VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

เมื่อนโยบาย "อเมริกา เฟิร์ส" แผลงฤทธิ์









เมื่อนโยบาย "อเมริกา เฟิร์ส" แผลงฤทธิ์

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2560

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษา



ทันที่ที่สหรัฐฯ โจมตีซีเรีย ตามมาด้วยการเคลื่อนกำลังทางเรือมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการทิ้งระเบิดขนาดมโหฬาร ลงสู่ที่มั่นของกลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถาน โลกต่างก็จับตามองนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีการพลิกผันและแปรเปลี่ยนไปมา จนยากที่จะคาดการณ์ได้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิเคราะห์ถึง "ทิศทาง" ของโลก นับจากนี้เป็นต้นไปว่า จะมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางใด


หากมองย้อนกลับไป ดูนโยบายด้านการต่างประเทศ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทางทำเนียบขาวได้ประกาศไว้อย่างเป็นทางการ ก็จะพบว่ามีการชูนโยบาย "สันติภาพบนความแข็งแกร่ง” เป็นแกนกลางของนโยบาย โดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ".. โลกที่มีสันติภาพมากขึ้น จะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่น้อยลง .." ซึ่ง "ความแข็งแกร่ง" นี้ สามารถตีความได้ในสองลักษณะคือ "ความแข็งแกร่งด้านการทหาร" และ "ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ"


สำหรับ “ความแข็งแกร่งด้านการทหาร" นั้น นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะมุ่งให้ความสำคัญกับการเอาชนะกลุ่ม "ไอซิส" หรือ "ไอเอส" (ISIS : IS) และกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงทางศาสนา โดยถือเป็นความเร่งด่วนสูงสุดของนโยบายด้านต่างประเทศ ซึ่งการทำลายกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ จำเป็นจะต้องใช้วิธีการที่รุนแรง โดยอาศัยการปฎิบัติการทางทหารร่วมกับชาติพันธมิตร รวมถึงความร่วมมือกับประชาคมนานาชาติ เพื่อกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการฟอกเงิน ยุติการขยายเครือข่ายการก่อการร้าย และใช้การปฏิบัติการไซเบอร์ เพื่อขัดขวางและทำลาย "การโฆษณาชวนเชื่อ" ของกลุ่มดังกล่าว


นอกจากนี้ นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังระบุถึง การสร้างพลังอำนาจทางทหาร ให้มีความแข็งแกร่ง โดยยกตัวอย่างถึงความตกต่ำของกองทัพ เช่น แสนยานุภาพทางเรือของสหรัฐฯ ที่ลดต่ำลงจากแต่เดิม ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 500 ลำ ในปี ค..1991เหลือเพียง 275 ลำ ในปี ค..2016 ส่วนกองทัพอากาศก็มีขนาดเล็กลงเกือบ 1 ใน 3 จากที่เคยเป็นอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการทหาร จะนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ท้ายที่สุดเอกสารดังกล่าวระบุว่า การดำเนินการนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ จะตั้งมั่นอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ โดยใช้ "การทูต" เป็นหลักและ


".. สหรัฐฯจะไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นด้วยการสร้างศัตรูใหม่ ในขณะที่ศัตรูเก่าจะกลายเป็นเพื่อน และเพื่อนเก่าจะกลายเป็นพันธมิตร .. โลกจะมีสันติภาพมากขึ้น ก็ด้วยความเข้มแข็งและความน่าเกรงขามของสหรัฐฯ ..”


อย่างไรก็ตาม การแสดงแสนยานุภาพทางด้านการทหารของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดฉากโจมตีซีเรีย การเคลื่อนกำลังทางเรือเข้าไปยังคาบสมุทรเกาหลี นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพลิกเกมการเมืองระหว่างประเทศ ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการหาเสียง หรือแม้แต่ตามที่ระบุไว้ในเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ


ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เขาพร่ำบอกอยู่เสมอว่า ประเทศต่างๆ ควรจะยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพราะสหรัฐฯ จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป อีกทั้งยังกล่าวประณามนโยบายในตะวันออกกลางของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า อยู่เสมอว่า "ผิดพลาด" ที่นำสหรัฐฯ เข้าไปติด "ปลักตมแห่งสงคราม" อย่างยาวนาน


แต่แล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเป็นผู้สั่งโจมตีซีเรียเสียเอง ก่อนที่จะหันกลับมาดำเนินตามนโยบายที่ประกาศไว้ ในการกำจัดกลุ่ม "ไอซิส" ด้วยการทิ้งระเบิดขนาดมโหฬารแบบจีบียู-43/บี (GBU-43/B MOAB : Massive Ordnance Air Blast) ซึ่งมีน้ำหนัก 9,800 กิโลกรัม (21,600ปอนด์) ลงใส่ที่มั่นของกลุ่ม "ไอซิส" ในจังหวัด “นันการ์ฮาร์” (Nangarhar)ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน


จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจทั้งหมด นับเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของความเป็นนัก "สัจนิยม" (Realist) อย่างแท้จริง เพราะมุ่งสร้าง "ความสมดุลแห่งอำนาจ" (Balance of Power) และตั้งมั่นอยู่บนความเชื่อที่ว่า "โลกนี้มีเพียงผู้แพ้และผู้ชนะ" .. โดยผู้ชนะคือผู้ที่มีความแข็งแกร่งกว่า ส่วนผู้แพ้ก็คือเหยื่อของผู้ชนะเท่านั้น จะสังเกตุได้ว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยึดถือมาโดยตลอด


ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในห้วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา ทั้งการโจมตีซีเรีย การเคลื่อนกำลังทางเรือสู่คาบสมุทรเกาหลี และการทิ้งระเบิดใส่กลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถาน ถูกวิเคราะห์ว่า น่าจะมีจุดมุ่งหมายอื่น นอกเหนือไปจากการปฏิบัติการทางทหารทั่วไป สำนักข่าวบีบีซี  (BBC World News) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวว่า สำหรับการโจมตีซีเรียนั้น ความสำเร็จยังถือว่าห่างไกลจากการทำลายแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพซีเรียอยู่มาก


การเคลื่อนกำลังสู่คาบสมุทรเกาหลี ก็ดูเหมือนเป็นเพียงการแสดงพลังอำนาจทางทหารอันน่าเกรงขามของสหรัฐฯ เพราะเจาะจงเลือกเรือบรรทุกเครื่องบิน "คาร์ล วินสัน" (USS Carl  Vinson) ที่มีอานุภาพสูงที่สุดลำหนึ่ง พร้อมเรือคุ้มกันอื่นๆ โดยประกอบกำลังเป็น "กองกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 1" (Carrier Strike Group One : CSG-1)


ส่วนการโจมตีกลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถานก็ดูน่ากังขา เพราะขุมกำลังของกลุ่ม "ไอซิส" ในอัฟกานิสถานนั้น เป็นเพียงกลุ่มย่อยที่มีชื่อว่า "ไอซิส-โคราซาน" (ISIS-Khorasan group) หรือ “ไอซิส-เค” (ISIS-K) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค..2015 มีกำลังพลเพียง 700 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่ม "ไอซิส" ในอิรักและซีเรีย แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มดังกล่าวได้สังหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานไปจำนวนหนึ่งก็ตาม


จึงมีความเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์สะเทือนโลกทั้งสามเหตุการณ์นี้ เป็นความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใน "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" (Strategic Communication : SC) เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนผลประโยชน์ ตลอดจนนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยมุ่งสื่อสารไปยังเป้าหมายหลัก จำนวน 5 เป้าหมาย ประกอบด้วย


เป้าหมายที่ 1 คือ "รัฐบาลซีเรีย" เพื่อเตือนว่าสหรัฐฯ จะไม่อยู่นิ่งเฉย หากมีการใช้อาวุธเคมีทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนเป็นการตอกย้ำว่า วัตถุประสงค์ในการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ยังคงมีอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง


เป้าหมายที่ 2 คือ "ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน" แห่งรัสเซีย เพื่อแสดงให้เห็นว่า นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น มีความแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ฉับพลัน ไร้การแจ้งเตือน และยากที่จะคาดเดาได้


เป้าหมายที่ 3 คือกลุ่ม "ไอซิส" และกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เพื่อเตือนว่า ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด พวกเขาจะไม่มีวันปลอดภัยจากอาวุธอันทรงอานุภาพของสหรัฐฯ


สำหรับเป้าหมายที่ 4 คือ "จีน" เพื่อมุ่งหวังส่งสัญญานให้ทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือเกาหลีเหนือ


และเป้าหมายที่ 5 คือ "ประชาคมโลก" เพื่อแจ้งเตือนว่า สหรัฐฯ กำลังกลับมาในฐานะของ "มหาอำนาจ" ที่จะมีบทบาทเป็นผู้ "ชี้นำ" สังคมนานาชาติอีกครั้ง


จาก "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายต้องหันกลับมามองสถานการณ์ใน "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่าจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด เพราะพื้นที่นี้มี "จุดวาบไฟ" (Flash Point) นั่นคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างสหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก


สิ่งที่น่าสังเกตคือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เกิดขึ้นอย่างพลิกความคาดหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาจีนอย่างมากมาย เกี่ยวกับการเอาเปรียบทางการค้า แต่แล้วเขาก็หันมากระชับความสัมพันธ์กับจีน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเกาหลีเหนือ


ส่งผลให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ปรับท่าทีต่อกรณีการโจมตีซีเรียเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยกล่าวสนับสนุนสหรัฐฯ ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย และต่อต้านการใช้กำลังทหารในซีเรียทุกรูปแบบ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาและการทูต


จึงอาจกล่าวได้ว่า "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" ที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับหนึ่ง


นาย ฉี ยิ่นหง (Shi Yinhong) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาอเมริกาแห่ง มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง (Director of Renmin University's Center on American studies) ให้คำจำกัดความท่าทีที่ประนีประนอมของจีนในครั้งนี้ว่า "ความเป็นมิตรที่มีนัยสำคัญ" (considerable goodwill) และยังได้กล่าวอีกว่า การพบปะระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครั้งล่าสุดที่ใช้เวลารวมแล้วนานกว่า 18 ชั่วโมง ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างชัดเจนและอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการแก้ปัญหาเกาหลีเหนืออีกด้วย


ผลสำเร็จของ "การสื่อสารทางยุทธศาสตร์" ครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จีนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และพร้อมที่จะรับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในกรณี "ซีเรีย"


อีกทั้ง จีนยังมีการแสดงความเบื่อหน่ายต่อพฤติกรรม "เกะกะระราน" ของเกาหลีเหนือมาโดยตลอด การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาซีเรีย จนถึงปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี จึงปรากฏออกมาในลักษณะข้างต้น แม้จีนจะเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ควรมุ่งไปที่การทูตและการเจรจาเป็นหลักก็ตาม


อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของจีนในครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนพร้อมที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในพื้นที่เขตอิทธิพลของตน ทั้งในคาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้แต่อย่างใด


ดังที่ พอล มิลเลอร์ (Paul Miller) ที่ปรึกษาอาวุโสของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช  ได้กล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้จีนมาเป็นพันธมิตรในการสนับสนุน และเสริมสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลีนั้น เป็นมุมมองและเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด เพราะไม่มีทางที่จีนจะให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในพื้นที่อิทธิพลของจีน ดังเช่น เกาหลีเหนือและทะเลจีนใต้ อย่างเด็ดขาด่


ในทางตรงกันข้าม จีนจะได้รับประโยชน์อย่างมากกับความไม่แน่นอน ในนโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ทั้งในเกาหลีเหนือ ซีเรีย และจากความไม่แน่นอนในนโยบายด้านการค้าเสรี เช่น การถอนตัวออกจาก "ทีพีพี" (TPP : Trans-Pacific Partnership) ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญของนโยบายการค้าเสรี ระหว่างสหรัฐฯ เอเชีย และออสเตรเลีย ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจของสังคมนานาชาติ


".. จีนพร้อมที่จะแสวงประโยชน์อย่างไร้ความปรานี (ruthlessly) จากการกระทำที่ผิดพลาดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ ..” พอล มิลเลอร์กล่า


นอกจากนี้ ผลจากการเปิดศึกพร้อมกัน 2 ด้านของสหรัฐฯ ทั้งในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี อาจทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องลดความสำคัญกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ลง ทั้งๆ ที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะ "ปิดกั้น" (blockade) หมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้ามาในพื้นที่ขัดแย้ง อีกทั้งยังส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน "คาร์ล วินสัน" มาประจำการ


การเปลี่ยนท่าทีในทะเลจีนใต้ ของสหรัฐฯ ก็เนื่องมาจากไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และต้องการดำรงความสัมพันธ์อันดีกับจีนไว้ เพื่อร่วมกันกดดันเกาหลีเหนือในปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และร่วมกันโดดเดี่ยวรัสเซีย ในกรณีความขัดแย้งในซีเรีย ทั้งนี้เพราะการเผชิญหน้าของสหรัฐฯ และจีนในทะเลจีนใต้ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่างไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันวิกฤติเช่นนี้


การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้นี้ อาจส่งผลให้ยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ย้อนกลับไปสู่ยุคของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช นั่นคือ "การทอดทิ้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จนอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ต้องประกาศนโยบาย "ปรับสมดุลย์" (Rebalance) เพื่อหวนกลับคืนสู่ภูมิภาคนี้อีกครั้ง


ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบหลายประการ เช่น ประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน และเคยพึ่งพาสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะหันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ในขณะที่เมียนม่าร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า จนทำการเปิดประเทศและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ "พลิกหน้ามือ เป็นหลังมือ" ก็จะถูกโดดเดี่ยวจากสหรัฐฯ มากขึ้น และจำต้องหวนกลับไปหาจีนอย่างไม่มีทางเลือก


ส่วนกัมพูชาก็เพิ่งประกาศยุติความร่วมมือในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมกับกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ได้รับเงินสนับสนุนกว่า 100 ล้านเหรียญดอลล่าร์ จากจีนในการก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ เป็นต้น


พอล มิลเลอร์ วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบาย "ชาตินิยม" (nationalism) และ "พาณิชย์นิยม" (mercantilism) ที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ตามแนวคิดของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างความตึงเครียดขึ้นในสังคมนานาชาติ และถ้ายิ่งนโยบายนี้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ มุ่งหน้าสู่ปักกิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพื่อหาความคุ้มครองจากจีน ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน หรือแม้แต่ด้านความมั่นคง


ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จีนมีความพร้อมและมีความแข็งแกร่งอย่างมาก ที่จะโอบอุ้มประเทศเหล่านั้น อีกทั้งจีนยังเดินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ สุขุม ลุ่มลึก และแสดงออกว่าพร้อมที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ใจดี แต่ก็แอบแฝงไว้ด้วยกลยุทธ์ที่ยากจะหยั่งถึง ไม่แพ้สหรัฐฯ เช่นกัน


".. สิ่งที่จะส่งผลจากนโยบาย "อเมริกา เฟิร์ส" ในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว ..” พอล มิลเลอร์ กล่าวสรุปในท้ายที่สุด








 

Create Date : 15 เมษายน 2560    
Last Update : 26 เมษายน 2560 7:44:40 น.
Counter : 3054 Pageviews.  

ไอเอส บนเส้นทางที่มืดมน







ไอเอส บนเส้นทางที่มืดมน

โดย

พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในวารสาร "หลักเมือง"​ ของกระทรวงกลาโหม ฉบับเดือน มีนาคม พ.ศ.2560

และ นิตยสาร "ท้อปกัน" ฉบับเดือน เมษายน พ.ศ.2560

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการค้าและการพาณิชย์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อเป็นความรู้และวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป


อนาคตของกลุ่ม "ไอเอส" หรือกลุ่ม "รัฐอิสลาม" (IS : Islamic States) กำลังเป็นที่จับตามองจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่ม "ไอเอส" ได้กลายเป็นภัยคุกคามสันติภาพของประชาคมโลกอย่างแท้จริง

ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของกลุ่มดังกล่าว ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของชาติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกา ที่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่ม "ไอเอส" อย่างต่อเนื่อง

สำหรับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกานั้น ถึงกับยอมรับว่ากลุ่ม "ไอเอส" มีผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวอเมริกัน ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า .. "ในโลกยุคก่อการร้าย" นั้นสวนดอกไม้อันสวยงามหน้าบ้านของคุณ ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นสมรภูมิรบอันนองเลือดได้ ..

กลุ่ม "ไอเอส" มิใช่เป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่มีลักษณะเป็นหน่วยกองโจรขนาดเล็กที่ "จรยุทธ์" หรือเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามแรงกดดันของฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็นกองกำลังทางทหารขนาดใหญ่ ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยจำนวนมาก มีรัฐบาลและดินแดนที่เป็นอาณาจักรของตนเอง มีนักรบมืออาชีพที่อดีตเคยเป็นทหารประจำการในกองทัพต่างๆ ทั่วโลก ทั้งจากยุโรป สหรัฐอมริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง นักรบเหล่านี้มีขีดความสามารถสูง จนสามารถเอาชนะทหารอาชีพจากกองทัพซีเรียและกองทัพอิรัก ซึ่งถือว่าเป็นทหารที่มีการฝึกฝนมาอย่างดีและมีอาวุธชั้นเยี่ยม

การที่กลุ่ม "ไอเอส" สามารถเอาชนะกองทัพซีเรียและกองทัพอิรักได้ในหลายๆ พื้นที่ ทำให้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ เงินสด ตลอดจนทองคำและสิ่งของมีค่าได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กลุ่ม "ไอเอส" กลายเป็นกองกำลังทางทหารที่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ดังเช่น การยึดเมือง "โมซูล" (Mosul) ของอิรัก เมื่อปี ค..2015 กลุ่ม "ไอเอส" สามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอิรักได้เป็นจำนวนมาก อาวุธเหล่านี้มีจำนวนมาก จนสามารถจัดตั้งกองพลได้เป็นจำนวนถึง 3 กองพลเลยทีเดียว

กลุ่ม "ไอเอส" ยังมีเงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาล จนได้รับการยอมรับว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ร่ำรวยที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ทั้งนี้เพราะพวกเขาสามารถยึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งฐานขุดเจาะน้ำมัน โบราณสถาน และเมืองใหญ่ๆ ทำให้ได้รับเงินทุนจากการขายน้ำมันและการเก็บภาษีจากพื้นที่ยึดครอง ทั้งภาษีการค้า ภาษีการนับถือศาสนาอื่น และภาษีเถื่อน

นอกจากนี้กลุ่ม "ไอเอส" ยังมีเครือข่ายโลกออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ ในการเกณฑ์กำลังพลจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมขบวนการ สิ่งเหล่านี้ คือ ภาพลักษณ์ของกลุ่ม "ไอเอส" ที่เหนือกว่ากลุ่มก่อการร้ายดั้งเดิม อย่างเช่น กลุ่มอัล กออิดะห์ ของ โอซามาบิน ลาเดน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่ม "ไอเอส" ถูกรุมกระหน่ำโจมตีจากชาติมหาอำนาจต่างๆ อย่างไม่ยั้งมือ ทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา ที่ร่วมกับชาติพันธมิตรจากยุโรป และกลุ่มประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง แถมยังมีกลุ่มมุสลิม ชีอะห์ และกองกำลังชาวเคิร์ด เข้าร่วมโจมตีอีกด้วย

ทำให้กลุ่ม "ไอเอส" ต้องสูญเสียพื้นที่ยึดครองไปเป็นจำนวนมาก เช่น สูญเสียพื้นที่ยึดครองในอิรักไปกว่า 40% ส่วนในซีเรีย ต้องสูญเสียดินแดนไปกว่าครึ่ง เพราะรัฐบาลซีเรียได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียอย่างเต็มที่

จนกระทั่ง ออสติน ลอง (Austin Long) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย "โคลัมเบีย" (Columbia University) และเคยเป็นที่ปรึกษาของกองกำลังนานาชาติในอิรัก ถึงกับลงความเห็นว่า "ไอเอสกำลังจนมุม"

ออสติน ลอง วิเคราะห์ว่า กำลังพลของกลุ่ม "ไอเอส" ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนกว่า 60,000 คน กำลังได้รับความสูญเสียอย่างหนัก มีทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต และถอนตัวกลับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน คาดว่าในปัจจุบันมีกำลังพลของกลุ่มไอเอส เหลืออยู่ประมาณ 36,000 คนหรือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น พื้นที่ยึดครองบางแห่ง มีนักรบ "ไอเอส" เหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยคน จากแต่เดิมที่เคยมีอยู่นับพันคน

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น มีนักรบผู้เจนศึกรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ "ไอเอส" ต้องรีบระดมพลผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และในระยะหลังนี้การระดมพลจะพุ่งเป้าไปที่ กลุ่มทหารหรือผู้ก่อการร้าย ที่มีประสบการณ์มากกว่าที่จะมุ่งไปที่พลเรือนธรรมดา

ทั้งนี้เพื่อลดเวลาในการฝึกลง และสามารถส่งนักรบเหล่านี้ เข้าสู่แนวหน้าได้ทันที ดังจะเห็นได้จาก ความพยายามในการดึงทหารจากกองทัพมาเลเซีย และผู้ก่อการร้ายกลุ่ม "เจไอ" หรือ "เจ๊ะมาอะห์ อิสลามิยะห์" ที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำของประเทศอินโดนีเซีย เป็นผลให้ผู้ต้องโทษเหล่านี้ มุ่งหน้าสู่สมรภูมิในซีเรียทันทีที่พ้นโทษ

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการเกณฑ์กำลังพลจากทั่วโลก เพื่อเข้าร่วมรบในซีเรียและอิรักก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะรัฐบาลของชาติต่างๆ เริ่มมีประสบการณ์ในงานด้านการข่าว สามารถสกัดกั้น การเดินทางออกนอกประเทศของพลเมืองตนเองอย่างได้ผล

ส่วนช่องทางการโอนเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ก็ถูกหน่วยข่าวกรองต่างๆ ตรวจค้นอย่างละเอียดยิบ จนยากที่จะถึงมือกลุ่ม "ไอเอส" ดังเช่น การจับกุมกลุ่มทนายความชาวสิงคโปร์ผู้สนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่ม "ไอเอส" เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

คำกล่าวที่ว่า "การให้ได้มาซึ่งชัยชนะนับว่ายากแล้ว แต่การรักษาไว้ซึ่งชัยชนะนั้น กลับยากยิ่งกว่าหลายเท่าตัวนัก" ดูจะเป็นความจริงสำหรับกลุ่ม "ไอเอส"

เพราะในช่วงแรกๆ ของการกำเนิดกลุ่ม "ไอเอส" พวกเขาสามารถพิชิตชัยได้อย่างรวดเร็ว และน่าทึ่ง แต่การรักษาดินแดนยึดครองเอาไว้นั้น กลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วง เนื่องจากกำลังคนที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนเส้นทางการส่งกำลังบำรุงที่ห่างไกล และเปราะบางทำให้ความพ่ายแพ้ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว

กลุ่ม "ไอเอส" สูญเสียเมืองที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญของตนเป็นจำนวนมาก เช่น เมือง “ทิกริต” (Tikrit), เมือง“ซินจาร์” (Sinjar), เมือง“ไบจี” (Baiji) และเมือง"รามาดี" (Ramadi) เป็นต้น

โดยเฉพาะเมือง "ไบจี" ของอิรักที่เป็นฐานสำคัญของกลุ่ม "ไอเอส” เนื่องจากเป็นบ่อน้ำมันที่ทำรายได้ให้อย่างมหาศาล กลุ่ม "ไอเอส" ทุ่มกำลังพลกว่า 1,500 นาย ต่อสู้รักษาเมืองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น จากกองทัพอิรักที่มีจำนวนมากกว่าถึง 10เ ท่าคือ 15,000 นาย โดยแบ่งออกเป็นทหารกองทัพอิรัก 5,000 นาย และกองกำลังมุสลิม “ชีอะห์” ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลอิรักอีกกว่า 10,000 นาย ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังติดอาวุธ "คาตา'อิบ เฮซบุลเลาะห์  (Kata'ib Hezbollah) และกำลังพลจากกองพลน้อย "บาดร์"(Badr Brigades) สนับสนุนด้วยเครื่องบินรบแบบ “ทอร์นาโด จีอาร์ 4” (Tornado GR4) ของอังกฤษ ที่เข้าโจมตีทางอากาศด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีแบบ "ไบร์มสโตน” (Brimstone) ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 7 ธันวาคม ค..2015 จนกลุ่ม "ไอเอส" ต้องล่าถอยออกจากเมืองในที่สุด

เวยน์ ไวท์ (Wayne White) นักวิเคราะห์สถานการณ์ด้านอิรัก ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลายสมัยกล่าวว่า ความสำเร็จในการพิชิตกลุ่ม “ไอเอส” นี้ ส่วนหนึ่งมาจากนักรบของกองกำลังติดอาวุธชาวชีอะห์ ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่ากองทหารอิรักหลายเท่าตัว และที่สำคัญคือ กองกำลังชาวชีอะห์นี้ มีความจงเกลียดจงชังชาวสุหนี่และกลุ่ม "ไอเอส" อย่างมากนั่นเอง

นอกจากนี้ กลุ่มนักรบเคิร์ด "เปชเมอร์กา" (Peshmerga) ยังได้ทำการโจมตีโรงงานผลิต "รถบรรทุกระเบิดพลีชีพ" (Suicide Truck Bomb) ที่ใช้เป็นอาวุธหลักของกลุ่ม "ไอเอส" โดยใช้จรวดนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ "มิลาน" (MILAN) ที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมัน ส่งผลให้การผลิตรถบรรทุกระเบิดพลีชีพต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กับการทำลายคลังอาวุธ และคลังกระสุนขนาดใหญ่ของกลุ่ม "ไอเอส" นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า ภายในคลังอาวุธดังกล่าว บรรจุเงินสดนับล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็ได้ถูกเผาทำลายลงด้วย

ในช่วงปีที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศทั้งของสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร รวมทั้งรัสเซียเหนือพื้นที่ยึดครองของกลุ่ม "ไอเอส" เป็นไปอย่างรุนแรง เพื่อพยายามแข่งขันกันในการทำลายเป้าหมาย

ดังเช่น เครื่องบินของรัสเซียที่ปฏิบัติภารกิจถึง 60 เที่ยวบินต่อวัน ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร จะบินเฉลี่ยเพียงวันละ 7 เที่ยวบินต่อวันเท่านั้น จนกระทั่งฝ่ายสหรัฐอเมริกา ต้องปรับความถี่ในการโจมตีเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งทำให้กลุ่ม "ไอเอส" ตกเป็นเป้าหมายอย่างถี่ยิบ

เพียงช่วงครึ่งปีแรกของปี ค..2016 เครื่องบินรัสเซียปฏิบัติการโจมตีกว่า 9,000 ครั้ง ทำให้เมืองต่างๆ เช่น เมือง "รัคก้า" (Raqqa) ซึ่งถือกันว่าเป็นเมืองหลวงของกลุ่ม "ไอเอส" ถูกถล่มแทบจมดิน รัสเซียได้ทำลายอุโมงค์ใต้ดินและคลังเก็บสินค้ายุทโธปกรณ์ของกลุ่ม "ไอเอส" ลงไปเป็นจำนวนมาก แท่นขุดเจาะน้ำมันที่กลุ่ม "ไอเอส" ยึดอยู่ในซีเรีย ถูกเครื่องบินรัสเซียทำลายลงกว่า 200 แห่ง

แม้ว่ากลุ่ม "ไอเอส" จะยังคงควบคุมพื้นที่ชนบทต่างๆ ได้บางส่วน เช่น บริเวณเมือง "ฟัลลูจาฮ์" (Fallujah) ของอิรัก และได้มีการปรับปรุงโรงงาน ให้สามารถผลิตระเบิดแสวงเครื่องและอาวุธอื่นๆ เพื่อทดแทนโรงงานที่ถูกทำลายไป แต่ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ก็ไม่อาจจะมีขีดความสามารถเทียบเท่ากับโรงงานที่เมือง "ไบจี" ซึ่งถูกทำลายลง

สถานการณ์ที่เมือง "รามาดี" (Ramadi) ก็ย่ำแย่เช่นกัน เมืองนี้ถูกกลุ่ม "ไอเอส" ยึดไปตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ค..2015 ด้วยการใช้รถบรรทุกระเบิดพลีชีพ เข้าโจมตีกองกำลังทหารอิรักระลอกแล้วระลอกเล่า ท่ามกลางพายุทรายที่กำลังพัดโหมกระหน่ำเข้าสู่ตัวเมือง จนทำให้กองกำลังอิรักเสียขวัญ และต้องล่าถอยออกจากเมืองในที่สุด กระทั่งในวันที่  13 กรกฎาคม ปีเดียวกัน กองกำลังอิรักพร้อมทั้งกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ ได้เปิดยุทธการโจมตีเมือง "รามาดี" อย่างรุนแรง

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในวันที่ 26 สิงหาคม กลุ่ม "ไอเอส" ได้โจมตีกองทหารอิรักด้วยระเบิดพลีชีพ ทำให้นายทหารระดับนายพลของกองทัพอิรักเสียชีวิตถึงสองนาย คือ พลตรี อับดุล ราห์มานอาบู-เรกฮีฟ (Maj.Gen Abdul-Rahman Abu-Regheef)  และพลจัตวา ซาฟีน อับดุล-มาจิด (Brig.Gen Safeen Abdul-Majid) ผู้บัญชาการกองพลที่10 (10th Army Division) เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงอุดมการณ์และความเป็นนักรบ "ศักดิ์สิทธิ์" อันแข็งแกร่ง และไม่ยอมแพ้ของกลุ่ม “ไอเอส” ได้เป็นอย่างดี

ในที่สุดวันที่ 25 พฤศจิกายน ค..2015 กองทัพอิรักก็สามารถตัดเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์และอาหารเส้นทางสุดท้ายที่เข้าสู่เมือง "รามาดี" ได้ ทำให้ตัวเมืองถูกล้อมอย่างสมบูรณ์ กองทัพอิรักโปรยใบปลิวเพื่อให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์หลบหนีออกจากเมือง ก่อนที่การโจมตีครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น และในวันที่ 4 ธันวาคม กองกำลังอิรักก็รุกคืบหน้าเข้าสู่ตัวเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่มหาวิทยาลัย "อันบาร์” (AnbarUniversity)

ด้วยการสนับสนุนจากกองทัพอากาศของอังกฤษ ที่ได้โจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินด้วยจรวดนำวิถีแบบ "เพพเวย์4” (Paveway IV) จนสามารถทำลายรังปืนกล พลซุ่มยิง และที่มั่นของนักรบ "ไอเอส" ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในระหว่างการสนับสนุนทางอากาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ได้เกิดความผิดพลาด เมื่อการโจมตีทางอากาศสนับสนุนกองพลน้อยที่ 55 (55thArmy Brigade) ของอิรัก เครื่องบินสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมาย ทำให้ทหารอิรักเสียชีวิต 9 นาย

ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ ค..2016 กองกำลังอิรัก ก็สามารถยึดเมือง "รามาดี" ได้เกือบทั้งหมด ชาวเมืองได้ลุกฮือขึ้น ต่อต้านกองกำลัง "ไอเอส" ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ชาวเมืองนิกายสุหนี่ ได้ทำการเผากองบัญชาการของกลุ่ม "ไอเอส" เนื่องจากโกรธแค้นที่นักรบ "ไอเอส" กระทำทารุณกรรมสุภาพสตรี ดังนั้นเมื่อกลุ่ม  "ไอเอส" ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน จึงตัดสินใจล่าถอยออกจากตัวเมือง แล้วกลับไปตั้งมั่นที่เมือง "ฟัลลูจาฮ์"

ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม "ไอเอส" ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงลางหายนะอย่างชัดเจน ที่อาจจะส่งผลถึงการล่มสลายลงของกองกำลังกลุ่ม "ไอเอส" เลยทีเดียว

แต่นักวิชาการตะวันตกหลายคน เช่น ไบรอัน เจนกินส์ (Brian Jenkins) และโคลิน คลาร์ก  (Colin Clarke) ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายของแคนาดา ได้ออกมาเตือนชาวโลกว่า เรายังไม่ควรสร้าง "ภาพลวงตา" ที่แสดงถึงความพ่ายแพ้ของกลุ่ม "ไอเอส" ในเวลานี้ เพราะกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว มีรากฐานขององค์กรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะถูกโค่นลงอย่างง่ายดาย

ในทางตรงข้าม ไบรอัน เจนกินส์ แนะนำว่าสิ่งที่น่าจับตามองคือ การปรับแผนของกลุ่ม "ไอเอส" หรือที่เรียกกันว่า "แผนบี" (Plan B) เพื่อให้กลุ่มยังคงสถานะอันน่าเกรงขามและความน่าสะพรึงกลัวในสายตาประชาคมโลกต่อไป แม้จะยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่า แผนนี้มีเป้าหมายอย่างไร

แต่ก็พอคาดการณ์ได้ว่า กลุ่ม "ไอเอส" คงจะเริ่มโหมกระหน่ำการก่อการร้ายทั่วทุกมุมโลกอีกครั้ง โดยใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และเครือข่ายที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ โคลิน คลาร์ก วิเคราะห์ถึงเป้าหมายของ "แผนบี" ว่าอาจมุ่งสร้าง "การปะทะกันของอารยธรรม" (Clash of Civilization) หรือ "สงครามครูเสด" ครั้งใหม่ ซึ่งปัจจุบันเริ่มส่อเค้าให้เห็นขึ้นบ้างแล้ว เช่น การโจมตีมัสยิดในประเทศแคนาดา หรือ การกำหนดนโยบายต่อต้านผู้คนจากตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่วน โคลิน คลาร์ก ถึงกับกล่าวว่า  ".. ณ เวลานี้เรายังไม่ถึงจุดที่ใกล้เคียงกับความพ่ายแพ้ของกลุ่มไอเอสเลย ..”

โลกคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ในสถานการณ์ที่ "จนตรอก" และบนย่างก้าวที่ "อับจน" ของกลุ่ม "ไอเอส" จะทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญชาวโลกขึ้นมาอีกหรือไม่ เพราะในห้วงเวลานี้ กลุ่ม "ไอเอส" พร้อมที่จะแลกทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะของพวกเขาอีกครั้ง ดังที่ ออสติน ลอง สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่ม "ไอเอส" จะไม่มีวันยอมแพ้ในสงครามครั้งนี้อย่างแน่นอน




 

Create Date : 29 มีนาคม 2560    
Last Update : 26 เมษายน 2560 7:45:50 น.
Counter : 1495 Pageviews.  

ข้อพิพาทเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์







ข้อพิพาทเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้าเท่านั้น



ความตึงเครียดในพื้นที่ทะเลจีนใต้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในพื้นที่เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) บางส่วนที่จีนกำลังก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและถมทะเล เพื่อสร้างเกาะเทียมขึ้น บริเวณโขดหินที่ตนเองครอบครองอยู่ในหมู่เกาะแห่งนี้

จะเห็นได้ว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์ตั้งอยู่ในของทะเลจีนใต้ ล้อมรอบไปด้วยประเทศต่างๆ ประกอบด้วย เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน (ด้านเกาะไหหนานหรือไหหลำ (Hainan)) ฟิลิปปินส์ (พื้นที่จังหวัดปาลาวัน (Palawan)) บรูไน มาเลเซีย (บริเวณรัฐซาราวัคบนเกาะบอร์เนียว) และไต้หวัน มีพื้นที่ทางทะเลกว้างใหญ่มากกว่า 425,000 ตารางกิโลเมตร (164,000 ตารางไมล์) หรือประมาณร้อยละ 38 ของพื้นที่ทะเลจีนใต้ทั้งหมด

สภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะแห่งนี้ เป็นเกาะเล็ก เกาะน้อย โขดหิน หินโสโครกและแนวหินปะการัง มากกว่า 750 แห่ง บางโขดหินเล็กมาก จนสามารถยืนอยู่ได้เพียงสองคน บางโขดหินจะจมน้ำหายไปเมื่อน้ำขึ้น และโผล่ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อน้ำลง มีจำนวนเกาะขนาดใหญ่ที่โผล่พ้นน้ำถาวร และสามารถตั้งถิ่นฐานได้เพียง 33 เกาะเท่านั้น เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหมู่เกาะ ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเวียดนาม

เคนเนธ ลิปเบอร์ธอล (Kenneth Lieberthal) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาจีน จอห์น แอล.ทรอนตัน (John L.Thornton China Center) วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ว่า ปัญหาเรื่อง "อำนาจอธิปไตย" (Sovereignty) เหนือดินแดนในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะระบุลงไปว่าเป็นดินแดนของประเทศใด เนื่องจากปัญหาการทับซ้อนกันของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และปัญหาการกล่าวอ้างที่โยงไปถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่าปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นปัญหาที่ไม่มีจุดจบและไม่อาจหาข้อสรุปได้

ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายตระหนักดีว่า ปัญหาดังกล่าวยากที่จะหาข้อยุติได้ ทำให้ต่างหันมาใช้วิธีการแสดงสิทธิเหนืออาณาเขตบนดินแดนที่ตนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ ด้วยการแสดง "การครอบครอง" (Occupation) ซึ่งนับเป็นหนทางหนึ่ง ในการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยตามกฏหมายระหว่างประเทศ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้ พยายามเข้าครอบครองพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อกล่าวอ้างสิทธิการครอบครองเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์ เช่น การสร้างประภาคาร การสร้างอาคารที่พักอาศัย ทั้งแบบถาวรหรือชั่วคราว การแสดงกำลังหรือการปรากฏตัวของเรือ ทั้งเรือรบ เรือสำรวจสมุทรศาสตร์ เรือประมง เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ ด้วยการทำการค้นคว้าวิจัย เพื่อทำการวางแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือสำรวจแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะจีนพยายามที่จะกระทำการเข้าครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้ ผ่านกองเรือกองเรือสมุทรศาสตร์ และกองเรือประมงของตน

โดยเฉพาะกองเรือประมงนั้น รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินพิเศษ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับชาวประมงของตน ที่เข้าไปทำการจับปลาในพื้นที่พิพาท เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ที่สนับสนุนให้มีโยกย้ายประชากรเข้าไปตั้งถิ่นฐานถาวร ในเกาะที่ตนอ้างกรรมสิทธิ โดยสนับสนุนทั้งเงินค่าครองชีพ อาหาร และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ นอกจากนี้ทุกประเทศ (ยกเว้นบรูไน) ยังมีการส่งกำลังทหารเข้าไปประจำการบนเกาะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าว ล้วนแต่ส่งผลให้ความตึงเครียดขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ลอยดา นิโคลัส เลวิส (Loida Nicolas Lewis) ประธานคณะทำงานเพื่อสร้างธรรมภิบาลสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ (US.- Pinoy for Good Governance) ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่หมู่เกาะสแปรตลีย์มีความสำคัญ และกลายเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก ก็เนื่องมาจากผลการสำรวจทางธรณีวิทยาร่วมกันระหว่างจีนและรัฐบาลฟิลิปปินส์ ของอดีตประธานาธิบดี กลอเรีย อาโรโย่ใ นช่วงที่ผ่านมาพบว่า เพียงแค่พื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ บริเวณชายฝั่งฟิลิปปิินส์เท่านั้น ก็ยังอุดมสมบรูณ์ไปด้วยน้ำมันดิบกว่า 213,000 ล้านบาเรล และก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนมหาศาล

หากนับรวมภายใต้ท้องทะเลของหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด หรือครอบคลุมพื้นที่ในทะเลจีนใต้กว่าหนึ่งล้านตารางไมล์ทั้งหมด ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งพลังงานจำนวนมากมายมหาศาลแห่งหนึ่งของโลก ที่ผู้ครอบครองจะสามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่นำ้มันดิบและก๊าซธรรมชาติกำลังลดลงอย่างมากในขณะนี้

ในส่วนของสาธาณรัฐประชาชนจีนหรือ "จีน" มีการเข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานแห่งนี้ ซึ่งจีนเรียกว่า "นานชา" (Nan Cha) โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในสมัยจีนโบราณ คือสมัยราชวงศ์ "ฮั่น" (Han Dynasty) (บางเอกสารระบุว่าเริ่มในสมัยราชวงศ์ "ซ่ง" (Song Dynasty)) หรือเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว อันเป็นข้ออ้างที่ยากจะพิสูจน์หรือปฏิเสธได้จนกระทั่งในปี พ..1835 หรือ 9 ปี ภายหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชของอาณาจักรสุโขทัยทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น จีนได้อ้างแผนที่โบราณเป็นหลักฐานว่า เรือสินค้าของจีนได้แล่นผ่านหมู่เกาะแห่งนี้และต่อมาอีก 133 ปี คือในปี พ..1968 มีหลักฐานปรากฏอยู่บนแผนที่ โดยนักเดินเรือชาวจีนชื่อ “เชง โฮ” (Cheng Ho) ได้กำหนดหมู่เกาะสแปรตลีไว้ในแผนที่เดินเรือ ซึ่งจีนอ้างว่าอีก 5 ปีต่อมา คือ พ..1973 หมู่เกาะสแปรตลีก็อยู่ในภายใต้การปกครองของจีนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดังที่ผู้นำระดับสูงของจีนคนหนึ่งประกาศว่า ".. ดินแดนแห่งนี้ครอบครองโดยบรรพบุรุษของจีนมาช้านาน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะคัดค้าน หรือโต้แย้งการอ้างกรรมสิทธิของจีนเหนือดินแดนแห่งนี้ .."

ปัจจุบันจีนได้เข้าครอบครองพื้นที่ ทั้งเกาะโขดหิน แนวปะการังและหินโสโครกจำนวน 7 แห่ง คือ คัวร์เตรอง (Cuarteron Reef), ไฟรี่ย์ ครอสหรือ "กางเขนเพลิง" (Fiery Cross Reef), เกเวน(Gaven Reef), ฮิวจ์เกส (Hughes Reef), จอห์นสัน (Johnson Reef), มิสชีฟหรือ "โขดหินแห่งการก่อกวน" (Mischief Reef), ซูบิ (Subi Reef) โดยจีนได้สร้างเกาะเทียม ด้วยการใช้เรือดูดทรายจากใต้ท้องทะเลขึ้นมา ถมเป็นแนวเกาะใหม่ในพื้นที่บริเวณโขดหิน  3 แห่งเข้าด้วยกัน คือ โขดหิน ไฟรี่ครอส หรือ "กางเขนเพลิง" (ฟิลิปปินส์เรียกว่าโขดหิน “กาติติงกัน : Katitingan”), โขดหินซูบิ (ฟิลิปปินส์เรียกว่าโขดหิน “ซาโมร่า :Zamora”) และ โขดหินมิสชีฟ หรือ "โขดหินแห่งการก่อกวน" (ฟิลิปปินส์เรียกว่าโขดหิน “ปังกานิบัน  : Panganiban”)

โดยเมื่อปี ค..2013 จีนเริ่มถมโขดหินมิสชีฟหรือ "โขดหินแห่งการก่อกวน" จนกลายเป็นเกาะเทียม ที่มีขนาดกว้างถึง 32,060 ตารางเมตร ส่วนโขดหินซูบิ ซึ่งมีลักษณะเหมือนวงแหวนรียาว มีหาดทรายเป็นวงนอก ล้อมรอบพื้นน้ำทะเลสาปภายใน จีนได้มีการก่อสร้างอาคารสูง ด้านบนเป็นโดมรูปวงกลม คล้ายหอดูดาวมาตั้งแต่ปี ค..2009 ก่อนที่จะขยายตัวอาคาร ให้มีความกว้างเป็น 1,909 ตารางเมตรในปี ค..2013 พร้อมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งท่าเรือ, สนามจอดเฮลิคอปเตอร์ และอาคารต่างๆ

สำหรับโขดหินไฟรี่ย์ครอส หรือ "กางเขนเพลิง" นั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค..2015 มีการก่อสร้างสนามบิน ที่มีทางวิ่งยาวกว่า 3,300 เมตร พร้อมก่อสร้างท่าเรือทางตอนเหนือของโขดหิน สำหรับแนวโขดหินเดิม ถูกถมด้วยทรายและหินปะการัง จนกลายเป็นเกาะเทียมทั้งหมด ส่วนรอบๆ โขดหินจอห์นสัน จีนใช้เป็นพื้นที่จอดพักของเรือรบ เนื่องจากเป็นท้องน้ำที่มีความลึก ในช่วงที่ผ่านมา จีนนำเรือฟริเกต "เฉาตง" (Zhao tong) หมายเลข 555 และเรือฟริเกตแบบ 053 ชื่อ "คังชู" (Cang zhou) หมายเลขประจำเรือ 537 ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชั้น "เจียงหู 5" (Jianghu - V) ตลอดจนเรือบรรทุกสินค้า มาจอดทอดสมออยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งจีนยังทำการถมทราย เพื่อขยายพื้นที่โขดหินแห่งนี้ จนกลายเป็นเกาะเทียมขนาดใหญ่และทำการก่อสร้างอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมบนโขดหินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค..2013

จีนยังมีการก่อสร้างและถมแนวหิน "เกเวน" ให้ขยายกว้างออกไป 78,867 ตารางเมตร ตั้งแต่ปี ค..2009 พร้อมก่อสร้างอาคารสูง 6 ชั้น มีความสูงกว่า 18.29 เมตร ตัวอาคารมีความกว้าง 4,128 ตารางเมตร ก่อนที่จะก่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ที่มีความกว้าง 1,032 ตารางเมตรในปี ค..2013 นอกจากนี้จีนยังมีการตั้งชื่อเกาะและโขดหินจำนวน 200 กว่าแห่งเป็นภาษาจีน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอีกด้วย

การก่อสร้างเกาะเทียมดังกล่าว กลายเป็นข้อพิพาทสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จนถึงขั้นส่งเครื่องบินเข้าไปในรัศมีรอบเกาะ เพื่อทำการถ่ายภาพทางอากาศ จนจีนแจ้งเตือนอย่างรุนแรง ทั้งจากกองกำลังในพื้นที่และทางการฑูตระหว่างประเทศ

จีนยังตอกย้ำการแสดงความเป็น "เจ้าของ" เหนือดินแดนที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ด้วยการประกาศใช้แผนที่ "เส้นประ 9 เส้น" (nine-dash-line) หรือที่บางครั้งเรียกว่า "เส้น 9 จุด" (nine-dotted-line) ซึ่งเป็นเส้นที่ลากขึ้น เพื่อกำหนดอาณาเขตของจีนในทะเลจีนใต้ เส้นดังกล่าวเป็นแนวเส้นที่ลากลงมาจากเกาะไหหนาน หรือ "ไหหลำ" ของจีน บริเวณอ่าวตั๋งเกี๋ยขนานกับชายฝั่งเวียดนาม มาจนถึงเกาะบอร์เนียว บริเวณรัฐซาราวักของมาเลเซียแล้ววนกลับเลียบชายฝั่งบรูไนผ่านรัฐซาบาห์ ตัดตรงเข้าไปในน่านน้ำของฟิลิปปินส์ เลาะชายฝั่งของจังหวัดปาลาวันเรื่อยไป จนถึงเกาะลูซอน แล้วขึ้นไปสิ้นสุดที่เกาะไต้หวัน โดยในน่านน้ำบริเวณนี้ จีนจะใช้กองเรือป้องกันชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือนในการลาดตระเวนเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารกับชาติต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ แต่แม้จะเป็นเรือของหน่วยงานพลเรือน แต่เรือป้องกันชายฝั่งของจีนก็มีลักษณะการปฏิบัติที่รุนแรงและเด็ดขาดอยู่เสมอ เช่น ใช้วิธีพุ่งชนหรือฉีดน้ำจากสายดับเพลิงเข้าใส่เรือของเวียดนาม ที่พยายามแล่นเข้าไปในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท เป็นต้น

ทางด้านมาเลเซียนั้น เข้าครอบครองเกาะในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จำนวน 3 แห่ง โดยอ้างกรรมสิทธิ์จากการที่มีไหล่ทวีปของรัฐซาราวัค (Sarawak) มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ และไม่ได้อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทั้งหมด

พื้นที่ที่มาเลเซียครอบครองมีเพียงโขดหินและเกาะขนาดเล็ก คือ โขดหินอาร์ดาเซียร์ (Ardasier Reef) หรือในภาษามลายู เรียกว่า "เตอรัมบู อูบิ" (Terumbu Ubi), โขดหินมาริเวลเลซ (Mariveles Reef) หรือในภาษามลายูเรียกว่า "เตอรัมบู มันตานานิ" (Terumbu Mantanani) และโขดหินสวอลโลว์ (Swallow Reef) หรือโขดหินนกนางแอ่น ในภาษามลายูเรียกว่า "เตอรัมบู ลายัง" (Terumbu Layang) โดยส่งกำลังทหารเข้าไปครองครองพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี ค..1983 โดยเฉพาะที่โขดหินนกนางแอ่น มาเลเซียได้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักดำน้ำ มีการสร้างรีสอร์ตและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างสนามบิน "ลายัง ลายัง" (Layang Layang Airport) ตั้งแต่ปี ค..1991 เสร็จในปี ค..1995 อยู่ทางตอนเหนือของเมืองคินาบาลู (Kota Kinabaru) รัฐซาบาห์ ประมาณ 300 กิโลเมตร

ในช่วงแรกสนามบินแห่งนี้ มีทางวิ่งยาว 1,064 เมตร แต่ในปี ค..2003 มีการขยายเป็น 1,367 เมตร กว้าง 28 เมตร ใช้งานทั้งเครื่องบินพลเรือนและเครื่องบินทางทหารของกองทัพอากาศมาเลเซีย โดยสายการบินพลเรือนสายเดียวที่บินไปลงที่สนามบินดังกล่าว คือ สายการบิน "ลายัง ลายัง แอโร่สเปซ" (Layang Layang Aerospace) ใช้เครื่องบินสองเครื่องยนต์ แบบ นอแมด เอ็น 22ซี (Nomad N22C) บรรทุกผู้โดยสารได้ 12 คน ส่วนกองทัพอากาศมาเลเซียนั้น ใช้เป็นจุดพักของเครื่องบินลำเลียง แบบ ซี-130 (C-130) และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล แบบ ซีเอ็น-235 (CN-235) ของกองทัพเรือมาเลเซีย ซึ่งบินมาจากสนามบินลาบวน (Labuan Airport) ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งของรัฐซาบาห์ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว

ทางด้านเวียดนามนั้น ได้เข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับจีน โดยในปี ค..1977 รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมดอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนเอง ปัจจุบันเวียดนามสามารถครอบครองเกาะโขดหินและหินโสโครกได้จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย โขดหิน จำนวน 16 แห่งคือ โขดหินอลิสัน (Alison Reef), โขดหิน อัมโบยัน (Amboyan Reef), โขดหินบาร์ค แคนาดา (Barque Canada Reef), โขดหินลอนดอน ตะวันตก หรือ เวสต์ลอนดอน  (West London Reef), โขดหินลอนดอนกลาง หรือ เซนทรัล ลอนดอน (Central London Reef),  โขดหินลอนดอนตะวันออก หรือ อีสต์ ลอนดอน (East London Reef), โขดหิน คอร์นวอลลิสใต้ (Cornwallis South Reef), ดาไกร-ซัน (Da Gri-san) , ดา ไฮ่เยน (Da Hi Gen), โขดหิน เกรท ดิสคัฟเวอรี่ (Great Discovery Reef) , โขดหิน แลดด์ (Ladd Reef) , โขดหินแลนด์สดาวน์ (Landsdowne Reef), โขดหิน เพียร์สัน (Pearson Reef) , โขดหินเพ็ตลี่ย์ (Petley Reef), โขดหินเซาท์ หรือโขดหินใต้ (South Reef), โขดหิน เทนเนนท์ (Tennent Reef) และครอบครองเกาะขนาดเล็ก หรือเคย์ (cay มีขนาดเล็กกว่า island) จำนวน 2 แห่งคือ เกาะแซนด์ (Sand Cay หรือเกาะทราย และ เกาะเซาท์เวสต์ (South West Cay) ครอบเกาะขนาดใหญ่ จำนวน 3 เกาะ คือ เกาะนามยิต (Namyit Island), เกาะซินโคว์ (Sin Cowe  Island) และ เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Island เป็นชื่อเดียวกับหมู่เกาะ)

สำหรับการสร้างอาคารและขยายพื้นที่บนเกาะที่ครอบครองนั้น ในกลุ่มโขดหินลอนดอน  (London Reefs) ซึ่งมีโขดหินเรียงรายเหมือนรูปพัด ประกอบด้วยโขดหินลอนดอนตะวันตก, โขดหินลอนดอนกลาง และโขดหินลอนดอน ตะวันออก ซึ่งโดยปกติโขดหินเหล่านี้จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0.6 เมตร เมื่อน้ำขึ้นสูงสุด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีหลักฐานว่าในปี ค..1994 เวียดนามได้สร้างประภาคารขึ้น ที่โขดหินลอนดอนตะวันตก ต่อมามีการถมโขดหินแห่งนี้ จนมีพื้นที่มากกว่า 65,000 ตารางเมตร และในปี ค..2010 ได้ทำการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทางทหารขึ้น 1 หลัง และอาคารขนาดเล็ก 2 หลัง บริเวณเกาะทรายเล็กๆ ของโขดหินลอนดอนตะวันออก ส่วนทางตอนเหนือหรือโขดหินลอนดอนกลาง ก็มีการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวขึ้น เพื่อเป็นจุดสังเกตุการณ์ทางทหาร พร้อมกับก่อสร้างอาคารทางทหารสูง 3 ชั้นขึ้น ทางตอนใต้ของโขดหินลอนดอนตะวันตกอีกด้วย บริเวณโขดหินลอนดอนตะวันตกนี้ จะมีแนวหินปะการังอยู่รายรอบ และจะโผล่พ้นน้ำก็ต่อเมื่อน้ำลดเท่านั้น

สำหรับความเคลื่อนไหวของเวียดนามบริเวณเกาะแซนด์นั้น มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีการถมเกาะแซนด์ จนเกิดเป็นพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร

นอกจากนี้เวียดนามยังตั้งถิ่นฐานถาวร สำหรับประชาชนของตนขึ้นที่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเคยเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดตามธรรมชาติในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เกาะแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ เวียดนามได้ก่อสร้างสนามบินทางทหาร ชื่อ "เตรือง ซา" (Truong Sa Airport) ที่มีทางวิ่งยาว 600 ฟุต และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สามารถรองรับเครื่องบินใบพัดสองเครื่องยนต์ เช่น เครื่องบิน เดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอชซี - 6 (De Havilland DHC-6) ของกองทัพอากาศเวียดนามได้ (Truong Sa Airfield)

ทางด้านฟิลิปปินส์นั้น มีการกล่างอ้างกรรมสิทธิ เพียงบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่อยู่ในเขตเมือง"กาลายาอัน" (Kalayaan) จังหวัด "ปาลาวัน" (Palawan) โดยเรียกว่าหมู่เกาะ "กาปูลูอันงัง กาลายาอัน" (Kapuluan Ng Kalayaan) มีพื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิประมาณ 790,000 ตารางเมตร ปัญหาที่ตึงเครียดบ่อยที่สุดคือเกาะที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า "ปานาตัค" (Panatag) ส่วนจีนเรียกว่า "ฮวงหยาน" (Huang yan) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรือรบ, เรือสำรวจสมุทรศาสตร์ ตลอดจนเรือประมงของฟิลิปปินส์และจีน มีการกระทบกระทั่งกันในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนหลายครั้ง นอกจากฟิลิปปินส์จะมีความขัดแย้งกับจีนบริเวณพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์แล้ว ยังมีข้อพิพาทกับจีนและไต้หวัน บริเวณแนวเกาะ "สการ์โบโร" (Scarborough Shoal) หรือที่จีนเรียกว่า "หวงหยาน" (Huangyan) ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยแนวเกาะสการ์โบโร มีลักษณะเป็นหาดทรายรูปสามเหลี่ยม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล

ฟิลิปปินส์ครอบครองเกาะโขดหินและแนวปะการังในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จำนวน 8 แห่ง เช่น  เกาะลัวอิตา (Loaita) เกาะลาวัค (Lawak) เกาะเวสต์ ยอร์ค (West York) เป็นต้น เกาะที่สำคัญที่ฟิลิปปินส์ครอบครองคือเกาะ "ธิตู" (Thitu) ซึ่งในภาษาตากาล็อคเรียกว่า "ปั้ก-อาสา" (Pag-asa) จีนเรียกว่า "ซงยี เตา" (Zhongye Dao) เวียดนามเรียกว่า "เด๋าธี ตู" (Dao Thi Tu) มีเนื้อที่ประมาณ 230 ไร่ หรือประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุดอันดับสองในหมู่เกาะสแปรตลีย์ อยู่ในเขตเมืองปาลาวัน ฟิลิปปินส์ได้ส่งกำลังทหารเข้าประจำการบนเกาะนี้มาตั้งแต่ปี ค..1970 พร้อมก่อสร้างสนามบินทางทหาร "รันคูโด" (Rancudo Airfield) มีทางวิ่งยาว 1,300 เมตร รองรับอากาศยานทางทหารและทางพาณิชย์ โดยเฉพาะเครื่องบินตรวจการณ์ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ที่บินลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ยังได้จัดตั้งฐานทัพเรือ "อีมิลิโอ ลีวานัก" (Emilio Liwanag) ขึ้นที่เกาะแห่งนี้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ที่อ้างกรรมสิทธิในหมู่เกาะสแปรตลี ต่างมีความเคลื่อนไหวในการแสดงกรรมสิทธิเหนือดินแดนด้วยการเข้า "ครอบครอง" พื้นที่พิพาท รวมทั้งยังมีการส่งกำลังทหารในรูปแบบต่างๆ เข้าไปแสดงกำลัง (show of forces) อย่างต่อเนื่อง โลกจึงต้องจับตามองความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อมีมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว เพราะอาจนำไปสู่ "จุดวาบไฟ" ที่ส่งผลถึงความขัดแย้งอันรุนแรงได้ในอนาคต




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2559    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2559 13:48:27 น.
Counter : 11616 Pageviews.  

การก่อการร้ายในบ้านเกิด (Homegrown terrorism)







การก่อการร้ายในบ้านเกิด (Homegrown terrorism)

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 เมษายน 2559

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น


"การก่อการร้ายในบ้านเกิด" (Homegrown terrorism : โฮมโกรน เทอเรอริสซึ่ม) ได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการโจมตีนครปารีสเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 137 คน (เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ 130 คนและผู้ก่อการร้าย 7 คน) ต่อเนื่องมาจนถึงการโจมตีกรุงบรัสเซลล์ นครหลวงของประเทศเบลเยี่ยมครั้งล่าสุด

ทั้งนี้เพราะการโจมตีดังกล่าว ลงมือกระทำโดยความร่วมมือ ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นประชากรของประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมเป็นแกนนำ กับกลุ่มบุคคลจากภายนอกประเทศ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อะไรคือสาเหตุของการก่อการร้ายบนผืนแผ่นดินเกิดของตนเอง บทความฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของการก่อเหตุรุนแรงในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของผู้ก่อการร้าย รวมไปถึงมูลเหตุจูงใจตลอดจนการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการก่อการร้ายในลักษณะดังกล่าวพอสังเขป

"การก่อการร้ายในบ้านเกิด" หมายถึงการก่อเหตุรุนแรงขึ้นภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง  เป็นการกระทำขึ้นโดยผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็น "ประชากร" (citizen) หรือ "ผู้มีถิ่นฐานถาวร" (permanent resident) ในประเทศนั้นเอง อีกทั้งเป็นการกระทำที่มุ่งให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในบ้านเกิดเมืองนอนของตน โดยมีเป้าหมายในการสร้าง "อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว" ให้เกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ศาสนา หรือ ความเชื่อ

ในปัจจุบันการก่อการร้ายในลักษณะนี้ ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางสงครามศาสนา หรือ สงครามศักดิ์สิทธิ์ (จีฮาด : Jihad) ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส (IS: Islamic State) ซึ่งกำลังโหมกระพือกระแสการก่อการร้ายในบ้านเกิดเมืองนอน ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" อาจเกี่ยวเนื่อง หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้ทางศาสนาก็ได้ เพียงแต่มันได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสนำมาใช้เป็นยุทธวิธีสำคัญ ในการปฏิบัติภารกิจของตนในห้วงเวลาที่ผ่านมาอย่างได้ผลนั่นเอง

คำว่า "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" มักได้ยินควบคู่กับคำว่า “โลน วูลฟ์” (Lone Wolf) หรือที่ทางการไทยบัญญัติศัพท์สำหรับคำนี้ว่า "การก่อการร้ายตามลำพัง" บางครั้งถูกแปลว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแบบ “หมาป่าผู้โดดเดี่ยว” ซึ่งมีลักษณะของการก่อเหตุรุนแรงโดยบุคคลเพียงคนเดียว (one - man terrorist cell) อาจจะมีความเชื่อมโยง หรือไม่เชื่อมโยง ไม่ขึ้นตรง หรือไม่มีสายการบังคับบัญชา โยงใย พัวพัน ไปถึงองค์การก่อการร้ายใดๆ ในต่างแดนก็ได้ หากแต่กระทำลงไปโดยมีมูลเหตุจูงใจ หรือมีความคับแค้นส่วนบุคคล ที่ได้รับอิทธิพลหรือแรงกระตุ้นจากลัทธิ สภาวะจิตใจ หรือความเชื่อทางศาสนาจากโลกภายนอก ผ่านการรับรู้ ทั้งจากประสบการณ์โดยตรง การเล่าขานบอกต่อ หรือจากข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ต และสังคมออนไลน์

การปฏิบัติการอย่างอิสระเสรีนี้เอง ทำให้มีความลำบากที่จะควบคุม บังคับบัญชา การปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" แม้แต่องค์การก่อการร้ายระดับชาติ ก็ไม่มีขีดความสามารถที่จะควบคุมเหล่านักรบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" มีความน่ากลัว ไม่แพ้การก่อการร้ายในลักษณะกลุ่มเลยทีเดียว

ตัวอย่างของการก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" คือ การโจมตีอาคารสหพันธ์ อัลเฟรด เมอร์ราห์ (Alfred Murrah Federal Building) ในเมือง "โอกลาโฮม่า" เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ..2538 ด้วยรถบรรทุกระเบิดที่มีน้ำหนักมากกว่า 5,000 ปอนด์ (2,300 กิโลกรัม) ของนาย ทิโมธี แมคเวฮ์ (Timothy McVeigh) ชาวอเมริกันที่มีถิ่นกำเนิดในนครนิวยอร์ค และเป็นอดีตทหารผ่านศึก ผู้เคยได้รับเหรียญกล้าหาญชั้น "บรอนซ์ สตาร์" จากการปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก

การก่อการร้ายของนายทิโมธี แมคเวฮ์ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" ในครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 168 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 20 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวน 684 คน และในที่สุดนายทิโมธี แมคเวฮ์ ก็ถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต ด้วยการฉีดยาพิษในวันที่ 11 มิถุนายน พ..2544

"การก่อการร้ายในบ้านเกิด" อาจมีลักษณะการก่อเหตุเพียงลำพังแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยวหรือ โลน วูลฟ์" ดังเช่นนายทิโมธี แมคเวฮ์ หรืออาจจะกระทำเป็นกลุ่มบุคคลมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปก็ได้

ดังเช่น การโจมตีกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส และย่านแซงเดนีส์ (Saint Denis) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ประมาณ 9 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ..2558 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายประกอบด้วยชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด เช่น นายไบลาล ฮัดฟี (Bailal Hadfi) ฉายา "นักรบพระเจ้าหน้าอ่อน" (baby - faced Jihadi) อายุ 20 ปี มือระเบิดพลีชีพคนแรก ที่โจมตีสนามกีฬาแห่งชาติ "สตาด เดอ ฟรองส์" (Stade de France) เขาเป็นประชากรฝรั่งเศส ในขณะที่บรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศโมรอคโค ส่วนนายไบลาล ฮัดฟีไปเติบโต และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเบลเยี่ยม โดยก่อนหน้าการก่อเหตุครั้งนี้ เขาได้เดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย โดยบอกแม่ของตนว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศโมรอคโค

กลุ่มผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด ดังเช่น นายไบลาล ฮัดฟี ได้ร่วมกับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมจำนวน 9 คน ก่อเหตุรุนแรง โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด ชุดละ 3 คน เข้าโจมตีสถานที่ต่างๆ จำนวน 6 แห่ง ด้วยการกราดยิง การจับตัวประกัน และการใช้ระเบิดพลีชีพ ผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน และเสียชีวิตในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจของแซงเดนีส์ อีก 2 คนในการตามล่าอีก 5 วันต่อมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" และกลุ่ม "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว : โลน วูลฟ์" มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เนื่องจากภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง จี้เครื่องบินแล้วพุ่งชนตึก เวิร์ล เทรด เซนเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ค ในเหตุการณ์ 9/11 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ..2544 (..2001) แล้วโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศต่างๆ ได้เพิ่มมาตรการที่เข้มงวด ในการตรวจคนเข้าเมืองให้อยู่ในระดับสูงสุด ตลอดจนหน่วยงานข่าวกรองของแต่ละประเทศ ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเส้นทางการเดินทางของกลุ่มผู้ก่อการร้าย รวมไปถึงเส้นทางการเงินที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้ฟอกเงิน เพื่อนำไปเป็นทุนในการปฏิบัติการ ทั้งนี้นับเป็นความพยายามของโลกตะวันตก ที่จะสร้างเกราะป้องกันดินแดนและประชากรของตน จากการเดินทางเข้ามาของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ

ความเข้มงวดกวดขันดังกล่่าวนี้เอง ที่ทำให้ยุทธวิธี "การส่งออก" การก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง ไปสู่ประเทศเป้าหมายในโลกตะวันตกของกลุ่มก่อการร้ายประสบความยากลำบาก และมีผู้ก่อการร้ายจำนวนมากถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางเข้าสู่ประเทศเป้าหมาย บ้างก็ถูกตามล่าแทบพลิกดิน

ดังนั้นเมื่อยุทธวิธีการส่งออกการก่อการร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายประสบกับอุปสรรคนานัปการ จึงมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีในการเข้าโจมตีที่หมาย ด้วยการหันมาใช้ยุทธวิธีใหม่แบบ "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" แทนยุทธวิธีแบบดั้งเดิม โดยมุ่งใช้ประชากรหรือผู้มีถิ่นฐานถาวรในประเทศเป้าหมายนั้นเอง ทำหน้าที่เป็น "จักรกลการก่อการร้าย" ในการเข้าโจมตีประเทศโลกตะวันตก ดังเช่น ในเอกสารวิจัยของสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า มีการจับกุมผู้ก่อการร้ายในประเทศสหรัฐฯ ที่มีสถานะเป็นประชากรของประเทศหรือมีสถานะเป็นผู้ได้รับสิทธิให้ตั้งถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ เป็นจำนวนถึง 22 คน ที่กำลังวางแผนก่อการร้ายในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเดือนพฤษภาคม  พ..2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ..2553 ทั้งๆที่หลังจากเหตุการณ์ 9/11มาเป็นเวลาถึง 7 ปี มีกลุ่มก่อการร้ายสามารถเดินทางเข้าไปในสหรัฐฯ ได้เพียง 21ครั้งเท่านั้น และถูกจับกุมเกือบทั้งหมดมีเพียง 2 ครั้ง ที่ประสบความสำเร็จในการลงมือ

นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวของการใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้ายในบ้านเกิด" จนกระทั่งอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ (CIA:  Central Intelligence Agency) นายไมเคิล เฮย์เดน (Michael Heyden) ยอมรับว่า "..การก่อการร้ายในบ้านเกิดได้กลายเป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯ ที่มีระดับสูงมากที่สุดภัยหนึ่งในปัจจุบัน..”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การค้นหาบุคคลเพื่อนำมาเป็นผู้ปฏิบัติการใน "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" ของกลุ่มก่อการร้ายประสบความสำเร็จอย่างมาก ก็เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา พวกเขาพบว่า ในสังคมโลกตะวันตกยังมีช่องว่างระหว่างชนชั้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบุคคลที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากโลกที่สาม แม้จะอพยพเข้ามาตั้งรกรากเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ยังคงมีบางส่วนที่อยู่ในสถานะ "ชนชั้นสอง" ของประเทศตะวันตก

นอกจากนี้ยังมีช่องว่างทางศาสนาและเชื้อชาติ ซึ่งเป็นเสมือนองค์ประกอบสำคัญในการตอกลิ่มแห่งความแตกแยกลงในสังคมตะวันตก ดังเช่น ในฝรั่งเศสที่มีผู้อพยพจากดินแดนอาณานิคมในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น โมรอคโค และอัลจีเรีย อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อดีตอาณานิคมเหล่านี้ล้วนแต่มีปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กับฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าอาณานิคมทั้งสิ้น จนอาจกล่าวได้ว่า กว่าจะได้รับเอกราชมาต้องรบพุ่งกันอย่างสุดความสามารถ ปมประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกนำมาผูกร้อยเป็นอดีตอันเจ็บปวดและเคียดแค้น ก่อนที่จะถูกเติมเต็มด้วยความคิดชาตินิยมสุดขั้ว ทำให้ผู้อพยพบางกลุ่มแม้จะอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสมานานหลายสิบปี ก็ยังไม่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมฝรั่งเศสได้

นอกจากปมประวัติศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ในห้วงเวลาที่ผ่านมาฝรั่งเศสยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายการหลอมรวมทางเชื้อชาติที่แย่ที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป อีกทั้งยังมีนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพที่ล้าสมัยกว่า 40 ปี สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับการตีความหลักศาสนาแบบสุดโต่ง เพื่อให้สนับสนุนแนวความคิดในการก่อตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ ตลอดจนการประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ "จีฮาด" เพื่อปลดแอกโลกตะวันตก ที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าได้ทำการกดขี่โลกอิสลามมานับศตวรรษ

กล่าวกันว่า "เชื้อเพลิงชั้นดี" ที่เป็นจุดกระตุ้นให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่ม หันมาประกาศตนว่าเป็น "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" คือการโจมตีปาเลสไตน์ของกองทัพอิสราเอล, การโจมตีอิรักและอัฟกานิสถานของกองทัพสหรัฐฯ และการโจมตีซีเรียของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกนั่นเอง เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงความไม่เท่าเทียมกัน ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ผู้คนในศาสนาของพวกเขาจากโลกตะวันตก

ภาพของเด็กและสตรีที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกโจมตีด้วยเครื่องบินรบของโลกตะวันตกและอิสราเอล ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนแปรเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชมบางคนให้กลายเป็น "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" อย่างสมบูรณ์ในที่สุด

ความไม่เท่าเทียมกันในฐานะทางสังคม และปมประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ได้ส่งผลให้กลุ่มผู้อพยพเหล่านี้ อยู่ในสภาวะถูกกีดกันจากสังคมรอบข้าง เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสยังโหมเติมเชื้อเพลิงในประเด็นทางศาสนาและความเชื่อลงไปอีก ด้วยการออกกฏหมายเมื่อปี พ..2547 ห้ามสตรีมุสลิมสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนมัธยม (ยกเว้นมหาวิทยาลัย) รวมทั้งมีการออกกฏหมายในปี พ..2553 กำหนดห้ามมิให้สตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าแบบ "นิกอบ" (Niqab / Nikob) หรือผ้าคลุมแบบปิดใบหน้าทั้งหมด แม้จะไม่ห้ามการสวมหมวกคลุมผมก็ตาม แต่ชาวมุสลิมในฝรั่งเศสต่างมองว่า กฏหมายเหล่านี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพทางศาสนาของตน จนเกิดเหตุการณ์บานปลาย เมื่อเดือนตุลาคม พ..2557 ที่ผ่่านมา เมื่อมหาวิทยาลัยลา ซอร์บอง (La Sorbonne) ได้ออกระเบียบให้นักศึกษาหญิงมุสลิมถอดผ้าคลุมผม หรือผ้า "ฮิญาบ" (Hijab) ออก ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิเข้าเรียน เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝรั่งเศสมีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนถึงกว่า 5 ล้านคน ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ ทำให้ฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตกต้องได้รับผลจาก "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" จากกลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องความไม่เท่าเทียมกันหรือการแบ่งชนชั้นในสังคม อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และเหล่า "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" เพียงอย่างเดียว จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายดังกล่าว บางส่วนเป็นผู้มีฐานะทางสังคม มีฐานะทางการเงิน และหน้าที่การงานที่มั่นคง

แต่ด้วยการอาศัยปัจจัยทางประวัติศาสตร์ และการกระทำที่ขาดความเป็นธรรมในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งต่อโลกในอุดมคติ หรือต่อโลกมุสลิม ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า ตนเองถูกรังแกจากสังคมส่วนรวม ก่อนที่จะถูกปลุกเร้าจากอินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ที่กลุ่มก่อการร้ายใช้เป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีความคิดที่รุนแรง โกรธเกรี้ยว และต้องการแก้แค้น ดังเช่น กรณีของนายทิโมธี แมคเวฮ์ ผู้ก่อเหตุระเบิดที่เมืองโอกลาโฮม่าของสหรัฐฯ  ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทิโมธี แมคเวฮ์ มีฐานะทางการงานที่สมบูรณ์ครบถ้วน เคยประสบความสำเร็จถึงขั้นได้รับเหรียญกล้าหาญ "บรอนซ์ สตาร์" ในกองทัพสหรัฐฯ หากแต่มูลเหตุจูงใจในการเป็น "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" กระทำการก่อการร้ายในบ้านเกิดของเขา ก็เนื่องมาจากความคับแค้นใจในการโจมตีโบสถ์ ลัทธิดาวิเดียน (Davidians) ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในปี พ..2536 จนเป็นเหตุให้สาวกดาวิเดียนเสียชีวิตถึง 82 คน เป็นต้น 

จึงอาจกล่าวได้ว่า "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" อาจไม่ใช่ผลิตผลของความยากจน การกดขี่ของชนชั้น การตกงานยาเสพติด การขาดการศึกษาอาชญากร หรือคนป่วยโรคจิต แต่พวกเขาอาจเป็นผลิตผลของสังคม ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน มีความอบอุ่นทางครอบครัว มีหน้ามีตาในสังคม มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาที่สมบูรณ์ก็เป็นได้ หากแต่พวกเขาได้รับทราบข้อมูลหรือมีประสบการณ์ตรง ที่แสดงออกถึงความไม่เป็นธรรม ทั้งด้านการเมือง  ศาสนาและสังคม จนผันตัวเองจากมนุษย์ปุถุชนคนธรรดาไปสู่ความเป็น "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" หรือ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" ในที่สุด

จากสถิติในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิดมักจะอยู่ในช่วงอายุที่หลากหลาย เช่น  เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย หรืออาจเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี บางคนก็เป็นสมาชิกในกองทัพ แต่เกือบทั้งหมดแทบจะเคยเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง หรือค้นคว้าผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณาชวนเชื่อผ่านอินเตอร์เน็ตของกลุ่มไอเอส ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการโฆษณาชวนเชื่อในระดับแนวหน้า ทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับรู้เรื่องราวจนถึงขั้น "ซึมซับเป็นเนื้อเดียว" กับแนวความคิดทางศาสนาแบบสุดโต่ง จนนำไปสู่ความคับแค้นใจและตัดสินใจละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน หน้าที่การงาน เพื่อเดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง ก่อนที่จะกลับมาเพื่อทำการก่อการร้ายในบ้านเกิดของตนเอง

มีข้อสังเกตุประการหนึ่งจากกลุ่มไอเอส คือกลุ่มอาสาสมัครจากยุโรปและชาติตะวันตกบางส่วนที่เดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรักนั้น กลุ่มไอเอสลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ “ไม่มีคุณค่าทางทหาร” (no military value) เพราะขาดประสบการณ์ต้องเสียเวลาในการฝึกฝน บางกลุ่มก็มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะพลิกผันสถานการณ์การสู้รบในแนวหน้าได้

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มไอเอสกลับมองว่า บุคคลที่ไร้ประสบการณ์เหล่านี้จะกลายเป็น "ทรัพยากรอันทรงคุณค่า" ของกลุ่ม เมื่อพวกเขาได้นำเอา "สนามรบ" (battlefield) จากตะวันออกกลาง ติดตัวเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน และกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวของโลกยุคก่อการร้าย ในฐานะ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" ผู้ที่จะทำให้ "..แม้แต่สวนดอกไม้หลังบ้าน แปรเปลี่ยนเป็นสนามรบอันนองเลือดได้ .."

ข้อได้เปรียบของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" นั้น มีอยู่หลากหลายเช่น การเป็นประชากรของประเทศนั้น ทำให้ไม่มีปัญหาในการส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะการจัดซื้อ จัดหาสินค้าต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็น อาวุธปืน เครื่องกระสุน อุปกรณ์สำหรับประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง เครื่องมือสื่อสาร แผนที่ ยานพาหนะและยารักษาโรค เป็นต้น

นอกจากนี้การเป็นประชากรในประเทศนั้น จะส่งผลให้ทางตำรวจหรือหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ประสบกับความยากลำบากในการติดตาม หาเบาะแส เนื่องจากไม่มีข้อสงสัย ไม่เคยเป็นเป้าหมายของทางการ ไม่มีรายชื่ออยู่ในแบล็คลิสต์ ไม่มีประวัติการก่ออาชญากรรม เพราะพวกเขามีลักษณะเหมือนปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั่วไป ทางการของโลกตะวันตกเรียกกลุ่มบุคคลเหล่านี้ว่า "พวกผิวสะอาด" (Clean skin) หมายถึงไม่มีประวัติที่เสื่อมเสียใดๆ

ตัวอย่างการโจมตีของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" ที่มีลักษณะ "ผิวสะอาด" หรือ "ไร้ประวัติด่างพร้อย" ก็เช่น การโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ..2548 ของมือระเบิดพลีชีพ จำนวน 4 คน โดยทั้งหมดมีประวัติสะอาดบริสุทธิ์เยี่ยงบุคคลธรรมดา เช่น นายโมฮัมหมัด ซีดีค ข่าน (Mohammad Sidique Khan)  วัย 30 ปี ผู้จุดระเบิดพลีชีพบนรถไฟใต้ดินขบวนที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองแพดดิงตัน (Paddington) จนมีผู้เสียชีวิต 7 คน รวมทั้งตัวของเขาเอง นายซีดีค ข่าน เกิดในอังกฤษ มีเชื้อสายปากีสถาน อาศัยอยู่ที่เมืองลีดส์ (Leeds) กับภรรยาและลูกๆ ทำงานประจำอยู่ที่โรงเรียนประถมในชุมชน ส่วนมือระเบิดพลีชีพอีกคนหนึ่ง คือ นายฮาซิบ ฮุสเซน (Hasib Hussain) ซึ่งมีอายุเพียง 18 ปี เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด และมีเชื้อสายปากีสถานเช่นกัน นายฮุสเซนจุดระเบิดพลีชีพบนชั้นสองของรถประจำทางสองชั้น บริเวณจตุรัสทาวิสต็อค (Tavistock Square) กลางกรุงลอนดอน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 14คน รวมทั้งตัวของเขาเองด้วย นายฮาซิบ ฮุสเซนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อาศัยอยู่ในเมืองลีดส์กับพี่ชายและพี่สะใภ้ เป็นที่สังเกตว่าผู้ก่อการร้ายทั้งหมดในการก่อเหตุที่กรุงลอนดอนในครั้งนั้น ไม่เคยอยู่ในความสนใจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐมาก่อนเลย จนกระทั่งพวกเขาก่อเหตุขึ้นและกลายเป็น "ภัยคุกคามที่ไม่อาจรับรู้ได้" (unknown threat) ในที่สุด

นอกจากนี้หลักสิทธิมนุษยชนที่เคร่งครัดของโลกตะวันตกยังเป็นจุดอ่อนในการติดตามและควบคุมผู้ต้องสงสัยในประเทศของตน ดังเช่น กรณีของการก่อเหตุกราดยิงสำนักงานนิตยสาร ชาร์ลี เอปโด (Charlie Hebdo) ในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ..2558 นั้น พบว่าหนึ่งในผู้ก่อการร้ายคือ เชรีฟ คูอาชี่ (Cherif Kouachi) เคยถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมตัวเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนนั่นเอ

ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และเหล่า "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" คือ มีขีดความสามารถในการเข้าถึงที่หมาย เพื่อลงมือปฏิบัติการ "สูงกว่า" ผู้ก่อการร้ายจากภายนอกประเทศ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ มีความคุ้นเคยกับผู้คนในชุมชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คุ้นเคยกับกฎ ระบบระเบียบ การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนมีความคุ้นเคยกับเส้นทางที่จะใช้ในการปฏิบัติการ ทำให้รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการก่อการร้ายที่ต่ำ เพราะมีแหล่งรายได้เป็นของตนเอง สามารถดำรงชีพได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องปิดบังซ่อนเร้น อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาด้านการเงินของกลุ่มก่อการร้ายที่ถูกทางการของประเทศต่างๆ สกัดเส้นทางการถ่ายโอนเงินจนแทบเป็นอัมพาต ทำให้การก่อการร้ายในลักษณะนี้เป็นการก่อการร้ายที่ "ลงทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง" ด้วยขีดความสามารถดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ที่ทำให้ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" ได้กลายเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพขององค์การก่อการร้ายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

สำหรับข้อด้อยของ "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" และผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุสำคัญที่จะให้ความน่าสพรึงกลัวของการก่อการร้ายดังกล่าวลดลงแต่อย่างใด เช่น การขาดสายงานบังคับบัญชาจากองค์การหรือกลุ่มก่อการร้าย ทำให้มีการปฏิบัติการที่เป็นเอกเทศไร้การควบคุม อาจเรียกง่ายๆ ว่า "ต่างคนต่างทำ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน"

ข้อด้อยอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาในการฝึกฝนการใช้อาวุธซึ่งแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างสำหรับผู้ก่อการร้ายหน้าใหม่ที่ด้อยประสบการณ์ หรือไม่เคยเดินทางไปปฏิบัติการในสนามรบจริง แต่ก็สามารถทดแทนได้ด้วยการศึกษาค้นคว้าผ่านสื่อออนไลน์ที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป ดังเช่น  กรณีการวางแผนโจมตีจตุรัส "ไทมส์ สแควร์" (Times Square) ในมหานครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ด้วยรถยนต์บรรทุกระเบิดเมื่อวันที่ 1พฤษภาคม พ..2553 ของนาย ไฟซาล ชาห์ซาด (Faisal Shahzad) ผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" แต่เกิดความผิดพลาดในการต่อสายชนวนระเบิด อันเนื่องมาจากขาดความชำนาญ ทำให้ระเบิดไม่ทำงาน และนายไฟซาล ชาห์ซาด ก็ถูกจับกุม ขณะกำลังจะหลบหนีออกนอกประเทศ เขาเปิดเผยว่าใช้เวลาศึกษาการก่อการร้ายในระยะเวลาอันสั้น โดยฝึกการทำระเบิดจากกลุ่มตาลีบัน ในปากีสถาน ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ใช้เวลาเรียนรู้เพียงสามถึงห้าวันเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจุดระเบิด สำหรับประวัติของนายไฟซาล ชาห์ซาด นั้น เขาเกิดในประเทศปากีสถาน มาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง บิดาของเขาเป็นนายพลแห่งกองทัพอากาศปากีสถาน มีการศึกษาที่สมบูรณ์ เดินทางมาศึกษาปริญญาตรีในสหรัฐฯ จนสำเร็จปริญญาโทและได้ทำงานในแผนกบัญชีของบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำของโลก "อลิซาเบธ อาเดน (Elizabeth Arden) ในรัฐคอนเนคติกัต (Connecticut) ก่อนที่จะได้รับ "กรีนคาร์ด" (Green card) และเป็นประชากรของสหรัฐฯ (U.S.Citizen) ในปี พ..2552

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น การก่อการร้ายในลักษณะ “กระทำในบ้านเกิด” ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดังเช่น เมื่อปี พ..2524 เครื่องบิน ดีซี-9 ของสายการบินภายในประเทศอินโดนีเซีย "การูด้า แอร์ไลน์" (Garuda Airline) เที่ยวบินที่ จีเอ 206 (GA 206) พร้อมผู้โดยสาร 57 คนที่กำลังเดินทางจากเมืองปาเลมบังไปยังเมืองเมดาน ได้ถูกกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงชาวอินโดนีเซียจำนวน 4 คนที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มคอมมานโด ญิฮาด" (Commando Jihad) จี้มาลงที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือสนามบินดอนเมือง จนหน่วยรบพิเศษ "โคปาสซุส" (KOPASSUS - Kommando Passugan Kusus) ของอินโดนีเซียได้ร่วมมือกับคอมมานโดของกองทัพอากาศไทย บุกชิงตัวประกันจนสำเร็จแม้จะมีหน่วยคอมมานโดของอินโดนีเซียเสียชีวิตขณะปฏิบัติการ 1 นายส่วนกลุ่มก่อการร้ายเสียชีวิตทั้งหมด

นอกจากนี้ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" นายอัมโรซี นูร์ฮาไซอิม (Amrozi Nurhasyim) จากอาเจะห์ (Aceh) ได้เปิดฉากโจมตีอินโดนีเซียครั้งสำคัญ ด้วยเหตุการณ์ระเบิดที่ "สาหรีคลับ" (Sari Club) ในย่านกูตา (Kuta) ของเกาะบาหลี เมื่อเดือนตุลาคม พ..2545 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลก และนับเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย เพราะมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง 202 คน บาดเจ็บอีก 209 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวตะวันตกและออสเตรเลียจำนวนถึง 164 คน

"ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" คนสำคัญคนหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือนายโมฮัมหมัด บาห์รุน นาอีม (Mohammad Bahrun Naim) วัย 33 ปีเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้บงการ การโจมตีกรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ..2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แม้การโจมตีจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเช่นการโจมตีในกรุงปารีส แต่ก็นับว่าเป็นการประกาศศักดาของกลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นเสมือน "นาฬิกาปลุก" ที่แจ้งเตือนว่ากลุ่มไอเอสได้สยายปีกมาถึงภูมิภาคแห่งนี้แล้ว

แหล่งข่าวระบุว่า นายบาห์รุน นาอีม คือผู้ก่อตั้งกลุ่ม "กาติบาห์ นูซันตารา ลิด ดาอูลาห์ อิสลามิย์ยา" (Katibah Nusantara Lid Daulah Islamiyya) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "กาติบาห์ นูซันตารา" ซึ่งเป็นหน่วยรบสาขาย่อยของกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรัก ที่มีกำลังพลใช้ภาษามลายูเป็นหลักมี ที่ตั้งหน่วยอยู่ที่เมืองรักกา (Raqqa) ในซีเรีย จนกล่าวกันว่าที่นั่นเป็นเสมือนเมืองขนาดย่อมแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย พวกนักรบไอเอสเหล่านี้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนย่อยๆ ทำอาหารด้วยกัน ฝึกการใช้อาวุธร่วมกัน ตลอดจนทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันเยี่ยงนักรบทั่วไป โดยมีนายบาห์รุน นาอีมเป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งเขามีความทะเยอทะยานอย่างมากที่จะเป็นผู้นำกลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเชื่อกันว่านายบาห์รุน นาอีม ยังคงปักหลักบัญชาการหน่วยของเขาอยู่ที่ซีเรีย เพื่อสยายปีกของกลุ่ม "กาติบาห์ นูซันตารา" เข้าสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตน

จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" และผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว : โลนวูล์ฟ" กำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของโลกอันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางสังคมศาสนาและความแตกต่่างทางชนชั้นที่มีอยู่มากมาย และกลายเป็น "จักรกลแห่งการก่อการร้าย" ที่กลุ่มก่อการร้ายมุ่งแสวงประโยชน์และใช้เป็นเครื่องมือโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นความร่วมมือของประชาคมโลกจึงเป็นหนทางสำคัญที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแผ่อิทธิพลของกลุ่มก่อการสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ในที่สุด




 

Create Date : 28 เมษายน 2559    
Last Update : 28 เมษายน 2559 9:07:31 น.
Counter : 2814 Pageviews.  

แผนที่ "เส้นประ 9 เส้น" (nine-dash-line) ในทะเลจีนใต้ ตอนที่ 2

แผนที่ "เส้นประ เส้น" (nine-dash-line) ตอนที่ 2

ต้นกำเนิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

ลงพิมพ์ในวารสาร "หลักเมือง" กระทรวงกลาโหม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ.2557

สงวนลิขสิทธิ์ในการผลิตซ้ำเพื่อการค้า อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น





ทางด้านมาเลเซียนั้น ก็มีการปรับยุทธศาสตร์ให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามในทะเลจีนใต้ แทนการรับมือภัยคุกคามทางบกจากประเทศเพื่อนบ้านทางทิศเหนือและทิศใต้ดังเช่นในอดีต

เนื่องจากมาเลเซียมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ในแนวเส้นประ เส้นของจีนด้วยเช่นกัน มาเลเซียเป็นประเทศแรกๆ ที่สั่งซื้อเรือดำน้ำสกอร์ปีเน่จำนวน ลำ จากการร่วมผลิตของประเทศฝรั่งเศสและสเปน

โดยเรือดำน้ำลำแรก คือเรือดำน้ำ "ตุนกู อับดุล ราห์มานได้เข้าประจำการ ตั้งแต่ปี พ..2552 ส่วนเรือดำน้ำอีกลำหนึ่ง คือ เรือดำน้ำ "ตุนกู อับดุล ราซักเข้าประจำการในปีถัดมา 

เรือดำน้ำทั้งสองลำนี้ เป็นเรือดำน้ำพลังงานดีเซล มีระวางขับน้ำ 1,600 ตัน ความยาว 66.4 เมตร ความเร็วขณะดำน้ำ 20 น๊อต หรือ 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดำน้ำได้ลึกกว่า 300 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโดนำวิถี แบบ "แบล็คชาร์ค" (Blackshark) ขนาด 21 นิ้ว (533 มิลลิเมตรจำนวน ท่อยิง และอาวุธปล่อยนำวิถีจากใต้น้ำต่อต้านเรือผิวน้ำ แบบเอกโซเซต์ เอสเอ็ม 39 ของฝรั่งเศส 

ซึ่งอาวุธปล่อยนำวิถีเอกโซเซต์รุ่นนี้ คล้ายกับรุ่นเอ็มเอ็ม 40 (MM40) ซึ่งเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือ หรือแบบพื้นสู่พื้น ที่ติดตั้งบนเรือเร็วโจมตีชั้น "เปอร์ดานาจำนวน ลำ ซึ่งมาเลเซียสั่งต่อจากฝรั่งเศส และชั้น "ฮันดาลันจำนวน ลำ ที่สั่งต่อจากสวีเดน เพียงแต่ถูกออกแบบให้ยิงจากท่อส่งที่อยู่ภายในเรือดำน้ำเท่านั้น

มาเลเซียได้นำเรือดำน้ำทั้งสองลำเข้าประจำการ ที่ฐานทัพเรือ "เซปังการ์" (Sepanggar) ในรัฐซาบาห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองเรือภาคที่ หรือ "มาวิลล่า ดัวฐานทัพนี้ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ทอดตัวขนานไปกับแนวเส้นประ เส้นที่ และ ของจีน ส่งผลให้เรือดำน้ำดังกล่าว มีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่พิพาททั้งหมด

ทางด้านฟิลิปปินส์นั้นก็เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น ที่ปรับยุทธศาสตร์จากการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางบก ซึ่งมุ่งเน้นการรับมือกับภัยคุกคามภายในประเทศ อันเกิดจากการก่อการร้ายของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะมินดาเนาแห่งนี้ มาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 

แต่เมื่อมีการลงนามครั้งประวัติศาสตร์กับกลุ่มดังกล่าว เพื่อยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ..2557 ที่ผ่านมา ก็ทำให้ภัยคุกคามภายในประเทศของฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มลดลง

ในทางกลับกัน ภัยคุกคามจากจีนในทะเลจีนใต้ กลับทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ฟิลิปปินส์ต้องปรับยุทธศาสตร์มาเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเลและทางอากาศ แม้จะต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนงบประมาณอย่างมากก็ตาม

ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือฟิลิปปินส์ มีเรือฟริเกตเพียงลำเดียว คือเรือ "ราชา ฮัมอาบอนซึ่งเป็นเรือชั้นเดียวกับเรือหลวง "ปิ่นเกล้าของราชนาวีไทย ที่มีอายุกว่า 50 ปี และปลดประจำการไปแล้ว เมื่อปี พ..2551 

แต่เนื่องจากความขาดแคลน ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องใช้เรือดังกล่าวต่อไป การปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือภัยคุกคามทางทะเล ทำให้ฟิลิปปินส์จัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง "มือสองชั้น "แฮมิลตันจากหน่วยป้องกันและรักษาฝั่งสหรัฐฯ จำนวน ลำ เพื่อเข้าประจำการในฐานะเรือฟริเกต 

ประกอบด้วยเรือ "เกรโกริโอ เดล พิลาร์เข้าประจำการ เมื่อปี พ..2554 และ เรือ "รามอน อัลคาราซเข้าประจำการ ในปี พ..2556 ที่ผ่านมา

รวมทั้งจัดซื้อเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ แบบ เอฟ/เอ - 50 ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องบินฝึกความเร็วเหนือเสียง แบบ ที - 50 โกลเด้น อีเกิ้ล ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรมการบินของเกาหลีใต้ จำนวน 12 ลำ มูลค่ากว่า 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นการสั่งซื้อยุทโธปกรณ์ครั้งสำคัญ และมีมูลค่าสูงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของฟิลิปปินส์

โดยเครื่องบินดังกล่าว ลำแรก จะส่งมอบให้กับฟิลิปปินส์ภายในสิ้นปี พ..2557 นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องบินฝึก สำหรับที่เหลืออีก 10 ลำ จะทยอยส่งมอบครั้งละ ลำในทุกๆ เดือน

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมรับมือกับยุทธศาสตร์การแผ่ขยายอาณาเขตของจีนตามแนวทาง "เส้นประ เส้นซึ่งนับแต่นี้ต่อไป ความเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้ จะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศต่างๆ ได้รับอาวุธยุทโธปรณ์ที่สั่งซื้อครบถ้วนแล้ว ก็จะส่งผลให้ "การเผชิญหน้ากับจีนกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป








 

Create Date : 12 ธันวาคม 2557    
Last Update : 12 ธันวาคม 2557 9:33:01 น.
Counter : 3327 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.