่ต้องการของตนเอง ในโลกปัจจุบันคงไม่มีมนุษย์ที่ผลิตตามสถานภาพโดยไม่มองที่กำไรเอาเลย ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือนายธนาคาร

ฉะนั้นจะมองการประท้วงของชาวนาทั่วประเทศว่า เกิดขึ้นจากความผิดพลาดทางเทคนิค ที่เริ่มใช้มาตรการใหม่ผิดจังหวะเวลา ทำให้ชาวนาได้รับความเสียหายก็ได้ แต่ผมสงสัยว่าอาจจะมากกว่านั้น

ในราคารับจำนำข้าวที่ 12,000 บาท ส่วนใหญ่ของชาวนา (โดยเฉพาะรายย่อย) จะได้รับเงินต่ำกว่านั้น เพราะค่าความชื้นของข้าวสูงกว่า 15% ไปโขทีเดียว (ถึงประมาณ 25%) ฉะนั้นก็จะถูกหักลดราคาลง ในขณะเดียวกันทั้งนักการเมือง (ฝ่ายค้าน) นักวิชาการ และแม้แต่ตัวชาวนาเองก็กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตสูงกว่าตัวเลขประเมินของกระทรวงเกษตรที่ไร่ละ 8,600 บาท บ้างก็ว่าสูงกว่ามาก อย่างต่ำก็ไม่หนี 9,000 บาทขึ้นไป เฉลี่ยแล้วจะได้กำไรไร่ละพันกว่าบาทเท่านั้น ทำนา 20 ไร่ ได้กำไรเพียงสองหมื่นกว่าบาท โดยไม่นับค่าแรง และค่าดอกเบี้ย จะเหลืออะไร ทั้งนี้ไม่นับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ชาวนาจำนวนหนึ่งที่ออกมาประท้วงเห็นว่า ตัวเลขขาดทุนบักโกรกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากราคารับจำนำที่สูงเกินไปอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการทุจริต (นับตั้งแต่พรรคการเมือง, ข้าราชการ, และเอกชนที่เกี่ยวข้อง)

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเพิ่งจับโรงสีที่ทุจริตได้หนึ่งราย มีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเข้าไป 130 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีพาณิชย์เองก็ดำเนินโครงการนี้อย่างไม่ ?โปร่งใส? (แปลว่าเปิดเผยข้อมูลอย่างจะแจ้งพอที่ผู้อื่นจะตรวจสอบได้ ส่วนจะร่วมทุจริตด้วยหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) เป็นผลให้มีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาส่งมอบแก่รัฐ ประมาณกันถึง 3 ล้านตัน (อย่างน้อย 1 ล้านตัน ไม่อาจบอกที่มาได้) ส่วนที่ไม่โปร่งใสที่สุดคือการระบายข้าว ซึ่งนักวิชาการท่านหนึ่ง (ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร) กล่าวว่าช่องทางการระบายเป็นการทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโครงการ

ความเห็นของชาวนาจึงมีมูลอยู่มากทีเดียว น่าเสียดายที่ตัวเลข ?ขาดทุน? ที่ กขช.เสนอแก่ ครม. ไม่มีการประเมินว่า หากโครงการป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบของโครงการได้ ตัวเลข ?ขาดทุน? จะลดลงไปเท่าไร รวมทั้งยุทธวิธีการระบายข้าวที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพทางธุรกิจ จะลดความเสียหายของโครงการลงได้อีกเท่าไร ผมออกจะสงสัยว่า หากตั้งเป้าการขาดทุนไว้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาทต่อปี บางทีอาจไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงการแต่อย่างใด นอกจากจำกัดเพดานการรับจำนำไว้ไม่เกิน 500,000 บาท

ไม่แต่เพียงโครงการจะ ?ขาดทุน? ในปริมาณที่ประเทศพอรับไหวเท่านั้น ประโยชน์ด้านการกระจายรายได้ก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแสดงตัวเลขว่า โครงการรับจำนำที่แม้ดำเนินงานอย่างหละหลวมและเต็มไปด้วยการทุจริตนี้ ก็ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละ 1.16-1.14 แสนล้านบาท เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่ม 42,000 บาทต่อคน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในรายได้มวลรวม 0.69% เพิ่มรายจ่ายของครัวเรือนทั้งประเทศอีกประมาณ 2%

ถ้าหยุดการโกงได้ ตัวเลขในส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตรงกับเป้าหมายของโครงการ คือกระจายรายได้ลงไปถึงมือชาวนา เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจโดยรวม

ผมสนับสนุนนโยบายรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาทมาแต่ต้น ประเมินผลของการ "ขาดทุน" ว่าไม่น่าจะเกิน 70,000 ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี จนถึงปัจจุบันผมก็ยังเชื่อว่า หากตัดการทุจริตในทุกระดับและทุกประเภทลงได้ รวมทั้งดำเนินการทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขการขาดทุนก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาทอยู่นั่นเอง (ตัวเลขนี้อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะผมคำนวณไม่เป็น ผมนำเอาตัวเลขมาจากการคำนวณของนักเศรษฐศาสตร์นอก TDRI เท่านั้น) ดังนั้น จึงเป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน แต่ผมเห็นด้วยว่าควรรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการทุจริตอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องหามาตรการป้องกันมาแต่ต้น (เช่นรับจำนำข้าวของชาวนารายใหญ่ร่วมไปด้วยโดยแบ่งผลประโยชน์กัน)

แต่ 100,000 ล้านบาทต่อปีก็ไม่ใช่ขี้ไก่ ต้องมีเป้าหมายที่คุ้มกับเงินที่เสียไป หากวางเป้าหมายให้ชัด ก็จะรู้ด้วยว่ารัฐต้องทำอะไรอีกบ้าง เพื่อเสริมให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมสนับสนุนนโยบายนี้เพราะเห็นว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน ไม่ช้า (อย่างที่เคยช้ามา) ก็เร็วขึ้น ชาวนาไทยจำนวนไม่น้อย ต้องทยอยออกจากการผลิตข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่ไม่มากนัก คงอยู่ในภาคการเกษตรเพื่อผลิตพืชอื่น (เวลานี้ข้าวใช้พื้นที่ 50% และ 66% ของครัวเรือนเกษตรกรได้รายได้สำคัญจากข้าว) อีกส่วนหนึ่งคงไหลเข้าสู่ตลาดงานจ้างอย่างเต็มตัว (ปัจจุบันรายได้จากแรงงานรับจ้างก็เป็นรายได้สำคัญอีกทางหนึ่งของครัวเรือนชาวนาอยู่แล้ว) อีกส่วนหนึ่งคงเข้าสู่ภาคบริการที่ตนเองเป็นเจ้าของ นับตั้งแต่ขายก๋วยเตี๋ยวไปจนถึงค้าขายพืชผลการเกษตร หรือเป็นเอเยนต์ปุ๋ย

จะช่วยคนเหล่านี้ให้เปลี่ยนผ่านซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้อย่างไร เพื่อให้เขาสามารถเปลี่ยนผ่านไปโดยมีอำนาจต่อรองในตลาดมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเพิ่มรายได้ของเขาในช่วงหนึ่งตามนโยบายนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่พอ เพราะเป้าหมายไม่ใช่เพียงให้ชาวนามีกินมีใช้มากขึ้นเพื่อช่วยนายทุนในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ต้องทำให้เขาสามารถพาครอบครัวของเขาเปลี่ยนผ่านไปสู่สภาวะใหม่ได้อย่างราบรื่นขึ้น

การลงทุนด้านการศึกษาจึงจำเป็น ถึงเวลาที่ควรขยายการศึกษาฟรีจาก ม.3 ไปสู่การศึกษาอาชีวะ แรงงานที่มีทักษะระดับนี้ก็ขาดแคลน การเพิ่มทักษะของลูกหลานชาวนา จึงจะช่วยให้เขามีอำนาจต่อรองในตลาดงานจ้างมากขึ้น พร้อมกันไปนั้นก็ช่วยป้อนแรงงานทักษะซึ่งจะช่วยยกระดับการผลิตของไทยให้สูงขึ้นไปด้วย

เมื่อจำนวนของเกษตรกรลดลง คนที่ยังเหลืออยู่ในภาคเกษตรจึงต้องผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ไม่ควรคิดถึงประสิทธิภาพของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ควรคิดถึงเอกชนระดับกลางๆ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปที่ทำให้คนเข้าถึงปัจจัยการผลิต (ที่ดิน, เงินกู้, ทักษะความรู้) ได้สะดวกขึ้น, สหกรณ์หลายรูปแบบ, ฯลฯ

โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐก็อาจมีส่วนช่วยการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านมามีส่วนเปลี่ยนชาวนาทำกินเป็นชาวนาเชิงพาณิชย์ จึงควรคิดตั้งแต่ต้นว่า จะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในครั้งนี้มีส่วนเปลี่ยนชาวนาสู่อาชีพในภาคสมัยใหม่อื่นๆ ได้อย่างไรด้วย

ในส่วนการทุจริตคดโกง ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเริ่มตรวจสอบและเอาโทษอยู่ มาตรการนี้ต้องทำสืบเนื่องอย่างเอาจริงเอาจัง อย่าทำเพียงเพื่อเรียกคะแนนเสียงคืนในระยะนี้ มีข่าวด้วยว่านายกฯ กำลังจะปรับ ครม. และหนึ่งใน ครม.ที่จะเปลี่ยนคือรัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ผมไม่มีหลักฐานว่าเขามีส่วนในการทุจริตคดโกง แต่ภายใต้การบริหารงานของเขามีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ก็แสดงอยู่แล้วว่าเขาไม่มีสมรรถนะที่จะดำเนินโครงการซึ่งมีความสำคัญเยี่ยงนี้ได้

หารัฐมนตรีใหม่ที่ซื่อสัตย์ และมีความสามารถในการทำให้โครงการโปร่งใสทุกขั้นตอน ระดมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยกันในการวางแผนทางธุรกิจระบายข้าว เลิกจำนำทุกเมล็ด แต่รับจำนำเพียงรายละไม่เกิน 500,000 บาท ด้วยราคาเดิมคือตันละ 15,000 บาท ในขณะเดียวกันทำความเข้าใจกับ รมต.ทั้งชุดว่า โครงการนี้เป็นส่วนเดียวของการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นของชาวนาไทย ยังมีงานที่กระทรวงอื่นๆ ต้องทำร่วมกันอีกมาก

ไม่ต้องตระหนกกับคะแนนเสียงที่ลดลง ทำให้ถูกทำให้ดี คะแนนจะกลับมาเอง เวลายังมี


(ที่มา:หน้า 6,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2556 )


Source://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372662865

------------------------------------------------------------





Create Date : 13 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2557 23:16:57 น. 0 comments
Counter : 590 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.