All Blog
เปิดตำนานผู้สร้างหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
 
เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมานี้ ในแวดวงนักอ่านหนังสือในประเทศไทย ไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยอ่านหนังสือหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน และในเวลาเดียวกันจากความโด่งดังของหัสนิยายชุดนี้ ก็ส่งผลให้ชื่อของผู้เขียนหัสนิยายชุดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังขจรขจายไปทั่วในแวดวงนักอ่านหนังสือในยุคนั้น นามปากกา ป.อินทรปาลิต ฮิตติดลมบน ไม่ว่าจะเขียนนิยายแนวไหน เรื่องอะไร ทุกสำนักพิมพ์ต่างแย่งกันซื้อบทประพันธ์ของท่านผู้นี้

ป.อินทรปาลิต เป็นใคร? และมีที่มาอย่างไร? ผมจะขอเล่าให้ท่านอ่านโดยสังเขปเท่าที่จะทำได้

 

 

จากหนังสือ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 โดย เริงไชย พุทธจาโร กล่าวว่า



ปรีชา อินทรปาลิต (ป.อินทรปาลิต) เกิดเมื่อวันที่ 12พฤษภาคม 2453 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ที่บ้านตำบลยมราช อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลมิสชั่น) หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่บ้านที่บิดาได้ปลูกสร้างขึ้น ณ บ้านเลขที่ 4754 ค. ตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่ออายุถึงวัยศึกษาก็ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดโสมนัสเป็นแห่งแรกครั้นอายุได้ประมาณ 9 ขวบ ปรีชาอินทรปาลิตจึงได้เข้าไปศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2462 เลขประจำตัว 3389/จากหนังสือ 100 ปี จปร.กรุงเทพฯ 2530 ทั้งนี้เป็นไปตามความประสงค์ของ พ.ท.พระวิสิษฐพจการผู้บิดาซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยอยู่ที่นั่น ด้วยความปรารถนาที่จะให้บุตรชายได้เป็นนายทหารเจริญรอยตามท่าน

แต่ปรีชา อินทรปาลิต ก็ไม่ได้สำเร็จเป็นนายทหารตามที่บิดามุ่งหวัง เขาออกจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เพราะทางราชการสมัยนั้นยุบชั้นเรียนสำหรับเด็กเล็ก เพราะประเทศประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรง ต่อมาเขามาเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่นอน

ปรีชา อินทรปาลิต เป็นคนที่ชอบสนุกสนานร่าเริง หลังจากที่สลัดเครื่องแบบนักเรียนแล้ว เขาเคยทำงานเป็นคนขับแท็กซี่ ก่อนจะมาขับแท็กซี่เขาเคยรับราชการเป็นเสมียน กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และไม่ชอบระบบเจ้าขุนมูลนายจึงลาออกอีก

บางช่วงเวลาของชีวิต ก่อนที่ ปรีชา อินทรปาลิต จะกลายมาเป็นนักประพันธ์ระบือนาม ด้วยความต้องการที่จะออกเดินทางไปหาประสบการณ์ให้ชีวิต เขาเคยเดินทางไปทำงานกับญาติที่อ่างทอง ใช้ชีวิตเป็นชาวเรือล่องไปมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ชีวิตความเคลื่อนไหวของผู้คนและทิวทัศน์สองฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าเตียนไปจนถึงปากน้ำโพถูกบันทึกสะสมไว้ในความทรงจำของ ปรีชา อินทรปาลิต ตั้งแต่นั้นมา

ปรีชา อินทรปาลิต เริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องแรก หลังจากที่แต่งงานและมีบุตรชายคนแรกแล้ว นวนิยายเรื่องแรกชื่อ "ยอดสงสาร" เป็นการจำลองชีวิตชาวชนบทที่เขาประสบพบเห็นมาสมัยที่ล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยา

 

ปรีชา อินทรปาลิตใช้ความคิดและเวลาในการตั้งนามปากกา (ตามธรรมเนียมของนักเขียนทั่วไป) ให้กับตัวเองนานพอสมควร ในที่สุดจึงตัดสินใจใช้นามประพันธ์ว่า ป.อินทรปาลิต




Create Date : 27 มิถุนายน 2549
Last Update : 26 ธันวาคม 2565 19:49:46 น.
Counter : 1027 Pageviews.

5 comments
  
,นั่งอ่านค่ะ ขอเจิมๆๆๆ
โดย: FaRaWaYGiRL วันที่: 27 มิถุนายน 2549 เวลา:14:19:24 น.
  
ตอนเด็ก ๆ ชอบอ่านมากครับ จำได้ว่าอ่านหมดทุกตอนเลย มีทั้งซื้อเองและยืมห้องสมุด ชอบมาก ๆ เลยครับ
โดย: 90210 วันที่: 27 มิถุนายน 2549 เวลา:14:43:51 น.
  

ขอบคุณทั้งสองท่านที่กรุณาแวะมาชมครับ
สำหรับคุณ 90210 แสดงว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ของ พล นิกร กิมหงวน เหมือนผมน่ะสิ ฮิฮิฮิ
โดย: หนุ่มร้อยปี (หนุ่มร้อยปี ) วันที่: 28 มิถุนายน 2549 เวลา:7:00:09 น.
  
สามีดิฉันก็ชอบอ่านค่ะ ยังให้ทางกรุงเทพฯ ส่งมาให้อ่านเลยค่ะ แต่มีไม่ครบค่ะ
Photobucket - Video and Image Hosting

โดย: shnkitty วันที่: 5 สิงหาคม 2549 เวลา:2:48:15 น.
  
ผมก็มี หนังสือ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน ครับ ซื้อมานานแล้วแต่ยังใหม่มาก หน้าปกสีเขียว คู่ควรแก่การเก็บไว้
โดย: คนรักหนังสือ IP: 222.123.96.236 วันที่: 12 ธันวาคม 2551 เวลา:15:14:37 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง