Group Blog
 
All Blogs
 

ควันหลงปีใหม่

สวัสดีปีใหม่คร้าบบบทั่น...

คุณๆไปเที่ยวพักผ่อนที่ไหนกันบ้างหรือเปล่าครับ สำหรับกระผม นินจา ราตรี ยังคงสิงสถิตอยู่ที่ซิดนีย์ ดินแดนดาวน์อันเดอร์ เหมือนเดิมขอรับ

เมื่อครู่คลิกอ่านข่าวจากเวบผู้จัดการออนไลน์ เวบข่าวที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ทันใจคนไทยต่างแดนเป็นที่ซู้ดดดด.... หึ...หึ...ยอกันเองเสียแล้วเนี่ย

ข่าวแจ้งว่า ท่านนายกแห่งสยามประเทศ บ่นผ่านคลื่นวิทยุด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับยอดคนตายจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ดันทะลึ่งพุ่งทะลุกว่าปีที่แล้วตั้ง 200 คน บาดเจ็บเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหมื่น

รวมยอดสุทธิ 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมปีก่อนถึงวันปีใหม่ ม่องเท่งรวมแล้ว 714 คน บาดเจ็บนอนพะงาบๆหยอดน้ำข้าวต้มถึง 33,736 คน

ตอนแรกที่เห็นตัวเลขสถิติคนเจ็บ คนตายในเทศกาลแฮปปี้นิวเยียร์ ไอ้กระผมนึกว่า เมืองไทยเจอระเบิดพลีชีพของผู้ก่อการร้ายเข้าไปพันกว่าตูมหรือไง ถึงได้มียอดเจ็บ ยอดตายมากมายขนาดนี้

แต่มาร้องอ๋อทีหลังเมื่ออ่านเจอว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากพวกเมาแล้วซ่าส์ขับรถ ทั้งประเภทสองล้อ สี่ล้อ เลยชนกันสนั่นลั่นเมือง ตายเจ็บกันเป็นเรือนหมื่น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดีไม่ดีสถิติคนเจ็บคนตายในช่วงเทศกาลปีใหม่อาจถึงเรือนแสนเข้าสักปีสิเอ้า

ทีนี้มาสะดุดแดนจิงโจ้กันบ้าง

ตัวเลขสถิติล่าสุดจากโปลิสออสซี่ประกาศว่า ตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสไล่ยาวถึงปีใหม่ ยอดคนตายจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมดรวม 75 คน แบ่งเป็นตัวเลขจากรัฐ New South Wales 22, Queensland 18, Victoria 16, South Australia 8, Tasmania 4, Western Australia 4 , the Northern territory 3

ตัวเลขอุบัติเหตุจราจรที่แตกต่างกันมากมาย ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย แปลว่า คนออสซี่ไม่นิยมสนุกสนานเฮฮาเมาสุรากันในช่วงเทศกาลหรือไง

หามิได้ครับทั่น

คนออสซี่มันขี้เมาพอๆกับคนไทยนี่แหละ ดีไม่ดี ผมว่ามันขี้เหล้าเมายามากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเห็นมีโรงเหล้า โรงเบียร์อยู่แทบทุกสี่แยกใหญ่ๆ

แต่คนที่นี่ถ้าจะดื่มของมึนเมาแบบกิจจะลักษณะ เขาไม่ขับรถกัน

ไม่ใช่ไม่อยากขับนะครับ อยากน่ะอยากอยู่ แต่ไม่กล้าครับ

โดยเฉพาะช่วงหยุดยาว หยุดเทศกาลเช่นนี้ ยิ่งไม่กล้าใหญ่

เพราะเจอด่านตรวจของตำรวจเข้ามีหวังซวยรับปีใหม่แน่

เนื่องจากเขารณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงหยุดเทศกาลยาวๆเช่นนี้ โดยประกาศว่าหากจับได้ว่าทำผิดกฏจราจรถูกตัดแต้มเพิ่มขึ้นจากปกติครับ

ดีไม่ดี ถูกตัดแต้มจนหมด ถูกยกเลิกใบขับขี่ มีหวังมีรถไว้จอดเล่นเฉยๆกันพอดี

อย่างเจ้าโอ๊ป ขาเมาเพื่อนร่วมก๊วนวงเหล้าของผมตั้งแต่เมืองไทย พอมาเรียนต่อที่แดนจิงโจ้ มันยังติดนิสัยเดิมแบบไทยๆ ดื่มเหล้าเบียร์เท่าไหร่ยังอวดเก่ง ชอบบอกใครต่อใครว่า

“ข้าไม่เมา...ข้าไม่เมา…กินเหล้าแค่นี้ ขับรถกลับบ้านได้ สบายมาก ย.ห. อย่าห่วง”

มันรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้ตลอด จนกระทั่งเมื่อก่อนวันคริสต์มาส มันฉลองปีใหม่กับเพื่อนฝูงที่ร้านข้าวต้ม King Cross ร้านเหล้ายอดนิยมในหมู่เด็กไทยในซิดนีย์ เจ้าโอ๊ปเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนๆหมดเหล้าแบล๊กไปหลายขวด

และเช่นเคยครับ เจ้าโอ๊ปมันเที่ยวบอกใครต่อใครอีกว่า ไม่เมา ไม่เมา ว่าแล้วก็ขับรถคู่ชีพกลับบ้านไป แต่คราวนี้มันถึงคราวเคราะห์ครับทั่น เจอด่านตำรวจเรียกจอดให้เป่าตรวจปริมาณแอลกลอฮอล์ในเส้นเลือด

จะมีรอดหรือครับ เล่นล่อเหล้าแบล๊กเข้าไปขนาดนั้น ถูกจับเป่าตรวจครั้งแรกไม่ผ่าน ยังต้องถูกกักอยู่บนรถตรวจในห้องตู้พลาสติกอีกเกือบครึ่งชั่วโมงได้มั้ง ตรวจใหม่อีกทีก็ไม่ผ่าน คราวนี้เสร็จครับ

เห็นว่าจะต้องขึ้นศาล ถูกปรับ เสียเงินแล้วดีไม่ดียังอาจอดขับรถอีก งานขับรถส่ง Home delivery ของมันมีหวังต้องเลิก หันกลับไปใช้แรงงานล้างจาน หั่นผัก หั่นเนื้อแบบเดิม

ครับ ตำรวจที่นี่มันไม่มีน้ำใจเหมือนของไทยซะด้วยสิ จะต่อรอง เจรจาต้าอ่วยด้วยธนบัตร หรือใบเบ่งแบบไทยๆก็ไม่ได้

ไม่ว่าคุณเป็นลูกใคร จะเป็นนักการเมือง จะเป็นเศรษฐีทำผิดกฎจราจรที่นี่ ถูกจับ รอดยากครับ

นอกจากการเข้มงวดเกี่ยวกับกฎจราจรในช่วงหยุดเทศกาลแล้ว เจ้าหน้าที่ออสซี่ยังรณรงค์ให้ขับรถอย่างปลอดภัย ประเภทขับรถทางไกล เหนื่อยล้าต้องหยุดพัก ฯลฯ โดยมีแคมเปญโฆษณาทางโทรทัศน์ถี่ยิบเลย ส่วนใหญ่จะเน้นภาพความรุนแรง และผลที่เกิดขึ้นจากการขับรถประมาท

แบบว่าดูแล้วช็อก กลัวขี้แตกขี้แตนไปเลยครับ

คุยถึงเทศกาลปีใหม่ กระผมอดเล่าให้คุณๆ ฟังไม่ได้ว่า ที่ซิดนีย์นอกจากจะมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟในช่วงเที่ยงคืน หลัง Count down รับปีใหม่แล้ว ที่นี่ยังมีการจุดพลุฉลองตอน 3 ทุ่มด้วยนะครับ

ปีใหม่แรกที่กระผมมาถึงที่นี่ งงเต็กเลยครับ ไม่รู้มันจะจุดพลุก่อนทำไม

มารู้ทีหลังว่าเขาจุดพลุ ดอกไม้ไฟรอบสามทุ่ม เพื่อให้เด็กดูครับ

ถือว่าเป็นรอบครอบครัว

เพราะเด็กมักจะหลับก่อนถึงเที่ยงคืน รวมทั้งเขาไม่ต้องการให้เด็กต้องถ่างตารอดูพลุจนถึงเที่ยงคืน ดังนั้นคนออสซี่จึงจัดรอบพิเศษให้กับเด็ก

เรียกว่าเอาใจเด็กกันสุดฤทธิ์เลยละครับ

แต่ถึงกระนั้นก็มีเรื่องจนได้ เมื่องานฉลองปีใหม่ปีที่แล้ว พลุไฟรอบ 3 ทุ่มที่ Sydney Harbour เป็นหมัน อันเนื่องจากมีลมกรรโชกแรงจนไม่สามารถจุดพลุแสดง

ทำให้พ่อแม่ที่อุ้มกระเตงลูกๆมาจองที่นั่งตั้งแต่สี่ห้าโมงเย็น เพื่อรอดูพลุรอบสามทุ่มต้องหงุดหงิด โวยวายโทษฐานผู้จัดงานสร้างความผิดหวังให้กับเด็กๆ เป็นข่าวใหญ่โตเลยทีเดียว

ผู้จัดงานต้องออกมาขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ ปีนี้ถึงกับบอกว่า ถ้าเทศกาลต้อนรับปีใหม่ 2004 ไม่สามารถจุดพลุอีก จะมีการแสดงอื่นไม่ทำให้เด็กๆต้องร้องไห้กระจองอแงแบบปีที่แล้วแน่

โชคดีครับ ปีนี้การแสดงพลุดอกไม้ไฟเป็นไปตามแผน เด็กๆได้ร้องโอ้โห ยิ้มหัวเราะ เบิกบานต้อนรับปีลิงกันถ้วนหน้า

เอ...การทำเพื่อเด็ก แม้จะดูเป็นประเด็นเล็กๆ แต่แสดงถึงความเอาใจใส่ สนใจ ความคิด ความรู้สึกของเจ้าตัวน้อยๆเช่นนี้จะมีบ้างไหมหนอ ในดินแดนสยามประเทศ...อันนี้นินจา ราตรีแค่เปรยผ่านสายลมนะครับ

ปิดท้ายสัปดาห์นี้ นินจา ราตรีขอนำรูปบางส่วนในงานฉลองปีใหม่ของคนไทยในซิดนีย์ ที่วัดพุทธรังษี แอลนัลเดล มาให้ดูกันนะครับ

วันนั้น ครอบครัวคนไทยในต่างแดนหลายร้อยคน ร่วมใจทำอาหารหลากหลายมาร่วมทำบุญตักบาตร ถวายภัตราหารเพลแก่พระสงฆ์ ถือเป็นการเปิดศักราชแห่งความดีเช่นเดียวกับคนไทยในแผ่นดินเกิด

นอกจากนั้นยังมีการแสดงทั้งดนตรีไทย การรำอวยพร รำโขนจากลูกหลานคนไทยในออสเตรเลีย ในนามของโรงเรียนภาษาไทยวัดพุทธรังษี ภาคฤดูร้อน

นับเป็นการสานต่อวัฒนธรรมประเพณีจากคนรุ่นหนึ่ง สู่ชนอีกรุ่นได้อย่างน่านับถือยิ่ง

........................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใช้นามปากกา "นินจา ราตรี" ลงในเวบไซด์ //www.manager.co.th ส่วนของ คอลัมนิสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547




 

Create Date : 01 มกราคม 2551    
Last Update : 1 มกราคม 2551 10:26:39 น.
Counter : 581 Pageviews.  

เรียนต่อออสฯ(5)

เมื่อวาน ผมได้รับอี-เมล์ จากเจ้าเผือก เพื่อนซี้เก๋ากึ๊กดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่สมัยนุ่งขาสั้น วิ่งเล่นเตะบอลอยู่กลางสนามทรายในโรงเรียน มันเขียนมาถามว่า

“เฮ้ย...นินจา ถามจริงๆเหอะ ถ้าจะไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียสักปีหนึ่ง ต้องใช้เงินถึงล้านไหม...”

เออ...จริงสิ ผมจำได้ว่า สิ่งหนึ่งที่กระผมกังวลใจมากตอนจะมาเรียนต่อในแดนจิงโจ้ นอกจากเรื่อง ภาษา และความแปลกใหม่ของสภาพแวดล้อมแล้ว

สิ่งนั้นคือ เรื่องเงิน..เงิน...เงิน

โธ่...ไอ้เรา มันไม่ได้เกิดมามี พานทองแท้รองรับตัวตอนอุแว้...อุแว้...นี่ขอรับ

พูดถึงค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อที่นี่ คงต้องแยกออกเป็น 3 ส่วนนะครับ

ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายพิเศษ

ค่าใช้จ่ายพิเศษนี้ กระผมหมายถึง ค่าเครื่องบิน ค่าทำวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ค่อนข้างชัดเจน ถ้าคุณๆไม่ขี้เหงา บินกลับเมืองไทยบ่อยๆ คงไม่เปลืองเพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนอีกอย่างคือ ค่าเล่าเรียน

ปกติ ถ้าคุณมาเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย ระยะเวลา 40 สัปดาห์ หรือ 1 ปี ค่าเรียนจะตกประมาณ 8,000 ถึง 12,000 เหรียญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละสถาบัน

หากมาเรียนระดับมัธยม ค่าเล่าเรียนอยู่ที่ 6,000 ถึง 8,000 เหรียญ

เรียนวิทยาลัยเทคนิค หรือที่นี่จะเรียกกันว่าเรียน TAFE ค่าเรียนจะประมาณ 6,000 ถึง 8,000 เหรียญ

ถ้าเรียนปริญญาตรี ค่าเล่าเรียนจะตก 8,000 ถึง 14,000 เหรียญ

ส่วนระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ค่าเล่าเรียนจะอยู่ที่ 9,500 เหรียญ ถึง 15,000 เหรียญ

ค่าเล่าเรียนพวกนี้ ต้องระวังนะครับ ออสซี่เจ้าของประเทศมันปรับราคาแทบทุกปี ฟันเงินนักเรียนต่างชาติเข้ากระเป๋าเพิ่มขึ้นปีละหลายตังค์ทีเดียวครับ

สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว เท่าที่ตรวจเช็คยอดรายจ่ายของตัวกระผมเอง รวมทั้งตรวจทานกับผองเพื่อน สรุปได้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกประมาณคนละ 800 ถึง 1,200 เหรียญต่อเดือน

เงินก้อนนี้ค่าใช้จ่ายมากที่สุดคือ ค่าที่พัก ถ้าคุณๆมีญาติ มิตร ผู้เอื้ออารีให้พักฟรี ย่อมประหยัดเงินไปโข

แต่ถ้าคุณตัดสินใจเลือกที่พักแบบ Home Stay หรือที่พูดง่ายๆว่า ไปพักอาศัยกับครอบครัวคนออสซี่ ค่าใช้จ่ายตรงนี้อาจจะสูงเสียหน่อยตกประมาณ 120 – 280 เหรียญต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเมืองที่คุณอยู่ว่าอยู่เมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากน้อยแค่ไหน และยังรวมถึงเงื่อนไขของอาหารที่เขาเตรียมให้ในแต่ละสัปดาห์ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนด้วย

ถ้าคุณๆที่ตัดสินใจเลือกอยู่แบบ Home Stay ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในแต่ละเดือนย่อมสูงขึ้นเกิน 1,000 เหรียญ เพราะคำนวณคร่าวๆ แค่ค่าที่พักดันทะลุเข้าไปกว่า 800 เหรียญแล้วนี่ครับ

ไหนๆพูดถึง Home Stay นินจา ราตรี ขอเลี้ยวขวาออกนอกประเด็นไปสักนิดนะครับ หากคุณๆคิดหวังว่ามาอยู่ Home Stay แล้วจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตแบบออสซี่แท้ๆ อันนี้ต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับดวงของแต่ละคนครับ

ใครได้อยู่กับ Home Stay ฝรั่งชาวออสซี่ ผู้เอื้ออารี คอยชวนพูด ชวนคุย พาไปโน่น มานี่ ถือว่าคุณโชคดีอย่างยิ่ง เพราะคุณจะได้พัฒนาภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาอย่างแท้จริง

แต่เท่าที่ทราบ เด็กไทยที่มาอยู่ Home Stay ไม่รู้ทำไม มักโชคร้าย บางคนถึงขั้นซวยสุดๆ เลย

อย่างน้องเอิน พ่อแม่ของเธอต้องการให้เธอมาพัก Home Stay เธอระบุไปกับทางเอเยนต์นักเรียนตั้งแต่ตอนสมัครเรียนว่า ไม่ต้องการอยู่ในบ้านที่สูบบุหรี่และเลี้ยงสัตว์ เพราะเธอเป็นโรคภูมิแพ้ ทางเอเยนต์ตัวดีรับปากขันแข็ง อ้างอิงว่า Home Stay ที่เลือกให้เป็นครอบครัวฝรั่งชั้นดี สารพัดจะคุยโว

แต่พอบินมาถึงที่นี่ แรกเข้าประตูเธอก็ช็อกแล้วครับทั่น

หมาตัวยักษ์โถมเข้ามาทักทาย พร้อมสาวเอเซียร่างยักษ์ที่กำลังสูบบุหรี่ พ่นควันป๋อยๆ น้องเอินมารู้ภายหลังว่า ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวชาวอินโดนีเซียที่แปลงสัญชาติเป็นคนออสเตรเลียแล้ว ครอบครัวนี้เปิดบ้านให้นักเรียนต่างชาติอยู่หลายคน เรียกว่า ทำกันเป็นอาชีพหลักเลยทีเดียว

น้องเอินเล่าว่า บ้านนี้นอกจากจะสกปรก ถึงขั้นโสโครกแล้ว อาหารที่บอกว่าจะมีเตรียมไว้ให้ในตอนเช้าและมื้อเย็นนั้น บางวันก็ไม่เป็นไปตามข้อตกลง

และที่สำคัญคือ บ้านนี้ห้องน้ำ และห้องนอนไม่มีกุญแจล็อก ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนกับบ้านทั่วๆไปของออสเตรเลียนี่แหละครับ แต่รายน้องเอินเธอซวยหน่อย

เพราะมีอยู่คืนหนึ่ง ตาเจ้าของบ้านผู้ชาย ไม่รู้ว่าอารมณ์เปลี่ยวหื่นมาจากไหน อาจจะเป็นเพราะแม่บ้านไม่อยู่ละมั้ง ตานี่เลยถือวิสาสะ เปิดประตูห้องนอนพรวดเข้ามาหาน้องเอินในยามดึก ถามว่า “เหงาไหม จะอยู่เป็นเพื่อน”

โอ้แม่เจ้า...กว่าน้องเอินจะร้องไล่ให้ออกไปได้ เล่นเอาเธอแทบบ้า คืนนั้นเธอต้องขนสัมภาระต่างๆมากองขวางประตูไว้ทั้งคืน

วันรุ่งขึ้นเธอไปแจ้งที่โรงเรียนสอนภาษาให้เปลี่ยน Home Stay แต่ได้รับคำตอบว่า ต้องรอคิวไปก่อน ตอนนี้ Home Stay เต็ม พอเล่าเรื่องให้เจ้าหน้าที่ฟัง เจ้าหน้าที่กลับบอกว่า น้องเอินคิดมากไปเอง ตาเจ้าของบ้านเขาอาจจะเข้ามาถามไถ่ด้วยความห่วงใยเท่านั้น

ครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆเท่านั้น หากใครจะมาอยู่แบบ Home Stay ต้องทำใจไว้บ้างนะครับ อย่าหวังสูงนัก...

ย้อนกลับมาพูดเรื่องค่าใช้จ่ายดีกว่า หากคุณๆเลือกพักแบบแชร์ร่วมกับคนอื่น แบบที่เรียกว่า Share Mateไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างชาติ ค่าที่พักจะประหยัดลงมาก ตกอยู่ประมาณ 60 – 150 เหรียญ ขึ้นอยู่ว่าคุณจะแชร์อยู่กันกี่คน รวมทั้งที่พักในเมืองย่อมแพงกว่านอกเมืองเป็นธรรมดา

นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบ หอพักในมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษา อันนี้ราคาแพงพอๆหรือบางทีมากกว่าแบบ Home Stay ด้วยซ้ำไป แต่มีข้อดีคือ คุณๆจะได้เจอเพื่อนนักศึกษาต่างชาติมากมาย ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ค่าใช้จ่ายหลักที่สามารถประหยัดได้อีกอย่าง สำหรับคนที่อยู่แบบแชร์ร่วมกับคนอื่นคือ ค่าอาหาร หากคุณๆสามารถทำอาหารทานเองได้ แน่นอนครับ ย่อมถูก ประหยัด และถูกปากมากกว่าไปซื้อกินข้างนอก

ค่าใช้จ่ายหลักอีกอย่างคือค่าเดินทาง หากจะประหยัดค่าเดินทาง กระผมแนะให้เลือกหาที่พักแถวที่คุณเรียน หรือใกล้แหล่งทำงานหาเงินของคุณก็ได้ครับ

สรุป เปิดบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 800 เหรียญ เป็น ค่าอาหาร 200 เหรียญ ค่าที่พัก 400 เหรียญ ค่าเดินทาง 50 เหรียญ ค่าจิปาถะ 150 เหรียญ

ครับ คิดคำนวนเป็นเงินไทยแล้วเดือนหนึ่งๆ ใช้จ่ายโขอยู่

คุณๆที่ขอเงินพ่อแม่มาเรียน ยังไงอย่าไปเพิ่มค่าใช้จ่ายด้วยการพนันอีกละ

ไม่เช่นนั้นเงินมากไม่ไหร่ก็ไม่พอให้คุณผลาญ


........................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใช้นามปากกา "นินจา ราตรี" ลงในเวบไซด์ //www.manager.co.th ส่วนของ คอลัมนิสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2546




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2550    
Last Update : 27 ธันวาคม 2550 9:24:27 น.
Counter : 1154 Pageviews.  

เรียนต่อออสฯ(4)

โหย...คุณๆครับ หลังจากสัปดาห์ก่อน กระผมกระเทาะเปลือกบางส่วนของเหล่าเอเยนต์นักเรียน ปรากฏว่านายหน้าทางการศึกษาพวกนี้ดิ้นกันให้พล่าน

อันนี้นินจา ราตรี ต้องขอประทานโทษอย่างสุดซึ้ง ที่ทำให้ท่านนายหน้าต้องขาดทุนกำไรจากค่าเปอร์เซ็นต์ไปบ้าง แต่ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้สนใจไปเรียนต่อในประเทศออสเตรเลีย กระผมคงต้องบอกเล่าเรื่องจริง จากประสบการณ์ส่วนตัวและของผองเพื่อน แม้ความจริงจะกระทบผลประโยชน์ของบางคนบ้างก็เถอะ

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เรามาคุยกันต่อเรื่องเอเยนต์นักเรียนอีกสักนิด เรื่องนี้เกิดขึ้นกับแป๋ว...เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งของผม เธอเล่าว่า

“ ตอนแรกที่สมัครเรียนที่เมืองไทย เอเยนต์บอกว่า ถ้าจะเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ออสเตรเลีย เขามีหลักสูตร Direct Entry ของสถาบันภาษาแห่งหนึ่งดีมาก สถาบันภาษาแห่งนี้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย เรียนที่นี่ 20 สัปดาห์แล้วต่อเข้ามหาวิทยาลัยได้ทันที ไม่ต้องสอบ IELTS...”

“...เขาให้จ่ายค่าเรียนภาษา 20 สัปดาห์ รวมกับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเทอมแรกไปเลย บอกว่าจะได้วีซ่ายาว ไม่ต้องเสียเงินต่อวีซ่าอีกที...”

“...แต่พอมาถึงที่นี่ ปรากฏว่าสถาบันภาษาบอกว่า ภาษาเรายังไม่ดีพอ ต้องเรียนต่อมากกว่า 20 สัปดาห์ ถ้าอยากเข้ามหาวิทยาลัยทันตามกำหนดต้องไปสอบ IELTS เอาเอง หนูกลุ้มใจมาก ติดต่อกลับเอเยนต์ที่ส่งเรามาเขาก็ไม่สนใจเพราะได้เงินค่าเปอร์เซนต์ของเราแล้ว เขาไม่ยอมช่วยอะไรเลย...”

ครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของเหล่าเอเยนต์นักเรียนขี้ฉ้อบางแห่งที่คุณๆต้องระมัดระวังตัวนะครับ ต้องสอบถามข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

เงินที่ต้องเสียเพื่อการศึกษาครั้งนี้ไม่ใช่หลักร้อย หลักพันนี่ครับ เงินเป็นหลักแสน หลักล้าน อย่าไปหลงเคลิ้มกับคารมนายหน้าพวกนี้ง่ายๆนะครับ

เพราะสิ่งที่เอเยนต์เหล่านี้ให้ข้อมูลแก่คุณ บางทีมันเป็นข้อมูลจริงที่บอกไม่หมดครับ

ยกตัวอย่างของน้องแป๋ว สิ่งที่เอเยนต์ไม่ได้บอกเธอคือ การเรียนภาษาหลักสูตร Direct Entry ผู้เรียนจะต้องเรียนตามระดับความสามารถทางภาษาของตัวเอง

หากมีผลสอบ IELTS มาก่อน อาจจะพอระบุได้ว่าจะต้องเรียนอีกประมาณกี่สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่อีกว่าจะสอบผ่านในแต่ละระดับขั้นที่เรียนจนถึงขั้นสุดท้ายได้หรือไม่ หากสอบไม่ผ่าน ต้องเรียนซ้ำระดับเดิมต่อไปอีก นั่นหมายถึงกำหนดการเข้ามหาวิทยาลัยต้องนานออกไปอีก ต้องเสียเงินค่าเรียนภาษาเพิ่มอีก

และหากไม่เคยสอบ IELTS มาก่อน เมื่อมาถึงออสเตรเลีย ก่อนเข้าเรียน สถาบันภาษานั้นๆจะสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาของคุณๆก่อน ถ้าระดับความสามารถทางภาษาของคุณแย่ ระยะเวลาในการเรียนภาษาจนจบระดับสูงสุด เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยอาจจะเกินระยะเวลาที่คุณคาดการณ์เอาไว้เหมือนกรณีของแป๋วก็ได้

พูดถึงการเรียนภาษาอังกฤษในแดนจิงโจ้ มีอีกสิ่งหนึ่งที่คุณๆ ควรคำนึงถึงคือ

จำนวนนักเรียนไทยในแต่ละชั้นเรียน


อย่างที่กระผมเคยบอกคุณๆไปแล้วนะครับว่า เดี๋ยวนี้มีเด็กไทยมาเรียนต่อที่ดาวน์อันเดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันภาษาบางแห่งที่ให้เปอร์เซนต์ และผลประโยชน์กับเอเยนต์นักเรียนเยอะ นายหน้าทางการศึกษาเหล่านี้ก็จะรุมเชียร์ให้เด็กไทยแห่ไปเรียนกันที่นั่น

สถาบันภาษาบางแห่ง บางห้องเรียนมีเด็กไทยอยู่เกือบครึ่งห้องเรียน จนบางครั้งคนเรียนนึกว่าเรียนอยู่ที่ เอยูเอ เมืองไทยก็ไม่ปาน

ประเด็นนี้คุณๆอาจต้องสอบถามเพื่อนฝูงที่อยู่ในออสเตรเลีย หรือคนที่เรียนอยู่ในสถาบันภาษานั้นๆ เขาอาจจะให้ข้อมูลที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา เพราะถ้าถามเอเยนต์ก็จะได้คำตอบแบบ ขี้จุ๊เบ่เบ๊...

โดยปกติ สถาบันภาษาในออสเตรเลียจะมีหลักสูตรภาษาอังกฤษหลากหลาย แต่ที่ได้รับความนิยมคือ หลักสูตร General English อันนี้เป็นหลักสูตรแบบพื้นฐานครับ เขามุ่งพัฒนาทักษะการสื่อสารแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พูดคุย สื่อสารกัน รวมถึงทักษะการฟัง การอ่าน การเขียนทั่วๆไป

การเรียน การสอนด้านภาษาของสถาบันภาษาส่วนใหญ่เขาไม่เน้นท่องจำหลักไวยากรณ์ หรือท่องจำศัพท์แบบเมืองไทยหรอกนะครับ

แต่เน้นการเรียนรู้แบบธรรมชาติ ผ่านการสื่อสารพูดคุยเสียมากกว่า ดังนั้นสถาบันภาษาแทบทุกแห่งจะมีกิจกรรมเสริมทักษะของผู้เรียนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวเรียนรู้นอกสถานที่ Excursion กิจกรรมดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ

หากคุณๆ อยากพัฒนาทักษะด้านภาษา กระผมแนะนำให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้คุ้มกับค่าเงินที่เสียไปครับ

หลักสูตรพื้นฐานแบบนี้ แต่ละสถาบันจะแยกเป็นหลักสูตรย่อยๆอีกมากมายตามระดับความสามารถทางภาษาของผู้เรียน

เรียกว่ามีตั้งแต่ระดับผู้เริ่มต้นไปจนถึงหลักสูตรระดับสูง

โดยแต่ละแห่งจะจัดสอบวัดระดับของผู้เรียนในวันแรก สอบทั้งทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน

หลักสูตรยอดนิยมอีกหลักสูตร คือหลักสูตร IELTS Preparation เรียกว่าเป็นคอร์สติวเข้มเพื่อสอบ IELTS โดยเฉพาะ เหมาะสำหรับผู้ที่เตรียมสอบ IELTS เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย

หลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ผู้สอนจะเน้นด้านกลยุทธ์ เคล็ดลับในการสอบ IELTS รวมทั้งให้ลองทำข้อสอบ IELTS คลุมทั้งทักษะการอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง

อีกหลักสูตรเหมาะสำหรับ การเตรียมตัวไปศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่นี่เรียกว่าหลักสูตร English for Academic Purposes

ผู้สอนในหลักสูตรนี้ เขาเน้นให้ผู้เรียนฝึกทักษะด้านการเขียน การพุดคุยแสดงความเห็น การทำรายงาน และการรายงานหน้าห้อง

กล่าวได้ว่า ที่แดนจิงโจ้นี้เขามีหลักสูตรด้านภาษามากมาย นี่ยังไม่นับหลักสูตรพวกภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ หลักสูตรสนทนา ฯลฯ

ค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณ สองร้อยกว่าถึงสามร้อยกว่าเหรียญต่อสัปดาห์

หากคุณๆสนใจลองไปสอบถามข้อมูลตามเอเยนต์หลายๆแห่งเอาเองนะครับ งานนี้นินจา ราตรีไม่เกี่ยว

แหะ...แหะ... แต่อย่าลืมขอลดราคาด้วยละ...

........................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใช้นามปากกา "นินจา ราตรี" ลงในเวบไซด์ //www.manager.co.th ส่วนของ คอลัมนิสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2550    
Last Update : 26 ธันวาคม 2550 11:20:30 น.
Counter : 471 Pageviews.  

เรียนต่อออสฯ(3)

“ คุณนินจา ราตรีคะ หลังจากตัดสินใจแล้วว่าจะเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ฉันควรสมัครเรียนเอง หรือสมัครผ่านเอเยนต์ดีกว่ากันละคะ ”

“ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเอเยนต์นักเรียนที่ไปสมัครจะหลอกเชิดเงินไปหรือเปล่า เพื่อนบางคนขู่ว่า ระวังถูกหลอกไปปล่อยให้ยืนเคว้งที่สนามบิน เรายิ่งกลัวใหญ่เลย ”

“ เอเยนต์ที่ไปสมัคร เขาแนะนำเชียร์แต่มหาวิทยาลัยนี้ บอกว่าดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ แต่ผมไม่ชอบเลย ดูหลักสูตรแล้วไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่ผมอยากเรียน ผมจำเป็นต้องเชื่อเอเยนต์ไหมครับ ”

“ เอเยนต์ที่หนูไปสมัครเรียน เขาบอกว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลออสเตรเลีย แต่ทำไมเขาไม่ตามเรื่องให้หนูเลย สมัครไปสองเดือนกว่าแล้ว ยังไม่รู้ผลเลยว่ามหาวิทยาลัยจะรับหรือเปล่า นี่จะเปิดเทอมแล้ว ทำอย่างไรดีคะ เพื่อนหนูไปสมัครกับเอเยนต์อื่น เขารู้ผลแล้ว รู้อย่างนี้ไปสมัครที่เดียวกับเพื่อนหนูดีกว่า”

“ เชื่อไหม เอเยนต์ที่ข้าไปถามข้อมูลเรียนต่อออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ดุอิ๊บอ๋าย หน้าตาบูดบึ้ง พูดจาสุนัขไม่รับประทานเลย ”

คำพูด คำถาม และคำบ่นหลากหลายข้างต้นนั้น ผมรวบรวมมาจากผองเพื่อน และเก็บตกจากกระทู้ในอินเทอร์เน็ต

เชื่อว่า เหล่านี้คงเป็นข้อข้องใจสำหรับหลายคน

ดังนั้นอาทิตย์นี้ กระผมขอชำแหละ เอ้ย... ขอแนะนำ เรื่องเอเยนต์นักเรียน หรือที่เรียกตัวเองเสียสวยหรูประเภท

“ ศูนย์แนะแนวการศึกษา ”

“ ศูนย์ข้อมูลการศึกษาต่อออสเตรเลีย ”

แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม มันคือ

“ นายหน้าทางการศึกษา”

ที่กินเปอร์เซ็นต์จากสถานศึกษาต่างๆในประเทศออสเตรเลียนั่นเอง

การทำงานของเอเยนต์เหล่านี้ หาใช่สาธารณกุศลไม่

ที่กระผมระบุเช่นนี้ เพราะมีเอเยนต์ใหญ่บางแห่งมักจะแอบอ้างเอาบุญคุณ แถมขู่ตะคอกเด็กนักเรียน นักศึกษาที่มาใช้บริการจนเป็นที่เลืองลือ

เอเยนต์แบบนี้ เขาไม่แคร์เด็ก เพราะทุกวันมีเด็กมาเป็นเหยื่อให้ต้อนมากมาย จริงเท็จประการใด คุณๆลองแวะไปแถวถนนเศรษฐกิจของกทม. เยี่ยมชมบริการอันแสนประทับจายยยยยนี้ได้

ครับ เอาเป็นว่า ธุรกิจการศึกษาชนิดนี้เจริญเติบโตแบบพรวดๆในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ตามกระแสความนิยมเรียนต่อในดินแดนจิงโจ้ ผสมกับนโยบายของรัฐบาลออสซี่ที่ให้ความสำคัญกับ อุตสาหรรมการศึกษา อย่างที่เคยคุยกับคุณๆไปแล้วน่ะครับ

ทำให้ทุกวันนี้ เราเห็นโฆษณาชวนเชิญให้เด็กไทยมาเรียนต่อที่ถิ่นดาว์นอันเดอร์มากมาย บางสถานศึกษาของไทยยังไม่ทันเดินออกมาจากหน้าประตู ก็ต้องปะทะสายตากับป้ายเชื้อเชิญไปเรียนต่อจังเบ้อเร่อ

คำถามคือ หากจะมาเรียนต่อที่ออสเตรเลียควรสมัครผ่านเอเยนต์นักเรียนเหล่านี้ไหม

กระผมตอบแบบฟันธงเลยว่า “สมควร” ครับ


ทั้งนี้เพราะประหยัดเวลา และขั้นตอน รวมถึงเงินทองในการติดต่อประสานงานกับสถานบันการศึกษาต่างๆในออสเตรเลียนั่นเอง

อีกทั้งยังสะดวกในขั้นตอนการหาที่พัก การขอวีซ่า

แต่ช้าก่อน เพื่อนเอ๋ย... การหาเอเยนต์นักเรียนที่มีบริการที่ดี ซื่อสัตย์ แหะ..แหะ...ได้ราคาที่ย่อมเยา อันนี้ต้องใช้เวลาหากันสักหน่อย

ก่อนไปปรึกษาเอเยนต์นักเรียนใดๆ คุณๆต้องทำการบ้านไปบ้างนะครับ หาข้อมูลเรียนต่อ ถามความต้องการของตนเอง เหมือนที่ผมเขียนแนะนำไปทั้งสองตอนก่อน

ถ้าคุณไปแบบตัวเปล่า อุ๊บ... กระผมหมายถึงไปแบบปราศจากข้อมูลน่ะครับ คุณอาจถูกเจ้าหน้าที่เอเยนต์กล่อม ล่อลวงให้สมัครเรียนสถาบันการศึกษาบางแห่งที่เขาได้เปอร์เซ็นต์มากๆ

และควรระวังอย่างยิ่งนะครับ ประเภทแนะนำให้คุณลงเรียนหลักสูตรนั้น คณะนี้แล้วจะสามารถสมัครขอเป็นคนที่นี่ได้น่ะ ถูกหลอกมาเยอะแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องท่องจำไว้ขณะที่คุย สอบถามข้อมูลกับบรรดาเอเยนต์คือ

อย่าเชื่อเขาทั้งหมด

และอย่าด่วนตัดสินใจครับ


ถ้าคุณมีเวลาควรตะลอนสอบถามข้อมูลหลายๆเอเยนต์หน่อย เพื่อเปรียบเทียบกัน

ข้อแนะนำของผมคือ หากคุณอยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ควรเลือกให้ได้ก่อนว่าสนใจมหาวิทยาลัยไหนบ้าง หลักสูตรไหนบ้าง จดเอาไว้ แล้วลองถามความเห็นกับเพื่อนที่อยู่ในออสเตรเลียว่า มหาวิทยาลัยนั้นๆเขาเด่นในหลักสูตร หรือคณะนั้นๆหรือไม่ หรืออาจจะสอบถามเพื่อนคุณก่อนว่า สถาบันภาษาที่คุณสนใจไปเรียน หรือที่เอเยนต์เขาแนะนำนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

หากไม่มีเพื่อนที่เรียนอยู่ในออสเตรเลีย คุณอาจฝากถามได้ตามเวบบอร์ดการศึกษาต่อต่างๆ เชื่อว่าคนที่เขาเรียนอยู่จริง คงพอให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้

อ้อ...เกือบลืมสิ่งสำคัญไปอย่างหนึ่งครับ เวลาคุยกับเอเยนต์อย่าลืมถามเขาด้วยนะครับว่า ลดราคาค่าเรียนให้เราได้สักเท่าไหร่ หรือมีโปรโมชั่นอะไรให้เราบ้าง

โหย...ทำเหมือนซื้อสินค้าเลย แต่เป็นเรื่องจริงครับ

ประเด็นนี้ คุณๆที่เป็นเอเยนต์นักเรียนอยู่ห้ามทำตาเขียวนะครับ อิ...อิ...

ปกติแล้ว ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย เอเยนต์มักไม่ลดให้กับผู้สมัคร นัยว่าเปอร์เซ็นต์ที่ได้ไม่มากพอ ยกเว้นบางมหาวิทยาลัยที่กระหายเงินจากเด็กต่างชาติมาก อันนี้อาจมีเปอร์เซ็นต์ให้เอเยนต์มากหน่อย ขึ้นกับเอเยนต์นั้นๆจะมาทำการตลาดใดๆกับผู้สมัคร

บางแห่งประกาศตัดค่าใบสมัครเรียน บางแห่งแถมบัตรของขวัญ บางแห่งแถมโปรแกรมทัวร์ ฯลฯ

แต่สำหรับค่าเรียนตามสถาบันภาษา หรือตาม College เอกชน ผมแนะนำให้คุณๆต่อรองราคาไปเลย ไม่เช่นนั้นหากคุณบินมาเรียนต่อที่นี่แล้ว พบว่าเพื่อนคุณบางคนที่มาเรียนด้วยราคาที่ถูกกว่า คุณจะเจ็บใจทีหลัง

เดี๋ยวจะหาว่า นินจา ราตรี ไม่บอกไม่ได้นะ

หลักการหาเอเยนต์อีกอย่างคือ หากเป็นไปได้ให้เลือกใช้บริการเอเยนต์ที่มีสาขาในเมืองที่คุณจะไปเรียน เพราะหากมีเรื่องฉุกเฉินใดๆ คุณจะได้ไปหา หรือไปโวยได้

เพราะผมเคยเจอกรณี น้องเอ เธอเพิ่งเรียนจบม.6 ที่เชียงใหม่ พ่อแม่จับยัดขึ้นเครื่องบินมาลงกรุงเทพแล้วต่อเครื่องมาซิดนีย์ทันที ด้วยหวังว่าเมื่อมาถึงจะมีคนไปรับเพื่อพักอยู่กับ Home stay อย่างที่เอเยนต์นักเรียนรับปากไว้ แต่เมื่อเธอบินมาถึงกลับไม่เจอกับใคร โทรฯหา Home stay ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้ โทรฯกลับเมืองไทยหาเอเยนต์ก็ยังเช้า ไม่มีเจ้าหน้าที่ทำงาน น้องเอแทบร้องไห้โฮๆอยู่ตรงนั้น โชคดีว่าเจอคนไทยช่วยติดต่อจนเสร็จเรื่อง

น้องเอ มาเช็คเรื่องรู้ทีหลังว่า เหตุที่ไม่มีคนมารับที่สนามบิน เพราะเอเยนต์ของเธอลืมส่งข้อมูลไฟล์บินมาให้เจ้าหน้าที่ที่ออสเตรเลีย

ถ้าคุณเจอโชคร้ายแบบน้องเอ อันเนื่องจากความชุ่ยของเอเยนต์นักเรียนประเภทนี้ อย่าเก็บเงียบไว้นะครับ แบบนี้ต้องแฉครับ เพื่อเป็นประสบการณ์ ข้อเตือนใจของคนอื่น

ไม่รู้จะแฉที่ไหน ใช้คอลัมน์สะดุดจิงโจ้นี้ได้เลย เต็มที่ขอรับทั่น


ปิดท้ายอาทิตย์นี้ ผมรวบรวมรายชื่อเอเยนต์นักเรียนต่างๆ ที่มีสาขาในออสเตรเลีย มาแนะนำ ขาดตกบกพร่องใดๆ คุณๆที่มีข้อมูลสามารถเพิ่มเติมได้

อาทิตย์นี้ สวัสดีครับ

Stellar
//www.stellarsydney.com.au
Yada Building
ชั้น 8, 56 ถนนสีลม กทม. 10500
Tel: 02-6327645-8 Fax: 02-6327649

MTT
//www.mtted.com
2991/11 ลาดพร้าว 101/3 คลองจั่น
บางกะปิ กทม.10240
Tel: 02-3703151-4 Fax: 02-3703155

Anglo Phone
//www.anglophonegroup.com
สูท B1 ชั้น 27
ตึก SSP Tower 3
88 ถนนสีลม กทม. 10500
256/38 ถนนจรัลสนิทวงศ์
บางกอกน้อย กทม. 10700
Tel: 02-2333207-8, 02-6344055-6 Fax: 02-6344056

IDP
//www.idp.com
ชั้น 4 CP Tower
313 ถนนสีลม กทม. 10500
Tel: 02-6383111 Fax: 02-2310530

CP
//www.cpinter.com.au
217, ชั้น 2 United Center Building
323 ถนนสีลม กทม.10500
Tel: 02-6355445 Fax: 02-6355450

K&O
//www.kointer.com
280/11 ชั้น 2 ทาว์นอินทาวน์ออฟฟิต คอนโด
ซอย ลาดพร้าว 94
แขวงวังทองหลาง
กทม. 10310
Tel: 02-29348007, 02-29348285 Fax: 02-29348007

AVSS
//www.theavss.com
ชั้น 14 อาคารวานิสสา
ชิดลม ปทุมวัน กทม.
Tel: 02-6555615 Fax: 02-6555616

........................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใช้นามปากกา "นินจา ราตรี" ลงในเวบไซด์ //www.manager.co.th ส่วนของ คอลัมนิสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546




 

Create Date : 25 ธันวาคม 2550    
Last Update : 25 ธันวาคม 2550 10:11:10 น.
Counter : 986 Pageviews.  

เรียนต่อออสฯ(2)

คุณครับ คุณเป็นโรคเดียวกับที่ผมเคยเป็นหรือเปล่า

แหะ...แหะ....โรคกลัวฝรั่งตาน้ำข้าวนี่แหละครับ

แบบว่า...เจอไอ้พวกผิวขาวเข้ามาทักทายเมื่อไหร่ เป็นได้มีอาการสั่นสะท้าน หัวใจเต้นโครมครามเหงื่อกาฬแตกอย่างกะท่อประปาระเบิด ลิ้นพันเป็นปมกับลูกกระเดือก จะพูดจาอะไรเป็นได้ติดๆขัดๆ คิดตอบโต้กับฝรั่งได้แต่คำว่า “ฮาว...อา...ยู...ไอ...แอม...ฟาย...แท้งกิ้ว...แอ๊น..ยู” อย่างอื่นนึกไม่ออก

แล้วไอ้กระผม มันไม่รู้ เป็นอย่างไรสิครับ ตอนอยู่เมืองไทย ดูจะถูกโฉลกกับเจ้าพวกต่างชาตินี้นัก ไปไหนมาไหน มันเป็นได้ต้องเข้ามาซัก เข้ามาถามให้ผมเด๋อด๋าอยู่เป็นประจำ

อย่างมีอยู่วันหนึ่ง ผมยืนรอเพื่อนอยู่แถวท่าพระจันทร์ ฝรั่งร่างใหญ่ สองสามคนหันซ้าย หันขวาไปมา หันมาจ๊ะเอ๋กับผมเข้า ผมรีบก้มหน้าก้มตาทันที แต่ไม่ทันครับทั่น มันเดินตรงมาแล้ว

มาถึงพูดอะไรไม่รู้ได้ยินแต่คำว่า “แกรนด์ พาเลส”

มันแปลว่าอะไรฟ่ะ นึกไม่ออกขึ้นมาดื้อๆนี่แหละ

ผมตั้งใจให้มันไปถามคนอื่น แต่พูดไม่ได้ครับ นึกศัพท์ นึกไวยกรณ์ไม่ออก ได้แต่ชี้โบ้ ชี้เบ๊อยู่ หลุดแต่คำว่า “โก โก” แหะ...แหะ...ช่วงขณะนั้นนึก และพูดได้แค่นี้แหละครับ

แต่แปลกนะครับ มันหันมาแท้งกิ้ว แล้วเดินจากไป

พอดีเพื่อนผมมาถึง ไอ้นี่มันจบโรงเรียนนานาชาติครับ มันถามผมว่าคุยอะไรกับฝรั่งเมื่อครู่ ผมบอกว่า

“ มันพูดอะไรไม่รู้ ได้ยินว่า แกรนด์ พาเลส แปลว่าอะไรฟ่ะ”

“เฮ้ย เขาถามทางไปวัดพระแก้ว ทำไมชี้ให้มันข้ามฟากไปฝั่งศิริราชละ”

อ้าว...จะไปรู้หรือ ตอนนี้พวกฝรั่งคงได้ชื่นชมเจ้าพระยา แทนวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวังแล้ว อโหสิเถอะ...ข้าน้อยไม่ได้ตั้งใจ

ครับ ถ้าคุณๆมีอาการแบบผม แต่ดันอยากเรียนต่อที่ออสเตรเลีย สิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวก่อนอื่นคือ การเตรียมตัวเตรียมใจ เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ให้คุ้นหู คุ้นตา คุ้นปากให้มากที่สุด

อย่างที่ผมบอกให้ถามใจตัวคุณเองดูก่อน ว่าจะมาแดนออสซี่เพื่อเรียนแบบไหน ถ้าตัดสินใจอยากมาเรียนต่อแบบ Part Time แต่ทำงาน Full Time ประเภทหวังขุดทองเก็บเงินเป็นหลัก การเตรียมตัวอาจจะไม่ต้องถึงขั้นเสียเงินติวเข้มภาษาอังกฤษตามสถาบันภาษาต่างๆที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วฟ้าเมืองไทย

เอาแค่เปิดคลื่นวิทยุ หรือดูรายการทีวี ดูหนังประเภทพูดภาษาดาวอังคาร เฮ้ย...ภาษาอังกฤษ รู้เรื่องไม่รู้เรื่อง ฟังมันไปเรื่อยๆแหละครับ มันจะได้ชินหู รวมทั้งซื้อหาหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมาพลิกไปมาบ้างให้ชินตา

แต่ถ้าคุณจะมาเรียนต่อระดับปริญญา หรือหวังเรียนภาษาอังกฤษให้เชี่ยวชาญ ชำนาญมากขึ้น อันนี้คงต้องลงทุนกันหน่อย...

การติวภาษาอังกฤษตามสถาบันภาษาที่เมืองไทยเป็นตัวเลือกที่น่าลงทุนครับ

เพราะยิ่งคุณมีพื้นฐานความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษมากเท่าไหร่ ระยะเวลาการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศออสเตรเลียยิ่งน้อยลง

นั่นหมายถึงประหยัดเงิน และประหยัดเวลามากขึ้นครับ


โธ่...ค่าเล่าเรียนภาษาที่นี่ ใช่ว่าจะถูกๆนะครับ เขาคิดเงินเป็นรายอาทิตย์ ตกอาทิตย์ละ สองร้อยกว่าเหรียญถึงสามร้อยกว่าเหรียญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละสถาบันภาษา คิดเป็นเงินไทยเท่าไหร่ลองคูณด้วย 28 หรือ 29 ดูสิครับ

แล้วควรติวภาษาอังกฤษที่สถาบันภาษาแบบไหนก่อนขึ้นเครื่องบินมาที่ออสเตรเลียละ

หากคุณวางเป้าหมายว่าจะมาเรียนต่อระดับปริญญา สิ่งที่แนะนำคือหาสถาบันภาษาที่ติวการสอบ IELTS ซึ่งเป็นการสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย คล้ายๆกับการสอบ TOEFL ของอเมริกา แต่สอบ IELTS จะสอบวัดผลทักษะการใช้ภาษาทั้งเรื่องการฟัง พูด อ่าน เขียน ครบ 4 อย่าง

ถ้ามีเวลา คุณๆควรลองสอบ IELTS สักครั้งก่อนขึ้นเครื่องมาที่นี่นะครับ

เพราะถ้าคะแนนเจ้า IELTS ถึงเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย คุณๆจะได้วิ่งแจ้นตรงเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียเงินเรียนภาษาที่ออสเตรเลียให้เปลืองเปล่าๆ

แต่ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างน้อยคุณจะได้รู้ว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษของตัวเองอยู่ตรงๆไหน แล้วยังใช้สำหรับต่อรองกับสถาบันภาษาที่คุณจะไปเรียนได้ด้วย หากเขาจะให้คุณเรียนต่ำกว่า หรือนานกว่าคะแนน IELTS ของคุณ

สำหรับคนที่ไม่อยากเสียเงินเรียนติวภาษาที่เมืองไทย ก็น่าจะลองไปหาคู่มือสอบ IELTS ตามร้านหนังสือชั้นนำ หรือในห้องสมุดมาลองฝึกฝนทำก่อนนะครับ จะได้คุ้นชิน เพราะการสอบมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการสอบ TOEFL

วันนี้ ผมมีหนังสือคู่มือสอบ IELTS มาแนะนำ เผื่อจะได้ลองยืมหรือซื้อหามาฝึกฝนก่อนได้

เล่มแรกคือ Cambridge Practice Tests for IELTS โดย Vanessa Jakeman, Clare McDowell

อีกเล่มชื่อว่า IELTS to Success: Preparation Tips and Practice Tests

ทั้งสองเล่มจะเป็นแบบฝึกหัด ให้คุณได้ลองทดสอบ รวมทั้งมีข้อแนะนำ เคล็ดลับการทำข้อสอบต่างๆ

แต่ถ้าคุณไม่ได้วางเป้าว่าจะเรียนต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย อยากแค่มาเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย ผมแนะนำให้คุณเลือกสถาบันติวภาษาที่เมืองไทย แบบที่เขามีฝรั่งสอนน่ะครับ

ไม่ใช่ว่าคนไทยสอนไม่เก่งอะไรนะครับ เพียงแต่อยากให้คุณๆคุ้นชินเสียง สำเนียงฝรั่ง แม้ว่าฝรั่งแต่ละชาติจะพูดสำเนียงแตกต่างกันก็เถอะ แต่อย่างน้อยคุณเจอฝรั่งจะได้ไม่กลัว ไม่สั่นแบบผมไงครับ

ปิดท้ายสัปดาห์นี้ ผมเก็บตกลิงค์เวบไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆในออสเตรเลียมาฝาก หากคุณๆสนใจ อยากดูรายละเอียดหลักสูตร วิชา การเรียนการสอน ลองคลิกเข้าไปดูนะครับ ส่วนใหญ่เวบไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆจะมีฝ่าย International Office เปิดต้อนหมู...เฮ้ย...ต้อนรับนักเรียนต่างชาติอยู่แล้ว ลองคลิกไปดูแล้วกัน

The University of Sydney
//www.usyd.edu.au

University of New South Wales
//www.unsw.edu.au

Macquarie University
//www.mq.edu.au

University of Technology Sydney
//www.uts.edu.au

University Of Western Sydney
//www.uws.edu.au

Queensland University of technology
//www.qut.edu.au

Bond University
//www.bond.edu.au

Central Queensland University
//www.cqu.edu.au

Griffith University
//www.griffith.edu.au

The University of Queensland
//www.uq.edu.au

James Cook University
//www.jcu.edu.au

University of Sunshine Coast
//www.usc.edu.au

The University of Melbourne
//www.unimelb.edu.au

Monash University
//www.monash.edu.au

RMIT
//www.rmit.edu.au

Deakin University
//www.deakin.edu.au

Swinburne University of Tech
//www.swin.edu.au

Victoria University of Tech
//www.vu.edu.au

La Trobe University
//www.latrobe.edu.au

University of Ballarat
//www.ballarat.edu.au

The University of Adelaide
//www.adelaide.edu.au

Flinders University
//www.flinders.edu.au

The Australian National University
//www.anu.edu.au

University of Canberra
//www.canberra.edu.au

The University of New England
//www.une.edu.au

University of Wollongong
//www.uow.edu.au

University of South Australia
//www.unisa.edu.au

The University of Newcastle
//www.newcastle.edu.au

Charles Sturt University
//www.csu.edu.au

Murdoch University
//www.murdoch.edu.au

The University of Notre Dame
//web.nd.edu.au

Curtin University
//www.curtin.edu.au

Southern Cross University
//www.scu.edu.au

The University of Western Australia
//www.uwa.edu.au

University of Tasmania
//www.utas.edu.au

อ้อ...เกือบลืมบอกไปครับ มหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย เกือบทั้งหมดเป็นของรัฐบาล ก.พ.เขารับรองหมดครับ แต่จะเลือกมหาวิทยาลัยไหนถึงจะเหมาะกว่ากัน อันนี้ค่อยมาว่ากันทีหลัง

สัปดาห์หน้า เราค่อยมาคุยกันเรื่องการเลือกหา เอเยนต์นักเรียน ว่าจะเลือกหาอย่างไร ไม่กลุ้มใจ ไม่ถูกหลอก และไม่แค้นใจทีแล้ว

แล้วเจอกันใหม่ครับ
........................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใช้นามปากกา "นินจา ราตรี" ลงในเวบไซด์ //www.manager.co.th ส่วนของ คอลัมนิสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546







 

Create Date : 21 ธันวาคม 2550    
Last Update : 21 ธันวาคม 2550 12:40:47 น.
Counter : 1658 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.