제 세상 오신 걸 환영합니다~*
Group Blog
 
All blogs
 

บทที่9.1 -요 form ตอนจบ

มาต่อเรื่องวิธีการจบประโยคแบบ 요 อีกนิดนะคะ นอกจากกฏการผัน3ข้อหลักๆแล้ว ยังมีกริยาอีกส่วนนึงที่จะต้องมีการผันแบบพิเศษค่ะ (คือไม่อยู่ในกฏ3ข้อหลัก) มีอะไรกันบ้างมาดูกันค่ะ

1. vst.ที่ลงท้ายด้วยสระㅡ (สระอือ) จะมีกฏการผันคือว่า ต้องตัดสระอือทิ้งไปก่อน แล้วไปดูสระในพยางค์หน้าว่าอยู่ในกลุ่มใด(ตามกฏหลัก) แล้วเลือกเติม -ㅏ요 หรือ -ㅓ요 ต่อไป มาดูตัวอย่างกันค่ะ

กริยา 예쁘다 (เยปือดา/สวย)
vst = 예쁘 (นี่แหละค่ะ ลงท้ายด้วยสระอือ)
- ขั้นแรกให้ตัดสระอือทิ้งไปก่อน ย้ำ ตัดเฉพาะสระอือ ก็จะเหลือ ==> 예ㅃ อย่างงี้
- ต่อจากนั้นให้ไปดูสระของพยางค์หน้าค่ะ ว่าอยู่ในกลุ่มไหน
(ตามกฏหลักในบทก่อนหน้านี้ สระจะแบ่งเป็น3กลุ่ม กลุ่ม1 สระㅏ,ㅗ ให้เติม아요 ส่วนกลุ่มที่2คือสระที่ไม่ใช่ ㅏ,ㅗ ให้เติม 어요)
ในกรณีนี้ สระของพยางค์หน้าคือ ㅖ ซึ้งเป็นสระกลุ่ม2ก็ให้เติม ㅓ요เข้าไปค่ะ
예ㅃ+ㅓ요=예뻐요 (เย-ปอ-โย)

v.ที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อยๆหน่อยก็มีไม่กี่ตัวหรอกค่ะ ที่ควรทราบก้อมีดังนี้

예쁘다 ===> 예뻐요 (เย-ปอ-โย/สวย)
슬프다 ===> 슬퍼요 (ซึล-พอ-โย/เศร้า)
바쁘다 ===> 바빠요 (พา-ปา-โย/ยุ่ง)
고프다 ===> 고파요 (โค-พา-โย/หิว)
모르다 ===> 몰라요 (โมล-ลา-โย/ไม่รู้)

2. vst ที่ㅂ เป็นตัวสะกด กฎการผันคือ ตัดㅂที่เป็นตัวสะกดทิ้งไปแล้วเติม워요เข้าไปก็เป็นอันเสร็จพิธี

ตัวอย่างค่ะ

맵다 (แม็บ-ดา/เผ็ด)
vst = 맵 อันนี้ก็จะเห็นได้ว่า ㅂ เป็นตัวสะกด ก็จะต้องมาเข้ากฏการผันพิเศษในข้อนี้ค่ะ

ขั้นแรกตัดㅂ ที่เป็นตัวสะกดทิ้งไป ก็จะเหลือ 매
หลังจากนั้นให้เติม워요 เข้าไป ก็จะได้ 매+워요=매워요 (แม-วอ-โย) ก้อเรียบร้อยค่ะ

ลองมาดูคำศัพท์ที่จะต้องเข้ากลุ่มนี้

맵다 = 매워요 (แม-วอ-โย/เผ็ด)
덥다 = 더워요 (ทอ-วอ-โย/ร้อน ใช้กับอากาศ)
춥다 = 추워요 (ชู-วอ-โย/หนาว)
가깝다 = 가까워요 (คา-กา-วอ-โย/ใกล้)
아깝다 = 아까워요(อา-กา-วอ-โย/เสียดาย)
그립다 = 그리워요 (คือ-รี-วอ-โย/คิดถึง)
밉다 = 미워요 (มี-วอ-โย/เกลียด)
어렵다 = 어려워요 (ออ-รยอ-วอ-โย/ยาก)
쉽다 = 쉬워요 (ซวี-วอ-โย/ง่าย)
더렵다 = 더려워요 (ทอ-รยอ-วอ-โย/สกปรก)
무겁다 = 무거워요 (มู-กอ-วอ-โย/หนัก)
가볍다 = 가벼워요 (คา-พยอ-วอ-โย/เบา)
즐겁다 = 즐거워요 (ชึล-กอ-วอ-โย/สนุก สุข เบิกบาน)

ไปๆมาๆก็เยอะเหมือนกันนะเนี่ย อ่ะข้อสุดท้าย

3. กริยาที่สะกดด้วย ㄷ บางตัว จะต้องผันพิเศษโดยการเปลี่ยนตัวสะกดจาก ㄷ เป็น ㄹ แล้วค่อยผันต่อไป ซึ่งกริยาที่ผันพิเศษในข้อนี้ขอให้รู้ไว้แค่2ตัวนี้เป็นพอ

걷다 ==> 걸어요 (คอ-รอ-โย/เดิน)
듣다 ===> 들어요 (ทึล-รอ-โย/ฟัง)

จบค่ะ เข้าใจไม่เข้าใจ สงสัยตรงไหนถามไว้ได้นะคะ ถ้าเข้าใจกฏการผันตรงนี้ต่อไปก็สบายแล้วค่ะ ^^' ในบทต่อไปยังไม่ได้คิดไว้เลยว่าจะสอนอะไร แหะๆ สำหรับวันนี้ บ๊ะบายก่อนค่ะ

이따 봐요~
(อิ-ต๊า พวา-โย ) See You นะคะ





 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2550 12:15:10 น.
Counter : 2914 Pageviews.  

บทที่9. -요 Form...หัดผันกริยาแบบลงท้ายด้วย โย

ก่อนหน้านี้ได้สอนการผันแบบ ㅂ 니다/습니다 (พีอึบนีดา/ซึมนีดา) ไปแล้ว ซึ่งการลงท้ายแบบนั้นมันเป็นทางการเกินไปหน่อย มาบทนี้เรามาหัดผันแบบลงท้ายด้วยโยกันดีกว่าค่ะ

การลงท้ายแบบโยเนี่ย จะให้ความสุภาพด้วยและไม่เป็นพิธีการมากเกินไป ก็เป็นภาษาที่เราใช้พูดกันธรรมดานี่แหละค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้เยอะกว่าการพูดแบบเป็นทางการอยู่แล้ว เวลาพูดกะเพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้อง ซื้อของ สั่งอาหาร ฯลฯ อะไรอย่างเงี้ย เกริ่นมายาวละ เข้าเรื่องดีกว่าโนะ

เช่นเคยนะคะ เวลาลงท้ายประโยคเนี่ย จะต้องมาผันกันตรงคำกริยา (เพราะกริยาจะต้องวางไว้ท้ายสุดเสมอ)

การผันกริยาแบบลงท้ายด้วยโย (ต่อไปขอเรียกว่า -요 Form นะคะ) โครงสร้างเป็นอย่างนี้ค่ะ

Vst + 아/어/여 요

เห็นโครงสร้างแล้วก็อย่าพึ่งมึน มาฟังอิชั้นอธิบายก่อน

วิธีการผันมีดังนี้นะจ๊ะ

1. ถ้า Vst ลงท้ายด้วยสระ ㅏ (อา) หรือ ㅗ (โอ) ให้เติม 아요 เข้าไป และถ้า Vst นั้นไม่มีตัวสะกด เราสามารถรวบเสียงได้

ตัวอย่าง
กริยา 가다 (คาดา) = ไป
Vst. = 가 จะเห็นได้ว่า vst ของตัวนี้ลงท้ายด้วยสระอา เพราะฉะนั้นให้เติม 아요 เข้าไป

가 + 아요 = 가아요

ยังไม่จบ กฎมีอยู่อีกนิดว่า ถ้าvst ไม่มีตัวสะกดสามารถรวมเสียงได้
ตรงนี้จาก 가아요 (คาอาโย) 가กับ아 จะรวมเสียงกันเหลือแต่ 가 ส่วน 요นั้นอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นคำนี้จะได้ออกมาว่า 가요 (คาโย)

ลองแต่งประโยค

어디 가요? ออกเสียงว่า ออดี คาโย้ะ? =ไปไหนคะ

(어디 = ที่ไหน)
(ถ้าเป็นคำถามก็ให้ลงท้ายเสียงสูง)

อีกซักตัวอย่าง เพื่อความหลากหลาย

กริยา 오다 (โอ-ดา) = มา
vst. = 오 ลงท้ายด้วยสระ ㅗ เพราะฉะนั้นยังอยู่ในกฎข้อนี้ ก้อเติม 아요 เข้าไป
오+아요 = 오아요

ยังไม่จบ กฎมีอยู่อีกนิดว่า ถ้าvst ไม่มีตัวสะกดสามารถรวมเสียงได้ 오 กับ 아 พอมารวมกันก็จะได้ 와 เพราะฉะนั้นกริยาตัวนี้จะผันได้เป็น 와요 (วาโย) [สระㅗ(โอ) กับㅏ(อา) มันสามารถผสมกันได้เป็นสระ ㅘ(วา) นะจ๊ะ อย่าลืม]

ลองแต่งประโยค

친구는 집에 와요. (ชินกุนึน ชิบเบ วาโย) = เพื่อนมาที่บ้าน

친구 (ชินกู) = เพื่อน
집 (ชิบ) = บ้าน
에 (เอ) = ที่ (คำนี้ต้องตามหลังคำนาม เป็นคำชี้สถานที่)


2. ถ้า Vst ลงท้ายด้วยสระ อื่นๆ(ยกเว้น ㅏ กับ ㅗ) ให้เติม 어요 เข้าไป และถ้า Vst นั้นไม่มีตัวสะกด เราสามารถรวบเสียงได้

ตัวอย่าง

กริยา 먹다 (มอกดา) = กิน
vst = 먹 ==> ลงท้ายด้วยสระ ㅓ (สระออ) เพราะฉะนั้นจัดอยู่ในกรณีที่2 ให้เติม 어요 เข้าไป

먹+어요=먹어요 (มอกอโย) การผันกริยาก็จบเท่านี้ ไม่มีการรวบเสียง เพราะว่าvst=먹 ==> มีตัวสะกด ไม่สามารถรวบเสียงได้

ลองเอามาแต่งประโยค

원숭이는 바나나를 먹어요. (วอนซุงอีนึน พานานารึล มอกอโย) = ลิงกินกล้วย

원숭이 (วอนซุงอี) = ลิง
바나나 (พานานา) = กล้วย

อีกซักตัวอย่างนะ

กริยา 있다 (อิดตา) = มี/อยู่
vst = 있 ==> ลงท้ายด้วยสระ ㅣ (สระอี) เพราะฉะนั้นจัดอยู่ในกรณีที่2 ให้เติม 어요 เข้าไป
있+어요=있어요 (อิดซอโย) ==> กริยาก็จบเท่านี้ ไม่มีการรวบเสียง เพราะว่า vst = 있 ==> มีตัวสะกด ไม่สามารถรวบเสียงได้

ลองแต่งเป็นประโยค

애인 있어요? (แออิน อิดซอโย้ะ) = มีแฟนมั้ย? / มีแฟนรึยัง?

애인 (แออิน) = แฟน

3. ถ้าเป็นกริยา 하다 เมื่อผันในรูปของ 요 form จะกลายเป็น 해요

ตัวอย่าง

사랑하다(ซารังฮาดา/รัก) ==> 사랑해요.(ซารังแฮโย)
미안하다(มีอันฮาดา/ขอโทษ) ===> 미안해요.(มีอันแฮโย)
감사하다(คัมซาฮาดา/ขอบคุณ) ===> 감사해요.(คัมซาแฮโย)
공부하다(คงบูฮาดา/เรียน)===> 공부해요.(คงบูแฮโย)

กลุ่มที่3นี่ง่ายสุดๆแล้วค่ะ ^^'

สำหรับ -요 form ขั้นเบื้องต้นก็จบลงเพียงเท่านี้นะคะ (เดี๋ยวจะต่ออีกภาคในคราวหน้าค่ะ)

파이팅!!!
(พา-อี-ทิ่ง ==> Figthing!!!)




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2550 3:19:15 น.
Counter : 9418 Pageviews.  

บทที่8.1 ศัพท์(คำกริยา)ภาษาเกาหลี ภาค2

มาแอบอัพบล๊อคยามวิกาลอีกเช่นเคย ก่อนที่อิชั้นจะง่วงเหมือนคราวก่อน ก็รีบว่ากันเลยดีกว่า ด้วยเรื่องคำศัพท์ที่เป็นคำกริยา คราวนี้เป็นกริยากลุ่ม DV (Description verb)ไปเบิ่งกันโลด

귀엽다 น่ารัก
아름답다 สวยงาม งดงาม
예쁘다 สวย
잘 생기다 หล่อ

같다 เหมือน
비슷하다 คล้าย
닮다 คล้าย
다르다 แตกต่าง

어렵다 ยาก
쉽다 ง่าย
힘들다 ลำบากยากเย็น

부지런하다 ขยัน
게으르다 ขี้เกียจ

좋다 ดี
나쁘다 ไม่ดี เลว

똑똑하다 ฉลาด
어리석다 โง่
시시하다 โง่

높다 สูง
작다 เล็ก ต่ำ เตี้ย
크다 ใหญ่ ถ้าใช้กับส่วนสูงจะแปลว่าสูง ถ้าใช้กับเสียงจะแปลว่าดัง

키다 ยาว
잛다 สั้น

뚱뚱하다 อ้วน
날신하다 ผอม

많다 มาก
적다 น้อย

무겁다 หนัก
거볍다 เบา

가깝다 ใกล้
멀다 ไกล

느리다 ช้า
빠르다 เร็ว

깊다 ลึก
앝다 ตื้น

싸다 ถูก
비싸다 แพง

맞다 ถูก
틀리다 ผิด

넓다 กว้าง
좁다 แคบ

깨끗하다 สะอาด
더렵다 สกปรก

시다 เปรี้ยว
달다 หวาน
짜다 เค็ม
맵다 เผ็ด

덥다 ร้อน
춥다 หนาว
따뜻하다 อบอุ่น
시원하다 เย็นสบาย

이상하다 แปลก ประหลาด

착하다 ใจดี

สำหรับคืนนี้ก็เท่านี้ก่อนเน่อ อยากให้เพิ่มคำไหนบอกได้นะจ๊ะ

**ขอบคุณสำหรับทุกคอมเม้นต์ด้วยนะคะ พอเห็นว่ามีคนเข้ามาติดตามก็ทำให้มีกำลังใจทำต่อไปค่ะ



ในคราวหน้าจะมาว่ากันในเรื่องผันกริยาแบบที่ลงท้ายด้วย요. ฮิตกันจริงภาษาเกาหลีแบบอะไรโยๆเนี่ย คราวหน้าจะมาสอนค่า

และสุดท้าย(จริงๆแล้วนะ)
역지사지 = เอาใจเขามาใส่ใจเรา

바이~
(Bye~)




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 4:34:52 น.
Counter : 18306 Pageviews.  

บทที่8. คำศัพท์(กริยา)ภาษาเกาหลี

มาอัพบ๊อควันนี้ขอเพิ่มในส่วนของคำศัพท์กันหน่อย จขบ.คิดหนักเลยว่าจะใส่คำศัพท์ลงไปยังงัยให้หมด คิดไปคิดมา...ในเมื่อบทที่แล้วสอนผันคำกริยาแบบแรกไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เอาคำกริยาไปหัดผันหัดใช้กันดีกว่า

กลุ่มแรกเป็นกลุ่ม AV.(Action verb นะคะ)

먹다 กิน
마시다 ดื่ม
서다 ยืน
뛰다 วิ่ง
걷다 เดิน
앉다 นั่ง
타다 โดยสาร (คนไทยเราบางทีคำว่านั่งกะโดยสารนี่เราใช้รวม แต่เกาหลีใช้แยกกันนะจ๊ะ ถ้านั่งหรือโดยสารบนยานพาหนะใดๆจะใช้คำนี้นะก๊ะ)
자다 นอน
일어나다 ตื่น
세수를 하다 ล้างหน้า
목욕하다/샤워하다 อาบน้ำ
청소하다 ทำความสะอาด
빨래하다 ซักผ้า
배우다 เรียน (ระบุวิชา)
공부하다 เรียนหนังสือ
듣다 ฟัง
말하다 พูด
읽다 อ่าน
쓰다 เขียน (จริงๆแล้วแปลได้3ความหมายคือ เขียน ขม ใช้)
사다 ซื้อ
팔다 ขาย
일하다 ทำงาน
놀다 เล่น
하다 ทำ
사랑하다 รัก
좋아하다 ชอบ
싫어하다 ไม่ชอบ เกลียด
미워하다 เกลียด (แรงกว่าคำบน)
귀잖다 รำคาญ
울다 ร้องไห้
웃다 หัวเราะ
부르다 ร้อง (เพลง)
춤추다 เต้นรำ
주다 ให้
받다 รับ
화장하다 แต่งหน้า
입다 ใส่ (ใช้กับเครื่องแต่งกาย)
벗다 ถอด (ใช้กับเครื่องแต่งกาย)

ยังไม่หมดค่ะ แต่ง่วงแล้ว พักก่อนเดี๋ยวมาอัพต่อ คำศัพท์มีอีกหลายกระบุงเลยย




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2550 4:31:46 น.
Counter : 24587 Pageviews.  

บทที่7. มาหัดแต่งประโยคและการผันกริยาแบบ ㅂ 니다/습니다

จากบทที่5 ที่เคยเกริ่นๆไปแล้วในเรื่องของโครงสร้างประโยค ว่าจะต้องเรียงแบบนี้

ประธาน กรรม กริยา

ยกตัวอย่างประโยค "ฉันกินข้าว" จะต้องเรียงว่า

ฉัน ข้าว กิน

나 밥 먹다

^ ข้างบนนี้คือเอาคำมาเรียงกันดื้อๆ ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เพราะในภาษาเกาหลีจะต้องใส่คำชี้ประธาน คำชี้กรรม และผันกริยาเพื่อจบประโยคด้วย ถ้าจะเป็นประโยคที่สมบูรณ์จะต้องเป็นอย่างงี้

나는 밥을 먹습니다.

คำชี้ประธานและคำชี้กรรมนั้นไม่ยาก ดูคำอธิบายได้ในบทที่5 แต่ตรงการผันกริยานี่แหละที่มันหลากหลาย อ่ะ มาดูการผันกริยาแบบแรกของเรากันดีกว่า จะขอเรียกว่าแบบ ㅂ 니다/습니다 (พีอึบนีดา ซึมนีดา)

ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักหน้าตาของกริยาเกาหลีกันก่อน
- คำศัพท์ที่เป็นคำกริยาทุกคำจะลงท้ายด้วย 다
- คำกริยาของเกาหลีจะมี 2 ประเภท คือ
Action Verb (กริยาแสดงการกระทำ เช่น กิน ดื่ม เดิน วิ่ง)
Description Verb (กริยาแสดงคุณลักษณะ เช่น สูง ต่ำ ดำ ขาว หล่อ ใหญ่ เล็ก)

ตัวอย่างคำกริยา

먹다 (มอก-ดา) กิน
마시다 (มา-ชี-ดา) ดื่ม
배우다 (แพ-อู-ดา) เรียน
사랑하다 (ซา-รัง-ฮา-ดา) รัก

วิธีการผันกริยาแบบแรกที่จะสอนวันนี้คือแบบ ㅂ 니다/습니다 ซึ่งมีวิธีการดังนี้

1. ตัด 다 ตัวท้ายออกไป (นั่นจะเรียกว่า กริยารากศัพท์หรือ Verb Stem ตัวย่อคือ Vst.)
2. Vst. ที่พยางค์สุดท้ายไม่มีตัวสะกด จะใส่ ㅂ 니다 โดยที่ใส่ ㅂ เป็นตัวสะกดลงไปก่อนแล้วตามด้วย 니다
3. ในกรณีที่พยางค์สุดท้ายของ Vst. มีตัวสะกด จะใช้ 습니다 ตามหลังไปเลย

ตัวอย่างการผัน
กริยา 먹다 (มอก-ดา) กิน

วิธีทำ

1. ตัด 다 ทิ้งไป ก็จะได้Vst. คือ 먹
2. 먹 มีตัวสะกดจึงใช้ 습니다 ต่อท้ายได้เลย

ก็จะได้ 먹+습니다 = 먹습니다

ตัวอย่างที่ 2

กริยา 사랑하다

วิธีทำ

1. ตัด 다 ออก จะได้ Vst. 사랑하
2. พยางค์สุดท้ายไม่มีตัวสะกด จึงใช้ ㅂ 니다 โดยใส่ ㅂ เป็นตัวสะกดแล้วตามด้วย 니다 ดังนี้

사랑하+ㅂ 니다 = 사랑합니다

ลองเอามาแต่งประโยค

우리는 국왕을 사랑합니다. เรารักในหลวง

우리 = พวกเรา
국왕 = กษัตริย์

และในการผันแบบ ㅂ 니다/습니다 นี้ จะมีกฏการอ่านคือ ตัวㅂ ที่ใช้เป็นตัวผันนั้นจะออกเสียงเป็น ม.สะกดค่ะ อย่าง 사랑합니다 ก็จะออกเสียงว่า ซา-รัง-ฮัม-นี-ดา

จบแล้วว บทหน้าจะเพิ่มคำศัพท์ให้ค่ะ จะได้เอาไปหัดแต่งประโยคกัน แรกๆนี่เอาประโยคง่ายๆก่อนเน่อ เอาแบบ ประธาน1 กรรม1 กริยา1 ไปก่อน

สุดท้ายนี้ก็ต้องตามเทรนด์ซะหน่อย สวัสดีปีใหม่จีนค่ะ xinjei yu ii xin ni hur chai กันทุกคนนะจ๊ะ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2550 2:49:14 น.
Counter : 28846 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

Jinsee
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




หวัดดีค่ะ ชื่อจิ๋นค่ะ

บ๊อคเนี้ยะ เพื่อคลายเครียดและเป็นความสุขส่วนตัวเล็กๆน้อยๆนะคะ ^^,

Friends' blogs
[Add Jinsee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.