" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
12 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 
10 -16.08.2555 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐนาฏกรรมอีกที




รัฐนาฏกรรมอีกที

นิธิ เอียวศรีวงศ์

(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10-16 สิงหาคม 2555 หน้า 30)


หลายปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีพิธีฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 60 ปีของรัชกาลปัจจุบัน เพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า ทำไมผู้เข้าเฝ้าในวันเสด็จออกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงต้องร้องไห้

นั่นเป็นภาพที่กล้องทีวีพยายามเจาะลงไปให้ผู้ชมได้เห็น รวมทั้งไปสัมภาษณ์ประชาชนผู้เข้าเฝ้า ซึ่งหลายคนก็ให้สัมภาษณ์พร้อมกับสะอึกสะอื้นไปด้วย

เป็นคำถามที่ผมตอบไม่ได้ในตอนนั้น ได้แต่เดาส่งไปว่าคงปลาบปลื้มใจจนน้ำตาไหลกระมัง ส่วนใหญ่ของคนไทยปัจจุบันล้วนมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินนี้แผ่นดินเดียว และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา สื่อต่างๆ ก็เสนอภาพของชีวิตในสังคมไทยที่มีพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ เป็นศูนย์กลางตลอดมา การได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีในวาระโอกาสอย่างนั้น ย่อมนำความปลาบปลื้มปีติเป็นธรรมดา

ทั้งเพื่อนและผมรู้เหมือนกันว่า เป็นคำตอบทื่อๆ ที่อธิบายแบบขอไปทีมากกว่า

ผมเพิ่งมาพบคำอธิบายที่ไม่ทื่ออย่างนั้น (แต่จะถูกหรือผิดไม่ทราบได้) เมื่อตอนที่เขียนเรื่องรัฐนาฏกรรมในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อสองเดือนที่แล้ว และมีเหตุบางอย่างที่ทำให้ผมต้องคิดเรื่องนี้อย่างปรุโปร่งมากขึ้น

ในความคิดของศาสตราจารย์ Geertz ผู้เสนอทฤษฎีนี้ คือรัฐก่อนสมัยใหม่ของอุษาคเนย์ล้วนเป็นรัฐนาฏกรรมทั้งสิ้น “ละคร” ที่รัฐจัดขึ้นนั้นไม่ใช่การ “แสดง” เพราะหากเป็นเพียงการ “แสดง” ก็ย่อมไม่กระทบต่อลักษณะของรัฐแต่อย่างใด แม้จะใช้การ “แสดง” มากเพียงไรก็ตาม รัฐเพียงแต่ต้องการสื่อสารบางอย่างให้แก่ประชาชนเท่านั้น

ไม่ว่ารัฐในลักษณะใด ก็ล้วนมีเหตุที่จะสื่อสารกับประชาชนทั้งสิ้น นอกจากสื่อสารด้วยประกาศ, แถลงการณ์, หรือการให้สัมภาษณ์ ฯลฯ แล้ว รัฐทุกประเภท ย่อมใช้การ “แสดง” หลากหลายชนิดเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น ดังที่ผมเตือนผู้อ่านไว้ในบทความเรื่องรัฐนาฏกรรมครั้งที่แล้วว่า อังกฤษกำลังจะจัดฉลองสิริราชสมบัติของพระราชินีนาถอย่างยิ่งใหญ่

หนังเรื่องสุริโยไทก็ตาม เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรก็ตาม หรือละครเวทีเรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ก็เป็นการ “แสดง” ที่รัฐ (หรือผู้มีอำนาจ) ต้องการสื่อสารบางอย่างแก่ประชาชน

คนไปดูแล้วก็อาจสนุก ซาบซึ้งใจ หรือได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างก็ได้ แต่เขาไม่ได้ร่วมในการ “แสดง” นั้น เขาเป็นเพียงผู้รับสารเท่านั้น ไม่ต่างจากการไปดูหนังดูละครหรือดูการแสดงดนตรีโดยทั่วไป รับสารมาแล้ว ก็ยังเอามาประเมินคุณค่าเอง ปรับเปลี่ยนสารนั้นตามใจตัวเอง จนกลายเป็นอีกความหมายหนึ่งไปก็ได้

การแสดงเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะจัดให้ใหญ่โตเพริศแพร้วอย่างไร จึงไม่สามารถทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งกลายเป็นรัฐนาฏกรรมขึ้นมาได้

พิธีกรรมที่รัฐจัดขึ้นในรัฐนาฏกรรมแตกต่างจากการ “แสดง” อย่างไร ผมขอยกตัวอย่างของศาสตราจารย์ Geertz ในหนังสือเรื่อง “Negara” มาให้ดู

ก่อนหน้าที่บาหลีจะตกเป็นของฮอลันดาโดยสิ้นเชิงนั้น พระราชาผู้ครองรัฐแห่งหนึ่ง (กิอันจาร์) สวรรคตลง จึงต้องมีการจัดงานพระเมรุใหญ่ขึ้นที่ “สนามหลวง” ใกล้พระราชวังบังเอิญมีชาววิลันดาคนหนึ่ง ได้ไปเห็นตัวพิธีกรรมนั้นแล้วมาเขียนรายงานไว้

มีชาวบาหลีทั้งจากรัฐนั้นและรัฐอื่นเดินทางมาร่วมพิธี มืดฟ้ามัวดิน (ฝรั่งผู้เขียนอาจเห็นว่ามา “ชม” พิธี แต่ชาวบาหลีคิดว่าตัวเข้ามา “ร่วม” พิธีมากกว่า) ขบวนแห่พระศพใหญ่โตโอฬาร ประกอบด้วยพระเมรุมาศสูงใหญ่ถึง 11 ชั้น แต่ไม่ได้สร้างติดพื้น ต้องใช้กำลังคนถึง 500 ในการเคลื่อนตัวพระเมรุมาศเพื่อมารับพระศพ ที่ต้องชักข้ามกำแพงวังออกมาประดิษฐาน เพราะศพเป็นสิ่งโสโครก ย่อมนำผ่านประตูไม่ได้

แล้วก็ยกเอาพระเมรุมาศไปตั้งในมณฑลพิธี เบื้องหลังพระเมรุมาศ มีพระเมรุมาศเล็กและไม่โอ่อ่าตามมา มีสนมสามคนอยู่ในนั้น ต่างอาสาสมัคร (หรือถูกเลือกไม่ทราบได้) ให้เป็นสตีหรือบาหลีเรียกว่า “บ(ะ)ลา” (คงจะตรงกับพ(ะ)ลีของภาษาแขกแบบไทย)

พอถึงที่เขาก็ชักพระศพลงจากชั้นยอดสุด ลงมาบรรจุไว้ในหีบศพที่ทำเป็นรูปสิงห์ แล้วก็ลงมือเผา พอโหมไฟได้ที่แล้ว ก็เอาน้ำมันราดลงในกองเพลิงนั้น จนไฟลุกไหม้โชติช่วง หญิงทั้งสามก็เดินตามสะพานไม้จากเมรุของตนมาเหนือกองฟอนนั้น แล้วก็กระโดดลงกองไฟตามเสด็จไปด้วย

ทั้งสามคนอยู่ในอาการสงบ มีญาติพี่น้องจำนวนมากตามมาส่งอย่างใกล้ชิด และต่างก็อยู่ในอาการสงบเช่นเดียวกัน แม้แต่ชาวบาหลีที่เข้าร่วมงานก็ไม่ได้ส่งเสียงร้องด้วยความหวาดเสียวแต่อย่างใด ทุกคนอยู่ในอาการสงบทั้งหมด เป็นอันเสร็จพิธี

ชาวบาหลีมากันมืดฟ้ามัวดินทำไม ไม่ใช่อย่างที่นักท่องเที่ยวไปชมการเชือดลิ้นปีนบันไดมีดที่ภูเก็ตนะครับ คือไม่ได้ไปดูเพื่อเสียวดี แต่พากันไปเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสด็จพระอวตารกลับสู่ความเป็นพระเจ้าบนสรวงสวรรค์ ยืนยันระเบียบของจักรวาลและโลกมนุษย์ซึ่งตนมีชีวิตอยู่ และให้ความหมายแก่ชีวิตของตน

นี่แหละครับ รัฐนาฏกรรมขนานแท้ กล่าวคือตัวความเป็นรัฐนั้นคือนาฏกรรม ซ้ำนาฏกรรมยังเป็นหน้าที่หลักของรัฐ คือทำให้ทุกคนร่วมอยู่ใน “ละคร” เรื่องเดียวกัน ทุกคนเป็นทั้งผู้แสดงและทุกคนเป็นทั้งผู้ชม แยกสองอย่างนี้ออกจากกันไม่ได้

ผมควรกล่าวนอกเรื่องไว้ด้วยว่า นาฏกรรมตามประเพณีของอุษาคเนย์ก็เป็นอย่างนี้ คือไม่ได้แยกผู้แสดงและผู้ชมออกจากกันชัดๆ ผู้ชมอาจเข้าไปร่วมในการแสดงได้ตลอดเวลา เช่น ตะโกนด่าตัวโกง หรือร้องอื้ออึงให้แก่ชัยชนะของฝ่ายคนดี และนี่คือรสชาติที่สำคัญส่วนหนึ่งของการชมการแสดง ซึ่งมักเล่นเรื่องซ้ำซากที่ใครๆ ก็รู้เรื่องหมดแล้ว

แม้มีอำนาจอื่นๆ อีกมากมายที่แข่งกับรัฐ เช่น อำนาจท้องถิ่น อำนาจพ่อค้า หรืออำนาจของเจ้านายซึ่งแก่งแย่งชิงดีกันตลอด แต่รัฐจะเป็นรัฐไม่ได้ถ้าไม่ใช่นาฏกรรมซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมสวมบทบาทต่างๆ ในนาฏกรรมนั้น

ไม่มีนาฏกรรม อำนาจทั้งหลายในรัฐก็กลายเป็นอำนาจเถื่อน เพราะอำนาจนั้นหากไม่ผูกโยงกับท้องเรื่องในนาฏกรรมแล้ว ก็เป็นแต่เพียงอำนาจดิบซึ่งจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนไม่ได้

ปัญหามาอยู่ที่ว่า รัฐนาฏกรรมดำรงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนในรัฐต่างยอมรับท้องเรื่องหลักของนาฏกรรมเป็นพื้นฐานโลกทรรศน์ของตนเอง เมื่อไรที่ผู้คนเปลี่ยนโลกทรรศน์ไปแล้ว นาฏกรรมของรัฐก็กลายเป็นเพียงการแสดง และความเป็นนาฏกรรมของรัฐก็หมดไป

แต่ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะรัฐอาจพยายามดำรงรักษาท้องเรื่องเดิมเอาไว้ด้วยวิธีที่แยบยลต่างๆ หรือในทางตรงกันข้าม รัฐอาจสร้างท้องเรื่องของนาฏกรรมใหม่ และยัดเยียดให้ประชาชนพากันยึดถือเป็นพื้นฐานของโลกทรรศน์ (ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม) ของตนก็ได้

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมจากอินโดนีเซียอีกสักเรื่องหนึ่งนะครับ ดังที่ทราบอยู่แล้วว่าท่านประธานาธิบดีซูการ์โนมีภรรยาหลายคน ซึ่งท่านไม่ได้ปิดบังแต่อย่างไร ยิ่งกว่านั้นท่านยังแสดงให้เห็น “อำนาจทางเพศ” ของท่านให้รู้เห็นกันเป็นการสาธารณะอยู่บ่อยๆ

หากท่านเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คงพังไปพร้อมกับคลินตันแล้ว แต่ตรงกันข้ามกับคติของชาวชวาซึ่งเป็นพลเมืองที่ใหญ่สุดของอินโดนีเซีย เพราะพลังทางเพศของผู้นำย่อมแสดงให้เห็น “บารมี” ของเขา เช่นเดียวกับปันหยีหรืออิเหนาที่ได้เมียนับไม่ถ้วนในการตามหาเมียหลวงของตน

นี่คือนาฏกรรมโบราณซึ่งยังใช้ได้ผลทางการเมืองในสมัยของท่านประธานาธิบดีซูการ์โน

สรุปก็คือนาฏกรรมของรัฐต้องวางอยู่บนความเชื่อบางอย่างที่ประชาชนจำนวนมากยอมรับ จะเป็นความเชื่อโบราณที่สืบทอดมา หรือเป็นความเชื่อที่ปลูกฝังลงไปใหม่ก็ตาม แต่ต้องเป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ

เมื่อคนไทยไปเข้าเฝ้า ครั้งที่ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในรัชกาลปัจจุบัน คนจำนวนมากเหล่านั้นไม่ได้เข้า “ชมพระบารมี” คือไม่ได้แค่ไป “ชม” เฉยๆ แต่เข้าไปร่วมอยู่ในนาฏกรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อในโลกทรรศน์ของเขา ที่น้ำตาไหลไม่ใช่การแสดง เขาคือส่วนหนึ่งของนาฏกรรมแห่งรัฐ ที่บางคนต้องร้องไห้

คำถามที่ว่าร้องไห้ทำไม เป็นคำถามสมัยใหม่ คือถามว่านาย ก. นาง ข. ร้องไห้ทำไม สาเหตุของการร้องไห้เป็นเรื่องของบุคคล และชวนให้ไปคิดหาคำตอบจากจิตวิทยาที่พยายามตอบปัญหาของบุคคล (และผมก็หลงกลอันนั้น) แต่ถ้าถามจากมุมมองของรัฐนาฏกรรม ผู้ถามไม่ได้คิดถึงนาย ก. หรือนาง ข. แต่ควรคิดถึงฉากรวมๆ ของการฉลองในวาระอันยิ่งใหญ่เช่นนั้นของรัฐ ความปลาบปลื้มจนน้ำตาไหลย่อมเป็นส่วนหนึ่งของฉากที่ขาดไม่ได้ และถ้าคิดอย่างนี้ออก ก็ไม่ต้องถาม

ตรงกันข้ามกับรัฐนาฏกรรมคือการแสดง งานพระเมรุหรืองานฉลองเจ้านายที่ประชาชนไม่ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งในโลกทรรศน์ของตน หากทำให้ยิ่งใหญ่โอฬาร หรือโฆษณาตอกย้ำกันให้มาก ก็อาจมีคนเข้า “ชม” งานกันมาก แต่นั่นไม่ใช่รัฐนาฏกรรม เป็นเพียงการแสดงของรัฐเท่านั้น

ดังเช่นการฉลองสิริราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษ นี่คือการฉลองให้แก่บุคคลคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รักเคารพของคนอังกฤษจำนวนมาก มี “การแสดง” ที่ตระการตาให้ชมเป็นอันมาก และมีผู้คนเข้าชมกันมืดฟ้ามัวดินเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีใครน้ำตาไหล

เพราะไม่มีเหตุที่อังกฤษจะต้องพยายามเป็นรัฐนาฏกรรม

ดังนั้น ที่ผมสรุปไว้ครั้งที่แล้วว่า ถ้าทุ่มเงินทองยอมสิ้นเปลืองให้มาก ก็อาจรักษารัฐนาฏกรรมไว้ได้นั้น คงจะผิด เพราะไม่ว่าจะทุ่มเงินลงไปเท่าไร หากนาฏกรรมนั้นไม่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโลกทรรศน์ของผู้คนในสังคมอีกแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้รัฐนั้นกลายเป็นรัฐนาฏกรรมไปได้


--------------------------------------------------------------





Create Date : 12 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2557 21:13:20 น. 0 comments
Counter : 633 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.