bloggang.com mainmenu search











อ่านตอนที่ 7 : ฉู่ฉง กับเมืองเนรมิตรเพื่อการท่องเที่ยว


การเดินทางของเราในมณฑลยูนนาน ประเทศจีนก็มาถึงบล๊อกสุดท้ายแล้วครับ ซึ่งเป็นวันที่ 6 และ 7 ของการอยู่ในประเทศจีน ซึ่งพรุ่งนี้ (วันที่ 7) เราก็จะเดินทางกลับเมืองไทยกันแล้ว

วันนี้เป็นการเดินทางต่อจากบล๊อกก่อนหน้านี้ที่เราพักอยู่ที่ฉู่ฉง จากนั้นก็ใช้เส้นทางสายเดิม (หมายถึงเส้นทางสายเก่าจากฉู่ฉง-คุนหมิง) เพราะเราต้องการหลีกเลี่ยงรถติดบนทางด่วนหลังเทศกาลเชงเม้ง ซึ่งผลออกมาก็เป็นไปตามคาดเราถึงคุนหมิงในเวลาใกล้เคียงที่เราวางแผนกันไว้




ทานอาหารเที่ยงกันที่นี่



เราถึงคุนหมิงช่วงบ่ายๆ แวะทานข้าวเที่ยง (เกือบบ่าย 3 โมง) ที่ร้านด้านบน ซึ่งอาหารใกล้เคียงกับบ้านเรา .... แผนเที่ยวคร่าวๆเราวันนี้ก็จะไปชมร้านขายชา ตามด้วยชมปราสาททอง หรือ จินเตี้ยน ก่อนที่จะกลับมาพักที่โรงแรมย่านกลางเมืองคุนหมิง

ทัวร์ที่เข้าจีน เกาหลีและเวียตนามจะเป็นลักษณะเดียวกัน คือพาเราแวะร้านพวก ขายยาสมุนไพร ขายชา ขายหยก กันแทบทั้งนั้น จะว่าไปแล้วมันก็ทำให้เราเสียเวลากับตรงนั้นพอสมควร พอสอบถามหลายครั้งก็ได้คำตอบเช่นเดียวกันว่า "เป็นภาคบังคับของทางการใประเทศนั้น" จริงเท็จแค่ไหนจะไม่ขอเขียนลงตรงนี้ละกันครับ แต่สำหรับส่วนตัวแล้วเราใช้เวลาตรงนั้นนานไปหน่อย นานกว่าเราไปสถานที่เที่ยวบางแห่งซะอีก...ก็ไม่ว่ากันครับ

ตรงหน้าร้านอาหารที่เราไปทานข้าวกัน จะมีพ่อค้า แม่ค้าขายของที่ระลึกบรรทุกของใส่มอร์เตอร์ไซด์มาขายให้เรา ต้องต่อรองกันดีๆนะครับ เผื่อได้ถูกกว่า ถ้าตรงนั้นเขายังไม่ขายให้ในราคาที่เราต้องการ ก็รอที่ต่อไป เพราะพวกเขาจะตามไปขายให้เราจนเรากลับบ้านโน่นแหละ




ขึ้นไปชมตำหนักจินเตี้ยน



ออกจากร้านอาหารเราไปชมร้านขายชา ก่อนเดินทางไปที่ตำหนักทอง ถึงลานจอดรถแล้วเราต้องเดินขึ้นไปอีกนิดหน่อยน่า 2-3 ร้อยเมตร ตามเส้นทางที่ร่มรื่นบนเขา มองลงไปจะเห็นเมืองคุนหมิงตั้งอยู่ด้านล่าง จะว่าไปแล้วก็เหมือนทางขึ้นดอยสุเทพที่เชียงใหม่ ตรงจุดชมวิวจะเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณนั้นครับ




ทางเดินขึ้น-ลงตำหนัก (ภาพนี้ถ่ายตอนขาลง)





เมืองคุนหมิงอยู่ด้านล่าง






เข้าสู่บริเวณตำหนัก



การเดินชมในเขตตำหนักทองจะเดินวนซ้าย โดยเข้าไปไหว้พระที่ศาลเจ้า แล้วเข้าไปพิพิภัณฑ์ที่เก็บดาบและภาพของอู๋ซานกุ้ย จากนั้นออกมาทางตำหนักทอง เดินเรื่อยมาทางสวนหย่อมก่อนออกประตูที่เป็นวงกลมนั่น แล้วจึงกลับออกสู่ลานด้านหน้าครับ




ตำหนักทอง ( จินเตี้ยน )

ตำหนักทองหรือจินเตี้ยน (jindian) ตั้งอยู่บนภูเขา หมิงฟ่งซาน ด้านทิศตะวันออกจองตัวเมืองคุนหมิง ตำหนักทองจินเตี้ยนถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ หมิง และได้รับการบูรณะโดยอ๋อง อู๋ซานกุ้ย ผู้ปกครองดินแดนแถบนี้ในสมัยราชวงศ์ชิง ตำหนักหลังนี้มีความสูง 6.7 เมตร กว้างและยาว 6. 2 เมตร สร้างขึ้นด้วยทองเหลืองทั้งหลัง น้ำหนัก กว่า 250 ตัน เป็นสิ่งปลูกสร้างทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีกำแพงและป้อมล้อมรอบตำหนักเสมือนกำแพงที่ล้อมรอบเมือง มีกระบี่เจ็ดดาวน้ำหนัก 12 กิโลกรัม และดาบกายสิทธ์น้ำหนัก 20 กิโลกรัมถูกเก็บรักษาไว้ในศาลา เชื่อว่าทั้งสองเป็นอาวุธประจำกายของ อ๋อง อู๋ซานกุ้ย

"อู๋ซานกุ้ย เป็นแม่ทัพจีนที่คนจีนเกลียดมากเพราะข้อหาว่าขายชาติ...ลองมาอ่านประวัติดูว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แต่บางครั้งคนเราก็มีเหตุและผลต่างกันออกไป"


อู๋ซานกุ้ย

เป็นแม่ทัพในปลายราชวงศ์หมิง ผู้เปิดประตูเมืองให้แมนจูบุกเข้าปักกิ่งเป็นเหตุให้ราชวงศ์หมิงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่เป็นชาวฮั่นที่ปกครองจีนมานานกว่า 4,000 ปี ต้องล่มสลายลง

ประวัติ
อู๋ซานกุ้ย เกิดที่มณฑลเจียงซู ในปี ค.ศ. 1612 เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของอู๋เซียง ขุนนางใหญ่ในราชวงศ์หมิง อู๋ซานกุ้ยได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่รักษาด่านซันไห่กวน อันเป็นด่านหนึ่งของกำแพงเมืองจีนซึ่งเป็นด่านสำคัญที่ป้องกันการรุกรานจากศัตรูทางทิศเหนือของปักกิ่ง

โค่นราชวงศ์หมิง
ภายหลังที่หลี่จื้อเฉิงก่อการปฏิวัติ ฮ่องเต้ฉงเจิน ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงได้ผูกพระศอสวรรคตไปแล้ว หลี่จื้อเฉิงเกรงว่า กองทัพของอู๋ซานกุ้ย ที่อยู่ที่ชายแดนอาจยกทัพเรือนแสนมาประชิดปักกิ่งก็เป็นได้ จึงได้จับตัวครอบครัวของอู๋ซานกุ้ยไว้เป็นตัวประกัน แต่ได้มีผู้เตือนให้ปฏิบัติต่อครอบครัวของอู๋ซานกุ้ยให้ดี หลี่จื้อเฉิงจึงได้เกลี้ยกล่อมให้อู๋เซียง เขียนจดหมายไปถึงบุตรชายของตนเองให้ยอมสวามิภักดิ์ อู๋ซานกุ้ยจึงเดินทางมายังปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมด้วยกับหลี่จื้อเฉิง แต่เมื่อมาถึงเมืองหลานโจวแล้วอู๋ซานกุ้ยพบว่า เฉินหยวนหยวน (陈圆圆) อนุภรรยาคนสุดท้ายของตนถูกจับเป็นตัวประกันด้วย จึงโกรธแค้นและเปลี่ยนใจไปเข้าร่วมกับฝ่ายแมนจู นัดแนะเปิดด่านซันไห่กวนให้แมนจูบุกเข้าไปยังกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1644 และบุกเข้าพระราชวังต้องห้ามได้ ทัพของหลี่จื้อเฉิงต้องล่าถอยและได้ต่อสู้กับทัพของอู๋ซานกุ้ย ในที่สุดหลี่จื้อเฉิงก็แพ้ และถูกสังหารในที่สุด




รับใช้ราชวงศ์ชิง ความดีความชอบของอู๋ซานกุ้ย ทำให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผิงซีอ๋อง ปกครองมณฑลยูนนาน ชายแดนทางตอนใต้ ในรัชสมัยฮ่องเต้ซุ่นจื้อ และก่อนหน้านั้นหวงไท่จี๋ได้ยกธิดาองค์ที่ 14 ให้สมรสกับบุตรชายของอู๋ซานกุ้ยด้วยเพื่อเป็นการตอบแทน ต่อมาในรัชสมัยฮ่องเต้คังซี พระองค์ต้องการขจัดอำนาจของเจ้าศักดินาต่าง ๆ ที่ปกครองหัวเมืองเพราะเกรงอิทธิพลของพวกนี้จะกระทบต่อพระราชอำนาจในการปกครองของพระองค์ จึงออกนโยบายเพื่อริดรอนการสืบทอดอำนาจของเจ้าศักดินาเหล่านี้ อู๋ซานกุ้ยจึงพยายามรวบรวมกำลังก่อการกบฏ โดยยื่นข้อเสนอให้ฮ่องเต้คังซีนำชาวแมนจูทั้งหมด อพยพกลับไปตั้งอาณาจักรของตนที่แมนจูเรีย และเรียกเอาเงินถึง 9 ล้านตำลึง แล้วจะไม่เอาผิด ในปี ค.ศ. 1673 อู๋ซานกุ้ยได้เคลื่อนทัพจากมณฑลยูนาน เปลี่ยนมาใส่ชุดออกรบของราชวงศ์หมิง อ้างว่าต้องการที่จะแก้แค้นแทนราชวงศ์หมิงที่ล่มสลายไป ทว่าประชาชนยังจำได้ดีว่าอู๋ซันกุ้ยเป็นคนเปิดด่านซันไห่กวน เชิญทหารชิงเข้ามา การกล่าวอ้างเช่นนี้จึงไม่มีใครยอมเชื่อ และไม่มีใครให้ความร่วมมือในตอนแรก

แต่การเคลื่อนทัพเป็นไปอย่างราบรื่น ทัพกบฏเอาชนะไปตลอด บุกตีไปจนถึงหูหนัน จากนั้นส่งคนไปติดต่อให้ซั่งจือซิ่นกับเกิ่งจิงจง 2 อดีตขุนนางราชวงศ์หมิงที่ทรยศต่อแผ่นดินและได้รับบรรดาศักดิ์เช่นเดียวกับอู๋ซานกุ้ยเข้าร่วมกองทัพกบฏกับอู๋ซานกุ้ยด้วย

การก่อกบฏของทั้งสาม ได้สามารถยึดครองพื้นที่ทางใต้ทั้งหมดของจีนเอาไว้ได้ ทว่าฮ่องเต้คังซีเองก็ยังไม่แพ้ ยังทำการคัดเลือกแม่ทัพนายกอง ระดมกำลังทหารเข้าต่อกร และยกเลิกการปลดบรรดาศักดิ์ของซั่งจือซิ่น และเกิ้งจิงจงไว้ก่อน จนกระทั่งผลการศึกผลัดเปลี่ยนเป็นฝ่ายอู๋ซานกุ้ยเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ในที่สุดทั้งสองก็ยอมแพ้ต่อราชสำนักชิง

แม้ช่วงแรกอู๋ซันกุ้ยจะทำศึกประสบชัยมาโดยตลอด ทว่าทหารชิงกลับมีมากและเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่กำลังของอู๋ซานกุ้ยค่อย ๆ อ่อนโทรมลง อู๋ซันกุ้ยเริ่มรู้ว่าไม่สามารถต้านทานได้อีก และในที่สุดก็ป่วยหนักเสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1681 กองทัพชิงได้แบ่งทัพออกเป็น 3 สายบุกเข้าตีเมืองคุนหมิง อู๋ซื่อฝาน (吴世璠) หลานของอู๋ซานกุ้ยต้องฆ่าตัวตาย กองทัพชิงจึงสามารถพิชิตผนวกดินแดนทางภาคใต้กลับคืนมาได้

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เรื่องราวของอู๋ซานกุ้ยยังคงถูกเล่าขานมาจนปัจจุบัน ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้อู๋ซานกุ้ยได้รับการประณามว่า เป็น "คนขายชาติ" ต่างจากหลี่จื้อเฉิงที่ถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ

ที่มา : wikipepia






หน้าตำหนักทอง









ออกจากตำหนักทอง เราไปทานมื้อเย็นกัน เป็นร้านที่ถูกปากเราที่สุด แถมอาหารเยอะมาก (คงเป็นมื้ออำลาคุนหมิงกระมัง) เสียดายที่จำชื่อร้านไม่ได้ แต่ถ้าคุณๆไปทัวร์รับประกันว่าเขาต้องคุณไปที่นี่แน่ๆ

ทานมื้อเย็นเสร็จเราไปที่โรงแรม Enjoying Hotel กลางเมืองคุนหมิง รอบๆโรงแรมมีที่เดินช้อปเต็มไปหมด เดินก็ไม่ไกลมาก แต่อากาศวันนั้นค่อนข้างเย็นแถมเหนื่อยมาทั้งวันเลยเดินได้ไม่มาก ถ่ายภาพมาด้วยเลนส์ไวด์น้อยซ์เลยเต็มไปหมด จึงเอามาให้ชมเพื่อเป็นแนวทางครับ






ห้องพักที่โรงแรม Enjoying Hotel, Kunming



ห้องพักที่โรงแรมนี้กว้างมาก อย่าว่าแต่พักกัน 2 คนเลย สิบคนก็ยังไหว เอาแค่ห้องน้ำก็เท่ากับห้องพักในโรงแรม 3-4 ดาวในญี่ปุ่นแล้ว กว้างจริงๆ นี่แหละเขาว่า "เล็กๆจีนไม่ ใหญ่ๆจีนทำ"



โรงแรมอยู่กลางภาพ






วิวเมืองคุนหมิงจากที่พัก


ไหนๆก็เขียนถึงคุนหมิงเลยเอาเรื่องของเมืองนี้มาลงให้รับรู้พอเป็นสังเขปครับ

คุนหมิง (นครแห่งฤดูใบใม้ผลิ) เป็นเมืองเอกในมณฑลยูนนานในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจำนวนประชากรในเขตเมือง : 3,055,000 คน ปริมณฑล : 5,740,000 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2547) ตั้งอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,891 เมตร ประชากรส่วนใหญ่ในคุนหมิงเป็นชาวจีนฮั่น และใช้ภาษาท้องถิ่นซึ่งมีสำเนียงที่จัดอยู่ในกลุ่มแมนดารินใต้ แต่ภาษามาตรฐานกลางหรือภาษา Mandarin ก็เป็นภาษาที่ใช้สื่อสาร และเข้าใจกันได้ทั่วไป ตัวเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบเตียนฉือด้านทิศเหนือ เนื่องจากมีอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี จึงถูกขนานนามว่า "นครแห่งฤดูใบไม้ผลิ"


ในรื่องเศรษฐกิจ : จากการจัดอันดับเมื่อปี พ.ศ. 2535 เศรษฐกิจของคุนหมิงมีการเจริญเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ในบรรดาเมืองทั้งหมดในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะเป็นแหล่งผลิตเกลือและฟอสเฟตที่ดีที่สุดของจีน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2530-2540 เนื่องจากตัวเมืองตั้งอยู่ในส่วนที่ห่างไกลของประเทศ จึงยังไม่ได้รับผลจากกระแสการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมากนัก จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้ให้ความสนใจคุนหมิงมากขึ้น และตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการวางแผนก่อสร้างทางรถไฟและทางหลวงมากมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างคุนหมิงกับไทย เวียดนาม และลาว เพื่อเตรียมเส้นทางคมนาคมขนส่งจากคุนหมิงไปถึงท่าเรือทางทะเลต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม : https://www.thaiembassy.org/kunming/th/thai-people




เดินชมร้านค้ายามค่ำคืน









ตื่นเช้าเรามีโปรแกรมจะไปไหว้พระที่วัดหยวนทงและชมร้านหยก ก่อนเดินทางกลับไทย ... มีเวลานิดหน่อยหลังอาหารเช้า เราก็ออกไปรับลมเย็นเมืองคุนหมิง เดินเลาะไปมาเจอรถเข็นคันนี่ มีพวกอาหารเช้าเคลื่อนที่ด้วย เลยของชักภาพมาฝากครับ




แม่ค้าขายของกินตอนเช้าที่หน้าโรงแรมที่พัก






เข้าชมวัดและไหว้พระที่วัดหยวนทง


วัดหยวนทง

วัดหยวนทง เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ที่ถนนหยวนทงเจียง เป็นอารามทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในคุนหมิง วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมืองคุนหมิง ภายในวัดตกแต่งร่มรื่นสวยงาม กลางลานมีสระน้ำขนาดใหญ่ สร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังมีอายุยาวนานประมาณ 1,200 กว่าปี แต่การสร้างวัดแห่งนี้ดูแล้วจะแปลกตากว่าวัดอื่นๆในจีน เพราะปกติแล้วการสร้างวัดของจีนส่วนมากจะต้องสร้างอยู่บนภูเขา มีแต่วัดหยวนทงที่สร้างแปลกที่สุดในจีนคือสร้างวัดต่ำกว่าภูเขา โดยวิหารจะอยู่ต่ำที่สุด เนื่องจากวัดแห่งนี้ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดโดยตรง แต่เคยเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิมมาก่อน ดังนั้นคำว่า “หยวนทง” จึงเป็นชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ของเจ้าแม่กวนอิม

แต่ปัจจุบันวัดหยวนทงจะเป็นลักษณะของวัดในสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากวัดนี้ได้ถูกทำลายในสมัยราชวงศ์หมิง และได้รับการบูรณะโดยหูซาน ผู้เป็นคนพลิกประวัติศาสตร์จีน เป็นผู้ที่ทำให้ประเทศจีนเกิดราชวงศ์ชิง ภายในวัดที่ศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาถึง 3 นิกาย ได้แก่นิกายมหาญาณของพม่า นิกายหินญาณของไทย และนิกายลามะของธิเบต

เมื่อเดินเข้าภายในวัดพระองค์แรกที่เราได้เจอคือ “พระสังฆจาย” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า พระในอนาคต จะเป็นพระองค์แรกที่ยิ้มและต้อนรับผู้คนที่เข้ามาไหว้พระ เบื้องหลังของพระสังฆจายจะมีพระอยู่องค์หนึ่งที่เรียกว่า อุยโถว เขียนว่า อุ่ยทอ สำหรับพระองค์นี้เป็นพระที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของวัด ดังนั้นเราจะเห็นพระอุ่ยทอหันหน้ามองไปทางวิหารตลอดเวลา นอกจากนี้สองข้างของพระอุ่ยทอจะมีเท้าจตุโลกกบาล ซึ่งคนจีนเวลาจะไหว้พระจะไหว้ให้ครบทั้งสี่ทิศ คือทิศเหนือเกี่ยวกับพ่อแม่ ทิศตะวันออกเกี่ยวกับครู ทิศใต้เกี่ยวกับครอบครัว และทิศตะวันตกเกี่ยวกับเพื่อนฝูง มีสะพานข้ามไปสู่ศาลาแปดเหลี่ยมกลางสระตั้งอยู่กลางสระน้ำมรกต ซึ่งเป็นสระน้ำสีเขียว มีสัตว์น้ำทั้งปลา ทั้งเต่าอยู่มากมาย ศาลาแปดเหลี่ยมหลังนี้เป็นศาลาที่อู๋ซานกุ้ยสร้างในสมัยราชวงศ์ชิง ในศาลาประดิษฐาน “เจ้าแม่กวนอิมพันกร” และเจ้าแม่กวนอิมพม่า หรือเรียกว่า “เจ้าแม่กวนอิมหยก”

ด้านหลังสุดของวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์ไทย ภายในโบสถ์ไทยแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราช ของไทย ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก โดย นายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-จีน นับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในประเทศไทยที่มาตั้งอยู่ในเมืองจีน







การไหว้พระของคนจีน จะไหว้ให้ครบทั้งสี่ทิศ คือทิศเหนือเกี่ยวกับพ่อแม่ ทิศตะวันออกเกี่ยวกับครู ทิศใต้เกี่ยวกับครอบครัว และทิศตะวันตกเกี่ยวกับเพื่อนฝูง การจุดธูปนั้นคนจีนจะเรียกว่าเผาธูป

เมื่อจุดเทียนเผาธูปไหว้พระขอพรแล้ว เดินตรงข้ามสะพานไปจะเป็นศาลาแปดเหลี่ยมซึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำมรกต ศาลาแปดเหลี่ยมหลังนี้เป็นศาลาที่อู๋ซานกุ้ยสร้างในสมัยราชวงศ์ชิง ในศาลาประดิษฐาน เจ้าแม่กวนอิมพันกร และเจ้าแม่กวนอิมพม่า หรือเรียกว่า เจ้าแม่กวนอิมหยก นั่นเองตรงจากศาลาไปจะมีวิหารใหญ่ที่มีสามประตู เนื่องจากคนจีนถือว่าพระพุทธเจ้ามี 3 แบบทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

















โบสถ์ไทยและพระพุทธชินราชจำลอง





สิงห์ ? ที่หน้าโบสถ์ คนลูบขอพรจนมัน






หน้าวัดหยวนทงยามเช้า





ในร้านหยก


หลังจากไหว้พระที่วัดหยวนทงแล้ว คณะเราก็เดินทางไปที่ร้านขายหยกเมืองคุนหมิงก่อนเดินทางสู่สนามบิน Changshui International Airport ซึ่งเป็นสนามบินที่รัฐบาลจีนและมณฑลยูนนานสร้างขึ้นมาใหม่ สามารถรองรับเที่ยวบินได้มากถึง 800 เที่ยวต่อวัน


นครคุนหมิงซึ่งได้รับสมญานามว่า “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ” (Sping City) ได้สร้างสนามบิน มูลค่ากว่า 40,000 ล้านหยวน เตรียมเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของจีน และเปิดอย่างเป็นทางการ 28 มิ.ย. 55

ศูนย์กลางการบินขนาดใหญ่ที่ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับที่ 11 (ปี 2549 - 2553) และเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากสนามบินกรุงปักกิ่ง สนามบินผู่ตงนครเซี่ยงไฮ้ และสนามบินไป๋หยุนนครกว่างโจว

- มีพื้นที่รวมราว 260,000 ตร.ม.
- มูลค่าการลงทุนขณะนี้ 23,087 ล้านหยวน (คาดว่าจะลงทุนรวม 38,000 ล้านหยวน)
- เป็นสนามบินระดับมาตรฐาน 4F สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัส 380 ได้
- ประกอบด้วย 2 รันเวย์ ความยาว 4,500 เมตร และ 4,000 เมตร (ในอนาคตจะสร้างอีก 2 รันเวย์ ซึ่งมีความยาว 3,200 เมตร)
- ออกแบบให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารถึง 38 ล้านคน (หากรวมเฟส 2 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคน) สินค้าและพัสดุ 950,000 ตัน และเครื่องบินมาตรฐานขึ้น-ลง 303,000 ลำ
- บริการที่จอดรถถึงกว่า 4,500 คัน และที่จอดรถแท๊กซี่ 961 คัน

อีกทั้ง เพื่อความสะดวกในการเดินทางจากตัวเมืองคุนหมิง – สนามบินนานาชาติฉางสุ่ย ซึ่งมีระยะทางประมาณ 25 ก.ม. รัฐบาลคุนหมิงได้ก่อสร้างเส้นทางเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ถึง 3 เส้นทาง ได้แก่

1. ชัตเติลบัส : 3 เส้นทาง คือ 1) เสี่ยวซีเหมิน – เขตซินอิ๋ง – สนามบินฉางสุ่ย 2) สนามบินอูเจียป้า – สถานีรถไฟคุนหมิง – ถนนอ้อมเมืองทิศใต้ – สนามบินฉางสุ่ย 3) เขตเป่ยซื่อชวี – เป่ยเฉิน – สวนเอ็กซ์โป – สนามบินฉางสุ่ย โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00 – 22.00 น. ราคาค่าบริการ 25 หยวนตลอดสาย
2. รถไฟใต้ดินหมายเลข 6 จากสถานีผู้โดยสารตะวันออก – สนามบินฉางสุ่ย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง 1,600 ล้านหยวน
3. ทางด่วนตรงสู่สนามบิน ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และจะใช้เวลาเดินทางเพียง 10 กว่านาที

สนามบินฉางสุ่ยแห่งนี้ จะเปิดโอกาสให้แก่มังกรยักษ์ตัวนี้เพิ่มขึ้นอีกมากทีเดียว

credit : China Eastern Airlines





ถึงสนามบินฉางสุ่ย (Changshui International Airport) ถ่ายภาพร่วมกัน


สรุป : การเดินทางของเราที่เริ่มจากสนามบินฉางสุ่ยแห่งนี้ ต่อไปที่นครต้าหลี่ จากนั้นก็เดินทางสู่โตรกเขาเสือกระโจนก่อนเข้าสู่แชงกรีล่า หลังจากนั้นก็กลับเข้าสู่ลี่เจียงโดยระหว่างทางก็แวะชมโค้งแรกของแม่น้ำแยงซี เราพักที่ลี่เจียง 2 คืนเพื่อชมการแสดง Impression Lijiang และขึ้นกระเช้าชมเขาหิมะมังกรหยก หลังจากนั้นก็ชมอุทยานน้ำหยก สระมังกรดำ และเมืองโบราณลี่เจียง ต่อมาก็เดินทางกลับมาที่นครต้าหลี่เพื่อชมเมืองโบราณ และเดินทางกลับไปที่ฉู่ฉง แต่เจออุปสรรค์รถคันอื่นเกิดอุบัติเหตุทำให้เราติดอยู่บนทางด่วนจีน 10 ชั่วโมง จนเป็นที่มาของกลุ่ม Line เราว่า "ทางด่วน 10 ชม." เราพักที่ฉู่ฉงหลังจากนั้นก็เดินทางสู่นครคุนหมิงเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน

ในระยะทางอันยาวไกลในยูนนานที่เราผ่านมาทั้ง 7 วันเจออะไรมากมาย .... แต่บอกได้เลยว่า ถ้าคุณๆรักธรรมชาติ การเดินทางในยูนนานเหมาะมากๆ ถนนหนทางในมณฑลนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวไว้อย่างดี ได้มาตรฐาน ถึงแม้จะเจอเรื่องแปลกๆอยู่บ้าง เช่นวัฒนธรรมการขับรถของชาวจีนแต่ก็ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับนักเดินทาง ... จริงๆแล้วเราสามารถขับรถจากบ้านเราไปเที่ยวถึงแชงกรีล่าหรือไกลกว่านั้นได้ โดยผ่านเส้นทาง R3a จากเชียงของ ผ่านหลวงน้ำทา เข้าจีนที่ด่านบ่อหาน แล้วเข้าเชียงรุ่งหรือ Jinhong จากนั้นสามารถใช้ทางด่วนไปถึงคุนหมิงและเมืองต่างๆได้ .... ในอนาคตอีกไม่นานถ้าการเชื่อมต่อของรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ การเดินทางก็จะยิ่งสะดวกสะบายยิ่งขึ้นไปอีก (ทางจีนกำลังสร้างถึงคุนหมิงแล้ว)


สำหรับบล๊อกการเดินทางของเราก็จบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว คุณๆสามารถคลิ๊กย้อนหลังกลับไปอ่านและชมภาพได้ตั้งแต่ตอนที่ 1 - ตอนที่ 8 ซึ่งเป็นตอนจบ (ตอนนี้) .... ผู้เขียนขอบคุณเพื่อนๆที่ร่วมเดินทางและมีมิตรจิตที่ดีต่อกันมาตลอดการเดินทาง และเรื่องนี้จะสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าเราไม่ได้น้องๆที่เป็นไกด์คอยตอบคำถามต่างๆให้เรา ขอบคุณน้องไมค์ น้องตุ๊ก และไกด์จีน น้องต้น ที่ให้บริการที่ดีแก่เราตลอด 7 วัน .... สุดท้ายขอบคุณแฟนๆบล๊อกที่ตามอ่านมาตลอดครับ





เดินทางกลับ...ลาก่อนคุนหมิง






_____________





Create Date :06 กรกฎาคม 2558 Last Update :18 กุมภาพันธ์ 2561 14:59:58 น. Counter : 16504 Pageviews. Comments :7