VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
ข้อพิพาทเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์







ข้อพิพาทเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Topgun เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559

สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้าเท่านั้น



ความตึงเครียดในพื้นที่ทะเลจีนใต้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในพื้นที่เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) บางส่วนที่จีนกำลังก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและถมทะเล เพื่อสร้างเกาะเทียมขึ้น บริเวณโขดหินที่ตนเองครอบครองอยู่ในหมู่เกาะแห่งนี้

จะเห็นได้ว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์ตั้งอยู่ในของทะเลจีนใต้ ล้อมรอบไปด้วยประเทศต่างๆ ประกอบด้วย เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน (ด้านเกาะไหหนานหรือไหหลำ (Hainan)) ฟิลิปปินส์ (พื้นที่จังหวัดปาลาวัน (Palawan)) บรูไน มาเลเซีย (บริเวณรัฐซาราวัคบนเกาะบอร์เนียว) และไต้หวัน มีพื้นที่ทางทะเลกว้างใหญ่มากกว่า 425,000 ตารางกิโลเมตร (164,000 ตารางไมล์) หรือประมาณร้อยละ 38 ของพื้นที่ทะเลจีนใต้ทั้งหมด

สภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะแห่งนี้ เป็นเกาะเล็ก เกาะน้อย โขดหิน หินโสโครกและแนวหินปะการัง มากกว่า 750 แห่ง บางโขดหินเล็กมาก จนสามารถยืนอยู่ได้เพียงสองคน บางโขดหินจะจมน้ำหายไปเมื่อน้ำขึ้น และโผล่ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อน้ำลง มีจำนวนเกาะขนาดใหญ่ที่โผล่พ้นน้ำถาวร และสามารถตั้งถิ่นฐานได้เพียง 33 เกาะเท่านั้น เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหมู่เกาะ ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเวียดนาม

เคนเนธ ลิปเบอร์ธอล (Kenneth Lieberthal) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาจีน จอห์น แอล.ทรอนตัน (John L.Thornton China Center) วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ว่า ปัญหาเรื่อง "อำนาจอธิปไตย" (Sovereignty) เหนือดินแดนในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะระบุลงไปว่าเป็นดินแดนของประเทศใด เนื่องจากปัญหาการทับซ้อนกันของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และปัญหาการกล่าวอ้างที่โยงไปถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่าปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นปัญหาที่ไม่มีจุดจบและไม่อาจหาข้อสรุปได้

ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายตระหนักดีว่า ปัญหาดังกล่าวยากที่จะหาข้อยุติได้ ทำให้ต่างหันมาใช้วิธีการแสดงสิทธิเหนืออาณาเขตบนดินแดนที่ตนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ ด้วยการแสดง "การครอบครอง" (Occupation) ซึ่งนับเป็นหนทางหนึ่ง ในการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยตามกฏหมายระหว่างประเทศ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้ พยายามเข้าครอบครองพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อกล่าวอ้างสิทธิการครอบครองเหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์ เช่น การสร้างประภาคาร การสร้างอาคารที่พักอาศัย ทั้งแบบถาวรหรือชั่วคราว การแสดงกำลังหรือการปรากฏตัวของเรือ ทั้งเรือรบ เรือสำรวจสมุทรศาสตร์ เรือประมง เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ ด้วยการทำการค้นคว้าวิจัย เพื่อทำการวางแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือสำรวจแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะจีนพยายามที่จะกระทำการเข้าครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้ ผ่านกองเรือกองเรือสมุทรศาสตร์ และกองเรือประมงของตน

โดยเฉพาะกองเรือประมงนั้น รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินพิเศษ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับชาวประมงของตน ที่เข้าไปทำการจับปลาในพื้นที่พิพาท เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ที่สนับสนุนให้มีโยกย้ายประชากรเข้าไปตั้งถิ่นฐานถาวร ในเกาะที่ตนอ้างกรรมสิทธิ โดยสนับสนุนทั้งเงินค่าครองชีพ อาหาร และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ นอกจากนี้ทุกประเทศ (ยกเว้นบรูไน) ยังมีการส่งกำลังทหารเข้าไปประจำการบนเกาะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าว ล้วนแต่ส่งผลให้ความตึงเครียดขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ลอยดา นิโคลัส เลวิส (Loida Nicolas Lewis) ประธานคณะทำงานเพื่อสร้างธรรมภิบาลสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ (US.- Pinoy for Good Governance) ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่หมู่เกาะสแปรตลีย์มีความสำคัญ และกลายเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก ก็เนื่องมาจากผลการสำรวจทางธรณีวิทยาร่วมกันระหว่างจีนและรัฐบาลฟิลิปปินส์ ของอดีตประธานาธิบดี กลอเรีย อาโรโย่ใ นช่วงที่ผ่านมาพบว่า เพียงแค่พื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ บริเวณชายฝั่งฟิลิปปิินส์เท่านั้น ก็ยังอุดมสมบรูณ์ไปด้วยน้ำมันดิบกว่า 213,000 ล้านบาเรล และก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนมหาศาล

หากนับรวมภายใต้ท้องทะเลของหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด หรือครอบคลุมพื้นที่ในทะเลจีนใต้กว่าหนึ่งล้านตารางไมล์ทั้งหมด ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งพลังงานจำนวนมากมายมหาศาลแห่งหนึ่งของโลก ที่ผู้ครอบครองจะสามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่นำ้มันดิบและก๊าซธรรมชาติกำลังลดลงอย่างมากในขณะนี้

ในส่วนของสาธาณรัฐประชาชนจีนหรือ "จีน" มีการเข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานแห่งนี้ ซึ่งจีนเรียกว่า "นานชา" (Nan Cha) โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในสมัยจีนโบราณ คือสมัยราชวงศ์ "ฮั่น" (Han Dynasty) (บางเอกสารระบุว่าเริ่มในสมัยราชวงศ์ "ซ่ง" (Song Dynasty)) หรือเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว อันเป็นข้ออ้างที่ยากจะพิสูจน์หรือปฏิเสธได้จนกระทั่งในปี พ..1835 หรือ 9 ปี ภายหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชของอาณาจักรสุโขทัยทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น จีนได้อ้างแผนที่โบราณเป็นหลักฐานว่า เรือสินค้าของจีนได้แล่นผ่านหมู่เกาะแห่งนี้และต่อมาอีก 133 ปี คือในปี พ..1968 มีหลักฐานปรากฏอยู่บนแผนที่ โดยนักเดินเรือชาวจีนชื่อ “เชง โฮ” (Cheng Ho) ได้กำหนดหมู่เกาะสแปรตลีไว้ในแผนที่เดินเรือ ซึ่งจีนอ้างว่าอีก 5 ปีต่อมา คือ พ..1973 หมู่เกาะสแปรตลีก็อยู่ในภายใต้การปกครองของจีนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดังที่ผู้นำระดับสูงของจีนคนหนึ่งประกาศว่า ".. ดินแดนแห่งนี้ครอบครองโดยบรรพบุรุษของจีนมาช้านาน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะคัดค้าน หรือโต้แย้งการอ้างกรรมสิทธิของจีนเหนือดินแดนแห่งนี้ .."

ปัจจุบันจีนได้เข้าครอบครองพื้นที่ ทั้งเกาะโขดหิน แนวปะการังและหินโสโครกจำนวน 7 แห่ง คือ คัวร์เตรอง (Cuarteron Reef), ไฟรี่ย์ ครอสหรือ "กางเขนเพลิง" (Fiery Cross Reef), เกเวน(Gaven Reef), ฮิวจ์เกส (Hughes Reef), จอห์นสัน (Johnson Reef), มิสชีฟหรือ "โขดหินแห่งการก่อกวน" (Mischief Reef), ซูบิ (Subi Reef) โดยจีนได้สร้างเกาะเทียม ด้วยการใช้เรือดูดทรายจากใต้ท้องทะเลขึ้นมา ถมเป็นแนวเกาะใหม่ในพื้นที่บริเวณโขดหิน  3 แห่งเข้าด้วยกัน คือ โขดหิน ไฟรี่ครอส หรือ "กางเขนเพลิง" (ฟิลิปปินส์เรียกว่าโขดหิน “กาติติงกัน : Katitingan”), โขดหินซูบิ (ฟิลิปปินส์เรียกว่าโขดหิน “ซาโมร่า :Zamora”) และ โขดหินมิสชีฟ หรือ "โขดหินแห่งการก่อกวน" (ฟิลิปปินส์เรียกว่าโขดหิน “ปังกานิบัน  : Panganiban”)

โดยเมื่อปี ค..2013 จีนเริ่มถมโขดหินมิสชีฟหรือ "โขดหินแห่งการก่อกวน" จนกลายเป็นเกาะเทียม ที่มีขนาดกว้างถึง 32,060 ตารางเมตร ส่วนโขดหินซูบิ ซึ่งมีลักษณะเหมือนวงแหวนรียาว มีหาดทรายเป็นวงนอก ล้อมรอบพื้นน้ำทะเลสาปภายใน จีนได้มีการก่อสร้างอาคารสูง ด้านบนเป็นโดมรูปวงกลม คล้ายหอดูดาวมาตั้งแต่ปี ค..2009 ก่อนที่จะขยายตัวอาคาร ให้มีความกว้างเป็น 1,909 ตารางเมตรในปี ค..2013 พร้อมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งท่าเรือ, สนามจอดเฮลิคอปเตอร์ และอาคารต่างๆ

สำหรับโขดหินไฟรี่ย์ครอส หรือ "กางเขนเพลิง" นั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค..2015 มีการก่อสร้างสนามบิน ที่มีทางวิ่งยาวกว่า 3,300 เมตร พร้อมก่อสร้างท่าเรือทางตอนเหนือของโขดหิน สำหรับแนวโขดหินเดิม ถูกถมด้วยทรายและหินปะการัง จนกลายเป็นเกาะเทียมทั้งหมด ส่วนรอบๆ โขดหินจอห์นสัน จีนใช้เป็นพื้นที่จอดพักของเรือรบ เนื่องจากเป็นท้องน้ำที่มีความลึก ในช่วงที่ผ่านมา จีนนำเรือฟริเกต "เฉาตง" (Zhao tong) หมายเลข 555 และเรือฟริเกตแบบ 053 ชื่อ "คังชู" (Cang zhou) หมายเลขประจำเรือ 537 ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชั้น "เจียงหู 5" (Jianghu - V) ตลอดจนเรือบรรทุกสินค้า มาจอดทอดสมออยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งจีนยังทำการถมทราย เพื่อขยายพื้นที่โขดหินแห่งนี้ จนกลายเป็นเกาะเทียมขนาดใหญ่และทำการก่อสร้างอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมบนโขดหินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค..2013

จีนยังมีการก่อสร้างและถมแนวหิน "เกเวน" ให้ขยายกว้างออกไป 78,867 ตารางเมตร ตั้งแต่ปี ค..2009 พร้อมก่อสร้างอาคารสูง 6 ชั้น มีความสูงกว่า 18.29 เมตร ตัวอาคารมีความกว้าง 4,128 ตารางเมตร ก่อนที่จะก่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ที่มีความกว้าง 1,032 ตารางเมตรในปี ค..2013 นอกจากนี้จีนยังมีการตั้งชื่อเกาะและโขดหินจำนวน 200 กว่าแห่งเป็นภาษาจีน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอีกด้วย

การก่อสร้างเกาะเทียมดังกล่าว กลายเป็นข้อพิพาทสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จนถึงขั้นส่งเครื่องบินเข้าไปในรัศมีรอบเกาะ เพื่อทำการถ่ายภาพทางอากาศ จนจีนแจ้งเตือนอย่างรุนแรง ทั้งจากกองกำลังในพื้นที่และทางการฑูตระหว่างประเทศ

จีนยังตอกย้ำการแสดงความเป็น "เจ้าของ" เหนือดินแดนที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ด้วยการประกาศใช้แผนที่ "เส้นประ 9 เส้น" (nine-dash-line) หรือที่บางครั้งเรียกว่า "เส้น 9 จุด" (nine-dotted-line) ซึ่งเป็นเส้นที่ลากขึ้น เพื่อกำหนดอาณาเขตของจีนในทะเลจีนใต้ เส้นดังกล่าวเป็นแนวเส้นที่ลากลงมาจากเกาะไหหนาน หรือ "ไหหลำ" ของจีน บริเวณอ่าวตั๋งเกี๋ยขนานกับชายฝั่งเวียดนาม มาจนถึงเกาะบอร์เนียว บริเวณรัฐซาราวักของมาเลเซียแล้ววนกลับเลียบชายฝั่งบรูไนผ่านรัฐซาบาห์ ตัดตรงเข้าไปในน่านน้ำของฟิลิปปินส์ เลาะชายฝั่งของจังหวัดปาลาวันเรื่อยไป จนถึงเกาะลูซอน แล้วขึ้นไปสิ้นสุดที่เกาะไต้หวัน โดยในน่านน้ำบริเวณนี้ จีนจะใช้กองเรือป้องกันชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือนในการลาดตระเวนเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารกับชาติต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ แต่แม้จะเป็นเรือของหน่วยงานพลเรือน แต่เรือป้องกันชายฝั่งของจีนก็มีลักษณะการปฏิบัติที่รุนแรงและเด็ดขาดอยู่เสมอ เช่น ใช้วิธีพุ่งชนหรือฉีดน้ำจากสายดับเพลิงเข้าใส่เรือของเวียดนาม ที่พยายามแล่นเข้าไปในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท เป็นต้น

ทางด้านมาเลเซียนั้น เข้าครอบครองเกาะในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จำนวน 3 แห่ง โดยอ้างกรรมสิทธิ์จากการที่มีไหล่ทวีปของรัฐซาราวัค (Sarawak) มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ และไม่ได้อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทั้งหมด

พื้นที่ที่มาเลเซียครอบครองมีเพียงโขดหินและเกาะขนาดเล็ก คือ โขดหินอาร์ดาเซียร์ (Ardasier Reef) หรือในภาษามลายู เรียกว่า "เตอรัมบู อูบิ" (Terumbu Ubi), โขดหินมาริเวลเลซ (Mariveles Reef) หรือในภาษามลายูเรียกว่า "เตอรัมบู มันตานานิ" (Terumbu Mantanani) และโขดหินสวอลโลว์ (Swallow Reef) หรือโขดหินนกนางแอ่น ในภาษามลายูเรียกว่า "เตอรัมบู ลายัง" (Terumbu Layang) โดยส่งกำลังทหารเข้าไปครองครองพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี ค..1983 โดยเฉพาะที่โขดหินนกนางแอ่น มาเลเซียได้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักดำน้ำ มีการสร้างรีสอร์ตและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างสนามบิน "ลายัง ลายัง" (Layang Layang Airport) ตั้งแต่ปี ค..1991 เสร็จในปี ค..1995 อยู่ทางตอนเหนือของเมืองคินาบาลู (Kota Kinabaru) รัฐซาบาห์ ประมาณ 300 กิโลเมตร

ในช่วงแรกสนามบินแห่งนี้ มีทางวิ่งยาว 1,064 เมตร แต่ในปี ค..2003 มีการขยายเป็น 1,367 เมตร กว้าง 28 เมตร ใช้งานทั้งเครื่องบินพลเรือนและเครื่องบินทางทหารของกองทัพอากาศมาเลเซีย โดยสายการบินพลเรือนสายเดียวที่บินไปลงที่สนามบินดังกล่าว คือ สายการบิน "ลายัง ลายัง แอโร่สเปซ" (Layang Layang Aerospace) ใช้เครื่องบินสองเครื่องยนต์ แบบ นอแมด เอ็น 22ซี (Nomad N22C) บรรทุกผู้โดยสารได้ 12 คน ส่วนกองทัพอากาศมาเลเซียนั้น ใช้เป็นจุดพักของเครื่องบินลำเลียง แบบ ซี-130 (C-130) และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล แบบ ซีเอ็น-235 (CN-235) ของกองทัพเรือมาเลเซีย ซึ่งบินมาจากสนามบินลาบวน (Labuan Airport) ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งของรัฐซาบาห์ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว

ทางด้านเวียดนามนั้น ได้เข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับจีน โดยในปี ค..1977 รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมดอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนเอง ปัจจุบันเวียดนามสามารถครอบครองเกาะโขดหินและหินโสโครกได้จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย โขดหิน จำนวน 16 แห่งคือ โขดหินอลิสัน (Alison Reef), โขดหิน อัมโบยัน (Amboyan Reef), โขดหินบาร์ค แคนาดา (Barque Canada Reef), โขดหินลอนดอน ตะวันตก หรือ เวสต์ลอนดอน  (West London Reef), โขดหินลอนดอนกลาง หรือ เซนทรัล ลอนดอน (Central London Reef),  โขดหินลอนดอนตะวันออก หรือ อีสต์ ลอนดอน (East London Reef), โขดหิน คอร์นวอลลิสใต้ (Cornwallis South Reef), ดาไกร-ซัน (Da Gri-san) , ดา ไฮ่เยน (Da Hi Gen), โขดหิน เกรท ดิสคัฟเวอรี่ (Great Discovery Reef) , โขดหิน แลดด์ (Ladd Reef) , โขดหินแลนด์สดาวน์ (Landsdowne Reef), โขดหิน เพียร์สัน (Pearson Reef) , โขดหินเพ็ตลี่ย์ (Petley Reef), โขดหินเซาท์ หรือโขดหินใต้ (South Reef), โขดหิน เทนเนนท์ (Tennent Reef) และครอบครองเกาะขนาดเล็ก หรือเคย์ (cay มีขนาดเล็กกว่า island) จำนวน 2 แห่งคือ เกาะแซนด์ (Sand Cay หรือเกาะทราย และ เกาะเซาท์เวสต์ (South West Cay) ครอบเกาะขนาดใหญ่ จำนวน 3 เกาะ คือ เกาะนามยิต (Namyit Island), เกาะซินโคว์ (Sin Cowe  Island) และ เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Island เป็นชื่อเดียวกับหมู่เกาะ)

สำหรับการสร้างอาคารและขยายพื้นที่บนเกาะที่ครอบครองนั้น ในกลุ่มโขดหินลอนดอน  (London Reefs) ซึ่งมีโขดหินเรียงรายเหมือนรูปพัด ประกอบด้วยโขดหินลอนดอนตะวันตก, โขดหินลอนดอนกลาง และโขดหินลอนดอน ตะวันออก ซึ่งโดยปกติโขดหินเหล่านี้จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0.6 เมตร เมื่อน้ำขึ้นสูงสุด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีหลักฐานว่าในปี ค..1994 เวียดนามได้สร้างประภาคารขึ้น ที่โขดหินลอนดอนตะวันตก ต่อมามีการถมโขดหินแห่งนี้ จนมีพื้นที่มากกว่า 65,000 ตารางเมตร และในปี ค..2010 ได้ทำการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทางทหารขึ้น 1 หลัง และอาคารขนาดเล็ก 2 หลัง บริเวณเกาะทรายเล็กๆ ของโขดหินลอนดอนตะวันออก ส่วนทางตอนเหนือหรือโขดหินลอนดอนกลาง ก็มีการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวขึ้น เพื่อเป็นจุดสังเกตุการณ์ทางทหาร พร้อมกับก่อสร้างอาคารทางทหารสูง 3 ชั้นขึ้น ทางตอนใต้ของโขดหินลอนดอนตะวันตกอีกด้วย บริเวณโขดหินลอนดอนตะวันตกนี้ จะมีแนวหินปะการังอยู่รายรอบ และจะโผล่พ้นน้ำก็ต่อเมื่อน้ำลดเท่านั้น

สำหรับความเคลื่อนไหวของเวียดนามบริเวณเกาะแซนด์นั้น มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีการถมเกาะแซนด์ จนเกิดเป็นพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร

นอกจากนี้เวียดนามยังตั้งถิ่นฐานถาวร สำหรับประชาชนของตนขึ้นที่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเคยเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดตามธรรมชาติในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เกาะแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ เวียดนามได้ก่อสร้างสนามบินทางทหาร ชื่อ "เตรือง ซา" (Truong Sa Airport) ที่มีทางวิ่งยาว 600 ฟุต และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สามารถรองรับเครื่องบินใบพัดสองเครื่องยนต์ เช่น เครื่องบิน เดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอชซี - 6 (De Havilland DHC-6) ของกองทัพอากาศเวียดนามได้ (Truong Sa Airfield)

ทางด้านฟิลิปปินส์นั้น มีการกล่างอ้างกรรมสิทธิ เพียงบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่อยู่ในเขตเมือง"กาลายาอัน" (Kalayaan) จังหวัด "ปาลาวัน" (Palawan) โดยเรียกว่าหมู่เกาะ "กาปูลูอันงัง กาลายาอัน" (Kapuluan Ng Kalayaan) มีพื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิประมาณ 790,000 ตารางเมตร ปัญหาที่ตึงเครียดบ่อยที่สุดคือเกาะที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า "ปานาตัค" (Panatag) ส่วนจีนเรียกว่า "ฮวงหยาน" (Huang yan) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรือรบ, เรือสำรวจสมุทรศาสตร์ ตลอดจนเรือประมงของฟิลิปปินส์และจีน มีการกระทบกระทั่งกันในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนหลายครั้ง นอกจากฟิลิปปินส์จะมีความขัดแย้งกับจีนบริเวณพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์แล้ว ยังมีข้อพิพาทกับจีนและไต้หวัน บริเวณแนวเกาะ "สการ์โบโร" (Scarborough Shoal) หรือที่จีนเรียกว่า "หวงหยาน" (Huangyan) ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยแนวเกาะสการ์โบโร มีลักษณะเป็นหาดทรายรูปสามเหลี่ยม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล

ฟิลิปปินส์ครอบครองเกาะโขดหินและแนวปะการังในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จำนวน 8 แห่ง เช่น  เกาะลัวอิตา (Loaita) เกาะลาวัค (Lawak) เกาะเวสต์ ยอร์ค (West York) เป็นต้น เกาะที่สำคัญที่ฟิลิปปินส์ครอบครองคือเกาะ "ธิตู" (Thitu) ซึ่งในภาษาตากาล็อคเรียกว่า "ปั้ก-อาสา" (Pag-asa) จีนเรียกว่า "ซงยี เตา" (Zhongye Dao) เวียดนามเรียกว่า "เด๋าธี ตู" (Dao Thi Tu) มีเนื้อที่ประมาณ 230 ไร่ หรือประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุดอันดับสองในหมู่เกาะสแปรตลีย์ อยู่ในเขตเมืองปาลาวัน ฟิลิปปินส์ได้ส่งกำลังทหารเข้าประจำการบนเกาะนี้มาตั้งแต่ปี ค..1970 พร้อมก่อสร้างสนามบินทางทหาร "รันคูโด" (Rancudo Airfield) มีทางวิ่งยาว 1,300 เมตร รองรับอากาศยานทางทหารและทางพาณิชย์ โดยเฉพาะเครื่องบินตรวจการณ์ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ที่บินลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ยังได้จัดตั้งฐานทัพเรือ "อีมิลิโอ ลีวานัก" (Emilio Liwanag) ขึ้นที่เกาะแห่งนี้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ที่อ้างกรรมสิทธิในหมู่เกาะสแปรตลี ต่างมีความเคลื่อนไหวในการแสดงกรรมสิทธิเหนือดินแดนด้วยการเข้า "ครอบครอง" พื้นที่พิพาท รวมทั้งยังมีการส่งกำลังทหารในรูปแบบต่างๆ เข้าไปแสดงกำลัง (show of forces) อย่างต่อเนื่อง โลกจึงต้องจับตามองความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อมีมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวละครสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว เพราะอาจนำไปสู่ "จุดวาบไฟ" ที่ส่งผลถึงความขัดแย้งอันรุนแรงได้ในอนาคต




Create Date : 15 พฤษภาคม 2559
Last Update : 15 พฤษภาคม 2559 13:48:27 น. 0 comments
Counter : 11618 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.