การประพฤติธรรม

การประพฤติธรรม เป็นมงคลที่ ๑๖ ในมงคล ๓๘ ประการที่ทุกคนควรจะปฏิบัติตาม ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า ธมฺม จริยา จ เอตมฺมํ (อ่านว่า ธัมมะ จะริยา เอตัมมัง คะละมุตตะมัง) คลมุตฺตมํ แปลได้ใจความว่า การประพฤติธรรมจัดเป็นอุดมมงคล หรือแปลว่า ธรรมจริยา นั่นเอง

จริยา แปลว่า ความประพฤติ ส่วนธรรมะ คือ ความดี
คำว่า ธรรม แปลว่าทรงไว้ซึ่งความดี

ประพฤติความดีก็คือใจนะ ใจเข้าถึงความดี เมื่อใจมันเข้าถึงความดีเสียอย่างเดียวกายวาจามันก็ถึงหมด

ใจของเราอยากให้คนและสัตว์ทั้งโลกรักเรา เราก็มีความรู้สึกยังงั้น คนและสัตว์ทั้งโลกเขาก็ต้องการให้เรารักเหมือนกัน ทีนี้เราต่างคนก็ต่างรักกันเสีย เราไม่เกลียดกันเราไม่เป็นศัตรูกัน เราเป็นเพื่อนกัน อย่างนี้มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ โลกนี้จะเร่าร้อนหรือเยือกเย็น

ถ้ามีอะไรขาดแคลน ต้องการการสงเคราะห์จากบุคคลอื่น โอกาสที่มีสำหรับการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันได้ เราก็สงเคราะห์ตามกำลังที่จะพึงให้

ถ้าใครเขาทำความดี เราไม่กีดกันความดี สนับสนุนความดีเขาด้วยการจริงใจ ยกย่องสรรเสริญตามความเป็นจริง คนที่ทำความดีก็มีกำลังใจ

ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเกินวิสัยที่จะช่วยกันได้ เราก็ไม่ซ้ำเติม วางเฉย ตั้งท่าไว้ก่อน ถ้าโอกาสมีเมื่อไรสงเคราะห์โอบอุ้มทันที

ถ้าคนทั้งโลกทั้งหมดประพฤติอย่างนี้ มีอารมณ์ใจแบบนี้แล้วก็ทำตามนี้ ต่างคนต่างทำ สนองซึ่งกันและกัน โลกนี้จะมีความสุข โลกจะเข้าถึงความเจริญ



ธรรมของคนดี ได้แก่

๑. สัปปุริสธรรม

หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ,ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่างคือ (สัตบุรุษ คนสงบ,คนดี, คนมีศีลธรรม,คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม)

๑.๑. ธัมมัญญุตา - รู้หลักหรือรู้จักเหตุ
ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์;ตามอธิบายในบาลี หมายถึง รู้หลัก หรือรู้หลักการ เช่น ภิกษุเป็นธัมมัญญู คือ รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จัดเป็นนวังคสัตถุศาสน์

๑.๒. อัตถัญญุตา - รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล
ความเป็นผู้รู้จักผลเช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้, รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล

๑.๓. อัตตัญญุตา - รู้จักตน
ความเป็นผู้รู้จักตน เช่น รู้ว่า เรามีความรู้ ความถนัด คุณธรรม ความสามารถและฐานะ เป็นต้น แค่ไหน เพียงไร แล้วประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลดี

๑.๔. มัตตัญญุตา - รู้จักประมาณ
ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการแสวงหารู้จักประมาณในการใช้จ่ายพอเหมาะพอควร เป็นต้น

๑.๕. กาลัญญุตา - รู้จักกาล
ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในการประกอบกิจนั้นๆ เช่น รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เป็นต้น

๑.๖. ปริสัญญุตา - รู้จักชุมชน
ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนและกิริยาที่จะต้องปฏิบัติต่อประชุมชนนั้นๆเช่นรู้จักว่า ประชุมชนนี้ เมื่อเข้าไปจะต้องทำกิริยาอย่างนี้จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น

๑.๗. ปุคคลัญญุตา - รู้จักบุคคล
ความเป็นผู้รู้จักบุคคลคือ รู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้นเป็น อย่างไร ควรคบควรใช้ควรสอนอย่างไร



อีกหมวดหนึ่งมี ๘ อย่าง คือ

๑. ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ
๒. ภักดีสัตบุรุษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗)
๓. คิดอย่างสัตบุรุษ
๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ
๕. พูดอย่างสัตบุรุษ
๖. ทำอย่างสัตบุรุษ (๓-๔-๕-๖ คือ คิดปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น)
๗. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่วเป็นต้น)
๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ(คือให้โดยเคารพ เอื้อเฟื้อแก่ของและผู้รับทาน เป็นต้น)



๒. โพธิปักขิยธรรม ๓๗

ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรคมี ๓๗ ประการคือ
มหาสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์๗ และ มรรคมีองค์ ๘



มหาสติปัฏฐาน ๔
การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง

๑. กาย
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การตั้งสติกำหนดพิจาราณากาย
การกำหนดรู้เห็นตามเป็นจริงตามอิริยาบทใหญ่ ๆ ยืน เดิน นั่ง นอน หรืออิริยาบทย่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การขับถ่าย การหายใจ เป็นต้น

๒. เวทนา
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา
การกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า สุข ทุกข์ หรือว่าเฉย ๆ

๓. จิต
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต
การกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่าน เป็นต้น

๔. ธรรม
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การตั้งสติกำหนดพิจาณาธรรม
การกำหนดรู้ตามความเป็นจริงในข้อธรรมต่าง ๆ เช่น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ โพชณงค์ ๗ อายตนะ ๑๒ อริยสัจ ๔ เป็นต้น



สัมมัปปธาน ๔

ได้แก่ ความเพียงชอบ หรือ ความเพียรใหญ่ ๔ ประการ คือ

๑. สังวรปธาน - เพียรระวัง เพียรปิดกั้น
เพียรในการไม่ทำความชั่วทั้งปวง
เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น

๒. ปหานปธาน - เพียรละ เพียรกำจัด
เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

๓. ภาวนาปธาน - เพียรเจริญ เพียรก่อให้เกิด
เพียรในการทำจิตใจให้เกิดแต่กุศล
เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี

๔. อนุรักขนาปธาน - เพียรรักษา
เพียรในการทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์



อิทธิบาท ๔

หมายถึง คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์
ทางแห่งความสำเร็จมี ๔ อย่างคือ

๑. ฉันทะ
คือ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒. วิริยะ
คือ ความพยายามทำสิ่งนั้น

๓. จิตตะ
คือ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

๔. วิมังสา
คือ ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น

จำง่าย ๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน



อินทรีย์ ๕

หมายถึง ความเป็นใหญ่ สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ๆเ

อินทรีย์ ๕ ตรงกับ พละ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

ธรรม ๕ อย่างชุดเดียวกันนี้ เรียกชื่อต่างกันไป ๒ อย่าง ตามหน้าที่ที่ทำ
คือ เรียกชื่อว่า พละ โดยความหมายว่า เป็นกำลังทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง
ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้

เรียกชื่อว่า อินทรีย์ โดยความหมายว่าเป็นเจ้าการในการครอบงำเสีย

ธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่าง คือ
ความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย



พละ ๕

๑. ศรัทธา - ความเชื่อ
๒. วิริยะ - ความเพียร
๓. สติ - การระลึกได้
๔. สมาธิ - การตั้งจิตมั่น
๕. ปัญญา - ความรู้ทั่วชัด



โพชฌงค์ ๗

หมายถึง ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้
มี ๗ อย่างคือ
๑. สติ
๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม)
๓. วิริยะ
๔. ปีติ (ความอิ่มใจ)
๕. ปัสสัทธิ (ความสงบ)
๖. สมาธิ
๗. อุเบกขา (การวางเฉย)



มรรค หมายถึง ทาง หรือ หนทาง
ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค
แปลว่าทาง มีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ - เห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ - ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา - เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ - ทำการชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ - เพียรชอบ
๗. สัมมาสติ - ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ - ตั้งจิตมั่นชอบ

หรือแบ่งตามไตรสิกขาได้เป็น ๓ หมวดคือ
๑. ศีล ได้แก่ สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ
๒. สมาธิ ได้แก่ สัมมาวายามะ, สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ
๓. ปัญญา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ

มรรคว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจคือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละขั้น
ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ
โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑


รสธรรม
๔ เมษายน ๒๕๔๖



ที่มา:

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ประพันธ์โดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)





Create Date : 13 สิงหาคม 2548
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:41:35 น. 0 comments
Counter : 596 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รสา รสา
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add รสา รสา's blog to your web]