VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
การก่อการร้ายในบ้านเกิด (Homegrown terrorism)







การก่อการร้ายในบ้านเกิด (Homegrown terrorism)

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 เมษายน 2559

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น


"การก่อการร้ายในบ้านเกิด" (Homegrown terrorism : โฮมโกรน เทอเรอริสซึ่ม) ได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการโจมตีนครปารีสเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 137 คน (เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ 130 คนและผู้ก่อการร้าย 7 คน) ต่อเนื่องมาจนถึงการโจมตีกรุงบรัสเซลล์ นครหลวงของประเทศเบลเยี่ยมครั้งล่าสุด

ทั้งนี้เพราะการโจมตีดังกล่าว ลงมือกระทำโดยความร่วมมือ ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นประชากรของประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมเป็นแกนนำ กับกลุ่มบุคคลจากภายนอกประเทศ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อะไรคือสาเหตุของการก่อการร้ายบนผืนแผ่นดินเกิดของตนเอง บทความฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของการก่อเหตุรุนแรงในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของผู้ก่อการร้าย รวมไปถึงมูลเหตุจูงใจตลอดจนการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการก่อการร้ายในลักษณะดังกล่าวพอสังเขป

"การก่อการร้ายในบ้านเกิด" หมายถึงการก่อเหตุรุนแรงขึ้นภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง  เป็นการกระทำขึ้นโดยผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็น "ประชากร" (citizen) หรือ "ผู้มีถิ่นฐานถาวร" (permanent resident) ในประเทศนั้นเอง อีกทั้งเป็นการกระทำที่มุ่งให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในบ้านเกิดเมืองนอนของตน โดยมีเป้าหมายในการสร้าง "อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว" ให้เกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ศาสนา หรือ ความเชื่อ

ในปัจจุบันการก่อการร้ายในลักษณะนี้ ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางสงครามศาสนา หรือ สงครามศักดิ์สิทธิ์ (จีฮาด : Jihad) ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส (IS: Islamic State) ซึ่งกำลังโหมกระพือกระแสการก่อการร้ายในบ้านเกิดเมืองนอน ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" อาจเกี่ยวเนื่อง หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้ทางศาสนาก็ได้ เพียงแต่มันได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสนำมาใช้เป็นยุทธวิธีสำคัญ ในการปฏิบัติภารกิจของตนในห้วงเวลาที่ผ่านมาอย่างได้ผลนั่นเอง

คำว่า "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" มักได้ยินควบคู่กับคำว่า “โลน วูลฟ์” (Lone Wolf) หรือที่ทางการไทยบัญญัติศัพท์สำหรับคำนี้ว่า "การก่อการร้ายตามลำพัง" บางครั้งถูกแปลว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแบบ “หมาป่าผู้โดดเดี่ยว” ซึ่งมีลักษณะของการก่อเหตุรุนแรงโดยบุคคลเพียงคนเดียว (one - man terrorist cell) อาจจะมีความเชื่อมโยง หรือไม่เชื่อมโยง ไม่ขึ้นตรง หรือไม่มีสายการบังคับบัญชา โยงใย พัวพัน ไปถึงองค์การก่อการร้ายใดๆ ในต่างแดนก็ได้ หากแต่กระทำลงไปโดยมีมูลเหตุจูงใจ หรือมีความคับแค้นส่วนบุคคล ที่ได้รับอิทธิพลหรือแรงกระตุ้นจากลัทธิ สภาวะจิตใจ หรือความเชื่อทางศาสนาจากโลกภายนอก ผ่านการรับรู้ ทั้งจากประสบการณ์โดยตรง การเล่าขานบอกต่อ หรือจากข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ต และสังคมออนไลน์

การปฏิบัติการอย่างอิสระเสรีนี้เอง ทำให้มีความลำบากที่จะควบคุม บังคับบัญชา การปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" แม้แต่องค์การก่อการร้ายระดับชาติ ก็ไม่มีขีดความสามารถที่จะควบคุมเหล่านักรบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" มีความน่ากลัว ไม่แพ้การก่อการร้ายในลักษณะกลุ่มเลยทีเดียว

ตัวอย่างของการก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" คือ การโจมตีอาคารสหพันธ์ อัลเฟรด เมอร์ราห์ (Alfred Murrah Federal Building) ในเมือง "โอกลาโฮม่า" เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ..2538 ด้วยรถบรรทุกระเบิดที่มีน้ำหนักมากกว่า 5,000 ปอนด์ (2,300 กิโลกรัม) ของนาย ทิโมธี แมคเวฮ์ (Timothy McVeigh) ชาวอเมริกันที่มีถิ่นกำเนิดในนครนิวยอร์ค และเป็นอดีตทหารผ่านศึก ผู้เคยได้รับเหรียญกล้าหาญชั้น "บรอนซ์ สตาร์" จากการปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก

การก่อการร้ายของนายทิโมธี แมคเวฮ์ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" ในครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 168 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 20 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวน 684 คน และในที่สุดนายทิโมธี แมคเวฮ์ ก็ถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต ด้วยการฉีดยาพิษในวันที่ 11 มิถุนายน พ..2544

"การก่อการร้ายในบ้านเกิด" อาจมีลักษณะการก่อเหตุเพียงลำพังแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยวหรือ โลน วูลฟ์" ดังเช่นนายทิโมธี แมคเวฮ์ หรืออาจจะกระทำเป็นกลุ่มบุคคลมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปก็ได้

ดังเช่น การโจมตีกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส และย่านแซงเดนีส์ (Saint Denis) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ประมาณ 9 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ..2558 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายประกอบด้วยชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด เช่น นายไบลาล ฮัดฟี (Bailal Hadfi) ฉายา "นักรบพระเจ้าหน้าอ่อน" (baby - faced Jihadi) อายุ 20 ปี มือระเบิดพลีชีพคนแรก ที่โจมตีสนามกีฬาแห่งชาติ "สตาด เดอ ฟรองส์" (Stade de France) เขาเป็นประชากรฝรั่งเศส ในขณะที่บรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศโมรอคโค ส่วนนายไบลาล ฮัดฟีไปเติบโต และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเบลเยี่ยม โดยก่อนหน้าการก่อเหตุครั้งนี้ เขาได้เดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย โดยบอกแม่ของตนว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศโมรอคโค

กลุ่มผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด ดังเช่น นายไบลาล ฮัดฟี ได้ร่วมกับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมจำนวน 9 คน ก่อเหตุรุนแรง โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด ชุดละ 3 คน เข้าโจมตีสถานที่ต่างๆ จำนวน 6 แห่ง ด้วยการกราดยิง การจับตัวประกัน และการใช้ระเบิดพลีชีพ ผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน และเสียชีวิตในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจของแซงเดนีส์ อีก 2 คนในการตามล่าอีก 5 วันต่อมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" และกลุ่ม "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว : โลน วูลฟ์" มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เนื่องจากภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง จี้เครื่องบินแล้วพุ่งชนตึก เวิร์ล เทรด เซนเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ค ในเหตุการณ์ 9/11 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ..2544 (..2001) แล้วโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศต่างๆ ได้เพิ่มมาตรการที่เข้มงวด ในการตรวจคนเข้าเมืองให้อยู่ในระดับสูงสุด ตลอดจนหน่วยงานข่าวกรองของแต่ละประเทศ ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเส้นทางการเดินทางของกลุ่มผู้ก่อการร้าย รวมไปถึงเส้นทางการเงินที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้ฟอกเงิน เพื่อนำไปเป็นทุนในการปฏิบัติการ ทั้งนี้นับเป็นความพยายามของโลกตะวันตก ที่จะสร้างเกราะป้องกันดินแดนและประชากรของตน จากการเดินทางเข้ามาของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ

ความเข้มงวดกวดขันดังกล่่าวนี้เอง ที่ทำให้ยุทธวิธี "การส่งออก" การก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง ไปสู่ประเทศเป้าหมายในโลกตะวันตกของกลุ่มก่อการร้ายประสบความยากลำบาก และมีผู้ก่อการร้ายจำนวนมากถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางเข้าสู่ประเทศเป้าหมาย บ้างก็ถูกตามล่าแทบพลิกดิน

ดังนั้นเมื่อยุทธวิธีการส่งออกการก่อการร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายประสบกับอุปสรรคนานัปการ จึงมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีในการเข้าโจมตีที่หมาย ด้วยการหันมาใช้ยุทธวิธีใหม่แบบ "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" แทนยุทธวิธีแบบดั้งเดิม โดยมุ่งใช้ประชากรหรือผู้มีถิ่นฐานถาวรในประเทศเป้าหมายนั้นเอง ทำหน้าที่เป็น "จักรกลการก่อการร้าย" ในการเข้าโจมตีประเทศโลกตะวันตก ดังเช่น ในเอกสารวิจัยของสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า มีการจับกุมผู้ก่อการร้ายในประเทศสหรัฐฯ ที่มีสถานะเป็นประชากรของประเทศหรือมีสถานะเป็นผู้ได้รับสิทธิให้ตั้งถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ เป็นจำนวนถึง 22 คน ที่กำลังวางแผนก่อการร้ายในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเดือนพฤษภาคม  พ..2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ..2553 ทั้งๆที่หลังจากเหตุการณ์ 9/11มาเป็นเวลาถึง 7 ปี มีกลุ่มก่อการร้ายสามารถเดินทางเข้าไปในสหรัฐฯ ได้เพียง 21ครั้งเท่านั้น และถูกจับกุมเกือบทั้งหมดมีเพียง 2 ครั้ง ที่ประสบความสำเร็จในการลงมือ

นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวของการใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้ายในบ้านเกิด" จนกระทั่งอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ (CIA:  Central Intelligence Agency) นายไมเคิล เฮย์เดน (Michael Heyden) ยอมรับว่า "..การก่อการร้ายในบ้านเกิดได้กลายเป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯ ที่มีระดับสูงมากที่สุดภัยหนึ่งในปัจจุบัน..”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การค้นหาบุคคลเพื่อนำมาเป็นผู้ปฏิบัติการใน "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" ของกลุ่มก่อการร้ายประสบความสำเร็จอย่างมาก ก็เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา พวกเขาพบว่า ในสังคมโลกตะวันตกยังมีช่องว่างระหว่างชนชั้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบุคคลที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากโลกที่สาม แม้จะอพยพเข้ามาตั้งรกรากเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ยังคงมีบางส่วนที่อยู่ในสถานะ "ชนชั้นสอง" ของประเทศตะวันตก

นอกจากนี้ยังมีช่องว่างทางศาสนาและเชื้อชาติ ซึ่งเป็นเสมือนองค์ประกอบสำคัญในการตอกลิ่มแห่งความแตกแยกลงในสังคมตะวันตก ดังเช่น ในฝรั่งเศสที่มีผู้อพยพจากดินแดนอาณานิคมในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น โมรอคโค และอัลจีเรีย อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อดีตอาณานิคมเหล่านี้ล้วนแต่มีปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กับฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าอาณานิคมทั้งสิ้น จนอาจกล่าวได้ว่า กว่าจะได้รับเอกราชมาต้องรบพุ่งกันอย่างสุดความสามารถ ปมประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกนำมาผูกร้อยเป็นอดีตอันเจ็บปวดและเคียดแค้น ก่อนที่จะถูกเติมเต็มด้วยความคิดชาตินิยมสุดขั้ว ทำให้ผู้อพยพบางกลุ่มแม้จะอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสมานานหลายสิบปี ก็ยังไม่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมฝรั่งเศสได้

นอกจากปมประวัติศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ในห้วงเวลาที่ผ่านมาฝรั่งเศสยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายการหลอมรวมทางเชื้อชาติที่แย่ที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป อีกทั้งยังมีนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพที่ล้าสมัยกว่า 40 ปี สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับการตีความหลักศาสนาแบบสุดโต่ง เพื่อให้สนับสนุนแนวความคิดในการก่อตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ ตลอดจนการประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ "จีฮาด" เพื่อปลดแอกโลกตะวันตก ที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าได้ทำการกดขี่โลกอิสลามมานับศตวรรษ

กล่าวกันว่า "เชื้อเพลิงชั้นดี" ที่เป็นจุดกระตุ้นให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่ม หันมาประกาศตนว่าเป็น "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" คือการโจมตีปาเลสไตน์ของกองทัพอิสราเอล, การโจมตีอิรักและอัฟกานิสถานของกองทัพสหรัฐฯ และการโจมตีซีเรียของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกนั่นเอง เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงความไม่เท่าเทียมกัน ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ผู้คนในศาสนาของพวกเขาจากโลกตะวันตก

ภาพของเด็กและสตรีที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกโจมตีด้วยเครื่องบินรบของโลกตะวันตกและอิสราเอล ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนแปรเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชมบางคนให้กลายเป็น "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" อย่างสมบูรณ์ในที่สุด

ความไม่เท่าเทียมกันในฐานะทางสังคม และปมประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ได้ส่งผลให้กลุ่มผู้อพยพเหล่านี้ อยู่ในสภาวะถูกกีดกันจากสังคมรอบข้าง เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสยังโหมเติมเชื้อเพลิงในประเด็นทางศาสนาและความเชื่อลงไปอีก ด้วยการออกกฏหมายเมื่อปี พ..2547 ห้ามสตรีมุสลิมสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนมัธยม (ยกเว้นมหาวิทยาลัย) รวมทั้งมีการออกกฏหมายในปี พ..2553 กำหนดห้ามมิให้สตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าแบบ "นิกอบ" (Niqab / Nikob) หรือผ้าคลุมแบบปิดใบหน้าทั้งหมด แม้จะไม่ห้ามการสวมหมวกคลุมผมก็ตาม แต่ชาวมุสลิมในฝรั่งเศสต่างมองว่า กฏหมายเหล่านี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพทางศาสนาของตน จนเกิดเหตุการณ์บานปลาย เมื่อเดือนตุลาคม พ..2557 ที่ผ่่านมา เมื่อมหาวิทยาลัยลา ซอร์บอง (La Sorbonne) ได้ออกระเบียบให้นักศึกษาหญิงมุสลิมถอดผ้าคลุมผม หรือผ้า "ฮิญาบ" (Hijab) ออก ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิเข้าเรียน เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝรั่งเศสมีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนถึงกว่า 5 ล้านคน ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ ทำให้ฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตกต้องได้รับผลจาก "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" จากกลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องความไม่เท่าเทียมกันหรือการแบ่งชนชั้นในสังคม อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และเหล่า "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" เพียงอย่างเดียว จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายดังกล่าว บางส่วนเป็นผู้มีฐานะทางสังคม มีฐานะทางการเงิน และหน้าที่การงานที่มั่นคง

แต่ด้วยการอาศัยปัจจัยทางประวัติศาสตร์ และการกระทำที่ขาดความเป็นธรรมในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งต่อโลกในอุดมคติ หรือต่อโลกมุสลิม ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า ตนเองถูกรังแกจากสังคมส่วนรวม ก่อนที่จะถูกปลุกเร้าจากอินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ที่กลุ่มก่อการร้ายใช้เป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีความคิดที่รุนแรง โกรธเกรี้ยว และต้องการแก้แค้น ดังเช่น กรณีของนายทิโมธี แมคเวฮ์ ผู้ก่อเหตุระเบิดที่เมืองโอกลาโฮม่าของสหรัฐฯ  ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทิโมธี แมคเวฮ์ มีฐานะทางการงานที่สมบูรณ์ครบถ้วน เคยประสบความสำเร็จถึงขั้นได้รับเหรียญกล้าหาญ "บรอนซ์ สตาร์" ในกองทัพสหรัฐฯ หากแต่มูลเหตุจูงใจในการเป็น "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" กระทำการก่อการร้ายในบ้านเกิดของเขา ก็เนื่องมาจากความคับแค้นใจในการโจมตีโบสถ์ ลัทธิดาวิเดียน (Davidians) ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในปี พ..2536 จนเป็นเหตุให้สาวกดาวิเดียนเสียชีวิตถึง 82 คน เป็นต้น 

จึงอาจกล่าวได้ว่า "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" อาจไม่ใช่ผลิตผลของความยากจน การกดขี่ของชนชั้น การตกงานยาเสพติด การขาดการศึกษาอาชญากร หรือคนป่วยโรคจิต แต่พวกเขาอาจเป็นผลิตผลของสังคม ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน มีความอบอุ่นทางครอบครัว มีหน้ามีตาในสังคม มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาที่สมบูรณ์ก็เป็นได้ หากแต่พวกเขาได้รับทราบข้อมูลหรือมีประสบการณ์ตรง ที่แสดงออกถึงความไม่เป็นธรรม ทั้งด้านการเมือง  ศาสนาและสังคม จนผันตัวเองจากมนุษย์ปุถุชนคนธรรดาไปสู่ความเป็น "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" หรือ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" ในที่สุด

จากสถิติในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิดมักจะอยู่ในช่วงอายุที่หลากหลาย เช่น  เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย หรืออาจเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี บางคนก็เป็นสมาชิกในกองทัพ แต่เกือบทั้งหมดแทบจะเคยเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง หรือค้นคว้าผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณาชวนเชื่อผ่านอินเตอร์เน็ตของกลุ่มไอเอส ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์แห่งการโฆษณาชวนเชื่อในระดับแนวหน้า ทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับรู้เรื่องราวจนถึงขั้น "ซึมซับเป็นเนื้อเดียว" กับแนวความคิดทางศาสนาแบบสุดโต่ง จนนำไปสู่ความคับแค้นใจและตัดสินใจละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน หน้าที่การงาน เพื่อเดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง ก่อนที่จะกลับมาเพื่อทำการก่อการร้ายในบ้านเกิดของตนเอง

มีข้อสังเกตุประการหนึ่งจากกลุ่มไอเอส คือกลุ่มอาสาสมัครจากยุโรปและชาติตะวันตกบางส่วนที่เดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรักนั้น กลุ่มไอเอสลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ “ไม่มีคุณค่าทางทหาร” (no military value) เพราะขาดประสบการณ์ต้องเสียเวลาในการฝึกฝน บางกลุ่มก็มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะพลิกผันสถานการณ์การสู้รบในแนวหน้าได้

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มไอเอสกลับมองว่า บุคคลที่ไร้ประสบการณ์เหล่านี้จะกลายเป็น "ทรัพยากรอันทรงคุณค่า" ของกลุ่ม เมื่อพวกเขาได้นำเอา "สนามรบ" (battlefield) จากตะวันออกกลาง ติดตัวเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน และกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวของโลกยุคก่อการร้าย ในฐานะ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" ผู้ที่จะทำให้ "..แม้แต่สวนดอกไม้หลังบ้าน แปรเปลี่ยนเป็นสนามรบอันนองเลือดได้ .."

ข้อได้เปรียบของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" นั้น มีอยู่หลากหลายเช่น การเป็นประชากรของประเทศนั้น ทำให้ไม่มีปัญหาในการส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะการจัดซื้อ จัดหาสินค้าต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็น อาวุธปืน เครื่องกระสุน อุปกรณ์สำหรับประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง เครื่องมือสื่อสาร แผนที่ ยานพาหนะและยารักษาโรค เป็นต้น

นอกจากนี้การเป็นประชากรในประเทศนั้น จะส่งผลให้ทางตำรวจหรือหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ประสบกับความยากลำบากในการติดตาม หาเบาะแส เนื่องจากไม่มีข้อสงสัย ไม่เคยเป็นเป้าหมายของทางการ ไม่มีรายชื่ออยู่ในแบล็คลิสต์ ไม่มีประวัติการก่ออาชญากรรม เพราะพวกเขามีลักษณะเหมือนปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั่วไป ทางการของโลกตะวันตกเรียกกลุ่มบุคคลเหล่านี้ว่า "พวกผิวสะอาด" (Clean skin) หมายถึงไม่มีประวัติที่เสื่อมเสียใดๆ

ตัวอย่างการโจมตีของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" ที่มีลักษณะ "ผิวสะอาด" หรือ "ไร้ประวัติด่างพร้อย" ก็เช่น การโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ..2548 ของมือระเบิดพลีชีพ จำนวน 4 คน โดยทั้งหมดมีประวัติสะอาดบริสุทธิ์เยี่ยงบุคคลธรรมดา เช่น นายโมฮัมหมัด ซีดีค ข่าน (Mohammad Sidique Khan)  วัย 30 ปี ผู้จุดระเบิดพลีชีพบนรถไฟใต้ดินขบวนที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองแพดดิงตัน (Paddington) จนมีผู้เสียชีวิต 7 คน รวมทั้งตัวของเขาเอง นายซีดีค ข่าน เกิดในอังกฤษ มีเชื้อสายปากีสถาน อาศัยอยู่ที่เมืองลีดส์ (Leeds) กับภรรยาและลูกๆ ทำงานประจำอยู่ที่โรงเรียนประถมในชุมชน ส่วนมือระเบิดพลีชีพอีกคนหนึ่ง คือ นายฮาซิบ ฮุสเซน (Hasib Hussain) ซึ่งมีอายุเพียง 18 ปี เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด และมีเชื้อสายปากีสถานเช่นกัน นายฮุสเซนจุดระเบิดพลีชีพบนชั้นสองของรถประจำทางสองชั้น บริเวณจตุรัสทาวิสต็อค (Tavistock Square) กลางกรุงลอนดอน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 14คน รวมทั้งตัวของเขาเองด้วย นายฮาซิบ ฮุสเซนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อาศัยอยู่ในเมืองลีดส์กับพี่ชายและพี่สะใภ้ เป็นที่สังเกตว่าผู้ก่อการร้ายทั้งหมดในการก่อเหตุที่กรุงลอนดอนในครั้งนั้น ไม่เคยอยู่ในความสนใจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐมาก่อนเลย จนกระทั่งพวกเขาก่อเหตุขึ้นและกลายเป็น "ภัยคุกคามที่ไม่อาจรับรู้ได้" (unknown threat) ในที่สุด

นอกจากนี้หลักสิทธิมนุษยชนที่เคร่งครัดของโลกตะวันตกยังเป็นจุดอ่อนในการติดตามและควบคุมผู้ต้องสงสัยในประเทศของตน ดังเช่น กรณีของการก่อเหตุกราดยิงสำนักงานนิตยสาร ชาร์ลี เอปโด (Charlie Hebdo) ในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ..2558 นั้น พบว่าหนึ่งในผู้ก่อการร้ายคือ เชรีฟ คูอาชี่ (Cherif Kouachi) เคยถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมตัวเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนนั่นเอ

ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" และเหล่า "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" คือ มีขีดความสามารถในการเข้าถึงที่หมาย เพื่อลงมือปฏิบัติการ "สูงกว่า" ผู้ก่อการร้ายจากภายนอกประเทศ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ มีความคุ้นเคยกับผู้คนในชุมชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คุ้นเคยกับกฎ ระบบระเบียบ การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนมีความคุ้นเคยกับเส้นทางที่จะใช้ในการปฏิบัติการ ทำให้รู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการก่อการร้ายที่ต่ำ เพราะมีแหล่งรายได้เป็นของตนเอง สามารถดำรงชีพได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องปิดบังซ่อนเร้น อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาด้านการเงินของกลุ่มก่อการร้ายที่ถูกทางการของประเทศต่างๆ สกัดเส้นทางการถ่ายโอนเงินจนแทบเป็นอัมพาต ทำให้การก่อการร้ายในลักษณะนี้เป็นการก่อการร้ายที่ "ลงทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง" ด้วยขีดความสามารถดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ที่ทำให้ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" ได้กลายเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพขององค์การก่อการร้ายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

สำหรับข้อด้อยของ "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" และผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุสำคัญที่จะให้ความน่าสพรึงกลัวของการก่อการร้ายดังกล่าวลดลงแต่อย่างใด เช่น การขาดสายงานบังคับบัญชาจากองค์การหรือกลุ่มก่อการร้าย ทำให้มีการปฏิบัติการที่เป็นเอกเทศไร้การควบคุม อาจเรียกง่ายๆ ว่า "ต่างคนต่างทำ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน"

ข้อด้อยอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาในการฝึกฝนการใช้อาวุธซึ่งแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างสำหรับผู้ก่อการร้ายหน้าใหม่ที่ด้อยประสบการณ์ หรือไม่เคยเดินทางไปปฏิบัติการในสนามรบจริง แต่ก็สามารถทดแทนได้ด้วยการศึกษาค้นคว้าผ่านสื่อออนไลน์ที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป ดังเช่น  กรณีการวางแผนโจมตีจตุรัส "ไทมส์ สแควร์" (Times Square) ในมหานครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ด้วยรถยนต์บรรทุกระเบิดเมื่อวันที่ 1พฤษภาคม พ..2553 ของนาย ไฟซาล ชาห์ซาด (Faisal Shahzad) ผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว" แต่เกิดความผิดพลาดในการต่อสายชนวนระเบิด อันเนื่องมาจากขาดความชำนาญ ทำให้ระเบิดไม่ทำงาน และนายไฟซาล ชาห์ซาด ก็ถูกจับกุม ขณะกำลังจะหลบหนีออกนอกประเทศ เขาเปิดเผยว่าใช้เวลาศึกษาการก่อการร้ายในระยะเวลาอันสั้น โดยฝึกการทำระเบิดจากกลุ่มตาลีบัน ในปากีสถาน ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ใช้เวลาเรียนรู้เพียงสามถึงห้าวันเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจุดระเบิด สำหรับประวัติของนายไฟซาล ชาห์ซาด นั้น เขาเกิดในประเทศปากีสถาน มาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง บิดาของเขาเป็นนายพลแห่งกองทัพอากาศปากีสถาน มีการศึกษาที่สมบูรณ์ เดินทางมาศึกษาปริญญาตรีในสหรัฐฯ จนสำเร็จปริญญาโทและได้ทำงานในแผนกบัญชีของบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำของโลก "อลิซาเบธ อาเดน (Elizabeth Arden) ในรัฐคอนเนคติกัต (Connecticut) ก่อนที่จะได้รับ "กรีนคาร์ด" (Green card) และเป็นประชากรของสหรัฐฯ (U.S.Citizen) ในปี พ..2552

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น การก่อการร้ายในลักษณะ “กระทำในบ้านเกิด” ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดังเช่น เมื่อปี พ..2524 เครื่องบิน ดีซี-9 ของสายการบินภายในประเทศอินโดนีเซีย "การูด้า แอร์ไลน์" (Garuda Airline) เที่ยวบินที่ จีเอ 206 (GA 206) พร้อมผู้โดยสาร 57 คนที่กำลังเดินทางจากเมืองปาเลมบังไปยังเมืองเมดาน ได้ถูกกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงชาวอินโดนีเซียจำนวน 4 คนที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มคอมมานโด ญิฮาด" (Commando Jihad) จี้มาลงที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือสนามบินดอนเมือง จนหน่วยรบพิเศษ "โคปาสซุส" (KOPASSUS - Kommando Passugan Kusus) ของอินโดนีเซียได้ร่วมมือกับคอมมานโดของกองทัพอากาศไทย บุกชิงตัวประกันจนสำเร็จแม้จะมีหน่วยคอมมานโดของอินโดนีเซียเสียชีวิตขณะปฏิบัติการ 1 นายส่วนกลุ่มก่อการร้ายเสียชีวิตทั้งหมด

นอกจากนี้ "ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" นายอัมโรซี นูร์ฮาไซอิม (Amrozi Nurhasyim) จากอาเจะห์ (Aceh) ได้เปิดฉากโจมตีอินโดนีเซียครั้งสำคัญ ด้วยเหตุการณ์ระเบิดที่ "สาหรีคลับ" (Sari Club) ในย่านกูตา (Kuta) ของเกาะบาหลี เมื่อเดือนตุลาคม พ..2545 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลก และนับเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย เพราะมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง 202 คน บาดเจ็บอีก 209 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวตะวันตกและออสเตรเลียจำนวนถึง 164 คน

"ผู้ก่อการร้ายในบ้านเกิด" คนสำคัญคนหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือนายโมฮัมหมัด บาห์รุน นาอีม (Mohammad Bahrun Naim) วัย 33 ปีเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้บงการ การโจมตีกรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ..2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แม้การโจมตีจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเช่นการโจมตีในกรุงปารีส แต่ก็นับว่าเป็นการประกาศศักดาของกลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นเสมือน "นาฬิกาปลุก" ที่แจ้งเตือนว่ากลุ่มไอเอสได้สยายปีกมาถึงภูมิภาคแห่งนี้แล้ว

แหล่งข่าวระบุว่า นายบาห์รุน นาอีม คือผู้ก่อตั้งกลุ่ม "กาติบาห์ นูซันตารา ลิด ดาอูลาห์ อิสลามิย์ยา" (Katibah Nusantara Lid Daulah Islamiyya) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "กาติบาห์ นูซันตารา" ซึ่งเป็นหน่วยรบสาขาย่อยของกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรัก ที่มีกำลังพลใช้ภาษามลายูเป็นหลักมี ที่ตั้งหน่วยอยู่ที่เมืองรักกา (Raqqa) ในซีเรีย จนกล่าวกันว่าที่นั่นเป็นเสมือนเมืองขนาดย่อมแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย พวกนักรบไอเอสเหล่านี้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนย่อยๆ ทำอาหารด้วยกัน ฝึกการใช้อาวุธร่วมกัน ตลอดจนทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันเยี่ยงนักรบทั่วไป โดยมีนายบาห์รุน นาอีมเป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งเขามีความทะเยอทะยานอย่างมากที่จะเป็นผู้นำกลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเชื่อกันว่านายบาห์รุน นาอีม ยังคงปักหลักบัญชาการหน่วยของเขาอยู่ที่ซีเรีย เพื่อสยายปีกของกลุ่ม "กาติบาห์ นูซันตารา" เข้าสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตน

จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า "การก่อการร้ายในบ้านเกิด" และผู้ก่อการร้ายแบบ "หมาป่าผู้โดดเดี่ยว : โลนวูล์ฟ" กำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของโลกอันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางสังคมศาสนาและความแตกต่่างทางชนชั้นที่มีอยู่มากมาย และกลายเป็น "จักรกลแห่งการก่อการร้าย" ที่กลุ่มก่อการร้ายมุ่งแสวงประโยชน์และใช้เป็นเครื่องมือโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นความร่วมมือของประชาคมโลกจึงเป็นหนทางสำคัญที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแผ่อิทธิพลของกลุ่มก่อการสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ในที่สุด




Create Date : 28 เมษายน 2559
Last Update : 28 เมษายน 2559 9:07:31 น. 0 comments
Counter : 2825 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.