bloggang.com mainmenu search











มาน่านกันหลายครั้งแต่ไม่ค่อยได้ไปสัมผัสบรรยากาศรอบนอกน่านมากนัก มีครั้งหนึ่งมาน่านแบบรีบๆ คือมาทอดกระฐินกับเพื่อนๆที่ดอยแห่งหนึ่ง และอีกครั้งก็มาแวะเที่ยวดอยเสมอดาว เสานาน้อย และผาชู้ ... มาน่านครั้งนี้แบบไม่รีบเลยมีเวลาคิดว่าน่าจะเดินทางไปเที่ยว อ.บ่อเกลือ เพื่อสัมผัสกับบ่อเกลือสินเธาว์ หนึ่งเดียวในโลกเพื่อเป็นความทรงจำกับเขาบ้าง เลยวางแผนขับรถวนตามเส้นทางในแผนที่ แต่เนื่องจากบล๊อกนี้พูดถึงเรื่องราวของดอกชมพูภูคา เราเลยแถม อช.ขุนสถานเข้ามาในบล๊อกเดียวกันซะเลย เพื่อให้เกิดความรู้สำหรับท่านที่อยากจะมาน่าน เพื่อชมดอกไม้หายากนี้บ้าง จะได้วางแผนเดินทางให้ถูและเหมาะกับค่าใช้จ่ายครับ



เส้นทางการขับรถของเราในวันนี้

14 มีนาคม 2560 หลังอาหารเช้าที่โรงแรมเวียงภูมินทร์ เรานั่งคุยกับน้องๆที่เค้าน์เตอร์ว่า ถ้าเราจะขับไป อ.บ่อเกลือ จะใช้เวลานานไหม? เส้นทางเป็ยังไ? และจะกลับมานอนที่ในเมืองน่านทันไหม? .... คำตอบที่ได้ก็คือ ถ้าเราออกประมาณ 8-9 โมงเช้าเราก็สามารถกลับมาที่น่านได้ในตอนบ่ายๆ ซัก 4-5 โมงเย็น เพราะเส้นทางเป็นทางที่ขึ้นเขากว่า 90% แม้จะได้รับการปรับปรุงให้ดีแล้วสำหรับการเดินทาง แต่สำหรับคนไม่คุ้นทางควรเผื่อเวลาไว้บ้าง .... ตอนแรกเราสองจิตสองใจว่าจะนอนพักแถวๆ อ.บ่อเกลือ หรือโครงการภูฟ้าพัฒนาดีไหมน๊า แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะกลับมาพักที่น่าน เผื่อมีเวลาเหลือจะได้เที่ยวไหว้พระตามวัดต่างๆอีก และก็เชื่อมั่นในสมรรถนะของเพื่อนยาก CRV 4WD g8injv' 2400 แรงม้า พอควร .... ท้ายสุดก็จองที่พักต่ออีก 1 คืนที่เดิมแล้วออกเดินทางตามเส้นทางในแผนที่ครับ


สวน...ที่ภูฟ้าพัฒนา

เรามาตามเส้นทางสาย 1169 ช่วงแรกๆเป็นทางสี่เลนส์ ซักพักจะค่อยๆไต่เขาขึ้นไปเรื่อยๆตามเส้นทางสองเลนส์แบบสวนกันไปมา แต่ทำทางค่อนข้างกว้างขวาง สองข้างทางเป็นไร่บนเขาและเหวลึก แต่สวยงามดี ... ผ่าน อ.สันติสุข พอถึงทางสามแยก ด้านหนึ่งไป อ.ปัว อีกด้านไป อ.บ่อเกลือ เราเลี้ยวไปทาง อ.บ่อเกลือ ตามเส้นทาง 1081 ทางช่วงนี้ต้องขับระมัดระวังมากขึ้น เพราะเป็นทางขึ้น-ลง เขาคดเคี้ยว ใช้ความเร็วได้ไม่มาก จนถึงสามแยกใหญ่ใกล้ อ.บ่อเกลือ ก็จะมีทางแยกขวาไป ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาในพระราชดำริ เราแยกออกไปที่นั่นก่อนครับ



จุดชมวิวที่ภูฟ้าฯ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตร บ่อเกลือสินเธาว์ ณ บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่มีความด้อยโอกาส ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีพระราชดำริให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ ดำเนินการช่วยเหลือการพัฒนาในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ โดยเริ่มพัฒนาที่โรงเรียนประถมศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงขยายไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ประกอบด้วย 4 โครงการได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการส่งเสริมสหกรณ์ และโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่พื้นที่ และราษฎรในเป้าหมายท้องที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตามพระราชปณิธานของพระองค์

ศูนย์ภูฟ้าจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่ราษฎรในพื้นที่เป้าหมายท้องที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมประกอบอาชีพ อย่างเหมาะสมกับศักยภาพ ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นแห่งสำคัญของจังหวัดน่าน ช่วยลดปัญหาด้านงานเกษตรกรรม และการศึกษา พัฒนาการงาน และพื้นฐานอาชีพของชาวบ้านให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น อีกทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ผล ทำให้โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจังหวัดน่าน เป็นหนึ่งสถานที่น่าแวะเวียนมาเที่ยวชมและเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพื้นถิ่นอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดน่าน







ที่ภูฟ้า


ที่ศูนย์ภูฟ้าเขามีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยนะครับ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :

ที่อยู่ : หมู่ที่ 2 บ้านห่างทางหลวงและ หมู่ที่ 3 บ้านผาสุก ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
โทรศัพท์ : 086-2166144, 0 5471 0610, 08 1961 3358 ฝ่ายอาคารสถานที่และบริการ (คุณมงคล) โทร. 08 9557 5734
โทรสาร :
-
อีเมลล์ : phufacenter@gmail.com
เว็บไซต์ : //www.phufacenter.com





ออกจากศูนย์ภูฟ้าฯ เราขับกลับมาที่สามแยกถนนสาย 1081 แล้วเลี้ยวขวาไปทาง อ.บ่อเกลือ เพื่อชมบ่อเกลือสินเธาว์หนึ่งเดียวของโลกที่นั่น ..... ถึงตัวอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้ายบอกทาง ไม่ไกลก็จถึงบ่อแรกและสามารถจอดรถด้านในได้บริเวณได้เลย

อำเภอบ่อเกลือเดิมเรียกว่า เมืองบ่อ ซึ่งคงจะหมายถึงบ่อน้ำเกลือสินเธาว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน 9 บ่อ เมืองบ่อเดิมทีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตกาล ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารเมืองน่านซึ่งพระเจ้าสุริยพงษผริตเดชได้แต่งรวบรวมขึ้นไว้ มีข้อความกล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ยกทัพมายึดเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ. 1993 ว่า


บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขาบ่อแรก

"เดิมทีเขตอำเภอบ่อเกลือเป็นป่าดงพงไพร ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีหนองน้ำ ซึ่งพวกสัตว์ต่าง ๆ ชอบมากินน้ำในหนองน้ำแห่งนี้เป็นประจำ และยังมีนายพรานผู้หนึ่งมาล่าสัตว์ และเห็นพวกเหล่าสัตว์ทั้งหลายมักจะกินน้ำที่นี่เป็นประจำ เมื่อลองชิมดูจึงรู้ว่ามีรสเค็ม ข่าวได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าหลวงภูคาและเจ้าหลวงบ่อ จึงได้มาดูบ่อน้ำเกลือ และต่างก็ต้องการครอบครอง จึงคิดหาวิธีการโดยทั้งสองพระองค์ขึ้นไปอยู่ที่ยอดดอยภูจั๋น เพื่อแข่งขันกันพุ่งสะเน้า (หอก) แสดงการครอบครองบ่อน้ำเกลือ เจ้าหลวงภูคาพุ่งหอกไปตกทางตะวันตกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอนอกในปัจจุบัน เจ้าหลวงบ่อพุ่งหอกไปตกทางตะวันออกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอเจ้าพ่อบ่อหลวงในปัจจุบัน ผู้คนที่พากันมาดูการแข่งขันพุ่งหอก ได้นำเอาก้อนหินมาก่อไว้เป็นที่สังเกต แล้วตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนเจ้าหลวงทั้งสององค์ทุกปี ภายหลังทั้งสองพระองค์คิดกันว่า จะนำคนที่ไหนมาอยู่ เมื่อปรึกษากันแล้ว เจ้าหลวงภูคาจึงไปทูลขอประชาชนที่อยู่เมืองเชียงแสนจากเจ้าเมืองเชียงรายมาหักร้างถางพงทำเกลืออยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวงในปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นชุมชนบริเวณนี้จึงได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เดิมทีนั้นบรรพบุรุษอยู่ที่ประเทศมองโกเลียและประเทศจีน หนี้ลี้ภัยมาทางแม่น้ำเหลืองเข้าสู่ประเทศลาว ทางประเทศลาวไม่อนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ จึงพากันข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ที่เมืองเชียงแสน)"

ที่มา : https://th.wikipedia.org



หลังจากต้มเกลือประมาณ 5-6 ชม.แล้วตักใส่ตะกล้าแบบนี้







หมู่บ้านที่บ่อเกลือ

การจะนำเกลือจากบ่อขึ้นมาต้มทำเกลือใช่ว่าจะกระทำกันได้ง่าย ๆ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเมืองและเจ้ารักษาบ่อเกลือคือ เจ้าซางคำ กันก่อน โดยจะทำทุกปีในวันแรม 8 ค่ำเดือน 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "งานแก้ม" ในสมัยก่อนเคยทำกันถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันลดลงมา เหลือเพียง 3 วันเท่านั้นในอดีตชาวบ้าน อำเภอบ่อเกลือจะ ทำ เกลือขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่เมื่อปัจจุบันถนนหนทาง สะดวกมากขึ้น การเดินทางเข้าเมือง ก็ง่าย ชาวบ้านจึงได้ นำเกลือจากที่นี่ออกไป จำหน่ายยังหมู่บ้านต่าง ๆ รวมถึงต่างอำเภอก็มีปัจจุบันอำเภอบ่อเกลือ สวยงาม ด้วยภูมิ ประเทศป่าเขาเขียวขจี ควันหลงของสงครามจางหายไปและพื้นที่นี้กำลังได้ รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของจังหวัดน่านที่รอคอยนักเดินทางเข้ามาสัมผัสกลิ่น ไอของธรรมชาตและตำนานการทำเกลือบนที่สูง 
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกลือสินเธาว์)








ตักน้ำเกลือจากบ่อ..บ่อที่ 2 ใน หมู่บ้าน



บ่อน้ำเกลือที่ลึกพอควร



ปล่อยน้ำเกลือออกจากตะกล้า






คลองน้ำหลังหมู่บ้าน

ออกจาก อ.บ่อเกลือ เราขับขึ้นทาง อช.ดอยภูคา ไปตามเส้นทางหมายเลข 1256 ที่จะไป อ.ปัว เพื่อไปชมดอกชมพูภูคาที่บริเวณตำหนักเจ้าหลวงภูคา เส้นทางสายนี้ขึ้นเขาสูง บางช่วงค่อนข้างแคบ ต้องระมัดระวังในการใช้ความเร็ว แถวบางช่วงยังเป็นทางบนเขเลี้ยวหักข้อศอกอีกด้วย ..... แต่เราก็ไปถึงตำหนักเจ้าหลวงภูคาจนได้ ไหว้ศาลเจ้าหลวงเสร็จก็เดินไปชมดอกชมภูพูคาที่กำลังออกดอกอยู่ 2 ต้น แต่ดอกมีไม่มากนัก และบริเวณนั้นยังมีต้นชมพูภูคาสูงประมาณท่วมหัวอยู่หลายต้น เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่เอามาปลูกใหม่...




ชมพูภูคา : ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. : ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE แม้ยอดดอยภูคายังคงเป็นปริศนาของนักเดินทาง แต่ปริศนาที่สำคัญยิ่งอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ถูกค้นพบและเปิดเผยขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ของ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ของกรมป่าไม้ ได้สำรวจพบต้นไม้พันธุ์หายากที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว คือต้นไบร์ทชไนเดอร์ ชิเนนชีส (BRETSCHNEIDERA SINENSIS) กำลังผลิตดอกสีชมพูอมขาวงดงาม ตั้งตรงเป็นกลุ่มยาวราว 30 เซนติเมตร และได้ตั้งชื่อจากการค้นพบครั้งแรกในเมืองไทยว่า "ชมพูภูคา"    



ชมพูภูคา เป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ที่มีดอกสีชมพูอมขาวงดงาม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ชมพูภูคา เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกเรียบสีเทา ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ยาว 30-80 เซนติเมตร ใบย่อยไม่มีก้านใบ รูปหอกถึงรูปไข่ กว้าง 2.5-6 เซนติเมตร ยาว 8-25 เซนติเมตร โคนใบมนไม่เท่ากัน ปลายใบแหลม ดอก สีชมพู คล้ายรูประฆัง ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร กลีบรองดอกขนาดใหญ่ รูปถ้วยขอบหยักตื้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กว้าง โคนกลีบเรียวยาว ปลายกลีบม้วนออกด้านนอก ขนาด 1.8-2 เซนติเมตร กลีบบนมักคว่ำลง เกสรผู้ 8 อัน ผล รูปกระสวย แก่แล้วแตก เมล็ด รูปรี กว้าง 12 มิลลิเมตร ยาว 20 มิลลิเมตร ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว ช่อดอกตั้งตรงแยกแขนงออกตามปลายกิ่งกลีบเลี้ยงติดกันคล้ายรูประฆัง กลีบดอกสีชมพูมีริ้วสีแดง ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ผลคล้ายมะกอกแต่มีขนาดใหญ่กว่า 

ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,980 เมตร ดอยภูคานับเป็นยอดดอยที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของเทือกเขาหลวงพระบางและเป็นยอดดอยที่สูงในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งจากสภาพดังกล่าวนี้ทำให้เทือกดอยภูคา มีลักษณะโดดเด่น ในด้านระบบนิเวศของพืชพรรณภูเขาสูงอันอุดมไปด้วยป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบชื้น รวมทั้งป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง อีกทั้งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่านอีกด้วย พันธุ์ไม้ที่สำคัญที่สุดและพบเพียงแห่งเดียวในโลกที่นี่คือ ชมพูภูคา ซึ่งเป็นต้นไม้พื้นเมืองของไทย และเป็นพันธุ์ไม้หายาก ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก โดยเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ที่มณฑลยูนานประเทศจีน แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งได้มีการค้นพบอีกครั้งในป่าดอยภูคา จ.น่านนี้ 

ด้วยชมพูภูคา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีการงอกขยายพันธุ์ของเมล็ดในอัตราต่ำมาก จึงง่ายต่อการสูญพันธุ์ และจะต้องขึ้นอยู่ในภูมิประเทศที่มีความสูงราว 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึั้้นไป จะเจริญเติบโตได้ดีบริเวณป่าดงดิบเขาตามไหล่เขาสูงชัน และมีความชื้นของอากาศสูงอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างต่ำตลอดทั่งปี ซึ่งหลังจากค้นพบ ได้มีความพยายามที่จะเพาะเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนได้รับพระบารมีโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้มีการทดลองเพาะเนื้อเยื่อ จึงได้สำเร็จลง แต่ก็นำมาปลูกในพื้นราบไม่ได้




ต่อมา โรงเรียนปัว โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา อ.ปัว จ.น่าน ได้ทดลองนำมาปลูกไว้ที่โรงเรียนปัวและดูแลรักษาเป็นอย่างดี ต้นชมพูภูคาก็เจริญงอกงามดีมา จนสูงขึ้นประมาณ 1 เมตรครึ่ง ก็จะเฉาตายหมด คงมีเหลืออยู่ในบริเวณต้นเดิมที่พบ และบริเวณสถานที่พักทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บนดอยภูคาเท่านั้น ที่เจริญงอกงามใหญ่โตมาจนถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะกล้าไม้ชมพูภูคาจากเมล็ดเป็นผลสำเร็จซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ชมพูภูคาไม่สูญพันธุ์จากโลกนี้ต่อไป และมีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการป่าไม้ว่า อาจจะยังมีต้นชมพูภูคาหลงเหลืออยู่อีกในป่าทึบของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ดังนั้น อีกทางหนึ่งที่จะรักษาไว้ก็คือ รักษาสภาพป่าของดอยภูคาให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย เพื่อพืชพันธุ์ที่หายากของโลกนี้ จะได้มีชีวิตอยู่คู่โลกอีกนานเท่านาน.... ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤษศาสตร์ พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532 ฤดูกาลที่เหมาะสมแก่การมาชมต้นชมพูภูคา คือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งต้นชมพูภูคาจะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก :  //www.lannatouring.com





ดอกชมพูภูคาที่ดอยภูคา

หลังจากชมดอกชมพูภูคาที่บริเวณตำหนักเจ้าหลวงภูคา ใน อช. ดอยภูคา ซึ่งอยู่ข้างทางสาย 1256 จาก อ.บ่อเกลือ - ปัว แล้วเราก็ขับต่อไปที่ อ.ปัว หาอะไรทานกันที่นั่น ก่อนเดินทางเข้าสู่เมืองน่าน .... ในเวลาที่เหลือในช่วงบ่ายเราถือโอกาสนั่งรถรางน่านเที่ยวชมตัวเมืองและวัด (ซึ่งจะไม่ลงในบล๊อกนี้ เพราะเคยลงไปแล้ว) .... แต่จะพาท่านไปชมดอกชมพูภูคา ที่ อช. ขุนสถาน ซึ่งเป็นการเดินทางในวันต่อมา .... เราเอาภาพดอกชมพูภูคามาลงในบล๊อกนี้ด้วยกัน เพราะอยากให้ท่านที่ยากมาชมดอกไม้มหัศจรรย์นี้ในปีต่อไป จะได้รับข้อมูลไปพร้อมๆกันครับ


วิวระหว่าทางไป อช.ขุนสถาน

Smiley  ขากลับจากเมืองน่าน เราอยากจะแวะชมดอกชมพูภูคาอีกแห่งที่ได้รับคำบอกเล่าจากคนขับรถตู้นำเที่ยวว่า ที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน (ตรงที่หลายๆท่านเคยไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานนั่นแหละ) มีต้นชมพูภูคาที่กำลังออกดอกมากมาย หรือมากว่าที่ดอยภูคาอีก เราเลยกลับบ้านทางนี้ครับ ขับมาเกือบเข้า อ.นาน้อย แล้วแยกขวาออกไปตามทาง สาย 1216 ที่ป้ายบอกว่าไป อช.ขุนสถาน .... ขับผ่านหมู่บ้าน และขึ้นเขาสูงชันไปเรื่อยๆ อีกซักพักเหมือนว่าขับอยู่เหนือก้อนเมฆซะงั้น วันนั้นท้องฟ้าหลัว มีสภาพหมอกควันเยอะ ทำให้ทัศนวิสัยมองได้ไม่ไกลนัก แต่เส้นทางก็คดเคี้ยว น่าหวาดเสียวอยู่หลายช่วง CRV 2.4 4WD พาเราปีขึ้นไม่ลำบากมากนัก เห็นวิวหลายที่อยากจอดลงไปถ่ายภาพมาฝากเช่นกัน แต่หาไหล่ทางจอดลำบากมา จนกระทั่งเรามาถึงป้ายด้านซ้ายมีว่าไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เราเลี้ยวซ้ายเข้าไป..พอถึง เห็นบรรยกาศแล้ว อยากนอนพักที่นี่อีกซักคืนจังเลย... ณ ที่ตรงนั้นเขามีจุดกางเต้น ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย ลองติดต่อเข้าไปนะครับ ถ้าอยากได้ที่พักลอยฟ้ากลางขุนเขา  

อุทยานแห่งชาติขุนสถาน
ตู้ ปณ.5  อ. นาน้อย  จ. น่าน   55150
ติดต่อจองได้ที่เบอร์ 087-173-9549   อีเมล ksnp@khunsathan.com, khunsathan@hotmail.com







ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อช.ขุนสถาน

หลังจากพักหายเหนื่อยแล้ว เราขับลงจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อช.ขุนสถาน ต่อไปมี่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานและเลี้ยวซ้าเข้าไปที่ทำการ (ภาพด้านล่าง) เพื่อชมดอกชมพูภูคาที่นี่ .... จริงๆแล้ว ณ ที่ตรงนั้นเขาขึ้นชื่อเรื่องการมาชมดอกนางพญาเสือโคร่งมาก แต่ช่วงที่เราไป เหลือแต่ต้นที่ออกไปเขียวเต็มพรึดไปหมดแล้ว ... เจ้าต้นชมพูภูคา อยู่ริมถนนก่อนเลี้ยวรถเข้าที่จอดหน้าที่ทำการเลย ในเดือน กพ.- มีค. ถ้าผ่านมาก็สามารถแวะดูดอกชมพูภูคาได้ที่นี่อีกแห่งครับ.

สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน บ้านขุนสถาน ต. สันทะ อ. นาน้อย จ. น่าน
โทรศัพท์ : 081-6023199,088-8055928, 090-0501049
พิกัด : 47Q 6 59100 E 2021583 N










ต้นชมพูภูคาที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน..มีหลายต้น



ดอกชมพูภูคาที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน

การเดินทาง

รถยนต์
เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มี 2 เส้นทาง คือ 

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 (ถนนยนตรกิจโกศล) เป็นเส้นทางจากตัวจังหวัดแพร่ไปจังหวัดน่าน จากจังหวัดแพร่ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยแก๊ต ตำบลไผ่โทนอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวง 1216 ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติขุนสถาน 

จากจังหวัดน่าน ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 สายอำเภอเวียงสา - อำเภอนาน้อย ระยะทางจากอำเภอเวียงสาถึงอำเภอนาน้อย ประมาณ 35 กิโลเมตร และจากอำเภอนาน้อยเลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1216 ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร ถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติขุนสถาน 




เราใช้เวลาพักผ่อนเดินชมความสวยงามของแมกไไม้ที่สถานีวิจัยฯ พอสมควร ก่อนเดินทางต่อไปเพื่อกลับบ้าน


Smiley ขอบคุณที่ตามอ่านตลอดครับ Smiley



ลาด้วยภาพนี้ครับ




___________________________





Create Date :13 พฤษภาคม 2560 Last Update :13 พฤษภาคม 2560 12:12:54 น. Counter : 11137 Pageviews. Comments :9