VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

ถ้าคุณจะจัดแถลงข่าว ... ต้องทำอย่างไร

การแถลงข่าว




ในโลกยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ "การประชาสัมพันธ์" หรือ "การส่งผ่านข่าวสารไปสู่สาธารณชน" เป็นไปด้วยความคล่องตัว รวดเร็ว ฉับไว

หลายองค์กร ศึกษาและเรียนรู้ประสิทธิภาพการสื่อสารแบบไร้พรมแดนและขีดจำกัด เพื่อนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมหนึ่งที่หลายองค์กรนิยมจัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร และผลงานของตนสู่ประชาชน นั่นคือ การจัดการแถลงข่าว

ดังที่ทราบกันดีว่า การแถลงข่าวคือ การกระจายข่าวสารของเรา ไปสู่สาธารณชน โดยผ่านสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต

เป็นการให้ข่าวสารโดยตรง ผ่านคำแถลงของผู้แถลงข่าว หรือ Spokeperson

... ไม่ผ่านการตีความจากสื่อ

... ทำให้ข่าวสารมีความถูกต้อง ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้กระจายข่าวสาร

นอกจากนี้ การแถลงข่าว ยังได้รับการยอมรับว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติอีกด้วย

นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่กล่าวมาข้างต้น ได้เปิดโอกาสให้องค์กรเล็กๆ โรงเรียน สถาบันการศึกษา นักเรียนนักศึกษ หรือกลุ่มคนทั่วไป สามารถทำการแถลงข่าวได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมากมาย แต่ได้ผลในระดับที่น่าพอใจ

เยาวชนบางกลุ่มจัดการแถลงข่าว แล้วเผยแพร่ทางเว็ปไซด์ Youtube เผยแพร่ข่าวสารทาง website, blog หรือแม้กระทั่ง Hi5 ของตนเอง ในขณะเดียวกันก็เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น การแถลงข่าว จึงไม่ใช่อาวุธสำคัญของการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นอาวุธสำคัญในการประชาสัมพันธ์ทั่วไปอีกด้วย

ทุกอย่างอยู่ที่การเตรียมการ การวางแผน และลงมือทำ ...

เริ่มต้นที่ไหนดี

หากท่านหรือหน่วยงาน สถาบัน บริษัท ห้างร้านของท่านต้องการจะจัดแถลงข่าวขึ้น อะไรคือสิ่งที่ต้องดำเนินการ

... จะเริ่มต้นตรงไหน ... อย่างไร ...

มาดูที่การเตรียมการแถลงข่าวกันก่อน

ท่านต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้

... ต้องการเสนอข่าวอะไร

... ต้องการเสนอข่าวให้ใคร

... ต้องการจะนำเสนอข่าวอย่างไร

... ต้องการนำเสนอเมื่อใด


ต้องการเสนอข่าวอะไร

ข่าวที่ท่านต้องการนำเสนอ อาจเป็นข่าวสารและกิจกรรมทั่วไปขององค์กร เช่น การแถลงข่าวประจำเดือน การเปิดตัวสินค้าใหม่

หรือเป็นการแถลงข่าวโครงการที่จัดทำขึ้น เช่น โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โครงการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน หรือโรงการที่น่าสนใจของบริษัท

ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขององค์กร ในลักษณะของการให้ข้อเท็จจริง

หรือชี้แจงความคืบหน้าของสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

ต้องการเสนอให้ใคร

เป้าหมายของท่าคือ สื่อมวลชน

หรือทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ที่ร่วมรับฟังการแถลงข่าว

หรือเพียงเฉพาะประชาชนทั่วไป


การแถลงข่าวเพื่อให้สาธารณชนรับรู้


ต้องการนำเสนออย่างไร

การแถลงข่าวที่ท่านจะจัดขึ้นมีผู้แถลงคนเดียว ...


การแถลงแบบมีผู้แถลงคนเดียว


... หรือมีผู้ร่วมแถลงข่าวคนอื่นๆ ด้วย


การแถลงแบบมีผู้แถลงหลายคน


... บางครั้งมีประธานร่วม


การแถลงแบบมีประธานร่วม 2 คน


... ทำการแถลงในหรือนอกสถานที่


แถลงในสถานที่



แถลงนอกสถานที่


... เป็นทางการ หรือเป็นกันเอง


แถลงแบบไม่เป็นทางการ


การแถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่ใช้ในการเปิดตัวหนังสือ เรื่องราวที่ไม่หนักมาก บรรยากาศสบายๆ ทั้งผู้แถลงและผู้ฟัง ไม่เหมาะสำหรับการแถลงข่าวงานหรือกิจกรรมที่มีรูปแบบเป็นทางการ

อย่างไรก็ตามก็แถลงแบบกึ่งไม่เป็นทางการสามารถกระทำได้ แม้สาระที่จะแถลงเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับตัวผู้แถลง


การแถลงแบบกึ่งทางการ


... มีอุปกรณ์ แผนผัง แผนที่หรือสิ่งของประกอบการแถลงข่าวหรือไม่


การใช้รูปภาพประกอบการแถลงข่าว



การใช้ PowerPoint ประกอบ


การใช้ PowerPoint มีข้อดีคือ ทำให้สามารถอธิบายได้ละเอียด ผู้ฟังเห็นภาพ แต่มีข้อควรระวังคือ กล้องโทรทัศน์จะจับภาพได้มากน้อยเพียงใด อันเป็นผลมาจากแสงที่ค่อนข้างมืดระหว่างการฉาย อีกทั้งการอธิบายประกอบภาพ สื่อวิทยุไม่สามารถนำเสียงแถลงข่าวไปใช้ได้อย่างมีประสทิธภาพ เนื่องจากผู้ฟังไม่สามารถเห็นภาพ

... มีผู้ประกอบฉากหลังการแถลงหรือไม่ ถ้ามีจะให้อยู่ส่วนใดของผู้แถลง


มีผู้ประกอบฉากหลังการแถลงข่าว


หลายครั้งที่ผู้แถลงข่าวมีการนำผู้แสดง ตัวละคร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาประกอบฉากหลังการแถลงข่าวด้วย สิ่งที่ควรระวังคือ จะเข้ามาเมื่อใด เข้ามาแล้วทำอย่างไร ยืนเฉยๆ หรือมีท่าทางอื่นประกอบ และพยายามอย่าให้ผู้ประกอบฉากหลัง แย่งความโดดเด่นของผู้แถลงข่าว เช่นบางครั้ง เราจะเห็นผู้สื่อข่าวรุมถ่ายภาพเด็ก หรือบุคคลที่นำมาประกอบการแถลงข่าว ในขณะที่ผู้แถลงข่าวกำลังแถลงข่าวอยู่

... มีฉากหลังผู้แถลงข่าวหรือไม่ ... ถ้ามี ขนาดเล็ก หรือใหญ่ ... และจะทำอย่างไรให้ฉากหลังปรากฏในภาพทางสื่อ


ฉากหลังขนาดใหญ่



ฉากหลังขนาดเล็ก



ภาพที่ปรากฏในสื่อ


จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าฉากหลัง จะมีสัญญลักษณ์เล็ก หรือใหญ่ ก็อาจจะมีโอกาส หรือไม่มีโอกาสปรากฏต่อสาธารณชน บางครั้งฉากหลังขนาดเล็ก มีสัญญลักษณ์เล็กๆ สลับกันไปมา อาจจะปรากฏทางสื่อได้ดีกว่าฉากหลังขนาดใหญ่


การจัดที่นั่งแถลงข่าวแบบมาตรฐาน โปรดสังเกตุการวางขวดน้ำ แก้วน้ำ จอภาพ ฉากหลังที่ให้รายละเอียดครบถ้วน รวมทั้งป้ายชื่อ ตำแหน่ง ผู้แถลงข่าว เพราะมีหลายครั้งที่ผู้สื่อข่าวไม่ทราบรายละเอียดของผู้แถลงข่าวคนอื่นๆ


การวางกล้องโทรทัศน์ของสื่อมวลชน ต้องใช้เนื้อที่พอสมควร ดังนั้นต้องเตรียมพื้นที่ไว้ให้เหมาะสม


กล้องโทรทัศน์ในการแถลงข่าว


พื้นที่วางไมโครโฟนของผู้สื่อข่าว ควรระวังไมโครโฟนอาจบังหน้าผู้แถลงข่าว


ไมโครโฟนจำนวนมากจะจัดการอย่างไร เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูเหมาะสม


... สุดท้ายเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามหรือไม่


เฉินหลงแถลงข่าวและเปิดโอกาสให้ซักถาม


ข้อสำคัญ 10 ข้อของการแถลงข่าว

1. วางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ว่าจะทำอะไร อย่างไร เมื่อไร

คู่มือการกำหนดสถานที่แถลงข่าว


- สิ่งอำนวยความสะดวกสื่อมวลชน เช่น โทรศัพท์ โทรสาร เครื่องถ่ายเอกสาร อินเตอร์เน็ต ห้องสุขา
- ความยุ่งยากของระบบเสียง เช่น ลำโพง ไมโครโฟน เสียงก้อง เสียงรบกวน หากเป็นภายนอก คำนึงถึงเสียงลม แสงแดด
- มุมพักคอยและเครื่องดื่ม อาหารว่างของผู้สื่อข่าว

คู่มือการกำหนดเวลา


- กำหนดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- ปกติควรใช้วัน อังคาร พุธ พฤหัสบดี
- ไม่ตรงกับกิจกรรมที่สำคัญอื่นๆ ที่สื่อมวลชนต้องไปทำข่าว
- วันพิเศษบางวัน เช่น วันประกาศผลลอตเตอรี่ สื่อจะปิดต้นฉบับเร็วมาก

2. ทำความเข้าใจกับทีมงาน ให้เข้าใจตรงกันว่า แผนเป็นอย่างไร ทำเพื่ออะไร ทำอย่างไร

ภารกิจทีมงานแถลงข่าว


- ทีมงานต้องเตรียมการรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึง เช่น ไฟดับ ไมโครโฟนไม่ดัง มีผู้ก่อกวนการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวถามคำถามที่ไม่ควรถาม
- ต้องคำนึงเสมอว่า การแถลงข่าวนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้องค์กรบรรลุภารกิจ
- สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ

3. เตรียมข้อมูล ข่าวสาร เอกสาร แผ่นพับ โปสเตอร์ที่จะใช้ในการแถลงข่าว เพื่อจัดทำชุดแถลงข่าว (Press kit) แจกผู้สื่อข่าวในวันแถลงข่าว

4. เตรียมรายชื่อของสื่อ และตัดสินใจว่าจะเชิญใครบ้าง

5. ทำหนังสือเชิญร่วมทำข่าวการแถลงข่าวและแฟ๊กซ์ให้กับสื่อ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการแถลงข่าว

6. เตรียมร่างคำแถลงข่าว ที่สั้น กระชับ ตรงประเด็น ไม่ควรเกิน 10 นาที พร้อมแนวทางถามตอบ

ข้อจำกัดของสื่อมวลชน


- สื่อวิทยุ โทรทัศน์ มีเวลาที่จำกัดในการเสนอข่าวสาร หรือบทสัมภาษณ์ (เฉลี่ยไม่เกิน 2 นาทีต่อ 1 ข่าว)

- สื่อสิ่งพิมพ์มีเนื้อที่จำกัดในการเสนอข่าว หรือบทสัมภาษณ์

ดังนั้น คำแถลงข่าวต้องสั้น กระชับ ตรงประเด็น

7. นำข้อมูลทั้งหมด และคำแถลงข่าว มารวบรวมจัดทำ “ข่าวประชาสัมพันธ์” และชุดแถลงข่าวเพื่อแจกสื่อมวลชน

8. โทรหาผู้สื่อข่าวอีก 2 ครั้ง
- ครั้งแรก 3 วันก่อนแถลงเพื่อยืนยันว่ายังมีการแถลงข่าว
- ครั้งที่สอง 1 วันก่อนแถลงเพื่อยืนยันการมาร่วม

9. ในวันแถลงข่าว ให้มาเตรียมการก่อนเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ข้อควรระวัง


- มีพิธีกรเพื่อคอยช่วยผู้แถลงข่าวหรือไม่ ในกรณีสื่อถามไม่ตรงประเด็น ใช้คำตอบว่า “เป็นคำถามที่ดีมากครับ แต่ต้องขออภัยด้วยที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ในการประชุมครั้งนี้ ขอผ่านเป็นคำถามต่อไป”

- ผู้แถลงข่าวต้องมีความมั่นใจ สายตาไม่ส่ายไปมา การวางมือต้องอยู่นิ่ง เพราะภาพเหล่านี้จะปรากฏต่อสายตาผู้ชมทั่วประเทศ

- ตอบคำถามด้วยคำตอบสั้นๆ ตรงประเด็น ไม่เกิน 50 วินาที เพื่อสื่อสามารถนำไปออกอากาศ หรือตีพิมพ์ได้ทันที โดยไม่ต้องสรุป

- สื่อโทรทัศน์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีตั้งกล้อง และเดินสายไมค์

- จัดโต๊ะลงทะเบียนสื่อ พร้อมแจกข่าวต่างๆ

10. เมื่อเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ให้ส่งเอกสารการแถลงข่าว ให้กับสื่อที่ไม่สามารถมาได้

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการแถลงข่าว ที่รวบรวมนำมาเสนอแบบคร่าวๆ

... ขอให้ประสบความสำเร็จกับการแถลงข่าวนะครับ



(ข้อมูลนี้สงวนสิทธิ์ ให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)










 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 6 พฤษภาคม 2552 18:49:25 น.
Counter : 9367 Pageviews.  

การประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

จากบทเรียนความล้มเหลวทางด้านการประชาสัมพันธ์ ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาได้รับจากสงครามเวียดนาม ส่งผลให้สหรัฐฯต้องถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ อันนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของเวียดนามใต้ในที่สุด ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องปรับแนวคิดทางด้านการประชาสัมพันธ์ในการรบที่เกิดขึ้นในประเทศอิรักแบบ "ยกเครื่อง" เลยก็ว่าได้

ความสำคัญของสื่อมวลชน


ในอดีต กองทัพสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสงครามเวียดนาม สื่อมวลชนต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าหากองทัพสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสาร ทำให้กองทัพสหรัฐฯ สูญเสียโอกาสนับครั้งไม่ถ้วน ในการใช้สื่อมวลชน เป็นเครื่องมือสร้างแรงสนับสนุนจากมวลชน ทั้งมวลชนในพื้นที่ และมวลชนในประเทศของตน

ในทางตรงกันข้าม เวียดนามเหนือได้อาศัยช่องว่างดังกล่าว ตักตวงผลประโยชน์จากการเสนอข่าวสาร ที่ขาดการสังเคราะห์จากกองทัพสหรัฐฯ ให้เป็นผลดีต่อฝ่ายตน สร้างแรงสนับสนุนจากพลังมวลชนทุกส่วน ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านสงครามขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศสหรัฐฯ จนต้องมีการถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ในที่สุด

การประชาสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ในสงครามอิรัก จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนให้แน่นแฟ้นมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี ซี ของสหรํฐอเมริกา ในปี 2005 ที่ผ่านมา และได้มีโอกาสเดินทางไปยัง USJFCOM - United States Joint Forces Command ที่เมือง Norfolk และได้พบกับ Mr. Tony Billings อดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรํฐฯ มานานกว่า 25 ปี

Mr. Tony Billings เป็นนายทหารประชาสัมพันธ์ของ Joint War Fighting Center ซึ่งสหรัฐฯ จะเรียกว่า Public Affairs Officer แตกต่างจากอังกฤษที่มักจะเรียกนายทหารประชาสัมพันธ์ว่า Public Relations Officer โดยมีเหตุผลว่า คำว่า Affairs มีความหมายที่กว้างกว่าคำว่า Relations

ดังนั้น คำว่า นายทหารประชาสัมพันธ์ ในกองทัพสหรัฐฯ จึงใช้คำย่อว่า พี เอ โอ (PAO) หรือ Public Affairs Officer เป็นหลัก ไม่ใช้คำว่า PRO - Public Relations Officer

Billings กล่าวว่า USJFCOM ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์มาก เนื่องจากความขัดแย้ง (Conflict) ในยุคปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งที่มีความคิดของสาธารณชน (Public Opinion) ตลอดจนองค์ประกอบทางด้านเศรษฐกิจ (Economy) การเมือง (Politics) สังคม (Social) และข้อมูลข่าวสาร (Information) เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการบรรลุชัยชนะทางการทหาร

แนวคิดนี้ (Concept) เป็นแนวคิดใหม่ ที่ในสมัยสงครามเวียดนามไม่เคยมีการพูดถึงมาก่อน หรือหากจะมี ก็มีเพียงผิวเผิน จุดแพ้ชนะ ชี้ขาดของสงครามในอดีต จะมุ่งไปที่ชัยชนะทางการทหารแต่เพียงอย่างเดียว (Military versus Military only)

แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์จากสงครามในอิรัก ที่สหรัฐฯสามารถมีชัยชนะทางด้านการทหารอย่างเด็ดขาดเหนือกองทัพของซัดดัม ฮุนเซน สามารถยึดครองกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรักได้ โดยอาศัยแสนยานุภาพของมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ

แต่ชัยชนะดังกล่าว เป็นเพียงชัยชนะด้านการทหารเท่านั้น ชัยชนะด้านความคิดของสาธารณชน ตลอดจนเศรษฐกิจ การเมืองและข้อมูลข่าวสารนั้น สหรัฐฯ ยังไม่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ยังคงต้องดำเนินการในทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้รับชัยชนะดังกล่าว

หนึ่งในวิถีทางเหล้านั้น ก็คือ การประชาสัมพันธ์นั่นเอง

หลักการประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา


Tell the Truth - การเสนอความจริง

การประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อฝ่ายสหรัฐฯ หรือในแง่บวกต่อฝ่ายตรงข้าม จะยึดมั่นในการเสนอความจริงเป็นหลัก ไม่ว่าความเป็นจริงนั้น จะมีผลกระทบต่อกองทัพสหรัฐฯหรือไม่ก็ตาม

"We have no intension to lie or mislead the people" - "เราไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะโกหก หรือทำให้ประชาชนเข้าในผิด ในข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ" Mr. Tony Billings กล่าว

จุดนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่า หากการประชาสัมพันธ์นำเสนอแต่ความจริงที่เป็นภาพลบต่อกองทัพสหรัฐแล้ว เราจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนได้อย่างไร

Mr. Tony Billings กล่าวว่า หน้าที่ในการโน้มน้าวสาธารณชน โดยการเสนอความเป็นจริงแต่เพียงบางส่วน หรือนำเสนอข่าวสารเฉพาะที่สนับสนุนกองทัพสหรัฐฯเท่านั้น จะเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา หรือหน่วยที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการข่าวสาร ไม่ใช่หน้าที่ของนายทหารประชาสัมพันธ์

การปฏิบัติการข่าวสาร หรือ Information Operations ต่างหากที่จะทำหน้าที่ด้านการปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operations) การลวง (deception) การทำให้เข้าใจผิด (misleading) และการทำให้ไขว้เขว (misdirection) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย



เหตุผลที่นายประชาสัมพันธ์ (PAO - Public Affairs Officer) จะนำเสนอแต่ความเป็นจริงเท่านั้น ก็เพราะ หากสื่อมวลชนทราบว่า ข่าวสารที่ได้รับ เป็นข่าวสารทางด้านการปฏิบัติการจิตวิทยา หรือเป็นข่าวสารที่เป็นจริงเพียงบางส่วน

.....สื่อมวลชนจะขาดความเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในข่าวสาร... และจะเป็นการกระตุ้นให้สื่อมวลชน ออกค้นหาข้อมูลที่เป็นจริงด้วยตนเอง อันจะส่งผลให้เกิดเสียหายต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ มากกว่าที่กองทัพเป็นผู้บอกความจริงเองเสียอีก

สรุปง่ายๆ ก็คือ นายทหารประชาสัมพันธ์จะไม่โกหก

แต่ในบางครั้ง เพื่อให้บรรลุภารกิจทางด้านการทหาร การประชาสัมพันธ์สามารถกระทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติจิตวิทยา การปฏิบัติการข่าวสารได้

ตัวอย่างเช่น ทหารสหรัฐฯ ปะทะกับกลุ่มก่อการร้ายในอิรัก เป็นผลให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่า ทหารสหรัฐฯ เป็นผู้ยิงผู้บริสุทธิ์

ในการประชาสัมพันธ์เหตุการณ์ดังกล่าว แบ่งขั้นตอนได้ดังนี้

นายทหารประชาสัมพันธ์จะเปิดเผยข้อเท็จจริงให้กับสาธารณชนได้รับทราบเหตุการณ์การปะทะที่เกิดขึ้น รวมทั้งความรุนแรงของกลุ่มก่อการร้าย ที่ทหารจำต้องป้องกันชีวิตของตนเอง

นายทหารประชาสัมพันธ์จะเปิดเผยรายชื่อผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตให้กับสื่อมวลชน ตลอดจนแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกิดขึ้น

และข่าวสารนั้นจะแสดงออกถึงความจริงใจในการสอบสวนถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นด้วยความจงใจหรือไม่ หากเกิดขึ้นด้วยความจงใจ หรือเจตนา กำลังพลของกองทัพจะถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด

สำหรับในการปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ Psychological Operations....

นายทหารปฏิบัติการจิตวิทยาจะมีการนำข่าวสารนี้ ผ่านขั้นตอนการเผยแพร่ (ทั้งในรูปแบบ ปากต่อปาก ใบปลิว หรือวิธีการอื่นใด) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของกลุ่มก่อการร้าย ที่ก่อเหตุในที่สาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องให้สาธารณชนร่วมกันประณามกลุ่มผู้ก่อการร้าย และให้การสนับสนุนภารกิจของกองทัพสหรัฐอเมริกา เพราะหากประชาชนยังเมินเฉยต่อการให้ข้อมูลกับฝ่ายสหรัฐฯ ประชาชนเองอาจตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายได้

Provide timely/accurate information - ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทันเวลา

จุดเด่นในการทำงานของสื่อมวลชนทุกสาขา คือ การให้ได้มาซึ่งข่าวสารที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ (Now and Now) เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน นี่คือความจริงที่ทุกคนยอมรับ

ความจริงข้อนี้ เป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของการนำเสนอข่าวสารของสื่อ

จุดแข็งก็คือ ความรวดเร็ว การทันต่อเวลา ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคข่าวสาร

จุดอ่อนก็คือ ความถูกต้อง ความละเอียดของข่าวสาร ที่อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันเนื่องมาจากความรวดเร็วในการเสนอข่าวสาร

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนายทหารประชาสมัพันธ์ที่จะต้องเป็นผู้นำเสนอข่าวสาร ที่มีทั้งความถูกต้อง และมีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ต่อสื่อมวลชน



วิธีการปฏิบัติของกองทัพสหรัฐฯ ในกรณีที่ต้องมีการแถลงข่าวเร่งด่วนนั้น จะปฏิบัติดังนี้

... 1. นายทหารประชาสัมพันธ์ ผู้ได้รับมอบหมาย จะจัดการแถลงข่าว หรือให้ข่าวสารทันที ที่มีเหตุการณ์ที่ต้องชี้แจงสื่อมวลชนอย่างเร่งด่วน

เหตุผลก็เพื่อ... ดึงสื่อให้มารวมตัวกัน เพื่อรอรับฟังข่าวสารจากทางการ ไม่ออกไปตระเวณหาข่าวจากแหล่งข่าวต่างๆ ซึ่งอาจเกิดการคลาดเคลื่อนในการเสนอข่าวได้

... 2. ให้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เท่าที่จะสามารถให้ได้ เช่น ห้วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ รายละเอียดของเหตุการณ์ จำนวนผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ยกเว้นชื่อของกำลังพลที่เสียชีวิต ซึ่งตามระเบียบของกองทัพสหรํฐฯ จะต้องแจ้งให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทราบก่อนที่จะเปิดเผยต่อสื่อมวลชน

ข้อสังเกตุ .... ข้อเท็จจริงที่นำเสนอต่อสื่อมวลชน อาจเป็นข้อมูลที่สื่อมวลชนทราบอยู่แล้ว แต่การที่สื่อได้รับข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการ เท่ากับเป็นการยืนยันข้อมูลของสื่อมวลชน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า ข่าวที่แถลงจะซ้ำกับข้อมูลที่สื่อมีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

ในทางตรงข้าม หากข้อมูลที่สื่อมีอยู่ไม่ตรงกับความเป็นจริง การแถลงข่าว ย่อมเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สื่อ

... 3. ในกรณีที่ยังไม่ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม นายทหารประชาสัมพันธ์จะปิดการแถลงข่าวด้วยข้อความที่ว่า "รายละเอียดและความคืบหน้าของเหตุการณ์จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป"

เหตุผลก็เพื่อ.... ดึงความสนใจของสื่อให้อยู่ที่การแถลงข่าว ในขณะเดียวกัน นายทหารประชาสัมพันธ์ก็จะเวลาติดต่อกับหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูล และรายละเอียดต่างๆ มาผ่านขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย เพื่อนำเสนอต่อสื่อมวลชนต่อไป

ด้วยวิธีการเหล่านี้ จะทำให้ทั้งนายทหารประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

สื่อมวลชนก็ได้รับข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นข่าวสารที่ถูกต้อง แม้ยังไม่ครบถ้วนก็ตาม

นายทหารประชาสัมพันธ์ก็ได้นำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง ทันเวลากับความต้องการของสื่อ และมีเวลาในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ยังเหลืออีกด้วย

Must speak at one voice - ให้ข่าวในแนวทางเดียวกัน

Mr. Billings เล่าให้ผมฟังว่า ในกองทัพสหรัฐฯ นั้น อนุญาติให้ทหารสามารถให้ข่าวกับสื่อมวลชนได้ แต่จะต้องเป็นการให้ข่าวในหน้าที่ของตน เช่น พลปืนเล็กในสงครามอิรัก ก็สามารถให้ข่าวเกี่ยวกับการทำหน้าที่พลปืนเล็กของตน ไม่ไปให้ข่าวในฐานะผู้บังคับกองร้อย

ผู้บังคับกองร้อยก็สามารถให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในฐานะผู้บังคับกองร้อย ไม่ใช่ให้ข่าวในฐานะผู้บังคับกองพัน

สหรัฐฯใช้คำว่า "stay on your lane" คือ เลนส์ใคร เลนมัน ไม่ก้าวข้ามเลน ไปเลนของคนอื่น

ดังนั้น เมื่อทุกคนมีสิทธิให้ข่าวได้ ทุกคนก็จะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน เป็นแนวทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน หากไม่ทราบก็บอกไม่ทราบ หากอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของตน ก็ให้บอกว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของตน

ตัวอย่างเช่น หากสื่อต้องการสัมภาษณ์หน่วยทหารที่เข้าทำการรบที่เมือง Diwaniyah ของอิรัก

พลทหารก็สามารถให้สัมภาษณ์ได้ ในขอบเขตของพลทหาร เช่น การรบของตนที่ผ่านมาในฐานะพลทหาร เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เขากำลังทำอะไร (tell people and the public what we are doing) ความประทับใจที่ได้รับจากชาวอิรักที่ต้องการโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน รวมทั้งฝากความรักถึงครอบครัวทางบ้านที่ประเทศสหรัฐฯ



แต่พลทหารนายนี้ จะไม่สามารถให้สัมภาษณ์ถึงแผนการรบที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต การสับเปลี่ยนกำลัง หรือการสนับสนุนการรบ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตหน้าที่ ของพลทหาร เป็นต้น

แต่ไม่ว่าพลทหารคนนี้จะให้สัมภาษณ์อะไรก็ตาม เขาก็จะพูดเป็นแนวทางเดียวกัน (one voice) กับทหารทุกคนในอิรัก ไม่ขัดแย้งกัน คือเป็นบวกต่อการปฏิบัติภารกิจในอิรักของกองทัพสหรํฐฯ

Practice security at the source - ใช้มาตรการรักษาปลอดภัยที่แหล่งข้อมูล

นายทหารประชาสัมพันธ์ จะต้องมีหน้าที่ดูแลข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการ ที่อาจจะหลุดออกไปสู่สื่อมวลชน ที่ต้นตอของแหล่งข่าว เพื่อไม่ให้ความลับของทางราชการเผยแพร่ออกไป และสร้างความเสียหายแก่การปฏิบัติภารกิจของกองทัพ

นายทหารประชาสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องบอกทุกอย่างเขารู้ กับสื่อมวลชน แต่สิ่งที่เขาบอก จะต้องเป็นความจริง

ตัวอย่างเช่น นายทหารประชาสัมพันธ์ของหน่วย จะไม่บอกสื่อมวลชนว่า พรุ่งนี้ สหรัฐฯ จะบุกเข้าเมือง ฟัลลูจาห์ ของอิรัก เพราะการให้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภารกิจ

แต่เขาจะให้ข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ต่อสื่อมวลชน ตราบเท่าที่การให้ข่าวสารนั้น ไม่ขัดต่อหลักการรักษาปลอดภัยของข่าวสารนั้นๆ

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปด้านการประชาสัมพันธ์ที่ Mr. Billings เล่าให้เราฟังพอสังเขปในวันนั้น

ที่หมายต่อไปของเราคือ เยี่ยมชมฐานทัพอากาศแลงค์ลี่ (Langley Air Force Base) มลรัฐเวอร์จิเนีย เพื่อเยี่ยมชมงานการประชาสัมพันธ์ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ต่อไป




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2551 11:10:34 น.
Counter : 1439 Pageviews.  

การประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์


เมื่อพูดถึงการประชาสัมพันธ์ ที่บางคนเรียกแบบอังกฤษว่า public relations หรือเรียกแบบอเมริกันว่า public affairs ดูจะเป็นศาสตร์ที่มีผู้สนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

นักศึกษารุ่นใหม่ๆ จำนวนมาก เมื่อเลือกคณะนิเทศศาสตร์ หรือเลือกวิชาเอกประชาสัมพันธ์ ก็มักจะคิดถึงการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทำโฆษณาวิทยุ โฆษณาทีวี หรือที่เรียกกันว่า สปอต ทำหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เรื่องสั้น เล่าเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจสู่สายตาหรือสู่การรับรู้ของผู้รับข่าวสาร ซึ่งหากโฆษณาชิ้นใด โดนใจผู้คน หรือโดนใจสังคม ผู้ผลิต หรือครีเอทีฟก็มีสิทธิดังได้ง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวไปไกล แบบก้าวกระโดด ส่งผลให้การประชาสัมพันธ์ในยุคดิจิตอลมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างชนิดที่เรียกว่า ห้ามหยุด หยุดคือแพ้

เรื่องราวที่จะนำมาเสนอใน blog นี้ จะเป็นการเปรียบเทียบการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ที่ได้รับรู้มาจากการฝึกร่วมกับสหรัฐอเมริกา การเดินทางไปดูงานที่มลรัฐมิชิแกน สหรัฐฯ กับที่วอชิงตัน ดี ซี รวมถึงประสบการณ์จากการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจกับสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก

ผู้เขียนจะพยายามเปรียบเทียบการประชาสัมพันธ์ของไทย กับสหรัฐอเมริกา โดยใช้กรณีศึกษาของไทยจาก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้เขียนเคยเป็นรองหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ และผู้ช่วยโฆษกกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเทียบกับการประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาในอิรัก

ข้อเขียนทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับองค์การใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งข้อเขียนนี้ จัดทำขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้ที่ผ่านมาเยี่ยมชม มิได้ประสงค์ที่จะให้เป็นตำราหรือเอกสารอ้างอิงทางวิชาการแต่อย่างใด

การประชาสัมพันธ์ยุคดิจิตอล


ศัพท์ใหม่วงการประชาสัมพันธ์ "CNN EFFECT"


เมื่อผมมีโอกาสเดินทางไปศึกษาปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ และมีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมทางด้านการประชาสัมพันธ์ ที่มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 911 ทำให้ได้พบว่า ปัจจุบัน ประเทศโลกตะวันตก ตื่นตัวกับการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่มากพอๆกับโลกตะวันออก

คำว่า CNN EFFECT เป็นคำที่เกิดขึ้นในแวดวงการประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา เป็นคำที่แสดงถึง ผลกระทบจากการเสนอข่าวของ CNN หรือถ้าจะเรียกให้ถูกก็คือ ผลกระทบจากสื่อมวลชน นั่นเอง

คงจำกันได้ว่า ในสมัยที่สหรัฐอเมริกา ส่งกำลังทหารเข้าสู่ประเทศอิรัก สื่อมวลชนของสหรัฐฯ ได้เสนอข่าวกันอย่างละเอียดถี่ยิบ บางสำนักข่าวลงทุนส่งผู้สื่อข่าวเดนตาย เกาะติดไปกับทหารสหรัฐฯ ที่กำลังรุกเข้าสู่ประเทศอิรัก

เชื่อหรือไม่ว่า ภาพข่าวการสัมภาษณ์ทหารเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือการรายงานข่าวที่ปรากฏทางโทรทัศน์ข่าวใดข่าวหนึ่ง ข่าวสารต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ แทบทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย



ภาพเชลยศึกอัฟกานิสถานที่เรือนจำอาบูกาหลิบ (the Abu Ghraib prison) ที่ถูกพลทหารหญิง ลินดี้ อิงค์แลนด์ (Linndie England) ล่ามเชือกที่คอชุดนี้ เมื่อถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน สู่สาธารณะแล้ว ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐเป็นอย่างมาก และพลทหารองค์แลนด์ ก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวนจากการกระทำดังกล่าว



ผลกระทบจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือที่สหรัฐฯ เรียกว่า CNN EFFECT นั้น มีมากมาย มากจนอาจกล่าวได้ว่า แม้กระทั่งรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เองยังต้องฟัง เมื่อฟังแล้วยังต้องนำไปปรับปรุงนโยบายการบริหารประเทศของตน แม้ข่าวที่นำเสนอไปนั้น อาจจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรืออาจเป็นการนำเสนอจากมุมมองที่จำกัดก็ตาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบของสื่อนั้น มีมากมายมหาศาลจริงๆ



การเสนอข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงแรกๆ ในปี 2546 - 2548 นั้น จัดว่าเป็น CNN EFFECT อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเสนอข่าวการก่อความไม่สงบ ด้วยการแข่งขันเชิงพาณิชย์ โดยเน้นจำนวนครั้งของการก่อเหตุ เน้นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ เพื่อการขายข่าว มีผลทำให้กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) และกองทัพภาคที่ 4 มีการเปลี่ยนตัวผู้บังคับบัญชานับครั้งไม่ถ้วน อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น

แต่ใช่ว่า CNN EFFECT จะมีผลเฉพาะในแง่ลบเท่านั้น ผลในแง่บวกก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ดังเช่นเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 911 หรือการโจมตีตึก World Trade Center ของสลัดอากาศในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่บวกต่อชาวอเมริกันอย่างมาก




เหตุการณ์ 911 เกิดขึ้นท่ามกลางความตื่นตระหนกของคนอเมริกัน และคนทั้งโลก สื่อมวลชนอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ต่างร่วมกันแสดงศักยภาพของ CNN EFFECT ให้โลกได้ประจักษ์

คงจำกันได้ว่า กรณีตึกเวิร์ดเทรดมีผู้เสียชีวิตนับพันคน ก่อนที่ตึกทั้งสองตึกจะถล่มลงมาเป็นกองอิฐ มีคนโดลงมาจากตึกที่เพลิงกำลังเผาผลาญแทบทุกนาที ศพที่ตกลงมา มีสภาพแหลกเหลว ไม่มีชิ้นดี นอกจากนี้สภาพศพคนอเมริกันที่เสียชีวิตในซากตึกอีกนับไม่ถ้วน ก็น่าอเนจอนาถไม่น้อยไปกว่ากัน

แต่ภาพศพที่น่าสยดสยองเหล่านั้น ไม่เคยปรากฏทางสื่อ หรือปรากฏต่อสาธารณชนเลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพราะสื่ออเมริกันต่างลงความเห็นว่า ภาพศพหรือภาพคนบาดเจ็บล้มตายเหล่านั้น เป็นการตอกย้ำถึงความสูญเสียและความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา



ในขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์กันว่า ชาวอเมริกันได้เห็นภาพของเครื่องบินที่พุ่งชนตึกเวิร์ดเทรดเซนเตอร์ ในรอบปีนั้น ไม่ต่ำกว่าคนละ 700 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชนในมุมซ้าย มุมขวา มุมล่าง ทำไม..... ภาพเหล่านั้นถึงถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

คำตอบก็คือ.... สื่อของอเมริกาต้องการนำภาพเครื่องบินชนตึก มาเผยแพร่ให้คนได้ชมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อย้ำว่า อเมริกากำลังถูกโจมตีจากผู้ก่อการร้าย ถึงเวลาแล้ว ที่คนอเมริกันต้องลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน

นี่คือ CNN EFFECT ในแง่บวกที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

ปูมหลังการประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจ


หากจะกล่าวถึงการประชาสัมพันธ์ในอดีต ภาพที่ผมประทับใจมากก็คือ การประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปี ค.ศ. 1934 - 1945 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตร มักจะเรียกการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวว่า การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกการโฆษณาชวนเชื่อของตนเองว่า การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological operations)

ไม่ว่าจะมีการกำหนดชื่อเรียกขานการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็ตาม โดยพยายามขีดเส้นบางๆ เพื่อแบ่งแยกการปฏิบัติการจิตวิทยา การประชาสัมพันธ์ และการโฆษณาชวนเชื่อ ออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปฏิบติ หรือสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายตรงข้าม เราก็คงยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์นั้น เป็นเครื่องที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่ง หากอยู่ในมือของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ




ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) คือบุคคลที่ผมกล่าวถึง เขาเป็นผู้ที่ใช้การประชาสัมพันธ์ในการโน้มน้าวจิตใจของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ให้สนับสนุนพรรคนาซีเยอรมัน (NAZI - ในภาษาเยอรมันคือ Nationalsozialismus หรือในภาษาอังกฤษคือ National Socialism) ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซีเยอรมัน

การประชาสัมพันธ์ที่อาศัยลัทธิชาตินิยม (Nationalism) เป็นพื้นฐาน ได้ก่อให้เกิดกระแส "การรวมเป็นหนึ่ง" หรือ unity ขึ้นในชาติ ชาวเยอรมันผู้พ่ายแพ้และเจ็บปวดจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจากสนธิสัญญาแวร์ซาย กลับมาผงาดเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง

การประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชายออสเตรีย ผมดำ ร่างเล็ก กลายเป็นผู้นำที่ชาวอารยัน ผมสีทอง ที่ฮิตเลอร์พยายามสร้างให้เป็นเชื้อชาติที่บริสุทธิ์ของโลก บูชาและเทิดทูนอย่างสุดหัวใจ ทั้งที่ฮิตเลอร์เองก็มิใช่เชื้อชาติอารยันบริสุทธิ์ (Aryan) แม้จะมีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีว่า ฮิตเลอร์มีเชื้อสายอารยันก็ตาม



ที่สำคัญที่สุดก็คือ การประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้คำว่า "ชาตินิยม" ข้ามไปสู่ "ความหลงชาติ" และ "ความคลั่งชาติ" ในที่สุด

"ความหลงชาติ" และ "ความคลั่งชาติ" ผ่านการปลุกเร้าผ่านสื่อการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซี ส่งผลให้ชาวเยอรมันมองว่า ชนชาติตนเหนือกว่าชนชาติอื่น ถึงขนาดกล่าวว่า บางชนชาติ เช่น โปแลนด์ คือพวกที่ด้อยกว่ามนุษย์ (sub human) และต้องทำลายล้างให้หมดไป

นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์อันทรงประสิทธิภาพของพรรคนาซีเยอรมัน ยังทำให้ชาวเยอรมัน ต่อสู้เพื่อปกป้องอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และอาณาจักรไรซ์ที่สามของพรรคนาซี จนวินาทีสุดท้าย ต่างจากเบนิโต มุสโสลินี แห่งพรรคฟาสซิสต์ของอิตาลี ที่ถูกชาวอิตาเลียนร่วมกันโค่นล้ม และถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในช่วงปลายสงครามโลก

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่อดีต ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มาจนถึงแม้ในยุคปัจจุบัน และทำให้หลักการประชาสัมพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ถูกนำไปศึกษากันอย่างกว้างขวาง


การประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐ


บทเรียนจากเวียดนามถึงอิรัก


ในช่วงสงครามเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1965 - 1975 สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำสงครามต่อต้านการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนามใต้

ในอีกยี่สิบปีต่อมา สหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองดินแดนในตะวันออกกลาง แหล่งพลังงานสำคัญของโลกอีกครั้ง

มีผู้เปรียบเทียบสงครามในสมรภูมิเวียดนาม และในอิรักว่า มีความเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์ สหรัฐอเมริกากำลังจมปรักในหล่มแห่งสงครามที่ไม่มีชัยชนะอย่างเด็ดขาด นับวันความสูญเสียของทหารหนุ่มสาวจากอเมริกัน ก็จะทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามบทเรียนที่สหรัฐฯได้รับจากสงครามเวียดนาม เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนด้านการประชาสัมพันธ์ ที่จะดำรงการสนับสนุนจากมหาชนชาวอเมริกันต่อการทำสงครามในอิรักที่ยืดเยื้อยาวนาน




บทความในบทนี้ จะแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เรียนรู้อะไรบ้างจากการประชาสัมพันธ์ในเวียดนาม และสหรัฐฯ นำบทเรียนเหล่านี้มาใช้อย่างไรในอิรัก


ในช่วงแรกของสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ มองผู้สื่อข่าวเป็นเพียงนักข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวทั่วๆไป ความสำคัญของผู้สื่อข่าวในสายตาของทหารสหรัฐฯ มีน้อยมาก น้อยจนกระทั่ง แทบไม่มีการเข้าหาผู้สื่อข่าว ปล่อยให้ผู้สื่อข่าวแต่ละคน แต่ละสำนักรายงานข่าวข้ามทวีปกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกากันตามยถากรรม และตามแต่ผู้สื่อข่าวจะมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองของตน

ในทางตรงกันข้าม เวียดนามเหนือกลับมองเห็นคุณค่าของการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ ที่ต้องการเสนอข่าวการรบที่น่าสนใจ เวียดนามเหนือจึงไม่รีรอที่จะสร้างข่าวที่น่าสนใจ ให้สื่อมวลชนตะวันตกได้เสนอข่าวแบบไม่เว้นแต่ละวัน

แน่นอน.... ภาพของสงครามไม่ใช่ภาพที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวของเด็กหนุ่มอเมริกัน ที่เฝ้ารอคอยการกลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวและคนทางบ้าน

เมื่อสื่อมวสชนตะวันตกไม่ได้รับความสนใจจากกองทัพสหรัฐฯ สื่อจึงตกเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์จของฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้




ภาพที่สื่อมวลชนต่างนำเสนอข้ามโลกกลับไปยังสหรัฐอเมริกา จึงเป็นภาพแห่งเนื้อแท้ของสงคราม เต็มไปด้วยภาพผู้บาดเจ็บ ล้มตาย ความท้อแท้ โดดเดี่ยว เรื่องราวที่ถูกนำไปเสนอก็มักจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เช่น การติดยาเสพติดของทหารอเมริกันที่อยู่ในสมรภูมิ ความล้มเหลวของระบบการปกครองของเวียดนามใต้ ที่เต็มไปการคอร์รับชั่น



การเสนอข่าวของสื่อมวลชนสหรัฐฯ ในเวียดนามก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ทหารสหรัฐมาตายที่เวียดนามเพื่ออะไร ปกป้องประชาธิปไตยหรือระบอบอันเน่าเฟะของรัฐบาลเวียดนามใต้กันแน่

การเสนอข่าวดังกล่าวทำให้สาธารณชนในสหรัฐฯ เกิดความคลางแคลงใจในการดำเนินนโยบายปกป้องเวียดนามใต้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา


ภาพทหารสหรัฐฯและรถถังแบบ M 48 กำลังกวาดล้างทหารเวียดกง ระหว่างการรบในวันตรุษญวณ


ในที่สุดก็มาถึงจุดสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในสงครามเวียดนาม ที่สื่อมวลชนมีผลต่อผลลัพธ์ของสงครามได้อย่างน่าอัศจรรย์ นับเป็นผลกระทบจากการเสนอข่าวหรือ CNN EFFECT อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ การรุกในวันตรุษญวน (Tet Offensive)

การรุกในวันตรุษญวน เปิดฉากขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 1968 เมื่อกองกำลังเวียดกง หรือ National Front for the Liberation of South Vietnam (กองกำลังประจำถิ่น ซึ่งไม่ใช่ทหารประจำการ) และทหารเวียดนามเหนือ หรือ the North Vietnamese army ทำการรุกในเมืองต่างๆ ทั่วเวียดนามใต้ เช่น กรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ นครเว้ และเมืองท่าดานัง เป็นต้น

ภาพการรุกในเทศกาลตรุษญวน ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาพการโจมตีสถานฑูตสหรัฐอเมริกากลางกรุงไซง่อน ที่สื่อสามาถจับภาพได้อย่างละเอียดถี่ยิบ เนื่องจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่พำนักอยู่ที่กรุงไซง่อน

สิ่งที่ตอบกลับมาจากสาธารณชนในสหรัฐอเมริกา ต่อภาพข่าวการรบในเทศกาลตรุษญวน ก็คือ ความสับสนต่อความคิดของชาวอเมริกัน ที่เห็นศักยภาพของเวียดนามเหนือ ในการต่อสู้แบบฟันต่อฟันกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา



ความสับสนต่อมาคือ ความไม่แน่ใจในชัยชนะของอเมริกาต่อสงครามเวียดนาม ภายหลังที่อเมริกันชนเชื่อมาตลอดว่า เวียดนามเหนือกำลังพ่ายแพ้ และอเมริกากำลังมุ่งหน้าไปสู่ชัยชนะ แต่ภาพที่ปรากฏคือ สงครามกลางเมืองใหญ่ของเวียดนามใต้ที่เต็มไปด้วยซากศพทหารอเมริกัน

แม้ว่าทหารสหรัฐฯ และทหารเวียดนามใต้จะสามารถกำชัยชนะ และกำจัดทหารเวียดกง และทหารเวียดนามเหนือ ออกไปจากเมืองต่างๆ ได้ในที่สุด แต่ในทางการเมืองแล้ว ภาพที่สื่อมวลชนนำเสนอออกไปสู่สาธารณชนในสหรัฐอเมริกา เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการต่อต้านสงครามในสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ และนำไปสู่การล่มสลายของเวียดนามใต้ในปี ค.ศ. 1975 ในที่สุด

ภายหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ภาพลักษณ์ของทหารผ่านศึกเวียดนามติดลบอย่างมาก ชาวอเมริกันมองว่า ทหารเหล่านี้คือผู้พ่ายแพ้สงคราม เป็นการพ่ายแพ้สงครามครั้งแรกของอเมริกา นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา

ทหารผ่านศึกเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง บ้างกลายเป็นคนจรจัด ตกงาน ไร้ญาติขาดมิตร หากใครเคยชมภาพยนตร์ เรื่อง First Blood ที่ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน แสดงเป็น จอห์น แรมโบ้ ในภาคแรก ก็คงจะอธิบายถึงการถูกทอดทิ้งจากสังคมของทหารผ่านศึกเวียดนาม

อเมริกาพยายามลืมสงครามเวียดนามจากความทรงจำอันเจ็บปวด แต่ในที่สุด สังคมก็เริ่มหันกลับมายอมรับเหล่านักรบเหล่านี้อีกครั้ง อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกอเมริกันถูกสร้างขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ขบวนพาเหรดทหารผ่านศึกเวียดนามถูกจัดขึ้นอย่างภาคภูมิ ที่เกาะแมนฮัตตัน ในปี ค.ศ. 1985

.....หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง 10 ปี .........


ภาพขบวนพาเหรดทหารผ่านศึกเวียดนามที่แมนฮัตตัน ปี 1985


นี่คือ ผลจากการขาดการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ที่ส่งผลให้การสนับสนุนการทำสงครามเวียดนาม จากสังคมอเมริกันตกต่ำจนถึงขีดสุด และต้องถอนทหารออกจากเวียดนามใต้

บทเรียนอันทรงคุณค่านี้ กลับมาสู่แนวทางการประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อทหารอเมริกันกรีธาทัพเข้าสู่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เพื่อโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน และอาณาจักรของเขา

สหรัฐฯ ติดหล่มสงครามอีกครั้ง ประวัติศาสตร์ที่คุ้นตาจากเวียดนาม กลับมาปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนอีกครั้งในสมรภูมิอิรัก



เด็กหนุ่ม เด็กสาวอเมริกัน ต้องจากครอบครัวที่แสนอบอุ่นของเขา เดินทางข้ามทวีป มุ่งหน้าสู่ทะเลอันร้อนระอุ ในยามกลางวันและหนาวเหน็บในยามค่ำคืนของตะวันออกกลาง

เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ จำนวนมากต้องสังเวยชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย สงครามในอิรัก เริ่มดำเนินไปตามรอยเท้าของอเมริกาในสงครามเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น .... ความสูญเสีย ...... ความยืดเยื้อ .......... ความท้อแท้ ......และการสนับสนุนจากมหาชนชาวอเมริกัน




ทุกอย่างช่างไม่แตกต่างจาก เวียดนาม ปี ค.ศ. 1965 - 1975 เลย

ต่างกันเพียงแต่ ครั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีบทเรียนอันทรงคุณค่าด้านการประชาสัมพันธ์อยู่ในแผนการประชาสัมพันธ์แล้ว บทเรียนนี้แหละ ที่จะทำให้สงครามในอิรัก แตกต่างจากสงครามในเวียดนาม

(โปรดติดตามรายละเอียดจาก "การประชาสัมพันธ์กับกองทัพสหรัฐฯ")





 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 9 สิงหาคม 2553 9:45:45 น.
Counter : 1959 Pageviews.  


unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.