bloggang.com mainmenu search





อลังการ วัดร่องขุ่น
เชียงราย



5 ธันวาคม 2553 เราออกจากดอยแม่สลองกลับออกมาตามเส้นทางสายแม่จัน - ตอน เข้ามทางแม่จัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่วัดร่องขุน ซึ่งคนข้างตัวอยากจะแวะไปเยี่ยมชม ดูความคืบหน้าของการก่อสร้าง.... เราผ่านตัวเมืองเชียงราย ขับเลยลงไปทางพะเยาประมาณ 10 กม. ก็ถึงทางแยก แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปนิดเดียวก็หาที่จอดรถ ซึ่งทางวัดมีที่จอดสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ทางทิศเหนือ อีกฝั่งของถนน โดยขับเข้าไปประมาณ 30-50 เมตรก็จะเป็นลานดินกว้างขวางให้เราได้เลือจอดตามสบาย ส่วนทางด้านที่ตั้งของวัด ไม่อนุญาตให้รถยนต์จอด..

เวลาที่เราไปถึงเป็นช่วงประมาณบ่าย 3 โมงเศษๆ ตะวันคล้อยไปทางตะวันตกแล้ว มุมที่ยืนถ่ายภาพส่วนใหญ่เลยเป็นมุมย้อนแสง คือเราเดินเข้าชมตามทางที่ทางวัดกำหนดไว้ เข้าด้านหน้าโบถส์ ผ่านสะพาน และออกด้านข้าง ไปทางหอนิทัศการ....ภาพย้อนแสงส่วนใหญ่จึงอาจจะไม่ชัดนักครับ









ภาพมุมกว้าง





วัดร่องขุ่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของศิลปินชาวเชียงราย อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ประกาศตนอุทิศชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนาในรูปของงานพุทธศิลป์ของแผ่นดิน ความมุ่งหมายในการสร้างต้องการเปรียบเทียบเสมือนเมืองสววรค์ พระอุโบสถงดงามด้วยลวดลายปูนปั้นและประดับด้วยกระจกสีขาวล้วน ซึ่งสีขาวหมายถึงพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า ชาวต่างประเทศจึงมักเรียกวัดนี้ว่า the White Temple

ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดโทนสีทองเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะและภาพเหตุการณ์สำคัญในโลกยุคปัจจุบัน ห้องน้ำได้รับการออกแบบอย่างสวยงามเป็นสีทองอร่ามทั้งหลัง อีกด้านหนึ่งเป็นหอนิทรรศการแสดงผลงานศิลปภาพวาด ของ อ. เฉลิมชัย โครงการเต็มรูปแบบในอนาคตจะมีโบสถ์ทั้งหมด 9 หลัง ระยะเวลาก่อสร้างราว 60-70 ปี ได้ดำเนินการมาผ่านมาแล้ว 10 ปี ปัจจุบัน วัดร่องขุ่นได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างประมาณค่ามิได้








........






ความหมายของอุโบสถ

สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สะพาน : การเดินข้ามจากวัฎสงสารสู่พุทธภูมิ
เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
สันของสะพาน : มีอสูรอมกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุ
ดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปมาก แต่กว่าจะเสร็จตามอุดมการณ์ของผู้สร้าง ก็คงใช้เวลาอีกไม่น้อย หรืออาจจะ 60 -70 ปีเหมือนที่ อ.เฉลิมชัยคาดการณืเอาไว้ก็เป็นได้..... แต่ ณ วัน นี้ที่เราเห็น วัดร่องขุ่นสวยงามมาก สมคำเล่าขานของผู้มาพบเห็น การจัดระเบียบการเข้าชมก็ดีเช่นเดียวกัน










ถ่ายจากด้านข้าง













ใกล้เข้าไปอีก














ด้านหน้าโบถส์ น้ำใสมาก













เห็นฝูงปลาใกล้ๆสะพาน













ก่อนขึ้นสะพาน













ผ่านนรกภูมิ













บนสะพานเข้าไปหน้าโบถส์













หน้าโบถส์...เข้าไปด้านในห้ามถ่ายภาพ













มุมหนึ่งบนสะพาน













ดอกบัวทิพย์ แทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์













อีกด้าน












นักท่องเที่ยวถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก












แทนใบเสมา













ด้านหลัง












ถ่ายจากบริเวณทางเดินด้านใน































ทาง เข้า-ออก บริเวณวัด





เราใช้เวลาเดินชมวัดร่องขุ่นอยู่ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง โดยเข้าไปตามทางเดินที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ คือผ่านด้าหน้าโบถส์ ข้ามสะพาน และเข้าไปไหว้พระในโบถส์ ซึ่งตอนนี้ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพภายในโบถส์แล้ว ส่วนรอบๆยังเก็บภาพได้....

ลงบันไดด้านข้าง แล้วเข้ามานั่งพักเหนื่อยในบริเวณวัด.... ไม่ได้เข้าไปชมห้องจัดนิทัศน์การเพราะเราเคยเข้าไปแล้ว และซื้อภาพกลับไปหลายภาพเหมือนกัน เดินอ้อมออกไปหน้าวัดไกล้ๆหอศิลป์ อ.เฉลิมชัย... เป้าหมายที่ต่อไปของเราคือ ไปนอนให้ใกล้ภูชี้ฟ้าเป็นที่สุด ดูจากข้อมูลการเดินทาง น่าจะเป็นหมู่บ้านร่มฟ้าไทย อ.เทิง

เกือบ 17.00 น. เราเดินทางออกจากวัดร่องขุ่น ไปตามถนนสายพหลโยธินกลับไปทางเชียงราย หรือทางหลวงหมายเลข 1 แล้วเลี้ยวขวาก่อนเข้าเชียงรายไปตามถนนหมายเลข 1020 เพื่อมุ่งสู่ อ.เทิง แล้วพบกันที่ภูชี้ฟ้านะครับ.










ถ่ายกับภาพ อ.เฉลิมชัย






คัดลอกข้อความในใจของผู้สร้างมาให้อ่านครับ

"ผมใฝ่ฝันที่จะสร้างวัด (อุโบสถ) สักหลังก่อนตาย สาเหตุเพราะผมเป็นชาวพุทธแท้ ผมเป็นจิตรกร หลังจากที่ผมได้ทำบุญครั้งใหญ่ ปี ๒๕๒๗ ด้วยการเดินทางไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา ๔ ปี ผมหมดเงินที่เคยสะสมมา ผมเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ปี ๒๕๓๑ ผมกลับไปที่บ้านเกิดของผม เพื่อกราบหลวงพ่อและถวายรูปพิมพ์ผลงานวัดพุทธปทีปให้ท่าน วัดบ้านผมทรุดโทรมมาก หลวงพ่อสมภารสุขภาพไม่ดีและชราภาพมาก อุโบสถหลังเล็กๆ ที่ผมเคยจำความได้ เคยเห็นพ่อผมกับเพื่อน ๆ ท่านในหมู่บ้าน ชักไม้ด้วยช้างมาร่วมกันสร้างวัด ผมเคยเห็นหลวงพ่อ ตายาย พ่อแม่ และพี่น้องชาวบ้านเดินทางไปอาราธนาหลวงพ่อศิลาดำใส่เกวียนออกมาจากป่า

ผมเข้าไปในโบสถ์ที่ใชัสังฆกรรมไม่ได้ด้วยเหตุเพราะชำรุดมาก และกลายเป็นที่อยู่ของค้างคาวฝูงใหญ่ ผมตั้งอธิษฐานจิต ถ้าชีวิตผมพร้อมเมื่อไหร่ ผมจะกลับมาสร้างโบสถ์ใหม่ให้ได้ เวลา ๑๐ ปี ผ่านไปด้วยกุศลจิต ชีวิตผมและครอบครัวประสบความสำเร็จทุกอย่างพร้อมแล้ว

ผมกลับไปบ้านเกิดดำเนินการร่วมกับหลวงพ่อสมภาร เริ่มร่างรูปอุโบสถหลังใหม่ตามจิตนาการของท่าน เพื่อให้ท่านได้มีส่วนร่วม ดังนั้น โครงสร้างลักษณะสถาปัตยกรรมในปีแรกจึงเป็นแบบตามใจหลวงพ่อสมภาร

ใน ๒ ปีต่อมา ผมได้มาเริ่มต่อเติมเพิ่มสถาปัตยกรรมให้สง่าแปลกตาขึ้น โดยเพิ่มบันไดด้านข้างขึ้น ประดับเปลวพระรัศมี ทั้ง ๔ แบบ และขุดสระสร้างสะพานข้ามเข้าสู่อุโบสถ พร้อมกับงานตกแต่งในเรื่องของลวดลายปูนปั้นประดับกระจกภายนอก เขียนแบบและหาช่างพื้นบ้านและแม่บ้านในหมู่บ้านมาฝึกสอนปั้นและประดับกระจกทั้งหมด ๑๐ คน

ผมได้เริ่มงานมาถึงบัดนี้ ปี ๒๕๔๓ ๓ ปีแล้วครับ คาดว่า จะใช้เวลาอีก ๗ ปี ถึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งลวดลายปูนปั้นภายนอกและจิตรกรรมฝาผนังภายใน ผมต้องหาเงินปีละประมาณล้านถึงสองล้านบาทเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตผมให้ดีที่สุด เท่าที่ฝีมือและสติปัญญาผมมีอยู่

วัดร่องขุ่นจะเป็นศิลป์สมบัติของคนไทยทุกคนและสุดท้ายวัดร่องขุ่นอาจเป็นศิลป์สมบัติอีกแห่งหนึ่งที่มีคุณค่าแก่โลกมนุษย์ในอนาคตก็ได้ แต่ทุกสิ่งไม่สำคัญเท่ากับบุญกุศลที่ผมและท่านผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านอุทิศถวายเพื่อเป็นทิพยสถานและพระนิพพานเป็นที่สุด

กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ร่วมสร้างมหากุศลกับผม"

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์.












หอศิลป อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์





วัดร่องขุ่น : ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ๕๗๐๐๐ โทร (๐๕๓) ๖๗๓-๕๗๙
website : www.วัดร่องขุ่น.com/


การเดินทาง

ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายเชียงราย – กรุงเทพฯ ผ่าน จ.พะเยา ผ่าน อ.แม่ใจ จ.พะเยา เข้า อ.พาน จ.เชียงราย ขับรถมุ่งหน้าไปทาง จ.เชียงรายเรื่อยๆ พอออกจากตัว อ.พาน จะข้ามสพานแม่ลาว (แม่น้ำลาว) ขับรถไปซักพักจะถึงแยกปากทางแม่สรวย (แยกไป อ.แม่สรวย และไป จ.เชียงใหม่) ขับรถต่อไปอีกซักประมาณ 10 ก.ม ก่อนจะถึงแยกขุนกรณ์ (ทางไปน้ำตกขุนกรณ์) ประมาณ 200 เมตร ถ้ามองดูทางด้านซ้ายมือ จะเห็นตัววัดสีขาวสะดุดตายิ่งนัก เมื่อถึงทางแยกให้เลี้ยวซ้ายไปทางน้ำตกขุนกรณ์ วัดร่องขุ่นจะอยู่เข้าไปประมาณ 100 เมตร ซึ่งวัดร่องขุ่นจะอยู่ก่อนถึงตัวเมืองเชียงราย 13 ก.ม ตรงหลัก ก.ม ที่ 816 ถนนพลหลโยธิน (หมายเลข 1/A2 )
ถ้ามาจาก อ.แม่สาย มาจากสนามบินนานาชาติเชียงราย หรือตัวเมืองเชียงราย ให้มาทางทิศใต้ ทางไป อ.พาน จ.เชียงราย








ลากันด้วยภาพมุมกว้างภาพนี้ครับ






ขอบคุณที่ตามอ่านครับ






_____________ END ____________






Create Date :10 มกราคม 2554 Last Update :28 กรกฎาคม 2556 21:20:25 น. Counter : Pageviews. Comments :50