VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
ผู้เด็ดปีกพญาอินทรี

ผู้เด็ดปีกพญาอินทรี

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military เดือนสิงหาคม 2552

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


"แม้อากาศยานปีกหมุนของสหรัฐฯ จะมีประสิทธิภาพและสนนราคาที่สูงลิบ แต่ก็ยังถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักโจมตีจนได้รับความเสียหายด้วยอาวุธธรรมดาราคาถูก และนี่คือเรื่องราวของ ... ผู้เด็ดปีกพญาอินทรี ..."






อากาศยานปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์เป็น “จักรกลแห่งสงคราม” ที่มีบทบาทในการสนับสนุนทหารราบมาตั้งแต่สงครามเกาหลี และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัวในสงครามเวียดนาม และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเฮลิคอปเตอร์ก็กลายเป็นยุทโธปกรณ์อันสำคัญยิ่งที่อยู่คู่กับกองทัพต่างๆ ทั่วโลกมาตลอด

ความสำคัญดังกล่าวส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว พร้อมกับภารกิจใหม่ๆ เช่น ภารกิจในการโจมตีข้าศึกด้วยอาวุธนานาชนิด ตั้งแต่ปืนกลไปจนถึงจรวดนำวิถี จนส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์โจมตีบางรุ่นไม่แตกต่างไปจากการเป็น “ป้อมปืนลอยฟ้า” แต่อย่างใด

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ในกองทัพของตนมาตลอด นับตั้งแต่การกำเนิดของอากาศยานปีกหมุนชนิดนี้ รวมทั้งได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสร้าง “จักรกลแห่งสงคราม” ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับตั้งแต่การใช้ในภารกิจลำเลียงทหารราบเข้าสู่สมรภูมิ ภารกิจในขนส่งยุทธภัณฑ์ต่างๆ การขนส่งสายแพทย์ ตลอดจนภารกิจในการลาดตระเวนตรวจการณ์ และภารกิจในการโจมตี

จึงอาจกล่าวได้ว่า เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ นับเป็นอาวุธที่น่าเกรงขามมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ เอเอช 64 อาปาเช่ (AH-64 Apache) ที่มีมูลค่าลำละกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นอากาศยานปีกหมุนที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดแบบหนึ่งของโลกที่สามารถทำลายเป้าหมายได้ในระยะไกลนับไมล์โดยที่ข้าศึกไม่มีโอกาสรู้ตัว

นอกจากนี้ยังรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 60 แบล็คฮอว์ค (UH-60 Blackhawk) ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนส่งทางยุทธวิธีและเอนกประสงค์อันทรงอานุภาพ ที่เข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อสหรัฐฯ เคลื่อนกำลังเข้าสู่อัฟกานิสถานและอิรักในปี 2002 - 2003 เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ได้ร่วมรบเคียงข้างกับทหารอเมริกันสมรภูมิแล้ว สมรภูมิเล่า สร้างความครั่นคร้ามให้กับกองกำลังผู้ต่อต้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการรบในพื้นที่ภูเขาสูงชันของอัฟกานิสถานที่เอเอช 64 ประสบความสำเร็จอย่างมาก

อดีตรองเสนาธิการทหารฝ่ายยุทธการของสหรัฐฯ พลตรีสแตนลีย์ เอ แมคคริสตัล (Stanley A. McChrystal) ซึ่งปัจจุบันดำรงผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานกล่าวว่า

“เฮลิคอปเตอร์ เอเอช 64 อาปาเช่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีข้าศึกในเวลากลางคืน ... มันมีความทนทานมาก ... แม้จะถูกระดมยิงจากข้าศึกอย่างหนัก แต่มันก็ยังคงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายต่อไปจนประสบผลสำเร็จในที่สุด ... มันเป็นเครื่องบินปีกหมุนที่ยอดเยี่ยมที่สุดแบบหนึ่งของเราและของโลก ...”

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังได้เปิดฉากการใช้เอเอช 64 รุ่นที่มีการปรับปรุงใหม่ที่เรียกว่า “เอเอช 64 ดี อาปาเช่ ลองโบว์” (AH 64 D Apache Longbow) ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 1997 อย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรกในอิรัก

อาปาเช่ ลองโบว์นี้ได้ถูกติดตั้งโดมเรดาห์รูปทรงกลมเหนือโรเตอร์ของใบพัด โดยเรดาห์นี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ เพื่อให้สามารถจับเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ถึง 128 เป้าหมายในระยะไกลถึง 7 ไมล์ ที่สำคัญคือสามารถยิงจรวดนำวิถีทั้งแบบอากาศสู่พื้นแบบ เอจีเอ็ม 114 เฮลล์ไฟร์ (AGM 114 Hellfire) และแบบอากาศสู่อากาศแบบ เอไอเอ็ม 92 สติงเจอร์ (AIM 92 Stinger) ออกไปสู่เป้าหมายได้ แม้จะมีเครื่องกีดขวางระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับเป้าหมาย เช่น อาคาร ป่าไม้ หรือ ภูเขา อีกทั้งยังทำให้เอเอช 64 ”อาปาเช่ ลองโบว์” สามารถยิงถล่มเป้าหมายแล้วบินหนีการตรวจจับของข้าศึกได้ก่อนที่เป้าหมายจะถูกทำลายเสียอีก

การปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์แบบ เอเอช 64 ลองโบว์ส่งผลให้มันสามารถทำลายรถถังของอิรักได้เป็นจำนวนมากในช่วงเริ่มต้นของการรบในอิรัก และในปัจจุบันอาปาเช่ก็มีส่วนสำคัญในการโจมตีที่สร้างความสูญเสียให้กับกลุ่มต่อต้านในอิรักโดยเฉพาะการปฏิบัติการในเวลากลางคืน เนื่องจากมีอุปกรณ์ตรวจจับเป้าหมายโดยอาศัยคลื่นความร้อน (PNVS - Pilot Night Vision System) ทำให้สามารถจับเป้าหมายที่เป็นบุคคลและอาวุธได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ แม้ข้าศึกจะอาศัยความมืดและภูมิประเทศเป็นที่ซ่อนตัวก็ตาม

ดังเช่น ความสำเร็จในการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านในยุทธการ โคลด์ ฮาเบอร์ (Operations Cold Harbor), ยุทธการมาร์น ทอร์จ (Operations Marne Torch) และยุทธการโครินธ์ คลิป (Operations Corinth Clip) เป็นต้น

สำหรับเฮลิตอปเตอร์แบบยูเอช 60 แบล็คฮอว์คที่มีมูลค่าเริ่มต้นลำละกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเฮลิคอปเตอร์อีกแบบหนึ่งที่มีชื่อเสียงในสมรภูมิมายาวนานนับตั้งแต่เข้าทดแทนเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 1 (UH 1) ในปี 1979 โดยเริ่มประจำการครั้งแรกในกองพลส่งทางอากาศที่ 101 (101st Airborne Division) จากนั้นก็เข้าสู่สมรภูมิในประเทศเกรนาดา ปานามา และสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ในยุทธการ “พายุทะเลทราย” (Operations Desert Storm) เมื่อปี 1991





จนกระทั่งประสบกับความสูญเสียในโซมาเลีย แต่ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไปในบอลข่าน ไฮติ จนถึงอัฟกานิสถานและอิรักในปัจจุบัน ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาแบล็คฮอว์คได้สร้างผลงานเอาไว้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ยอมรับกันว่า มันเป็นอากาศยานปีกหมุนที่ใช้ในภารกิจขนส่งทางยุทธวิธีขนาดกลางที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อการรบเปลี่ยนรูปแบบไป กำลังหลักของกองทัพอิรักถูกทำลายและกวาดล้างลงราบคาบ หลงเหลือแต่กลุ่มต่อต้านที่หันมาใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร มีพื้นที่ปฏิบัติการกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้สมรภูมิการรบที่เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้เคยครองความได้เปรียบเปลี่ยนแปลงไปสู่สมรภูมิการรบในเมือง (Urban warfare) ที่ซึ่งมีความซับซ้อนทางยุทธวิธีมากขึ้น ส่งผลให้ความสูญเสียของอาปาเช่และแบล็คฮอว์คตลอดจนเฮลิคอปเตอร์แบบอื่นๆ เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น

โดยจากสถิติล่าสุดระบุว่าระหว่างปี 2003 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2009 มีเฮลิคอปเตอร์ทุกแบบของสหรัฐฯ จำนวน 119 เครื่องถูกยิงตกขณะปฏิบัติภารกิจในอิรัก ส่งผลให้นักบินและกำลังพลอย่างน้อย 270 นายเสียชีวิต

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบเอเอช 64 อาปาเช่ สังกัดกองพันที่ 4 กรมอากาศยานที่ 227 กองพลน้อยทหารม้าอากาศที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 1 เข้าปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิรักในพื้นที่เมืองนาจาฟ (Najaf) ที่กำลังถูกกลุ่มต่อต้านที่ชื่อว่า “นักรบแห่งสวรรค์” (Soldiers of Heaven) โจมตี และถูกระดมยิงด้วยอาวุธนานาชนิด จนเครื่องยนต์ขัดข้องไม่สามารถควบคุมได้และตกลงในพื้นที่ทางตอนเหนือของเมือง ส่งผลให้นักบินทั้งสองคน คือ ร้อยเอกมาร์ค ที เรช (Captain Mark T. Resh) และ จ่าสิบตรี คอร์เนล ซี เชา (Cornell C. Chao) เสียชีวิต

ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบเอเอช 64 อาปาเช่ หมายเลข 02-5337 สังกัดกองร้อย เอ กองพันที่ 1 กรมอากาศยานที่ 227 กองพลน้อยทหารม้าอากาศที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 1 ถูกระดมยิงด้วยอาวุธปืนเล็กจากกลุ่มต่อต้านที่ชื่อ “รัฐอิสลามแห่งอิรัก” (Islamic State of Iraq) ขณะปฏิบัติการในพื้นที่ใกล้เมืองทาจิ (Taji) โดยในช่วงแรกนักบินแจ้งว่าเครื่องถูกยิงทำให้ระบบไฮโดรลิกซ์เสียหาย ไม่สามารถใช้ปืนกลประจำเครื่องได้ แต่ยังสามารถใช้จรวดทำการโจมตีต่อไปได้ จึงยังคงปฏิบัติการสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินต่อไป จนถูกยิงซ้ำด้วยจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีแบบประทับบ่าซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแบบ เอสเอ 7 (SA 7) ที่ทำในรัสเซียและได้รับความเสียหายอย่างหนักจนตกลงสู่พื้นดิน ทำให้นักบินทั้งสองนายคือ จ่าสิบตรี คีธ โยอาคุม (Keith Yoakum) และจ่าสิบตรี เจสัน จี เดฟเรนน์ (Jason G. Defrenn) เสียชีวิต

ก่อนหน้านี้เฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช 60 แบล๊คฮอว์ค นามเรียกขาน “อีซี่โฟร์ตี้” (Easy 40) สังกัด กองร้อย ซี กองพันที่ 1 กรมอากาศยานที่ 131 ก็เพิ่งถูกยิงตกด้วยการระดมยิงจากอาวุธปืนเล็กและจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีแบบประทับบ่าไม่ทราบชนิดในพื้นที่เมืองบาคูบา (Baquba) ขณะปฏิบัติภารกิจขนส่งกำลังพลไปยังกรุงแบบแดดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2007 โดยกลุ่มต่อต้าน “รัฐอิสลามแห่งอิรัก” ส่งผลให้นักบิน ลูกเรือและผู้โดยสารเสียชีวิตทันที 11 นาย ผู้บาดเจ็บคนสุดท้ายถูกกลุ่มต่อต้านสังหารเป็นคนที่ 12

และในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2007 ขณะที่เฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 60 แบล็คฮอว์ค ปฏิบัติการในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงแบกแดด ก็ถูกกลุ่มต่อต้านในอิรักใช้ยุทธวิธีที่นักรบโซมาเลียประสบความสำเร็จในการโจมตีแบล็คฮอว์คที่กรุงโมกาดิชชูในปี 1993 ด้วยการใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 และอาวุธปืนเล็กระดมยิงเป็นกลุ่มก้อน ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง นักบินต้องนำเครื่องร่อนลงจอดฉุกเฉิน แต่กำลังพลบนเครื่องทั้ง 9 นายปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือจากกองกำลังภาคพื้นดินในเวลาต่อมา

นอกจากเฮลิคอปเตอร์แบบอาปาเช่และแบล็คฮอว์คแล้ว เฮลิคอปเตอร์แบบอื่นๆ ก็ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านด้วยเช่นกัน ดังเช่นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบ ซีเอช 46 ซี ไนท์ (CH 46 Sea Knight) ของนาวิกโยธินสหรัฐจากฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางนาวิกโยธินที่ 364 (HMM 364 – Marine Medium Helicopter Squadron 364) ก็ถูกกลุ่มต่อต้านที่ชื่อ “กองทัพมูจาฮิดีน” (Mujahedeen Army) ยิงตกในการรบที่เมืองฟัลลูจาฮ์ (Fallujah) บริเวณอัล กามา (Al Kama) ทำให้นาวิกโยธินทั้งหมด 7 นายบนเครื่องเสียชีวิต

ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม 2007 เฮลิคอปเตอร์แบบ โอเอช 58 ดี กิโอวา (OH 58 D Kiowa) ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก หมายเลข 93-0978 นามเรียกขาน “โกสต์ไรเดอร์ 26” (Ghostrider 26) สังกัดกองพันที่ 2 กรมทหารม้าที่ 6 ถูกยิงตกด้วยอาวุธปืนเล็กขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนระหว่างเมืองบาคูบาและเมืองมุคดาดิยา (Muqdadiyah) ทำให้นักบินทั้งสองนายคือ ร้อยโท คีธ ไฮท์แมน (Keith Heidtman) และจ่าสิบตรี ธีโอดอร์ เชิร์ช (Theodore Church) เสียชีวิต





จากความสูญเสียที่มีอย่างต่อเนื่องของเฮลิคอปเตอร์ทุกรุ่นที่ได้ชื่อว่า มีประสิทธิภาพเยี่ยมยอดของโลก ส่งผลให้มีการศึกษาถึงสาเหตุของความสูญเสียเหล่านั้น

สาเหตุประการแรกก็คือ ภารกิจการสนับสนุนทหารราบในการรบในเมืองนั้นจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ที่มีความเร็วต่ำ แตกต่างจากเครื่องบินโจมตีแบบ เอ 10 (A 10) ที่มีเกราะหนา มีความทนทานสูง แต่เนื่องจากเอ 10 บินเร็วและมีเพดานบินสูงเกินไปสำหรับภารกิจนี้ เฮลิคอปเตอร์ส่วนใหญ่มีความเร็วอยู่ที่ 160 - 180 ไมล์ต่อชั่วโมง (แบล็คฮอว์คมีความเร็วปฏิบัติการที่ 173 ไมล์ต่อชั่วโมง

ส่วนอาปาเช่มีความเร็วปฏิบัติการที่ 165 ไมล์ต่อชั่วโมง) ดังนั้นเมื่อมันบินในระยะต่ำ ก็ทำให้ง่ายต่อการตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านที่สามารถใช้อาวุธปืนเล็กแบบ เอ เค 47 ไปจนถึงเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี 7 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งกลุ่มต่อต้านอาจใช้เครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ เอสเอ 7 หรือปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 ม.ม. เป็นอาวุธในการระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ







อันที่จริงความกังวลต่อความปลอดภัยของเฮลิคอปเตอร์มีมาตั้งแต่ปี 1993 จากเหตุการณ์ที่แบล็คฮอว์คถูกยิงตก 2 เครื่องในกรุงโมกาดิชชูของประเทศโซมาเลียด้วยอาวุธประจำตัวทหารราบและจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี 7 ซึ่งเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า สมรภูมิการรบในเมืองอาจเป็นกับดักของยุทโธปกรณ์ราคาแพง

ต่อมาในปี 1999 ในขณะที่สหรัฐฯ ส่งกำลังเข้าไปในเซอร์เบีย เอเอช 64 อาปาเช่ จำนวน 24 เครื่องก็ได้รับคำสั่งให้ยุติภารกิจการบินปฏิบัติการ เนื่องจากอาปาเช่เครื่องหนึ่งประสบอุบัติเหตุขณะทำการบิน อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นเชื่อว่ากองกำลังเชอร์เบียมีขีดความสามารถในการทำลายเอเอช 64 ได้เช่นเดียวกับพวกโซมาเลีย จึงสั่งระงับการใช้เอเอช 64 ในครั้งนั้นเพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

จนกระทั่งเมื่ออากาศยานปีกหมุนเหล่านี้ออกปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน ก็ต้องพบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจนนำมาซึ่งความสูญเสียที่น่าวิตก

คริสโตเฟอร์ เฮลล์แมน (Christopher Hellman) นักวิเคราะห์อาวุโสของศูนย์ข้อมูลการป้องกันประเทศ (the Center for Defense Information) ในกรุงวอชิงตันได้กล่าวถึงจุดอ่อนของเฮลิคอปเตอร์ในการรบในเมืองว่า

“... เฮลิตอปเตอร์จะบินต่ำและบินช้ากว่าปกติเมื่อต้องปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน ซึ่งทำให้มันตกเป้าหมายได้ง่ายทั้งจากปืนต่อสู้อากาศยานและอาวุธปืนเล็กยาวทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ พวกมันยังคงเป็นอาวุธชั้นยอดของโลก เพียงแต่ต้องยอมรับให้ได้ว่า ในสงครามทุกสงครามย่อมต้องมีการสูญเสีย ...”

เฮลล์แมนเปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของเฮลิคอปเตอร์ในสงครามเวียดนามว่ามีเกือบ 5,000 เครื่อง ส่วนใหญ่มาจากการระดมยิงด้วยอาวุธประจำกายทหารราบและจรวดต่อสู้รถถังแบบอาร์พีจี





บทเรียนดังกล่าวทำให้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีเกราะป้องกันที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นและสามารถป้องกันนักบินจากการระดมยิงด้วยอาวุธปืนเล็กได้ในระดับหนึ่ง ดังเช่น เอเอช 64 อาปาเช่ ได้มีการติดตั้งเกราะพิเศษที่เรียกว่า เคฟล่าร์ ไลน์ (Kevlar line) บริเวณใต้ที่นั่งนักบินซึ่งสามารถรักษาชีวิตพวกเขาได้

สาเหตุประการที่สองคือการปรับยุทธวิธีของกลุ่มต่อต้านในอิรัก โดยนิตยสารนิวยอร์กไทม์ (The New York Times) ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2007 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับยุทธวิธีของกลุ่มต่อต้านในการโจมตีอากาศยานปีกหมุน โดยอ้างอิงเอกสารที่ยึดได้จากกลุ่มต่อต้านซึ่งเป็นร่างยุทธวิธีของกลุ่มอัล กออิดะห์ในเมโสโปเตเมียว่า

... การรบในเมืองเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติของเฮลิคอปเตอร์ที่ต้องบินช้าและบินในระดับต่ำ แต่ในขณะเดียวกันกลับเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติของกลุ่มต่อต้าน อีกทั้งสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการปฏิบัติการของเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะการขนส่งกำลังพลและยุทธภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีขบวนลำเลียงบนท้องถนนที่เป็นไปอย่างรุนแรงและหนาแน่น

ดังจะเห็นได้จากสถิติการใช้เครื่องบินปีกหมุนในอิรักได้เพิ่มขึ้นจาก 240,000 ชั่วโมงในปี 2005 เป็น 400,000 ชั่วโมงในปี 2007 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2008 - 2009 ทำให้ฝ่ายต่อต้านในอิรักประยุกต์ยุทธวิธีแบบใหม่ในการโจมตีอากาศยานปีกหมุน โดยผสมผสานการยิงระหว่างอาวุธที่หลากหลายตั้งแต่ปืนเล็กยาวอัตโนมัติ ปืนกลหนัก ปืนกลต่อสู้อากาศยาน เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจี (RPG) และเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานทั้งแบบนำวิถีและไม่นำวิถี

การปฏิบัติจะพุ่งเป้าไปที่เฮลิคอปเตอร์ที่ต้องบินต่ำและบินผ่านเขตเมือง โดยใช้อาคารบ้านเรือนเป็นเครื่องปกปิดอำพรางการเตรียมการของกองกำลังกลุ่มต่อต้านที่จะลงมือโจมตีได้

นอกจากนี้กลุ่มต่อต้านในอิรักยังใช้การปฏิบัติลวง โดยการโจมตีอากาศยานปีกหมุนให้ร่อนลงฉุกเฉินหรือตกลงในพื้นที่ที่กำหนด ก่อนที่จะวางกำลังซุ่มโจมตีชุดกู้ภัยที่เดินทางเข้าไปช่วยเหลืออีกระลอก ทำให้ความสูญเสียของฝ่ายสหรัฐฯ มีเพิ่มสูงขึ้น

สาเหตุประการที่สามคือ ศักยภาพในการใช้ระบบต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่าที่เรียกว่า MANPAD (Man Portable Air Defense System) ของกลุ่มต่อต้านมีสูงมาก อันเนื่องมาจากความเป็นทหารอาชีพในกองทัพของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนที่กรำศึกอิรัก-อิหร่านมานานนับปี ซึ่งกลุ่มต่อต้านเหล่านี้จะทำการโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในมือของกลุ่มต่อต้านอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนยุทธวิธีในการใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่กลุ่มต่อต้านในอิรักครอบครองอยู่มีหลากหลายรูปแบบเช่น แบบ เอสเอ 7 (SA 7) หรือตามชื่อเดิมของรัสเซียว่า 9K32 Strela ซึ่งมีอยู่ในความครอบครองของกลุ่มต่อต้านจำนวนนับร้อยเครื่องยิง ทั้งจากสายการผลิตของกองทัพอิรักในอดีต และจากการรั่วไหลออกจากคลังเก็บอาวุธของกองทัพอิรักในช่วงแรกของการยึดครองของสหรัฐฯ ในปี 2003







นอกจากนี้กลุ่มต่อต้านยังมีจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ 9K 38 Igla หรือ เอสเอ 14 (SA 14), เอสเอ 16 (SA 16), เอสเอ 18 (SA 18) รวมทั้งเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานนำวิถีด้วยอินฟาเรดแบบประทับบ่ารุ่น “ไมซาช 1” (Misagh-1) และ “ไมซาช 2” (Misagh-2) ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1993 โดยบริษัท ชาฮิด ชาห์ อับฮาดี (Shahid Shah Abhady) ในอิหร่าน ซึ่งหัวรบของจรวดชนิดนี้มีน้ำหนัก 1.42 กิโลกรัม พุ่งเข้าหาเป้าหมายด้วยอัตราความเร็วสองเท่าเหนือเสียงหรือ 2 มัค (Mach 2) (ประมาณ 700 เมตรต่อวินาที) มีระยะยิงไกล 5 ก.ม.

โดยไมซาช 1 และไมซาช 2 ถูกลักลอบส่งให้กลุ่มต่อต้านนิกายชีอะห์ในอิรักที่รัฐบาลเตหะรานให้การสนับสนุน เช่น กลุ่มคาตาอิบ เฮซบุลเลาะห์ (Kata’ib Hezbollah) และกลุ่มอาซาเอบ อาห์ลฮู อัลฮัค (asaeb ahlu alhaq)

ซึ่งแม้ว่าเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่นานมากแล้วตลอดจนมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัย แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นกลุ่มก้อนด้วยการผสมผสานกับอาวุธชนิดอื่นๆ ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับอากาศยานปีกหมุนของสหรัฐฯ ที่บินในระดับต่ำได้

นอกจากนี้ทหารสหรัฐฯ ในเมืองบาบิล (Babil) สังกัดกรมทหารราบพลร่มที่ 509 (509th Parachute Infantry Regiment) ของกองพลทหารราบที่ 25 (25th Infantry Division) ยังสามารถยึดปืนกลต่อสู้อากาศยานที่ล้าสมัยแต่ทรงประสิทธิภาพแบบแซดพียู 1 (ZPU 1) ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 14.5 ม.ม. มีระยะยิงไกล 8,000 เมตร ที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพอิรักยุคของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ทั้งแบบอัตตาจรซึ่งมีล้อลาก 2 ล้อ และแบบที่ติดตั้งอยู่บนรถถังแบบ ที 62 (T 62) และ ที 72 (T 72)

ซึ่งแม้จะมีสายการผลิตมาตั้งแต่สงครามเกาหลีแล้วก็ตาม แต่ปืนกลต่อสู้อากาศยานชนิดนี้ก็สามารถทำอันตรายต่ออากาศยานทุกชนิดที่บินอยู่ในระยะยิงของมัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคือสาเหตุบางประการที่ส่งผลให้การ “เด็ดปีกพญาอินทรี” หรือการโจมตีอากาศยานปีกหมุนอันทรงอานุภาพของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถานประสบความสำเร็จ ซึ่งแม้จะมีผู้กล่าวว่า “เมื่อเข้าสู่สงคราม ไม่ว่าอาวุธที่มีอานุภาพเพียงใด ก็มีโอกาสได้รับความเสียหายจากการสู้รบเช่นกัน” แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการปรับปรุงขีดความสามารถและยุทธวิธีของเฮลิคอปเตอร์ทุกชนิดเหนือน่านฟ้าสมรภูมิอิรัก

ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของกำลังพลให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการบินด้วยความเร็วสูงสุดเมื่อจำต้องบินผ่านพื้นที่เสี่ยงภัยหรือพื้นที่สังหาร (Kill Zone) ตลอดจนใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เช่น การล็อคเป้าหมายด้วยเรดาห์ระยะไกลแทนการเล็งด้วยสายตาของนักบินที่สามารถเพิ่มระยะห่างจากการตอบโต้ของศัตรูได้

สิ่งเหล่านี้เริ่มส่งผลให้จำนวนความสูญเสียลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2008 และ 2009 อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะหากสหรัฐฯ ยังต้องการรักษาชื่อเสียงความเป็นสุดยอดของ “จักรกลแห่งสงคราม” ราคาแพงเหล่านี้เอาไว้ ก็จำเป็นจะต้องปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของเฮลิคอปเตอร์ในการรบในพื้นที่เขตเมืองให้สามารถปฏิบัติการได้โดยเกิดความสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ไม่เช่นนั้นแล้วบทเรียนของ “อาปาเช่” และ “แบล็คฮอว์ค” ก็คงจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2553 12:59:45 น. 2 comments
Counter : 8549 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:13:05:17 น.  

 
แต่ละภาพ นักบิน จะรอดไหมเนี่ย


โดย: ว้าว IP: 49.0.107.42 วันที่: 24 กรกฎาคม 2554 เวลา:15:43:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.