VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
การตอบโต้การก่อการร้ายของโลกอาหรับ

การตอบโต้การก่อการร้ายของโลกอาหรับ

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำ โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร







นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ที่กลุ่มอัลกออิดะฮ์ของโอซามา บิน ลาเดน โจมตีอาคารเวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนของสหรัฐฯ โลกก็ได้เคลื่อนตัวผ่านจาก "ยุคหลังสงครามเย็น" เข้าสู่ "ยุคก่อการร้าย" อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้มวลมนุษยชาติต่างได้ประจักษ์ถึงอันตรายจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งไม่มีแนวรบที่แน่นอน และไม่มีที่ใดที่ปลอดภัยอีกต่อไป สถานที่ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ร้านอาหาร สวนสนุก โรงพยาบาล โรงเรียนหรือแม้แต่สวนดอกไม้หลังบ้าน ก็อาจแปรสภาพเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายได้ทุกเวลา

ดังเช่นเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพครั้งรุนแรงล่าสุดทางตอนใต้ของเมือง "เควทตา" (Quetta) ของปากีสถานเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 53 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ความรุนแรงและความร้ายกาจของการก่อการร้ายก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้น 2 ลักษณะในสังคมนานาชาติ โดยลักษณะแรกเป็นการปฏิบัติการที่กลุ่มก่อการร้ายกระทำการอย่างเหี้ยมโหด รุนแรงและไร้มนุษยธรรมต่อประเทศต่างๆ เพื่อสร้าง "อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว" ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในซีกโลกตะวันตก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ สเปน หรือซีกโลกตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ปากีสถาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

แม้กระทั่งกลุ่มประเทศโลกอาหรับ เช่น ซาอุดิอารเบีย เยเมน จอร์แดน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีแนวคิด ความเชื่อทางศาสนาเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ก็ยังตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติการก่อการร้าย ทำให้ปฏิกิริยาในลักษณะที่หนึ่งนี้ กลายเป็นการสร้างศัตรูอย่างสากลและกว้างขวางของกลุ่มก่อการร้าย โดยอ้างความชอบธรรมบนพื้นฐานของหลักการทางศาสนาในการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า "จิฮาด" (Jihad) เพื่อสถาปนารัฐในอุดมคติที่ปกครองด้วยหลักศาสนาบริสุทธิ์ตามแนวคิดอุดมคตินิยม (idealism) ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ปฏิกิริยาลักษณะที่สองเป็นการสนองตอบต่อปฏิกิริยาที่หนึ่งคือ การตอบโต้ของรัฐต่างๆ ที่ถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อดิ้นรนหาหนทางปกป้องอำนาจรัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ของตน หากเป็นชาติตะวันตกก็ใช้การรวมตัวกันทางด้านการข่าว ด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นปราการในการสกัดกั้นการโจมตีและการขยายตัวของเครือข่ายกลุ่มก่อการร้าย

แต่ที่น่าจับตามองที่สุดในปัจจุบันคือ ปฏิกิริยาในการต่อต้านจากกลุ่มโลกอาหรับและกลุ่มประเทศที่มีศาสนาประจำชาติเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มก่อการร้าย เช่น บังกลาเทศ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรืื่อยๆ จนถึงระดับการประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ "จิฮาด" เพื่อปกป้องหลักศาสนาที่บริสุทธิ์และถูกต้องจากการกระทำของกลุ่มศาสนาหัวรุนแรง จนเกิดการเผชิญหน้าของ "จิฮาด" จากฝ่ายผู้ถูกกระทำและ "จิฮาด" จากฝ่ายผู้กระทำ





ผู้ต้องหากลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่ถูกทางการเยเมนควบคุมตัว



ในช่วงแรกๆ ของยุคการก่อการร้ายนับตั้งแต่โอซามา บิน ลาเดนเปิดฉากการโจมตีสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 ส่งผลให้เครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว กล่าวกันว่าถนนทุกสายจากทั่วทุกสารทิศที่มุ่งหน้าสู่หุบเขาอันเป็นที่มั่นของพวกเขาในอัฟกานิสถานล้วนเต็มไปด้วยผู้คนที่มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ ทั้งจากตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ผู้คนเหล่านี้ได้แปรสภาพของตนเองจากเยาวชนหรือคนธรรมดาสามัญสู่ความเป็น "นักรบของพระเจ้า" ในที่สุด

นอกจากนี้กลุ่มอัลกออิดะฮ์ยังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกของกลุ่มที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งการสนับสนุนทางการเงิน กำลังคน เส้นทางการหลบหนี สถานที่พักพิงในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ตลอดจนการสนับสนุนด้านการจัดหายุทโธปกรณ์และการฝึกศึกษาด้านต่างๆ จนทำให้ปี ค.ศ. 2001-2004 กลายเป็นช่วงเวลา "นาทีทอง" ของกลุ่มอัล กออิดะฮ์ไปอย่างปราศข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งกลุ่มอัลกออิดะฮ์มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเท่าใด ดูเหมือนการโจมตีของพวกเขาที่อ้างว่าเป็นการทำลายชาติตะวันตก กลับมีผู้รับเคราะห์เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้สายการข่าวของโลกตะวันตกต่างก็เพิ่มระดับความเข้มข้นในการหาข่าวที่มีความแม่นยำมากขึ้น จนทำให้สามารถจับตามองความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะฮ์ได้ชนิดที่เรียกว่า "ทุกฝีก้าว" ก็ยิ่งทำให้สมาชิกของกลุ่มทำงานได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น จนสมาชิกของกลุ่มต้องหันมาโจมตีเป้าหมายที่ง่ายกว่าในพื้นที่ของตนเองแทนการโจมตีเป้าหมายในประเทศตะวันตก

เช่น การโจมตี "สาหรีคลับ" ซึ่งเป็นไนท์คลับชื่อดังบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย การวางระเบิดในงานแต่งงานของชุมชนท้องถิ่นในจอร์แดน หรือการโจมตีสถานที่ท่องเที่ยวของอียิปต์ ซึ่งแม้กลุ่มอัลกออิดะฮ์จะอ้างว่าเป็นการโจมตีเป้าหมายที่มีชาวตะวันตกอาศัยอยู่ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผู้คนบริสุทธิ์ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกต่างก็ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยเช่นกัน




การก่อการร้ายในประเทศจอร์แดน



การจุดประกายในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายของตะวันออกกลางดูเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังในปี ค.ศ. 2004 เมื่อซาอุดิอารเบียถูกโจมตีจากกลุ่มอัล กออิดะฮ์ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ตั้งแต่ย่านชุมชนของชาวตะวันตก เรื่อยไปจนถึงศูนย์กลางของอำนาจรัฐ เช่น บุคคลสำคัญ สถานที่ทำการกระทรวงมหาดไทยและคลังเก็บน้ำมันของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจ

การโจมตีแบบไม่เลือกหน้านี้กลายเป็นการกระทำที่บีบบังคับให้ซาอุดิอารเบียต้องอยู่ในสภาวะ "หลังจนฝา" และจำต้องลุกขึ้นสู้อย่างไม่มีหนทางเลือก นับเป็นการเดินหมากที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ เพราะซาอุดิอารเบียนั้นเป็นประเทศที่เสียงดังมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกอาหรับ ไม่เพียงแต่เพราะความมีอิทธิพลอันเก่าแก่และยาวนานทางด้านประวัติศาสตร์และการเมืองในภูมิภาคเท่านั้น หากแต่ซาอุดิอารเบียยังมีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาลอีกด้วย

ในปี ค.ศ. 2005 กษัตริย์อับดุลเลาะห์ (King Abdullah) แห่งซาอุดิอารเบียได้สั่งการให้มีการตอบโต้การก่อการร้ายของกลุ่มอัล กออิดะฮ์อย่างเปิดเผยและเต็มรูปแบบ ทั้งการตอบโต้ด้วยการปฏิบัติการด้านการข่าวที่ทรงประสิทธิภาพ การตอบโต้ทางด้านการทหารและการตอบโต้ด้วยการเอาชนะทางความคิด ผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงร่วมกับนักการเมืองและนักวิชาการชั้นนำต่างดาหน้าออกมากล่าวโจมตีการปฏิบัติการด้วย "ระเบิดพลีชีพ" ของอัลกออิดะฮ์ว่าไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้องตามแนวทางของศาสนา มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา โรงเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง




กองกำลังของซาอุดิอารเบีย



ผู้ก่อการร้ายและผู้ต้องสงสัยจำนวนมากถูกตามล่า ตรวจค้นและควบคุมตัวชนิด "พลิกแผ่นดิน" ก่อนที่จะถูกนำตัวเข้าโครงการ "ฟื้นฟูสภาพ" ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ใช้ทุนในโครงการจำนวนมหาศาล มีการวางแผนอย่างครบวงจร ทั้งด้านระบบการศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเปิดโลกทัศน์ของหลักการศาสนาสากล การฝึกอาชีพและการสนับสนุนด้านการประกอบอาชีพ และด้วยเม็ดเงินจำนวนมากมายนี้เอง ทำให้โครงการฟื้นฟูสภาพของรัฐบาลซาอุดิอารเบียประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้ก่อการร้ายที่ผ่านโครงการล้วนแปรสภาพเป็นผู้กลับตัวเข้าสู่สังคม เป็นผู้ที่มีอาชีพการงานที่มั่นคงและมีรายได้ที่งดงาม สามารถเลี้ยงดูจุนเจือตนเองและครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง

พลเอกเดวิด เพทเตรอุส (David Petraeus) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานได้เล่าให้ ฟารีด ซากาเรีย (Fareed Zakaria) ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร "นิวสวีค" (Newsweek) ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ถึงประสบการณ์เมื่อครั้งร่วมกับรัฐบาลซาอุดิอารเบียในการต่อสู้กับอัลกออิดะฮ์ว่า

"บทบาทของซาอุดิอารเบียในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย อัล กออิดะฮ์นั้น ไม่เพียงแต่มีการใช้กำลัง (forces) เท่านั้น หากแต่ยังมีการใช้เครื่องมือทางการเมือง สังคม ศาสนาและการศึกษา เป็นปัจจัยประกอบในการต่อสู้เพื่อเอาชนะทางความคิดในครั้งนี้ นับเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของโลก"




ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม "เจไอ" ถูกทางการอินโดนีเซียควบคุมตัว


นอกจากการเคลื่อนไหวชนิดที่เรียกว่า "ยักษ์ตื่น" ของซาอุดิอารเบียแล้ว ความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่ไม่อาจละเลยไปได้คือการเปิดฉากตอบโต้กลุ่มก่อการร้ายของรัฐบาลอินโดนีเซีย ภายหลังจากที่ถูกกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงรุกไล่จนเกือบจะจนมุมในปี ค.ศ. 2002 โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้าย "เจไอ" หรือ "เจ๊ะมา อิสลามมิยา" (JI - Jemaah Islamiah) ที่เป็นสาขาของอัลกออิดะฮ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่อีกเพียงแปดปีต่อมาเมื่อรัฐบาลและประชาชนอินโดนีเซียตั้งหลักได้ กลุ่มก่อการร้ายก็ถูกรุกกลับ จนตกอยู่ในสภาพที่หมดหนทางเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ดังที่แมกนัส แรนส์ทร็อบ (Magnus Ranstorp) จากสถาบันศึกษาภัยคุกคามที่ไม่เท่าเทียมกัน (Asymmetric Threat Studies) ได้วิเคราะห์ว่า การต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในอินโดนีเซียประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะไม่เพียงแต่มีบทบาทของรัฐบาลอินโดนีเซียเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงสื่อมวลชนและองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ รวมอยู่ด้วย





ชุดปฏิบัติการพิเศษของหน่วย "โคปาสซุส" (Kopassus) ของกองทัพอินโดนีเซียในการต่อต้านการก่อการร้าย




และบทบาทของภาคประชาสังคมนี่เองที่เป็นตัวชี้ขาดแพ้ชนะที่สำคัญในสงครามครั้งนี้ เนื่องจากภาคประชาสังคมที่มีลักษณะเปิดกว้างของอินโดนีเซียนั้นมีความแตกต่างจากภาคประชาสังคมที่มีลักษณะปิดของกลุ่มประเทศโลกอาหรับ ทำให้การเข้าถึง การแสดงออกและการตอบรับจากประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วอย่างมากในการต่อสู้เพื่อเอาชนะทางความคิดในสงครามศักดิ์สิทธิ์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

อิรักเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้ถึงอัตราการขยายตัวของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่รวมตัวกันต่อต้านการก่อการร้ายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ทั้งๆ ที่ในห้วงแรกของการยึดครองอิรักโดยสหรัฐฯ นั้น มีกลุ่มนักรบศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากจากโลกอาหรับรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับสหรัฐฯ ในฐานะผู้รุกรานอย่างได้ผล แต่ยิ่งเวลาเนิ่นนานขึ้น อัลกออิดะฮ์กลับใช้วิธีการที่ผิดพลาด เช่น การสังหารกลุ่มชนต่างนิกาย และการพยายามสร้างสงครามกลางเมืองในอิรักระหว่างชนนิกายต่างๆ โดยใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมและน่ากลัว เช่น การโจมตีด้วยระเบิดกลางสถานที่ชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้บริสุทธิ์ หรือแม้แต่การลงโทษที่รุนแรงและไม่สมเหตุผล เช่น ในจังหวัดอันบาร์ (Anbar) พวกอัลกออิดะฮ์มักลงโทษผู้ที่ฝ่าฝีนกฏระเบียบของตนอย่างรุนแรง แม้กระทั่งการสูบบุหรี่ก็จะมีโทษรุนแรงถึงขั้นตัดมือเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้สร้างความตกตะลึงและหวาดหวั่นให้กับชาวอิรักเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้ความชอบธรรมในการเข่นฆ่าและทำร้ายผู้คนของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว

จากสถิติที่ผ่านมา การยอมรับของประชาชนในโลกอาหรับรวมถึงประชาชนในปากีสถาน บังคลาเทสและอินโดนีเซียที่มีต่อการปฏิบัติการก่อการร้ายที่แฝงตัวมาในลักษณะของสงครามศักดิ์สิทธิ์ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าสู่ดินแดนอิรัก

เช่น ในจอร์แดนที่ซึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2005 มีประชาชนกว่า 57% สนับสนุนการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพของกลุ่มก่อการร้าย แต่ในปัจจุบันมีเพียง 12% เท่านั้นที่เห็นว่าการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ยอมรับได้




กองกำลังจอร์แดนในภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย




ในอินโดนีเซียก็เช่นกันที่มีผู้มองว่าการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสูงถึง 85% ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีผู้เห็นด้วยกับการโจมตีกลุ่มนอกศาสนาด้วยวิธีการรุนแรงอยู่ไม่น้อย

ส่วนในปากีสถาน ยอดผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่เคยมีสูงถึง 57% ก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ประชาชนปากีสถานจำนวนกว่า 90% ตระหนักถึงการสังเวยชีวิตของผู้คนที่บริสุทธิ์จากการโจมตีที่รุนแรงของอัล กออิดะฮ์อย่างต่อเนื่อง จนเห็นว่าการก่อการร้ายทุกรูปแบบที่มีเป้าหมายที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ "เป็นสิ่งที่ชาวปากีสถานไม่สามารถยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง"

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของการสูญเสียการยอมรับของกลุ่มอัลกออิดะฮ์จากประชาชนทั่วไปก็คือ กรณีของบิดาและมารดาของนายอูมาร์ ฟารุค อับดุลมูตาลลาป (Umar Farouk Abdulmutallab) ผู้ก่อการร้ายชาวไนจีเรีย สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ที่พยายามก่อเหตุวางระเบิดสายการบินนอร์ทเวสต์ของสหรัฐฯ เที่ยวบินที่ 253 เมื่อช่วงวันคริสต์มาสของปีที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาพยายามรายงานความประพฤติ "ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก" ของบุตรชายจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย ทั้งที่ไนจีเรียเองเป็นประเทศหนึ่งที่ประชาชนเคยให้การสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะฮ์ด้วยการส่งนักรบศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากเข้าร่วมขบวนการตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา

ครอบครัวอับดุลมูตาลลาปและครอบครัวอื่นๆ ในโลกอาหรับต่่างกำลังวิตกกังวลอย่างมากเมื่อบุตรชายหรือบุตรสาวของพวกเขากำลังแปรสภาพเป็น "ระเบิดเดินได้" (walking bomb) เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รักของพวกเขาแล้ว ประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกจำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวตะวันตก หรือชาวอาหรับเองกำลังกลายเป็นเป้าหมายจากการกระทำของสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้เองที่มหาวิทยาลัยอัล อัซฮาร์ (Al-Azhar University) ในกรุงไคโรของอียิปต์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอาหรับ ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการประณามการก่อการร้ายที่อาศัยการตีความที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักศาสนาในการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับอับดุลลาซิส อัล อัซ-ชิคฮ์ (Abdulaziz al ash-Sheikh) ปราชญ์ทางศาสนาที่มีชื่อเสียงของซาอุดิอารเบียที่ได้เผยแพร่กฏทางศาสนาหรือ "ฟัตวา" (Fatwa) ที่ห้ามชาวซาอุดิอารเบียเข้าร่วมในการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของนายโอซามา บิน ลาเดนและกลุ่มอัลกออิดะฮ์ รวมทั้งยังประณามการแปรสภาพ "บุตรหลานของชาวซาอุดิอารเบีย" ให้กลายเป็น "ระเบิดเดินได้" เพียงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองและการทหารของกลุ่มก่อการร้าย

จากตัวอย่างความเคลื่อนไหวที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเหล่านี้จะไม่ใช่กลุ่มที่ชื่นชมอเมริกันหรือนิยมประชาธิปไตยตะวันตก หากแต่กลับเป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในหลักศาสนาเช่นเดียวกัน ความเคร่งครัดเหล่านี้นี่เองที่ทำให้พวกเขาร่วมกันสถาปนาแนวร่วมแห่งการต่อต้านการทำสงครามสงครามศักดิ์สิทธิ์ (anti-jihadist) ของกลุ่มก่อการร้าย เพื่อรักษาความบริสุทธิ์และความถูกต้องของหลักการศาสนาเอาไว้จากการตีความเพื่อผลประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว แนวร่วมแห่งการต่อต้านนี้เองที่ทำให้ "พลังเงียบ" และ "พลังที่อ่อนโยน" (soft power) ของศาสนาที่ใฝ่สันติิ กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่จะผลักดันให้กลุ่มก่อการร้ายและสงครามศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาเดินทางไปสู่จุดจบในที่สุด






Create Date : 05 กันยายน 2553
Last Update : 7 กันยายน 2553 19:04:53 น. 2 comments
Counter : 4615 Pageviews.

 
3จังหวัดชายแดนใต้ไม่ทราบนิกายอะไร แต่ก็ฆ่ากันเกือบทุกวัน


โดย: สีขาว IP: 180.183.199.133 วันที่: 6 กันยายน 2553 เวลา:16:19:58 น.  

 
โจรใต้มันทำแบบนี้เพราะมันต้องการฆ่าคนดีๆให้เยอะๆเพื่อ สร้างข่าว ให้ยูเอ็นคิดว่ามีความขัดแย้งขั้นรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ และเข้ามาแบ่งแยกดินแดน โดยทำประชามติจากทั่วโลก หลายประเทศก็ใช้วิธีนี้เช่นใกล้ไทยก็ติมอร์ตะวันออกโดยเฉพาะรัฐโคโซโวรัฐ หนึ่งของเซอร์เบีย แบ่งแยกโดยเจ้าของประเทศไม่ยินยอมทำให้คนเซิร์บเจ้าของพื้นที่โกรธแค้นยู เอ็นสุดๆ ออกมาประท้วงเป็นแสนๆ ถ้าโจรใต้ดึงยูเอ็นลงมาในพื้นที่ได้ก็มีโอกาสจะแบ่งแยกได้อยู่เหมือนกัน


โดย: เป้าหมายโจรมลายู IP: 202.176.136.80 วันที่: 15 ตุลาคม 2553 เวลา:11:54:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.