bloggang.com mainmenu search







เป็นทริปการเดินทางต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ที่เราพักรถพักคนที่ Route 12 ร้านกาแฟริมทางสายที่ 12 ระหว่างเขาค้อ มาพิษณุโลก หลังจากนั้นเราเดินทางต่อมาพักที่โรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซด์ ในคืนวันที่ 12 ครับ..

สมัยที่ จขบ. ทำงานที่พิษณุโลก เคยผ่านมาทางนี้บ่อย ไม่ว่าจะไปเที่ยวพักผ่อนล่องแพหรือเล่นกอล์ฟที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยก็ตาม.... ตากเป็นเมืองสงบน่ามาพักผ่อน ที่นี่มีประวัติศาสตร์มากมายโดยเฉพาะพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ไทยองค์สำคัญที่กอบกู้เมืองไทยจากศัตรู ก็มาจากเมืองนี้... ตากยังมีโรงงานแปรรูปหินแกรนิตที่สำคัญของเมืองไทยด้วย






ริมปิงยามค่ำคืน ที่ตาก






คืนนั้นเราขับวนเลียบแม่น้ำปิงโดยข้ามสะพานไปทางฝั่งตะวันตก นั่งดื่มดูบรรยากาศริมแม่น้ำปิง ก่อนที่เราจะเข้าพักที่โรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซด์.... โดยเรากำหนดแผนการเดินทางว่าจะต้องออกจากตาก และไปให้ถึงอุ้มผางก่อนค่ำในวันพรุ่งนี้ เส้นทางข้างหน้าจากแม่สอดไปอุ้มผางเราไม่เคยขับผ่านไปเลย จะเคยบ้างก็ตรงจากตากไปแม่สอด และจากแม่สอดไปแม่สะเรียง ฉะนั้นเราจึงเผื่อเวลาไว้พอสมควร กอร์ปรกับคำล่ำลือเรื่องโค้งของถนนลอยฟ้า แม้เราจะเคยขับสายแม่มาลัย-แม่ฮ่องสอนมาแล้วก็ตาม แต่ใจยังตุ้มๆต่อมๆอยู่..







ตากยามเช้า... จากโรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซด์





เมืองตาก

เมืองตากในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมี หลักฐานศิลปมอญปรากฏอยู่ที่อำเภอบ้านตาก มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ และเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่มีอายุขัยเกินกว่าสองพันปีขึ้นไป เมื่อมีการอพยพของชนชาติไทยจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนใต้ ลงมาตามแนวลำน้ำดง (ลำน้ำสาละวิน) มีพวกหนึ่งได้ข้ามลำน้ำสาละวิน ผ่านลุ่มน้ำเมยหรือแม่น้ำต่องยินเข้ามาทางช่องเขาด้านอำเภอแม่สอดและมาถึงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “เมืองตาก”......










กล่าวโดยสรุป จังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การสนใจ เป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากนี้แล้วถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง และทรงยกทัพกลับราชอาณาจักรไทยโดยผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ที่เชิงสะพานกิตติขจรปัจจุบัน และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก และเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทยจากพม่า ครั้งที่ 2
(อ่านเพิ่มเติม)









ถนนเลียบน้ำปิงหน้าโรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซด์ยามเช้า







ประมาณ 07.30 น. ท้องอิ่มน้ำมันรถพร้อม คนพร้อม เราออกเดินทางตามถนนสายที่ 105 (เส้นทางต่อเนื่องจากถนนสายที่ 12) มุ่งหน้าสู่อำเภอแม่สอดทันที ช่วงที่ถนนสายที่ 105 ผ่านจะมี อช.ลานสาง ซึ่งห่างจากเมืองตากประมาณ 12 กม. มีน้ำตกลานสางให้ท่านได้คลายร้อนที่นี่.... ถัดจากนั้นก็จะถึง จุดชมวิว ให้ท่านได้พักเหนื่อย และเข้าห้องน้ำกัน






ถนนสายตาก-แม่สอด





ถนนกว้างแม้จะเป็นแบบเลนส์เดียววิ่งสวนกัน แต่ช่วงขึ้นเขาจะทำเป็น 3 ช่องจราจร ให้รถช้าได้หลบให้รถเล็กแซง แต่รถบรรทุกแร่ส่วนมากจะเข้าเลนส์ในโดยให้เราแซงซ้าย คงมาจากเหตุผลการทรงตัวหรือซีจีของรถบนความเอียงของถนนประมาณนั้น






ถนนสายตาก - แม่สอด






เขาส่วนมากมากไม่สูงนัก อีกอย่างแม้จะเป็นถนนแบบเลนส์เดียว แต่ถนนค่อนข้างกว้างได้มาตรฐานครับ ขับไม่ยาก แต่ต้องระวังตรงทางโค้ง เพราะพฤติกรรมการขับรถที่ไม่เหมือนกันของผู้คน...ถัดจากนั้นก็จะเป็นตลาดชาวเขาดอยมูเซอ ให้แวะครับ...






จุดชมวิวระหว่างทาง






ถึงจุดชมวิว เราจอดพักเพื่อไปเดินสูดอากาศบริสุทธิจากป่่าเขา และถือโอกาสเข้าห้องน้ำด้วย ที่นี่มีห้องน้ำบริการแต่ต้องจ่ายตังค์ค่าบำบุงรักษานิดหน่อย แต่สะอาดดีมาก จนเขาต้องให้เราถอดรองเท้าก่อนเข้าน่ะ






ใกล้วันวาเลนไทน์..เลยเห็นมีแบบนี้ด้วย








หุบเขาด้านล่าง...ถ้าหน้าหมอก คงเห็นทะเลหมอกสวยงาม









นั่งพักที่นี่ก่อน








ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ

ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ ปัจจุบันมี 2 แห่ง คือตลาดดอยมูเซอเก่า และตลาดดอยมูเซอใหม่ ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 1 กม. อยู่กันคนละฝั่งถนน ลักษณะสินค้าที่จำหน่ายโดยทั่วไปเหมือนกัน แตกต่างกันที่ตลาดดอยมูเซอเก่าจะตั้งติดริมถนน(อยู่ฝั่งซ้ายมือ ถ้ามาจากแม่สอด) กางเป็นผ้าใบสำหรับกันแดดยาวตลอดริมเส้นทาง ส่วนตลาดมูเซอใหม่จะเป็นอาคารคล้ายกับตลาดในกรุงเทพฯ สำหรับเรื่องความคึกคักนั้นตลาดดอยมูเซอเก่ามีมากกว่าแม้จะไม่ค่อยมีที่จอดรถเพราะอยู่ริมถนน

สำหรับสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นสินค้าทางเกษตร เช่น กาแฟ ผักผลไม้เมืองหนาว เช่นยอดมะระหวาน เห็ดหอม ผักพื้นบ้าน สตรอบอรี่ อโวคาโด เป็นต้น และมีข้าวกล้องชาวเขาปลูกเอง เก็บเอง สีเองด้วยวิธีโบราณ มาจำหน่าย พ่อค้าแม่ค้าก็เป็นคนในพื้นที่ ชาวเขาบางคนต้องเดินข้ามเขานำสินค้ามาจำหน่าย บางร้านจึงปิดเร็วหน่อยเนื่องจากกังวลว่าค่ำมืดจะเดินข้ามเขาลำบาก(เห็นแม่ค้าร้านที่ซื้อของว่าอย่างนั้น) ส่วนที่ตลาดมูเซอใหม่ที่จอดรถกว้างขวาง มีสินค้าเพิ่มเติมนอกจากผัก ผลไม้แล้ว คือมีสินค้าหัตถกรรมจำหน่ายด้วย







ตลาดดอยมูเซอ..ข้างทางสาย 105 (ขอบคุณภาพจากเวป...คุณ Phakorn)





เราถึงตลาดดอยมูเซอขณะที่ยังเช้าอยู่ เลยไม่ได้จอดแวะเข้าไปเก็บภาพ ใช้เวลาชลอดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับที่นี่ สิ่งที่เห็นคือบริเวณพื้นที่วางสินค้ามากขึ้น ขนานไปกับถนน แต่ถ้าช่วงที่รถจอเยอะๆน่าจะมีปัญหากับการจรจรได้เหมือนกัน

เราเดินทางต่อเข้าแม่สอดผ่านด่านตรวจ แลการก่อสร้างทางแบบสี่ช่องจราจร ก่อนถึงตัวเมือแม่แม่สอด ซึ่งแม่สอดตอนนี้เจริญมากอาจจเป็นเพราะการมีสะพานข้ามแม่น้ำเมย หรือสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า เกิดขึ้น เลยทำให้การค้าขายในเมืองแม่สอดคึกคักเป็นพิเศษ ช่วงจาก อ. แม่สอด ถึงสะพานมิตรภาพระยะทางประมาณ 6 กม. ตอนนี้มีอาคารบ้านเรือนขึ้นเต็มไปหมดแล้ว











แม่สอด

แม่สอดเป็นเมืองอยู่ทางซีกตะวันตกของแม่น้ำปิง ประวัติความเป็นมามีหลักฐานว่าเมื่อประมาณ 120 ปีที่ล่วงมา (ประมาณปี พ.ศ. 2404-2405) บริเวณที่ตั้งอำเภอหรือชุมชนใหญ่ของอำเภอในปัจจุบันนี้ ได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านพะหน่อแก"






ด่าน ตม. ที่สะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า






ต่อมามีคนไทยจากถิ่นอื่นหลายท้องที่ทางภาคเหนือได้แก่ชาวอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง (ชาวอำเภอเถินยังอพยพไปอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยอีกด้วย) พากันอพยพลงมาทำมาหากิจในบริเวณหมู่บ้านนี้เป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเจ้าของถิ่นฐานเดิมซึ่งไม่ชอบอยู่ปะปนกับชนเผ่าอื่นต้องพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น







สะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า







หมู่บ้านแห่งนี้ได้เจริญขึ้นตามลำดับ จนทางราชการได้ย้ายด่านเก็บภาษีอากรจากบ้านแม่ละเมา มาอยู่ที่หมู่บ้านพะหน่อแกแห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2441 ทางราชการจึงได้ยกฐานะหมู่บ้านขึ้นเป็นอำเภอ เรียกชื่อว่า อำเภอแม่สอด ให้อยู่ในเขตปกครองของมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการมีการ ปรับปรุงแก้ไขระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค อำเภอแม่สอดจึงได้เปลี่ยนมาขึ้นกับจังหวัดตาก
(อ่านเพิ่มเติม)







ตลาดริมเมย






ตลาดริมเมย ณ วันนี้ คึกคักเป็นพิเศษ ตึกรามบ้านช่องขึ้นเต็มไปหมด ตามตึกแถวมีสำนักงาน คล้ายที่จัดหางานประมาณนั้นตั้งอยู่หลายที่ มีชาวพม่ามารอกันเต็มไปหมด ร้านอาหารหลายๆร้านขายอาหารออกไปทางพม่า ส่วนอาหารพม่าแท้ๆจะเห็นพ่อค้า แม่ค้าชาวพม่าเข็นรถขายเต็มไปหมด

ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทำให้ผู้คนที่ด้อยโอกาสกว่า ไหลเข้ามาเสาะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าในชีวิตจากเมืองที่เจริญทางวัตถุมากกว่า นั้นคือผลพวงของการปกครองและการพัฒนา มนุษย์แม้จะเกิดมาดูโลกด้วยวิธีการที่ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ชีวิตจะต่างกันออกไปเรื่อยๆ ตามแบบแผนและวิธีคิดของผู้ปกครองในสังคมนั้นๆ...พม่าวันนี้ก็ได้ผลจากการปกครองของประเทศที่ผ่านมาเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคนพม่าหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยในเวลานี้






ลานจอดรถอยู่ด้านใน (ทางเหนือของตลาด)






ในตลาดริมเมยสินค้าที่พบเห็นยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน หยก เฟอร์นิเจอร์จากไม้ อาหารทะเล (จากตรงนี้ไปสู่ทะเลที่พม่าระยะทางเพียง 130 กม. เท่านั้น เมื่อการก่อสร้างทางสายเมียวดีสู่ท่าเรือเสร็จ คนแม่สอดคงได้ไปสูดโอโซนชายทะเลโดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงอ่าวไทย..) เครื่องประดับต่างๆ และสินค้าที่จำเป็นในการดำรงค์ชีพจากไทย เช่นสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ผงชูรส เป็นต้น

แม่สอด ณ วันนี้ได้พัฒนาตัวเองไปมาก และกำลังจะกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจและการปกครองแบบพิเศษ "นครแม่สอด" เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของการค้าระหว่าง ไทย-พม่า ตลอดจนรองรับสินค้าที่ผ่านมาทางทะเลอันดามัน เข้าประเทศไทย และกระจายไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียตนาม กัมพูชา และจีน ตามแนวทางการพัฒนา East West Economic Corridor (EWEC) ซึ่งวันนั้น วันที่เรากลับมาเยี่ยมที่นี่อีก ทุกอย่างคงเปลี่ยนไปอย่างมากมาย.


วันนี้ขับมาจนสุดแดนไทยทางตะวันตกแล้ว จะไปต่อก้ไม่ได้ เอาเป็นว่าบล๊อกนี้พาคุณๆมาเที่ยวถึงตรงนี้ละกันครับ บล๊อกหน้าเราจะไปขับบนถนนลอยฟ้าจากแม่สอด ไปอุ้มผางกัน.... ขอบคุณที่ติดตามครับ






ลากันด้วยแผนที่แผ่นนี้ครับ







____________END___________

Create Date :26 มีนาคม 2555 Last Update :28 กรกฎาคม 2556 21:14:15 น. Counter : Pageviews. Comments :23