VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
กองทัพกับการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ตอนที่ ๒

กองทัพกับการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ตอนที่ ๒

โดย ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร TOPGUN ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ ให้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาเท่านั้น





การสร้างความตระหนักรู้ดังกล่าว  ทำให้คนไทยเริ่มขยับตัว  แต่อาจจะเป็นเพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที  ทำให้เรามองการเข้าเป็นประชาคมอาเซียนอยู่เพียงเสาหลักเดียว  นั่นคือเสาหลักด้านเศรษฐกิจ  ไม่ว่าจะเป็นเขตเสรีทางการค้าการส่งออก  การนำเข้าอัตราภาษีศุลกากร  ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเห็นได้ชัดที่สุด  

แต่ในขณะเดียวกันเสาหลักที่เหลืออีกสองเสา  ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันกลับถูกมองข้ามหรือให้ความสนใจไม่มากเท่าที่ควร  โดยเฉพาะเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง  ซึ่งมีกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ  มีเครื่องมือหลักคือ  "คณะกรรมการดำเนินการเพื่อจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน"  ซึ่งเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของไทย  เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในปี  พ..2558

นอกจากนี้ยังมีกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งคือ  "การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน"  หรือADMM  (ASEAN Defense Ministers Meeting)   และ  "การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา"  หรือ  ADMM-Plus  ซึ่งมีประเทศสมาชิกประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน  10  ประเทศและประเทศคู่เจรจา  8  ประเทศ  คือ  สหรัฐฯ  จีน  รัสเซีย  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  อินเดีย  ออสเตรเลีย  และนิวซีแลนด์  ที่ได้มีการกำหนดหัวข้อในความร่วมมือ  เพื่อเตรียมการเป็นประชาคมอาเซียนไว้  5  ด้าน  ในการประชุม  ADMM-Plus  ครั้งแรกที่กรุงฮานอย  ประเทศเวียดนาม  เมื่อปี  พ..2553  ประกอบด้วย

1.  ด้านความมั่นคงทางทะเล  (Maritime  Security)

2.  การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ  (Peacekeeping  Operations)

3.  การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ  (Humanitarian  Assistance  and  Disaster  Relief)

4.  การแพทย์ทหาร  (Military  Medicine)  และ

5.  การต่อต้านการก่อการร้ายสากล  (Counter - Terrorism)

เป็นที่น่าเสียดายว่าเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ผ่านมา  ทำให้ไทยเสียโอกาสในการเป็นประธานร่วมในความร่วมมือดังกล่าวทั้ง  5  ด้าน  ปล่อยให้เพื่อนบ้านอย่างเช่น  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  สิงคโปร์  เวียดนาม  ฟิลิปปินส์  จับจองเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศคู่เจรจาไปจนหมด

แต่การสูญเสียโอกาสของไทย  ก็ใช่ว่าจะทำให้เราหยุดอยู่กับที่  ในปัจจุบันกระทรวงกลาโหมของไทย  กำลังปรับตัวปรับองค์กร  ตลอดจนปรับบุคคลากรเพื่อเตรียมความพร้อม  ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลาโหมอาเซียน  

ขณะเดียวกันกองทัพก็จะถูกปรับให้เหลือกองทัพเดียวคือ  "กองทัพอาเซียน"  เหมือนกองทัพสหภาพยุโรปที่กำลังถูกใช้เป็นต้นแบบอยู่ในขณะนี้   คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่าภัยด้านความมั่นคงของประชาคมอาเซียนมีอะไรบ้าง  แล้วกองทัพอาเซียนจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง  เพื่อรับมือกับสิ่งดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.สุเนตรชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวถึงภัยด้านความมั่นคงของประชาคมอาเซียนในอนาคตมีอยู่สามประการคือ

1.  ภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์

2.  ภัยพิบัติจากธรรมชาติและ

3.  การแผ่ขยายอำนาจของประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาค

สิ่งแรกที่ประชาคมอาเซียนจะต้องเผชิญคือ  ภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์  ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจอย่างมาก  อาเซียนมีประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงติดอันดับโลกอย่าง  สิงคโปร์และบรูไน  ในขณะเดียวกันก็มีประเทศสมาชิกที่มีประชากรยากจนอย่างมากด้วยเช่นกัน  

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เอง  ที่จะทำให้เกิดการการหลั่งไหลและการเคลื่อนย้ายของประชากรจากประเทศสมาชิกที่ยากจนไปสู่ประเทศสมาชิกที่ร่ำรวย  เพื่อแสวงหาชีวิตและโอกาสที่ดีกว่า  

การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่นี้  จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงของมนุษย์มากมาย  ทั้งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ  ปัญหาการขยายตัวของเครือข่ายก่อการร้ายสากล  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาการก่อกำเนิดของกลุ่มแก็งค์อิทธิพลเหนือชนชาติของตนในดินแดนประเทศอื่น  เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพยุโรป  อันส่งผลให้กลุ่มมาเฟียจากยุโรปตะวันออกเข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันตก  หรือกรณีกลุ่ม  "โรฮิงยา"  (Rohingya)  ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน  

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ที่สามารถกระทำได้ง่ายขึ้น  เมื่อเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศสมาชิกอาเซียนได้จางหายไปกับความเป็นประชาคมอาเซียน

ปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์อีกปัญหาหนึ่ง  ที่จะต้องจับตามองเช่นกัน  เพราะประชาชนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเหล่านี้  จะนำโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดติดตัวไปยังประเทศอื่น  รวมไปถึงการก่อมลภาวะทางสาธารณสุขขึ้นในประเทศที่ตนอพยพไปอยู่  อันเนื่องมาจากความยากจนและด้อยการศึกษา  

เช่น  การกำเนิดสลัมใหม่ๆ ขึ้นในชุมชนเมือง  การละเลยสุขภาพ  ตลอดจนสุขอนามัย  จนอาจก่อให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในทศวรรษหน้าได้  เช่น  การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก  ที่อาจกลับมาสู่กลุ่มประเทศอาเซียนอีกครั้ง  หากปราศจากความระมัดระวังในการโยกย้ายถิ่นฐาน

นอกจากนี้การรวมตัวของประชาคมอาเซียนยังอาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในหลายๆ ด้าน  ซึ่งผลของความไม่เท่าเทียมนี้  จะตกอยู่กับประเทศสมาชิกที่ด้อยโอกาส  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ  กรณีการบริหารน้ำในลุ่มน้ำโขง  ซึ่งแต่ละประเทศพยายามแสวงหาประโยชน์ของตนเอง  โดยไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอื่น  หรือต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค  หรือกรณีการลักลอบตัดไม้พะยูง  บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา  ที่หากปราศจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ  จะกลายเป็นปัญหาอีกปัญหาหนึ่งของอาเซียนในอนาคต

ปัญหาด้านความมั่นคงอีกปัญหาหนึ่งที่ประชาคมอาเซียนจะต้องเผชิญก็คือ  ภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง  และมีความรุนแรงมากขึ้น  

ปัญหานี้เป็นปัญหาเร่งด่วน  ที่ประชาคมจะต้องรีบหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน  เพราะจากสถิติที่ผ่านมา  จะเห็นได้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งในโลก  เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แทบทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิในไทยและอินโดนีเซีย  เมื่อปี  พ..2547  พายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า  การระเบิดของภูเขาไฟ  "เมอราปิ"  (Merapi)  และแผ่นดินไหวในเมืองยอคยาการ์ต้าและบันดุงของอินโดนีเซีย  พายุไต้ฝุ่นในเวียดนามและฟิลิปปินส์  น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ปัญหาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ได้ทำให้กองทัพของแต่ประเทศสมาชิกอาเซียนปรับบทบาท  จากการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาอำนาจอธิปไตย  มาสู่ความเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยธรรมชาติ 

ซึ่งในอนาคตกองทัพอาเซียนจะมีบทบาทอย่างมาก  ในการทำหน้าที่ปฏิบัติการด้านบรรเทาสาธารณภัย  ซึ่ง ณเวลานี้  กองทัพของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้้เตรียมการในเรื่องนี้ค่อนข้างมากแล้ว  ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือด้านต่างๆ  เช่น   การจัดทำเอกสาร  "แนวความคิดว่าด้วยการใช้ทรัพยากรและศักยภาพทางทหารอาเซียน  ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ"  ที่กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย  เป็นผู้ยกร่างขึ้นมา  รวมไปถึงความร่วมมือในการฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยมากมาย  ที่เกิดขึ้นในห้วงสองสามปีที่ผ่านมา  

เช่น  การฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอาเซียนที่มีสิงคโปร์และอินโดนีเซียเป็นหัวหอก  เมื่อเดือนตุลาคมของปี  2554  ที่ผ่านมา  ณ  ประเทศสิงคโปร์  การฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยร่วมระหว่างกองทัพไทยและมาเลเซีย  ภายใต้รหัส  JCEX  THAMAL  2011  (Joint  Combined  Exercise  Thailand  and  Malaysia  2011)  และการฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยไทยกัมพูชาที่กำลังจะมีขึ้น  ในปีพ..  2555  ตามดำริของผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย


(โปรดติดตามอ่านตอนที่ ๓)




Create Date : 16 กรกฎาคม 2555
Last Update : 16 กรกฎาคม 2555 18:56:50 น. 0 comments
Counter : 2537 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.