พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
11 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 

คำสั่งศาลไม่รับคำร้องปม"ม.154" (คอลัมน์ รายงานพิเศษ)

คำสั่งศาลไม่รับคำร้องปม"ม.154"

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



หมายเหตุ - สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ระบุว่าที่ประชุมมีคำสั่งไม่รับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาส.ว.ตามมาตรา 154 โดยมีรายละเอียดดังนี้

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กับคณะ และคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ รวม 142 คน

ที่ส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาเสนอความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 111, 112, 115, 116 วรรคสอง, 117, 118, 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง รวมทั้งยกเลิกมาตรา 113 และ 144)

หรือ "ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว." ว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่

โดยคำร้องของนายจุรินทร์ กับคณะ อ้างว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ที่มีการเสนอต่อประธานรัฐสภา กับฉบับที่ประธานรัฐสภาแจกจ่ายให้แก่สมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณานับตั้งแต่วาระที่ 1 นั้น

เป็นคนละฉบับและมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันหลายส่วน จึงถือว่ารัฐสภายังมิได้ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (2)

การปฏิบัติหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะที่เป็นประธานในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการกระทำที่เป็นการขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์ ไม่มีความเป็นกลาง

เพื่อที่จะได้มีโอกาสลงรับสมัครเป็น ส.ว. ได้ในวาระถัดไป ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, 125 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

และการที่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาได้ยกเลิกและแก้ไขความในมาตรา 115 (5) (6) (7) และ (9) ให้แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เสนอ และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติรับหลักการไว้แล้ว

ย่อมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโดยปราศจากอำนาจ ส่งผลให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาของพรรคบางพรรคกดบัตรแสดงตนแทน และทำการลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่นซึ่งมิได้อยู่ในที่ประชุมจำนวนหลายคน

ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 130

ในคำร้องยังระบุว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. มีความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ทำให้รัฐธรรมนูญต้องเสียดุลยภาพทางการเมืองและการตรวจสอบไปโดยสิ้นเชิง

และการที่กำหนดให้ยกเลิกความในรัฐธรรมนูญมาตรา 115 ย่อมส่งผลให้การได้มาของ ส.ว. มีความไม่เป็นกลางและมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขให้ ส.ส. ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้ว สามารถลงรับเลือกตั้ง ส.ว. ได้ทันทีนั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 116

และการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 ในร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 141

เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่จะถูกตราขึ้นจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องได้รับการตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 141

ซึ่งมาตรา 141 นั้นเป็นบทบังคับว่า ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ทุกฉบับก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯในทุกกรณี

เช่นเดียวกับคำร้องของนายไพบูลย์ กับคณะ ที่มองว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. นี้ จะทำให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง วิธีการซึ่งได้มามีลักษณะเช่นเดียวกับวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.

โดยอาจมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถือว่าเป็นญัตติต้องห้ามจะเสนอไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรคสอง ซึ่งจะเป็นการทำลายดุลยภาพของอำนาจระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐอันเป็นสาระสำคัญของหลักการแบ่งแยกอำนาจ

ซึ่งมีผลทำลายหลักการและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ไม่คำนึงถึงสถานะของความเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นการลบล้างสิทธิการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา

อีกทั้งยังขยายวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์

รวมทั้งพฤติการณ์การปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ที่ได้ดำเนินการประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างดังกล่าว ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าองค์ประชุมของรัฐสภาไม่ครบ

ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 วรรคสอง ประกอบมาตรา 125 และมาตรา 126 และฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 16, 17, 52 และ 96 อย่างชัดเจน

คำร้องของนายจุรินทร์ กับคณะ และนายไพบูลย์ กับคณะ มีเนื้อหาในคำร้องที่มีลักษณะเดียวกันว่า ทั้งเนื้อหาสาระและกระบวนวิธีพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. นั้น มีข้อบกพร่อง

ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายประการ จึงสมควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีชะลอการนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เนื่องจากทั้ง 2 คำร้องมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ศาลจึงพิจารณารวมกัน

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291

โดยบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (1) ถึง (7) ว่าให้ต้องทำเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ

ทั้งมาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

แต่ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมตราพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีตามคำร้องจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยได้

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้ง 2 คำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2556
0 comments
Last Update : 11 ตุลาคม 2556 2:18:58 น.
Counter : 974 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.