Group Blog
 
All Blogs
 
กล้าๆกันหน่อย

สวัสดีคร้าบบบ...ท่านผู้อ่าน

กระผม นายนินจา ราตรี ขอรายงานตัวครับผม

เมืองไทยช่วงที่ผ่านมา ข่าวคุณครูแม้ว ณ ไทยแลนด์โชว์ลีลาหน้าห้องเรียน สอนตัวเลข คณิตคิดลึก ลีลา Play ลีลาโขยกกับ ลีลา Learn ลีลา เป็นเพลิน ตามศัพท์ของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ต้องบอกว่า สุดฮอท

ฮอท ไม่ฮอท คิดดูสิครับ แม้แต่กระผมอยู่ดินแดนฝรั่งตาน้ำข้าว ที่ใกล้ปลายเท้าไทยมากที่สุด อย่างออสเตรเลีย ยังต้องคอยตอบคำถามคณิตศาสตร์ของครูแม้ว วันละหลายหน เจอใคร เขาก็ถาม

อะแฮ้ม...หรือเขาเห็นเราหน้าตาฉะล้าด ฉลาด น่าจะตอบโจทย์เลขมอห้าได้มั้ง

ไอ้โจทย์มีเงิน 10 บาทไปซื้อของ 4 บาท คนขายจะทอนเท่าไหร่นี่แหละครับ

โหย...คนถาม ถามโจทย์เลขหมูๆ ดูถูกไอคิวกระผมนายนินจา ราตรีได้ไง พอผมตอบด้วยความชาญฉลาดว่า 6 บาท

คนถามมันหัวเราะใส่ ก่อนจะสวนกลับมาว่า “โง่... ทอนมาบาทเดียวโว้ย เพราะมีเหรียญห้า 2 เหรียญ ซื้อของ 4 บาท ใครเขาโง่เอาเหรียญห้า 2 เหรียญให้คนขายกัน”

เออ...จริงของมัน

ผมเสียค่าโง่ โดนด่าฟรีๆไปหนึ่งที

เจอเพื่อนคนใหม่ถามโจทย์เก่านี้อีก โธ่...คนอย่างกระผม โง่หนเดียวครับ

พอเพื่อนถามจบ ผมบอก “ไม่ได้แดกข้าหรอก... คนขายมันต้องทอนบาทเดียวสิ”

เพื่อนลั่นก๊ากออกมา “โง่ไม่มีสารเจือปนเลยนะ... ไม่ต้องทอนวะ เพราะมีเหรียญบาท 5 เหรียญ เอาให้คนขายแค่ 4 บาท เขาจะทอนหาสวรรค์วิมานอะไร”

เอากับมันสิ

อันที่จริง โจทย์เลขแบบนี้ มองให้ดี ผมว่ามันเหมือนครูแม้วเอารองเท้าข้างขวา ข้างถนัด กระทืบหน้าระบบการศึกษาไทยอย่างจังเบ้อเร่อเลยนะครับ

ในขณะที่สื่อมวลชนไทย ขานรับการสอนโชว์ของนายกฯด้วยการเสนอข่าวต่อเนื่องว่า ครูไทยน้อยใจ นายกฯไม่เห็นค่า สมาคมคณิตศาสตร์บอกแม้วสอนแค่เลขง่ายๆ บ้างก็บ่นว่านายกฯพูดภาษาอังกฤษปนไทย ไม่เก่ง จริง ฯลฯ

ครับ Go So Big...ไปกันใหญ่

เท่าที่อ่านข่าวทางอินเตอร์เนท ผมไม่เห็นมีใครพูดเรื่องโจทย์เลขแบบนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องของอำนาจในสังคม

ทำไมหรือครับ...

ถามจริงๆเถอะ หากในห้องเรียนจริงๆ ครู อาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นระดับอนุบาล ประถม มัธยม ยันมหาวิทยาลัยเลยก็ได้ ตั้งคำถามอย่างนี้ แล้วเด็กให้คำตอบเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของครู ผลที่ได้คืออะไร

“ไอ้เด็กอวดรู้...อวดฉลาด...” เพียะ...เพียะ...

“ฉันเพื่อนเล่นเธอหรือ...มาตอบยียวนอย่างนี้”

“ตอบอย่างนี้มันต้องกินไข่ ได้ศูนย์คะแนน”

โหย...โดนครูด่า ครูตี ครูตัดคะแนน สมองสร้างสรรค์ของเด็กไทยเหี่ยว หด เล็กกว่าเม็ดก๋วยจี๊หมดเลยครับ

การปฏิรูปการศึกษา จึงไม่ใช่แค่การก๊อป ลอกเลียนแบบสไตล์การสอนของนายกฯไปสอนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ทุกแห่ง

แต่มันต้องหาแก่น หาหัวใจของการสอนให้เจอ ทำยังไงให้เด็กคิดเป็น กล้าคิด กล้าทำ

ไม่อย่างนั้น เด็กไทยในอนาคตคงเหมือนพวกผมละครับ...

อย่างตอนสอบ IELTS สอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียเขา คล้ายๆกับการสอบ TOEFL ของอเมริกานี่แหละครับ แต่สอบ IELTS จะสอบวัดผลทักษะการใช้ภาษาทั้งเรื่องการฟัง พูด อ่าน เขียน ครบ 4 อย่าง

ส่วนใหญ่แล้ว ทักษะที่มีปัญหาของเด็กไทยที่มาเรียนภาษาอยู่ที่นี่ก่อนคือ ทักษะด้านการเขียน

ไม่ใช่เรื่องไวยกรณ์ หรือศัพท์ภาษาอังกฤษหรอกนะครับที่เป็นปัญหาหลัก

ปัญหาหลักคือ เด็กไทยไม่รู้จะเขียนอะไรดี เพราะโจทย์ส่วนหนึ่งของข้อสอบทักษะการเขียน เขาให้แสดงความเห็นในประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง

เช่นเขาถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่กับการลงโทษประหารชีวิต

แน่นอนครับ คำตอบประเภทนี้ ไม่มีใครถูก ใครผิด แต่เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จะเขียนอย่างไร คิดไม่ออก บอกเหตุผลไม่ได้

เด็กส่วนใหญ่จะคิดได้แค่ว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แล้วจบ นึกเหตุผลต่อไม่ได้ว่า ทำไมถึงเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

อย่าง เจ้าแป๊ะ เพื่อนผม ไปสอบ IELTS ครั้งแรก พอเจอผม มันบ่นโอดโอยใหญ่ บอกว่าเจอโจทย์ทักษะการเขียนมหาหิน พอผมถามว่า ยากยังไง มันบอกว่า

“ยากสิ ถามอะไรไม่ถาม ดันให้แสดงความเห็นเรื่องสิทธิสตรี จะไปรู้ได้ไง ข้าไม่ใช่ผู้หญิงนี่ เนอะ...จริงไหมวะ”

พอสอบครั้งที่สอง เจอผมอีกที มันบ่นอีก

“ซวยจริงๆ สอบคราวนี้ข้าอุตส่าห์โทรทางไกลกลับเมืองไทย ไปถามแม่ว่าสิทธิสตรีเป็นอย่างไร แม่บอก ไม่รู้ ข้าเลยไปถามครูเจนนี่ที่สอนภาษาอังกฤษข้า กว่าจะได้เรื่องเล่นเอาเหงื่อตก แต่ข้อสอบดันไม่ออกเหมือนเดิม ดันถามเรื่องสิทธิสัตว์ แล้วข้าจะไปถามหมาที่ไหนวะ”

ผมเลยแนะนำด้วยความหวังดี

“เอาตัวไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นหมาฝรั่งนะเว้ย ถามหมาพันธุ์ไทย มันไม่รู้จักหรอกสิทธิส่ง สิทธิสัตว์ อ้อ...เวลาคุยกับมัน อย่าลืมคุยด้วยภาษาปะกิตละ เดี๋ยวมันไม่รู้เรื่อง”

ครับ... ใครจะเตรียมตัวสอบ IELTS ไม่ต้องถึงกับไปถามหมา ถามแมว แบบเจ้าแป๊ะมันนะครับ เอาเป็นว่า ลองตั้งประเด็นคำถามกับตัวเอง แล้วหาเหตุผลกับความคิดของตัวเองดู

เรื่อง เคล็ดไม่ลับในการสอบ IELTS หรือการเตรียมตัวเรียนต่อในประเทศออสเตรเลีย หากคุณๆสนใจไว้ค่อยคุยรายละเอียดในตอนต่อๆไป คอยทวงก็แล้วกันนะครับ

นอกจากเรื่องสอบ IELTS แล้ว เด็กไทยอย่างพวกเรา เจอกับการเรียนการสอนแบบตะวันตก ที่ผู้สอนจะเน้นให้นักเรียน นักศึกษา ถกเถียงแสดงความเห็นกัน ร้อยทั้งร้อย ได้แต่ส่ายหน้าในตอนแรก แล้วพยักหน้าในช่วงต่อมา

เป็นจังหวะ 2-2-1
ส่าย ส่าย พยัก
ส่าย ส่าย พยัก

ไม่ใช่ส่ายหน้าไม่เห็นด้วย เวลาเพื่อนออสซี่เขาเถียงกันหรอกนะครับ

แหะ...แหะ....คือ ฟังมันพูดไม่รู้เรื่องน่ะ พูดเร็วอย่างกะจรวด เถียงกันอยู่ได้ ง่วงตายห่ะ เลยส่ายหัวแก้ง่วง แต่พวกมันยังไม่หยุดจ้ออีก คราวนี้เลยพยักหน้า

หลับไปเลย หมดเรื่องดี คร่อก....ฟี้

การเรียน การสอนในระบบของออสเตรเลีย คงเหมือนกับการเรียนในประเทศตะวันตกทั่วไป ผู้สอนจะทำหน้าที่คล้ายไกด์นำทาง บอกวิธีเดินทาง ว่ามันมีหลายอย่างนะ แต่จะเดินวิธีไหนให้ถึงปลายทาง เป็นเรื่องของผู้เรียน

อย่างสายสังคมศาสตร์ของผม ชั่วโมงแรก อาจารย์จะเอาเค้าโครงการเรียนการสอนมาให้ พร้อมรายชื่อหนังสือที่ต้องค้นคว้าเอง ยาวเหยียด แล้วบอกให้ไปอ่านบทความ หนังสือตามหัวข้อในแต่สัปดาห์

พอถึงชั่วโมง อาจารย์ก็พูดอธิบาย สรุป สักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงเศษ แล้วปล่อยให้นักเรียน นักศึกษา ที่อ่านบทความ หนังสือมาก่อนถกเถียงประเด็นต่างๆ ใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อ่านก็ว่ากันเลย

ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ ก็เถียงได้นะครับ

อย่างไอ้จอห์น เพื่อนร่วมห้องของผมคนหนึ่ง พอมันไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ที่สอน มันเป็นต้องตะโกนลั่นห้องออกมาว่า Stupid idea

แล้วมันจะเถียงกับอาจารย์ เถียงกับเพื่อนคนโน้น คนนี้เรื่องวิชาการที่เรียนร่วมชั่วโมง ไม่เห็นอาจารย์จะโกรธอะไรมันเลย

แถมเลิกเรียน ยังกอดคอกันไปเถียงต่ออย่างเมามันในผับเสียอีกนี่

ส่วนผมหรือครับ...แหะ...แหะ... 2-2-1

ถึงตรงนี้ ไม่ใช่ว่าผมจะคอยดมก้นฝรั่ง บอกว่า ขี้ฝรั่งหอม ส่วนขี้ไทย ขี้คนเอเซียเหม็นนะครับ

เพียงแต่ผมอยากจะบอกว่า ระบบการเรียนการสอนแบบให้เด็กนักเรียน นักศึกษากล้าแสดงความคิดเห็น กล้าคิด กล้าสร้างสรรค์อะไรที่แตกต่างจากคนอื่น รวมถึงแตกต่างจากครูนั้น

มันจะต้องฝ่าปราการเรื่องอำนาจในห้องเรียนก่อน

ครู อาจารย์จะต้องเปิดกว้าง และกระตุ้นให้ลูกศิษย์กล้าคิด กล้าแสดงความเห็น กล้าแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ โดยอิสระด้วย

ส่วนเรื่องสัมมาคารวะนั้น ผมเชื่อว่า การถกเถียง แสดงความเห็นที่แตกต่าง ขัดแย้ง ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เขามีความคิดเห็นแตกต่างจากอาจารย์จะไม่เคารพรักครูบาอาจารย์ของเขา

เราไม่ควรเอาตัว “สัมมาคารวะ”มาเป็นข้ออ้างถ่วง ระบบการศึกษาไทย

เมื่อฝ่าปราการอำนาจในห้องเรียนแล้ว ต่อไปเราต้องฝ่าเรื่องอำนาจสังคมไทยในระดับใหญ่ขึ้น

สำคัญคือคนมีอำนาจอยู่ตอนนี้ จะกล้าไหมที่จะให้ถูกท้าทาย

หรือคุณว่า อย่างไรครับ...
........................................................................................................

บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใช้นามปากกา "นินจา ราตรี" ลงในเวบไซด์ //www.manager.co.th ส่วนของ คอลัมนิสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2546


Create Date : 14 ธันวาคม 2550
Last Update : 14 ธันวาคม 2550 17:02:33 น. 3 comments
Counter : 567 Pageviews.

 
เข้ามาเบี่ยมบ้านนี้ค่ะ


โดย: sheeraly วันที่: 15 ธันวาคม 2550 เวลา:3:29:18 น.  

 
อืม น่าคิดค่ะ ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่า ความพอดีของระบบการศึกษามันอยู่ตรงไหน
เพราะอย่างสังคมฝรั่ง บางทีรักษ์ก็ว่ามันเห็นแก่ตัวเกินไป
บางทีน้ำใจมันก็หายไป ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับระบบการศึกษาหรือเปล่าน่ะค่ะ
แต่ถ้าเราสามารถที่จะมีระบบที่ทำให้คนไทย มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมไปกับการพัฒนาทางคุณธรรมมันคงจะดีเนอะ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าความพอดีมันจะอยู่ที่ตรงไหน


โดย: รักษ์ (RakKoksawang ) วันที่: 15 ธันวาคม 2550 เวลา:6:04:27 น.  

 
เห็นด้วย..อย่างแรง
ระบบการเรียนการสอนบ้านเรา เป็นแบบที่เขาเรียกกันว่าการสื่อสารแบบบทางเดียวอาจารย์ป้อนข้อมูลนักเรียนก็นั่งอ้าปากฟังทำความเข้าใจกับที่อาจารย์พูด บางทก็มีแบไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ก็ไม่แสดงมันออกมา อาจเพราะอายเพื่อน กลัวเพื่อนหาว่าเว่อร์ หาว่าอวดแลด หรือหาว่าโง่ถ้าคิดไม่เหมือนคนอื่น หรือไม่ก็เกรงใจอาจารย์


โดย: friendlymitt IP: 58.147.56.17 วันที่: 20 มกราคม 2551 เวลา:7:40:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.