" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 
18.08.2557 การเมืองของคอร์รัปชั่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองของคอร์รัปชั่น

ใน //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408341608

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:55:10 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 18 สิงหาคม 2557 )






นิธิ เอียวศรีวงศ์


คอร์รัปชั่นเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่พูดอย่างนี้ทำให้งงและชวนให้แย้งโดยไม่ทันอ่าน จึงขอพูดใหม่ด้วยความหมายเดิมว่า คอร์รัปชั่นคือความสัมพันธ์ทางสังคมชนิดหนึ่ง

คนเรารู้จักสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อแสวงหาโภคทรัพย์, เกียรติยศ, อำนาจ และการยอมรับมาตั้งแต่สมัยหิน
ในปัจจุบัน เราอาจพูดว่าการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์นั้น พึงทำได้ก็ต่อเมื่อไม่นำเอาทรัพยากรสาธารณะไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า ความคิดที่ว่า มีทรัพยากรที่เป็นสาธารณะและที่เป็นส่วนตัวอย่างเด็ดขาดนั้น เป็นความคิดสมัยใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในโลกไม่นานมานี้เอง ก่อนหน้านี้ขึ้นไป ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัวและชัดเจนนัก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คอร์รัปชั่นตามความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุสองอย่าง หนึ่งคือต้องยอมรับกันทั่วไป ว่ามีทรัพยากรที่เป็นสาธารณะและทรัพยากรที่เป็นส่วนตัว ซึ่งปะปนกันไม่ได้ และสอง ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ถูกต้องมีอยู่อย่างเดียว คือต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักเหตุผลและกฎหมาย (rational and legal)





คอร์รัปชั่นได้รับความสนใจในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว กลายเป็นข้อถกเถียงหลักอันหนึ่งระหว่างประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยที่ห้ามเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร คอร์รัปชั่นยังเป็นประเด็นหลักอีกอันหนึ่งของสภาปฏิรูป
ประเทศไทยใหม่ที่ คสช.อ้างว่าจะสร้างขึ้น จะมีประชาธิปไตยหรือไม่ มีความสำคัญน้อยกว่าว่ามีคอร์รัปชั่นหรือไม่ ต้องไม่มีคอร์รัปชั่นเสียก่อน ถึงจะมีประชาธิปไตยได้

ผมคิดว่า นักต่อสู้คอร์รัปชั่นในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะมองคอร์รัปชั่นในเชิงศีลธรรมเพียงมิติเดียว จึงมักพบทางตันคือหาทางออกไม่เจอ นอกจากเปลี่ยนบุคลิกภาพของผู้คนทั้งหมด ซึ่งทำในความเป็นจริงไม่ได้ หรือชี้นิ้วประณามคนอื่น ครั้นตัวเองล้มเหลวก็มักหาทางรอนสิทธิคนอื่น เพราะเกรงว่าเขาจะคอร์รัปชั่น หรือสนับสนุนคอร์รัปชั่น
ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชั่นมากพอจะบอกได้ว่า มุมมองอย่างนี้เสียเปล่า เพราะจะไม่แก้ปัญหาอะไร จนไม่นานมานี้เพิ่งได้อ่านงานศึกษาของคุณ Marc Saxer เรื่อง Fighting corruption in transformation societies จึงออกประทับใจ ขอนำเอาบางส่วนบางตอนของเขามาเล่าในที่นี้ด้วยภาษาของผมเอง จึงอาจผิดพลาดจากที่คุณ Saxer ตั้งใจ เขาจึงไม่ควรรับผิดชอบอะไรกับบทความนี้


คอร์รัปชั่นเป็นสัญญาณของความเหลื่อมล้ำอย่างมากของสังคม ผมไม่ได้หมายความว่าคนจนจำนวนมากไม่มีกินจึงต้องโกง เพราะความจริงแล้วคนจนแทบไม่มีโอกาสโกงเลย ได้แต่เพียงพอใจจะรับประโยชน์โภชผลที่คนโกงมอบให้
คำถามก็คือคนโกงซึ่งไม่จนโกงทำไม คำตอบคงมีหลายอย่าง (รวมทั้งมิติทางศีลธรรมด้วย) แต่หนึ่งในหลายอย่างคือการแข่งขันกันแสวงหาอำนาจในสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมาย การแข่งขันจึงอยู่ที่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งระดับบนขึ้นไปและต่ำลงมาอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้ต่อรองในการแสวงหาอำนาจ, ผลประโยชน์และเกียรติยศ

อำนาจที่แสวงหาไม่ได้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ศึกษาฯ จังหวัดช่วยฝากลูกญาติ, เพื่อน, ลูกน้อง ให้เข้าโรงเรียน ก็เป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการผดุงสถานะของตนในเครือข่ายด้วย เช่นเดียวกับนายตำรวจไปเอาใบขับขี่ที่ถูกยึดจากสถานีให้เพื่อนหรือเพื่อนของนายผู้อุปถัมภ์

นี่คือเหตุผลที่ "เจ้าพ่อ" มักได้รับความนิยมนับถือจากประชาชนในเขตอิทธิพลของตนอย่างสูง


ในแง่นี้คอร์รัปชั่นคือการกระจายทรัพยากรอย่างหนึ่ง เรียกในทางมานุษยวิทยาว่าaccumulativeredistributionคือรวบรวมทรัพย์ส่วนรวมไปกระจายแก่คนในเครือข่ายของตน ดังนั้น ในสังคมที่ขาดการยึดหลักเหตุผลและกฎหมาย เช่นสังคมสืบสถานะ (patrimonial society)ดังสังคมไทย คอร์รัปชั่นจึงเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้แก่ระบบเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมของสังคมนั้นๆ ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะสอนกันในโรงเรียนนั้น หากไม่คิดจะโกหกเด็ก ก็ต้องบอกว่ายั่งยืนอยู่มาได้ภายใต้โครงสร้างของรัฐสืบสถานะ (รัฐราชสมบัติ) ก็เพราะการคอร์รัปชั่นนี่แหละ

แต่นี่พูดถึงคอร์รัปชั่นในความหมายปัจจุบัน โบราณท่านไม่ได้คิดว่าเป็นการคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" นั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (ก็ไม่ได้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ) แต่อย่าทำให้เกินไปจนกลายเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่แข่งขันกับพระราชอำนาจได้เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจจำเริญขึ้นในรัฐสืบสถานะ การกระทำเหล่านี้เริ่มถูกมองว่าเป็นคอร์รัปชั่น แม้กระนั้นมันก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่ส่วนหนึ่งคือเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้แก่การประกอบการทางเศรษฐกิจสมัยใหม่เมื่อ 4-50 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยต้องการบริการของธนาคารเพิ่มขึ้น จะตั้งธนาคารหรือขยายกิจการได้อย่างราบรื่นอย่างไร ก็ไปเชิญเผด็จการทหารมาเป็นประธานกรรมการของธนาคารสิครับ ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นดี เกือบทุกธนาคารใหญ่ๆ ในเมืองไทยโตมาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะอาศัย "เส้น" ทั้งนั้นแหละ บริษัทร้านค้าขนาดใหญ่ก็เหมือนกัน เพราะในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตและซับซ้อนขึ้น การเมืองไทยก็ยังเป็นการเมืองของรัฐสืบสถานะอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ขยับไปสู่รัฐที่ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมายสักที

แต่การเมืองของรัฐสืบสถานะตั้งอยู่อย่างราบรื่นในรัฐที่เศรษฐกิจกลายเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ใหญ่โตซับซ้อนไม่ได้
ความไม่ราบรื่นทางการเมืองต่างๆในเมืองไทยที่เราได้เห็นมาเป็นสิบปีนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสังคมและรัฐไทยเปลี่ยนไม่ผ่านจากรัฐและสังคมสืบสถานะมาเป็นรัฐและสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมาย


ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบเช่นนี้แหละที่คอร์รัปชั่นระบาดมากขึ้นส่วนหนึ่งจะมากน้อยแค่ไหนผมไม่ทราบ ก็คือการกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่ถือว่าเป็นคอร์รัปชั่นกลับถูกมองว่าเป็นคอร์รัปชั่นไป เพราะสังคมกำลังขยับปรับเปลี่ยนตัวเองเมื่อเร็วๆ นี้ผมยังได้ยินคนบ่นว่า การจอดรถที่ขอบขาวแดงเป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง (ซึ่งในทรรศนะของผมไม่ใช่ เป็นแค่การละเมิดกฎหมายธรรมดาๆ)

อีกส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของธนาคารโลกและฉันทานุมัติวอชิงตันซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือกันรัฐออกไปจากตลาด เพราะเชื่อว่าตลาดสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ดีกว่ารัฐ คอร์รัปชั่นในรัฐสมัยใหม่เกิดอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ การขจัดคอร์รัปชั่นของธนาคารโลกจะเน้นด้านวิธีการ ซึ่งก็คือขจัดอำนาจรัฐออกไปให้มากที่สุด (นักต่อต้านคอร์รัปชั่นในเมืองไทยสมาทานความเห็นของธนาคารโลกเข้าไปเต็มเปา เพราะตัวสมาทานลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่แล้ว หรือเพราะไร้เดียงสา ก็ไม่ทราบได้)








แต่ส่วนสำคัญที่สุดนั้น มาจากคอร์รัปชั่นยังทำงานเป็นน้ำมันหล่อลื่นของระบบเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง
กล่าวคือ เมื่อเครื่องกลทางเศรษฐกิจใหญ่โตซับซ้อนขึ้น แต่ไม่มีหลักเหตุผลและกฎหมายกำกับ การเสียดทานย่อมมากขึ้น และต้องอาศัยน้ำมันหล่อลื่นมากขึ้น ผมอยากขายจีที 200 ซึ่งไม่ทำงานให้กองทัพได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้น้ำมันหล่อลื่น จะขายเครื่องตรวจอาวุธที่สนามบินใหม่ได้อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขนาดนั้น นอกจากใช้น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันนั้นก็หล่อลื่นเศรษฐกิจจริงเสียด้วย เช่น นายทหารที่รวยจากการโกงก็ไปสร้างคฤหาสน์อยู่ เกิดการจ้างงานในการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง พ่อค้าที่รวยจากการโกง ก็เอาทุนไปหาโครงการใหม่เพื่อขายราชการอีก ต้องจ้างงานคนไปสร้างโครงการปลอมๆ ขึ้น

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อให้เห็นว่า คอร์รัปชั่นนั้นมันมีงานของมันต้องทำ ในสภาวะสังคมแบบไม่ยอมเปลี่ยนผ่านนี้แหละ



อย่างไรก็ตามแม้ว่าคอร์รัปชั่นยังเป็นน้ำมันหล่อลื่น แต่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านเช่นนี้คอร์รัปชั่นกลับขัดขวางประชาธิปไตยและความโปร่งใสของการบริหาร คอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องมีคนใหญ่คนโตในวงการเมืองหรือราชการเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ จะเกี่ยวเพราะโลภหรือโง่ก็ตาม แต่ในรัฐประชาธิปไตยก่อนที่ความโลภและความโง่จะทำงานได้ผล ก็จะมีคนตรวจสอบและโวยวายขึ้นจนกระทั่งคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นไม่ได้ พ่อค้าที่ฉลาดกว่า ก็จะเสนอขายกระบวนการ, บริการ หรือเครื่องมืออะไรก็ตาม ที่สามารถตรวจจับอาวุธตามด่านตรวจในภาคใต้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทหารตำรวจไม่ต้องมาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น พ่อค้าฉลาดก็รวยขึ้น และทำโครงการอะไรอื่นขายได้ใหญ่ขึ้น จ้างงานคนมากขึ้นและประเทศไทยก็รวยขึ้น ทำรัฐสวัสดิการได้โดยมีเสียงค้านน้อยลง

คอร์รัปชั่นนั้น โดยตัวของมันเองก็เป็นการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่เปลี่ยนไม่ผ่านอย่างไทย เพราะสามารถใช้ในการสร้างเครือข่ายการเมืองของตนเอง และทำลายเครือข่ายการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้ สภาวะเช่นนี้เห็นได้ชัดในปัจจุบัน เพราะผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงคอร์รัปชั่นของคนอื่น นอกจากฝ่ายทักษิณ ประหนึ่งว่าหากไม่มีทักษิณแล้วก็ไม่มีคอร์รัปชั่นเหลือในเมืองไทยอีกเลย ความไม่เที่ยงตรงของหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบตุลาการ คือแรงหนุนสำคัญที่คอร์รัปชั่นต้องการ เพราะคอร์รัปชั่นดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนไม่ผ่านได้ ก็เพราะคนโกงย่อมวางใจกับเครือข่าย (สร้างขึ้นหรือซื้อมา) มากกว่าหลักแห่งเหตุผลและกฎหมาย

และดังที่เห็นๆ กันอยู่ คอร์รัปชั่นยังถูกใช้เป็นเหตุผลให้ยกเลิกกระบวนการประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตขึ้น


การปราบคอร์รัปชั่นที่ได้ผลจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการเพียงอย่างเดียว(เปิดเผยข้อมูล,ตั้งองค์กรตรวจสอบ,แจ้งทรัพย์สิน,เพิ่มกฎหมายและเพิ่มโทษ ฯลฯ) เท่านั้น สภาพแวดล้อมที่คอร์รัปชั่นต้องการที่สุดคือการเมืองของรัฐสืบสถานะ ดังนั้นเราจึงไม่อาจต่อต้านคอร์รัปชั่นในรัฐชนิดนี้ได้ จำเป็นต้องช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผลและกฎหมายให้สำเร็จ ในรัฐที่ทุกคนในฐานะปัจเจกย่อมเท่าเทียมกันที่จะได้โอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่จุดสูงสุด โดยไม่ต้องอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์

รัฐประชาธิปไตยเป็นระบบความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ปัจเจกบุคคลทุกคนสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กับรัฐโดยผ่านหลักเหตุผลและกฎหมาย
คอร์รัปชั่นเกลียดกลัวรัฐแบบนี้ ถึงจะมีการทุจริตคดโกงในรัฐแบบนี้ ก็เกิดขึ้นเป็นกรณีไป ไม่ใช่แฝงอยู่ในระบบการเมืองอย่างแยกไม่ออกเช่นรัฐสืบสถานะ ความพยายามจะปราบคอร์รัปชั่นภายใต้ระบอบเผด็จการจึงเป็นเรื่องเหลวใหล อย่างมากก็ทำได้แต่การสร้างวิธีการที่สลับซับซ้อนขึ้น อย่างที่ธนาคารโลกและฉันทานุมัติวอชิงตันให้แบบอย่างเอาไว้ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าคอร์รัปชั่นเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ขาดไม่ได้ในฟันเฟืองของระบบรัฐสืบสถานะ อย่างไรเสียมันย่อมต้องซึมผ่านวิธีการเหล่านั้นไปจนได้

หากรังเกียจคอร์รัปชั่นอย่างจริงใจต้องร่วมมือกันนำประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐประชาธิปไตยให้ได้เท่านั้น



Source://botkwamdee.blogspot.com/2014/08/n-disguise.html

--------------------------------------------------------------





Create Date : 18 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2557 20:01:21 น. 0 comments
Counter : 828 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.