พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
21 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 

ขยายพรบ.มั่นคง-ควรหรือไม่? (รายงานพิเศษ)

ขยายพรบ.มั่นคง-ควรหรือไม่?

รายงานพิเศษ



ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) มีแนวโน้มยืดเยื้อ



คดีร้อน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกดีเอสไอตั้งข้อหาร้ายแรงจากเหตุสั่งสลายการชุมนุมปี"53 ที่อัยการนัดสั่งคดี 31 ต.ค.นี้



การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237



ศาลโลกนัดตัดสินคดี "เขาวิหาร" วันที่ 11 พ.ย.



หรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของฝ่ายค้าน



เหตุผลข้างต้นเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ ที่รัฐบาลจะขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ออกไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.



มีความเห็นจากนักวิชาการและภาคประชาชน



ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต




การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นเครื่องมือที่หลายรัฐบาลนำออกมาใช้ โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยกลุ่มเดิม



ดังนั้น วิธีคิดก็จะเป็นวิธีคิดแบบเดิมว่าทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดการยึดสถานที่ราชการแบบที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวิธีเชิงปฏิบัติที่ยึดถือกันมา



ส่วนการขยายการประกาศใช้พ.ร.บ. ความมั่นคงยาวไปจนถึงสิ้นเดือนพ.ย.นั้น ประเด็นคือ วันที่ 11 พ.ย.นี้ ศาลโลก จะพิจารณาคดีข้อพิพาทพื้นที่ปราสาท พระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา



เป็นเรื่องที่ต่างก็รู้กันดีว่าฝ่ายผู้ชุมนุม ใช้ประเด็นนี้สร้างความรู้สึกชาตินิยม คลั่งชาติได้ ภายใต้สถานการณ์ในกลุ่มคน ที่มีอารมณ์รักชาติจำนวนมาก



สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะข้ามช่วงเวลาแบบนี้ได้อย่างไร การขยายเวลาพ.ร.บ. ความมั่นคง จึงมองเป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการข้ามช่วงเวลาคับขันในเดือนพ.ย.นี้ไปให้ได้



แม้การชุมนุมจะมีกำลังคนไม่มาก แต่ก็รู้กันว่าผู้ชุมนุมมีความพยายามสร้างพื้นที่ข่าวสาร ด้วยเหตุนี้ความพยายามแบบนี้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางการเมืองจากน้ำผึ้งหยดเดียวได้



หมายถึงมีกลุ่มคนที่รักชาติแน่ๆ และกลุ่มคนที่อาจคิดว่าสูญเสียเขตแดน ประเด็นนี้เป็นประเด็นจิตวิทยา ซึ่งบางคนอาจลงทุนกระทำอะไรที่รุนแรงให้สังคมได้รับรู้



ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของเหตุผลมองว่ารัฐบาลทำได้



ส่วนคดีสั่งสลายการชุมนุมปี"53 ที่อัยการจะมีคำสั่งวันที่ 31 ต.ค. กับการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 จะเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้รัฐบาลขยายเวลาพ.ร.บ.มั่นคงหรือไม่นั้น มองว่าทุกปัจจัยย่อมมีผลต่อการเมือง



ดังนั้น ประเด็นว่าอัยการจะ สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องบุคคลสำคัญ ของฝ่ายค้าน ย่อมทำให้พวกเขาเคลื่อนไหว เพื่อสร้างแรงใจและกำลังใจให้พวกเขา ซึ่งอาจมีวิธีการ ที่หลากหลาย



อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลผ่าน ประเด็นต่างๆ ช่วงเดือนพ.ย.ได้ คิดว่าสังคมไทยจะเข้าสู่การยอมรับ การมีเหตุมีผลทางการเมืองมากขึ้น



การประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นการประกาศใช้ในพื้นที่จำกัด ไม่ได้จำกัดพื้นที่การใช้ชีวิตของประชาชนคนอื่น





สมบัติ บุญงามอนงค์

บ.ก.ลายจุด




การขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงต่อถึง วันที่ 30 พ.ย. รัฐบาลคงประเมินสถาน การณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วเกรงว่าจะย้ายมาชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ราชการอย่างยืดเยื้อ



เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยายเวลาการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง กลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนมายังทำเนียบ แน่นอน และถ้าผู้ชุมนุมมาถึงหน้าทำเนียบ ได้ก็เชื่อว่าจะยืดเยื้อ



ดังนั้น รัฐบาลคงพิจารณาแล้วว่าจะไม่ยอมให้ม็อบการเมืองแบบนี้มาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบ เพราะ ไม่เหมาะสม ซึ่งต่างจากม็อบที่เป็นปัญหาปากท้อง ของชาวบ้าน



ที่ผ่านมาสังเกตว่ารัฐบาลปัจจุบันจะใช้วิธีป้องกันก่อนเกิดปัญหา หรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ



รัฐบาลไม่ได้วิตกกังวลมากเกินไป เพราะผู้ชุมนุมมีท่าทีชัดเจนว่ามีเป้าหมายสูงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกการ์ดสูงขึ้น



การขยายเวลาใช้กฎหมายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีความกังวลต่อสถานการณ์ และเงื่อนไขทางการเมืองในห้วงเวลานี้ ซึ่งเข้าใจสถานการณ์ของรัฐบาล เข้าใจถึงเหตุผลที่ตัดสินใจแบบนี้



อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมก็ยังมีสิทธิในการชุมนุม ขณะที่การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่น คงจะใช้สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะ จะเป็นการละ เมิดสิทธิของประชาชนในการแสดงออก



ทางออกคือ ควรเจรจากันเพื่อหาพื้นที่ที่ยอม รับได้ จะได้เป็น ทางที่ดีที่สุด ของหลักการประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าจะชุมนุมแล้วมีการปิดถนนหรือประกาศใช้พ.ร.บ. ความมั่นคง ก็เท่ากับกระทบการดำรงชีวิตของประชาชนคนอื่นๆ



จะกลายเป็นว่าทั้งผู้ชุมนุมและรัฐบาลได้ก่อกรรมร่วมกัน



พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ




ตังแต่ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง จนถึงการขยายระยะเวลาการใช้ เพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล ทางรัฐบาลควรทบทวนและพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ



เนื่องจากการขยายระยะเวลาใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ย่อมส่งผลกระทบ ต่อความชอบธรรมของรัฐบาลเอง



โดยเฉพาะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อควบคุมมวลชน



รัฐบาลมองว่าสามารถใช้กฎหมายมาควบคุมมวลชนได้ แต่ตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง



ในข้อเท็จจริงยังมีมาตรการอื่นอีกหลายช่องทางในการจัดการบริหารกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น รัฐบาลควรเป็นผู้ประสานงานกับแกนนำหรือผู้ชุมนุม ว่าให้ชุมนุมในกรอบของกฎหมาย ไม่ไปละเมิดหลักรัฐธรรมนูญหรือสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น



อย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจคือการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรัฐบาลควรเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่ไปควบคุม



แน่นอนว่าหากรัฐบาลไม่ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ใช้แต่กฎหมายธรรมดาท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมทาง การเมือง ไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่า ผู้ชุมนุมจะชุมนุมโดยสงบ หรือไม่ละเมิดกฎหมาย



เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกจึงอยู่ที่การประสานงานระหว่างรัฐบาล และมวลชน ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันที่เหลือก็ปล่อย ให้แกนนำเป็นผู้ดูแลกันเอง



เพราะหากผู้ชุมนุมเกิดก่อเหตุที่ละเมิดต่อกฎหมาย เช่น บุกยึดหรือทำลายสถานที่ราชการ หรือสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น ย่อมต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งภาพลักษณ์ของผู้ชุมนุมก็จะถูกมองในแง่ลบทันที



ส่วนที่รัฐบาลระบุต้องขยายเวลาใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ด้วยเหตุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 คดีเขาพระวิหาร หรือการดำเนินการทางการเมืองต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้



เพราะยังไม่มีอะไรมายืนยันว่าหากการเมืองเข้าสู่ช่วงเผือกร้อนแล้วจะเกิด เหตุวุ่นวาย บางทีการชุมนุมอาจจุดไม่ติดด้วยซ้ำ



เพราะอย่างไร ผู้ที่กระทำการละเมิด ต่อกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ย่อมที่จะถูกดำเนินคดี ถูกลงโทษทางกฎหมาย



หากรัฐบาลต้องการที่จะเติบโตตามระบอบประชาธิปไตย ก็ควรคำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก 




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2556
0 comments
Last Update : 21 ตุลาคม 2556 1:10:11 น.
Counter : 802 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.