All Blog
ห้องตำนานบุคคล เสนอบรรณาธิการเครางาม
 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

 

 

กับบทบาทใหม่ด้วยหนังทดลอง
 

ในโลกเซลลูลอยด์



เอ่ยนาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี แล้วนั้น คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะถือได้ว่า บรรณาธิการเครางามท่านนี้ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ ที่มีส่วนร่วมในการรดน้ำพรวนดิน ต้นไม้ใหญ่แห่งวรรณกรรมไทย ให้หยั่งรากหยัดยืนได้อย่างมั่นคง และแผ่กิ่งก้านสาขาไปอย่างกว้างไกล

เพราะแม้ว่านิตยสารแนวสังคม-วรรณกรรม ที่ สิงห์สนามหลวง ผู้นี้เคยเป็นบรรณาธิการอย่าง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ โลกหนังสือ และช่อการะเกด จะยุติบทบาทลงไปเนิ่นนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ไปแล้วไปลับ ทุกเล่มกลายเป็นนิตยสารระดับตำนาน ที่ทรงอานุภาพต่อวงวรรณกรรม และมีส่วนร่วมสรรค์สร้างนักเขียนมือทองหลายต่อหลายท่าน ให้โลดแล่นในแวดวงอักษรอย่างสง่างาม

ถึงจะได้รับการยอมรับนับถือจากโลกสวนอักษรอย่างยิ่ง แต่เขาก็ไม่ได้มีตัวตนเฉพาะแวดวงนี้เพียงเท่านั้น
เพราะในปี 2546 สุชาติได้สร้างความประหลาดใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ ในแวดวงวรรณกรรม ด้วยการลุกขึ้นมาจัดงานแสดงภาพเขียนของตนเองเป็นครั้งแรก ในชื่อ Suchart Topia และปี 2547 ในงานแสดงศิลปกรรมครั้งที่ 2 Suchart Mania นั้น นอกจากจะแสดงภาพเขียนแล้ว สุชาติยังสร้างงานในรูปแบบนวนิยายทัศนศิลป์ ซึ่งนำสื่อดิจิตอลมาผนวกเข้ากับศิลปะอีกด้วย ถัดมาปี 2548 ในวาระ 6 ทศวรรษ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี Suchart Failure ก็ได้จัดแสดงขึ้น พร้อมกับรูปใหม่ๆ ที่สร้างความตื่นตาให้เราหลายสิบรูปทีเดียว

และส่งท้ายปี 2549 นี้ ด้วยแรงไฟที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สุชาติก็หันมาถ่ายทอดเรื่องราวในจินตนาการ ผ่านกระบวนการถ่ายทำ ด้วยกล้องถ่ายหนัง ในรูปแบบของ จิตรกรรมวิดีทัศน์ และหนังทดลอง แทนการบอกเล่าผ่านถ้อยคำในหน้าหนังสือ และสีสันในรูปวาดอย่างที่ผ่านมา ในงานแสดงศิลปกรรมครั้งที่ 4 Personal Histories หรือนิทรรศการประวัติศาสตร์ส่วนตัว
สุชาติเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยเริ่มจากถ่ายเพื่อประกอบข่าวในหนังสือพิมพ์ แล้วค่อยก้าวมาเป็นการถ่ายรูปงานศิลปะ จนถึงกับเคยคิดว่า อยากมีงานแสดงภาพถ่ายเป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องเลิกไปเพราะกล้องถูกขโมย

"โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบดูหนังมานานแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับคิดจะสร้างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องเข้าสู่เส้นทางธุรกิจ แต่ตอนที่รับคำเขามาว่าจะมาแสดงงานที่นี่ (หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ก็เห็นว่าที่นี่มีพื้นที่เกี่ยวกับห้องฉายหนัง และตอนที่คุยกับกลุ่มฟิล์มไวรัส เรื่องหนังที่จะนำมาฉาย เห็นว่าหลายเรื่องสอดคล้องกับงานแสดงของผม ที่กวี, นักเขียนเป็นคนสร้าง เลยตัดสินใจว่าจะทำ หนังทดลอง ขึ้นมา"

สุชาติบอกว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ค่อยจะสนใจเรื่องของเทคโนโลยี เมื่อตัดสินใจจะทำหนังทดลอง ก็เหมือนกับเขากำลังลัดขั้นตอน จึงต้องพยายามเรียนรู้อย่างเต็มที่

"อย่างน้อยก็จัดคลิปออกมาเป็นโฟลเดอร์ต่างๆ แล้วก็มีคนที่รู้เรื่องเทคนิคการตัดต่อคอยช่วยเหลือ เอาเทคนิคของเขามาช่วยถ่ายทอดความคิดของผม ให้ออกมาเป็นภาษาภาพอย่างที่ผมต้องการ"
หนังทดลองในความหมายของสุชาติ เป็นได้ทั้งหนังสั้นและหนังยาว โดยจะต้องดูถึงลักษณะแง่มุมของการทดลอง ทั้งการใช้ภาษาภาพและมุมกล้อง ซึ่งในความเห็นของสุชาตินั้น ผู้ที่สร้างหนังทดลองมักจะมีพื้นฐานมาทางด้านจิตรกรรม ภาพที่ออกมาจึงมีนัยยะแบบคนทำงานด้านนี้

"คำว่าแนวทดลอง เป็นคำที่ใช้กันมากในระยะหลัง ทั้งวรรณกรรมแนวทดลอง รากฐานของคำนี้เป็นเหมือนวัฒนธรรม มีมายาวนานในทางตะวันตก จิตรกรหลายคนนอกจากทำงานศิลปะแล้ว ก็ยังมาทำหนังแบบนี้ด้วย ก็จะเหมือนกับว่าเอาฟิล์มมาเป็นผ้าใบเป็นกระดาษ แล้วนำเสนอเรื่องผ่านฟิล์ม
ในแง่ความเป็นมาก่อนหน้านี้ เรียกว่าหนังแนว Avant gard film สมัยนั้นยังใช้ฟิล์มถ่าย เป็นหนังล้ำยุค ต่อมาในยุค 1960 คือหนังใต้ดิน Underground film ซึ่งไม่ใช่หนังโป๊ แต่หมายถึงหนังในชุมชนของคนอิสระ คนศิลปะ คนที่ต้องการจะคิดค้นคว้าทดลองอะไรใหม่ๆ ให้ไม่ซ้ำใคร หนังแบบนี้จะวิจารณ์สังคม การเมือง เพราะมีอิสระและเสรีภาพที่จะนำเสนอ โดยไม่ขึ้นต่อทุน ไม่ขึ้นต่อข้อจำกัด และก็จะมีคนดูอยู่ในแวดวงนี้ ถือเป็นกลุ่มก้อนที่มีความคิดและวัฒนธรรมของตัวเอง"

เมื่อเราถามว่า แล้วหนังของเขาที่ใช้คำว่า แนวทดลอง นั้น ตั้งใจจะทดลองกับใครหรือสื่อใดกันแน่ เขาก็ตอบกลับมาว่า

"คำว่าทดลองในที่นี้ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือว่า ทดลองกับตัวเองว่าผมสามารถทำได้ และนำเสนอชิ้นงานที่เรียกว่างานศิลปะในรูปแบบของมัลติมีเดียได้ พัฒนาขึ้นจากการวาดรูป ถือเป็นของใหม่สำหรับผม ส่วนจะถูกใจคนดูรึไม่ ผลลัพธ์เป็นไง อันนี้ผมก็ไม่ทราบ ไม่สน มันก็เหมือนกับวาดรูปตั้งไว้ ซึ่งอาจจะมีทั้งคนชอบไม่ชอบ แต่ก็พยายามที่สุด อย่างเรื่องที่นำเสนอทั้ง 14 เรื่องก็พยายามให้มันหลากหลาย"

ทว่า ในความหลากหลายจากหนังทดลองทั้ง 14 เรื่องนี้ สุชาติก็พยายามที่จะจัดลำดับของเรื่อง ให้มีความสมดุลของเรื่องราวให้มากที่สุด

"ก็เริ่มต้นจากเรื่องเบาๆ แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มเป็นเรื่องเชิงการเมือง แล้วก็ค่อยๆ ลงมาหาเรื่องส่วนตัว มีนัยยะอีโรติคบ้าง นัยยะอัตตะบ้าง จุดรวมของมันค่อนข้างชัดเจนในแง่ของการนำเสนอภาพ แต่เมื่อเป็นภาพเคลื่อนไหว ก็ต้องมีคำมีบทบ้าง ทั้งที่ผมก็รู้สึกว่า เวลานำเสนอบางเรื่องอย่าง ฝนโปรยคำ หรือกัลปาวสาน มีแค่ความคิด มโนทัศน์ก็พอ อยากทำอย่างนั้นทุกเรื่อง แต่สิ่งนี้ก็ไม่เกิดได้บ่อย"

ในฐานะที่สุชาติมีตัวตน และที่ทางอย่างชัดเจนในโลกวรรณกรรม ทำให้หลายคนสงสัยว่า หนังทดลองของเขาจะได้รับอิทธิพลจากงานวรรณกรรมบ้างหรือไม่นั้น สุชาติก็บอกกับเราแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า อาจจะมีอิทธิพลอยู่บ้าง โดยความเป็นมาและความสนใจของเขาเอง
"ตอนทำงานนี้ ผมก็บอกกับหลายคนว่ามันแทบจะไม่เกี่ยวกันเลย เพราะใช้สื่ออุปกรณ์คนละอย่าง แต่หลายคนก็พูดว่าเราได้อิทธิพลมา เพราะแม้แต่งานจิตรกรรมก็มีฐานที่แสดงให้เห็นว่า เอามาจากงานวรรณกรรมและภาษาในหนังสือ ซึ่งผมคิดว่าตอนที่ผมวาดรูป ผมก็ไม่รู้ว่ามันมีอิทธิพลแบบไหน แต่หลังจากงานเสร็จแล้ว ก็อาจจะเห็นจากลักษณะของการตั้งชื่อภาพ ลักษณะของภาพที่ปรากฏ"

เมื่อถามถึงแง่ของความยุ่งยากนั้น สุชาติรับว่า ก็มีความยุ่งขึ้นมาเล็กน้อยเพราะต้องพึ่งพาคนอื่นด้วย

"วาดรูปกับเขียนหนังสือเราสำเร็จได้ด้วยตัวเอง เราต้องต่อสู้กับตัวเอง แต่การทำหนังเราต้องสัมพันธ์กับคนอื่น แต่การทำครั้งนี้ก็ต้องบอกว่าเราสัมพันธ์น้อยแล้วนะ พยายามคิดไว้ให้จบก่อน ถึงจะยังไม่ลงตัวก็ค่อยไปคลำเอาหลังจากนั้น ถ่ายคลิปเก็บไว้แล้วค่อยๆ แปรสภาพเอาว่าจะเป็นยังไง แต่ละเรื่องที่ออกมามีคลิปเป็น 10 แต่เอาแค่ 2-3 ต้องให้กระชับ เพราะภาษาภาพที่กระชับเท่านั้น จึงจะเป็นภาษาภาพที่ให้พลัง"ส่วนมุมมองต่อวงการหนังทดลองของไทยในขณะนี้นั้น สุชาติบอกว่า ถึงเขาจะไม่ค่อยได้ติดตามมากนัก แต่ก็พอรู้ว่ามีความคึกคักอยู่มาก เห็นได้จากการประกวดต่างๆ ทว่า การเล่าเรื่องส่วนใหญ่ จะมีลักษณะของการเล่าเรื่องตามขนบ ที่มีต้นเรื่อง เดินเรื่อง แล้วก็จบเรื่อง จึงต้องพิจารณาที่บทว่าลงตัวแค่ไหน

"หลายคนมีความคิดที่จะนำเสนอ เขาควรจะทำต่อเนื่อง การทำเรื่องเดียวไม่ได้พิสูจน์อะไร เหมือนเขียนเรื่องสั้นเรื่องเดียวแล้วได้ตีพิมพ์"

งานแสดงศิลปกรรมของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในปีนี้นั้น ถือว่ามีความแปลกใหม่ มาให้เราตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว สุชาติบอกว่า เขาอาจจะยังทำหนังทดลองต่ออีกสักระยะหนึ่ง เพราะตอนนี้เทพหนังทดลองกำลังเข้ามาในตัวเขา
เราก็ไม่รู้ว่า เทพหนังทดลอง ในความหมายของเขาจะอยู่อีกนานแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ๆ คือ เราได้ข่าวมาว่าเทพบรรณาธิการ จะมาหาเขาในปีหน้านี้ เพราะเขาบอกกับเราเองว่า

"ปีหน้าจะกลับไปหาวงการวรรณกรรมอีกครั้งด้วย ช่อการะเกด"
ไฟของการสร้างสรรค์ ไม่เคยมอดจากใจเขาเลยจริงๆ

จาก นสพ.มติชนรายวัน
ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2549



Create Date : 09 ธันวาคม 2549
Last Update : 30 ธันวาคม 2565 8:58:40 น.
Counter : 1635 Pageviews.

3 comments
  
ดี.มาส่งความสุขยามเช้านะคะ
โดย: d__d (มัชชาร ) วันที่: 9 ธันวาคม 2549 เวลา:9:49:51 น.
  
มาชื่นชม..คนเก่งค่ะ
โดย: แมงป่องไร้พิษ วันที่: 9 ธันวาคม 2549 เวลา:12:57:10 น.
  

เยี่ยม
โดย: อุ้มสี วันที่: 9 ธันวาคม 2549 เวลา:23:14:50 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง