VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ตอนที่ 1

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ตอนที่ 1)

(APSC : ASEAN Political –Security Community)

โดย

พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธ์ในการทำซ้ำเพื่อการค้า อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น




ย้อนหลังไปเมื่อปี ..2546 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนหรือ "อาเซียนซัมมิท" (ASEAN Summit) ครั้งที่ 9 ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำของกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน” (ASEAN : Association of South EastAsia Nations) ต่างเห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AC: ASEAN Community) ขึ้น 

โดยประกอบด้วย 3 เสาหลักได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เรียกย่อๆ ว่า "เอพีเอสซี" (APSC : ASEAN Political - Security Community), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เรียกย่อๆ ว่า "เออีซี" (AEC : ASEAN Economic Community) และประชาคมสังคม - วัฒนธรรมอาเซียน เรียกย่อๆ ว่า “เอเอสซีซี” (ASCC : ASEAN Socio -Cultural Community) ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายในปี พ..2563 อย่างไรก็ตามในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนก็ได้ตกลงร่วมกันที่จะเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปีพ..2558 หรือ ค..2015

ต่อมาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้มีการจัดทำแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน เพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนใน พ..2558 โดยเฉพาะประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของประชาคมไว้ 3 ประการคือ

1. สร้างประชาคมให้มีค่านิยมร่วมกันในด้านการเคารพความหลากหลายของแนวคิด รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของนโยบายและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้เสาหลักการเมืองและความมั่นคง

2. เตรียมความพร้อมให้อาเซียน สามารถเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบเดิม และรูปแบบใหม่ อีกทั้งยังส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์อีกด้วย

3. ผลักดันให้อาเซียนมีปฎิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และสร้างสรรค์กับประชาคมโลก โดยมุ่งให้อาเซียนมีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่ผ่านมา แม้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะมีความคืบหน้าไปอย่างมาก แต่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งความสนใจไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ "เออีซี" เพียงด้านเดียว และละเลยประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ตลอดจนประชาคมสังคม –วัฒนธรรมอาเซียนไปอย่างน่าเสียดาย

เหตุที่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ก็เพราะเมื่อพูดถึงความมั่นคง ผู้คนมักจะนึกถึงภาพของสงคราม ทหาร อำนาจกำลังรบ และเรื่องของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนเขตแดนของประเทศ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้

ต่างจากเรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ อันเป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งๆ ที่ความหมายของคำว่า "ความมั่นคงตามที่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนได้กำหนดไว้นั้น ประกอบไปด้วย ภัยความมั่นคงรูปแบบเดิม (เช่น  สงคราม การรบ อำนาจอธิปไตย ฯลฯ) และภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่นี้ มีขอบเขตที่หลากหลายและกว้างขวางอย่างมากในยุคปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ของประชาคมอาเซียนที่ประชาชนในภูมิภาคนี้ จะต้องเผชิญร่วมกันในอนาคต มีอยู่อย่างน้อยสามประการ คือภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และภัยจากการแผ่ขยายอำนาจของประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาค

ภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์ ที่รองศาสตราจารย์สุเนตรกล่าวไว้นั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอพยพโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะอาเซียนมีประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงติดอันดับโลก เช่น สิงคโปร์และบรูไน ในขณะเดียวกันก็มีประเทศสมาชิกที่ยังมีประชากรยากจนและถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (LeastDeveloped Countries : LDCs) ของสหประชาชาติ เนื่องจากมีประชากรกว่า 1 ใน 4 ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับยากจนเช่นกัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เอง ที่จะส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลและการเคลื่อนย้ายของประชากร จากประเทศสมาชิกที่ยากจนไปสู่ประเทศสมาชิกที่ร่ำรวยเพื่อแสวงหาชีวิตและโอกาสที่ดีกว่า

การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานทั้งแบบถาวรและชั่วคราวนี้ จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงของมนุษย์มากมาย ทั้งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการขยายตัวของเครือข่ายก่อการร้ายสากล ปัญหายาเสพติด ปัญหาการก่อกำเนิดของกลุ่มอิทธิพลเหนือชนชาติของตนในดินแดนประเทศอื่น รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุข ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากประชาชนผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากประเทศยากจนเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่ขาดการดูแลด้านสาธารณสุขพื้นฐาน เช่น ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ บุคคลเหล่านี้จะนำโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดติดตัวไปยังประเทศอื่น ก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดนานาชนิด ที่หวนกลับมาอีกครั้ง ภายหลังจากสูญหายไปเป็นเวลานาน เช่น โรคคอตีบ ไอกรน โรคซาร์ ไข้หวัดนก โรคมือเท้าปาก เป็นต้น

นอกจากนี้กลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานดังกล่าว ยังมีแนวโน้มที่จะก่อมลภาวะทางสาธารณสุขขึ้นในประเทศที่ตนอพยพไปอยู่ อันเนื่องมาจากความยากจนและด้อยการศึกษา เช่น การก่อกำเนิดของสลัมหรือชุมชนแออัดในชุมชนเมือง ทำให้มีการละเลยด้านสาธารณสุข ตลอดจนสุขอนามัย ทั้งการบริโภคอาหารและการขับถ่ายสิ่งปฏิกูลต่างๆ อาจก่อให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในทศวรรษหน้าได้ เป็นต้น

ภัยด้านความมั่นคงอีกชนิดหนึ่งที่ประชาคมอาเซียนจะต้องเผชิญร่วมกันคือ ภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น ดังที่ด็อกเตอร์ราจีฟ ชาห์ (Rajiv Shah) ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายน พ..2557 ที่ผ่านมาว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งรวมทั้งสมาชิกอาเซียน ต่างได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติถึงร้อยละ 70 จากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวในประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาล  เป็นต้น

ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและมีจำนวนบ่อยครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้ทำให้กองทัพของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ มีการปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาอำนาจอธิปไตยมาสู่ความเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้กองทัพของกลุ่มประเทศอาเซียนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในภารกิจการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย (HADR : Humanitarian Assistance and Disaster Relief) ในปัจจุบัน

ท้ายที่สุด รองศาสตราจารย์สุเนตรยังกล่าวถึงคือการขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจต่างๆ เข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งในรูปแบบของ "พลังอำนาจเชิงแข็งกร้าว"(Hard Power เช่น การใช้กำลังทหาร การใช้นโยบายคุกคาม ดังที่ปรากฏในทะเลจีนใต้ เป็นต้น) และ "พลังอำนาจเชิงอ่อนโยน" (Soft Power เช่น ความร่วมมือด้านการทหาร การฝึกร่วมกัน การให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนการเยือน และการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น) จนทำให้เกิดการถ่วงดุลย์ทางอำนาจของมหาอำนาจในอาเซียนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาการประกาศขยายแสนยานุภาพทางทะเลของจีนและปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรน้ำมันที่นับวันจะหาได้ยากยิ่ง นับเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อไม่ให้ขยายตัวลุกลามจนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคนี้

ทางด้านอาจารย์ปิติ ศรีแสงนาม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวถึงภัยด้านความมั่นคงของประชาคมอาเซียนในอนาคตเพิ่มเติมอีก 2 ประการ คือ

1. ความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความขาดแคลนขึ้นได้ในอนาคต อันเนื่องมาจากการขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมของอาเซียน จนเกษตรกรต่างละทิ้งเรือกสวน ไร่นาของตน ทำให้ผลผลิตพืชพันธ์ธัญญาหารของอาเซียนซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกลดลงจนถึงระดับที่น่าวิตกอย่างมาก

2. ความมั่นคงด้านพลังงาน จะเห็นได้จากในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียนต่างพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการบริโภคพลังงานจำนวนมหาศาล จนต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อมีปัญหาในด้านการขนส่งหรือการผลิตพลังงานเกิดขึ้น เช่น การปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติ เจดีเอ-เอ 18 ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่ากระแสไฟฟ้าจะไม่เพียงพอ และทำให้ไฟดับทั่วทั้งภาคใต้ของประเทศไทย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญานบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า "ความมั่นคงตามความหมายของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น มีความหมายที่กว้างมาก และล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นประชาชนจึงจำเป็นต้องตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมดังกล่าวเพื่อร่วมกันพัฒนาประชาคมอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างครบถ้วนทั้งสามมิติหรือทั้งสามเสาหลักนั่นเอง

สำหรับคุณลักษณะของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้นประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญ 3 คุณลักษณะ คือ

1. คุณลักษณะของความเป็นประชาคมที่มีกฏกติกาในการกำหนดค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน คุณลักษณะข้อนี้สามารถแบ่งองค์ประกอบออกได้ 2 องค์ประกอบดังนี้

- การพัฒนาค่านิยมทางการเมืองร่วมกัน เพื่อให้องค์กรทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งมีระบบการบริหารองค์กรที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

-การสร้างและแบ่งปันกฏเกณฑ์ร่วมกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีกฏเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เช่น การร่วมกันยึดมั่นในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC: Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) ซึ่งลงนามมาตั้งแต่ปี พ..2519 และนับเป็นสนธิสัญญาที่เป็นแนวทางของอาเซียนอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นั่นคือ การเคารพในบูรณภาพและอำนาจอธิปไตยของกันและกัน โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก (non-interference in theinternal affairs of one another) ซึ่งส่งผลให้ชาติสมาชิกอาเซียนไม่เข้าไปก้าวก่ายสถานการณ์หรือกิจการภายในของประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่างเด็ดขาด

2. คุณลักษณะของความเป็นประชาคมที่ส่งผลให้ภูมิภาคแห่งนี้เป็นภูมิภาคที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นเอกภาพ มีความสงบสุข มีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมในทุกมิติ สำหรับคุณลักษณะในข้อนี้จะเห็นได้ว่า องค์กรหลักที่มีบทบาทอย่างมากได้แก่ กระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนนั่นเอง โดยคุณลักษณะนี้จะมีองค์ประกอบทั้งสิ้น 6 ประการ คือ

-ช่วงเวลาก่อนเกิดความขัดแย้ง ประชาคมจะดำเนินการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกด้วยการสร้างความไว้เนื่อเชื่อใจและใช้การฑูตเชิงป้องกันเป็นเครื่องมือหลัก

-ช่วงเวลาเมื่อเกิดความขัดแย้ง ประชาคมจะดำเนินการแก้ไขความขัดแย้ง โดยยึดหลักสันติวิธี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านอื่นๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

-ช่วงเวลาเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลง ประชาคมจะเร่งรัดในการสร้างสันติภาพและนำความสงบสุขกลับคืนสู่พื้นที่พิพาทและสู่ภูมิภาคโดยเร็ว

-สำหรับการตอบสนองต่อภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ชาติสมาชิกจะต้องร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

-ในส่วนของภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น ชาติสมาชิกจะต้องร่วมมือกันตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว

-ประเด็นเร่งด่วนอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอาเซียนนั้น ให้ชาติสมาชิกร่วมกันตอบสนองอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ

3. คุณลักษณะของความเป็นประชาคมที่มี "พลวัต" หรือมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำพาอาเซียนมุ่งไปสู่โลกภายนอกในลักษณะของสังคมแห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น อาเซียน - จีนอาเซียน - สหรัฐฯ และอาเซียน – สหภาพยุโรป หรือ อียู (EU : European Union) เป็นต้น สำหรับคุณลักษณะในข้อนี้ มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ

-การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในระดับภูมิภาค

-การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกประชาคม

-การส่งเสริมให้มีความร่วมมือและการปรึกษาหารือในประเด็นที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน องค์ประกอบข้อนี้จะเห็นได้อย่างเด่นชัด ในกรณีความขัดแย้งเหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ที่สมาชิกอาเซียน (เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไนมีข้อพิพาทกับจีน โดยอาเซียนพยายามหาทางออกของปัญหาด้วยการจัดการเจรจาและแก้ไขบนแนวทางสันติวิธีมาโดยตลอด บนพื้นฐานของการเคารพในบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท ตามที่ได้มีการลงนามในคำประกาศร่วมกันเพื่อเพิ่มความเป็นเอกภาพสำหรับประชาคมแห่งความปรองดองและความมั่นคง (Joint Declaration onEnhancing ASEAN Unity for a Harmonized and Secure Community) ในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมพ..2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา


(โปรดติดตามตอนที่ 2 เรื่อง กลไกของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน)




Create Date : 04 สิงหาคม 2557
Last Update : 4 สิงหาคม 2557 8:44:41 น. 0 comments
Counter : 1779 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.